บ้านไม่ใช่เซฟโซนสำหรับทุกคน: เข้าใจปัญหาพื้นที่ปลอดภัยผ่านแบบสำรวจเยาวชน 2022

ประเด็นสำคัญ

  • 7 ปีหลัง ความรุนแรงภายในครอบครัวภาพรวม และความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น โดย 32.2% ของคดีความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนเกิดในบ้าน ทั้งนี้การเข้าใจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวผ่านสถิติยังมีปัญหาอยู่มาก เนื่องจากการตกสำรวจและการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ แต่ไม่บูรณาการ 

  •  เยาวชน 6.7% รู้สึกบ้านไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็น LGBTQ+ ที่อยู่กับพ่อหรือแม่คนเดียว นอกจากนั้นปัญหาที่อยู่อาศัยและการถูกคุกคามยังส่งผลต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยด้วย 

  • เมื่อเยาวชนที่บ้านไม่ปลอดภัยมีปัญหาชีวิต มักเลือกปรึกษาเพื่อนหรืออินเทอร์เน็ตในสัดส่วนที่มากกว่าเยาวชนที่บ้านปลอดภัย เมื่อพิจารณาถึงความเชื่อถือต่อคนรอบตัวจะพบว่า เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยเชื่อถือต่อคนรอบตัวน้อยกว่าเยาวชนที่บ้านปลอดภัย 

‘บ้าน’ นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยให้ผู้คนได้พักผ่อนในเชิงกายภาพ ยังมีความหมายแฝงในการเป็นพื้นที่ให้ความมั่นคง ความอบอุ่น ความสบายใจแก่ผู้อยู่อาศัยร่วมบ้านเดียวกัน และที่สำคัญคือยังเป็นสถานที่ที่ ‘เด็กและเยาวชน’ ใช้ชีวิตและเติบโตขึ้นมา

แต่ในความเป็นจริง บ้านอันควรเป็นสถานที่ที่ทำให้เยาวชนรู้สึกปลอดภัย กลับยังไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน บางบ้านมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุอาชญากรรมภายในบ้าน หรือบางบ้านก็มีปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. ชวนทำความเข้าใจปัญหาความไม่ปลอดภัยภายในบ้านของเยาวชน ความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาที่อยู่อาศัย/ประสบการณ์การถูกคุกคาม ต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยภายในบ้าน และความเชื่อมั่นในผู้คนรอบตัวที่แตกต่างกันระหว่างเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านของตนปลอดภัย/ไม่ปลอดภัย ผ่านผลสำรวจเยาวชน 2022 ของ คิด for คิดส์[1]ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา และสรวิศ มา. (2022). ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022.

เด็กและเยาวชนเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น

จากสถิติการให้บริการสายด่วน 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบว่าในช่วง 7 ปีหลัง (ปีงบประมาณ 2016 – 2022) เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นจาก 1,578 เป็น 2,233 ราย ส่วนเหยื่อที่เป็นเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มแบบเดียวกับภาพรวมคือเพิ่มจาก 768 เป็น 896 ราย (ภาพที่ 1) เมื่อแยกประเภทความรุนแรงที่เกิดกับเด็กและเยาวชนจะพบว่า ส่วนมากถูกทำร้ายร่างกายโดยคนในครอบครัว รองลงมาคือถูกคุกคามทางเพศ (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 1: จำนวนเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ปีงบประมาณ 2016 – 2022
ที่มา: ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 พม.
เด็กและเยาวชนเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น
ภาพที่ 2

เมื่อพิจารณาจากสถานที่ที่เกิดคดีความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนจากข้อมูลของศูนย์ติดตามเหตุอาชญากรรมและความรุนแรง (MOVE)[2]ข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรง ประเทศไทย 2559 – 2565. ที่เก็บจากฐานข้อมูลหนังสือพิมพ์ 5 สื่อ (บางกอกโพสต์, ข่าวสด, ไทยรัฐ, ผู้จัดการ และมติชน) พบว่า คดีความรุนแรงที่เกิดกับเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 0-24 ปี 42.0% เกิดขึ้นในพื้นที่โล่ง เช่น ถนน ตามด้วย 32.2% เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว (ครอบคลุมถึงที่อยู่อาศัย) และ 10.9% เกิดขึ้นที่แหล่งการค้า (ภาพที่ 3) ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ‘บ้าน’ ที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย กลับเป็นสถานที่ที่เกิดเหตุความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2

