8 ประเด็นสำคัญจาก ‘ร่างงบปี 68’: คิดใหญ่ ใช้เงินเป็น เห็นอนาคต?

8 ประเด็นสำคัญจาก ‘ร่างงบปี 68’: คิดใหญ่ ใช้เงินเป็น เห็นอนาคต?

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19 มิถุนายน 2024) คณะรัฐมนตรีได้เสนอ ‘ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2025’ [2568] ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเห็นชอบกรอบการใช้จ่าย ‘เงินของเราทุกคน’ มูลค่าเกือบ 3.8 ล้านล้านบาทในช่วงปีงบประมาณหน้า (1 ตุลาคม 2024 – 30 กันยายน 2025)

งบประมาณนี้ถือเป็นฉบับแรกที่รัฐบาลผสมภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แห่งพรรคเพื่อไทย ได้กุมบังเหียนจัดทำเองตั้งแต่เริ่มกระบวนการ มิต้องรับไม้ต่อจากรัฐบาลชุดก่อน น่าสนใจว่า รัฐบาล ‘พรรคคิดใหญ่ ทำเป็น’ จะสามารถวางแผนใช้จ่าย เพื่อแปรแนวคิดที่หาเสียงไว้สู่การปฏิบัติและผลลัพธ์จริงได้มากน้อยแค่ไหน? จะสามารถนำเงินก้อนนี้มาพัฒนาความเป็นอยู่ เติมฝัน และสร้างอนาคตให้พวกเราอย่างไร?

ก่อนสภาลงมติตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับหลักการร่างงบประมาณดังกล่าวในวันนี้ (21 มิถุนายน 2024) 101 PUB ชวนสำรวจ 8 ประเด็นสำคัญของ ‘ร่างงบ 2025’ จากเอกสารงบประมาณ 39 เล่ม / 21,743 หน้า / 62,446 รายการใช้จ่าย เพื่อเข้าใจว่า รัฐบาลกำลังจะใช้เงินของคนไทยอย่างไร? วางอนาคตแบบไหนไว้ให้พวกเรา?[1]101 PUB คำนวณข้อมูลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2025 และปีก่อนหน้าทั้งหมดจากไฟล์ดิจิทัลซึ่งจัดทำโดยพรรคก้าวไกลและ WeVis … Continue reading

1. ตั้งรายจ่าย-ขาดดุล-กู้โปะสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ

ตั้งรายจ่าย-ขาดดุล-กู้โปะสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ
  • ร่างงบ 2025 ตั้งกรอบรายจ่ายวงเงิน 3.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.2% ของ GDP และเป็นกรอบรายจ่ายสูงสุดในประวัติศาสตร์
  • รัฐบาลคาดการณ์ว่าจะมีรายได้สุทธิ 2.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียง 76.9% ของกรอบรายจ่าย แหล่งรายได้สำคัญได้แก่ VAT 0.9 ล้านล้านบาท และภาษีเงินได้นิติบุคคล 0.8 ล้านล้านบาท[2]ประมาณการรายได้ภาษีก่อนหักลดหย่อน
  • สำหรับรายจ่ายส่วนที่เกินจากรายได้ (เรียกว่า ‘ขาดดุล’) อีก 0.9 ล้านล้านบาท หรือ 23.1% รัฐบาลต้องกู้เงินมาโปะชดเชย ถือเป็นการขาดดุล-กู้ชดเชยสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2014 เป็นอย่างน้อย
  • การกู้เงินดังกล่าวจะเพิ่มหนี้สาธารณะ (หนี้ร่วมกันของพวกเรา) เป็น 65.7% ของ GDP หนี้ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นแตะระดับ 68.6% ของ GDP ภายในปี 2028 ซึ่งเกือบเต็มเพดานหนี้ตามกฎหมาย[3]แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2025-2028) ฉบับทบทวนครั้งที่ 2 (2024).
  • รัฐบาลชุดนี้และถัดไปจึงแทบกู้เพิ่มไม่ได้ หากต้องใช้เงินฉุกเฉินหรือลงทุนเรื่องสำคัญในอนาคต

