กรุงเทพ เมืองร้างรัก: เมื่อเมืองไม่ดี… โอกาสพบรักดีๆ ของเยาวชนก็ไม่เกิด

กรุงเทพ เมืองร้างรัก: เมื่อเมืองไม่ดี… โอกาสพบรักดีๆ ของเยาวชนก็ไม่เกิด

ประเด็นสำคัญ

  • เยาวชนกรุงเทพมหานครอายุ 15-25 ปี 53.5% เป็นโสด มิได้คบหาแฟนในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เป็นสัดส่วนสูงกว่าเยาวชนต่างจังหวัดและค่าเฉลี่ยของประเทศ สัดส่วนนี้มีแนวโน้มมากขึ้นตามระดับรายได้ครัวเรือน ระดับการศึกษา และดัชนีมวลกายของเยาวชนที่เพิ่มขึ้น
      
  • เยาวชนโสดในกรุงเทพฯ รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากกว่า อีกทั้งยังมีความสุขในชีวิตน้อยกว่าเยาวชนที่มีแฟนแล้ว
      
  • กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่เอื้อต่อการมีความรัก เพราะขาดพื้นที่ชุมชนและพื้นที่สาธารณะให้พบรักและพัฒนาความสัมพันธ์ เยาวชนกรุงเทพฯ เคยรู้จักแฟนเป็นครั้งแรกในพื้นที่เหล่านี้เพียง 6.1% และ 4.1% ตามลำดับ
      
  • กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่ประชากรต้องเรียนและทำงานหนัก จนเยาวชนไม่มีเวลาเสี่ยงผจญกับความรัก โดยคนกรุงเทพฯ มีสมดุลการทำงาน-การใช้ชีวิต (work-life balance) แย่ที่สุดเป็นอันดับ 5 จากการสำรวจเมืองใหญ่ 100 แห่งทั่วโลก

เราทุกคนคู่ควรที่จะรักและถูกรัก แต่จะมีโอกาสได้พบและสมหวังในรักจริงหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสังคมนานัปการ หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญคือสภาพของ ‘เมือง’ ที่เราใช้ชีวิตว่าเอื้อให้เราตกหลุมรักใครสักคนได้มากแค่ไหน? หากเมืองนั้นของคุณคือ ‘กรุงเทพฯ’ ก็น่าเศร้าที่ต้องเล่าว่านครหลวงแห่งนี้ช่างไม่เอื้อให้ต้นรักเติบโตงอกงามเสียเลย กรุงเทพฯ เป็นเมืองของเทพองค์ไหนก็ไม่แน่ใจ – พระอินทร์ที่สั่งสร้าง พระวิษณุกรรมที่เนรมิตสร้าง หรือพระนารายณ์ที่อวตารมาสถิต – แต่คงไม่ใช่กามเทพแน่ๆ

ถ้าคุณไม่ได้กำลังใช้เวลาในค่ำคืนวันวาเลนไทน์กับคนรักที่ไหน (เพราะอาจจะไม่มี) คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง 101 PUB กับ สสส. ชวนมาสำรวจหัวใจ-เช็กสถานะความโสดของเยาวชนอายุ 15-25 ปีในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ผ่านผลสำรวจเยาวชน 2,709 คนในพื้นที่นี้ และ 19,237 คนทั่วประเทศ[1]ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา, และ สรวิศ มา, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022, 22 สิงหาคม 2022, https://101pub.org/youth-survey-2022/ (เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023). พร้อมร่วมขบคิดว่าทำไมเยาวชนกรุงเทพฯ ถึงโสดกันเสียส่วนใหญ่? ทำไมมหานครแห่งนี้ไม่เอื้อให้พบรักดีๆ ได้เท่าใดนัก?

กรุงเทพฯ = ศาลาเยาวชนโสด-เหงา-เศร้า

53.5% ของเยาวชนกรุงเทพเป็นโสด

กรุงเทพฯ เปรียบเสมือน ‘ศาลาเยาวชนโสด’ ขนาดใหญ่ ผลสำรวจพบว่า เยาวชนในมหานครแห่งนี้ถึง 53.5% เป็นโสด มิได้คบหาแฟนหรือคนรักแม้แต่คนเดียวในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เป็นสัดส่วนสูงกว่าเยาวชนทั้งในและนอกเขตอำเภอเมืองในต่างจังหวัด (50.0% และ 46.8% ตามลำดับ) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (48.1%)

สัดส่วนเยาวชนโสดในกรุงเทพฯ นี้มีแนวโน้มมากขึ้นตามระดับรายได้ครัวเรือน ระดับการศึกษา และดัชนีมวลกายของเยาวชนที่เพิ่มขึ้น โดยเยาวชนจากครัวเรือนที่รวยที่สุด 20% แรกเป็นโสดราว 58.6% สูงกว่าครัวเรือนที่จนที่สุด 20% แรกที่ 48.2% เยาวชนซึ่งกำลังเรียนหรือเรียนจบสูงสุดระดับปริญญาตรีเป็นโสด 58.0% สูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ 37.7% และเยาวชนที่มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์อ้วนเป็นโสด 78.3% สูงกว่าเกณฑ์ผอมที่ 48.7%

