แรงงานถือเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในฐานะกำลังการผลิตและกำลังซื้อที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมา แรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานรายได้น้อยกลับมีคุณภาพชีวิตสวนทางกับความสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการบังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ก็ยิ่งส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อกลุ่มแรงงานรายได้น้อย ต่างกับกลุ่มแรงงานรายได้สูงที่การจ้างงานเพิ่มขึ้น[1]101 PUB กำหนดให้แรงงานกลุ่มรายได้น้อยคือแรงงานที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 20,000 บาท กลุ่มรายได้สูงคือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,000 บาทขึ้นไป ส่งผลให้ตลาดแรงงานเกิดความเหลื่อมล้ำในลักษณะ K-shape[2]101 PUB หักล้างผลกระทบต่อตลาดแรงงานเชิงฤดูกาลออกไปแล้ว (ภาพที่ 1) ท่ามกลางปัญหานี้ยังเกิดวิกฤตค่าครองชีพ นำโดยราคาพลังงานและอาหารเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อมากกว่ากลุ่มที่มีฐานะดีกว่า
ในปี 2022 นี้ คณะกรรมการค่าจ้างจะมีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 313 – 336 บาท/วัน เป็น 328 – 354 บาท/วันแล้วแต่พื้นที่ โดยบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 เป็นต้นไป[3]ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2565 แต่การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำยังคงน้อยกว่าที่กลุ่มแรงงานเรียกร้องอย่างมาก เช่น กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่ได้ยื่นข้อเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 492 บาท/วันทั่วประเทศ ความแตกต่างขนาดใหญ่นี้ชวนให้สังคมกลับมาคิดถึงแนวทางการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ลงลึกไปถึงหลักการและที่มาของตัวเลขที่ถูกใช้ในการเจรจา
101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ขอชวนผู้อ่านทบทวนแนวคิดและปัจจัยในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของไทยในปัจจุบัน และชวนผู้อ่าน ‘คิดใหม่’ เกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำของไทย เพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีพแท้จริงของแรงงาน เพิ่มความเป็นธรรมของแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำด้วยแนวคิดค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage) ที่มีหลักการคือแรงงานต้องสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรี ทัดเทียมกับมาตรฐานของสังคม
ไทยปรับค่าจ้างขั้นต่ำด้วยฐานคิด
‘ควรเพิ่มเท่าไหร่’ ไม่ใช่ ‘ควรเป็นเท่าไหร่‘
ผู้มีอำนาจในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำคือคณะกรรมการค่าจ้าง ที่ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายรัฐ นายจ้าง และลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน โดยมีตัวแทนฝ่ายรัฐคือปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ในขั้นแรก คณะกรรมค่าจ้างจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างจังหวัดในแต่ละจังหวัดขึ้นเพื่อศึกษาบริบทในพื้นที่ จากนั้นเสนอค่าจ้างขั้นต่ำแก่คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องแต่ละจังหวัด แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อลงมติรับรองข้อเสนอของแต่ละจังหวัดที่ผ่านการกลั่นกรองแล้ว สุดท้ายคณะรัฐมนตรีจะลงมติและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป (ภาพที่ 2)