2. เพิ่มงบกระทรวงยุทธศาสตร์ แต่กระทรวงรับงบหลักไม่เปลี่ยน

เพิ่มงบกระทรวงยุทธศาสตร์ แต่กระทรวงรับงบหลักไม่เปลี่ยน
  • ร่างงบ 2025 จัดสรรงบให้กระทรวงที่ทำงานเกี่ยวกับยุทธศาสตร์สร้างอนาคตของรัฐบาลเพิ่มขึ้น โดย 5 กระทรวงที่ได้งบ ‘เพิ่มมากสุด’ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ได้แก่ งบกลาง (เพิ่มขึ้น 31.0%), กระทรวงวัฒนธรรม (+26.3%), กระทรวงอุตสาหกรรม (+23.4%), กระทรวงการคลัง (+19.4%), และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (+19.0%)
    • 4 ใน 5 กระทรวงข้างต้นมีรัฐมนตรีว่าการสังกัด ‘พรรคเพื่อไทย’
เพิ่มงบกระทรวงยุทธศาสตร์ แต่กระทรวงรับงบหลักไม่เปลี่ยน
  • 5 กระทรวงที่ได้งบ ‘สูงสุด’ ยังคงเดิม คือ งบกลาง (21.5%), กระทรวงการคลัง (10.4%), กระทรวง
    ศึกษาธิการ (9.1%), กระทรวงมหาดไทย (7.9%), และกระทรวงกลาโหม (5.4%) สะท้อนโครงสร้างงบที่ไม่เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ
    • งบกลางและกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรี ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้รับงบเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น
    • กระทรวงศึกษาธิการและมหาดไทยภายใต้ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ได้รับงบเป็นสัดส่วนลดลง
  • ร่างงบตั้ง ‘งบดิจิทัลวอลเล็ต’ ไว้ 0.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4.1% ของงบทั้งหมด และ 56.0% ของมูลค่างบที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน หมายความว่า งบที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ถูกทุ่มเพื่อแจกในโครงการนี้

3. ปล่อยงบกึ่งหนึ่งเป็นงบบุคลากร-ผ่อนหนี้ เบียดบังพื้นที่การคลังต่อ

ปล่อยงบกึ่งหนึ่งเป็นงบบุคลากร-ผ่อนหนี้ เบียดบังพื้นที่การคลังต่อ
  • ร่างงบ 2025 ยังคงไม่แก้ปัญหารายจ่ายประจำ (เช่น งบบุคลากรและจ่ายหนี้) มีสัดส่วนสูง ‘เบียดบังพื้นที่การคลัง’ จนรัฐบาลมีเม็ดเงินในการขับเคลื่อนนโยบาย-ลงทุนใหม่ๆ จำกัดมาก[4]ดูเพิ่มเติม: กษิดิ์เดช คำพุช, “งบประมาณยิ่งถูกล็อค รัฐบาลยิ่งส่งมอบนโยบายยาก,” 101 Public Policy Think Tank, 27 กุมภาพันธ์ 2024, https://101pub.org/rigid-budgetary-problem/ (เข้าถึงเมื่อ 20 … Continue reading
  • งบ 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 39.2% ของงบทั้งหมด เป็นงบบุคลากร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.4%
    • สัดส่วนดังกล่าวสูงมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (เช่น เกาหลีใต้ 9.3% และ มาเลเซีย 31.7%) สวนทางกับคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานที่ย่ำแย่[5]ฉัตร คำแสง, “รัฐราชการขยายใหญ่ เบียดพื้นที่การคลัง ยังด้อยประสิทธิภาพ,” 101 Public Policy Think Tank, 17 พฤศจิกายน 2022, https://101pub.org/bureaucratic-state/ (เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2024).
    • งบบุคลากรราว 1 ใน 4 เป็นบำเหน็จ-บำนาญสำหรับบุคลากรที่มิได้ทำงานให้รัฐบาลแล้ว
  • งบอีก 0.5 ล้านล้านบาท หรือ 12.1% ของงบทั้งหมด ใช้จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 12.1% การขาดดุลงบสูงในปี 2025 จะยิ่งเพิ่มภาระงบส่วนนี้ในอนาคต
  • งบปีก่อนหน้าและร่างงบปีนี้ตั้ง ‘รายจ่ายผูกพัน’[6]หมายถึง รายจ่ายที่จ่ายต่อเนื่องข้ามปีงบประมาณ เมื่อตั้งไว้ในปีหนึ่งๆ แล้ว ปีถัดไปก็จะมีภาระผูกพันต้องจ่ายต่อ ไว้ในงบปีถัดไป (2026) ถึง 0.3 ล้านล้านบาท

