เช็กสุขภาพประเทศไทย ผ่าน 12 ภาพ ผลงาน 101 PUB

วันนี้ 101 Public Policy Think Tank หรือ 101 PUB อายุครบหนึ่งปีเต็มแล้วครับ

ที่ผ่านมา พวกเราตั้งใจทำศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะ เพื่อเป็นฐานในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย

พวกเราเชื่อว่าสังคมไทยดีกว่านี้ได้
เป็นธรรมกว่านี้ได้
ยั่งยืนกว่านี้ได้
เป็นประชาธิปไตยกว่านี้ได้

ไม่ใช่ด้วยความกลัวหรือความเกลียด แต่ด้วยความหวัง
ไม่ใช่ด้วยอำนาจ แต่ด้วยความรู้
ไม่ใช่ด้วยผู้มีอำนาจ แต่ด้วยประชาชนธรรมดาๆ อย่างพวกเรา

เราพยายามทำงานสร้างสรรค์และสื่อสารงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในเรื่องที่มีความหมายต่อชีวิตของผู้คนและสังคม

ในวาระที่ 101 PUB ครบรอบ 1 ปีเต็ม ผมขอชวนทุกท่านมาร่วมเช็กสุขภาพประเทศไทย ผ่านภาพ 12 ภาพ ซึ่งสังเคราะห์จากผลงานกว่า 50 ชิ้นตลอด 12 เดือนแรกของ 101 PUB ครับ

เช็กสุขภาพสังคมไทยผ่าน 12 ภาพ ผลงาน 101 PUB

เรื่องแรก อำนาจเหนือตลาดและทุนผูกขาดในสังคมไทย ที่ผ่านมาเรามีนักวิชาการ นักการเมือง สื่อมวลชนที่กล้าวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องนี้น้อยเกินไป

อย่างกรณีการควบรวมของทรูและดีแทค ซึ่งทำให้ตลาดโทรคมนาคมกระจุกตัวหนักขึ้น ผู้บริโภคก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมาก ในกรณีที่ควบรวมแล้วยังแข่งขันกันตามปกติ ค่าบริการก็ยังแพงขึ้น 13-23% ยิ่งถ้าควบรวมแล้วฮั้วกันสำเร็จ ค่าบริการอาจพุ่งสูงขึ้น 66-120%

Digital transformation ของไทยนี่ราคาแพงและมีความเสี่ยงสูงมากนะครับ

ตลกร้ายของเรื่องนี้คือผู้กำกับดูแลอย่าง กสทช. กลับตีกรอบ-จำกัดอำนาจตัวเอง ลงมติเพียงแค่รับทราบการควบรวม ทั้งที่นักวิชาการก็ออกมาเตือนถึงผลกระทบ และชี้ว่า กสทช. มีอำนาจเต็มในการกำกับดูแล

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ไทยไม่ได้ใส่ใจแก้ปัญหาทุนนิยมพวกพ้อง ที่เคยเป็นตัวการสร้างวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่มาแล้ว และทุกวันนี้ก็กลายเป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขาดพลัง และมีปัญหารวยกระจุกจนกระจายอย่างรุนแรง

ในวันที่ทุนใหญ่สามารถทำอะไรได้ตามใจ จนกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นแรงงาน กลับไม่รู้สึกถึงชีวิตที่ดีขึ้น เพราะค่าจ้างแรงงานของไทยไล่ไม่ทันสภาพเศรษฐกิจ ค่าแรงของเราโตช้ากว่า GDP และหากนำค่าแรงมาหักเงินเฟ้อออก ค่าแรงที่แท้จริงของไทยก็แทบไม่กระดิกไปไหน

การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของไทย บางช่วงเราก็ขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ขึ้นแล้วก็แช่แข็งไว้ 5-6 ปี ที่สำคัญ ค่าจ้างขั้นต่ำของเราไม่ได้กำหนดตามความจำเป็นพื้นฐานในการเลี้ยงดูครอบครัว

