เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2023 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เปลี่ยนเกณฑ์การจ่าย ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ (เงินคนแก่) จาก ‘ระบบถ้วนหน้า’ ซึ่งจ่ายให้ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคน เป็น ‘ระบบมุ่งเป้า’ ซึ่งให้เฉพาะผู้มีรายได้ไม่เพียงพอ[1]ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 [2023], 7 กรกฎาคม 2023, ข้อ 6. ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยชราอาจไม่มีสิทธิรับเงินก้อนนี้อีกต่อไป กลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงในสังคมถึง ‘ความเหมาะสม’ ในการตัดสวัสดิการบำนาญดังกล่าว
บรรดารัฐมนตรีและข้าราชการต่างดาหน้าออกมายืนยันความเหมาะสมของนโยบาย บ้างก็ว่าเพื่อลดงบประมาณและรักษาความยั่งยืนทางการคลัง[2]ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย, “เมื่อเบี้ยผู้สูงอายุเป็นสวัสดิการ (ไม่ถ้วนหน้า) พร้อมบทพิสูจน์ความจนในวัยเกษียณ,” ไทยรัฐออนไลน์, 15 สิงหาคม 2023, … Continue reading บ้างก็ว่าเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐจ่ายเงินสงเคราะห์เฉพาะคนยากไร้-อนาถา[3]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 [2017], ม. 48 วรรค 2; “”กฤษฎีกา” วอนอย่าตีประเด็น “เบี้ยผู้สูงอายุ” เหตุการเมืองประเทศวุ่นพอแล้ว,” PPTV HD 36, 15 … Continue reading
อย่างไรก็ดี นอกจาก ‘ความเหมาะสมเชิงเทคนิค’ ทางการเงิน-กฎหมายที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างแล้ว การคิดเรื่องบำนาญยังจำเป็นต้องคำนึงถึง ‘ความเหมาะสมเชิงคุณค่า’ อย่างน้อยที่สุด ต้องรักษาหลักการว่า หลักประกันรายได้ยามชราเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ ของมนุษย์ทุกคน
เพื่อช่วยย้ำเตือนกันในสังคมและส่งเสียงไปยังรัฐบาลใหม่ 101 PUB ชวนทบทวนเหตุผลเชิงคุณค่าว่าทำไมบำนาญพึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน พร้อมสำรวจความหลากหลายในการตีความคุณค่าและแปลงสิทธินี้ไปสู่การจัดสวัสดิการในทางปฏิบัติ – ซึ่งเป็นไปได้ทั้งระบบถ้วนหน้าและมุ่งเป้า – และประเมินความเหมาะสมเชิงคุณค่าของการเปลี่ยนเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุโดยสังเขป
‘บำนาญทำให้คนเป็นคน’ เติมเต็มสิทธิในชีวิตที่ดี-เสรีภาพ-ความเป็นธรรม[4]ประยุกต์กรอบแนวคิดจาก: James W. Nickel, “Moral Grounds for Economic and Social Rights,” Malcolm Langford and Katharine Young (eds.), The Oxford Handbook of Economic and Social Rights (Oxford University Press, 2023), https://doi.org/10.1093/oxfordhb/9780197550021.013.83 (เข้าถึงเมื่อ 30 สิงหาคม 2023); Beth … Continue reading
บำนาญควรถูกมองเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ ของมนุษย์ทุกคน หลักประกันรายได้ยามชราเช่นนี้ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อ ‘สิทธิการอยู่รอด กินอิ่ม นอนหลับ และใช้ชีวิตอย่างผาสุก’ ของคนวัยเกษียณ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่ง ไม่ควรมีใครถูกคาดหวังให้ต้องพึ่งพารายได้จากการทำงานเพื่อยังชีพอีก เพราะส่วนใหญ่จะค่อยๆ ทำงานมีประสิทธิภาพลดลง-ได้ค่าจ้างต่ำลง ซ้ำร้าย การฝืนสังขารทำงานอาจบ่อนทำลายสุขภาพในระยะยาว ทั้งยังลิดรอน ‘สิทธิพักผ่อน’ ในช่วงบั้นปลายหลังตรากตรำเหนื่อยยากมาหลายสิบปี