4. หั่นงบ-ปิดโอกาสยกระดับ ‘สวัสดิการตัวเงิน’ ภายในปีหน้า

หั่นงบ-ปิดโอกาสยกระดับ ‘สวัสดิการตัวเงิน’ ภายในปีหน้า
  • ร่างงบ 2025 จัดงบไม่เพียงพอต่อการจัดและยกระดับ ‘สวัสดิการตัวเงิน’ ให้สามารถเป็นหลักประกันความเป็นอยู่พื้นฐานของประชาชนในโลกอนาคตที่ผันผวนและท้าทาย อีกทั้งไม่สอดคล้องกับมติคณะกรรมการปัญหาพีมูฟฯ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน[7]หมายถึง คณะกรรมการแก้ปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ชุดใหญ่ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ … Continue reading
  • เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ เห็นชอบมาตรการยกระดับสวัสดิการ 4 มาตรการ
    • ขยายการจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็ก จากที่จ่ายให้เฉพาะครัวเรือนยากจน เป็นถ้วนหน้า
    • จัดเงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์แบบถ้วนหน้า
    • เพิ่มอัตราเบี้ยผู้สูงอายุจาก 600-1,000 บาท/เดือนในปัจจุบัน เป็น 1,000 บาท/เดือน
    • เพิ่มอัตราเบี้ยพิการจาก 800 บาท/เดือนในปัจจุบัน เป็น 1,000 บาท/เดือน
  • งบ ‘เงินอุดหนุนเด็กเล็ก’ เพิ่มขึ้นจาก 16.4 พันล้านบาทในงบปี 2024 เป็น 16.8 พันล้านบาทในร่างงบ 2025 แต่ยังไม่เพียงพอต่อการจ่ายถ้วนหน้า ซึ่งต้องใช้งบราว 31.1 พันล้านบาท[8]101 PUB คำนวณจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2022); ดูเพิ่มเติม: เจณิตตา จันทวงษา, “สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก?,” 101 Public Policy Think Tank, 12 เมษายน 2022, … Continue reading
  • ‘เงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์’ ยังไม่ปรากฏในร่างงบ
  • งบ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ ลดลงจาก 76.0 เหลือเพียง 61.5 พันล้านบาท งบ ‘เบี้ยพิการ’ ลดลงจาก 18.2 เป็น 14.0 พันล้านบาท นอกจากเพิ่มอัตราการจ่ายไม่ได้แล้ว ยังเสี่ยงไม่พอจ่ายในอัตราปัจจุบัน[9]ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “เปลี่ยนเบี้ยผู้สูงอายุเป็น ‘บำนาญขั้นต่ำ’: สร้างหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ยั่งยืน,” 101 Public Policy Think Tank, 26 กุมภาพันธ์ 2024, … Continue reading
  • งบสวัสดิการเรือธงพรรคเพื่อไทยบางประเภทปรับเพิ่มขึ้น เช่น งบสมทบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาทรักษาทุกที่) ขยับจาก 152.7 เป็น 167.8 พันล้านบาท สูงขึ้นราว 9.0%

5. งบเกษตรลด เกือบทั้งหมดใช้ผ่อนหนี้ ลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มรายได้น้อย