ภาพที่ 3: สัดส่วนคดีความรุนแรงที่เกิดกับเด็กและเยาวชนอายุ 0 – 24 ปี
ที่มา: ศูนย์ติดตามเหตุอาชญากรรมและความรุนแรง (MOVE)

หนึ่งในข้อจำกัดของข้อมูลความรุนแรงภายในครอบครัวในไทย คือหน่วยงานรัฐหรือภาคประชาสังคมต่างๆ จะทราบเหตุและรายงานก็ต่อเมื่อมีผู้แจ้งเหตุความรุนแรงเท่านั้น จึงทำให้ตัวเลขน่าจะน้อยกว่าความเป็นจริงมาก จากสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 20 ปีขึ้นไปในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 87.4% ไม่เคยขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาจากหน่วยงานหรือจากใครเลย[3]มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดผลสำรวจความรุนแรงในครอบครัวยุคโควิด พบ 3 ใน 4 ถูกกระทำซ้ำ มีเหล้าเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ซึ่งกว่าร้อยละ 87 … Continue reading ถ้าอ้างอิงจากสัดส่วนนี้อาจตีความได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวจริง อาจมากกว่าตัวเลขที่รายงานจากหน่วยงานภาครัฐหรือภาคประชาสังคมเกือบ 8 เท่า

นอกจากปัญหาเรื่องที่มาของข้อมูลแล้ว อีกปัญหาของสถิติความรุนแรงในครอบครัวคือการเก็บแบบกระจายศูนย์ แต่ขาดการบูรณาการ ทำให้แต่ละหน่วยงานหรือประชาสังคมต่างฝ่ายต่างรายงานสถิติความรุนแรงของตนเอง ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลที่ต่างกัน จึงสรุปสถานการณ์ความรุนแรงภายในครอบครัวที่แท้จริงได้ยาก

เยาวชนไทย 6.7% รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ และอยู่กับพ่อหรือแม่คนเดียว

จากแบบสำรวจเยาวชน 2022 ของ คิด for คิดส์ พบว่าเยาวชน 6.7% รู้สึกว่าบ้านตนเองไม่ปลอดภัย[4]เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านตนเองไม่ปลอดภัย หมายถึงเยาวชนที่รายงานว่าบ้านของตนเองปลอดภัยน้อยที่สุด, ปลอดภัยน้อย หรือปลอดภัยค่อนข้างน้อย เมื่อแบ่งกลุ่มตามเพศที่เยาวชนนิยามตนเอง จะพบว่ากลุ่ม LGBTQ+ มีสัดส่วนเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยสูงที่สุดคือ 10.5% (ผู้ชาย 6.3%, ผู้หญิง 5.6%) เมื่อแบ่งกลุ่มตามการอยู่อาศัยกับครอบครัวจะพบว่า กลุ่มเยาวชนที่อาศัยอยู่กับพ่อคนเดียวมีสัดส่วนเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยสูงที่สุดคือ 9.2% (อาศัยอยู่กับแม่คนเดียว 8.0%, อยู่แบบครอบครัวข้ามรุ่น 7.4%, อยู่กับพ่อและแม่ 4.9%) นอกจากนั้น หากพิจารณาเยาวชนตามเพศและการอยู่อาศัยร่วมกันจะพบว่า กลุ่ม LGBTQ+ ที่อยู่กับพ่อคนเดียว มีสัดส่วนเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยมากที่สุดคือ 18.7% (ตารางที่ 1)

 พ่อคนเดียวแม่คนเดียวข้ามรุ่น*พ่อและแม่รวม
LGBTQ+18.7%10.8%14.1%8.4%10.5%
ชาย8.2%6.2%6.8%4.9%6.3%
หญิง7.5%8.7%4.6%3.5%5.6%
รวม9.2%8.0%7.4%4.9%6.7%
ตารางที่ 1: สัดส่วนเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย แบ่งตามเพศและการอาศัยอยู่กับครอบครัว
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์ (2022)
หมายเหตุ: หมายถึงเยาวชนที่อาศัยอยู่กับ ลุง/ป้า/น้า/อา หรือ ปู่/ย่า/ตา/ยาย หรือทั้งคู่

