ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต

แรงงานถือเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในฐานะกำลังการผลิตและกำลังซื้อที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมา แรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานรายได้น้อยกลับมีคุณภาพชีวิตสวนทางกับความสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการบังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ก็ยิ่งส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อกลุ่มแรงงานรายได้น้อย ต่างกับกลุ่มแรงงานรายได้สูงที่การจ้างงานเพิ่มขึ้น[1]101 PUB กำหนดให้แรงงานกลุ่มรายได้น้อยคือแรงงานที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 20,000 บาท กลุ่มรายได้สูงคือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,000 บาทขึ้นไป ส่งผลให้ตลาดแรงงานเกิดความเหลื่อมล้ำในลักษณะ K-shape[2]101 PUB หักล้างผลกระทบต่อตลาดแรงงานเชิงฤดูกาลออกไปแล้ว (ภาพที่ 1) ท่ามกลางปัญหานี้ยังเกิดวิกฤตค่าครองชีพ นำโดยราคาพลังงานและอาหารเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อมากกว่ากลุ่มที่มีฐานะดีกว่า

ดัชนีผู้มีงานทำ (Q1/2017 = 100) ระหว่างกลุ่มแรงงานรายได้น้อยและมาก
ภาพที่ 1: ดัชนีผู้มีงานทำ (Q1/2017 = 100) ระหว่างกลุ่มแรงงานรายได้น้อยและมาก
ที่มา: สำรวจภาวะการทำงานของประชากรทั่วราชอาณาจักร (Labor Force Survey) คำนวณโดย 101 PUB

ในปี 2022 นี้ คณะกรรมการค่าจ้างจะมีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 313 – 336 บาท/วัน เป็น 328 – 354 บาท/วันแล้วแต่พื้นที่ โดยบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 เป็นต้นไป[3]ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2565 แต่การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำยังคงน้อยกว่าที่กลุ่มแรงงานเรียกร้องอย่างมาก เช่น กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่ได้ยื่นข้อเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 492 บาท/วันทั่วประเทศ ความแตกต่างขนาดใหญ่นี้ชวนให้สังคมกลับมาคิดถึงแนวทางการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ลงลึกไปถึงหลักการและที่มาของตัวเลขที่ถูกใช้ในการเจรจา

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ขอชวนผู้อ่านทบทวนแนวคิดและปัจจัยในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของไทยในปัจจุบัน และชวนผู้อ่าน ‘คิดใหม่’ เกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำของไทย เพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีพแท้จริงของแรงงาน เพิ่มความเป็นธรรมของแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำด้วยแนวคิดค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage) ที่มีหลักการคือแรงงานต้องสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรี ทัดเทียมกับมาตรฐานของสังคม

ไทยปรับค่าจ้างขั้นต่ำด้วยฐานคิด 
‘ควรเพิ่มเท่าไหร่’ ไม่ใช่ ‘ควรเป็นเท่าไหร่

ผู้มีอำนาจในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำคือคณะกรรมการค่าจ้าง ที่ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายรัฐ นายจ้าง และลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน โดยมีตัวแทนฝ่ายรัฐคือปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ในขั้นแรก คณะกรรมค่าจ้างจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างจังหวัดในแต่ละจังหวัดขึ้นเพื่อศึกษาบริบทในพื้นที่ จากนั้นเสนอค่าจ้างขั้นต่ำแก่คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องแต่ละจังหวัด แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อลงมติรับรองข้อเสนอของแต่ละจังหวัดที่ผ่านการกลั่นกรองแล้ว สุดท้ายคณะรัฐมนตรีจะลงมติและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป (ภาพที่ 2)

ขั้นตอนการกำหนดและเสนอค่าจ้างขั้นต่ำ
ภาพที่ 2: ขั้นตอนการกำหนดและเสนอค่าจ้างขั้นต่ำ
ที่มา: พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2562 ระเบียบคณะกรรมการค่าจ้าง ว่าด้วยการได้มาและการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด พ.ศ.2552 และสรุปมติการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ครั้งที่ 5/2565 รวบรวมโดย 101 PUB

ในปัจจุบัน วิธีกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับการเจรจา ใช้ฐานคิดว่า ‘ควรเพิ่มเท่าไหร่’ ไม่ใช่ ‘ควรเป็นเท่าไหร่’ สังเกตได้จากการใช้ค่าจ้างขั้นต่ำเดิมเป็นตัวตั้ง (ซึ่งไม่ได้พิจารณาว่าเป็นธรรมอยู่แล้วหรือไม่) แล้วพิจารณาว่าควรปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ และเท่าไหร่ โดยดูจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยอาจพิจารณาเพิ่มเติมด้วยอัตราสมทบของแรงงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี[4]คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ข้อ 5 พ.ศ.2562(ภาพที่ 3)

การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2022 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของการปรับตามสภาวะทางเศรษฐกิจ ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจครึ่งปีแรก 2.4% คาดการณ์ว่าทั้งปีจะเติบโตได้ 3.0% อัตราเงินเฟ้อครึ่งปีแรก 5.6% คาดการณ์ทั้งปีจะมีอัตราเงินเฟ้อ 6.5%[5]สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2565). รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2565อัตราดังกล่าวสอดคล้องกับผลการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้าง คือ 2.5–6.6% ทั้งประเทศ โดยพื้นที่เศรษฐกิจเพิ่มมากกว่าพื้นที่อื่น

แนวทางการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของไทย และตัวอย่างการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเทียบดัชนีทางเศรษฐกิจ
ภาพที่ 3: แนวทางการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของไทย และตัวอย่างการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเทียบดัชนีทางเศรษฐกิจ

ค่าจ้างขั้นต่ำไทยไม่เคยไล่ทันสภาพเศรษฐกิจจริง

ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาสังเกตว่าค่าจ้างขั้นต่ำไทยเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มช้ากว่าค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) รายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita) ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร[6]ข้อมูลค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายได้เฉลี่ยต่อหัวจาก World Bank ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร 101 PUB … Continue reading) และดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคกลุ่มรายได้น้อย ยกเว้นช่วงปรับฐานค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ในช่วงปี 2012-2013 (ภาพที่ 4) จากปี 2013 จนถึงปี 2022 ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) เพิ่มขึ้น 108 บาท/วันกลายเป็น 587 บาท/วัน รายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้น 151 บาท/วัน เป็น 757 บาท/วัน ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 19 บาท/วัน เป็น 774 บาท/วัน แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 28-54 บาท/วัน เป็น 328-354 บาท/วัน

ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) รายได้ต่อหัว (GDP per Capita) ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรและดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคกลุ่มรายได้น้อย ปี 2008-2022
ภาพที่ 4: ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) รายได้ต่อหัว (GDP per Capita) ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรและดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคกลุ่มรายได้น้อย ปี 2008-2022

นอกจากนั้น เมื่อ 101 PUB ลองนำค่าจ้างขั้นต่ำมาหาค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) กับตัวชี้วัดเศรษฐกิจแต่ละตัว[7]ค่าสหสัมพันธ์วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของคู่ตัวแปร ว่าไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ และสัมพันธ์กันมากขนาดไหน มีค่าตั้งแต่ -1 ถึง 1 … Continue reading พบว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีความเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคกลุ่มรายได้น้อย 92.6% ขณะที่มีความสัมพันธ์กับค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) 79.4% รายได้เฉลี่ยต่อหัว 84.9% และผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร 60.4% (ตารางที่ 1) ซึ่งจะเห็นว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นสัมพันธ์กับค่าครองชีพตามอัตราเงินเฟ้อมากที่สุด อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำมาตลอดทศวรรษล่าสุด จึงทำให้การขึ้นค่าจ้างตามไม่ทันดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจโดยทั่วไป

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจค่าสหสัมพันธ์
ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค กลุ่มรายได้น้อย+ 92.6%
ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย+ 79.4%
รายได้เฉลี่ยต่อหัว+ 84.9%
ผลิตภาพแรงงาน นอกภาคเกษตร+ 60.4%
ตารางที่ 1: ค่าสหสัมพันธ์ของค่าจ้างขั้นต่ำกับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจแต่ละตัว
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงแรงงาน, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, World Bank และ University of Groningen and University of California, Davis คำนวณโดย 101 PUB
หมายเหตุ: ปีที่เริ่มนำมาคำนวณเริ่มต้นจาก พ.ศ.2556 ที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั้งประเทศ

เมื่อคิดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นมูลค่าที่แท้จริง ด้วยการขจัดผลของอัตราเงินเฟ้อออก ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วงทศวรรษหลัง แม้ว่าเศรษฐกิจที่คิดเป็นมูลค่าที่แท้จริงจะเติบโตเฉลี่ย 2.8% ต่อปี (ไม่นับปี 2020 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19)[8]101 PUB นำตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาหาค่าเฉลี่ยเลขคณิต ในกรณีที่รวมข้อมูลปี 2020 … Continue reading ดังนั้น แนวทางการกำหนดค่าจ้างปัจจุบันจึงไม่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดีขึ้น[9]101 PUB คำนวณค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงด้วยการนำค่าจ้างขั้นต่ำจากประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง … Continue reading (ภาพที่ 5)

