3 โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่ สร้างประเทศไทยเพื่อทุกคน

101 PUB

6 May 2023

บรรยากาศการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ทำให้ปัญหาในหลากมิติของชีวิตคนไทยได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระถกเถียงอย่างกว้างขวาง แต่ละพรรคการเมืองก็มีแนวทางแก้ไขแตกต่างกันออกไป ก่อนจะออกไปตัดสินใจลงคะแนนให้ผู้แทนที่จะเข้าไปกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศในอีก 4 ปีถัดจากนี้ 101 PUB ขอชวนมาเข้าใจปัญหาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พร้อมสำรวจทางเลือกนโยบายใหม่ผ่านผลงานวิจัย 16 ชิ้น ใน ‘3 โจทย์ใหญ่’ เพื่อช่วยเฟ้นหาว่านโยบายจากพรรคใดจะเป็น ‘คำตอบที่ใช่’ ในการสรรสร้างประเทศที่ทุกคน ‘มีความหมาย’ และเติมเต็มความฝันของตนได้อย่างดีที่สุด

1. ยกระดับตาข่ายประกันคุณภาพชีวิต

101 PUB เชื่อว่าความเป็นอยู่ที่ดีเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ ของมนุษย์ และเป็นบันไดขั้นแรกสุดในการก้าวออกไปโบยบินเอื้อมคว้าความฝัน รัฐจึงต้องสร้าง ‘ระบบสวัสดิการ’ เพื่อเป็น ‘หลักประกัน’ ความเป็นอยู่สำหรับทุกคน

อย่างไรก็ดี ระบบสวัสดิการไทยยังเป็นหลักประกันที่ไม่ครอบคลุม ทั่วถึง มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพเพียงพอจะรับมือกับความเสี่ยงในชีวิตประชาชนที่มากขึ้น ในโลกปัจจุบันอันแสนเปราะบางและผันผวน – โลกที่เราทุกคนเหมือนยืนอยู่สุดขอบหน้าผาและอาจถูกผลักลงสู่หุบเหวแห่งความยากจน-ทุกข์ยาก-ฝันสลายได้ตลอดเวลา

ฉะนั้น การพัฒนาระบบสวัสดิการจึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ข้อแรกที่พึงให้ความสำคัญ รัฐบาลควรยกระดับ ‘ตาข่าย’ นี้ให้สามารถรองรับมิให้ใครร่วงหล่นจากหน้าผาลงมาสูงจนเจ็บหนักและได้แผลเป็น รวมถึง ‘เด้ง’ พวกเขาขึ้นไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นและใกล้ความฝันมากกว่าเดิม ผลงานด้านล่างนี้จะพาวิเคราะห์ปัญหาและสำรวจข้อเสนอจาก 101 PUB ในโจทย์สวัสดิการ 6 ประเด็น

  1. สวัสดิการเด็กเล็ก – เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด-สิทธิลาคลอดพ่อแม่-ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เสริมสร้างสุขภาวะและพัฒนาการในช่วงแรกและตลอดชีวิต มิให้เด็กคนใดมีคุณภาพชีวิตและความฝันติดลบตั้งแต่ลืมตาดูโลก
  2. สวัสดิการคนว่างงาน – เงินประกันการว่างงาน รักษาระดับความเป็นอยู่ของคนทำงานและครอบครัวในช่วงขาดรายได้ ป้องกัน ‘แผลเป็น’ จากการว่างงานในระยะยาว พร้อมสนับสนุนให้คนว่างงานได้งานใหม่ที่ดี
  3. บ้าน – สร้างบ้านที่คนเมืองทุกฐานะ อาชีพ และช่วงวัยเข้าถึงได้จริง คุณภาพเหมาะสมแก่การอยู่อาศัยและใช้ชีวิตอย่างผาสุก เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเรียน ทำงาน สร้างครอบครัว และเอื้อมคว้าความฝันอื่นในพื้นที่เมืองได้อย่างดีที่สุด
  4. บ้านผู้สูงวัย – พัฒนาบริการบ้านและการดูแลสำหรับผู้สูงวัย รองรับความต้องการหลากหลายและเข้าถึงได้อย่างถ้วนทั่ว ตอบสนองความท้าทายของสังคมผู้สูงวัยไทยที่เต็มไปด้วย ‘ผู้สูงวัยเปราะบาง’
  5. บริการสุขภาพจิต – พัฒนาระบบบริการสุขภาพจิต ให้สามารถ ‘ดูแลใจ’ เด็กและเยาวชนได้อย่างทั่วถึง เพียงพอ และเหมาะสมยิ่งขึ้น
  6. งบประมาณ – วิเคราะห์ข้อมูลงบประมาณสวัสดิการประชาชน ซึ่งต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณสวัสดิการของเจ้าหน้าที่รัฐ

2. ทลายเพดานจำกัดฝัน

การชิงชัยในสนามการ #เลือกตั้ง66 เป็นการเวียนมาบรรจบของวัฎจักรการนำเสนอภาพฝันที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สังคมที่พัฒนา แก้ไขสารพัดปัญหาให้กับประชาชน แต่ทว่าคำมั่นสัญญาที่จะขุดรากถอนโคน ‘ปัญหาใหญ่’ กลับถูกยกขึ้นมาพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนเวทีปราศรัย กระทั่งวาระ ‘เลือกตั้งใหญ่’ วนกลับมาอีกครั้ง ข้อถกเถียงเรื่องความยากจน เหลื่อมล้ำ อยุติธรรมในสังคมก็ยังคงเวียนกลับมาเหมือนเดิม!