101 PUB เคยศึกษาการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำว่าสอดคล้องกับแนวคิดค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) หรือไม่ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดสากลว่าค่าจ้างควรทำให้แรงงานเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ไม่ใช่เพียงประทังชีพคน 1 คนเหมือนในประกาศค่าจ้างขั้นต่ำไทย

เราพบว่า living wage ของไทยตอนนี้ ตกประมาณ 563 บาท/วัน เห็นตัวเลขแล้วอย่าเพิ่งตกใจกัน ไม่ต้องกลัวว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้ว ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรของเราสูงกว่านั้น และเราก็เคยเสนอไว้แล้วว่า จะยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน ให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างไรโดยที่ไม่ช็อกเศรษฐกิจ

ปัญหาแรงงานไม่ใช่เพียงแค่เรื่องตัวเลขค่าจ้าง แต่ยังมีประเด็นที่โอกาสทางเศรษฐกิจมีจำกัดเพียงบางพื้นที่ ทำให้คนจำนวนมากพยายามย้ายเข้าสู่เมือง

แต่เมื่อเมืองไม่ถูกจัดการให้สามารถโอบอุ้มคนจำนวนมากได้ ครัวเรือนในเมือง 3 ล้านครัวเรือนจึงลำบากในการหาที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน

พม. เคยตั้งเกณฑ์ไว้เองว่า ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยไม่ควรเกิน 15% ของรายได้ แต่ข้อมูลของ 101 PUB แสดงให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านสูงเกินไปสำหรับคนเมือง 80%

นอกจากนี้ 8 ปีที่ผ่านมา ราคาบ้านในเมืองยังเติบโตต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 27-62% แต่ค่าจ้างแรงงานในเมืองกลับลดลง 6% ความฝันในการมีบ้านของคนไทย อาจอยู่ไกลเกินเอื้อมยิ่งกว่า American dream

ปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำนี้ ไม่เพียงส่งผลต่อคนรุ่นปัจจุบัน แต่จะถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นอนาคต และมีแนวโน้มจะยิ่งรุนแรงขึ้นถ้าเราปล่อยให้สังคมดำเนินต่อไปเช่นเดิม

101 PUB ตั้งศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว หรือชื่อเล่นว่า ‘คิด for คิดส์’ ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.

เมื่อผมนั่งทำข้อมูลพื้นฐานสำหรับการออกแบบนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวแห่งอนาคต ก็พบว่าเด็กและเยาวชนไทย 60% อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ไม่พอจะส่งเขาเรียนจนจบปริญญาตรี เด็กและเยาวชนไทย 70% อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 100,000 บาท/คน/ปี ซึ่งเป็นเกณฑ์ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นี่เรากำลังพูดถึงเด็กและเยาวชนราว 10 ล้านคนจาก 16 ล้านคน

โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างเต็มศักยภาพและมีคุณภาพ ตามเส้นทางที่พวกเขาได้เลือกเอง

สิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำ คือการจัดสวัสดิการสังคม ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ให้ทุกคนเข้าถึงบริการพื้นฐานได้อย่างเสมอหน้ากัน

ที่จริงประเทศไทยมีรัฐสวัสดิการที่ดีแล้ว แต่เป็นรัฐสวัสดิการของราชการ ไม่ใช่รัฐสวัสดิการของประชาชน เราใช้งบประมาณ 4 แสนกว่าล้านในการดูแลคนราว 5 ล้านคน ทั้งข้าราชการปัจจุบัน สมาชิกครอบครัว และข้าราชการเกษียณ แล้วเราก็ใช้เงินพอๆ กันสำหรับสวัสดิการดูแลประชาชนทั้ง 66 ล้านคนทั่วประเทศ