งบเกษตรลด เกือบทั้งหมดใช้ผ่อนหนี้ ลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มรายได้น้อย
  • ‘แผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่า’ เป็นแผนงบเกษตรแผนหลักภายใต้ระบบแผนของรัฐบาล[10]มีงบด้านเกษตรอื่นอยู่นอกแผนฉบับนี้ด้วย แผนนี้ได้รับจัดสรรวงเงินลดลง 8.0% จาก 50.0 พันล้านบาทในปี 2024 เหลือ 45.9 พันล้านบาทในร่างงบ 2025
  • งบแผนเกษตรเกือบทั้งหมดไม่ได้ใช้เพื่อลงทุนเพิ่มผลิตภาพและรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ดังที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ว่า จะเพิ่มรายได้สามเท่าโดยอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่
  • 38.0% ของงบใช้ผ่อนหนี้นโยบาย ‘เงินอุดหนุนเกษตรกร’ เช่น จำนำสินค้าเกษตรและประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งคณะรัฐมนตรีในอดีตและปัจจุบันกู้นอกงบประมาณมาจ่ายให้เกษตรกรไปก่อน ทั้งที่เงินอุดหนุนไม่ช่วยพัฒนาการผลิต และเข้ากระเป๋าเกษตรกรรายใหญ่เป็นส่วนมาก[11]วรดร เลิศรัตน์, “หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย ‘เงินอุดหนุนเกษตรกร’ แบบเดิมๆ,” 101 Public Policy Think Tank, 11 มกราคม 2023, https://101pub.org/farmer-income-support-reform/ (เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2024).
    • ร่างงบนี้ยังผ่อนหนี้เงินอุดหนุนตั้งแต่ 15 ปีที่แล้วอยู่ แถมรัฐบาลมีแนวโน้มกู้เพิ่มใหม่ทุกปี
    • สัดส่วนผ่อนหนี้โครงการ ‘จำนำข้าว’ สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พุ่งขึ้นจากปีก่อนหน้า 12.6%[12]นับรวมงบผ่อนหนี้ซึ่งอยู่นอกแผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่า แต่อยู่ในแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ สวนทางกับมูลค่างบผ่อนหนี้เงินอุดหนุนรวมทุกโครงการ ซึ่งรัฐบาลปรับลดลงกว่าครึ่งจากปีก่อนหน้า สะท้อนความพยายามในการปิดหนี้จำนำข้าวยิ่งลักษณ์ แต่ปล่อยหนี้โครงการอื่นให้พอกพูน
  • 23.9% ของงบแผนเกษตรใช้จ่ายดอกเบี้ยแทนและอบรมเกษตรกรใน ‘โครงการพักชำระหนี้’ ซึ่งงานวิจัยพบว่าไม่ช่วยแก้ แต่ซ้ำเติมปัญหาหนี้สินเกษตรกรในระยะยาว[13]ดูเพิ่มเติม: กษิดิ์เดช คำพุช, สรวิศ มา, และ ฉัตร คำแสง, “นโยบายแก้หนี้ ความประสงค์ดีที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย,” 101 Public Policy Think Tank, 12 เมษายน 2023, https://101pub.org/household-debt-policy/ … Continue reading

6. งบซอฟต์พาวเวอร์ 25.9 พันล้านบาท ทุ่มบางสาขา เน้นสร้างถนน-ตึก

งบซอฟต์พาวเวอร์ 25.9 พันล้านบาท ทุ่มบางสาขา เน้นสร้างถนน-ตึก
  • นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือที่พรรคเพื่อไทยเรียกแบบผิดหลักวิชาว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” (soft power) เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์เพิ่มรายได้ประชาชนของรัฐบาล
  • ร่างงบ 2025 มีโครงการและรายการใช้จ่ายที่มีคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” อยู่ในชื่อเป็นวงเงินทั้งสิ้น 2.1 พันล้านบาท หากนับรวมโครงการอื่นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมทั้ง 12 สาขา จะมีกรอบใช้จ่าย 25.9 พันล้านบาท คิดเป็น 0.7% ของงบทั้งหมด
  • งบซอฟต์พาวเวอร์กว่า 2 ใน 3 หรือ 69.8% เป็นงบส่งเสริมอุตสาหกรรมการ ‘ท่องเที่ยว’ ซอฟต์พาวเวอร์สาขาที่ได้งบสนับสนุนรองลงมาคือ สาขาภาพยนตร์ ละคร การแสดง สารคดี และอนิเมชัน (3.1%) และสาขาอาหาร (2.7%) บางสาขาได้งบน้อยมาก เช่น สาขาหนังสือ (0.2%) สะท้อนการ ‘ไม่เปิดกว้าง-สร้างสรรค์’ ของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ‘สร้างสรรค์’
  • งบเพียง 2.3% ใช้สำหรับพัฒนาทักษะแรงงานสร้างสรรค์ ทั้งที่ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการส่งเสริมเศรษฐกิจสาขานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวางเป้าหมายครอบคลุมประชากรวงกว้าง – ให้หนึ่งครอบครัว มีหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์
  • งบซอฟต์พาวเวอร์ ‘ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง’ เม็ดเงินส่วนใหญ่หมดไปกับการก่อสร้างและประชาสัมพันธ์ เช่น งบส่งเสริมท่องเที่ยวราว 1 ใน 3 ใช้สร้างถนน อีก 1 ใน 3 ใช้กับงานก่อสร้างอื่น