งานวิจัยโดย 101 PUB พบว่าสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า ‘เผด็จการ’ คือ ‘เผด็จการความเป็นไปได้’ ที่จำกัดความฝันให้มองเห็นแต่สิ่งที่ ‘เป็นไปได้’ มากกว่าที่จะฝันถึงสิ่งที่ ‘อยากให้เป็น’ ข้อนี้เป็นโจทย์สำคัญของทั้งสังคมที่จะต้องร่วมกันแสวงหา ‘จินตนาการใหม่’ ที่พ้นไปจากความเป็นไปได้ตรงหน้า และเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลใหม่ ในการพาประเทศพ้นไปจากวงจรปัญหาที่เวียนกลับมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทลายเพดานที่จำกัดความฝันของคนไทยมานานแสนนาน

5 บทวิเคราะห์และข้อเสนอนโยบายต่อไปนี้มุ่งตีโจทย์ท้าทาย เพื่อจะได้หวังว่าในการเลือกตั้งคราวหน้า ประเทศของเราจะก้าวข้ามไปสู่โจทย์ใหม่ ความฝันใหม่ที่ท้าทายยิ่งกว่าแทนการย่ำอยู่ที่เก่า

  1. หยุดหมุนวงจรความจนเกษตรกร – คิดใหม่นโยบายเกษตร เลิกฉุดรั้งเกษตรกรด้วยเงินอุดหนุนที่ ‘ยิ่งช่วยยิ่งจน’ ปฏิรูประบบ ‘เงินช่วยเหลือคนจน’ ให้เติมรายได้-ลดรายจ่ายของคนยากจนได้เพียงพอและทั่วถึง
  2. ยกระดับค่าแรงให้ไปถึง ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ – พลิกวิธีคิดค่าแรงขั้นต่ำไทย จาก ‘ขึ้นเท่าไหร่’ สู่ ‘ควรเป็นเท่าไหร่’ แรงงานจึงจะสามารถยืนหยัดเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรี
  3. ยกเครื่องประเทศไทยด้วยการลงทุนสีเขียว – แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเรื่องเดียวกันได้ถ้ารัฐบาลกล้าชนปัญหาใหญ่เพื่อรับมือโลกรวน
  4. ทลายระบอบลอยนวลพ้นผิด – พ.ร.บ.อุ้มหายฯ คือหมุดหมายสำคัญของการยุติวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดในสังคมไทย แต่ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ต้องทำให้กฎหมายบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ
  5. ไปให้ไกลกว่า ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ – แค่ ‘นิรโทษกรรม’ ไม่เพียงพอ แต่ต้องผลักดันกลไกที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมอย่างแท้จริง

3. ขยายการมีส่วนร่วมของประชาชน

โจทย์ใหญ่ข้อสุดท้าย แม้หลายคนอาจมิได้สาดส่องสปอตไลท์ ให้ความสำคัญกับโจทย์นี้มากเท่าสองโจทย์แรก แต่ที่จริง โจทย์นี้สำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เป็นของทุกคน-เพื่อทุกคน ไม่แพ้สองโจทย์แรกเลย

รัฐบาลจะยกระดับตาข่าย ทลายเพดาน หรือดำเนินนโยบายใดให้ตอบสนองความต้องการและสนับสนุนความฝันของประชาชนได้ดี ก็ต่อเมื่อ ‘รับฟังเสียง’ ของประชาชนทุกคน และเปิดโอกาสให้พวกเขามีส่วนร่วมอย่างมีความหมายตลอดกระบวนการ ตั้งแต่ริเริ่มกำหนดนโยบาย นำไปปฏิบัติ ไปจนถึงติดตามประเมินผล

ลำพังการเลือกตั้งสี่ปีครั้งไม่สามารถสะท้อนเสียงประชาชนได้อย่างครอบคลุม เพียงพอ และเหมาะสม ช่องทางมีส่วนร่วมอื่นในระบบการเมืองไทยวันนี้ก็อยู่ในสภาพ ‘เปลือก-ปลอม’ แทบไม่เอื้อให้ประชาชนถูกรับฟังและมีอิทธิพลต่อนโยบายได้จริง

ผลงานด้านล่างนี้มุ่งวิเคราะห์ปัญหาของช่องทางการมีส่วนร่วมในปัจจุบัน และเสนอแนวทางปรับปรุง-ขยายช่องทางเหล่านั้น ให้เสียงของประชาชนทุกกลุ่มถูกรับฟังอย่างมีความหมายมากขึ้น