การช่วยเหลือของเราหลายครั้งก็ยังไม่เข้าเป้า อย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันติดปากว่า บัตรคนจน ทั้งที่เราแจกบัตรออกไปแล้วมากกว่า 14 ล้านใบ ทั้งที่เรามีคนจน 4-5 ล้านคน แต่ถึงอย่างนั้น ข้อมูลก็ชี้ว่ามีคนจนจริงที่อยู่ใต้เส้นความยากจนกว่าครึ่งหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงบัตรคนจน

เราควรต้องกลับมาทบทวนหลายมิติ สวัสดิการอะไรต้องให้ อะไรไม่จำเป็นต้องให้ โดยจะต้องคำนึงถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพ ความครอบคลุมของสวัสดิการ ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณทั้งหมดของประเทศ เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือที่ได้น้ำได้เนื้อ และเข้าเป้าตรงจุดมากที่สุด

งบประมาณด้านหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คืองบช่วยเหลือเกษตรกร เราทุ่มเงินเฉลี่ย 150,000 ล้านบาทต่อปี ในการดูแลราคาสินค้าเกษตรและช่วยต้นทุนการผลิต สร้างหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นปีละ 80,000 ล้านบาท จนตอนนี้เป็นหนี้ ธกส. เกือบ 9 แสนล้านบาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ของเงินช่วยเหลือนี้ 60-70% เข้ากระเป๋าเกษตรกรรายใหญ่สุด 20% ขณะที่รายเล็กสุด 20% ได้ส่วนแบ่งเพียง 2-3% เท่านั้น

เงินอุดหนุนนี้ยังเป็นตัวหมุนวงจรปัญหาของเกษตรกร ให้ผลิตเหมือนเดิม ยากจนเหมือนเดิม เป็นหนี้เหมือนเดิม แล้วยังสร้างคำถามต่อความเป็นธรรมในการใช้เงิน เพราะไม่ใช่เกษตรกรทุกคนจะจน และคนจนทุกคนก็ไม่ได้เป็นเกษตรกร

สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยขาดแคลนอย่างเห็นได้ชัด คือการจ้างงานที่มีคุณค่าและความหมาย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันได้มากขึ้น

ที่ผ่านมา เราใช้เงินไปกับมาตรการ BOI กว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขซึ่ง BOI รายงานเองยังบอกว่าสร้างงานได้ไม่มากและสร้างได้น้อยลงเรื่อยๆ โดยเราต้องเสียรายได้ภาษีไป 2 ล้านบาท เพื่อสร้างงาน 1 ตำแหน่ง แถมยังเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูง และไม่ค่อยก่อให้เกิดนวัตกรรมภายในประเทศอีกด้วย

บางท่านอาจจะสังเกตว่า ข้อมูลในภาพเป็นของเก่าตั้งแต่ปี 2018 แล้ว ก็ต้องบอกว่าผมไม่ได้ขี้เกียจหาข้อมูลใหม่ แต่ BOI เขาเลิกเปิดเผยตัวเลขพวกนี้ไปสักพักแล้ว

นอกจากมิติด้านเศรษฐกิจและการเงิน ประเทศไทยกำลังเจอโจทย์ใหม่ที่ท้าทายอย่างมาก คือปัญหาสุขภาพจิต ที่หนักหนาสาหัสมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน

101 PUB และ สสส. ได้ร่วมทำ Youth Survey 2022 สอบถามเยาวชนเกือบสองหมื่นคนทั่วประเทศ ทั้งเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การเรียนการทำงาน คุณค่าและทัศนคติทางสังคม

เราพบว่า เยาวชนไทย 62% มีความเครียดมากถึงมากที่สุด 51% รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว แต่ไทยยังขาดความพร้อมในการรับมือปัญหาสุขภาพใจอยู่มาก ทั้งประเทศมีสถานพยาบาลด้านจิตเวชเพียง 452 แห่ง โดยมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่เพียง 1 ใน 3 ของจำนวนนี้ 17 จังหวัดไม่มีประจำอยู่เลย อีก 15 จังหวัด มีแค่ 1 คน