ความรู้สึกไม่ปลอดภัยเกิดจากปัญหาที่อยู่อาศัยและการถูกคุกคาม

ที่อยู่อาศัยคือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นสำหรับชีวิต ในเชิงกายภาพ ที่อยู่อาศัยควรจะมีความปลอดภัยพื้นฐานต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งจากสภาพอากาศ ภัยธรรมชาติ หรือภัยคุกคาม หากที่อยู่อาศัยมีความปลอดภัยพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่บ้านด้วย สะท้อนจากผลสำรวจเยาวชน 2022 ที่พบว่าเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย 26.9% อยู่อาศัยในบ้านที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรง (10.4% ในกลุ่มเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย) 30.1% รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน (9.1% ในกลุ่มเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย) และ 40.1% ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวภายในบ้าน (16.8% ในกลุ่มเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย)

นอกจากปัจจัยพื้นฐานทางกายภาพ อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่บ้านคือประสบการณ์การถูกคุกคามของเยาวชน โดยเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย 18.1% เคยถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ (เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย 5.8% เคยถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน) เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย 39.6% เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ (เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย 18.6% เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ) (ภาพที่ 4)

ความรู้สึกไม่ปลอดภัยเกิดจากปัญหาที่อยู่อาศัยและการถูกคุกคาม
ภาพที่ 4

ปัจจัยที่อยู่อาศัยจะส่งผลต่อเยาวชนที่รายได้น้อยมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนประสบการณ์การถูกคุกคามเกิดขึ้นในทุกกลุ่มรายได้ กลุ่มเยาวชนรายได้น้อยและบ้านไม่ปลอดภัย มีสัดส่วนปัญหาของที่อยู่อาศัยมากกว่ากลุ่มรายได้อื่น โดย 40.6% มีโครงสร้างบ้านไม่แข็งแรง (รายได้ปานกลาง 32.8%, รายได้มาก 6.3%) 42.9% มีบ้านที่ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน (รายได้ปานกลาง 29.2%, รายได้มาก 6.3%) และ 46.3% ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวภายในบ้าน (รายได้ปานกลาง 44.0%, รายได้มาก 31.6%) (ภาพที่ 5) ส่วนประสบการณ์การถูกคุกคามแบ่งตามระดับรายได้เยาวชนจะพบว่า ส่งผลต่อเยาวชนทุกกลุ่มรายได้ไม่แตกต่างกันมาก (ภาพที่ 6)

ภาพที่ 5: สัดส่วนเยาวชนแต่ละฐานะที่มีปัญหาที่อยู่อาศัย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์ (2022)
หมายเหตุ: นับเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย, กลุ่มรายได้น้อย คือเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนระดับควินไทล์ 1 (20% แรก), กลุ่มรายได้ปานกลาง คือเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนระดับควินไทล์ 3 (20% กลาง) และกลุ่มรายได้มาก คือเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนระดับควินไทล์ 5 (20% สุดท้าย)
ภาพที่ 6: สัดส่วนเยาวชนแต่ละฐานะที่มีประสบการณ์การถูกคุกคาม
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์ (2022)
หมายเหตุ: นับเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัย, กลุ่มรายได้น้อย คือเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนระดับควินไทล์ 1 (20% แรก), กลุ่มรายได้ปานกลาง คือเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนระดับควินไทล์ 3 (20% กลาง) และกลุ่มรายได้มาก คือเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนระดับควินไทล์ 5 (20% สุดท้าย)

เมื่อบ้านไม่ปลอดภัย เพื่อน/อินเทอร์เน็ต จึงเป็นที่พึ่งสำคัญ

เมื่อเยาวชนต้องเผชิญกับปัญหาชีวิตต่างๆ การมีที่ปรึกษาเพื่อรับฟังหรือหาวิธีแก้ปัญหาเป็นเรื่องสำคัญ จากผลสำรวจเยาวชน 2022 พบว่า เยาวชนในกลุ่มที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยเลือกที่จะปรึกษาปัญหาชีวิตกับพ่อแม่/ผู้ปกครอง น้อยกว่าเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย แต่จะหันไปปรึกษาปัญหาชีวิตกับเพื่อนและอินเทอร์เน็ตแทน

