รัฐสวัสดิการ: ของข้าราชการ vs ของประชาชน

ใครว่าไทยจัด ‘รัฐสวัสดิการ’ ดีๆ ไม่ได้? ประเทศไทยมีรัฐสวัสดิการที่ดีแล้ว… สำหรับราชการ

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank รวบรวมงบประมาณสวัสดิการของไทยจากเอกสารร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย 2566 ซึ่งเป็นการจัดทำงบประมาณครั้งสุดท้ายของรัฐบาลปัจจุบันก่อนจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้า

สวัสดิการของประชาชนยังไม่สามารถตามทันสวัสดิการของราชการ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าผู้มีสิทธิรับสวัสดิการราชการมีเพียง 5.2 ล้านคนขณะที่ประชากรทั้งหมดมี 66.2 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อเพิ่มสวัสดิการตามที่เคยหาเสียงไว้เมื่อปี 2562 แม้จะเป็นการจัดงบประมาณปีสุดท้ายแล้ว แถมยังตั้งงบประมาณไม่พอสำหรับสวัสดิการเดิมอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เกิดขึ้นในยุคของประยุทธ์ จันทร์โอชาอีกด้วย

ภาพที่ 1 รัฐสวัสดิการของราชการ vs ประชาชน จากร่างงบประมาณรายจ่าย 2566

รัฐสวัสดิการของราชการ

รัฐบาลตั้งงบประมาณจำนวนมากถึง 481,254.9 ล้านบาทในปี 2566 เพื่อเป็นสวัสดิการราชการ[1] ให้การดูแลราชการที่ค่อนข้างครอบคลุมและได้น้ำได้เนื้อ

งบประมาณ 322,790 ล้านบาทถูกตั้งไว้เพื่อจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญสำหรับผู้เกษียณราชการราว 8 แสนคน เฉลี่ยคนละ 30,000 บาท/เดือน งบประมาณก้อนนี้มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากจะมีข้าราชการเกษียณอายุเพิ่มขึ้นจำนวนมากในอนาคตอันใกล้

รัฐบาลยังต้องตั้งงบประมาณเพื่อสมทบเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 75,980 ล้านบาท สำหรับข้าราชการปัจจุบันราว 1.2 ล้านคน รัฐบาลยังมีลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ และพนักงานจ้างของรัฐ ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการจำนวน 7.6 แสนคน[2] ซึ่งรัฐบาลจะต้องสมทบเงินสำหรับประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน ตลอดจนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกว่า 2,200 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลราชการเป็นงบประมาณก้อนใหญ่อีกก้อน มีขนาดมากถึง 76,000 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งสิทธิในการรักษาพยาบาลนี้ครอบคลุมครอบครัวของข้าราชการด้วย กล่าวคือ ตัวข้าราชการเอง คู่สมรส บิดามารดาและบุตร ล้วนมีสิทธิเบิกจ่ายตรงในการเข้ารักษาพยาบาลได้ โดยมีจำนวนผู้มีสิทธิเบิกจ่ายราว 2.6 ล้านคน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังตั้งงบประมาณอีก 4,200 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือค่าการศึกษาบุตรของข้าราชการ และจ่ายเงินชดเชยกรณีที่ข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐเสียชีวิตในระหว่างรับราชการ

งบประมาณข้างต้นยังไม่รวมเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุม ตลอดจนค่าทำงานนอกเวลา หากรวมค่าตอบแทนทั้งหมด จะพบว่ามีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องด้านบุคลากรทั้งหมดราว 1.3 ล้านล้านบาท หรือ 41% ของงบประมาณร่ายจ่ายทั้งปี[3] โดย 101 PUB ประมาณการว่ามีข้าราชการ พนักงานและครอบครัวที่มีสิทธิในงบบุคลากรและสวัสดิการจำนวน 5.2 ล้านคน

รัฐสวัสดิการของประชาชน

รัฐบาลตั้งงบประมาณเป็นสวัสดิการของประชาชน 468,850.4 ล้านบาทในปี 2566 น้อยกว่าของราชการเล็กน้อย แต่ต้องดูแลประชากร 66.2 ล้านคน ซึ่งราชการและครอบครัวก็ได้รับผลประโยชน์บางส่วนด้วย

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของประชาชนใช้งบประมาณ 87,580.1 ล้านบาท เพื่อจัดเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1,000 บาท/เดือนตามช่วงอายุแก่ผู้สูงอายุ 10 ล้านคน (ข้าราชการเกษียณรับเงินเฉลี่ย 30,000 บาท/เดือน) และยังมีเงินสมทบกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นเงินสะสมเพื่อการเกษียณภาคสมัครใจอีกเล็กน้อย ซึ่งไม่ดึงดูดให้ประชาชนเข้าร่วมมากนัก

งบประมาณสำคัญของประชาชนอีกก้อนคือ เงินสมทบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 142,297.9 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งมีประชาชนใช้บริการราว 50 ล้านคน ถือว่างบประมาณรายหัวน้อยกว่าสิทธิการรักษาพยาบาลข้าราชการอย่างมาก เช่นเดียวกับกองทุนประกันสังคมที่ยังให้สิทธิประโยชน์ไม่มากจนมีผู้เข้าร่วมเป็นแรงงานในระบบ (มาตรา 33) เพียง 10 ล้านคน ได้รับงบประมาณ 48,514.2 ล้านบาท

