ประเมินนโยบายเด่นพรรคการเมืองใหญ่ เตรียมไปเลือกตั้ง ’66 EP.3 พรรคเพื่อไทย + พรรคก้าวไกล

101 PUB

11 May 2023

ในการเลือกตั้งระดับชาติ 2566 พรรคการเมืองต่างหาเสียงด้วยนโยบายหลากหลาย ทุกพรรคต่างจูงใจและให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

แต่ละพรรคก็มีนโยบายเด่นที่เป็นจุดขายเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน ซึ่งมาจากอุดมการณ์ ฐานคิด และวิถีการดำเนินงานที่แตกต่างกัน บ้างก็แยกประเด็นเศรษฐกิจออกจากการเมือง บ้างก็มองว่าเป็นเนื้อเดียวกัน บ้างก็พยายามจัดการปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ในวันนี้ และบ้างก็พยายามวางฐานสู่การปรับปรุงในภาพใหญ่

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ 101 PUB ขอร่วมหยิบนโยบายเด่นของแต่ละพรรคการเมืองใหญ่มาประเมิน ดูว่านโยบายเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาหรือไม่ เหมาะสมบริบทประเทศไทยมากเพียงใด และวิธีการที่ใช้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพแล้วหรือยัง เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง โดยพิจารณาจากนโยบาย บนฐานคิดทางวิชาการ

พวกเราหยิบยก 2 นโยบายเด่นจากแต่ละพรรคมาวิเคราะห์ (ซึ่งอาจมีส่วนที่ทับซ้อนกับพรรคอื่นด้วย) และแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ตอน ตอนละ 2 พรรค:

โดยในวันนี้เป็นการนำเสนอการวิเคราะห์ตอนที่ 3 คือพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล

พรรคเพื่อไทย

‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ นโยบายกระตุ้นใหญ่ ที่จะไม่ได้ผลมากอย่างที่หวัง

พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบาย ‘ปั๊มหัวใจ’ กระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เฉพาะหน้า ด้วยการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้แก่ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ผูกกับบัตรประชาชนของแต่ละคน ผู้ได้รับเงินสามารถนำไปใช้จ่ายได้ในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามบัตรประชาชน ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยทั้งหมดนี้ทำบนระบบบล็อกเชน ซึ่งตั้งใจจะเขียนเงื่อนไขการใช้งานลงในตัวเงิน เช่น ระบุว่าสามารถซื้ออะไรได้บ้าง กำหนดแต้มต่อสำหรับการซื้อสินค้าจากรายย่อย และยังใช้ติดตามเส้นทางการเงินได้ด้วย

พรรคเพื่อไทยประเมินว่านโยบายดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท แต่ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ 2-3 เท่าของเงินที่ใช้ไป (เอกสารไม่เป็นทางการระบุว่ามากถึง 6 เท่า) เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นนี้ก็จะทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ซึ่งงบประมาณที่ใช้จริงต่ำกว่างบประมาณก้อนแรกที่อัดฉีดลงไป นอกจากนี้ จะยังได้ประโยชน์ในฐานะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมประชาชนสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต และนำประเทศเป็นศูนย์กลาง FinTech ด้วย

นโยบายดังกล่าวเป็นการประเมินผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในแง่ดีมากเกินไป งานศึกษาในอดีตพบว่ามาตรการเงินโอนของไทยมักจะมีตัวคูณทางการคลังเพียง 0.4 – 0.9 เท่า[1]ธิติ เกตุพิทยา, ชิดชนก อันโนนจารย์ และทศพล ต้องหุ้ย. 2015. แรงกระตุ้นของนโยบายการคลังปี 2558-2559. FAQ Issue … Continue reading หมายความว่าเศรษฐกิจไม่ได้โตขึ้นเท่ากับรายจ่ายทางการคลัง การให้ใช้เงินเป็นระยะเวลาสั้นเพียง 6 เดือนก็ยังทำให้การหมุนรอบของเงินยังไม่เต็มที่ ซึ่งปกติจะเห็นผลในระยะเวลา 1-2 ปี งานศึกษาระหว่างประเทศยังพบว่าปัจจัยแวดล้อมมีส่วนสำคัญต่อตัวคูณทางการคลังอย่างมาก การเป็นเศรษฐกิจเปิดที่มีอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวดังเช่นประเทศไทยทำให้เกิดการรั่วไหลของเงินออกไปต่างประเทศแทนที่จะหมุนในระบบเศรษฐกิจ และตัวคูณทางการคลังจะมีค่ามากเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจถดถอย[2]Nicoletta Batini, Luc Eyraud, Lorenzo Forni, Anke Weber. Fiscal Multipliers: Size, Determinants, and Use in Macroeconomic Projections. International Monetary Fund. นอกจากนี้ การกระตุ้นขนาดใหญ่ยังมักจะมีตัวคูณขนาดเล็กกว่าการให้เงินก้อนเล็ก[3]Paolo Surico, Michele Andreolli. Smaller economic stimulus payments could boost consumer spending more. 2021. VOXEU Column. และการกำหนดให้ผู้ได้รับเงินสามารถนำเงินไปใช้จ่ายคืนเงินกู้ก็จะลดรอบการหมุนในเศรษฐกิจลงด้วยเช่นกัน

