'คำขวัญวันเด็ก' ฉบับ 101 PUB: อ่านชีวิตจริงของเด็กและเยาวชนไทยที่ไม่สวยงามเหมือนในคำขวัญ

‘คำขวัญวันเด็ก’ ฉบับ 101 PUB: อ่านชีวิตจริงของเด็กและเยาวชนไทยที่ไม่สวยงามเหมือนในคำขวัญ

‘คำขวัญวันเด็ก’ มักเป็นถ้อยคำสวยงาม มุ่งเตือนใจถึงอุดมคติ ความคาดหวัง และความฝันของสังคมต่อเด็กและเยาวชน แต่สิ่งหนึ่งที่ควรย้ำเตือนไม่แพ้กัน คือ ชีวิตจริงของเด็กและเยาวชนไทยไม่ได้สวยงามเหมือนอย่างคำขวัญ จำนวนมากต้องเผชิญปัญหาจากโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนนโยบายและบริการสาธารณะที่ไม่เหมาะสม

ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติปีนี้ 101 PUB ขอมอบคำขวัญย้ำเตือนสถานการณ์เด็กและเยาวชน พร้อมชวนอ่านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องของเราในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา

คำขวัญสถานการณ์เด็กและเยาวชนฉบับ 101 PUB
สุขภาพใจไร้คนดูแล
ไม่มีใครแคร์ความคิดความฝัน
ถูกทำร้ายออน-ออฟไลน์ทุกวี่วัน
การศึกษาสร้างทางตันใช่ทางเดิน

'คำขวัญวันเด็ก' ฉบับ 101 PUB: อ่านชีวิตจริงของเด็กและเยาวชนไทยที่ไม่สวยงามเหมือนในคำขวัญ

สุขภาพใจไร้คนดูแล

ดูแลหัวใจไม่ให้ใครร่วงหล่น: เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่ายและทันท่วงที

ดูแลหัวใจไม่ให้ใครร่วงหล่น: เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่ายและทันท่วงที

เมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้า เรื่องที่มักถูกยกขึ้นมาพูดต่อคือปัญหาขาดแคลนจิตแพทย์และนักจิตวิทยา และการเพิ่มจำนวนบุคลากรเหล่านี้ให้เพียงพอ ที่ควรถามต่อคือ เราต้องมีจิตแพทย์เพิ่มอีกกี่คนจึงจะนับว่าพอ? เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีนักจิตวิทยามากพอแล้ว? ยังมีอีกหลายคำถามที่ควรสงสัยถ้าหากเราปรารถนาจะดูแลสุขภาพใจของคนไทยไม่ให้ร่วงหล่นแตกสลายไปมากกว่านี้

101 PUB Policy Insights ฉบับนี้ ชวนตั้งคำถามและหาคำตอบ ทำไมผู้ป่วยซึมเศร้าไทยจึงไม่นับรวมเด็กอายุต่ำกว่า 15? ทำไมถึงมีผู้ป่วยเข้าถึงบริการเกิน 100%? แผนสุขภาพจิตตามยุทธศาสตร์ 20 ปีตอบโจทย์แล้วหรือยัง? การเพิ่มจิตแพทย์จะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่? ระบบบริการสุขภาพจิตที่ดีควรเป็นอย่างไร? ในมุมของคนทำงานคิดเห็นอย่างไรบ้าง? ตัวเลขสถิติต่างๆ เชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด?

อ่านบทความ: ดูแลหัวใจไม่ให้ใครร่วงหล่น: เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่ายและทันท่วงที

กรุงเทพ เมืองร้างรัก: เมื่อเมืองไม่ดี… โอกาสพบรักดีๆ ของเยาวชนก็ไม่เกิด

กรุงเทพ เมืองร้างรัก: เมื่อเมืองไม่ดี… โอกาสพบรักดีๆ ของเยาวชนก็ไม่เกิด

เราทุกคนคู่ควรที่จะรักและถูกรัก แต่จะมีโอกาสได้พบและสมหวังในรักจริงหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสังคมนานัปการ หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญคือสภาพของ ‘เมือง’ ที่เราใช้ชีวิตว่าเอื้อให้เราตกหลุมรักใครสักคนได้มากแค่ไหน? หากเมืองนั้นของคุณคือ ‘กรุงเทพฯ’ ก็น่าเศร้าที่ต้องเล่าว่านครหลวงแห่งนี้ช่างไม่เอื้อให้ต้นรักเติบโตงอกงามเสียเลย กรุงเทพฯ เป็นเมืองของเทพองค์ไหนก็ไม่แน่ใจ – พระอินทร์ที่สั่งสร้าง พระวิษณุกรรมที่เนรมิตสร้าง หรือพระนารายณ์ที่อวตารมาสถิต – แต่คงไม่ใช่กามเทพแน่ๆ

