ประเมินนโยบายเด่นพรรคการเมืองใหญ่ เตรียมไปเลือกตั้ง ’66 EP.1 พรรคพลังประชารัฐ + พรรครวมไทยสร้างชาติ

101 PUB

8 May 2023

ในการเลือกตั้งระดับชาติ 2566 พรรคการเมืองต่างหาเสียงด้วยนโยบายหลากหลาย ทุกพรรคต่างจูงใจและให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

แต่ละพรรคก็มีนโยบายเด่นที่เป็นจุดขายเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน ซึ่งมาจากอุดมการณ์ ฐานคิด และวิถีการดำเนินงานที่แตกต่างกัน บ้างก็แยกประเด็นเศรษฐกิจออกจากการเมือง บ้างก็มองว่าเป็นเนื้อเดียวกัน บ้างก็พยายามจัดการปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ในวันนี้ และบ้างก็พยายามวางฐานสู่การปรับปรุงในภาพใหญ่

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ 101 PUB ขอร่วมหยิบนโยบายเด่นของแต่ละพรรคการเมืองใหญ่มาประเมิน ดูว่านโยบายเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาหรือไม่ เหมาะสมบริบทประเทศไทยมากเพียงใด และวิธีการที่ใช้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพแล้วหรือยัง เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง โดยพิจารณาจากนโยบาย บนฐานคิดทางวิชาการ

พวกเราหยิบยก 2 นโยบายเด่นจากแต่ละพรรคมาวิเคราะห์ (ซึ่งอาจมีส่วนที่ทับซ้อนกับพรรคอื่นด้วย) และแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ตอน ตอนละ 2 พรรค:

  • EP.1 พรรคพลังประชารัฐ + พรรครวมไทยสร้างชาติ
  • EP.2 พรรคประชาธิปัตย์ + พรรคภูมิใจไทย
  • EP.3 พรรคเพื่อไทย + พรรคก้าวไกล

พรรคพลังประชารัฐ

‘ลดราคาน้ำมัน’ รัฐต้องเสียงบประมาณเดือนละ 3 หมื่นล้านบาท แต่ครัวเรือนยิ่งรวยยิ่งได้ประโยชน์

นโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่มีการพูดถึงในเวทีดีเบตต่างๆ คือการประกาศลดราคาน้ำมัน ทั้งเบนซินและดีเซล เป็นเวลา 1 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยจะลดราคาน้ำมันเบนซินลงลิตรละ 18 บาท และลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 6.3 บาท ด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีบำรุงท้องถิ่น และการหักเงินส่งกองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน

มาตรการอุ้มราคาน้ำมันดีเซลที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งรัฐบาลประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2565 ใช้งบประมาณ (ซึ่งรวมถึงการสูญเสียรายได้ภาษีของรัฐ) มากถึง 764 ล้านบาทต่อวัน หรือ 23,252 ล้านบาทต่อเดือน[1]ดูเพิ่ม ฉัตร คำแสง, “5 คำถาม-คำตอบเรื่องวุ่นๆ ของการอุ้มดีเซล,” 16 มีนาคม 2022. โดยคำนวณจากอัตราการใช้น้ำมันโดยเฉลี่ยของประเทศในปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 47.6 ล้านลิตรต่อวัน[2]สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. 2564. สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าของปี 2564.

แต่ตัวเลขเงินอุดหนุนนี้จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นหากดำเนินนโยบายอุดหนุนที่ครอบคลุมมากกว่าเดิม ลดราคามากกว่าเดิม และมีการใช้งานมากกว่าเดิม เพราะในปี 2565 อัตราการใช้น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 3.9% คิดเป็นปริมาณเฉลี่ย 30.2 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่น้ำมันดีเซลมีปริมาณการใช้งานสูงขึ้นถึง 15.7% หรือเฉลี่ย 73.1 ล้านลิตรต่อวัน[3]สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. 2566. สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าของปี 2565.