ค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริง
ภาพที่ 5: ค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริง
ที่มา: กระทรวงแรงงานและกระทรวงพาณิชย์ คำนวณโดย 101 PUB

ฐานค่าจ้างขั้นต่ำล้าหลัง แรงงานไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

ประเด็นปัญหาใหญ่ของค่าจ้างขั้นต่ำไทย อยู่ที่แนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันที่ระบุว่า “เป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น”[10]คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ข้อ 1 พ.ศ.2562

นิยามนี้ไม่สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่จริงของแรงงาน รวมถึงเป้าหมายในการรักษาสวัสดิภาพและโครงสร้างประชากรโดยรวม เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำเลี้ยงดูแรงงานได้เพียงคนเดียว และเลี้ยงดูได้ตามมาตรฐานครองชีพเท่านั้น ในความเป็นจริง แรงงานต้องเลี้ยงดูคนอื่นในครอบครัว เช่น คู่สมรส ลูก ผู้สูงอายุ หรือคนอื่นในครอบครัวซึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจริงของแรงงานไม่ได้มีแค่ปัจจัย 4 เพื่อประทังชีพเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น เช่น ค่าเดินทาง ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าเล่าเรียนบุตร เงินโอนเพื่อดูแลสมาชิกครอบครัวที่อยู่ต่างครัวเรือน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการอยู่ร่วมในสังคมด้วย

เมื่อย้อนดูนิยามค่าจ้างขั้นต่ำของไทยเมื่อ 50 ปีที่แล้ว พบว่าเคยมีความก้าวหน้ามากกว่าปัจจุบัน โดยตั้งเป้าให้ค่าจ้างขั้นต่ำต้องสามารถเลี้ยงดูตนเองและคนในครอบครัวได้อีก 2 คน รวมเป็น 3 คน อีกทั้งเป็นค่าจ้างที่สามารถเลี้ยงดูได้อย่างสมศักดิ์ศรีไม่แพ้คนอื่นในสังคม ไม่ใช่แค่สมควรแก่มาตรฐานครองชีพ (ภาพที่ 6)

แนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันเทียบกับอดีต
ภาพที่ 6: แนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันเทียบกับอดีต

นอกจากแนวคิดจะล้าหลังกว่าในอดีตแล้ว แนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำของไทยในปัจจุบันยังตามไม่ทันแนวโน้มของโลก เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับที่ 131 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation: ILO) ซึ่งมาตราที่ 3 ของอนุสัญญาฉบับนี้กำหนดให้แนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำต้องรวมถึง 2 องค์ประกอบหลักคือ

1. ความต้องการของแรงงานและครอบครัว ที่ควรพิจารณาระดับค่าจ้างโดยเฉลี่ยของประเทศ ค่าครองชีพ ความคุ้มครองของระบบประกันสังคม และมาตรฐานการครองชีพโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น

2. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ที่ควรพิจารณาเงื่อนไขการพัฒนาเศรษฐกิจ ระดับผลิตภาพของแรงงาน และการรักษาระดับการจ้างงานเต็มที่

ประเทศที่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับที่ 131 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ แบ่งตามระดับรายได้
ภาพที่ 7: ประเทศที่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับที่ 131 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ แบ่งตามระดับรายได้
ที่มา: International Labour Organization (ILO) และ World Bank
หมายเหตุ: ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศไม่ได้ให้สัตยาบัน เช่น ประเทศในแถบนอร์ดิก เพราะประเทศในแถบนี้ไม่ได้มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่ใช้การตกลงระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงานที่ครอบคลุมแรงงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะฟินแลนด์และไอซ์แลนด์[11]Eldring, L., & Alsos., K. (2014). European Minimum Wage: A Nordic Outlook – an update

ไทยควรปรับแนวคิดสู่ค่าจ้างเพื่อชีวิต 
เพิ่มความเป็นธรรม สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

จากที่กล่าวมาข้างต้น ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยควรจะได้รับการ ‘คิดใหม่’ ตั้งแต่ระดับนิยามพื้นฐานที่สุด ให้สอดคล้องกับแบบแผนและต้นทุนการใช้ชีวิตจริงของแรงงาน ตลอดจนบรรทัดฐานสากล หนึ่งในนิยามที่มีความก้าวหน้า เหมาะเป็นเป้าหมายสำหรับการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย คือ ค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage) 

