All policies are about child and youth: ทุกนโยบายก็เป็นเรื่องของเด็กและเยาวชนเหมือนกันนะ!

All policies are about child and youth: ทุกนโยบายก็เป็นเรื่องของเด็กและเยาวชนเหมือนกันนะ!

เวลาเราคิดถึงนโยบายที่ ‘ไม่ใช่เรื่องของเด็ก’ โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สวัสดิการ-บริการสาธารณะ การพัฒนา ความมั่นคง-ปลอดภัย-ยุติธรรม ไปจนถึงเรื่องการเมือง-การบริหารประเทศ หลายครั้งเรามักมองข้ามไปว่า นโยบายเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็กและเยาวชนเช่นกัน ปัญหา ความคิดเห็น และบทบาทของพวกเขาจึงมัก ‘ตกหล่น’ จากสมการการกำหนดนโยบายไปโดยปริยาย

ในโอกาสวันเด็ก 101 PUB ชวนอ่านผลงานวิจัยที่ ‘เหมือนจะไม่ใช่เรื่องของเด็ก’ ใหม่ ผ่านแง่มุมเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ด้วยความหวังว่าเสียงของพวกเขาจะถูก ‘รับฟังอย่างมีความหมาย’ ในกระบวนการนโยบายทุกเรื่องมากขึ้น

‘เงินอุดหนุนเกษตรกร’ ก็เป็นเรื่องของเด็ก

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย 'เงินอุดหนุนเกษตรกร' แบบเดิมๆ

ในขณะที่เกษตรกรเป็นกลุ่มประชากรตามอาชีพที่ยากจนที่สุดของไทย ทราบหรือไม่ว่าเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปีถึง 9.5 ล้านคน หรือ 48.4% เกิดและเติบโตอยู่ในครัวเรือนเกษตรกร[1]101 PUB คำนวณจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021) ปัญหาเกษตรกรยากจนจึงเท่ากับปัญหาที่เด็กและเยาวชนเกือบครึ่งประเทศจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวอย่างเพียงพอและเหมาะสมด้วย

หากใช้เส้นความยากจนเป็นเกณฑ์ เด็กและเยาวชนราว 1.8 ล้านคน หรือ 9.1% อาศัยอยู่ในครัวเรือนเกษตรกรยากจน ครัวเรือนกลุ่มนี้มีเงินเลี้ยงดูส่งเสียพวกเขาเฉลี่ยต่ำกว่า 2,803 บาท/เดือน/คน และรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้เพียง 249 บาท/เดือน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศที่ 337 บาท/เดือน ประมาณ 26.1%[2]101 PUB คำนวณจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021)

ในบริบทดังกล่าว ปัญหาของนโยบาย ‘เงินอุดหนุนเกษตรกร’ ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาเกษตรกรยากจนได้ดีเท่าที่ควร ซ้ำร้าย ยังกลับยิ่ง ‘ขุดหลุมฝังเกษตรกร’ ลงไปในวงจรความยากจนและเหลื่อมล้ำ จึงนับเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการเติมทุนสนับสนุนลูกหลานของพวกเขาให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ-เต็มศักยภาพ และอาจส่งผลให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ต้องติดกับดักความยากจนข้ามรุ่น

101 PUB Policy Insights ฉบับนี้มุ่งสำรวจสถานการณ์ความยากจนของเกษตรกรไทย วิเคราะห์ปัญหาของนโยบายเติมรายได้เกษตรกรผ่าน ‘เงินอุดหนุน’ อย่างโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรและประกันรายได้เกษตรกร พร้อมทั้งเสนอแนวทางเปลี่ยนวิธีเติมรายได้เกษตรกรใหม่ให้สามารถยกระดับฐานะและความเป็นอยู่ของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น

‘บ้านในเมืองแพง-รัฐสร้างบ้านไม่ตอบโจทย์’ ก็เป็นเรื่องของเด็ก

ปัญหาบ้านในเมืองแพงส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอย่างน้อยสองทาง