เมื่อพิจารณาเพิ่มเติมถึงระดับความเชื่อมั่นต่อคนรอบตัว พบว่าเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยเชื่อมั่นในครอบครัว, เพื่อนสนิท, ครู/อาจารย์ และคนในชุมชน น้อยกว่าเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัย ซึ่งอาจสะท้อนถึงความรู้สึกที่ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นกับคนในครอบครัวซึ่งต่ำกว่ากันอย่างมาก ทั้งนี้ เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยนั้นเชื่อมั่นในเพื่อนสนิทมากที่สุด แม้ว่าระดับความเชื่อมั่นจะไม่สูงเท่ากลุ่มเยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านปลอดภัยก็ตาม (ภาพที่ 7)

เมื่อบ้านไม่ปลอดภัย เพื่อน/อินเทอร์เน็ต จึงเป็นที่พึ่งสำคัญ
ภาพที่ 7

ยกระดับระบบคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปรับเป้าหมาย สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลเยาวชนกลุ่มเสี่ยง

ในปัจจุบันการดูแลเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงต่อความรุนแรงในครอบครัวยังคงเป็นประเด็นท้าทายของหน่วยงานรัฐหรือภาคประชาสังคม ทั้งการเข้าถึงเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ครอบคลุม ไม่ทันการณ์ ขาดความคล่องตัวในการประสานงานระหว่างหน่วยงาน หรือภาระงานที่เยอะเกินไป คิด for คิดส์ จึงเสนอ 3 เป้าหมายในการปฏิรูปการดูแลเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง และ 3 เงื่อนไขที่จำเป็นต้องบรรลุเพื่อให้เป้าหมายเป็นจริงดังนี้ (ภาพที่ 8)

3 เป้าหมายหลัก ปฏิรูปกระบวนการดูแลเด็กและเยาวชน

การปฏิรูปกระบวนการดูแลเด็กและเยาวชนให้มีประสิทธิภาพ สามารถดูแลเด็กได้จริงควรตั้ง 3 เป้าหมายหลักคือ

  1. ปรับดุลอำนาจใหม่ เปิดช่องให้เด็กและเยาวชนเป็นโจทก์ฟ้องร้องได้: ในกฎหมายปัจจุบันระบุว่าคนที่เป็นลูกไม่สามารถฟ้องพ่อ/แม่ของตนเองได้ทั้งทางแพ่งและอาญา[5]ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา 1562. ข้อห้ามดังกล่าวเพิ่มอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงภายในบ้าน ซึ่งต้องรอญาติหรืออัยการเป็นผู้ฟ้องแทน ซ้ำเติมวัฒนธรรมที่เด็กและเยาวชนมักจะไม่สามารถมีปากมีเสียงในครอบครัว
  2. ค้นหาและช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงเชิงรุก ไม่ให้ถูกกระทำซ้ำ: เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีแค่การดูแลเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเชิงรับเท่านั้น กล่าวคือต้องรอให้เด็กและเยาวชนถูกกระทำความรุนแรงก่อนถึงจะได้รับการดูแล จึงไม่ครอบคลุมถึงเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงต่อความรุนแรงในครอบครัวแต่ยังไม่ถูกกระทำ
  3. ใส่ใจกับสภาพจิตใจเด็กและเยาวชนในทุกกระบวนการ: เด็กและเยาวชนที่เป็นเหยื่อความรุนแรง จะต้องผ่านการรายงานเหตุ สอบถามข้อมูล รักษาเบื้องต้น ประเมินความเสี่ยงของเด็กและเยาวชน หลังจากนั้นใช้วิธีการเฉพาะหน้าในการดูแลความปลอดภัย[6]กรมกิจการเด็กและเยาวชน. (2017). คู่มือปฏิบัติและข้อตกลงร่วมกัน เรื่อง การคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กในภาวะเสี่ยงและเป็นผู้เสียหายจากการละเมิด … Continue reading พวกเขาซึ่งเปราะบางอยู่แล้วอาจมีสภาพจิตใจย่ำแย่ลงไปหากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการสืบหาความจริงที่ลงรายละเอียดข้อมูลการกระทำผิด จึงจะต้องปรับวิธีการดูแลทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนรู้สึกเหมือนถูกกระทำซ้ำเติมจากระบบคุ้มครองเด็ก

3 เงื่อนไขจำเป็น สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง

การปฏิรูปกระบวนการดูและเด็กและเยาวชนจะสำเร็จได้ รัฐจำเป็นต้องบรรลุ 3 เงื่อนไขดังนี้

