ชุดข้อมูลการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต

บทความ ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต เสนอให้เปลี่ยนแนวคิดในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ หรือ ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ (minimum wage) ให้ไปถึง ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ (living wage) ที่จะทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมาตรฐานของสังคม ตลอดจนการเตรียมตัวรับมือกรณีฉุกเฉินได้ จากข้อมูลเมื่อปี 2021 ค่าจ้างเพื่อชีวิตสำหรับเลี้ยงดูตนเอง คู่สมรส และลูก 1 คน ควรมีค่าไม่น้อยกว่า 563 บาท/วัน และกรณีมีลูก 2 คน ควรมีค่าไม่น้อยว่า 686 บาท/วัน

ค่าจ้างเพื่อชีวิตที่นำเสนอนี้ พิจารณาจาก ‘ค่าใช้จ่ายต่อหัวของครอบครัวรายได้ปานกลาง’ ประกอบด้วย ค่าอาหาร ค่าเช่าและซ่อมที่อยู่อาศัย ค่าสาธารณูปโภค ค่าทำความสะอาด ค่าเครื่องนุ่มห่ม ค่าของใช้ส่วนตัว ค่ารักษาพยาบาล ค่าโทรคมนาคม ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าเบี้ยประกันภัย และค่าใช้จ่ายอื่น นำมาคูณด้วยตัวคูณสมาชิกในครัวเรือน และปรับอัตราเงินเฟ้อให้เป็นค่าใช้จ่ายมาตรฐานในปี 2022 ดังนั้นหากมีการอ้างอิงในอนาคตจึงควรใช้เลขค่าจ้างเพื่อชีวิตของปี 2021[1]เป็นปีที่มีการเก็บข้อมูล ตามอัตราเงินเฟ้อในปี 2019[2]เป็นปีฐานของดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (เลี้ยงดูตนเอง คู่สมรส และลูก 1 คนเท่ากับ 526 บาท/วัน, กรณีลูก 2 คนเท่ากับ 650 บาท/วัน) คูณกับดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ตามปีที่สนใจและหารด้วย 100

การคำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิต

  1. นำรายได้ต่อหัวของครัวเรือนมาจัดกลุ่ม 10 กลุ่ม (เดไซล์) เรียงลำดับรายได้จากกลุ่มที่รายได้น้อยที่สุด (เดไซล์ที่ 1) ไปมากที่สุด (เดไซล์ที่ 10)
  2. หารายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวของแต่ละครัวเรือนในแต่ละกลุ่มรายได้ ตามหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายที่กำหนด โดยรายจ่ายในแต่ละประเภทจะรวมทั้งรายจ่ายที่เป็นตัวเงิน และไม่เป็นตัวเงิน (in-kind)
  3. นำรายจ่ายเฉลี่ยแต่ละหมวดหมู่มาบวกกัน จะได้รายจ่ายรวมเฉลี่ยต่อหัวรายเดือนของครัวเรือนแต่ละกลุ่มรายได้ กำหนดให้ค่าจ้างเพื่อชีวิตกรณีเลี้ยงแรงงาน 1 คนเท่ากับรายจ่ายรวมเฉลี่ยต่อหัวของกลุ่มรายได้ปานกลาง (เดไซล์ที่ 5) ดังนั้นค่าจ้างเพื่อชีวิตรายวันกรณีเลี้ยงแรงงาน 1 คน จึงเป็นการนำค่าจ้างเพื่อชีวิตรายเดือนหารด้วยวันทำงานรวม 1 เดือน (27 วัน)
  4. เนื่องจากข้อมูลที่ใช้มาจากการสำรวจในปี 2021 ทำให้ค่าจ้างเพื่อชีวิตรายวันกรณีเลี้ยงแรงงาน 1 คนที่คำนวณได้ยังไม่สะท้อนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2022 ดังนั้น 101 PUB จึงนำมาปรับค่าด้วยดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคเฉลี่ย (CPI) ในปี 2022
  5. ปรับค่าจ้างเพื่อชีวิตให้สอดคล้องกับครอบครัวแต่ละรูปแบบด้วยการคูณกับตัวคูณสมาชิกในครัวเรือน ตัวคูณสมาชิกในครัวเรือน กรณีที่เป็นหัวหน้าครอบครัวให้ค่าถ่วงน้ำหนักเท่ากับ 1 กรณีที่เป็นผู้ใหญ่คนอื่นที่ไม่ใช่หัวหน้าครอบครัวเท่ากับ 0.8 และเด็กเท่ากับ 0.5 สังเกตว่าค่าถ่วงน้ำหนักสมาชิกแต่ละประเภทไม่เท่ากัน เนื่องจากในความเป็นจริงสมาชิกในครัวเรือนมีการแบ่งปันทรัพยากรซึ่งกันและกันเมื่ออยู่ร่วมกัน
  6. ปรับอัตราเงินเฟ้อให้เป็นค่าใช้จ่ายมาตรฐานในปี 2022

ดาวน์โหลด ตารางข้อมูลที่ใช้ในการคำนวน และข้อมูลอื่นๆ ในบทความประกอบซึ่งด้วย 7 ชุดข้อมูลดังต่อไปนี้

ข้อมูลแหล่งที่มา
ดัชนีราคาสินค้ากลุ่มผู้บริโภครายได้น้อย (Low Income Consumer Price Index: LPI)กระทรวงพาณิชย์
รายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita) World Bank
ค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัด (Minimum Wage)กระทรวงแรงงาน
ค่าจ้างเฉลี่ย (Average Wage)สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ผู้มีงานทำ (Employee)สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศแท้จริง (Real Gross Domestic Product: Real GDP)สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผลตอบแทนแรงงานต่อ GDP (Labour compensation share of GDP)University of Groningen and University of California
หมายเหตุ: ข้อมูลเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2023

References
1 เป็นปีที่มีการเก็บข้อมูล
2 เป็นปีฐานของดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค

ข้อมูลฉบับเต็ม

วิจัย/เขียน

กษิดิ์เดช คำพุช

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย
1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.