ทางแรกคือเด็กและเยาวชนเมืองจำนวนมากต้องเติบโตขึ้นมาในบ้านที่คุณภาพไม่เหมาะสม ซึ่งย่อมบั่นทอนสุขภาวะและพัฒนาการของพวกเขา ในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปีถึง 2.3 ล้านคน หรือ 90.4% ก็อาศัยอยู่ในครัวเรือนรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายเรื่องบ้านสูงเกินไป[3]101 PUB คำนวณจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (2017)

อีกทางหนึ่งคือเยาวชนจะสามารถมีบ้านดีๆ ในเมืองเป็นของตัวเองได้ยากมาก – ยากยิ่งกว่าคนรุ่นก่อนหน้า – อย่าลืมว่าพื้นที่เมืองเป็นศูนย์รวมโอกาส เยาวชนจำนวนมากต้องย้ายเข้ามาอยู่เพื่อเรียนสิ่งที่ชอบ ทำงานที่ใช่ สร้างเนื้อสร้างตัว หรือสร้างครอบครัวแล้วให้ลูกมีโอกาสดีๆ ฉะนั้น ถ้าการมีบ้านดีๆ ในเมืองเป็นได้แค่ความฝันอันเลื่อนลอย ความฝันอื่นในชีวิตของพวกเขาก็จะเป็นจริงยากตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม นโยบาย ‘สร้างบ้านให้คนเมือง’ ของรัฐบาล (เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร) กลับแทบไม่สามารถสนับสนุนครัวเรือนรายได้น้อยถึงปานกลางและเยาวชนได้เลย เพราะเน้นสร้างบ้านสำหรับ ‘ขาย’ ซึ่งไม่ยืดหยุ่นต่อการย้ายที่อยู่และการเปลี่ยนแปลงในชีวิต อันเป็นเรื่องปกติ-จำเป็นของทั้งสองกลุ่ม ขณะเดียวกัน บ้านขายย่อมมีราคาสูงมากจนพวกเขาต้องกู้เงินมาซื้อ แต่พวกเขาก็มักกู้เงินก้อนโตเช่นนั้นไม่ผ่าน

หากรัฐบาลไม่เปลี่ยนนโยบายดังกล่าวใหม่ให้สนับสนุนพวกเขาให้มีบ้านที่ดีได้จริง ก็เท่ากับรัฐบาลกำลังปล่อยให้คุณภาพชีวิตและความฝันของเด็กและเยาวชนไทยค่อยๆ ถูกบ่อนทำลายลง

101 PUB Policy Insights ฉบับนี้มุ่งสำรวจปัญหาบ้านในเมืองแพงจนคนเมืองไม่สามารถมีบ้านที่ดี ชี้ถึงช่องโหว่ของหนึ่งในนโยบายสำคัญที่มุ่งแก้ปัญหาดังกล่าวอย่าง ‘การสร้างบ้านขายให้ครัวเรือน’ พร้อมทั้งเสนอแนวทางเปลี่ยนนโยบายไปสู่การสร้าง ‘บ้านเช่าที่มั่นคง’ ให้การมีบ้านที่ดีไม่เป็นเพียงความฝันแต่เป็นสิทธิที่จับต้องได้จริง และช่วยให้คนเมืองทุกคนมีโอกาสไล่ตามความฝันอื่นในชีวิตตนได้เต็มที่มากขึ้น

‘กรุงเทพฯ ไม่เอื้อให้ใช้มอเตอร์ไซค์’ ก็เป็นเรื่องของเด็ก

‘มอเตอร์ไซค์’ เส้นเลือดเลี้ยงชีวิตกรุงเทพฯ ที่ถูกมองข้าม: 3 ข้อเสนอนโยบายเพื่อผู้ขับขี่

เด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ แทบทุกคนต้องเคยเดินทางสัญจร-ส่งของส่งความคิดด้วย ‘มอเตอร์ไซค์’ โดย 60.4% อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีมอเตอร์ไซค์อย่างน้อย 1 คัน[4]101 PUB คำนวณจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021) ส่วนที่เหลือก็เชื่อว่าต้องเคยใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาไม่มากก็น้อย