ค่าจ้างเพื่อชีวิตคือค่าตอบแทนสำหรับการทำงานตามเวลาปกติ ที่ทำให้แรงงานเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การศึกษา การรักษาพยาบาล การเดินทาง เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ในการใช้ชีวิตตามมาตรฐานของสังคม ตลอดจนการเตรียมตัวรับมือกรณีฉุกเฉิน (ภาพที่ 8) แนวทางนี้คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของทั้งครอบครัว แต่ก็ไม่ได้คำนวณด้วยค่าใช้จ่ายทุกประเภทซึ่งอาจมีส่วนที่สังคมมองว่าไม่จำเป็น

ในประเทศไทยเองก็เคยมีงานวิชาการที่ประยุกต์ใช้แนวคิดค่าจ้างเพื่อชีวิตในบริบทไทย ด้วยข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน ที่กลุ่มตัวอย่างสามารถเป็นตัวแทนระดับประเทศได้ ซึ่ง 101 PUB ได้นำวิธีการคำนวณมาต่อยอดและปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

แนวคิดค่าจ้างเพื่อชีวิตและการคำนวณ
ภาพที่ 8: แนวคิดค่าจ้างเพื่อชีวิตและการคำนวณ

ค่าจ้างเพื่อชีวิตที่นำเสนอนี้ พิจารณาจาก ‘ค่าใช้จ่ายต่อหัวของครอบครัวรายได้ปานกลาง’ ประกอบด้วย ค่าอาหาร ค่าเช่าและซ่อมที่อยู่อาศัย ค่าสาธารณูปโภค ค่าทำความสะอาด ค่าเครื่องนุ่มห่ม ค่าของใช้ส่วนตัว ค่ารักษาพยาบาล ค่าโทรคมนาคม ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าเบี้ยประกันภัย และค่าใช้จ่ายอื่น (ตารางที่ 2) แล้วนำมาคูณกับตัวคูณสมาชิกในครัวเรือน โดยตัวคูณสมาชิกในครัวเรือนคือผลรวมของค่าถ่วงน้ำหนักสมาชิกแต่ละแบบ กรณีที่เป็นหัวหน้าครอบครัวให้ค่าถ่วงน้ำหนักเท่ากับ 1 กรณีที่เป็นผู้ใหญ่คนอื่นที่ไม่ใช่หัวหน้าครอบครัวเท่ากับ 0.8 และเด็กเท่ากับ 0.5 สังเกตว่าค่าถ่วงน้ำหนักสมาชิกแต่ละประเภทไม่เท่ากัน เนื่องจากในความเป็นจริงสมาชิกในครัวเรือนมีการแบ่งปันทรัพยากรซึ่งกันและกันเมื่ออยู่ร่วมกัน สุดท้าย นำค่าที่ได้มาปรับอัตราเงินเฟ้อให้เป็นค่าใช้จ่ายมาตรฐานในปัจจุบัน[12]การคำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตเริ่มจากการนำรายได้ต่อหัวของครัวเรือนมาจัดกลุ่ม 10 กลุ่ม (เดไซล์) เรียงลำดับรายได้จากกลุ่มที่รายได้น้อยที่สุด … Continue reading

