นโยบาย Upskill เติมทักษะใหม่ อุดหนุนแค่ค่าเรียนได้ผลหรือไม่

ประเด็นสำคัญ

  • แรงงาน 1 ใน 3 กำลังเสี่ยงตกงานจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก แต่มีแรงงานเพียง 3-12% เท่านั้นที่อัพสกิลในแต่ละปี
     

  • นโยบายอุดหนุนเงินค่าเรียนอย่างคูปองฝึกทักษะมักถูกนำเสนอเพื่อส่งเสริมการอัพสกิล แต่เติมเต็มความต้องการ Upskill ได้แค่ 1 ใน 4 ของแรงงานทั้งหมด ไม่สามารถช่วยแรงงานส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีเวลาเพราะต้องทำงานหนักเกินเวลาที่เหมาะสม ติดหล่มในเศรษฐกิจเก่าที่มีผลิตภาพต่ำ และบางกลุ่มฝึกทักษะในงานที่กำลังจะหายไปในอนาคต เช่น งานบัญชีเพราะขาดข้อมูล
     

  • นโยบายอัพสกิลที่ได้ผลนอกจากต้องแก้ปัญหาไม่ให้ติดหล่มอยู่ในเศรษฐกิจผลิตภาพต่ำแบบเดิม ยังจะต้องส่งเสริมให้ได้อัพสกิลอย่างเต็มศักยภาพ โดย 1. เติมเงินอุดหนุนค่าเรียนโดยแจกคูปองให้ใช้เลือกฝึกทักษะได้ตามความต้องการ 2. เติมเวลาเรียนรู้-ลดเวลางาน ให้เงินชดเชยค่าเสียเวลางานระหว่างฝึก และ 3. เติมข้อมูลความต้องการงานและทักษะในอนาคต ช่วยให้ฝึกทักษะได้ถูกต้อง

นโยบายอัปสกิลเติมทักษะแรงงานเป็นส่วนสำคัญของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์มีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ทดแทนการทำงานของคน ทำให้ทักษะเก่าบางประการหมดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

หากไม่มีการอัปสกิลเติมทักษะใหม่มากพอ การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่มีผลิตภาพสูงขึ้นก็จะเผชิญกับอุปสรรคการขาดแคลนทักษะและความเหลื่อมล้ำก็จะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการที่คนงานบางกลุ่มจะตกงานหรือมีรายได้ลดลง แต่กลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหรืออยู่ในงานที่ยังถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีไม่ได้จะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาล พรรคการเมืองและนักวิชาการได้นำเสนอนโยบายอัปสกิลเพื่อรับมือกับความท้าทายข้างต้นโดยเน้นการอุดหนุนค่าเรียนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การฝึกทักษะสร้างสรรค์ฟรีในสถาบันอาชีวะ การแจกคูปองหรือเงินอุดหนุนฝึกทักษะให้คนไปเลือกหลักสูตรและสถาบันตามความต้องการ หรือการสนับสนุนโครงการฝึกทักษะเฉพาะกลุ่มอย่างกลุ่มผู้สูงวัย

แต่การอุดหนุนแค่ค่าเรียนนี้ตอบโจทย์การอัปสกิลได้ครบและตรงจุดหรือไม่ ช่วยให้แรงงานไทยได้มากน้อยแค่ไหน หรือยังมีองค์ประกอบสำคัญอะไรที่ขาดหายไปในการถกเถียงนโยบายอัปสกิล? วันนี้ 101 PUB จะพาไปสำรวจสถานการณ์การอัปสกิลของแรงงานไทยพร้อมทั้งตอบคำถามดังกล่าว 

แรงงานไทยไม่ทันโลก-เสี่ยงตกงาน แต่ยัง Upskill ค่อนข้างน้อย

แรงงานไทยจำนวนมากกำลังเสี่ยงตกงานอันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้ง AI และหุ่นยนต์ที่เข้ามาทดแทนการทำงานของคนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่จะมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น หากไม่มีการปรับตัวใดๆ แรงงานไทยอย่างน้อย 1 ใน 3 และอาจมากถึงครึ่งหนึ่งเสี่ยงจะตกงานจากผลกระทบดังกล่าว[1]Lekfuangfu W. N. and Voraprapa Nakavachara (2020). Reshaping Thailand’s Labor Market Structure: The Unified Forces of Technology and Trade.
Leepipatpiboon, P., Thongsri, N. (2018). Industrial Robots and its Impact on Labor Market.

อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยยังอัปสกิลค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับความเสี่ยงตกงานในอนาคต จากภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่ามีแรงงานที่ได้อัพสกิลเฉลี่ยปีละ 3-12% เท่านั้น[2]คำนวณและรวบรวมจากสถิติแรงงานประจำปี 2017-2020 สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน และการสำรวจความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประ​ชากร 2017-2021 … Continue reading และที่น่ากังวลกว่านั้นคือ กลุ่มเสี่ยงตกงานสูงกลับมีโอกาสอัปสกิลน้อยกว่ากลุ่มอื่น อาทิ เสมียน พนักงานทำความสะอาด และผู้ประกอบชิ้นส่วนในโรงงานจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะมีลักษณะการทำงานเป็นแบบแผนซ้ำๆ ง่ายต่อการถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ แต่ผู้ประกอบอาชีพเสี่ยงตกงานสูงเหล่านี้แทบไม่ได้อัปสกิลโดยใน 100 คน มีเพียง 1.5 คนที่ได้อัพสกิล น้อยกว่ากลุ่มเสี่ยงตกงานปานกลางอย่างช่างเทคนิคและกลุ่มเสี่ยงต่ำอย่างผู้ประกอบวิชาชีพหมอ[3]คำนวณและรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประ​ชากร 2019 สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ Lekfuangfu W. N. and Voraprapa Nakavachara (2020)

จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นโจทย์ท้าทายว่าทำอย่างไรถึงจะช่วยอัปสกิลให้แก่แรงงานไทยปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจในอนาคตได้   

ภาพที่ 1

  นโยบายอุดหนุนค่าเรียนช่วยแรงงาน 1 ใน 4 เข้าถึงการ Upskill

นโยบายที่มักถูกเสนอเพื่อส่งเสริมการอัปสกิลแรงงานคือ การอุดหนุนเงินค่าเรียนด้วยวิธีการต่างๆ โดยคาดหวังว่าจะช่วยลดอุปสรรคด้านการเงินและจูงใจให้คนไปอัปสกิลมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง ข้อเสนอเหล่านี้ช่วยอัพสกิลแรงงานได้เพียงบางส่วน เพราะยังมีอุปสรรคหลักอื่นที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการอุดหนุนค่าเรียนเพียงอย่างเดียว

การอุดหนุนค่าเรียนน่าจะช่วยเติมเต็มความต้องการอัปสกิลให้แก่กลุ่มแรงงานที่สนใจฝึกทักษะอยู่แล้วและเพิ่มโอกาสการอัปสกิลแก่กลุ่มที่มีเงินไม่พอค่าเรียน การอุดหนุนลักษณะนี้น่าจะตอบโจทย์แรงงานไทยเพียง 1 ใน 4 ของกำลังแรงงานทั้งหมด เพราะมีร้อยละ 11 ของกำลังแรงงานที่ต้องการฝึกทักษะ ร้อยละ 4 ไม่สนใจเพราะไม่มีเงินค่าเรียน และร้อยละ 10 ไม่พบหลักสูตรที่สนใจ

ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นการอุดหนุนเป็นรูปแบบคูปองที่แรงงานสามารถใช้เลือกหลักสูตรและสถาบันได้ตามความต้องการ ในระยะยาวก็จะช่วยลดปัญหาการจัดหลักสูตรไม่ตรงความต้องการ เนื่องจากการอุดหนุนทางอุปสงค์ผ่านคูปองจะช่วยจูงใจให้เอกชนเปิดหลักสูตรเติมทักษะที่มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้มากกว่า

แรงงานที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเรียน จึงน่าจะมีโอกาสอัปสกิลมากขึ้นจากการสร้างหลักสูตรที่มีความหลากหลายจากคูปอง (ภาพที่ 2)


ภาพที่ 2


ในอีกทางหนึ่ง แรงงานส่วนใหญ่รายงานว่าตนมีอุปสรรคอื่นในการเติมทักษะ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการอุดหนุนเงินค่าเรียนเพียงอย่างเดียว โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานไม่มีเวลาพอสำหรับอัปสกิล ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 22 ไม่ต้องการฝึกทักษะด้วยเหตุผลอื่น เช่น ต้องการพักผ่อนหรืออยู่ในวัยชรา[4]คำนวณจากการสำรวจความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประ​ชากรปี 2021 สำนักงานสถิติแห่งชาติ