101 PUB มองว่านโยบายเงินดิจิทัลจะสมบูรณ์ขึ้นได้อีก ถ้าพรรคเพื่อไทยอธิบายเงื่อนไขของการใช้เงินให้ครบถ้วน อาทิ การใช้จ่ายต้องอยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตรสำหรับกรณีทั่วไป แต่จะมีพื้นที่ห่างไกลที่อาจมีการปรับเปลี่ยน ที่ไม่ทราบว่าเป็นที่ใดบ้างและเปลี่ยนเป็นเท่าไหร่, การใช้จ่ายของผู้บริโภค (มือ 1) นั้นจะต้องทำในขอบเขตรัศมีที่กำหนด แต่เมื่อต้องการให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ ผู้ขายสินค้าหรือบริการ (มือ 2-3-4-…) จะต้องทำธุรกรรมในรัศมีดังกล่าวด้วยหรือไม่, เงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ขาย และการนำเงินดิจิทัลไปแลกเป็นเงินจริงเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังต้องการใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนในการทำเหรียญดิจิทัล ซึ่งยังก่อให้เกิดคำถามในทางเทคนิก เนื่องจากสามารถใช้ระบบการเงินดิจิทัลบนฐานเทคโนโลยีอื่นในการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ ด้วยประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และความคุ้นชินของประชาชนที่มากกว่า การพัฒนาบล็อกเชนเพื่อทำธุรกรรมยังอาจติดข้อกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ทำธุรกรรม จนอาจทำให้การดำเนินการล่าช้า จนยิ่งหมดความจำเป็นและประสิทธิภาพของการกระตุ้นเศรษฐกิจไป

‘ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท’ สอดคล้องค่าจ้างเพื่อชีวิต แต่ต้องไม่ปรับแบบก้าวกระโดดเกินไป

‘นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ภายในปี 2570’ เป็นนโยบายที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมากตั้งแต่ตอนที่ประกาศเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เว็บไซต์และเอกสารนโยบายของพรรคเพื่อไทยระบุว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น แล้วจึงแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน ตามกลไกเจรจา 3 ฝ่าย คือ รัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง โดยมีหลักการพิจารณาเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 3 ปัจจัย คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อ

แนวทางของพรรคเพื่อไทยแตกต่างจากพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลต้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทันทีเป็น 450 บาท/วัน แล้วหลังจากนั้นจะปรับอัตโนมัติทุกปีโดยใช้สูตรคำนวณจากค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะลดบทบาทของการเจรจาลง[4]พรรคก้าวไกล. ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท.

101 PUB เห็นว่าการปรับฐานค่าแรงขั้นต่ำถือเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากฐานค่าแรงขั้นต่ำเดิมมีปัญหาตั้งแต่นิยามที่ให้แรงงานดูแลตนเองได้เพียงคนเดียวตามมาตรฐานการครองชีพ ซึ่งในโลกความเป็นจริง แรงงานจะต้องดูแลครอบครัวด้วย นอกจากนี้การปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมาโดยทั่วไปไม่สามารถไล่ทันสภาพเศรษฐกิจจริง ค่าแรงขั้นต่ำจึงไม่อาจรักษามาตรฐานคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว (คลิกเพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม)