คนแก่ไม่เหมือนคนหนุ่มสาวที่ตกงานก็หางานใหม่ หาช่องทางกันไป ร่างกายผู้สูงอายุไม่เอื้อให้ทำงานที่จะมีรายได้เพียงพอเลี้ยงตัวเองได้ ปัญหาที่เราเจอมากคือคนแก่ต้องอดมื้อกินมื้อ ซึ่งการอดอาหารนี้เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพอีกหลายเรื่องมาก สำหรับผู้สูงอายุหลายคน [เบี้ยผู้สูงอายุ]ถือเป็นรายได้ของเขา ถึงจะไม่มาก อาจเป็นแค่ไม่ถึง 10% ของค่าใช้จ่าย แต่ก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งตารอมากในแต่ละเดือน สิ่งแรกๆ ที่เขานำไปใช้เลยก็คือซื้ออาหาร ซื้อของกิน อย่างน้อยก็ทำให้วันนั้นเป็นวันที่มีกิน
สุรเดช เจตกรุณา ผู้อำนวยการมูลนิธิสายธารสุขใจ
บำนาญยังมีบทบาทคุ้มครองและส่งเสริม ‘เสรีภาพ’ ของผู้สูงอายุในการคิด แสดงออก และกระทำสิ่งต่างๆ เนื่องจากการสร้างหลักประกันให้พวกเขากินดีอยู่ดี-มีรายได้เพียงพอ ย่อมเปิดโอกาสให้พวกเขาพัฒนาความคิดและใช้เสรีภาพของตนได้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องพึ่งพาและถูกจำกัดเสรีภาพอยู่ใต้อิทธิพลของผู้อื่น เช่นหากได้บำนาญเหมาะสม คุณป้าที่เป็นแม่บ้านมาตลอดชีวิตก็อาจมีอิสระที่จะหย่าขาดจากสามีซึ่งหมดรักกันแล้วมากขึ้น คุณตายากจนที่เคยต้องขอใช้รถนักการเมืองบ้านใหญ่พาคุณยายไปหาหมอ ก็อาจสามารถจ่ายค่ารถเอง และมีอิสระที่จะโต้แย้ง-ต่อต้านนักการเมืองกลุ่มนั้นยิ่งขึ้น
พวกเงินช่วยเหลือ เบี้ยยังชีพจำนวนมันน้อยมากนะเดือนละ 600 บาทซื้อแพมเพิส (ผู้ใหญ่) ก็หมดแล้ว แต่ถามว่ามันช่วยอะไร พี่ว่ามันเป็นเรื่องความรู้สึกนะ เพราะมันโอนตรงให้เค้า เค้าจะรู้สึกว่าก้อนนี้มันเป็นเงินของตัวเอง บางคนก็ชอบเอาไปให้ลูกหลานบ้าง ถึงมันจะน้อยแต่สำคัญกับเค้า ถามพี่พี่ว่ามันเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนควรจะได้
พยาบาลวิชาชีพประจำ รพ.สต. แห่งหนึ่งในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ
[เบี้ยผู้สูงอายุ]ส่วนหนึ่งก็ได้ซื้อของไปวัด พวกกับข้าว ไก่ย่าง เอาไปทำบุญบ้างทีละ 100 บาท หรือช่วงไหนมีบุญประจำปี บุญมหาชาติ ก็จะมีคนมาเรี่ยไรตามบ้านก็ได้ทำบุญไปเล็กๆ น้อยๆ ทำบุญแล้วมันก็ดี มันสบายใจ เพราะเราเคยทำมาตั้งแต่เด็ก ไปกับพ่อกับแม่ ถ้าไม่ได้ทำมันก็เหมือนจะขาดอะไรไปซักอย่าง อีกอย่างไปทำบุญที่วัดก็เหมือนไปเจอเพื่อนตามประสาคนแก่นั่นล่ะ
บุญมา อายุ 83 ปี จังหวัดอุดรธานี
ท้ายที่สุด การมองบำนาญเป็นสิทธิของทุกคนจะลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้าง ‘ความเป็นธรรม’ ในสังคม เอื้อให้ผู้สูงอายุทุกชนชั้น ชาติพันธุ์ เพศ สถานะครอบครัว ถิ่นอาศัย อาชีพ ฯลฯ เข้าถึงสิทธิในชีวิตที่ดีและเสรีภาพพื้นฐานอย่างเสมอภาค-ทั่วถึง ถือเป็นการแก้ไขความอยุติธรรมหรือบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง ที่เราแต่ละคนต้องแบกรับแม้ ‘ไม่ได้เลือกเอง’