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั้งใหม่และใหญ่ ซึ่งไทยจะต้องเร่งลงทุนอย่างมากเพื่อแก้ไขสถานการณ์

ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรัฐควรเป็นผู้กำหนดวาระ ผ่านการลงทุนภาครัฐที่ฉลาดและยั่งยืน ให้ทุกภาคส่วนมุ่งสู่อนาคตอย่างมีทิศทาง

แต่การใช้งบประมาณภาครัฐยังไม่ค่อยตอบสนองต่อปัญหาร่วมสมัยเหมือนกับว่างบประมาณประเทศถูกแช่แข็งเอาไว้

อย่างเช่นงบลงทุนของประเทศไทย 430,000 ล้านบาทต่อปี ยังวนเวียนกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเดิมๆ งบลงทุนในยุทธศาสตร์สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 75% หมดไปกับการสร้างและซ่อมถนน งบลงทุนในยุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 63% หมดไปกับการสร้างตึก จนพวกเราชอบแซวกันว่า ประเทศไทย ‘พัฒนาชาติด้วยถนน พัฒนาคนด้วยตึก’

เมื่อเรายังใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่ตอบโจทย์ใหญ่ของสังคม ก็ทำให้ผลตอบแทนต่ำ เกิดภาระหนี้สาธารณะ ที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เป็น 10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 60% ของ GDP ส่วนหนึ่งมาจากการแก้ปัญหาโควิด

อย่างไรก็ดี ตัวเลขหนี้สาธารณะที่รายงานกันนี้ไม่ใช่ตัวเลขทั้งหมด 101 PUB ไปขุดดูหนี้ที่ซุกซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ พบว่ามีหนี้ใต้พรมที่ยังไม่ถูกนับ อย่างน้อยๆ อีก 1.2 ล้านล้านบาท และอาจกลายเป็น 2 ล้านล้านบาทในกรณีแย่ที่สุด หนี้เหล่านี้คือโซ่ตรวนฉุดรั้งขีดความสามารถของภาครัฐ ในการทำงานใหญ่ ในการพลิกโฉมประเทศไทย และจะเป็นภาระของประชาชนในท้ายที่สุด

ปัญหาการใช้งบประมาณที่ขาดประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เราไม่สามารถจัดสรรงบให้สอดคล้องกับหน้างานในแต่ละพื้นที่ เพราะการบริหารภาครัฐยังรวมศูนย์อยู่มาก

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจึงเป็นทางออกใหญ่ของประเทศ แต่ผ่านมา 2 ทศวรรษ ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 การกระจายอำนาจยังเกิดขึ้นแบบลูบหน้าปะจมูก และยิ่งแย่ลงภายใต้ระบอบ คสช.

ท้องถิ่นไทยยังหารายได้เองไม่ได้ ต้องพึ่งพางบจากส่วนกลางถึง 90% ของรายได้ทั้งหมด โดยเป็นเงินอุดหนุนถึงครึ่งหนึ่ง แต่เงินอุดหนุนเหล่านี้ 80% มาพร้อมกับเงื่อนไข แปลว่ามันคือนโยบายของรัฐบาลกลาง แค่ผ่านงบไปเบิกจ่ายจากบัญชีของท้องถิ่นเท่านั้นเอง

นี่ยังไม่นับว่าท้องถิ่นยังไม่มีอำนาจบริหารคน พร้อมถูกล้วงลูกและถูกตรวจสอบโดยรัฐส่วนกลางและองค์กรอิสระอีกมากมาย การกระจายอำนาจของไทยจึงเป็นเพียงภาพลวงตา การแก้ปัญหาในพื้นที่ด้วยกลไกในพื้นที่จึงไม่ค่อยเกิดขึ้นจริง