101 PUB เห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำจะต้องใช้ฐานคิดอื่นมาร่วมพิจารณา เช่น ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ ที่ทำให้แรงงานเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีตามมาตรฐานสังคม เมื่อคำนวณด้วยข้อมูลการใช้จ่ายรายครัวเรือนของไทย พบว่าค่าจ้างเพื่อชีวิตเพื่อเลี้ยงดูตนเอง คู่สมรสและลูก 1 คนมีค่า 563 บาท/วัน ในกรณีที่เลี้ยงดูตนเอง คู่สมรสและลูก 2 คนมีค่า 686 บาท/วัน ดังนั้น ตัวเลขข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยจึงค่อนข้างสอดคล้องกับมาตรฐานการครองชีพที่ควรจะเป็นจริง

แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากเดิมค่อนข้างมาก แต่เศรษฐกิจโดยเฉลี่ยของไทยยังสามารถรับอัตราดังกล่าวได้ เนื่องจากยังมีค่าน้อยกว่าผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร (774 บาท/วัน) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นหลัก (ผลิตภาพแรงงานนี้คำนวณเฉพาะอัตราการสบทบของแรงงานต่อ GDP เท่านั้น ไม่ได้รวมผลจากทุน)

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยยังมีปัญหาในการดำเนินการจริง เพราะแนวทางการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามปัจจัยทางเศรษฐกิจก็เหมือนกับแนวทางการคำนวณที่ใช้อยู่เดิม หากดำเนินการตามที่ชี้แจงก็ไม่อาจยกระดับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นจากฐานค่าแรงเดิมที่ไล่ไม่ทันสภาพเศรษฐกิจมาก่อน และยังไม่ได้คำนึงถึงครอบครัวของแรงงาน

การใช้เสียงของรัฐเป็นตัวตัดสินในการเจรจาค่าแรงขั้นต่ำ ตามตัวเลขที่ตนประกาศ จึงเป็นแนวทางบรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมที่สุด อย่างไรก็ดี การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรทำอย่างก้าวกระโดด การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบันที่วันละ 328-354 บาทสู่ระดับ 600 บาท ในเวลา 5 ปี หมายความว่าจะต้องมีการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 50-55 บาท หรือราว 15% จากฐานเดิม ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพเติบโตได้ 3% (และอาจเพิ่มขึ้นได้เป็น 5% ตามที่หาเสียง) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 1-3% ความเร็วในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนี้สามารถสร้างปัญหาต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ จนอาจกลับมากระทบต่อผู้ใช้แรงงานเสียเองในท้ายที่สุด (ซึ่งสามารถใช้ตรรกะเดียวกันสำหรับแนวทางของพรรคก้าวไกลได้เช่นกัน)

พรรคก้าวไกล

‘หวยใบเสร็จ’ ประโยชน์ 3 เด้ง แต่อาจคิดเล็กไป

นโยบายหวยใบเสร็จของพรรคก้าวไกลเป็นการให้สิทธิ์แก่ผู้บริโภคนำใบเสร็จที่ซื้อสินค้าจาก SME สะสมรวมกันตั้งแต่ 500 บาทไปแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ จำกัดไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือนและไม่เกินจำนวน 10 ล้านคน/เดือน และให้สิทธิ์ผู้ประกอบการในโครงการได้สลากกินแบ่งรัฐบาล 1 ใบเมื่อมียอดขายสะสมรวมกัน 5 พันบาท[5]พรรคก้าวไกล. เพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี[6]ศิริกัญญา ตันสกุล. The Special คุยกับทีมเศรษฐกิจ ‘ก้าวไกล’ รายการฟังหูไว้หู (25 เม.ย. 66).  (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566)

นโยบายนี้น่าจะให้ประโยชน์ 3 เด้งที่ตอบโจทย์ปัญหาของเศรษฐกิจไทย

  1. เพิ่มแต้มต่อให้ SME โดยจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อของจาก SME แทนธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นการพยุงชีวิต SME หลายแห่งที่ฟื้นตัวได้ช้าจากวิกฤตโควิดและมีปัญหาการชำระหนี้[7]“สสว.เผยผลสำรวจ SME ไตรมาสแรก เอสเอ็มอีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ความสามารถชำระหนี้ลดลง,” ผู้จัดการออนไลน์, 2 พฤษภาคม 2566. (เข้าถึงเมื่อ 4 พฤษภาคม 2566)
  2. ดึง SME เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจูงใจให้ผู้บริโภคขอใบเสร็จจากร้านค้าซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง SME ที่อยู่ในและนอกระบบภาษี VAT
  3. สร้างฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริม SME เช่น การปล่อยเงินกู้แก่ SME ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยพิจารณาจากข้อมูลยอดขาย ซึ่งปัจจุบันทำไม่ได้เพราะขาดข้อมูล

เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมชอบลุ้นโชคของคนไทย นโยบายหวยใบเสร็จมีโอกาสประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะมีคนไทยราว 24.6 ล้านคนที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่เดิม[8]ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน. รายงานศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ประจำปี 2565. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566)  สูงกว่าตัวเลขเป้าหมายของนโยบาย อีกทั้ง การเปลี่ยนมาซื้อสินค้าจากร้านค้า SME ก็ไม่น่าจะเพิ่มภาระต้นทุนให้แก่ผู้บริโภคมากนัก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปยี่ห้อเดียวกัน ซึ่งร้านโชห่วยและร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ขายในราคาแทบไม่ต่างกัน

แม้ว่าการขอใบเสร็จจากร้านที่ปัจจุบันอยู่นอกระบบภาษี VAT จะก่อให้เกิดต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้น แต่การขอใบเสร็จแลกสลากก็ยังคุ้มค่าสำหรับผู้บริโภคที่ชอบลุ้นโชค ซึ่งน่าจะเป็นกรณีทั่วไปสำหรับการซื้อสินค้ากับร้านค้าขนาดเล็ก เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่ซื้อสินค้ากับร้านโชห่วยไม่เกิน 900 บาทต่อสัปดาห์[9]สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์. ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในช่วงเดือน ต.ค.64. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566) ถึงผู้ประกอบการจะโอนภาระภาษี VAT ทั้งหมดให้ผู้ซื้อ ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น 63 บาท ยังต่ำกว่าราคาสลาก

อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ก็มีข้อจำกัดบางประการที่อาจทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวัง  เช่น หากผู้บริโภคที่ชอบเล่นหวยส่วนใหญ่มียอดซื้อสินค้ารายเดือน 1 พันบาทกับร้านค้ารายเล็กอยู่แล้ว นโยบายก็จะไม่ได้เพิ่มกำลังซื้อให้ร้านเหล่านี้ตามที่คาดหวัง ผู้ซื้ออาจจะไม่ขอใบเสร็จเพิ่มหลังซื้อครบ 500 บาทและได้รับหวยใบเสร็จแล้ว ทำให้การเก็บภาษีและข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือร้านค้าหลายแห่งอาจไม่เข้าร่วมโครงการหากต้องรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นมาก แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะตระหนักถึงเรื่องนี้และออกนโยบายลดภาษีเงินได้แก่ SME ควบคู่กัน แต่ก็ต้องติดตามดูว่าเพียงพอจะจูงใจร้านค้าให้เข้าสู่ระบบภาษีได้หรือไม่

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ลดประสิทธิภาพของนโยบายนั้นมาจากข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเอง ที่จำกัดสิทธิ์การแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลไว้ที่ไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือน ทั้งที่การขยายสิทธิ์แลกสลากไม่น่าจะใช้งบประมาณเพิ่มมากนัก และที่จริงแล้วจะมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าหากรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นมากพอ ก็จะไม่จำเป็นต้องพึ่งงบประมาณก้อนเดิมแถมยังเป็นการสร้างรายได้เข้ารัฐด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือประเทศไต้หวันที่เปลี่ยนให้ใบเสร็จทุกใบเป็นหวยและนำเงินรายได้จากการเก็บภาษีได้มากขึ้นมาจ่ายเป็นเงินรางวัล[10]Hemels, Sigrid, and Marco Fabbri. “‘Do You Want a Receipt?’ Combating VAT and RST Evasion with Lottery Tickets”. Intertax: International Tax Review 41, no. 8 (January 2013): 430–443.