ในปัจจุบัน วิธีกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับการเจรจา ใช้ฐานคิดว่า ‘ควรเพิ่มเท่าไหร่’ ไม่ใช่ ‘ควรเป็นเท่าไหร่’ สังเกตได้จากการใช้ค่าจ้างขั้นต่ำเดิมเป็นตัวตั้ง (ซึ่งไม่ได้พิจารณาว่าเป็นธรรมอยู่แล้วหรือไม่) แล้วพิจารณาว่าควรปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ และเท่าไหร่ โดยดูจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยอาจพิจารณาเพิ่มเติมด้วยอัตราสมทบของแรงงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี[4]คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ข้อ 5 พ.ศ.2562(ภาพที่ 3)
การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2022 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของการปรับตามสภาวะทางเศรษฐกิจ ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจครึ่งปีแรก 2.4% คาดการณ์ว่าทั้งปีจะเติบโตได้ 3.0% อัตราเงินเฟ้อครึ่งปีแรก 5.6% คาดการณ์ทั้งปีจะมีอัตราเงินเฟ้อ 6.5%[5]สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2565). รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2565อัตราดังกล่าวสอดคล้องกับผลการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้าง คือ 2.5–6.6% ทั้งประเทศ โดยพื้นที่เศรษฐกิจเพิ่มมากกว่าพื้นที่อื่น
ค่าจ้างขั้นต่ำไทยไม่เคยไล่ทันสภาพเศรษฐกิจจริง
ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาสังเกตว่าค่าจ้างขั้นต่ำไทยเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มช้ากว่าค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) รายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita) ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร[6]ข้อมูลค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายได้เฉลี่ยต่อหัวจาก World Bank ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร 101 PUB … Continue reading) และดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคกลุ่มรายได้น้อย ยกเว้นช่วงปรับฐานค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ในช่วงปี 2012-2013 (ภาพที่ 4) จากปี 2013 จนถึงปี 2022 ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) เพิ่มขึ้น 108 บาท/วันกลายเป็น 587 บาท/วัน รายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้น 151 บาท/วัน เป็น 757 บาท/วัน ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 19 บาท/วัน เป็น 774 บาท/วัน แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 28-54 บาท/วัน เป็น 328-354 บาท/วัน
นอกจากนั้น เมื่อ 101 PUB ลองนำค่าจ้างขั้นต่ำมาหาค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) กับตัวชี้วัดเศรษฐกิจแต่ละตัว[7]ค่าสหสัมพันธ์วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของคู่ตัวแปร ว่าไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ และสัมพันธ์กันมากขนาดไหน มีค่าตั้งแต่ -1 ถึง 1 … Continue reading พบว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีความเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคกลุ่มรายได้น้อย 92.6% ขณะที่มีความสัมพันธ์กับค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) 79.4% รายได้เฉลี่ยต่อหัว 84.9% และผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร 60.4% (ตารางที่ 1) ซึ่งจะเห็นว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นสัมพันธ์กับค่าครองชีพตามอัตราเงินเฟ้อมากที่สุด อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำมาตลอดทศวรรษล่าสุด จึงทำให้การขึ้นค่าจ้างตามไม่ทันดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจโดยทั่วไป
ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ | ค่าสหสัมพันธ์ |
ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค กลุ่มรายได้น้อย | + 92.6% |
ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย | + 79.4% |
รายได้เฉลี่ยต่อหัว | + 84.9% |
ผลิตภาพแรงงาน นอกภาคเกษตร | + 60.4% |
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงแรงงาน, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, World Bank และ University of Groningen and University of California, Davis คำนวณโดย 101 PUB
หมายเหตุ: ปีที่เริ่มนำมาคำนวณเริ่มต้นจาก พ.ศ.2556 ที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั้งประเทศ
เมื่อคิดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นมูลค่าที่แท้จริง ด้วยการขจัดผลของอัตราเงินเฟ้อออก ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วงทศวรรษหลัง แม้ว่าเศรษฐกิจที่คิดเป็นมูลค่าที่แท้จริงจะเติบโตเฉลี่ย 2.8% ต่อปี (ไม่นับปี 2020 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19)[8]101 PUB นำตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาหาค่าเฉลี่ยเลขคณิต ในกรณีที่รวมข้อมูลปี 2020 … Continue reading ดังนั้น แนวทางการกำหนดค่าจ้างปัจจุบันจึงไม่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดีขึ้น[9]101 PUB คำนวณค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงด้วยการนำค่าจ้างขั้นต่ำจากประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง … Continue reading (ภาพที่ 5)
ฐานค่าจ้างขั้นต่ำล้าหลัง แรงงานไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
ประเด็นปัญหาใหญ่ของค่าจ้างขั้นต่ำไทย อยู่ที่แนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันที่ระบุว่า “เป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น”[10]คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ข้อ 1 พ.ศ.2562
นิยามนี้ไม่สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่จริงของแรงงาน รวมถึงเป้าหมายในการรักษาสวัสดิภาพและโครงสร้างประชากรโดยรวม เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำเลี้ยงดูแรงงานได้เพียงคนเดียว และเลี้ยงดูได้ตามมาตรฐานครองชีพเท่านั้น ในความเป็นจริง แรงงานต้องเลี้ยงดูคนอื่นในครอบครัว เช่น คู่สมรส ลูก ผู้สูงอายุ หรือคนอื่นในครอบครัวซึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจริงของแรงงานไม่ได้มีแค่ปัจจัย 4 เพื่อประทังชีพเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น เช่น ค่าเดินทาง ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าเล่าเรียนบุตร เงินโอนเพื่อดูแลสมาชิกครอบครัวที่อยู่ต่างครัวเรือน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการอยู่ร่วมในสังคมด้วย
เมื่อย้อนดูนิยามค่าจ้างขั้นต่ำของไทยเมื่อ 50 ปีที่แล้ว พบว่าเคยมีความก้าวหน้ามากกว่าปัจจุบัน โดยตั้งเป้าให้ค่าจ้างขั้นต่ำต้องสามารถเลี้ยงดูตนเองและคนในครอบครัวได้อีก 2 คน รวมเป็น 3 คน อีกทั้งเป็นค่าจ้างที่สามารถเลี้ยงดูได้อย่างสมศักดิ์ศรีไม่แพ้คนอื่นในสังคม ไม่ใช่แค่สมควรแก่มาตรฐานครองชีพ (ภาพที่ 6)
นอกจากแนวคิดจะล้าหลังกว่าในอดีตแล้ว แนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำของไทยในปัจจุบันยังตามไม่ทันแนวโน้มของโลก เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับที่ 131 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation: ILO) ซึ่งมาตราที่ 3 ของอนุสัญญาฉบับนี้กำหนดให้แนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำต้องรวมถึง 2 องค์ประกอบหลักคือ
1. ความต้องการของแรงงานและครอบครัว ที่ควรพิจารณาระดับค่าจ้างโดยเฉลี่ยของประเทศ ค่าครองชีพ ความคุ้มครองของระบบประกันสังคม และมาตรฐานการครองชีพโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น
2. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ที่ควรพิจารณาเงื่อนไขการพัฒนาเศรษฐกิจ ระดับผลิตภาพของแรงงาน และการรักษาระดับการจ้างงานเต็มที่
ไทยควรปรับแนวคิดสู่ค่าจ้างเพื่อชีวิต
เพิ่มความเป็นธรรม สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
จากที่กล่าวมาข้างต้น ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยควรจะได้รับการ ‘คิดใหม่’ ตั้งแต่ระดับนิยามพื้นฐานที่สุด ให้สอดคล้องกับแบบแผนและต้นทุนการใช้ชีวิตจริงของแรงงาน ตลอดจนบรรทัดฐานสากล หนึ่งในนิยามที่มีความก้าวหน้า เหมาะเป็นเป้าหมายสำหรับการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย คือ ค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage)
ค่าจ้างเพื่อชีวิตคือค่าตอบแทนสำหรับการทำงานตามเวลาปกติ ที่ทำให้แรงงานเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การศึกษา การรักษาพยาบาล การเดินทาง เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ในการใช้ชีวิตตามมาตรฐานของสังคม ตลอดจนการเตรียมตัวรับมือกรณีฉุกเฉิน (ภาพที่ 8) แนวทางนี้คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของทั้งครอบครัว แต่ก็ไม่ได้คำนวณด้วยค่าใช้จ่ายทุกประเภทซึ่งอาจมีส่วนที่สังคมมองว่าไม่จำเป็น
ในประเทศไทยเองก็เคยมีงานวิชาการที่ประยุกต์ใช้แนวคิดค่าจ้างเพื่อชีวิตในบริบทไทย ด้วยข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน ที่กลุ่มตัวอย่างสามารถเป็นตัวแทนระดับประเทศได้ ซึ่ง 101 PUB ได้นำวิธีการคำนวณมาต่อยอดและปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
ค่าจ้างเพื่อชีวิตที่นำเสนอนี้ พิจารณาจาก ‘ค่าใช้จ่ายต่อหัวของครอบครัวรายได้ปานกลาง’ ประกอบด้วย ค่าอาหาร ค่าเช่าและซ่อมที่อยู่อาศัย ค่าสาธารณูปโภค ค่าทำความสะอาด ค่าเครื่องนุ่มห่ม ค่าของใช้ส่วนตัว ค่ารักษาพยาบาล ค่าโทรคมนาคม ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าเบี้ยประกันภัย และค่าใช้จ่ายอื่น (ตารางที่ 2) แล้วนำมาคูณกับตัวคูณสมาชิกในครัวเรือน โดยตัวคูณสมาชิกในครัวเรือนคือผลรวมของค่าถ่วงน้ำหนักสมาชิกแต่ละแบบ กรณีที่เป็นหัวหน้าครอบครัวให้ค่าถ่วงน้ำหนักเท่ากับ 1 กรณีที่เป็นผู้ใหญ่คนอื่นที่ไม่ใช่หัวหน้าครอบครัวเท่ากับ 0.8 และเด็กเท่ากับ 0.5 สังเกตว่าค่าถ่วงน้ำหนักสมาชิกแต่ละประเภทไม่เท่ากัน เนื่องจากในความเป็นจริงสมาชิกในครัวเรือนมีการแบ่งปันทรัพยากรซึ่งกันและกันเมื่ออยู่ร่วมกัน สุดท้าย นำค่าที่ได้มาปรับอัตราเงินเฟ้อให้เป็นค่าใช้จ่ายมาตรฐานในปัจจุบัน[12]การคำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตเริ่มจากการนำรายได้ต่อหัวของครัวเรือนมาจัดกลุ่ม 10 กลุ่ม (เดไซล์) เรียงลำดับรายได้จากกลุ่มที่รายได้น้อยที่สุด … Continue reading
หมวดหมู่ค่าใช้จ่าย | รายละเอียดค่าใช้จ่ายแต่ละหมวดหมู่ |
ค่าอาหาร | ข้าวและแป้ง, เนื้อสัตว์, ปลา, นมและเนย, น้ำมันและไขมัน, ผัก, ผลไม้, น้ำตาลและขนมหวาน, เครื่องเทศและเครื่องปรุง, เครื่องดื่ม, อาหารสำเร็จรูป, อาหารและเครื่องดื่มที่ทานนอกบ้าน |
ค่าเช่าและซ่อมที่อยู่อาศัย | ค่าเช่าบ้าน, ซ่อมแซมบ้าน, ติดตั้งและซ่อมระบบประปา, ติดตั้งและซ่อมระบบระบบไฟฟ้า |
ค่าสาธารณูปโภค | ไฟฟ้า, ก๊าซหุงต้ม, ถ่านไม้และฟืน, น้ำประปา |
ค่าทำความสะอาด | ไม้ถูพื้น, ไม้กวาด, แปรง, ผงซักฟอก, น้ำยาปรับผ้านุ่ม, น้ำยาทำความสะอาด, ยาดับกลิ่น, อุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่น |
ค่าเครื่องนุ่งห่ม | เสื้อผ้า, ชุดกีฬา, ชุดชั้นใน, เครื่องแต่งกายอื่น, ค่าตัดเย็บ, ค่าซักผ้า, รองเท้า |
ค่าของใช้ส่วนตัว | เครื่องอาบน้ำ, หวีและมีดโกนหนวด, เครื่องสำอาง, นาฬิกา, กระเป๋าเดินทาง, ของใช้ส่วนตัวอื่น |