  1. กระจายอำนาจ วางกลไกดูแลในพื้นที่: เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในการดูแลเด็กและเยาวชน พร้อมวางกลไกดูแลพื้นที่ เพื่อให้ดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ร่วมมือกับชุมชนและประชาสังคมอย่างเป็นระบบ: เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถดูแลเด็กและเยาวชนได้อย่างทั่วถึง หากขาดความร่วมมือกับชุมชนหรือประชาสังคมที่เข้าใจพื้นที่นั้นๆ จึงควรร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ชุมชน และประชาสังคม เพื่อให้ดูแลได้อย่างทั่วถึง สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่
  3. เติมความพร้อมทั้งบุคลากรและสถานที่ เพื่อให้ดูแลได้จริง: แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ผู้มีหน้าที่ดูแลเด็กและเยาวชนกระจายอยู่หลายสาขาอาชีพ โดยคาดหวังให้ช่วยดูแลเด็กและเยาวชนให้ได้มากที่สุด แต่ในทางปฏิบัติผู้มีหน้าที่คุ้มครองเด็กกลับถ่ายโอนงานดูแลเด็กและเยาวชนที่เป็นเหยื่อความรุนแรง ไปให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานด้านการดูแลเด็กและเยาวชนโดยตรง ทำให้ภาระงานของเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กมีมากเกินไป ไม่สามารถดูแลเด็กและเยาวชนได้อย่างเต็มที่[7]นพพรรษ ศิริ. (2018). ปัญหาเกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546. PAYAP UNIVERSITY JOURNAL24(2), 125–144.
ยกระดับระบบคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปรับเป้าหมาย สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลเยาวชนกลุ่มเสี่ยง
ภาพที่ 8

References
1 ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา และสรวิศ มา. (2022). ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022.
2 ข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรง ประเทศไทย 2559 – 2565.
3 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดผลสำรวจความรุนแรงในครอบครัวยุคโควิด พบ 3 ใน 4 ถูกกระทำซ้ำ มีเหล้าเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ซึ่งกว่าร้อยละ 87 ไม่เคยขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด, สำนักข่าวไทยแลนด์พลัส, พฤศจิกายน 24, 2021.
4 เยาวชนที่รู้สึกว่าบ้านตนเองไม่ปลอดภัย หมายถึงเยาวชนที่รายงานว่าบ้านของตนเองปลอดภัยน้อยที่สุด, ปลอดภัยน้อย หรือปลอดภัยค่อนข้างน้อย
5 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, มาตรา 1562.
6 กรมกิจการเด็กและเยาวชน. (2017). คู่มือปฏิบัติและข้อตกลงร่วมกัน เรื่อง การคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กในภาวะเสี่ยงและเป็นผู้เสียหายจากการละเมิด ละเลยทอดทิ้ง แสวงประโยชน์ และความรุนแรง. หน้า 59.
7 นพพรรษ ศิริ. (2018). ปัญหาเกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546. PAYAP UNIVERSITY JOURNAL24(2), 125–144.

อินโฟกราฟฟิก

รายงาน/บทวิเคราะห์ฉบับเต็ม

วิจัย/เขียน

กษิดิ์เดช คำพุช

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

งานเสวนาสาธารณะ ‘Youth’s Policy Dialogue’

101 PUB ขอเชิญชวนเยาวชนร่วมแชร์ความคิด-ความฝันในงาน ‘Youth’s Policy Dialogue’ วงสนทนาสำหรับทุกคนที่ทุกไอเดียมีความหมาย ‘พูดคุย’ เพื่อ ‘เปลี่ยนแปลง’ นโยบาย สร้างอนาคตเยาวชนไทยให้ดีกว่าเดิม

30 December 2024
Soft Power without Power, without Future?

Soft Power without Power, without Future?

101 PUB ชวนสำรวจว่ารัฐบาลเดินหน้านโยบาย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ หรือ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ แบบใด? และไปถึงไหน? มีประเด็นอะไรที่น่าจับตาต่อไปในปีหน้า

‘นโยบายแก้หนี้’ แสงสว่างท่ามกลางวิกฤตหนี้ครัวเรือน?

ปี 2024 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือนทั้งหนี้ใน/นอกระบบ ผ่านการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ แต่นโยบายเหล่านี้จะเป็นอย่างไร? จะแก้หนี้ได้หรือไม่?

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2025 101pub.org | All rights reserved.