  1. กระบวนการนิติบัญญัติ – ‘สภาผู้แทน’ ถือเป็นช่องทางพื้นฐานที่สุดในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่ผลงานสภายุค ‘ประยุทธ์ 2’ ชี้ว่าสภามิได้มีอำนาจนิติบัญญัติสูงสุดจริง นายกมีอำนาจปัดตกร่างกฎหมายตั้งแต่ก่อนเข้าสภา และ ส.ว. ก็ขวางการแก้ รธน. ที่สภาเสียงข้างมากเห็นชอบ นอกจากนี้ สภายังไม่สามารถเป็นพื้นที่ต่อรอง-ประนีประนอมระหว่าง ส.ส. ต่างขั้ว เพื่อจัดทำกฎหมายให้เป็นประโยชน์และนับรวมประชาชนมากที่สุดได้
  2. ร่างกฎหมายโดยประชาชน – ภายใต้สภายุคประยุทธ์ 2 มีร่างกฎหมายของประชาชนเพียง 1 ฉบับ จากทั้งหมด 80 ฉบับที่ผ่านเป็นกฎหมาย ส่วนใหญ่แท้งตั้งแต่ก่อนเข้าสภาเพราะประธานสภาและนายกตีตกไป ส่วนที่เข้าสภาได้ ก็มักถูก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. คว่ำ สะท้อนว่ายังคงมีกำแพงกีดกันไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางตรงในกระบวนการนิติบัญญัติได้จริง
  3. การลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี – ให้เสียงเยาวชนอายุ 15-17 ปีถูกรับฟังผ่านระบบผู้แทนอย่าง ‘เสมอภาค’ กับผู้ใหญ่มากขึ้น เปลี่ยนระบอบ ‘ชราธิปไตย’ ที่กีดกันพวกเขาไว้ในม็อบหรือโลกออนไลน์ ไปสู่ ‘ประชาธิปไตย’ ที่ตอบสนองและแก้ปัญหาให้พวกเขาไขว่คว้าความฝันได้ดียิ่งขึ้น
  4. การขยายช่องทางการมีส่วนร่วมอื่นสำหรับเยาวชน – เปิดช่องทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรมเยาวชน เช่น ระบบเข้าชื่อ/ร้องเรียนออนไลน์ ปฏิรูปสภาเยาวชนให้มาจากการเลือกตั้ง สะท้อนเสียงเยาวชนอย่างอิสระ และมีอิทธิพลในกระบวนการนโยบายได้จริง รวมถึงให้นักเรียนนักศึกษาร่วมจัดการสถานศึกษาและระบบการศึกษา
  5. การกระจายอำนาจ – การกระจายอำนาจ-ภารกิจ-ทรัพยากรให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดการตนเองยังจำกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้น้อย มีอิสระในการจัดสรรงบประมาณ-ดำเนินนโยบายจำกัดมาก อยู่ภายใต้การควบคุม-ครอบงำของส่วนกลางในทุกมิติ

โจทย์ใหญ่ของทุกคน

ประชาธิปไตยไม่ได้จบแค่ในคูหา นโยบายสาธารณะไม่ได้สำคัญเฉพาะช่วงเวลาเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคที่ชอบ คนที่ใช่จะได้เข้าไปบริหารประเทศหรือไม่ การสร้างตาข่าย-ทลายเพดาน-ขยายการมีส่วนร่วม จะยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันติดตาม ผลักดัน ตรวจสอบ ทวงถามคำมั่นสัญญาที่พรรคการเมืองได้ประกาศเอาไว้ต่อไปตลอดสี่ปีข้างหน้า 101 PUB หวังใจให้ทุกท่านออกไปใช้สิทธิอย่างมีความหวังและขอชวนมาร่วมกันขบคิดโจทย์ใหญ่ร่วมกันต่อไป

เรียบเรียง/นำเสนอ

วรดร เลิศรัตน์

เรียบเรียง/นำเสนอ

สรัช สินธุประมา

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

1 ปี 101 PUB - 10 อันดับงานยอดนิยม

1 ปี 101 PUB – 10 อันดับงานยอดนิยม

ในโอกาสครบรอบ 1 ปีแห่งการก่อตั้ง 101 PUB ชวนอ่านผลงานยอดนิยม 10 อันดับแรก สำรวจปัญหาและข้อเสนอนโยบายหลากหลายประเด็น ทั้งประชาธิปไตย นิติธรรม การพัฒนาที่ทั่วถึง และการพัฒนาเด็กและระบบนิเวศการเรียนรู้

เช็กสุขภาพประเทศไทย ผ่าน 12 ภาพ ผลงาน 101 PUB

ชวนเช็กสุขภาพประเทศไทยผ่าน 12 ภาพผลงาน 101 PUB ที่ชี้ปัญหาใหญ่ประเทศ ทั้งมิติการบริหารจัดการ คุณค่า และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

‘นโยบายสาธารณะ’ ไทยในโลกใหม่: เปิดตัว ‘101 PUB’ – 101 Public Policy Think Tank

101 เปิดตัว 101 PUB ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทำงานบนฐานวิชาการ การพัฒนา และประชาธิปไตย

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.