101 PUB Policy Flash ฉบับนี้ ชวนมาสำรวจหัวใจ-เช็กสถานะความโสดของเยาวชนอายุ 15-25 ปีในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ผ่านผลสำรวจเยาวชน 2,709 คนในพื้นที่นี้ และ 19,237 คนทั่วประเทศ พร้อมร่วมขบคิดว่าทำไมเยาวชนกรุงเทพฯ ถึงโสดกันเสียส่วนใหญ่? ทำไมมหานครแห่งนี้ไม่เอื้อให้พบรักดีๆ ได้เท่าใดนัก?

อ่านบทความ: กรุงเทพ เมืองร้างรัก: เมื่อเมืองไม่ดี… โอกาสพบรักดีๆ ของเยาวชนก็ไม่เกิด

ไม่มีใครแคร์ความคิดความฝัน

เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

ความตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนว่า พวกเขาคิดฝันถึงสังคม เศรษฐกิจ การเมืองใหม่ และอยากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายนั้น เราทุกคนอาจรู้กันดีว่าเยาวชนคิดฝัน แต่กลับมีภาพในหัวเลือนรางเหลือเกินว่าความคิด-ความฝันนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร? – ‘คุณค่า-ทัศนคติ’ แบบไหนเป็น ‘แว่นตา’ ที่พวกเขาใช้มองโลกปัจจุบันและสร้างภาพฝันแห่งอนาคต?

การเหมารวมว่า ‘เด็กสมัยนี้’ มีคุณค่า-ทัศนคติเหมือนกันเสียหมด ดูจะละเลยความหลากหลายทางความคิดในหมู่เยาวชนเกินไป ขณะเดียวกัน คำที่มักถูกใช้เรียกกลุ่มเยาวชนตามคุณค่าทางสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง เช่น สลิ่ม ควายแดง สามกีบ หรือเฟมทวิต ก็อธิบายได้น้อยมากว่าจริงๆ แล้วคนที่ถูกเรียกเช่นนั้นคิดหรือเชื่ออะไรกันแน่? – หลายครั้งถูกใช้ ‘แปะป้าย-ตีตรา’ คนเห็นต่างเสียมากกว่า

การเข้าใจคุณค่า-ทัศนคติของเยาวชนนี้นับว่าสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาบทสนทนาและความร่วมมือที่สร้างสรรค์ในสังคม เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ ยั่งยืน และเสริมสร้างเสถียรภาพและความเป็นปึกแผ่นในสังคมได้ดียิ่งขึ้น

101 PUB Policy Insights ฉบับนี้ ชวนทำความเข้าใจคุณค่า-ทัศนคติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของเยาวชนไทย จากการวิเคราะห์ผลสำรวจเยาวชนเกือบสองหมื่นคนทั่วประเทศ หาคำตอบว่าเยาวชน ‘5 กลุ่มทัศนคติ’ คิดฝันอะไร เป็นใคร และมีพฤติกรรมอย่างไร เพื่อเป็นฐานในการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจยิ่งขึ้น

อ่านบทความ: เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

ปฏิรูปสถาบันทางการเมืองอย่างไรให้ตรงใจเยาวชน?

ปฏิรูปสถาบันทางการเมืองอย่างไรให้ตรงใจเยาวชน?