ดังนั้น ปัญหาที่ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ในมหานครแห่งนี้ต้องพบเจอ จึงอาจนับได้ว่าเป็นปัญหาของเด็กและเยาวชนชาวกรุงฯ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถูกห้ามใช้ถนนหลายประเภท ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในยามฝนตกหรืออากาศไม่เอื้อต่อการขับขี่ ไม่มีที่จอดที่เหมาะสม และเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง

ปัญหาข้อหลังสุดนี้สำคัญยิ่ง เพราะในปี 2021 เยาวชนอายุ 15-24 ปีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์มากถึง 136 ราย คิดเป็น 23.9% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมดในกรุงเทพฯ ถือเป็นสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุและประเภทยานพาหนะอื่น[5]101 PUB คำนวณจากข้อมูลกรมควบคุมโรค (2022)

ในแง่นี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพฯ เพื่อเอื้อให้ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ขับขี่ได้อย่างสะดวกปลอดภัย จึงเท่ากับเสริมสร้างสวัสดิภาพและความปลอดภัย ป้องกันการบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ ด้วย

101 PUB Policy Insights ฉบับนี้มุ่งอภิปรายความสำคัญจำเป็นของมอเตอร์ไซค์ต่อกรุงเทพฯ พร้อมทั้งสำรวจปัญหาของผู้ขับขี่ และเสนอแนวนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีสิทธิบนท้องถนนเสมอหน้ากับผู้ใช้ถนนกลุ่มอื่นมากขึ้น ตลอดจนมีคุณภาพในการเดินทางและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

‘ควบรวมสัญญาณมือถือ-อินเทอร์เน็ต’ ก็เป็นเรื่องของเด็ก

ในปัจจุบัน การใช้อินเทอร์เน็ตแทบจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ปัจจัยที่ห้า’ ในชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย ตามรายงานของ คิด for คิดส์ ในปี 2022 เยาวชนอายุ 15-25 ปีใช้เวลารับสื่อออนไลน์เฉลี่ยมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยกลุ่มที่เรียนเต็มเวลา 97.0% ใช้อินเทอร์เน็ตในการเรียน ส่วนกลุ่มที่ทำงานเต็มเวลา 70.5% ใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงาน เยาวชนเกือบทั้งหมดยังใช้อินเทอร์เน็ตโทรและส่งข้อความ (97.6%) ค้นข้อมูล (97.1%) ใช้โซเชียลมีเดีย (94.7%) ซื้อสินค้า (86.8%) และเล่นเกม (81.8%)

อย่างไรก็ดี เด็กและเยาวชนจำนวนมากยังประสบปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยเด็กและเยาวชนอายุ 6-24 ปีราว 3.4 แสนคน หรือ 2.1% ไม่ได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างสิ้นเชิง ส่วนกลุ่มที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แต่ยากจนก็ประสบปัญหาค่าบริการสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านแพง โดยในไตรมาส 1/2021 อัตราค่าบริการสัญญาณมือถือเฉลี่ยอยู่ที่ 453 บาท/เลขหมาย/เดือน คิดเป็นถึง 13.8% ของรายได้ต่อหัวต่อเดือนของครัวเรือนที่รายได้ต่ำสุด 20% แรก

การควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ และ ‘AIS-3BB’ จะทำให้ตลาดโทรคมนาคมมีผู้ให้บริการแข่งขันกันลดลงและกระจุกตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ค่าบริการพุ่งสูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน

หมายความว่า เด็กและเยาวชนจำนวนมากขึ้นจะไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ถูกตัดโอกาสในการค้นคว้า เรียนรู้ ทำงาน สื่อสาร และทำกิจกรรมอีกนานัปการผ่านโลกออนไลน์ ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นระหว่างเด็กและเยาวชนต่างชนชั้นให้รุนแรงยิ่งขึ้น