นอกจากผลต่อผู้สูงอายุแล้ว สิทธิบำนาญยังยกระดับสิทธิในชีวิต-ความเป็นอยู่ที่ดี เสรีภาพ และความเป็นธรรมในหมู่ ‘คนวัยอื่นทั้งสังคม’ ลองนึกตามว่า ถ้าญาติผู้ใหญ่ของเราและตัวเราในอนาคตมีหลักประกันรายได้ยามชราที่มั่นคง เราก็อาจใช้จ่ายรายได้ในปัจจุบันให้ตนเองกินอิ่ม-นอนหลับ รวมถึงคิดฝันและเติมเต็มฝันนั้นอย่างเสรีมากขึ้น โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังและเหลื่อมล้ำกับคนอื่นจนเกินไป
จนตอนนี้ที่ฉันถึงวัยทำงาน […] ฉันกลายเป็นแค่หนึ่งในฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนองค์กรที่หากฉันตายไปก็แค่หาคนใหม่มาทดแทน เป็นแค่ภาชนะใส่ความฝันของ ‘คนอื่น’ เป็นแค่ร่างเนื้อกลวงโบ๋ที่คิดเพียงว่าต้องทำงานหาเงิน แต่หาเงินเสร็จแล้วยังไงต่อ
magnitude99 อายุ 23 ปี กรุงเทพมหานคร[5]วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา, เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022, เล่มผนวกที่ 2 … Continue reading
อ๋อ ใช้หนี้ ใช้หนี้ ใช้หนี้
หนี้ที่ฉันไม่ได้ก่อ หนี้ที่ถูกล่ามโซ่คล้องขาไว้ด้วยคำว่า ‘กตัญญู’ หนี้ที่ถ้าหากฉันตายไปคนในครอบครัวก็คงขาดที่พึ่ง ในขณะที่ตัวฉันมีสิ่งที่อยากทำมากมาย กลับต้องถูกพับเก็บไปก่อนเพราะความจำเป็นอย่างอื่นที่สำคัญกว่า
กล่าวได้ว่า บำนาญเป็นเงื่อนไขในการเปลี่ยนสิทธิอันล่วงละเมิดมิได้ของมนุษย์ อย่างสิทธิในชีวิตที่ดี เสรีภาพ และความเป็นธรรม จากข้อความบนแผ่นกระดาษ ให้กลายเป็นสิทธิที่ทุกคนเข้าถึงได้จริง – ‘ทำให้คนเป็นคน’ – ฉะนั้น บำนาญจึงควรถูกนิยามเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐานอันล่วงละเมิดมิได้’ เช่นเดียวกัน โดยนัยนี้ รัฐย่อมมีหน้าที่คุ้มครอง ‘สิทธิบำนาญ’ (right to pension) ของประชาชน คือให้ทุกคนเข้าถึงบำนาญได้อย่างถ้วนทั่ว เพียงพอ และมั่นคง
บำนาญหลากพื้นฐานคุณค่า หลายหน้าตา
แม้สิทธิบำนาญจะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่สิทธินี้ก็สามารถถูกตีความและแปลงไปสู่การจัดสวัสดิการได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นว่ารัฐบาลต้องเป็นผู้จ่ายเงินบำนาญให้ผู้สูงอายุทุกคนเสมอไป ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์และระบอบเศรษฐกิจการเมืองและสวัสดิการในแต่ละสังคม ตลอดจนบริบทและความท้าทายเฉพาะของสังคมนั้น ตัวอย่างเช่น ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ ลักษณะตลาดแรงงาน โครงสร้างประชากร-ครอบครัว การย้ายถิ่น ความเป็นเมือง วัฒนธรรม เทคโนโลยี และแน่นอนว่ารวมถึงสถานะการคลังด้วย
หนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่โลกเถียงกันไม่จบสิ้นคือ รัฐควรจ่ายบำนาญแบบถ้วนหน้าให้ประชาชนทุกคน หรือแบบมุ่งเป้าให้เฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน
สำหรับแบบถ้วนหน้า หนึ่งในชุดอุดมการณ์รองรับที่สำคัญ ได้แก่ สังคมประชาธิปไตย อุดมการณ์นี้มองสิทธิบำนาญ สิทธิในชีวิตที่ดี และเสรีภาพในโลกจริง เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ความเป็นพลเมือง’ รัฐจึงมีหน้าที่จัดการให้ ‘พลเมืองทุกคน’ ได้รับบำนาญอย่างเพียงพอ-เหมาะสม ลดการแบ่งแยก-ความแตกต่างด้านสิทธิบำนาญระหว่างพลเมืองแต่ละกลุ่ม (de-stratification) และไม่ปล่อยให้บำนาญถูกทำเป็นสินค้า (decommodification) ซึ่งพลเมืองต้องซื้อหาเองตามยถากรรม ความเป็นธรรมในแนวคิดนี้จึงเน้นความเสมอภาคในมิติสิทธิข้างต้นระหว่างพลเมือง โดยไม่ขึ้นอยู่กับกลุ่มและฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละคน
สำหรับแบบมุ่งเป้า หนึ่งในอุดมการณ์รองรับที่สำคัญคือ เสรีนิยมใหม่ ซึ่งมองปัจเจกบุคคลเป็น ‘สมาชิกตลาดที่ควรรับผิดชอบตัวเอง’ อุดมการณ์นี้ก็ยอมรับสิทธิในชีวิต-ความเป็นอยู่ที่ดี แต่เน้นความสำคัญในฐานะเงื่อนไขในการเป็นสมาชิกตลาดที่มีค่า (มีปัญญาซื้อของ-ลงทุน-ทำงาน) อีกทั้งยังเห็นว่า ปัจเจกสามารถนิยามความสุข-เป้าหมายชีวิตต่างกัน และให้ความสำคัญกับเสรีภาพการเลือกในตลาดและเสรีภาพจากการควบคุมของรัฐเป็นพิเศษ
ภายใต้แนวคิดข้างต้นทั้งหมด เสรีนิยมใหม่เห็นว่า รัฐบาลไม่ควรทำตัวเป็น ‘คุณแม่รู้ดี’ จ่ายบำนาญจัดเต็มให้ทุกคนเหมือนๆ กัน แต่แค่อำนวยความสะดวกให้ปัจเจก ‘เลือกซื้อบำนาญของตนจากตลาด’ แล้วจัด ‘บำนาญขั้นต่ำสุด’ (residual) ให้กับผู้ที่พิสูจน์แล้วว่าจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ (means-tested) แม้รัฐจะไม่ได้จัดบำนาญให้ผู้สูงอายุทุกคนเอง แต่หากนับรวมทั้งผู้ที่พึ่งพาบำนาญของตนกับของรัฐแล้ว ก็คาดหมายว่าทุกคนจะเข้าถึงบำนาญได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่งผลให้พวกเขายังคงเป็นสมาชิกที่มีค่าของตลาดต่อไป เท่ากับว่า ความเป็นธรรมในที่นี้เน้นความเท่าเทียมในมิติเสรีภาพการเลือกในตลาด และความช่วยเหลือของรัฐต่อผู้ไม่สามารถพึ่งพาตนเอง
อุดมการณ์ทั้งสองชุดดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่ง การจ่ายบำนาญแต่ละแบบยังอาจยึดโยงกับอุดมการณ์และชุดความคิดอื่นอีกหลากหลาย (มากเกินกว่าที่จะหยิบมาเล่าจบได้ในบทความสั้นชิ้นนี้) หลายครั้ง การเลือกนำระบบใดระบบหนึ่งไปใช้ก็มิได้มีเหตุผลเชิงอุดมการณ์เป็นหลัก แต่มุ่งตอบสนองบริบทและความท้าทายเฉพาะของสังคม
นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของไทยนับเป็นตัวอย่างที่ดี แม้รัฐไทยจะมีอุดมการณ์สวัสดิการแบบมุ่งสนับสนุนการผลิต/สังคมสงเคราะห์ แต่ก็เลือกจ่ายเบี้ยแบบถ้วนหน้ามากว่า 14 ปี ส่วนหนึ่งเพราะเหมาะกับสภาพปัญหาที่มีผู้สูงวัยยากจนจำนวนมาก ขณะที่การจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่นอกระบบเป็นสัดส่วนสูง รัฐบาลจึงมีข้อมูลรายได้-ทรัพย์สินของประชาชนจำกัด ไม่สามารถจ่ายแบบมุ่งเป้าให้ครอบคลุมได้ บัดนี้ ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย รัฐบาลก็ปรับไปสู่การจ่ายแบบมุ่งเป้า ด้วยหวังจะจำกัดภาระงบประมาณที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุ เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว
ถึงกระนั้น ไม่ว่ารัฐบาลหนึ่งๆ จะเลือกจ่ายบำนาญแบบไหน ด้วยเหตุผลเชิงอุดมการณ์ใด หรือมุ่งตอบสนองบริบทและความท้าทายใด ก็จะต้องคำนึงถึงและไม่ละเมิดหลักการพื้นฐานว่า สิทธิบำนาญเป็นสิทธิอันล่วงละเมิดมิได้ของมนุษย์ทุกคนเสมอ
การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแบบ ‘มั่วเป้า-ตกหล่น’ ละเมิดสิทธิพื้นฐานเราทุกคน