การบริหารรัฐไทยที่ปิดมากๆ และกระจุกตัวอยู่กับผู้มีอำนาจเพียงหยิบมือ ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ไม่ไว้วางใจประชาชน ไม่เชื่อว่าประชาชนคิดเองได้ ตัดสินใจเองได้ นำเสนอสิ่งที่ดีเองได้

อย่างในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมีความกระตือรือร้นพยายามเข้าชื่อเสนอกฎหมายมากอย่างเป็นประวัติการณ์ถึง 80 ฉบับ ไม่ใช่แค่ปริมาณเท่านั้น แต่หลายฉบับยังมีคุณภาพดีด้วย เช่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. ไปจนถึงการแก้รัฐธรรมนูญให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

กฎหมายประชาชนได้เข้าสู่การพิจารณาของสภา 44 ฉบับ แต่ก็ต้องพบกับโลกความจริง เมื่อ 29 ฉบับต้องถูกตีตกไปด้วยสารพัดเหตุผลจากหลายฝ่าย ทั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภา ส.ส. และ ส.ว. อีกหลายฉบับยังค้างเติ่งจนสภาหมดอายุไปแล้ว มีเพียงกฎหมายภาคประชาชนฉบับเดียวเท่านั้นที่ถูกรับไปใช้ แต่ถึงที่สุดก็ถูกรวมเข้ากับร่างของคณะรัฐมนตรีอีกอยู่ดี

101 PUB ภายใต้โลกนโยบายสาธารณะแห่งอนาคต

เราเช็กสุขภาพประเทศไทยผ่าน 12 ภาพแล้ว คงจะเห็นว่าเรามีโรคอยู่เต็มไปหมด บางอย่างก็เหมือนโรค NCD ที่ยังไม่ร้ายแรงแต่เรื้อรัง บางอย่างก็เหมือนมะเร็งที่ต้องรีบผ่าตัดเนื้อร้ายโดยด่วน ทั้งในแง่การบริหารจัดการ แนวคิด คุณค่า ไปจนถึงการรื้อความสัมพันธ์เชิงอำนาจครั้งใหญ่

ยิ่งไทยต้องเจอบริบทโลกใหม่ที่ท้าทาย ทั้งแก่ก่อนรวย ความเหลื่อมล้ำ เทคโนโลยีพลิกผัน ภูมิรัฐศาสตร์ เรายิ่งต้องรักษาและฟื้นฟูสุขภาพของประเทศด้วยความรู้ใหม่ ที่ทุกคนมาทำงานร่วมกัน ข้ามศาสตร์ข้ามสาย สร้างการมีส่วนร่วมในวงกว้าง ไม่ใช่จำกัดไว้เป็นแค่เรื่องของนักเทคนิคเฉพาะด้าน

เราจึงต้องกลับมายกเครื่องกระบวนการนโยบายใหม่ ซึ่งเป็นภารกิจใหญ่ที่ 101 PUB พยายามไปให้ถึง

เราพยายามตั้งโจทย์ที่ ‘ใช่’ ในความหมายว่าเราหยิบยกประเด็นและแง่มุมที่สำคัญต่อชีวิตของผู้คนและสังคม มาสร้างบทสนทนาสาธารณะ ชี้ให้เห็นปัญหาและทางเลือกเชิงนโยบาย

เราพยายามออกแบบนโยบาย โดยใช้ความรู้ เครื่องมือ และข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นฐานคิด แต่ไม่ได้ทำงานอยู่บนหอคอยงาช้างหรือทำตัวเป็นพ่อแม่รู้ดี เราเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมแสดงความเห็น ร่วมระดมสมอง ร่วมวิพากษ์วิจารณ์

ในการคิดนโยบายเหล่านี้ เราก็พยายามตอบโจทย์ประสิทธิภาพ ความเป็นธรรม และความเป็นไปได้ในการทำนโยบายจริง เพราะรัฐไม่ใช่เครื่องจักร แต่เป็นการประกอบสร้างของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก

และหัวใจสำคัญประการสุดท้าย คือเราพยายามทำการประเมินผลนโยบายอย่างมีความหมาย สร้างระบบความรับผิดรับชอบของผู้มีอำนาจ ซึ่งจะทำให้เกิดพลวัตการปรับนโยบายได้อย่างทันท่วงที

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลง ในโลกที่เปิดกว้าง และในสังคมประชาธิปไตยที่คนมีส่วนร่วม การทำนโยบายจะต้องเป็นที่ยอมรับ ช่วยแก้ปัญหาได้จริง เห็นผลจับต้องได้ การทำนโยบายจะต้องมีความชอบธรรมทางการเมือง ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน และประชาชนมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ การทำนโยบายจะต้องมีความสามารถทำงานได้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้จริง

101 PUB ตั้งเป้าเป็น Think Tank ของสาธารณะ เพื่อสาธารณะ พยายามตอบโจทย์ประเทศไทยในยุคใหม่ เราจึงทำงานหนักแน่นบน 3 ฐาน คือ ฐานวิชาการ ฐานการพัฒนา และฐานประชาธิปไตย

ฐานวิชาการ หมายถึง การทำงานบนหลักวิชาอย่างเป็นมืออาชีพ ตั้งโจทย์ที่ใช่และท้าทาย มีความเป็นอิสระ วิเคราะห์วิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาด้วยข้อมูลใหม่ ด้วยความรู้ใหม่

ฐานการพัฒนา หมายถึง การนำเสนอวิสัยทัศน์และข้อเสนอที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระยะยาว ตั้งเป้าปฏิรูปโครงสร้างและสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และความเป็นธรรม

ฐานประชาธิปไตย หมายถึง การยึดมั่นในคุณค่าของหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม มีกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรมจริงๆ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความหลากหลาย เราเชื่อว่าการพัฒนาที่อยู่บนวิถีประชาธิปไตยเท่านั้นจึงจะตอบโจทย์ผลประโยชน์ของสาธารณะ และมีความหมายต่อประชาชนทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน

101 PUB ตั้งใจเป็นพื้นที่เชื่อมทฤษฎี เข้ากับปฏิบัติการจริง
เชื่อมอดีตและปัจจุบัน ไปสู่อนาคต
เชื่อมความจริงที่เป็นอยู่ ไปสู่ความฝันถึงสังคมที่ดีขึ้น

เราตั้งใจช่วยให้ประชาชนเห็นสภาพสังคมที่เป็นจริง แต่ก็ช่วยเสนอทางเลือกเชิงนโยบาย เพื่อนำสังคมไทยไปสู่ความฝันใหญ่ 4 ด้าน ซึ่งเป็นจุดโฟกัสในการทำวิจัยของเราด้วยเช่นกัน

  1. การสร้างประชาธิปไตย ทั้งในเชิงสถาบันและวัฒนธรรม เราเชื่อว่าประเทศไทยต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นสัญญาประชาคม ที่ทุกคนยอมรับ ที่ทุกคนร่วมกันสร้าง เราต้องมีรัฐธรรมนูญและวัฒนธรรมการเมืองที่ตอบโจทย์ประเทศไปข้างหน้า ไม่ใช่ติดหล่มอยู่กับแก้ปัญหาในอดีต กลัวผีอดีตมาหลอกหลอน และไม่ใช่การรักษาโลกเก่าที่ไม่อาจอยู่ได้อย่างยั่งยืนในบริบทโลกใหม่
  2. การสร้างหลักนิติธรรมในสังคมไทย ให้เป็นระบบที่ทุกคนรู้สึกว่ายุติธรรม มีความชัดเจน คงเส้นคงวา ไม่สองมาตรฐาน ไม่ปล่อยวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้ฝังราก สร้างระบบกฎหมายและความยุติธรรมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจ ที่จะขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตตามวิถีประชาธิปไตย
  3. การพัฒนาที่นับรวมทุกคน เป็นการเติบโตที่มีคุณภาพ ยั่งยืน เป็นธรรม และกระจายผลได้ของการพัฒนาออกไปอย่างเท่าเทียม
  4. การพัฒนาเด็กและระบบนิเวศการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กไทยสามารถเติบโตขึ้นได้เต็มศักยภาพที่สุดตามเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือกเอง เป็นสังคมที่ทุกคนสามารถเลือกอนาคตที่ดีที่สุดให้กับตัวเองได้