7. งบดิจิทัลเพิ่ม แต่โครงสร้างเหมือนเดิม ละเลยการสร้างทักษะ

งบดิจิทัลเพิ่ม แต่โครงสร้างเหมือนเดิม ละเลยการสร้างทักษะ
  • ในร่างงบ 2025 แผนด้านดิจิทัลทั้งสองแผนหลักได้รับจัดสรรงบมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ งบแผนบูรณาการรัฐบาลดิจิทัลเพิ่มขึ้น 17.0% จาก 3.0 เป็น 3.5 พันล้านบาท ขณะที่งบแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลพุ่งขึ้นถึง 26.4% จาก 2.2 ไปแตะระดับ 2.8 พันล้านบาท สอดคล้องกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล
  • โครงสร้างงบยังคงคล้ายคลึงกับปีก่อนหน้า งบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล 29.0% ยังทุ่มให้กับการก่อสร้างสถาบัน IoT ในโครงการ Thailand Digital Valley[14]ดูเพิ่มเติม: กษิดิ์เดช คำพุช และ ณภัทร ดลภาวิจิต, “ดิจิทัลแบบใด? แกะไส้ในงบประมาณตามแผนดิจิทัล,” 101 Public Policy Think Tank, 24 เมษายน 2024, https://101pub.org/digital-plans-budgetary/ … Continue reading
  • งบเศรษฐกิจและสังคมอีก 6.0% ใช้พัฒนาศูนย์ดิจิทัลชุมชน (นึกภาพว่าเป็นห้องคอมโรงเรียนที่เปิดให้คนนอกเข้าไปใช้งานได้) 5.7% ใช้สนับสนุนดิจิทัลคอนเทนต์ สะท้อนความพยายามส่งเสริมการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลในพื้นที่ชุมชน และซอฟต์พาวเวอร์สาขาคอนเทนต์ตามลำดับ
  • รัฐบาลยังลงทุนพัฒนากำลังคนและทักษะด้านดิจิทัลต่ำมาก โดยลงทุนกับบุคลากรภาครัฐคิดเป็น 0.8% ของงบรัฐบาลดิจิทัล และกับประชาชนคิดเป็น 5.1% ของงบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ทั้งที่ปัญหาทักษะต่ำเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการพัฒนามิตินี้

8. ลงทุนการเรียนรู้-พัฒนาทักษะจำกัด ห่างไกลคำสัตย์มาก

ลงทุนการเรียนรู้-พัฒนาทักษะจำกัด ห่างไกลคำสัตย์มาก
  • พรรคเพื่อไทยหาเสียง-ให้สัตย์ว่าจะลงทุนพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต-สร้างเสริมทักษะคนทำงานหลากมิติ เพิ่มรายได้ให้ประชาชนอย่างยั่งยืนในอนาคต แต่ดูเหมือนรัฐบาลผสมภายใต้การนำของเพื่อไทยอาจมิได้จัดสรรงบโดยให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างเพียงพอ
  • การลงทุนในการศึกษาในระบบที่น่าจับตาคือ การเดินหน้า ‘แจกแท็บเล็ต’ ครูและนักเรียนทั้งในโรงเรียนสายสามัญและอาชีวศึกษา ผ่านโครงการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งได้งบเพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าตัว จาก 0.6 พันล้านบาทในปี 2024 เป็น 3.8 พันล้านบาท
  • กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้รับจัดสรรงบเพิ่ม 15.7% จาก 1.7 เป็น 2.0 พันล้านบาท ไม่เพียงพอสำหรับความจำเป็นเร่งด่วนในการยกระดับทักษะแรงงานขนานใหญ่[15]ดูเพิ่มเติม: ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์, “นโยบาย Upskill เติมทักษะใหม่ อุดหนุนแค่ค่าเรียนได้ผลหรือไม่,” 101 Public Policy Think Tank, 13 มีนาคม 2023, https://101pub.org/incomprehensive-upskill-policies/ … Continue reading
  • พรรคเพื่อไทยหาเสียงว่าจะจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ (แบบ TK Park และ TCDC) และศูนย์บ่มเพาะทักษะในทุกจังหวัด ปรับปรุงโรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดย่อมอย่างทั่วถึง ตลอดจนพัฒนาแพลตฟอร์มเรียนรู้และฝึกทักษะออนไลน์
    • แต่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ซึ่งรับผิดชอบดูแล TK Park กลับถูกตัดงบกว่าครึ่งจาก 1.4 เหลือ 0.6 พันล้านบาท
    • ร่างงบวางกรอบการใช้จ่ายจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์เพียง 10 แห่ง หากลงทุนจำกัดเช่นนี้ ก็ยากที่จะจัดตั้งได้ครบทุกจังหวัด ไม่ต้องพูดถึงว่าศูนย์เหล่านี้จะช่วยให้คนไทยทุกครัวเรือนมีรายได้ถึงเป้าหมายที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้ ก่อนคณะรัฐมนตรีหมดวาระ

คิดใหญ่ งบโคตรใหญ่ แต่อาจไม่เห็นอนาคต(?)

รัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แห่งพรรคเพื่อไทย ‘คิดใหญ่’ หวังพลิกโฉมประเทศให้ ‘คนไทยมีกินมีใช้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรีไปพร้อมกัน’ ร่างงบ 2025 จึงเป็นภาพแทนว่าความคิดนั้นจะถูกแปรเป็นการปฏิบัติและผลลัพธ์อย่างไร และดูเหมือนความคิดใหญ่จึงนำมาซึ่ง ‘งบโคตรใหญ่’ มูลค่าเฉียด 3.8 ล้านล้านบาท สูงสุดเท่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์

ทว่าร่างงบข้างต้นดูจะไม่ฉายภาพความสำเร็จของความคิดใหญ่ได้เท่าไหร่นัก เพราะงบโคตรใหญ่เป็นงบขาดดุลที่อาศัยเงินกู้มาใช้จ่ายมูลค่ามหาศาล ดันหนี้สาธารณะชนเพดาน ไม่เหลือให้กู้ในยามฉุกเฉินหรือต้องลงทุนเรื่องสำคัญ โครงสร้างงบยังติดหล่มปัญหาเดิม รายจ่ายประจำสูงเสียจนรัฐบาลมีเม็ดเงินในการขับเคลื่อนนโยบายจำกัดมาก – และจำกัดขึ้นเรื่อยๆ

ร่างงบ 2025 ยังจัดงบไม่เพียงพอต่อการยกระดับสวัสดิการประชาชน ตามแผนที่คณะกรรมการในรัฐบาลวางไว้ภายในปีนี้ ปล่อยให้ประชาชนต้องผจญชีวิตโดยขาดหลักประกันที่ทั่วถึงและเพียงพอ งบในแผนเศรษฐกิจยุทธศาสตร์ก็ไม่ตอบโจทย์ใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ละสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทย์เรื่องการพัฒนาทักษะและทุนมนุษย์

คาดการณ์ว่า ร่างงบ 2025 จะผ่านความเห็นชอบของสภาในวาระรับหลักการได้สะดวกโยธิน เนื่องจากรัฐบาลยังคุมเสียงข้างมากได้เข้มแข็ง-ไม่มีสัญญาณแตกแถวที่มีนัยสำคัญ จากนี้ ร่างงบจะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ ซึ่งจะปรับปรุงร่างให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ก่อนส่งกลับสู่ที่ประชุมใหญ่ของสภา เพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้ง

101 PUB จึงอยากชวนทุกคนช่วยกันจับตาความเป็นไปของร่างงบต่อในชั้นคณะกรรมาธิการ ร่วมคิดร่วมส่งเสียงความเห็นของตนให้ดังถึงสัปปายะสภาสถาน เพื่อให้เงิน 3.8 ล้านล้านบาทของพวกเราถูกนำไปใช้ยกระดับความเป็นอยู่ สร้างสุข และเติมฝันของทุกคนได้อย่างดีที่สุด