รัฐบาลใช้งบประมาณ 111,342.6 ล้านบาทเป็นสวัสดิการด้านการศึกษา ซึ่งครอบคลุมเงินอุดหนุนค่าเล่าเรียน หนังสือ ชุดนักเรียน อาหารกลางวันตลอดจนนมโรงเรียน ให้การดูแลนักเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวนรวม 6.2 ล้านคน (จากนโยบายเรียนฟรี 15 ปี)[4] ซึ่งจะยังไม่เพียงพอให้การศึกษาและการดูแลแก่เด็กนักเรียน อย่างมีคุณภาพโดยเสมอกันและฟรีโดยแท้จริงได้ แต่มีแนวโน้มเพิ่มสวัสดิการด้านการศึกษาผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

งบประมาณสำหรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดยังคงอยู่ในระดับ 16,321.2 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับงบประมาณเดิม หมายความว่าเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจะยังเป็นแบบเจาะจงต่อไป ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่า มีเด็กในครัวเรือนยากจนตกหล่นไปมากถึง 30% นอกจากนี้ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัวเสนอว่าการทำให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเป็นแบบถ้วนหน้าจะใช้เงินเพิ่มขึ้นเพียง 21,121 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งอยู่ในวิสัยที่หาหรือโยกงบประมาณมาได้ รัฐบาลยังเคยหาเสียงไว้ว่าจะมีการยกระดับสวัสดิการดังกล่าวในการเลือกตั้ง 2562 แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เงินสมทบกองทุนประชารัฐสวัสดิการ ซึ่งให้การอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ‘บัตรคนจน’ ได้รับงบประมาณเพียง 35,514.6 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอในการให้สวัสดิการผู้ถือบัตรเดิม 14 ล้านราย ในขณะที่กระทรวงการคลังประมาณการว่าจะมีผู้มีสิทธิเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านรายเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด จนต้องใช้งบประมาณมากถึง 60,000 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ถือบัตรสวัสดิการจะต้องมานั่งลุ้นให้ได้งบประมาณเสริมจากงบกลางต่อไป


รัฐสวัสดิการของประชาชนเพิ่มได้ ถ้ามีวิสัยทัศน์

งบสวัสดิการของประชาชนสะท้อนว่ากระบวนการงบประมาณของไทยถือราชการเป็นใหญ่ ให้ประชาชนเป็นรอง แม้ว่ารัฐบาลจะเปรียบเสมือนนายจ้างของข้าราชการ ที่จะต้องให้การดูแลที่ดีเพื่อดึงดูดคนเข้ามาทำงาน แต่ด้วยจำนวนข้าราชการและสวัสดิการที่ดีนี้ทำให้เกิดงบประมาณก้อนใหญ่ที่ลดพื้นที่และความสามารถทางการคลังของประเทศ ตลอดจนงบประมาณเพื่อสวัสดิการของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การจัดสวัสดิการประชาชนเพื่อสร้างตาข่ายทางสังคม (social safety net) ดูแลผู้ด้อยโอกาสและผู้โชคร้าย ถือเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาล ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ในโลก VUCA ที่ทุกอย่างมีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือมากขึ้น ต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงและมีนวัตกรรมระดับโลกเพิ่มขึ้นโดยตลอด ความไม่มั่นคงของคนไทยจะฉุดรั้งศักยภาพให้ไม่กล้าลงทุน ไม่กล้าทดลองหากไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ถูกทิ้งห่างมากขึ้น ในท้ายที่สุดจะกลายเป็นปัญหาความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต

การสร้างสวัสดิการประชาชนให้เพียงพอในปัจจุบัน (ร่วมกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมขนานใหญ่) จึงเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์และความกล้าหาญของภาครัฐ

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

ฉัตร คำแสง

สร้างสรรค์ภาพ

ธนกร เนตรจอมไพร

บทความที่เกี่ยวข้อง

รัฐราชการขยายใหญ่ เบียดพื้นที่การคลัง ยังด้อยประสิทธิภาพ

101 PUB เสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐราชการไทย ด้านกำลังคนภาครัฐและรายจ่ายบุคลากร เพื่อตั้งหลักว่าการปฏิรูประบบราชการควรมีทิศทางแบบใด

งบประมาณไทย จ่ายไปที่ไหนบ้าง?

101 PUB ชวนสำรวจการกระจายตัวของงบประมาณไทยลงพื้นที่จังหวัดของไทย ดูว่าการกระจุกตัวของงบประมาณและอำนาจการตัดสินใจใช้งบประมาณเป็นอย่างไร

ส่องงบลงทุน 434,400 ล้านบาท ปี 2566: ลงทุนอะไรบ้าง? ตอบโจทย์ความท้าทายของไทยหรือไม่?

101 PUB พาสำรวจงบลงทุนในปีงบประมาณ 2566 ว่ารัฐบาลตั้งงบลงทุนตามยุทธศาสตร์อย่างไรและแท้จริงแล้ว งบลงทุนเหล่านี้จัดหาสินทรัพย์อะไร นำไปสู่บริการสาธารณะ หรือศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.