“อิหยังวะ” “มืดมน” “ท้อใจ” “ไม่ตอบโจทย์” “ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย” “ประชาชนไม่มีส่วนร่วม”

ถ้อยคำเหล่านี้เป็นถ้อยคำที่เยาวชนใช้อธิบายระบอบการเมืองไทย ในวงเสวนาสาธารณะ Youth’s Constitution Dialogue: ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ สร้างประชาธิปไตยยั่งยืน เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ฉายให้เห็นว่าระบอบการเมืองถูกจัดวางและฟังก์ชันได้ไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของพวกเขา และหลายคนคงใฝ่ฝันให้เกิดการปฏิรูป-แก้ปัญหาของสถาบันการเมืองภายใต้ระบอบนี้โดยเร็ว

ความฝันข้างต้นอาจเรียกว่าเป็น ‘ความฝันร่วม’ ของเยาวชนไทยจำนวนมาก ความสนใจและการเรียกร้องการปฏิรูปของเยาวชนอย่างกระตือรือร้นและทรงพลังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนภาพฝันนี้ได้เป็นอย่างดี

คำถามที่น่าสนใจคือ เยาวชนโดยรวมอยากเห็นการปฏิรูปสถาบันการเมือง ‘ใด?’ และ ‘อย่างไร?’

101 PUB Policy Insights ฉบับนี้ ชวนสำรวจปรากฏการณ์ที่สถาบันการเมืองแทบไม่หลงเหลือความน่าเชื่อถือในสายตาเยาวชน พร้อมทั้งเข้าใจว่าเยาวชนใฝ่ฝันถึงการปฏิรูปในแนวทางอย่างไร ผ่านข้อมูลผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์

อ่านบทความ: ปฏิรูปสถาบันทางการเมืองอย่างไรให้ตรงใจเยาวชน?

“ถูกทำร้ายออน-ออฟไลน์ทุกวี่วัน”

บ้านไม่ใช่เซฟโซนสำหรับทุกคน: เข้าใจปัญหาพื้นที่ปลอดภัยผ่านแบบสำรวจเยาวชน 2022

‘บ้าน’ นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยให้ผู้คนได้พักผ่อนในเชิงกายภาพ ยังมีความหมายแฝงในการเป็นพื้นที่ให้ความมั่นคง ความอบอุ่น ความสบายใจแก่ผู้อยู่อาศัยร่วมบ้านเดียวกัน และที่สำคัญคือยังเป็นสถานที่ที่ ‘เด็กและเยาวชน’ ใช้ชีวิตและเติบโตขึ้นมา

แต่ในความเป็นจริง บ้านอันควรเป็นสถานที่ที่ทำให้เยาวชนรู้สึกปลอดภัย กลับยังไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน บางบ้านมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุอาชญากรรมภายในบ้าน หรือบางบ้านก็มีปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว

101 PUB Policy Insights ฉบับนี้ ชวนทำความเข้าใจปัญหาความไม่ปลอดภัยภายในบ้านของเยาวชน ความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาที่อยู่อาศัย/ประสบการณ์การถูกคุกคาม ต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยภายในบ้าน และความเชื่อมั่นในผู้คนรอบตัวที่แตกต่างกันระหว่างเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านของตนปลอดภัย/ไม่ปลอดภัย ผ่านผลสำรวจเยาวชน 2022 ของ คิด for คิดส์

อ่านบทความ: บ้านไม่ใช่เซฟโซนสำหรับทุกคน: เข้าใจปัญหาพื้นที่ปลอดภัยผ่านแบบสำรวจเยาวชน 2022

รื้อระบบคุ้มครองเด็ก ไม่ให้ใครต้องถูกทำร้ายซ้ำสอง

ในปัจจุบันมีเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกาย ทอดทิ้ง และทารุณกรรมจำนวนมาก รัฐจึงต้องเข้าช่วยเหลือโดยการจัด ‘ระบบคุ้มครองเด็ก’ ทั้งระบบภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และการคุ้มครองเด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม ระบบเหล่านั้นกลับไม่ได้คุ้มครองเด็กได้อย่างเต็มที่ เด็กบางส่วนยังคงถูกทำร้ายซ้ำๆ ด้วยระบบที่เรียกตนเองว่า ‘ระบบคุ้มครองเด็ก’ อยู่

101 PUB Policy Insights ฉบับนี้ ชวนสำรวจระบบคุ้มครองเด็กในประเทศไทย ว่าอะไรยังมีอะไรที่ขาดหายไปจนทำให้การคุ้มครองเด็กไม่เป็นไปอย่างราบรื่น อะไรที่ตกหล่นจนทำให้ระบบคุ้มครองเด็กไม่ได้คุ้มครองเด็กสมชื่อ และอะไรที่ต้องเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กที่อยู่ในระบบคุ้มครองเด็ก