‘นโยบายสวัสดิการ’ รองรับอดีต แต่ไม่มุ่งเป้าสู่ ‘อนาคต’

นโยบายสวัสดิการเป็นจุดขายหนึ่งของพรรคก้าวไกลที่นำเสนอการสร้างระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครอบคลุมคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิด แรงงาน และผู้สูงอายุ ส่งผลให้งบประมาณที่ถูกตั้งไว้สำหรับนโยบายสวัสดิการทั้งหมดสูงถึง 6.5 แสนล้านบาทต่อปี

ในบรรดานโยบายสวัสดิการตลอดช่วงอายุ พรรคก้าวไกลจัดสรรงบประมาณให้กับบำนาญผู้สูงวัยมากที่สุด โดยเสนอให้ปรับเงินผู้สูงวัยจาก 600-1,000 บาท ขึ้นเป็น 3,000 บาท/คน/เดือน ในขณะที่เสนอเพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี จาก 600 บาท เป็น 1,200 บาท/คน/เดือน แต่ก็มีคูปองให้พ่อแม่เด็กเกิดใหม่ 3,000 บาท เพื่อนำไปแลกซื้อสิ่งของสำหรับพัฒนาการเด็ก

แนวสวัสดิการของพรรคก้าวไกลนี้ตั้งคำถามถึง ‘การจัดสรรทรัพยากรข้ามรุ่น’ เพราะจัดงบประมาณสำหรับสวัสดิการช่วงเกิด 50,000 ล้านบาท/ปี ในขณะที่จัดสวัสดิการสูงอายุ 500,000 ล้านบาท/ปี ต่างกันถึง 10 เท่า

เงินจำนวน 3,000 บาท/เดือนมักจะเป็นจุดตั้งต้นในการถกเถียงต่อรองเรื่องสวัสดิการ เพราะสอดคล้องกับเส้นความยากจน ที่ไม่อยากให้ใครต้องใช้ชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุนั้นมีโอกาสได้ทำงานมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเกือบครึ่งมีเงินออมหรือสินทรัพย์พอสำรับการเกษียณ และที่เหลือก็น่าจะพอมีเงินออม/สินทรัพย์ที่ร่วมใช้จ่ายในการดูแลตนเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องให้เงินเต็มจำนวนดังกล่าวก็ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่พ้นเส้นความยากจน

นอกจากนี้ เงินบำนาญผู้สูงวัยจะกลายเป็นภาระผูกพันก้อนใหญ่ในอนาคต เนื่องจากมีผู้เกษียณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปัจจุบันที่มีราว 11-12 ล้านคน อาจกลายเป็น 28 ล้านคนในเวลา 10 ปี[11]United Nations. World Population Prospect 2022. การเพิ่มเงินบำนาญผู้สูงวัยเป็น 3,000 บาท/เดือนที่จะใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาทในปี 2570 ก็สามารถทะลุ 1 ล้านล้านบาทต่อปีได้ในอนาคตอันใกล้ งบประมาณสำหรับเงินบำนาญผู้สูงวัยที่พรรคก้าวไกลตั้งไว้จะเป็นงบประมาณผูกพันจำนวนมหาศาลที่อาจสร้างภาระทางการคลังได้

ขณะที่การเลี้ยงดูเด็กเล็กมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,373 บาท/เดือน โดยที่เด็กเล็กนั้นยังไม่มีสินทรัพย์ และคนในวัยพ่อแม่ก็มีเวลาเก็บออมไม่มากเท่าผู้สูงอายุ การจัดสรรสวัสดิการถ้วนหน้า 1,200 บาท/เดือน จึงอาจยังไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ มีงานวิจัยชี้ชัดว่าการลงทุนในมนุษย์นั้นยิ่งเร็วยิ่งคุ้มค่า ซึ่งเด็กเล็กเหล่านี้จะต้องเติบโตขึ้นในสังคมสูงวัย และจะต้องเป็นกำลังหลักในการดูแลครอบครัวตลอดจนจ่ายภาษีหล่อเลี้ยงสวัสดิการ ยิ่งเรียกร้องให้เด็กเหล่านี้มีศักยภาพสูงจึงจะทำให้ประเทศไทยโดยรวมอยู่รอดได้ในอนาคต

การจัดสรรเช่นนี้จึงเหมือนเป็นการทำสวัสดิการเพื่อรองรับอดีต มากกว่าสวัสดิการเพื่อพาประเทศมุ่งสู่อนาคต