หมวดหมู่ค่าใช้จ่ายรายละเอียดค่าใช้จ่ายแต่ละหมวดหมู่
ค่าอาหารข้าวและแป้ง, เนื้อสัตว์, ปลา, นมและเนย, น้ำมันและไขมัน, ผัก, ผลไม้, น้ำตาลและขนมหวาน, เครื่องเทศและเครื่องปรุง, เครื่องดื่ม, อาหารสำเร็จรูป, อาหารและเครื่องดื่มที่ทานนอกบ้าน
ค่าเช่าและซ่อมที่อยู่อาศัยค่าเช่าบ้าน, ซ่อมแซมบ้าน, ติดตั้งและซ่อมระบบประปา, ติดตั้งและซ่อมระบบระบบไฟฟ้า
ค่าสาธารณูปโภคไฟฟ้า, ก๊าซหุงต้ม, ถ่านไม้และฟืน, น้ำประปา
ค่าทำความสะอาดไม้ถูพื้น, ไม้กวาด, แปรง, ผงซักฟอก, น้ำยาปรับผ้านุ่ม, น้ำยาทำความสะอาด, ยาดับกลิ่น, อุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่น
ค่าเครื่องนุ่งห่มเสื้อผ้า, ชุดกีฬา, ชุดชั้นใน, เครื่องแต่งกายอื่น, ค่าตัดเย็บ, ค่าซักผ้า, รองเท้า
ค่าของใช้ส่วนตัวเครื่องอาบน้ำ, หวีและมีดโกนหนวด, เครื่องสำอาง, นาฬิกา, กระเป๋าเดินทาง, ของใช้ส่วนตัวอื่น
ค่ารักษาพยาบาลยารักษาโรค, ค่ารักษาผู้ป่วยในและนอก
ค่าเดินทางซื้อยานพาหนะ, อุปกรณ์หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ เช่น อะไหล่ น้ำมันเครื่อง, ค่าเดินทางขนส่งสาธารณะ, ค่าเชื้อเพลิงที่ใช้กับยานพาหนะ, ค่าเดินทาง
ค่าโทรคมนาคมค่าบริการโทรศัพท์, ค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน
ค่าเล่าเรียนบุตรค่าเทอม, อุปกรณ์การเรียนต่างๆ, ค่าเรียนพิเศษ, ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับการศึกษาของบุตร
ค่าเบี้ยประกันภัยเบี้ยประกันทรัพย์สิน, เบี้ยประกันชีวิต, เบี้ยประกันสุขภาพ
ค่าใช้จ่ายอื่นเงินโอนออกแก่คนนอกครัวเรือน, เงินบริจาคแก่องค์กรต่างๆ, เงินทำบุญ, ภาษี, ค่าเดินทางในวาระพิเศษ
ตารางที่ 2: หมวดหมู่ค่าใช้จ่ายต่อสมาชิกแต่ละครัวเรือนและรายละเอียด

101 PUB คำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตสำหรับปัจจุบันออกมาเป็น 2 กรณีด้วยวิธีข้างต้น พบว่า กรณีค่าจ้างเพื่อชีวิตสามารถเลี้ยงดูตนเอง คู่สมรสและลูก 1 คนมีค่า 563 บาท/วัน กรณีค่าจ้างเพื่อชีวิตสามารถเลี้ยงดูตนเอง คู่สมรสและลูก 2 คนมีค่า 686 บาท/วัน (ภาพที่ 9)

ค่าจ้างเพื่อชีวิตของไทยแบ่งตามโครงสร้างครอบครัว
ภาพที่ 9: ค่าจ้างเพื่อชีวิตของไทยแบ่งตามโครงสร้างครอบครัว

ยังมีองค์กรอื่นนอกจาก 101 PUB ที่คำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตของไทย เช่น Global Living Wage Coalition (GLWC) ที่ใช้กรอบแนวคิดของ Richard Anker และ Martha Anker[13]Anker, R., & Anker, M. (2017). Living Wages Around the World: Manual for Measurementโดยคำนึงถึงค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่าใช้อื่นที่จำเป็น เงินส่วนเพิ่มเพื่อสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน รวมถึงเงินที่ถูกหักจากเงินเดือนตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้ เงินประกันสังคม GLWC ใช้ทั้งข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) และทุติยภูมิ (Secondary Data) คำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตสำหรับแรงงานในเมืองเท่ากับ 13,207 บาท/เดือน หรือ 482 บาท/วัน[14]Dawani, K., Prates, I., Anker. R., Anker. M. (2022). Anker Living wage reference value. โดยในรายงานเสนอแค่ค่าจ้างเพื่อชีวิตแบบรายเดือนเท่านั้น ดังนั้นตัวเลขค่าจ้างเพื่อชีวิต 482 บาท/วัน 101 PUB … Continue reading ในอีกการศึกษาหนึ่ง คณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ใช้กรอบแนวคิดเดียวกับ GLWC และเก็บข้อมูลแบบปฐมภูมิทั้งหมด 1,225 ตัวอย่าง โดยเน้นจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมหรือจังหวัดที่มีแรงงานภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก ผลคำนวณที่ได้แบ่งเป็น 2 กรณีคือกรณีเลี้ยงตนเองคนเดียวต้องไม่น้อยกว่า 723-789 บาท/วัน กรณีเลี้ยงคนในครอบครัวอีก 2-3 คนต้องต้องไม่น้อยกว่า 1,003-1,071 บาท/วัน[15]กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์. (2565). รายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง “การสำรวจค่าครองชีพของแรงงาน ; … Continue reading (ตารางที่ 3) 