ค่ารักษาพยาบาล | ยารักษาโรค, ค่ารักษาผู้ป่วยในและนอก |
ค่าเดินทาง | ซื้อยานพาหนะ, อุปกรณ์หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ เช่น อะไหล่ น้ำมันเครื่อง, ค่าเดินทางขนส่งสาธารณะ, ค่าเชื้อเพลิงที่ใช้กับยานพาหนะ, ค่าเดินทาง |
ค่าโทรคมนาคม | ค่าบริการโทรศัพท์, ค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน |
ค่าเล่าเรียนบุตร | ค่าเทอม, อุปกรณ์การเรียนต่างๆ, ค่าเรียนพิเศษ, ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับการศึกษาของบุตร |
ค่าเบี้ยประกันภัย | เบี้ยประกันทรัพย์สิน, เบี้ยประกันชีวิต, เบี้ยประกันสุขภาพ |
ค่าใช้จ่ายอื่น | เงินโอนออกแก่คนนอกครัวเรือน, เงินบริจาคแก่องค์กรต่างๆ, เงินทำบุญ, ภาษี, ค่าเดินทางในวาระพิเศษ |
101 PUB คำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตสำหรับปัจจุบันออกมาเป็น 2 กรณีด้วยวิธีข้างต้น พบว่า กรณีค่าจ้างเพื่อชีวิตสามารถเลี้ยงดูตนเอง คู่สมรสและลูก 1 คนมีค่า 563 บาท/วัน กรณีค่าจ้างเพื่อชีวิตสามารถเลี้ยงดูตนเอง คู่สมรสและลูก 2 คนมีค่า 686 บาท/วัน (ภาพที่ 9)
ยังมีองค์กรอื่นนอกจาก 101 PUB ที่คำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตของไทย เช่น Global Living Wage Coalition (GLWC) ที่ใช้กรอบแนวคิดของ Richard Anker และ Martha Anker[13]Anker, R., & Anker, M. (2017). Living Wages Around the World: Manual for Measurementโดยคำนึงถึงค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่าใช้อื่นที่จำเป็น เงินส่วนเพิ่มเพื่อสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน รวมถึงเงินที่ถูกหักจากเงินเดือนตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้ เงินประกันสังคม GLWC ใช้ทั้งข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) และทุติยภูมิ (Secondary Data) คำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตสำหรับแรงงานในเมืองเท่ากับ 13,207 บาท/เดือน หรือ 482 บาท/วัน[14]Dawani, K., Prates, I., Anker. R., Anker. M. (2022). Anker Living wage reference value. โดยในรายงานเสนอแค่ค่าจ้างเพื่อชีวิตแบบรายเดือนเท่านั้น ดังนั้นตัวเลขค่าจ้างเพื่อชีวิต 482 บาท/วัน 101 PUB … Continue reading ในอีกการศึกษาหนึ่ง คณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ใช้กรอบแนวคิดเดียวกับ GLWC และเก็บข้อมูลแบบปฐมภูมิทั้งหมด 1,225 ตัวอย่าง โดยเน้นจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมหรือจังหวัดที่มีแรงงานภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก ผลคำนวณที่ได้แบ่งเป็น 2 กรณีคือกรณีเลี้ยงตนเองคนเดียวต้องไม่น้อยกว่า 723-789 บาท/วัน กรณีเลี้ยงคนในครอบครัวอีก 2-3 คนต้องต้องไม่น้อยกว่า 1,003-1,071 บาท/วัน[15]กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์. (2565). รายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง “การสำรวจค่าครองชีพของแรงงาน ; … Continue reading (ตารางที่ 3)
องค์กรที่คำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิต | ค่าจ้างเพื่อชีวิตที่คำนวณได้ |
101 PUB | 441 บาท/วัน (เลี้ยงดูตนเองและคู่สมรส) 563 บาท/วัน (เลี้ยงดูตนเอง คู่สมรส และลูก 1 คน) 632 บาท/วัน (เลี้ยงดูตนเอง คู่สมรส และลูก 2 คน) (ทั้งประเทศ) |
Global Living Wage Coalition (GLWS) | 482 บาท/วัน (แรงงานในเขตเมือง) |
คณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน* | 723 – 789 บาท/วัน (เลี้ยงดูตนเองคนเดียว) 1,003 – 1,051 บาท/วัน (เลี้ยงดูตนเองและคนอื่นในครอบครัว 2 – 3 คน) (แรงงานในเขตอุตสาหกรรม) |