แรงงานส่วนใหญ่ติดหล่มในเศรษฐกิจเดิม ขาดเวลา-ขาดข้อมูล เติมทักษะใหม่ได้ไม่เต็ม

การที่แรงงานไทยขาดเวลาอัปสกิลน่าจะมีสาเหตุหลักจากการติดหล่มในเศรษฐกิจเก่าที่มีผลิตภาพต่ำ นั่นคือพวกเขายังต้องทำงานหนักแต่มีรายได้น้อย โดยครึ่งหนึ่งของผู้มีงานทำงานเกินเวลา (ทำงานเฉลี่ยราว 51 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1.8 หมื่นบาทต่อเดือน[5]คำนวณจากข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำของประ​ชากรปี 2021 สำนักงานสถิติแห่งชาติ หากต้องการจะเพิ่มทักษะ ก็จำเป็นต้องลดเวลางาน ทำให้ต้นทุนการอัปสกิลไม่ได้มีเฉพาะค่าเรียน แต่ยังมีต้นทุนค่าเสียเวลาจากรายได้บางส่วนที่จะหายไประหว่างการเติมทักษะ ซึ่งการสูญเสียรายได้นี้เป็นต้นทุนสำคัญสำหรับผู้มีรายได้น้อยและจำเป็นต้องใช้เวลาอัปสกิลค่อนข้างมาก เช่น การสำรวจของ World Economic Forum (WEF) (2018) พบว่าร้อยละ 38 ของแรงงานไทยจะต้องใช้เวลาอัปสกิลอย่างน้อยราว 3 เดือนจึงจะปรับตัวเข้าสู่งานในอนาคตได้[6]World Economic Forum (2018). The Future of Jobs Report. ซึ่งกว่าจะได้ผล แรงงานต้องลงทุนยอมสูญเสียรายได้ขนาดใหญ่

กับดักสำคัญอีกประการคือการขาดข้อมูลแนวโน้มงานและทักษะที่ต้องการในอนาคต แม้หน่วยงานรัฐบางแห่งอย่างกรมการจัดหางานหรือบริษัทเอกชนอย่างแพลตฟอร์มหางานจะให้บริการข้อมูลตำแหน่งงานว่าง แต่ยังไม่มีการเก็บและรายงานทักษะที่ต้องการสำหรับงานแต่ละประเภทอย่างเป็นระบบ ซ้ำร้ายกว่านั้นคือตำแหน่งงานว่างอาจเป็นอาชีพเสี่ยงที่จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีในอนาคต ทำให้แรงงานไม่สามารถวางแผนด้านอาชีพได้อย่างเหมาะสมและเลือกฝึกทักษะในงานที่กำลังจะหายไปในอนาคต 

ตัวอย่างหนึ่งคืออาชีพนักบัญชีและผู้ตรวจบัญชีที่มีโอกาสถึง 94% ที่จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ และในปัจจุบันก็มีบริษัทบางแห่งพัฒนาซอฟต์แวร์บัญชีที่ทำงานได้เองอย่างครบวงจรแล้ว[7]Frey, C. B., and Osborne, M. A. (2017). The future of employment: how susceptible are jobs to computerisation?
ณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ และกชกร ความเจริญ (2018). ปรับตัวรับโลกการทำงานร่วมกับ AI ในอนาคต
แต่กลับเป็นหลักสูตรยอดนิยมของเสมียน โดยมีถึงร้อยละ 36 ของผู้ฝึกทักษะเรียนหลักสูตรบัญชีและการเงิน[8]คำนวณจากข้อมูลการสำรวจความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประ​ชากรปี 2019 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ดูภาพที่ 3) ซึ่งแม้ว่าเว็บไซต์หางานต่างๆ ยังแสดงจำนวนตำแหน่งว่างงานในอาชีพบัญชีค่อนข้างมากในปัจจุบัน[9]สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยวินิทร เธียรวณิชพันธุ์ และ ฐิติรัตน์ สีหราช (2023) ได้รวบรวมข้อมูล Big data … Continue reading แต่ด้วยโอกาสถูกทดแทนสูงเช่นนี้ จึงน่าจะทำให้มีการฝึกทักษะด้านนี้มากกว่าที่ควรจะเป็น  

ภาพที่ 3

นอกจากนี้ ในโครงการฝึกทักษะของภาครัฐที่ผ่านมา แรงงานยังไม่สามารถเลือกผู้ให้บริการฝึกทักษะและหลักสูตรตามความต้องการ เลือกได้เฉพาะหลักสูตรที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานรัฐอย่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งไม่มีความหลากหลายและส่วนใหญ่ยังเป็นการฝึกทักษะในงานพื้นฐาน อาทิ การเดินสายไฟและเครื่องปรับอากาศในบ้าน การติดตั้งเครื่องรดน้ำ หรือการควบคุมรถยกสินค้า[10]กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (2021,2022) ผลการดำเนินงานพัฒนาฝีมือแรงงานปี 2021-2022 ไม่สามารถช่วยอัปสกิลให้ปรับตัวเข้ากับงานในอนาคตได้ 