101 PUB Policy Insights ฉบับนี้มุ่งตรวจสอบ ‘เรื่องเล่า’ เกี่ยวกับการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทค วิเคราะห์ผลกระทบของการควบรวมดังกล่าวต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมและผู้บริโภค ตลอดจนชี้ให้เห็นว่า กสทช. มีอำนาจเต็มที่ในการกำกับหรือแม้กระทั่งไม่อนุญาตให้ควบรวม

101 PUB Policy Insights ฉบับนี้มุ่งทบทวนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากปล่อยให้ทรูกับดีแทคควบรวมกัน และยืนยันว่าทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยคือการไม่อนุญาตให้ควบรวม อย่างไรก็ตาม หาก กสทช. ‘จำใจต้อง’ อนุญาตการควบรวม ก็จะต้องกำหนดเงื่อนไขการควบรวมให้เข้มข้น ทั้งในเชิงโครงสร้างและพฤติกรรมของผู้ให้บริการ ซึ่งอาจพอช่วยลดความเสี่ยงหรือบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภคและพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศได้บ้าง

101 PUB Policy Flash ฉบับนี้มุ่งวิเคราะห์ผลกระทบของการควบรวมธุรกิจระหว่าง AIS กับ 3BB ซึ่งจะทำให้ AIS กลายเป็นผู้เล่นใหญ่ที่สุดในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านทันที

เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022 ประกอบด้วยเอกสาร 3 ชิ้น ได้แก่ (1) 7 แนวโน้มสำคัญของสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว (2) เล่มผนวกที่ 1 สถิติสำคัญด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว และ (3) เล่มผนวกที่ 2 สามความฝันของเด็กและเยาวชนไทย

‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ก็เป็นเรื่องของเด็ก

2 ปี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2020 – 30 กันยายน 2022 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอ้างความจำเป็นในการใช้รับมือกับวิกฤตโควิด

อย่างไรก็ดี ปรากฏชัดเจนว่ากฎหมายนี้ถูกใช้เครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงกดปราบการชุมนุมและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งรวมถึงเด็กและเยาวชนด้วย

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รัฐบาลดำเนินคดีกับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งสิ้น 237 คนตลอดช่วงเวลาบังคับใช้[6]ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (2022)

แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้แล้ว แต่หากกฎหมายและกระบวนวิธีการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินยังไม่ถูกปฏิรูปเสียใหม่ ก็อาจถูกนำกลับขึ้นมาใช้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ-คุกคามเด็กและเยาวชนได้ทุกเมื่อ

101 PUB Policy Flash ฉบับนี้มุ่งถกถามถึงความจำเป็นของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทบทวนประสิทธิภาพของกฎหมายนี้ในการควบคุมโรคระบาด ผลข้างเคียงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับการจัดการวิกฤตสาธารณะที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะจบลงได้นี้

References
1, 2, 4 101 PUB คำนวณจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021)
3 101 PUB คำนวณจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (2017)
5 101 PUB คำนวณจากข้อมูลกรมควบคุมโรค (2022)
6 ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (2022)

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี?: ขยายสิทธิให้เสียงเยาวชนมีความหมาย

ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี?: ขยายสิทธิให้เสียงเยาวชนมีความหมาย

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาของระบอบการเมืองไทยที่ทำให้เสียงเยาวชนไร้ความหมาย เข้าใจถึงเหตุผลในการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี และร่วมขบคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่เสียงเยาวชนควรถูกรับฟังผ่านการเลือกตั้งมากขึ้น

ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม

ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาการขาดช่องทางการมีส่วนร่วมอย่าง ‘มีความหมาย’ ของเยาวชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ และเสนอแนวทางขยายช่องทางดังกล่าว เพื่อให้นโยบายตอบสนองปัญหาและความต้องการของเยาวชนได้ดีขึ้น

ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์

ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022

101 PUB เผยแพร่ชุดข้อมูลผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ ซึ่งสำรวจความรับรู้ คุณค่า และทัศนคติของเยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี จากกลุ่มตัวอย่าง 19,237 คนทั่วประเทศ

22 August 2022
1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.