หมายเหตุ: นำค่าครองชีพรายเดือนเฉลี่ย (ขั้นต่ำของค่าจ้างเพื่อชีวิต) มาหารด้วย 30 ไม่ใช่ 27 แบบค่าจ้างเพื่อชีวิตของ 101 PUB และ GLWS
ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรสูงพอที่จะจ่ายค่าจ้างเพื่อชีวิต
การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น นอกจากจะพิจารณาตามความจำเป็นของแรงงานแล้ว ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลิตภาพของแรงงานด้วย เพื่อให้สอดคล้องไปกับมูลค่าที่แท้จริงที่แรงงานสามารถผลิตออกมา หากค่าจ้างสูงกว่าผลิตภาพแล้ว ก็จะทำให้ธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน และจะกระทบต่อระดับการจ้างงานภายในประเทศและตัวแรงงานเองในท้ายที่สุด
101 PUB ลองคำนวณผลิตภาพแรงงานโดยเฉลี่ย หมายถึง มูลค่าการผลิตของแรงงาน 1 คน ต่อ 1 วันทำงาน ซึ่งคำนวณแยกเป็นแรงงานภาคเกษตรและแรงงานนอกภาคเกษตร[16]เหตุผลที่ 101 PUB เลือกที่จะใช้ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรแทนผลิตภาพแรงงานรวม … Continue reading โดยนำมูลค่าการผลิตมาหารเฉลี่ยด้วยจำนวนแรงงาน จากนั้นก็ปรับด้วยส่วนแบ่งรายได้ของแรงงาน (Labor share of income) เพื่อตัดผลการผลิตที่มาจากทุนออก ผลที่ได้ในเบื้องต้นพบว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยนั้นอยู่ต่ำกว่าผลิตภาพแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตร ซึ่งเป็นผู้รับค่าจ้างขั้นต่ำ มีผลิตภาพโดยเฉลี่ยสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำกว่าเท่าตัว
แม้ค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ 101 PUB เสนอจะสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กำลังจะเพิ่มในเดือนตุลาคมอยู่มาก แต่เมื่อนำค่าจ้างเพื่อชีวิตเทียบกับผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร พบว่าผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรโดยเฉลี่ยยังคงมีค่ามากกว่าค่าจ้างเพื่อชีวิตทั้ง 2 กรณี จึงมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับค่าจ้างเพื่อชีวิตโดยรวมได้โดยยั่งยืน ซึ่งในที่นี้ยังไม่ได้คำนวณถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจากการให้ค่าจ้างสูงขึ้นตามทฤษฎี Efficiency Wage (ภาพที่ 10)
การปรับค่าจ้างต้องเร็วขึ้น แต่ไม่ก้าวกระโดด
แม้ในปี 2022 จะมีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาเงินเฟ้อของไทย แต่ค่าจ้างขั้นต่ำไทยยังคงไม่พอให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ปัญหาดังกล่าวเกิดจากฐานคิดการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่มองว่า ‘ควรเพิ่มเท่าไหร่’ ไม่ใช่ ‘ควรเป็นเท่าไหร่’ และแนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำที่ละเลยมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน ตามแนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำไทยที่ทำให้แรงงานเลี้ยงดูตนเองได้ตามสมควรแก่มาตรฐานครองชีพเท่านั้น ไม่ได้มีแนวคิดให้เลี้ยงคนอื่นในครอบครัวได้
แนวคิดค่าจ้างขั้นต่ำของไทยจึงต้องได้รับการยกเครื่อง เพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่แค่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะรักษาสภาพความไม่เป็นธรรมของค่าจ้างไปได้ตลอด แต่ต้องตั้งเป้าให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการให้ค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage)
อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิตไม่อาจทำได้โดยง่ายในทันที ตลาดแรงงานเป็นการตกลงกันระหว่างภาคธุรกิจในฐานะนายจ้างและแรงงานในฐานะลูกจ้าง จึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนโดยฉับพลันได้ ดังนั้น การปรับค่าจ้างต้องไม่ใช่ปรับแบบก้าวกระโดดจนภาคธุรกิจไม่มีเวลาปรับตัว โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานในการผลิตสินค้าหรือบริการที่เข้มข้น (Labor Intensive) เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กระดาษ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ค้าปลีกและส่ง[17]101 PUB คำนวณจาก ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต พ.ศ.2558 เมื่อภาคธุรกิจเสียหายจะส่งผลเสียต่อตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจโดยรวมในท้ายที่สุด การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจึงต้องค่อยๆ ปรับแต่ต้องปรับให้เร็วกว่าสภาพเศรษฐกิจจริงเล็กน้อย เพื่อชดเชยความล้าหลังของค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน (ภาพที่ 11) เช่น ตั้งเป้าให้ค่าจ้างเพื่อชีวิตเป็นหนึ่งในตัวพิจารณาที่มีน้ำหนัก เพื่อให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเท่ากับค่าจ้างเพื่อชีวิตภายใน 10 ปี เป็นต้น
ดาวน์โหลดข้อมูลใน Infographic ได้ที่นี่
↑1 | 101 PUB กำหนดให้แรงงานกลุ่มรายได้น้อยคือแรงงานที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 20,000 บาท กลุ่มรายได้สูงคือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,000 บาทขึ้นไป |
---|---|
↑2 | 101 PUB หักล้างผลกระทบต่อตลาดแรงงานเชิงฤดูกาลออกไปแล้ว |
↑3 | ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2565 |
↑4 | คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ข้อ 5 พ.ศ.2562 |
↑5 | สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2565). รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2565 |
↑6 | ข้อมูลค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายได้เฉลี่ยต่อหัวจาก World Bank ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร 101 PUB คำนวณข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ University of Groningen and University of California, Davis ข้อมูลดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคกลุ่มรายได้น้อยจากกระทรวงพาณิชย์ สำหรับค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) รายได้เฉลี่ยต่อหัว และผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร ไม่ได้เป็นข้อมูลรายวันตั้งแต่ต้น 101 PUB จึงได้ทำการแปลงข้อมูลรายวัน กรณีค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (รายเดือน) 101 PUB นำมาหารด้วย 27 โดยสมมติให้แรงงานทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ กรณีรายได้เฉลี่ยต่อหัวและผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร (รายปี) 101 PUB นำมาหารด้วย 313 โดยใช้ข้อสมมติเดียวกันกับกรณีค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage |
↑7 | ค่าสหสัมพันธ์วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของคู่ตัวแปร ว่าไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ และสัมพันธ์กันมากขนาดไหน มีค่าตั้งแต่ -1 ถึง 1 ค่าบวกที่เข้าใกล้ 1 แสดงว่าคู่ตัวแปรเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันอย่างมาก ในทางตรงข้าม ค่าลบที่เข้าใกล้ -1 หมายถึงมีการเคลื่อนที่ในทางตรง |
↑8 | 101 PUB นำตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาหาค่าเฉลี่ยเลขคณิต ในกรณีที่รวมข้อมูลปี 2020 ที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยจะเหลือปีละ 1.8% |