นโยบาย Upskill ต้องเติมเงิน-เติมเวลา-เติมข้อมูล 

ข้อเสนอนโยบายอัปสกิลที่เน้นการอุดหนุนเงินค่าเรียนแต่ไม่ได้กล่าวถึงการลดข้อจำกัดด้านเวลาและข้อมูลมากนัก สะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้มีความเข้าใจสภาพปัญหาจริงของแรงงาน

101 PUB จึงเสนอว่าการออกแบบนโยบายอัปสกิลควรต้องยึดโจทย์และความต้องการของแรงงานเป็นศูนย์กลาง โดยต้องแก้ปัญหาไม่ให้ติดหล่มอยู่ในเศรษฐกิจผลิตภาพต่ำแบบเดิมและส่งเสริมให้ได้อัปสกิลอย่างเต็มศักยภาพ เป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ซึ่งน่าจะมีกลไกสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ 1. เติมเงินอุดหนุนค่าเรียน ช่วยกลุ่มมีเงินไม่พอและให้เลือกฝึกทักษะได้ตามความต้องการ 2. เติมเวลาฝึกทักษะใหม่โดยต้องมีมาตรการช่วยลดเวลางานโดยเฉพาะการทำงานในเศรษฐกิจเก่าผลิตภาพต่ำ และ 3. เติมข้อมูลแนวโน้มความต้องการทักษะในอนาคต ช่วยให้ตัดสินใจเลือกฝึกทักษะได้ถูกต้อง ไม่ลงทุนในทักษะซึ่งจะหมดประโยชน์ในอนาคต   

ตัวอย่างรูปธรรมของนโยบายอัปสกิลข้างต้นคือนโยบาย SkillsFuture ของประเทศสิงคโปร์ที่สนับสนุนการฝึกทักษะอนาคตของประชาชนมาตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งผู้สำเร็จการฝึกทักษะมีเงินเดือนดีขึ้นและมีโอกาสได้งานมากขึ้น[11]Ministry of Trade and Industry (MTI) (2018). Returns To Singapore Workforce Skills Qualifications (WSQ) Training: Does Training Raise Wages and Employability? นโยบาย SkillsFuture มีองค์ประกอบหลักดังนี้[12]ข้อมูลจาก www.skillsfuture.gov.sg (เข้าถึงวันที่ 6 เดือนมีนาคม 2023)

ภาพที่ 4
  • เติมเงินอุดหนุนค่าเรียน: แจกคูปองฝึกทักษะมูลค่า 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปนำไปใช้เลือกฝึกทักษะตามความต้องการ และต่อมาได้เพิ่มเงินอุดหนุนแก่กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยกลางคนวัย 40-60 ปีที่ต้องเผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมากในการปรับตัวเข้าสู่โลกเศรษฐกิจใหม่ เช่น การให้คูปองเพิ่มเติมอีก 500 ดอลลาร์ (Mid-Career Support) หรือการสนับสนุนค่าเรียน 70-90% ในหลักสูตรฝึกเพิ่มทักษะใหม่เพื่อเปลี่ยนไปสู่อาชีพใหม่ที่ได้รายได้ดีกว่าในอนาคต (Career conversion programs)
  • เติมเวลา: ให้เงินชดเชยค่าเสียเวลาระหว่างฝึก (Absentee Payroll) โดยนายจ้างจะได้รับเงิน 4.5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อชั่วโมง แต่รวมกันไม่เกิน 1 แสนดอลลาร์ต่อปี ชดเชยต้นทุนการหยุดงานของลูกจ้าง ช่วยให้ยินยอมปล่อยลูกจ้างไปฝึกทักษะมากขึ้น ส่วนผู้รับจ้างอิสระที่มีรายได้ต่ำจะได้รับเงินค่าครองชีพระหว่างฝึก (Training allowance) 6 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อชั่วโมง แต่ไม่เกิน 180 ชั่วโมงต่อปี และหากสำเร็จหลักสูตร ก็จะได้รับเงินเพิ่มเติมด้วย
  • เติมข้อมูล: จัดทำแพลตฟอร์มกลางที่เรียกว่า MyCaeersFuture ให้บริการจับคู่และข้อมูลในตลาดแรงงานอย่างครบวงจร โดยฝั่งผู้หางานสามารถสร้างประวัติการทำงานและระบุทักษะที่ตัวเองมีและฝั่งนายจ้างก็สามารถค้นหาผู้สมัครได้โดยกรอกข้อมูลตำแหน่งงานว่าง คุณสมบัติและทักษะที่ต้องการ ทำให้ผู้หางานทราบว่าอาชีพใดกำลังเป็นที่ต้องการและต้องพัฒนาทักษะด้านใดเพิ่มเติม และในแพลตฟอร์มนี้ ก็มีการให้ข้อมูลแนวโน้มของงานที่จะเกิดขึ้นและหายไปในอนาคตตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจสิงคโปร์ พร้อมทั้งมีบริการให้คำปรึกษาสำหรับการฝึกทักษะเพื่อเปลี่ยนอาชีพ ส่วนผู้ให้บริการฝึกทักษะก็สามารถใช้ข้อมูลต่างๆ จากแพลตฟอร์มนี้ในการวางแผนออกแบบหลักสูตรฝึกทักษะได้