แนวโน้มข้างต้นมีทิศทางสอดคล้องกับเยาวชนในต่างจังหวัด แต่ประเด็นที่แตกต่างกันระหว่างทั้งสองพื้นที่คือ เยาวชนกรุงเทพฯ กลุ่มชายหญิงกับกลุ่ม LGBTQ+ จะเป็นโสดในสัดส่วนเท่าๆ กัน แต่ในต่างจังหวัด กลุ่ม LGBTQ+ จะเป็นโสดมากกว่ากลุ่มชายหญิงอย่างมีนัยสำคัญ

แน่นอนว่า ‘ความโสดไม่จำเป็นต้องทำร้ายใคร’ แต่ผลสำรวจพบว่า เยาวชนโสดในกรุงเทพฯ กว่า 35.8% รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนสูงกว่าเยาวชนที่มีแฟนแล้วที่ 26.7% ยิ่งไปกว่านั้น มีเยาวชนโสดเพียง 33.0% เท่านั้นที่มีความสุขในชีวิตมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนต่ำกว่าเยาวชนที่มีแฟนแล้วเล็กน้อยที่ 35.8% เรียกได้ว่านอกจากกรุงเทพฯ จะเป็น ‘ศาลาเยาวชนโสด’ แล้ว ยังเป็น ‘ศาลาเยาวชนเหงา-เศร้า’ อีกด้วย

เยาวชนกรุงเทพฯ ขาดพื้นที่-เวลาหารัก

เยาวชนแทบไม่มีโอกาสพบรักนอกสถานศึกษา-โลกออนไลน์

หนึ่งในสาเหตุที่เยาวชนกรุงเทพฯ จำนวนมาก (ต้อง) เป็นโสดคือ มหานครแห่งนี้ช่างไม่เอื้อต่อการพบรักเอาเสียเลย

จากผลสำรวจ เยาวชนกรุงเทพฯ ที่เคยมีแฟน เริ่มรู้จักกันเป็นครั้งแรกจากสถานศึกษา 58.9%, จากอินเทอร์เน็ต 33.5%, จากละแวกบ้านหรือชุมชนของตนเอง 6.1%, และจากพื้นที่สาธารณะเพียง 4.1% ในกลุ่มที่ทำงานเต็มเวลาแล้วก็มีแค่ 10.3% เท่านั้นที่เคยมีแฟนซึ่งเจอกันในที่ทำงาน หมายความว่าพวกเขาแทบไม่มีโอกาสพบรักนอกสถานศึกษาและโลกออนไลน์ เรื่องราวการพบรักกับเพื่อนสมัยเด็กที่เริ่มรู้จักกันแถวบ้านแบบในอนิเมะญี่ปุ่น หรือกับคนแปลกหน้าที่เจอในพิพิธภัณฑ์-หอศิลป์แล้วคุยเรื่องงานศิลปะกันถูกคอแบบในหนังยุโรป แทบจะเป็นได้เพียงจินตนาการสำหรับเยาวชนกรุงเทพฯ

ส่วนหนึ่งเพราะกรุงเทพฯ ขาดพื้นที่สาธารณะที่ใกล้และมีคุณภาพให้เยาวชนได้พบปะและพบรักกัน ทุกวันนี้ เยาวชนกรุงเทพฯ ถึง 33.5% ไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้อย่างห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หอแสดงดนตรี สวนสัตว์-สวนพฤกษศาสตร์ หรือสนามกีฬาเลย ด้วยอุปสรรคสำคัญที่สุดคือพื้นที่เหล่านั้นตั้งอยู่ไกลและเดินทางยากเกินไป (41%)[2]สรวิศ มา, “เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง,” 101 Public Policy Think Tank, 27 กรกฎาคม 2022, https://101pub.org/learning-space-for-youth/ (เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023).

นอกจากนี้ ผังเมือง การเน้นสร้างบ้านไกลใจกลางเมืองในรูปแบบที่ทำให้ผู้อาศัยต่างคนต่างอยู่[3]ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “บ้าน(เช่า)มั่นคงสำหรับทุกคน: ทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเมือง,” 101 Public Policy Think Tank, 31 มีนาคม 2022, https://101pub.org/urban-adequate-housing-for-all/ … Continue reading รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ทั่วถึงและไร้คุณภาพ[4]ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “‘มอเตอร์ไซค์’ เส้นเลือดเลี้ยงชีวิตกรุงเทพฯ ที่ถูกมองข้าม: 3 ข้อเสนอนโยบายเพื่อผู้ขับขี่,” 101 Public Policy Think Tank, 9 พฤษภาคม 2022, … Continue reading ก็ไม่เอื้อให้เยาวชนได้เจอและทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ลองนึกภาพตามว่า ถ้ามีรถเมล์ในระยะเดินจากหน้าบ้านคุณ เป็นรถที่เร็ว ตรงเวลา-คาดหมายได้ สภาพดี และค่าโดยสารถูก บางทีคุณอาจจะไปเรียนด้วยรถเมล์นั้น และตกหลุมรักใครสักคนที่นั่งรถเมล์เที่ยวเดียวกันเป็นประจำก็ได้