อ่านบทความ: รื้อระบบคุ้มครองเด็ก ไม่ให้ใครต้องถูกทำร้ายซ้ำสอง

“การศึกษาสร้างทางตันใช่ทางเดิน”

ครูกระจุก โรงเรียนกระจาย’ ปัญหาการจัดสรรครูไทยที่ต้องแก้ไขก่อนจะสายเกิน

การมีครูดูแลนักเรียนอย่างทั่วถึง และการทุ่มเทเวลาและทรัพยากรให้กับการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพการศึกษาที่ทราบโดยทั่วกัน ทว่าการศึกษาไทยยังมีปัญหาการจัดสรรครู ที่ไม่ทั่วถึงและไม่ตรงจุดตรงสาย ตลอดจนภาระหน้าที่ที่เบียดบังเวลาการเรียนการสอนมาอย่างเรื้อรัง

101 PUB Policy Insights ฉบับนี้ ชวนสำรวจการจัดสรรครูปัจจุบันสำหรับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. (โรงเรียนรัฐบาล) จำนวน 29,592 แห่งทั่วประเทศ สถานการณ์ปัญหาขาดแคลนครูทั้งภาพรวมและรายสาขา รวมถึงปัญหาครูสอนวิชาไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา รวมถึงทางออกของปัญหา

อ่านบทความ: ‘ครูกระจุก โรงเรียนกระจาย’ ปัญหาการจัดสรรครูไทยที่ต้องแก้ไขก่อนจะสายเกิน

เปิดสถิติเรียนพิเศษนักเรียนไทย: เมื่อโรงเรียนไม่อาจพาเด็กไปถึงฝั่ง

เมื่อพูดถึงการเรียน ภาพจำของเราส่วนใหญ่คงนึกถึงการไปเรียนในโรงเรียน อย่างไรก็ดี เมื่อถึงเวลาเลิกเรียนแล้ว ก็ใช่ว่าเด็กนักเรียนทุกคนจะได้กลับบ้านหรือทำกิจกรรมของตนเอง เพราะยังมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มนอกห้องเรียน และยังอาจต้องไปเรียนเพิ่มเติมในวันเสาร์-อาทิตย์อีกด้วย

แม้ว่าการเรียนพิเศษเพิ่มตามโรงเรียนกวดวิชานั้นมีมาอย่างยาวนาน อีกทั้งดูเหมือนจะเป็นเรื่องชินตาสำหรับสังคมไทย แต่สาเหตุที่เด็กไทยเรียนพิเศษกลับมีคำตอบที่หลากหลายตั้งแต่ เรียนในห้องเรียนไม่ค่อยเข้าใจ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไปจนถึงเพราะระบบการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์เด็กนักเรียน

เพื่อให้เข้าใจโลกของการเรียนพิเศษได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 101 PUB Policy Insights ฉบับนี้ ชวนสำรวจสถิติการเรียนพิเศษของนักเรียนไทย จำนวน 12,999 คน จากข้อมูลการสำรวจเยาวชนไทย 2022 (Youth Survey 2022) ที่มุ่งสำรวจความรับรู้ คุณค่า และทัศนคติของเยาวชนไทย ซึ่งรวมไปถึงประเด็นด้านการศึกษาและการเรียนพิเศษ

อ่านบทความ: เปิดสถิติเรียนพิเศษนักเรียนไทย: เมื่อโรงเรียนไม่อาจพาเด็กไปถึงฝั่ง

สถานการณ์ภาพรวม

เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023

เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง

รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวของศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) ฉบับปีที่ผ่านมา (2022) เรียกขานสถานการณ์ในเวลานั้นว่า “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต” ซึ่งมุ่งอธิบายสภาพปัญหาที่เด็ก เยาวชน และครอบครัวต้องเผชิญภายใต้เงามืดของวิกฤตโรคระบาดโควิด วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา และวิกฤตสังคมและการเมือง

ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2022 รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกโควิดจากการเป็นโรคติดต่ออันตรายและยุติการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นหมุดหมายแห่งการสิ้นสุดลงของวิกฤตโควิด สถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวจึงดำเนินพ้นจากช่วงเส้นทางอันเต็มไปขวากหนามแห่งสามวิกฤต มาหยุดยั้งอยู่ ณ ‘ทางแพร่ง’ ที่พวกเขาจะต้องหันเหไปยังทิศทางหนึ่ง เพื่อมุ่งสู่ทางข้างหน้าต่อไป