ดังนั้น หากผู้กำหนดนโยบายและพรรคการเมืองต้องการอัปสกิลแรงงานไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่มีผลิตภาพสูงขึ้นและมีความเหลื่อมล้ำลดลง ก็จำเป็นต้องเข้าใจสภาพปัญหาจริงของแรงงานอย่างถ่องแท้ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยการอุดหนุนค่าเรียนอย่างเดียว แต่ต้องคิดแก้โจทย์การติดหล่มทำงานหนักในเศรษฐกิจเดิมและติดกับดักข้อมูลที่อาจนำไปสู่การฝึกทักษะเก่าด้วย  

References
1 Lekfuangfu W. N. and Voraprapa Nakavachara (2020). Reshaping Thailand’s Labor Market Structure: The Unified Forces of Technology and Trade.
Leepipatpiboon, P., Thongsri, N. (2018). Industrial Robots and its Impact on Labor Market.
2 คำนวณและรวบรวมจากสถิติแรงงานประจำปี 2017-2020 สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน และการสำรวจความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประ​ชากร 2017-2021 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
3 คำนวณและรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประ​ชากร 2019 สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ Lekfuangfu W. N. and Voraprapa Nakavachara (2020)
4 คำนวณจากการสำรวจความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประ​ชากรปี 2021 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
5 คำนวณจากข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำของประ​ชากรปี 2021 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
6 World Economic Forum (2018). The Future of Jobs Report.
7 Frey, C. B., and Osborne, M. A. (2017). The future of employment: how susceptible are jobs to computerisation?
ณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ และกชกร ความเจริญ (2018). ปรับตัวรับโลกการทำงานร่วมกับ AI ในอนาคต
8 คำนวณจากข้อมูลการสำรวจความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประ​ชากรปี 2019 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
9 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยวินิทร เธียรวณิชพันธุ์ และ ฐิติรัตน์ สีหราช (2023) ได้รวบรวมข้อมูล Big data ตำแหน่งงานบนเว็ปไซต์หางานต่างๆในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ซึ่งพบว่ามีตำแหน่งงานในกลุ่มอาชีพบัญชีและการเงินมากที่สุดโดยมีถึง 2.8 หมื่นตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 17.4 ของตำแหน่งทั้งหมด
10 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (2021,2022) ผลการดำเนินงานพัฒนาฝีมือแรงงานปี 2021-2022
11 Ministry of Trade and Industry (MTI) (2018). Returns To Singapore Workforce Skills Qualifications (WSQ) Training: Does Training Raise Wages and Employability?
12 ข้อมูลจาก www.skillsfuture.gov.sg (เข้าถึงวันที่ 6 เดือนมีนาคม 2023)

อินโฟกราฟฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง

101 PUB ชวนสำรวจพฤติกรรมการไปแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนไทย ผ่านผลสำรวจเยาวชน (Youth Survey 2022) และนโยบายสำหรับแหล่งเรียนรู้ควรปรับทิศทางไปอย่างไร

การยกเว้นภาษีของ BOI สร้างงานที่ดีได้แค่ไหน?

101 PUB ชวนดูทบทวนประสิทธิภาพของมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI โดยเฉพาะในฐานะของการสร้างงาน ว่าสร้างงานที่ดีได้มากน้อยเพียงใด

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย 'เงินอุดหนุนเกษตรกร' แบบเดิมๆ

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย ‘เงินอุดหนุนเกษตรกร’ แบบเดิมๆ

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย เข้าใจช่องโหว่ของนโยบายเงินอุดหนุนเกษตรกรในปัจจุบันที่ยิ่งทำก็เหมือนยิ่ง ‘ขุดหลุมฝังประเทศ’ พร้อมทั้งเสนอแนวทางเปลี่ยนสวัสดิการเติมรายได้ให้สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2022 101pub.org | All rights reserved.