↑9 | 101 PUB คำนวณค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงด้วยการนำค่าจ้างขั้นต่ำจากประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง มาหารด้วยดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งประเทศ (LPI) ไม่ใช่ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคแบบปกติ (CPI) เพราะแรงงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำถือเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่ตัวเลขที่ 101 PUB คำนวณได้ยังไม่ใช่ค่าที่ถูกต้องที่สุดเนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยเชิงพื้นที่แต่ละจังหวัดที่มีการดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคแตกต่างกัน |
↑10 | คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ข้อ 1 พ.ศ.2562 |
↑11 | Eldring, L., & Alsos., K. (2014). European Minimum Wage: A Nordic Outlook – an update |
↑12 | การคำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตเริ่มจากการนำรายได้ต่อหัวของครัวเรือนมาจัดกลุ่ม 10 กลุ่ม (เดไซล์) เรียงลำดับรายได้จากกลุ่มที่รายได้น้อยที่สุด (เดไซล์ที่ 1) ไปมากที่สุด (เดไซล์ที่ 10) หลังจากนั้นหารายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวของแต่ละครัวเรือนในแต่ละกลุ่มรายได้ ตามหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายที่กำหนด โดยรายจ่ายในแต่ละประเภทจะรวมทั้งรายจ่ายที่เป็นตัวเงิน และไม่เป็นตัวเงิน (in-kind) เมื่อได้รายจ่ายเฉลี่ยแต่ละหมวดหมู่แล้วนำมาบวกกัน จะได้รายจ่ายรวมเฉลี่ยต่อหัวรายเดือนของครัวเรือนแต่ละกลุ่มรายได้ กำหนดให้ค่าจ้างเพื่อชีวิตกรณีเลี้ยงแรงงาน 1 คนเท่ากับรายจ่ายรวมเฉลี่ยต่อหัวของกลุ่มรายได้ปานกลาง (เดไซล์ที่ 5) ดังนั้นค่าจ้างเพื่อชีวิตรายวันกรณีเลี้ยงแรงงาน 1 คน จึงเป็นการนำค่าจ้างเพื่อชีวิตรายเดือนหารด้วยวันทำงานรวม 1 เดือน (27 วัน) เนื่องจากข้อมูลที่ 101 PUB เป็นข้อมูลที่สำรวจในปี 2564 ทำให้ค่าจ้างเพื่อชีวิตรายวันกรณีเลี้ยงแรงงาน 1 คนที่คำนวณได้ยังไม่สะท้อนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2565 ดังนั้นแล้ว 101 PUB จึงนำมาปรับค่าด้วยดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคเฉลี่ย (CPI) ในปี 2565 หลังจากนั้นปรับค่าจ้างเพื่อชีวิตให้สอดคล้องกับครอบครัวแต่ละรูปแบบด้วยการคูณกับตัวคูณสมาชิกในครัวเรือน ตัวคูณสมาชิกในครัวเรือนได้มากจากผลรวมค่าถ่วงน้ำหนักสมาชิกครัวเรือนแต่ละแบบ ตามงานศึกษาที่อ้างอิง |
↑13 | Anker, R., & Anker, M. (2017). Living Wages Around the World: Manual for Measurement |
↑14 | Dawani, K., Prates, I., Anker. R., Anker. M. (2022). Anker Living wage reference value. โดยในรายงานเสนอแค่ค่าจ้างเพื่อชีวิตแบบรายเดือนเท่านั้น ดังนั้นตัวเลขค่าจ้างเพื่อชีวิต 482 บาท/วัน 101 PUB ได้นำตัวเลขดังกล่าวมาหารด้วย 27 เหมือนการคำนวณค่าจ้างเพื่อชีวิตของ 101 PUB |
↑15 | กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์. (2565). รายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง “การสำรวจค่าครองชีพของแรงงาน ; ข้อเสนอการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรฐานการดำรงชีพที่มีคุณค่า” ของ คณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 |
↑16 | เหตุผลที่ 101 PUB เลือกที่จะใช้ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรแทนผลิตภาพแรงงานรวม เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำนั้นถูกใช้สำหรับการทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการมากกว่า โดยไม่มีผลบังคับใช้กับแรงงานในภาคเกษตรที่ไม่ได้ทำงานตลอดปี (คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2562 ข้อ 7) นอกจากนี้ ภาคเกษตรมีผลิตภาพที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมและบริการ จึงไม่อาจใช้ผลิตภาพโดยรวมเพื่อเป็นตัวแทนได้ |
↑17 | 101 PUB คำนวณจาก ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต พ.ศ.2558 |