นี่คือผลงาน ตัวตน ความคิด และความฝันของพวกเรา 101 PUB

ทุกคนคงเห็นแล้วว่ามีเรื่องใหญ่ๆ ยากๆ รอท้าทายพวกเราอยู่เต็มไปหมด แน่นอนว่า 101 PUB คงไม่มีปัญญา ไม่มีความสามารถ ไม่มีทรัพยากรที่จะตอบโจทย์ทุกเรื่องได้ทั้งหมด

ผมอยากชวนทุกท่านมาร่วมเดินบนเส้นทางนี้ เพื่อทำความฝันถึงประเทศไทยแห่งอนาคตที่ดีขึ้นกว่านี้มากๆ ให้เกิดขึ้นจริง มาช่วยกันตั้งโจทย์สำคัญของประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิด ร่วมกันลงมือทำ ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ผลงานให้ดียิ่งขึ้น เพราะประเทศไทยยังขาดองค์ความรู้ในการพาประเทศไปข้างหน้าอีกมาก

สำหรับเพื่อนๆ ในสายงานสื่อมวลชน อยากชวนให้ช่วยกันใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลและความรู้ที่เราผลิต ทุกท่านสามารถนำไปใช้สื่อสารกับประชาชนได้เต็มที่ จะเป็นงานสรุปย่อยให้ง่าย หรือจะเอาไปเล่าใหม่เลยให้เหมาะกับฐานแฟนของตัวเองก็ได้

เราต้องให้ความสำคัญกับการทำงานความคิดกับสังคม เพราะในโลกนโยบายใหม่ ประชาชนจะต้องเป็นองค์ประธานในสมการนโยบาย

ประเทศไทยในฝันยังอยู่อีกไกล และมีเรื่องให้ต้องทำอีกมาก อยากให้ทุกคนลุยไปด้วยกัน

101 PUB ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยครับ เราจะทำงานเกินร้อยร่วมไปกับทุกท่าน เพื่อ shape public policy for public interests ครับ

ขอบคุณครับ


หมายเหตุ: บทอภิปรายในช่วง 101 PUB: A Year in Review ในงาน 101 PUB Policy Dialogue Thailand’s Next Chapter: ตีโจทย์นโยบายหลังเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2023

วิจัย/เขียน

ฉัตร คำแสง

บทความที่เกี่ยวข้อง

1 ปี 101 PUB - 10 อันดับงานยอดนิยม

1 ปี 101 PUB – 10 อันดับงานยอดนิยม

ในโอกาสครบรอบ 1 ปีแห่งการก่อตั้ง 101 PUB ชวนอ่านผลงานยอดนิยม 10 อันดับแรก สำรวจปัญหาและข้อเสนอนโยบายหลากหลายประเด็น ทั้งประชาธิปไตย นิติธรรม การพัฒนาที่ทั่วถึง และการพัฒนาเด็กและระบบนิเวศการเรียนรู้

‘นโยบายสาธารณะ’ ไทยในโลกใหม่: เปิดตัว ‘101 PUB’ – 101 Public Policy Think Tank

101 เปิดตัว 101 PUB ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทำงานบนฐานวิชาการ การพัฒนา และประชาธิปไตย

เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022

101 PUB ชวนอ่าน “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022” พร้อม “สถิติสำคัญด้านเด็กและครอบครัว” และ “สามความฝันของเยาวชนไทย”

22 August 2022
1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.