องค์กรที่คำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตค่าจ้างเพื่อชีวิตที่คำนวณได้
101 PUB441 บาท/วัน (เลี้ยงดูตนเองและคู่สมรส) 
563 บาท/วัน (เลี้ยงดูตนเอง คู่สมรส และลูก 1 คน) 
632 บาท/วัน (เลี้ยงดูตนเอง คู่สมรส และลูก 2 คน)
(ทั้งประเทศ)
Global Living Wage Coalition (GLWS)482 บาท/วัน 
(แรงงานในเขตเมือง)
คณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน*723 – 789 บาท/วัน (เลี้ยงดูตนเองคนเดียว)
1,003 – 1,051 บาท/วัน (เลี้ยงดูตนเองและคนอื่นในครอบครัว 2 – 3 คน)
(แรงงานในเขตอุตสาหกรรม)
ตารางที่ 3: ผลการคำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตของ 101 PUB และองค์กรอื่น
หมายเหตุ: นำค่าครองชีพรายเดือนเฉลี่ย (ขั้นต่ำของค่าจ้างเพื่อชีวิต) มาหารด้วย 30 ไม่ใช่ 27 แบบค่าจ้างเพื่อชีวิตของ 101 PUB และ GLWS

ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรสูงพอที่จะจ่ายค่าจ้างเพื่อชีวิต  

การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น นอกจากจะพิจารณาตามความจำเป็นของแรงงานแล้ว ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลิตภาพของแรงงานด้วย เพื่อให้สอดคล้องไปกับมูลค่าที่แท้จริงที่แรงงานสามารถผลิตออกมา หากค่าจ้างสูงกว่าผลิตภาพแล้ว ก็จะทำให้ธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน และจะกระทบต่อระดับการจ้างงานภายในประเทศและตัวแรงงานเองในท้ายที่สุด

101 PUB ลองคำนวณผลิตภาพแรงงานโดยเฉลี่ย หมายถึง มูลค่าการผลิตของแรงงาน 1 คน ต่อ 1 วันทำงาน ซึ่งคำนวณแยกเป็นแรงงานภาคเกษตรและแรงงานนอกภาคเกษตร[16]เหตุผลที่ 101 PUB เลือกที่จะใช้ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรแทนผลิตภาพแรงงานรวม … Continue reading โดยนำมูลค่าการผลิตมาหารเฉลี่ยด้วยจำนวนแรงงาน จากนั้นก็ปรับด้วยส่วนแบ่งรายได้ของแรงงาน (Labor share of income) เพื่อตัดผลการผลิตที่มาจากทุนออก ผลที่ได้ในเบื้องต้นพบว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยนั้นอยู่ต่ำกว่าผลิตภาพแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตร ซึ่งเป็นผู้รับค่าจ้างขั้นต่ำ มีผลิตภาพโดยเฉลี่ยสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำกว่าเท่าตัว

แม้ค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ 101 PUB เสนอจะสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กำลังจะเพิ่มในเดือนตุลาคมอยู่มาก แต่เมื่อนำค่าจ้างเพื่อชีวิตเทียบกับผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร พบว่าผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรโดยเฉลี่ยยังคงมีค่ามากกว่าค่าจ้างเพื่อชีวิตทั้ง 2 กรณี จึงมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับค่าจ้างเพื่อชีวิตโดยรวมได้โดยยั่งยืน ซึ่งในที่นี้ยังไม่ได้คำนวณถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจากการให้ค่าจ้างสูงขึ้นตามทฤษฎี Efficiency Wage (ภาพที่ 10)

ผลิตภาพแรงงาน ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างเพื่อชีวิต
ภาพที่ 10: ผลิตภาพแรงงาน ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างเพื่อชีวิต

การปรับค่าจ้างต้องเร็วขึ้น แต่ไม่ก้าวกระโดด

แม้ในปี 2022 จะมีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาเงินเฟ้อของไทย แต่ค่าจ้างขั้นต่ำไทยยังคงไม่พอให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ปัญหาดังกล่าวเกิดจากฐานคิดการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่มองว่า ‘ควรเพิ่มเท่าไหร่’ ไม่ใช่ ‘ควรเป็นเท่าไหร่’ และแนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำที่ละเลยมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน ตามแนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำไทยที่ทำให้แรงงานเลี้ยงดูตนเองได้ตามสมควรแก่มาตรฐานครองชีพเท่านั้น ไม่ได้มีแนวคิดให้เลี้ยงคนอื่นในครอบครัวได้

แนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำของไทยจึงต้องได้รับการยกเครื่อง เพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่แค่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะรักษาสภาพความไม่เป็นธรรมของค่าจ้างไปได้ตลอด แต่ต้องตั้งเป้าให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการให้ค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage)

อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิตไม่อาจทำได้โดยง่ายในทันที ตลาดแรงงานเป็นการตกลงกันระหว่างภาคธุรกิจในฐานะนายจ้างและแรงงานในฐานะลูกจ้าง จึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนโดยฉับพลันได้ ดังนั้น การปรับค่าจ้างต้องไม่ใช่ปรับแบบก้าวกระโดดจนภาคธุรกิจไม่มีเวลาปรับตัว โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานในการผลิตสินค้าหรือบริการที่เข้มข้น (Labor Intensive) เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กระดาษ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ค้าปลีกและส่ง[17]101 PUB คำนวณจาก ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต พ.ศ.2558 เมื่อภาคธุรกิจเสียหายจะส่งผลเสียต่อตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจโดยรวมในท้ายที่สุด การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจึงต้องค่อยๆ ปรับแต่ต้องปรับให้เร็วกว่าสภาพเศรษฐกิจจริงเล็กน้อย เพื่อชดเชยความล้าหลังของค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน (ภาพที่ 11) เช่น ตั้งเป้าให้ค่าจ้างเพื่อชีวิตเป็นหนึ่งในตัวพิจารณาที่มีน้ำหนัก เพื่อให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเท่ากับค่าจ้างเพื่อชีวิตภายใน 10 ปี เป็นต้น

หลักการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากับค่าจ้างเพื่อชีวิต
ภาพที่ 11: หลักการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากับค่าจ้างเพื่อชีวิต

ดาวน์โหลดข้อมูลใน Infographic ได้ที่นี่

References
1 101 PUB กำหนดให้แรงงานกลุ่มรายได้น้อยคือแรงงานที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 20,000 บาท กลุ่มรายได้สูงคือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,000 บาทขึ้นไป
2 101 PUB หักล้างผลกระทบต่อตลาดแรงงานเชิงฤดูกาลออกไปแล้ว
3 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2565
4 คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ข้อ 5 พ.ศ.2562
5 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2565). รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2565
6 ข้อมูลค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายได้เฉลี่ยต่อหัวจาก World Bank ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร 101 PUB คำนวณข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ University of Groningen and University of California, Davis ข้อมูลดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคกลุ่มรายได้น้อยจากกระทรวงพาณิชย์ สำหรับค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) รายได้เฉลี่ยต่อหัว และผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร ไม่ได้เป็นข้อมูลรายวันตั้งแต่ต้น 101 PUB จึงได้ทำการแปลงข้อมูลรายวัน กรณีค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (รายเดือน) 101 PUB นำมาหารด้วย 27 โดยสมมติให้แรงงานทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ กรณีรายได้เฉลี่ยต่อหัวและผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร (รายปี) 101 PUB นำมาหารด้วย 313 โดยใช้ข้อสมมติเดียวกันกับกรณีค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage
7 ค่าสหสัมพันธ์วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของคู่ตัวแปร ว่าไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ และสัมพันธ์กันมากขนาดไหน มีค่าตั้งแต่ -1 ถึง 1 ค่าบวกที่เข้าใกล้ 1 แสดงว่าคู่ตัวแปรเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันอย่างมาก ในทางตรงข้าม ค่าลบที่เข้าใกล้ -1 หมายถึงมีการเคลื่อนที่ในทางตรง
8 101 PUB นำตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาหาค่าเฉลี่ยเลขคณิต ในกรณีที่รวมข้อมูลปี 2020 ที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยจะเหลือปีละ 1.8%
9 101 PUB คำนวณค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงด้วยการนำค่าจ้างขั้นต่ำจากประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง มาหารด้วยดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งประเทศ (LPI) ไม่ใช่ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคแบบปกติ (CPI) เพราะแรงงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำถือเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่ตัวเลขที่ 101 PUB คำนวณได้ยังไม่ใช่ค่าที่ถูกต้องที่สุดเนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยเชิงพื้นที่แต่ละจังหวัดที่มีการดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคแตกต่างกัน
10 คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ข้อ 1 พ.ศ.2562
11 Eldring, L., & Alsos., K. (2014). European Minimum Wage: A Nordic Outlook – an update
12 การคำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตเริ่มจากการนำรายได้ต่อหัวของครัวเรือนมาจัดกลุ่ม 10 กลุ่ม (เดไซล์) เรียงลำดับรายได้จากกลุ่มที่รายได้น้อยที่สุด (เดไซล์ที่ 1) ไปมากที่สุด (เดไซล์ที่ 10) หลังจากนั้นหารายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวของแต่ละครัวเรือนในแต่ละกลุ่มรายได้ ตามหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายที่กำหนด โดยรายจ่ายในแต่ละประเภทจะรวมทั้งรายจ่ายที่เป็นตัวเงิน และไม่เป็นตัวเงิน (in-kind) เมื่อได้รายจ่ายเฉลี่ยแต่ละหมวดหมู่แล้วนำมาบวกกัน จะได้รายจ่ายรวมเฉลี่ยต่อหัวรายเดือนของครัวเรือนแต่ละกลุ่มรายได้ กำหนดให้ค่าจ้างเพื่อชีวิตกรณีเลี้ยงแรงงาน 1 คนเท่ากับรายจ่ายรวมเฉลี่ยต่อหัวของกลุ่มรายได้ปานกลาง (เดไซล์ที่ 5) ดังนั้นค่าจ้างเพื่อชีวิตรายวันกรณีเลี้ยงแรงงาน 1 คน จึงเป็นการนำค่าจ้างเพื่อชีวิตรายเดือนหารด้วยวันทำงานรวม 1 เดือน (27 วัน) เนื่องจากข้อมูลที่ 101 PUB เป็นข้อมูลที่สำรวจในปี 2564 ทำให้ค่าจ้างเพื่อชีวิตรายวันกรณีเลี้ยงแรงงาน 1 คนที่คำนวณได้ยังไม่สะท้อนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2565 ดังนั้นแล้ว 101 PUB จึงนำมาปรับค่าด้วยดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคเฉลี่ย (CPI) ในปี 2565 หลังจากนั้นปรับค่าจ้างเพื่อชีวิตให้สอดคล้องกับครอบครัวแต่ละรูปแบบด้วยการคูณกับตัวคูณสมาชิกในครัวเรือน ตัวคูณสมาชิกในครัวเรือนได้มากจากผลรวมค่าถ่วงน้ำหนักสมาชิกครัวเรือนแต่ละแบบ ตามงานศึกษาที่อ้างอิง
13 Anker, R., & Anker, M. (2017). Living Wages Around the World: Manual for Measurement
14 Dawani, K., Prates, I., Anker. R., Anker. M. (2022). Anker Living wage reference value. โดยในรายงานเสนอแค่ค่าจ้างเพื่อชีวิตแบบรายเดือนเท่านั้น ดังนั้นตัวเลขค่าจ้างเพื่อชีวิต 482 บาท/วัน 101 PUB ได้นำตัวเลขดังกล่าวมาหารด้วย 27 เหมือนการคำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตของ 101 PUB
15 กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์. (2565). รายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง “การสำรวจค่าครองชีพของแรงงาน ; ข้อเสนอการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรฐานการดำรงชีพที่มีคุณค่า” ของ คณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25
16 เหตุผลที่ 101 PUB เลือกที่จะใช้ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรแทนผลิตภาพแรงงานรวม เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำนั้นถูกใช้สำหรับการทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการมากกว่า โดยไม่มีผลบังคับใช้กับแรงงานในภาคเกษตรที่ไม่ได้ทำงานตลอดปี (คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2562 ข้อ 7) นอกจากนี้ ภาคเกษตรมีผลิตภาพที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมและบริการ จึงไม่อาจใช้ผลิตภาพโดยรวมเพื่อเป็นตัวแทนได้
17 101 PUB คำนวณจาก ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต พ.ศ.2558