อีกส่วนหนึ่ง กรุงเทพฯ บีบให้เยาวชนต้องเรียนและทำงานอย่างหนักจนไม่มีเวลาว่างให้ ‘ใช้ชีวิต’ และเสี่ยงผจญกับความรัก ผลการศึกษาเมืองใหญ่ 100 แห่งทั่วโลกในปี 2022 พบว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีประชากรทำงานหนักเกินไปมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก และมีสมดุลการทำงาน-การใช้ชีวิต (work-life balance) แย่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก[5]“Cities with the Best Work-Life Balance 2022,” Kisi, 2022, https://www.getkisi.com/work-life-balance-2022 (accessed February 14, 2023). อุปสรรคสำคัญที่สุดอันดับสองที่ทำให้เยาวชนกรุงเทพฯ ไม่ได้ไปแหล่งเรียนรู้ก็เพราะพวกเขาไม่มีเวลา[6]สรวิศ มา, “เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง.”

เยาวชนกรุงเทพฯ ต้องดิ้นรนทนทุกข์แซงหน้าชาวโลกเช่นนี้ เนื่องจากกรุงเทพฯ และประเทศไทยขาดสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งประกันคุณภาพชีวิตของทุกคนได้ดีเพียงพอ ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่เอ่ยถึงไปแล้วอย่างเรื่องสร้างบ้านไกลใจกลางเมือง ไกลที่เรียน-ที่ทำงาน-ที่สาธารณะ และระบบคมนาคมขนส่งด้อยพัฒนา ก็ทำให้เยาวชนหมดเปลืองเวลา – และพลังชีวิตที่จะไปพบรัก – ไปกับการเดินทาง

เราเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้รักงอกงามกว่านี้ได้

แม้การไร้รักอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เมืองก็ควร ‘เอื้อ’ ให้เยาวชนที่ต้องการหรือยินดีจะพบรัก ได้รับโอกาสนั้นอย่างดีที่สุด

อย่าลืมว่าไม่ว่าเราจะเห็นกรุงเทพฯ – ศาลาเยาวชนโสด-เหงา-เศร้าแห่งนี้ – เป็นเมืองของเทพองค์ไหน ถึงที่สุดแล้ว กรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองของ ‘ประชาชน’ ที่ประชาชนเท่านั้นจะเป็นผู้ส่งเสียงและมีส่วนร่วมผลักดันให้รัฐบาลทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นสร้างความเปลี่ยนแปลง

เราเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เอื้อต่อความรักของเยาวชนกว่านี้ได้

References
1 ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา, และ สรวิศ มา, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022, 22 สิงหาคม 2022, https://101pub.org/youth-survey-2022/ (เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023).
2 สรวิศ มา, “เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง,” 101 Public Policy Think Tank, 27 กรกฎาคม 2022, https://101pub.org/learning-space-for-youth/ (เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023).
3 ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “บ้าน(เช่า)มั่นคงสำหรับทุกคน: ทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเมือง,” 101 Public Policy Think Tank, 31 มีนาคม 2022, https://101pub.org/urban-adequate-housing-for-all/ (เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023).
4 ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “‘มอเตอร์ไซค์’ เส้นเลือดเลี้ยงชีวิตกรุงเทพฯ ที่ถูกมองข้าม: 3 ข้อเสนอนโยบายเพื่อผู้ขับขี่,” 101 Public Policy Think Tank, 9 พฤษภาคม 2022, https://101pub.org/bangkok-motorcycle-policies/ (เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023).
5 “Cities with the Best Work-Life Balance 2022,” Kisi, 2022, https://www.getkisi.com/work-life-balance-2022 (accessed February 14, 2023).
6 สรวิศ มา, “เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง.”

อินโฟกราฟฟิก

รายงาน/บทวิเคราะห์ฉบับเต็ม

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Policy What! EP.1: สละโสดยากหน่อย เพราะ ‘เมือง’ ไม่ปล่อยให้รัก

กุมภาแล้ว แต่ยังไม่มีคนกุมมือ เพราะเราไม่มีดวงเรื่องความรัก หรือเป็นเพราะทางเท้าเดินยาก เดินทางลำบาก พื้นที่สาธารณะก็อยู่ไกล และยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้คนกรุงเทพ ‘โสด’ มากกว่าที่อื่นๆ

ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์

ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022

101 PUB เผยแพร่ชุดข้อมูลผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ ซึ่งสำรวจความรับรู้ คุณค่า และทัศนคติของเยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี จากกลุ่มตัวอย่าง 19,237 คนทั่วประเทศ

22 August 2022

บ้าน(เช่า)มั่นคงสำหรับทุกคน: ทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเมือง

101 PUB ชวนผู้อ่านสำรวจปัญหาคนเมืองไม่สามารถมีบ้านที่ดี ชี้ถึงช่องโหว่ของหนึ่งในนโยบายสำคัญอย่างการสร้างบ้านขายให้ครัวเรือน พร้อมทั้งเสนอแนวทางเปลี่ยนนโยบายไปสู่การสร้างบ้านเช่าที่มั่นคง

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.