โจทย์ของการออกแบบสวัสดิการผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอาจต้องขยับไปให้ไกลกว่าการให้เงินบำนาญแก่ผู้สูงวัย เช่น การยกระดับระบบประกันสังคมให้สามารถจ่ายเงินบำนาญเมื่อถึงวัยเกษียณได้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน โดยต้องพิจารณาปรับขึ้นจำนวนเงินสมทบทั้งจากฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งจะเป็นภาระทางการคลังน้อยกว่าสวัสดิการแบบเงินบำนาญ นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงการปรับปรุงสวัสดิการในรูปแบบบริการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากการให้เงินก็ไม่อาจแก้ปัญหาสินค้า/บริการที่ขาดหายไปในตลาด โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานที่สุดอย่างที่อยู่อาศัย ปัจจุบันพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอนโยบายพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียงอยู่แล้ว แต่นโยบายนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้สูงวัยกลุ่ม ‘กึ่งพึ่งพิง’ ที่ยังดูแลตัวเองได้บ้างแต่ยังขาดทางเลือกเข้าถึงที่พักอาศัยราคาถูก โดยควรเพิ่มบริการที่พักสำหรับผู้สูงวัยให้หลากหลายและคำนึงถึงความเปราะบางในหลายระดับของผู้สูงวัย โดยอาจพิจารณาการพัฒนาที่พักสำหรับผู้สูงอายุในรูปแบบของบ้านโอบอุ้ม (assisted living housing)[12]สรัช สินธุประมา, “‘บ้านโอบอุ้ม’ ทางเลือกใหม่ที่พักอาศัยให้คนไทยสูงวัยในชุมชน, ที่มีราคาถูกกว่าสถานดูแลขนาดใหญ่

References
1 ธิติ เกตุพิทยา, ชิดชนก อันโนนจารย์ และทศพล ต้องหุ้ย. 2015. แรงกระตุ้นของนโยบายการคลังปี 2558-2559. FAQ Issue 106.
สำนักงานประมาณของรัฐสภา. คู่มือการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP โดยตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers). 2564.
2 Nicoletta Batini, Luc Eyraud, Lorenzo Forni, Anke Weber. Fiscal Multipliers: Size, Determinants, and Use in Macroeconomic Projections. International Monetary Fund.
3 Paolo Surico, Michele Andreolli. Smaller economic stimulus payments could boost consumer spending more. 2021. VOXEU Column.
4 พรรคก้าวไกล. ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท.
5 พรรคก้าวไกล. เพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566)
6 ศิริกัญญา ตันสกุล. The Special คุยกับทีมเศรษฐกิจ ‘ก้าวไกล’ รายการฟังหูไว้หู (25 เม.ย. 66).  (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566)
7 “สสว.เผยผลสำรวจ SME ไตรมาสแรก เอสเอ็มอีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ความสามารถชำระหนี้ลดลง,” ผู้จัดการออนไลน์, 2 พฤษภาคม 2566. (เข้าถึงเมื่อ 4 พฤษภาคม 2566)
8 ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน. รายงานศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ประจำปี 2565. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566) 
9 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์. ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในช่วงเดือน ต.ค.64. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566)
10 Hemels, Sigrid, and Marco Fabbri. “‘Do You Want a Receipt?’ Combating VAT and RST Evasion with Lottery Tickets”. Intertax: International Tax Review 41, no. 8 (January 2013): 430–443.
11 United Nations. World Population Prospect 2022.
12 สรัช สินธุประมา, “‘บ้านโอบอุ้ม’ ทางเลือกใหม่ที่พักอาศัยให้คนไทยสูงวัยในชุมชน,

บทความที่เกี่ยวข้อง

‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ คนไทยได้อะไร? เสียอะไร?

101 PUB ชวนอ่านบทวิเคราะห์นโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หลังรัฐบาลแถลงรายละเอียด 10 เม.ย. 2024 การแจกเงิน 10,000 บาทนี้ คนไทยจะได้และเสียอะไรบ้าง

เศรษฐกิจต้องสูญเสียอีกเท่าไหร่ กว่าจะเป็นกองทัพ ‘สมัครใจ’

101 PUB ชวนทบทวนว่านโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารที่มีอยู่สามารถ ‘ยกเลิก’ การเกณฑ์ทหารได้อย่างแท้จริงหรือไม่?

ตัวเลขการเติบโตก็ไม่ดี คุณภาพการพัฒนาก็ไม่ได้: แนวโน้มใหญ่เศรษฐกิจไทยและโลก

ชวนสำรวจคุณภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมาว่ามีสถานะเป็นอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับสากล เรื่องใดบ้างที่ควรหันมาให้ความสนใจ

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.