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว รัฐบาลได้ให้เหตุผลทางการในการปรับเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุสู่ ‘ระบบมุ่งเป้าเฉพาะคนยากไร้’ เป็นเรื่องความเหมาะสมเชิงเทคนิคการเงิน-กฎหมาย ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องบางส่วนได้ออกมาให้เหตุผลแบบไม่ทางการ เป็นเรื่อง ‘ความเหมาะสม-เป็นธรรม’ ผ่านคุณค่าแบบ ‘เสรีนิยมใหม่และสังคมสงเคราะห์’ ทำนองว่าคนที่ไม่ลำบาก-พึ่งพาตนเองได้อย่าง “พล.อ.อนุพงษ์-เจ้าสัวเซ็นทรัล-คุณหญิงสุดารัตน์” ไม่ควรมีสิทธิรับเงินก้อนนี้[6]“ดราม่าเบี้ยผู้สูงอายุ! “ธนกร” ถามดังๆ ถ้า “คุณหญิงสุดารัตน์” ได้ด้วยยุติธรรมไหม!?,” สยามรัฐ, 15 สิงหาคม 2023, https://siamrath.co.th/n/469823 (เข้าถึงเมื่อ 30 … Continue reading
#เบี้ยผู้สูงอายุ คนเก่าได้เหมือนเดิม เกณฑ์ใหม่ คนรวยไม่ได้ […] ตามนี้ครับ อย่าพยายามบิดเบือนครับ ยกตัวอย่างเช่น เจ้าสัวสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ เจ้าของห้างเซ็นทรัลได้เบี้ยสูงอายุด้วยมันยุติธรรมมั้ย? หรือคุณหญิงสุดารัตน์ได้ด้วยยุติธรรมมั้ย? ช่วยตอบหน่อยครับ
ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี งานศึกษาของ 101 PUB พบว่า การปรับการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุมิได้ตัดสิทธิเฉพาะชนชั้นนำอย่างสามท่านนี้เท่านั้น แต่ด้วยระบบคัดกรองในปัจจุบันที่ใช้อนุมัติบัตรคนจน ผู้สูงอายุยากจน (รายได้ต่ำกว่า 33,634 บาท/คน/ปี) มากถึง 35.8% จะตกหล่น ไม่ได้รับเบี้ยอีกต่อไป ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินเส้นความยากจนจำนวนไม่น้อย น่าจะผ่านการคัดกรองให้มีสิทธิได้รับเบี้ยอย่างผิดฝาผิดตัว[7]ฉัตร คำแสง, “ถ้วนหน้า vs คัดกรอง: มุมมองทางการคลังต่อการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ,” 101 Public Policy Think Tank, 18 สิงหาคม 2023, https://101pub.org/fiscal-view-old-age-allowance/ (เข้าถึงเมื่อ 30 … Continue reading แบบนี้จะเรียกว่าการจ่ายแบบมุ่งเป้าคงไม่ถูกนัก เรียกว่าแบบ ‘มั่วเป้า-ตกหล่น’ คงจะถูกกว่า
ดังนั้น ต่อให้พิจารณาผ่านกรอบอุดมการณ์และคุณค่าแบบเสรีนิยมใหม่หรือสังคมสงเคราะห์ การปรับการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุข้างต้นก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างร้ายแรง เพราะจะยิ่งบั่นทอนสิทธิในชีวิต-ความเป็นอยู่ที่ดี และเสรีภาพของผู้สูงอายุยากจนกว่า 1 ใน 3 รวมถึงครอบครัวของพวกเขา อีกทั้งยังไม่เป็นธรรมดังที่กล่าวอ้าง ผู้สูงอายุที่มีฐานะใกล้เคียงกันบางคนไม่ได้ แต่บางคนได้ และกลุ่มที่มีฐานะดีกว่า-พึ่งพาตนเองได้มากกว่าหลายคนกลับได้เสียด้วย
ส่งท้าย
ในสถานการณ์ที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย บำนาญจะกลายเป็นสิทธิ-สวัสดิการที่สำคัญจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะเผชิญอุปสรรคในการจัดสวัสดิการให้เพียงพอ เหมาะสม และยั่งยืนมากขึ้นด้วย เมื่อประกอบกัน บำนาญจะเป็นประเด็นนโยบายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาขบคิด ถกเถียง และเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยไปในอนาคตอันใกล้
บทสนทนาเรื่องบำนาญจะวนเวียนอยู่แต่กับเรื่องทางเทคนิค เช่น การประหยัดงบประมาณ แล้วละเลยความเหมาะสม-สำคัญ-จำเป็นเชิงคุณค่าไปไม่ได้ บทสนทนานี้จึงเป็นบทสนทนาทางการเมือง ซึ่งเราทุกคนต้องมีส่วนแลกเปลี่ยน และแสวงหาฉันทมติร่วมกัน
ท่ามกลางบทสนทนานี้ เราควรตระหนักและย้ำเตือนกันอยู่เสมอว่า สิทธิบำนาญเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทำให้คนเป็นคน ด้วยเป็นเงื่อนไขในการเติมเต็มสิทธิในชีวิต-ความเป็นอยู่ที่ดี เสรีภาพ และความเป็นธรรม ของทั้งผู้สูงอายุและทุกคนในสังคม
หากสังคมไทยสามารถวางหลักการดังกล่าวเป็นบรรทัดฐานที่เข้มแข็ง วันข้างหน้าเราคงได้เห็นการปฏิรูประบบบำนาญอย่างเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน ไม่ทำลายความยั่งยืนของมนุษย์และสังคม เพื่อแลกมาซึ่งความยั่งยืนทางการคลัง เฉกเช่นนโยบายปรับการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุสู่แบบมั่วเป้า-ตกหล่นอีกต่อไป
↑1 | ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 [2023], 7 กรกฎาคม 2023, ข้อ 6. |
---|---|
↑2 | ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย, “เมื่อเบี้ยผู้สูงอายุเป็นสวัสดิการ (ไม่ถ้วนหน้า) พร้อมบทพิสูจน์ความจนในวัยเกษียณ,” ไทยรัฐออนไลน์, 15 สิงหาคม 2023, https://plus.thairath.co.th/topic/speak/103596 (เข้าถึงเมื่อ 30 สิงหาคม 2023). |
↑3 | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 [2017], ม. 48 วรรค 2; “”กฤษฎีกา” วอนอย่าตีประเด็น “เบี้ยผู้สูงอายุ” เหตุการเมืองประเทศวุ่นพอแล้ว,” PPTV HD 36, 15 สิงหาคม 2023, https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/203320 (เข้าถึงเมื่อ 30 สิงหาคม 2023). |
↑4 | ประยุกต์กรอบแนวคิดจาก: James W. Nickel, “Moral Grounds for Economic and Social Rights,” Malcolm Langford and Katharine Young (eds.), The Oxford Handbook of Economic and Social Rights (Oxford University Press, 2023), https://doi.org/10.1093/oxfordhb/9780197550021.013.83 (เข้าถึงเมื่อ 30 สิงหาคม 2023); Beth Goldblatt, “The Right to Social Security,” Malcolm Langford and Katharine Young (eds.), The Oxford Handbook of Economic and Social Rights (Oxford University Press, 2023), https://doi.org/10.1093/oxfordhb/9780197550021.013.10 (เข้าถึงเมื่อ 30 สิงหาคม 2023). |
↑5 | วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา, เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022, เล่มผนวกที่ 2 สามความฝันของเด็กและเยาวชนไทย (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์), 2022), 9-10. |
↑6 | “ดราม่าเบี้ยผู้สูงอายุ! “ธนกร” ถามดังๆ ถ้า “คุณหญิงสุดารัตน์” ได้ด้วยยุติธรรมไหม!?,” สยามรัฐ, 15 สิงหาคม 2023, https://siamrath.co.th/n/469823 (เข้าถึงเมื่อ 30 สิงหาคม 2023). |
↑7 | ฉัตร คำแสง, “ถ้วนหน้า vs คัดกรอง: มุมมองทางการคลังต่อการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ,” 101 Public Policy Think Tank, 18 สิงหาคม 2023, https://101pub.org/fiscal-view-old-age-allowance/ (เข้าถึงเมื่อ 30 สิงหาคม 2023). |