References
1 101 PUB คำนวณข้อมูลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2025 และปีก่อนหน้าทั้งหมดจากไฟล์ดิจิทัลซึ่งจัดทำโดยพรรคก้าวไกลและ WeVis ประกอบกับเอกสารสำนักงบประมาณ
2 ประมาณการรายได้ภาษีก่อนหักลดหย่อน
3 แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2025-2028) ฉบับทบทวนครั้งที่ 2 (2024).
4 ดูเพิ่มเติม: กษิดิ์เดช คำพุช, “งบประมาณยิ่งถูกล็อค รัฐบาลยิ่งส่งมอบนโยบายยาก,” 101 Public Policy Think Tank, 27 กุมภาพันธ์ 2024, https://101pub.org/rigid-budgetary-problem/ (เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2024).
5 ฉัตร คำแสง, “รัฐราชการขยายใหญ่ เบียดพื้นที่การคลัง ยังด้อยประสิทธิภาพ,” 101 Public Policy Think Tank, 17 พฤศจิกายน 2022, https://101pub.org/bureaucratic-state/ (เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2024).
6 หมายถึง รายจ่ายที่จ่ายต่อเนื่องข้ามปีงบประมาณ เมื่อตั้งไว้ในปีหนึ่งๆ แล้ว ปีถัดไปก็จะมีภาระผูกพันต้องจ่ายต่อ
7 หมายถึง คณะกรรมการแก้ปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ชุดใหญ่ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน
8 101 PUB คำนวณจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2022); ดูเพิ่มเติม: เจณิตตา จันทวงษา, “สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก?,” 101 Public Policy Think Tank, 12 เมษายน 2022, https://101pub.org/parenting-support-policy/ (เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2024).
9 ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “เปลี่ยนเบี้ยผู้สูงอายุเป็น ‘บำนาญขั้นต่ำ’: สร้างหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ยั่งยืน,” 101 Public Policy Think Tank, 26 กุมภาพันธ์ 2024, https://101pub.org/old-age-allowance-reform/ (เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2024); วรดร เลิศรัตน์, “บำนาญเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน: เหตุผลเชิงคุณค่าของบำนาญ กับการปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ,” 101 Public Policy Think Tank, 31 สิงหาคม 2023, https://101pub.org/moral-grounds-for-right-to-pension/ (เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2024).
10 มีงบด้านเกษตรอื่นอยู่นอกแผนฉบับนี้ด้วย
11 วรดร เลิศรัตน์, “หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย ‘เงินอุดหนุนเกษตรกร’ แบบเดิมๆ,” 101 Public Policy Think Tank, 11 มกราคม 2023, https://101pub.org/farmer-income-support-reform/ (เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2024).
12 นับรวมงบผ่อนหนี้ซึ่งอยู่นอกแผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่า แต่อยู่ในแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ
13 ดูเพิ่มเติม: กษิดิ์เดช คำพุช, สรวิศ มา, และ ฉัตร คำแสง, “นโยบายแก้หนี้ ความประสงค์ดีที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย,” 101 Public Policy Think Tank, 12 เมษายน 2023, https://101pub.org/household-debt-policy/ (เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2024).
14 ดูเพิ่มเติม: กษิดิ์เดช คำพุช และ ณภัทร ดลภาวิจิต, “ดิจิทัลแบบใด? แกะไส้ในงบประมาณตามแผนดิจิทัล,” 101 Public Policy Think Tank, 24 เมษายน 2024, https://101pub.org/digital-plans-budgetary/ (เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2024).
15 ดูเพิ่มเติม: ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์, “นโยบาย Upskill เติมทักษะใหม่ อุดหนุนแค่ค่าเรียนได้ผลหรือไม่,” 101 Public Policy Think Tank, 13 มีนาคม 2023, https://101pub.org/incomprehensive-upskill-policies/ (เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2024); วรดร เลิศรัตน์, “ตกงานต้องไม่ตกอับ: ยกระดับ ‘เงินประกันการว่างงาน’ สร้างชีวิตมั่นคงในโลกผันผวน,” 101 Public Policy Think Tank, 10 เมษายน 2023, https://101pub.org/unemployment-insurance-reform/ (เข้าถึงเมื่อ 20 มิถุนายน 2024).

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

งบประมาณยิ่งถูกล็อค รัฐบาลยิ่งส่งมอบนโยบายยาก

ระหว่างที่งบปี 67 กำลังถูกพิจารณา 101 PUB ชวนสำรวจ “ความไม่ยืดหยุ่นของงบปี 67” อันเป็นอุปสรรคสำคัญที่ไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้งก็ต้องเผชิญ

รัฐราชการขยายใหญ่ เบียดพื้นที่การคลัง ยังด้อยประสิทธิภาพ

101 PUB เสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐราชการไทย ด้านกำลังคนภาครัฐและรายจ่ายบุคลากร เพื่อตั้งหลักว่าการปฏิรูประบบราชการควรมีทิศทางแบบใด

ส่องงบลงทุน 434,400 ล้านบาท ปี 2566: ลงทุนอะไรบ้าง? ตอบโจทย์ความท้าทายของไทยหรือไม่?

101 PUB พาสำรวจงบลงทุนในปีงบประมาณ 2566 ว่ารัฐบาลตั้งงบลงทุนตามยุทธศาสตร์อย่างไรและแท้จริงแล้ว งบลงทุนเหล่านี้จัดหาสินทรัพย์อะไร นำไปสู่บริการสาธารณะ หรือศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.