ทางแพร่งนี้หมายถึงการฟื้นฟูและพัฒนาหลังวิกฤตโควิด โรคระบาดที่สิ้นสุดลงมิได้หมายความว่าบาดแผลจากขวากหนามแห่งวิกฤตครั้งนั้น – ปัญหาของเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลกระทบสืบเนื่อง – จะสลายหายไปราวกับไม่เคยเกิดขึ้น พวกเขาอาจรักษาบาดแผลแล้วเติบโตเติมเต็มความฝันได้ดียิ่งขึ้น แต่ในอีกทิศทางหนึ่ง พวกเขาก็อาจเจ็บปวดทรมานจากพิษแผลนั้นต่อไป ได้แผลเป็น และมีสุขภาวะและพัฒนาการย่ำแย่ในระยะยาว จนไม่สามารถเอื้อมคว้าความฝันของตนได้

เด็ก เยาวชน และครอบครัวจะหันไปสู่ทิศทางไหนก็ขึ้นอยู่กับนโยบายสาธารณะ ว่าจะเยียวยาบาดแผลและสนับสนุนพวกเขาได้ตอบโจทย์ เหมาะสม และมีประสิทธิภาพเพียงใด แต่นโยบายดังกล่าวก็กำลังอยู่ ณ ทางแพร่งอีกชุดหนึ่ง คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2023 ประชาชนเพิ่งใช้สิทธิเลือกทิศทางนโยบายและผู้กำหนดนโยบายชุดใหม่ ท่ามกลางบรรยากาศของตลาดนโยบายที่เปิดกว้าง เกิดการวิพากษ์นโยบายเดิมและจินตนาการถึงนโยบายใหม่อย่างมีพลวัต ซึ่งอาจส่งผลให้นโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวอาจหันสู่ทิศทางใหม่หลังจากนี้

สถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวจึงกำลังอยู่ใน ‘สองทางแพร่ง’ คือ ทางแพร่งหลังโควิดและทางแพร่งหลังเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา วิกฤตสังคมและการเมือง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวก็ยังดำเนินต่อไป

ภายใต้บริบทเช่นนี้ ปรากฏประเด็นสำคัญในสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวทั้งสิ้น 6 ประเด็น ได้แก่

  1. เด็กและเยาวชนเติบโตในครัวเรือนเปราะบางทับซ้อนและยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤต
  2. เยาวชนมีงานที่ดีและสอดคล้องกับความฝันได้ยากขึ้น
  3. เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยและพัฒนาทักษะจำเป็นจากระบบการศึกษา
  4. เด็กและเยาวชนเผชิญปัญหาเครียดและซึมเศร้า แต่เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ไม่ทั่วถึง
  5. เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเป็นจำนวนมากขึ้นในรูปแบบซ่อนเร้นยิ่งขึ้น
  6. เด็กและเยาวชนฝันถึงสังคมใหม่อย่างหลากหลายแต่ระบบการเมืองไม่เปิดกว้างและรับฟัง

อ่านรายงาน: เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023

อินโฟกราฟฟิก

เรียบเรียง/นำเสนอ

วรดร เลิศรัตน์

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง

เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023

101 PUB ชวนอ่าน “เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023” พร้อม “สถิติสำคัญด้านเด็กและครอบครัว”

17 May 2023
All policies are about child and youth: ทุกนโยบายก็เป็นเรื่องของเด็กและเยาวชนเหมือนกันนะ!

All policies are about child and youth: ทุกนโยบายก็เป็นเรื่องของเด็กและเยาวชนเหมือนกันนะ!

ในโอกาสวันเด็ก 101 PUB ชวนอ่านผลงานวิจัยที่ ‘เหมือนจะไม่ใช่เรื่องของเด็ก’ ใหม่ ผ่านแง่มุมเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ด้วยความหวังว่าเสียงของพวกเขาจะถูก ‘รับฟังอย่างมีความหมาย’ ในกระบวนการนโยบายทุกเรื่องมากขึ้น

3 โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่ สร้างประเทศไทยเพื่อทุกคน

3 โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่สู่การเลือกตั้ง 2023 – สร้างตาข่าย ทลายเพดาน ขยายการมีส่วนร่วม

6 May 2023
1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.