หากคำนวณเงินอุดหนุนที่จะต้องใช้ โดยอิงจากข้อเสนอของพลังประชารัฐที่ตั้งเป้าลดราคาน้ำมันเบนซินลง 18 บาทต่อลิตร และลดราคาน้ำมันดีเซลลง 6.3 บาทต่อลิตร และอัตราการใช้น้ำมันเฉลี่ยในปี 2565 พบว่า จะต้องใช้เงินอุดหนุนมากถึง 1,011 ล้านบาทต่อวัน หรือ 30,763 ล้านบาทต่อเดือน ตัวเลขดังกล่าวมีขนาดใหญ่ถึง 12% ของงบประมาณประจำปี แต่พรรคพลังประชารัฐกลับอ้างว่านโยบายนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐในการดำเนินนโยบาย

การลดอัตราการเก็บภาษีและจำนวนเงินที่เก็บเข้ากองทุนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างรัดกุม เนื่องจากปัจจุบันเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ยังอยู่ในสถานะติดลบ 79,327 ล้านบาท รวมถึงรายได้ของรัฐที่จะหายไปยังกระทบกับการใช้จ่ายภาครัฐในส่วนอื่น หรือกระทั่งกระทบต่อประสิทธิภาพทางการคลังและโอกาสในการกู้ยืมในอนาคตที่จะลดน้อยลง

ประเภทน้ำมันปริมาณการใช้ (ล้านลิตร)ภาระงบประมาณ (ล้านบาท)
เฉลี่ยต่อวันเฉลี่ยต่อเดือนเฉลี่ยต่อวันเฉลี่ยต่อเดือน
เบนซิน30.2918.6545.716,599.1
ดีเซล73.12,223.5465.614,163.7
รวม  1,011.330,762.8

โดยทั่วไป มาตรการอุ้มราคาน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล มักจะมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนของภาคขนส่งและลดค่าครองชีพให้กับประชาชน อย่างไรก็ดี แนวทางการลดราคาน้ำมันที่ผ่านมา รวมทั้งที่พรรคพลังประชารัฐนำเสนอนั้นกลับทำให้ครัวเรือนร่ำรวยได้รับประโยชน์มากที่สุด

จากข้อมูลสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของไทย สัดส่วนผู้ใช้น้ำมันเบนซินค่อนข้างคงที่อยู่ที่ราวร้อยะ 80-85% ในทุกกลุ่มรายได้ แต่สัดส่วนผู้ใช้งานน้ำมันดีเซลมักเพิ่มขึ้นตามรายได้ต่อหัวของครัวเรือน โดยในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่สุด 20% มีสัดส่วนผู้ใช้น้ำมันดีเซล 20% เท่านั้น ขณะที่กลุ่มครัวเรือนรายได้มากที่สุด 20% มีสัดส่วนผู้ใช้น้ำมันดีเซล 30%

ในด้านค่าใช้จ่ายพบว่า ครัวเรือนรายได้สูงจ่ายค่าน้ำมันเบนซินเฉลี่ย 1,300-2,100 บาท/เดือน ขณะที่ครัวเรือนรายได้น้อยมีค่าใช้จ่ายราว 490-515 บาท/เดือนเท่านั้น สำหรับน้ำมันดีเซล ครัวเรือนรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 600-800 บาทต่อเดือน แต่ครัวเรือนรายได้น้อยมีค่าใช้จ่ายน้ำมันดีเซลเพียง 220-270 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ดังนั้น ครัวเรือนรายได้น้อยมีการใช้น้ำมันน้อยกว่าครัวเรือนรายได้สูงถึงราว 3-4 เท่า

ด้วยโครงสร้างการใช้พลังงานเช่นนี้ การใช้งบประมาณเพื่อลดราคาน้ำมันจึงเป็นนโยบายถดถอย (regressive) กล่าวคือ ยิ่งรวยยิ่งได้รับประโยชน์ การใช้เงินอุดหนุนค่าน้ำมันทุกๆ 100 บาท จะลงไปที่ครัวเรือนรายได้น้อยที่สุด 20% เพียง 11 บาท แต่จะไปลงกับครัวเรือนรายได้สูงสุด 20% ถึง 36 บาท