วิจัย/เขียน

กษิดิ์เดช คำพุช

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

1 ปี 101 PUB - 10 อันดับงานยอดนิยม

1 ปี 101 PUB – 10 อันดับงานยอดนิยม

ในโอกาสครบรอบ 1 ปีแห่งการก่อตั้ง 101 PUB ชวนอ่านผลงานยอดนิยม 10 อันดับแรก สำรวจปัญหาและข้อเสนอนโยบายหลากหลายประเด็น ทั้งประชาธิปไตย นิติธรรม การพัฒนาที่ทั่วถึง และการพัฒนาเด็กและระบบนิเวศการเรียนรู้

การยกเว้นภาษีของ BOI สร้างงานที่ดีได้แค่ไหน?

101 PUB ชวนดูทบทวนประสิทธิภาพของมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI โดยเฉพาะในฐานะของการสร้างงาน ว่าสร้างงานที่ดีได้มากน้อยเพียงใด

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย 'เงินอุดหนุนเกษตรกร' แบบเดิมๆ

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย ‘เงินอุดหนุนเกษตรกร’ แบบเดิมๆ

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย เข้าใจช่องโหว่ของนโยบายเงินอุดหนุนเกษตรกรในปัจจุบันที่ยิ่งทำก็เหมือนยิ่ง ‘ขุดหลุมฝังประเทศ’ พร้อมทั้งเสนอแนวทางเปลี่ยนสวัสดิการเติมรายได้ให้สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.