เนื่องจากการดำเนินนโยบายย่อมกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณส่วนอื่น จึงมีค่าเสียโอกาสในการดำเนินนโยบายที่มีลักษณะก้าวหน้า ที่ทำให้คนยากจนได้ประโยชน์มากกว่าคนรวย ดังเช่นนโยบายการคุ้มครองทางสังคม นโยบายเงินโอนสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการสร้างสินค้าสาธารณะของรัฐ ดังนั้น การจูงใจประชาชนด้วยนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันจะไม่ตอบโจทย์การใช้งบประมาณภาครัฐ

‘ปฏิรูปที่ดิน คืนสิทธิให้ประชาชน’ นโยบายเก่า แต่ก็ยังไม่ชัดเจน

หนึ่งในนโยบายเด่นที่พรรคพลังประชารัฐนำเสนอในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้คือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ดิน โดยเฉพาะการคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาข้อพิพาทในที่ดิน ซึ่งหลายพรรคการเมืองมองเห็นปัญหานี้ตรงกัน แต่นโยบายปฏิรูปที่ดินของพลังประชารัฐก็ยังค่อนข้างคลุมเครือว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาอันซับซ้อนอย่างการถือครองที่ดินได้จริงหรือไม่

พลังประชารัฐเสนอนโยบายแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินระหว่างรัฐและประชาชนในหลายพื้นที่ ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ราชพัสดุ และที่ดิน ส.ป.ก. ผ่านการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชน พิสูจน์สิทธิและเร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชน ซึ่งนับว่าไม่ใช่นโยบายใหม่ เพราะได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อมาทำหน้าที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2558 โดยมีคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน ซึ่งพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก็นั่งตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการฯ มาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม หากประเมินจากผลงานที่ผ่านมาพบว่า คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติยังไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน คณะกรรมการที่ดินฯ ตั้งเป้าออกหนังสืออนุญาตครอบครองและใช้ที่ดินอย่างถูกต้องจำนวน 1.589 ล้านไร่ แต่ในเวลา 6 ปี (ปี 2558-2564) ดำเนินการสำเร็จไปเพียง 687,000 ไร่ หรือยังไม่ถึงครึ่งของเป้าหมายที่ตั้งไว้ หากนับเป็นจำนวนคน มีเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือในระยะเวลานี้เพียง 60,000 รายจากทั้งหมด 1.1 ล้านรายที่ประสบปัญหาที่ดินทับซ้อนกับรัฐและขาดแคลนที่ดินทำกิน[4]https://greennews.agency/?p=24238

หากพรรคพลังประชารัฐที่เคยมีผลงานในคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติยังคงดำเนินการจัดสรรที่ดินและพิสูจน์สิทธิด้วยประสิทธิภาพในการทำงานเช่นนี้ กระบวนการคืนสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี

นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐก็นำเสนอนโยบายเปลี่ยนเอกสารสิทธิ์ให้กลายเป็นโฉนดด้วย ซึ่งมีหลายพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายคล้ายคลึงกัน ที่จริงแล้ว นโยบายดังกล่าวถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะเอกสารสิทธิ์ อาทิ ส.ป.ก. เป็นเหมือน ‘เอกสารสิทธิ์ชั้นสอง’ ที่สร้างข้อจำกัดหลายประการให้กับเกษตรกร ทั้งไม่สามารถเปลี่ยนพื้นที่ทำกินไปทำการเกษตรประเภทอื่นได้ ไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือ (ยกเว้นถ่ายโอนตามมรดกให้กับทายาทตามกฎหมาย) ไม่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ส่งผลให้สิทธิในการถือครองที่ดินของเกษตรกรไทยอยู่บนความไม่แน่นอน

ทว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้นำเสนอแนวทางการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ทราบว่าจะออกแบบกระบวนการเปลี่ยนโฉนดอย่างไรให้รัดกุมและรับประกันได้ว่าสิทธิในการถือครองที่ดินจะตกอยู่ที่เกษตรกรยากจนที่ประสบปัญหาในการถือครองที่ดินจริงๆ

หากจะเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนดได้จริง จำเป็นต้องพิจารณาถึงเกณฑ์และเงื่อนไขหลายประการ โดยเฉพาะในกรณีที่ที่ดิน ส.ป.ก. ถูกเปลี่ยนมืออย่างผิดกฎหมายมาก่อน คือผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบันเป็นคนละคนกับผู้ถือเอกสารสิทธิ์ กรณีนี้ พรรคยังมีการบ้านหลายเรื่องที่ต้องคิดให้จบว่าจะเอาอย่างไร เช่น จะกำหนดให้ผู้มีสิทธิในการเปลี่ยนโฉนดต้องยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินของตนเองในระยะเวลาหนึ่งหรือไม่ หรือจะกำหนดเกณฑ์พิจารณาทรัพย์สินของผู้มีสิทธิเปลี่ยนโฉนดหรือไม่ อย่างไร รวมถึงว่าจะกำหนดเงื่อนไขให้โฉนดที่ดินที่ถูกเปลี่ยนมาแล้วสามารถซื้อขายได้ภายในระยะเวลากี่ปี เพื่อป้องกันไม่ให้การเปลี่ยนโฉนดที่ดินตกไปอยู่ในมือของนายทุนหรือเกษตรกรร่ำรวย

พรรครวมไทยสร้างชาติ

บัตรสวัสดิการพลัส’ ยกระดับสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเป็นเรื่องดี แต่ต้องแก้ปัญหารั่วไหล+ไม่เข้าเป้าให้ได้

พรรครวมไทยสร้างชาติ มีนโยบาย ‘บัตรสวัสดิการพลัส’ ซึ่งจะเพิ่มวงเงินใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากเดิม 200-300 บาท/คน/เดือน เป็น 1,000 บาท/คน/เดือน พร้อมให้สิทธิวงเงินฉุกเฉินอีก 10,000 บาท/คน[5]พรรครวมไทยสร้างชาติ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. และ พรรครวมไทยสร้างชาติ. นโยบายพรรค. (เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566) ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็เสนอนโยบายคล้ายคลึงกัน โดยเพิ่มวงเงินใช้จ่ายเป็น 700 บาท/เดือน และให้ประกันชีวิต 200,000 บาท/คน[6]พรรคพลังประชารัฐ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. และ พรรคพลังประชารัฐ. “อุตตม” ชูนโยบาย พปชร.เพิ่มประกันชีวิตบัตรประชารัฐ วงเงิน 200,000 … Continue reading

ความตั้งใจในการเพิ่มวงเงินโดยมุ่งเป้าให้กลุ่มผู้ยากจนเป็นเรื่องที่ดี ถ้าทำได้จะเป็นการใช้งบประมาณที่ตอบโจทย์และตรงจุด เพราะสามารถช่วยลดระดับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคมลงได้ และจะยังช่วยยกระดับรายได้ให้พวกเขาอย่างได้น้ำได้เนื้อ ให้สามารถตั้งตัวและหลุดจากกับดักความยากจนได้

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนคนจนอยู่ประมาณ 4.4 ล้านคนเท่านั้น (5.8 ล้านคน หากหักยอดเงินโอนของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ขณะที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐถูกแจกจ่ายออกไปจริงมากถึง 14.6 ล้านใบและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

หากบัตรจำนวนมากนี้สามารถโอบอุ้มครอบคลุมกลุ่มผู้ยากจนทั้งหมดของสังคมได้ ก็ยังถือว่านโยบายมีความสามารถในการช่วยเหลือผู้ยากจน แต่การคัดกรองในโครงการนี้ยังมีปัญหา ‘การรั่วไหลและไม่เข้าเป้า’ สูงมาก

เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์การรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 101 PUB พบการรั่วไหลไปสู่ผู้ไม่เข้าข่ายราว 20% ของบัตรที่แจกจ่ายออกไป และมีผู้เข้าข่าย 57% ที่ยังไม่ได้รับบัตร

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาด้วยเกณฑ์ความยากจน จะพบว่า 78% ของผู้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ใช่ผู้ยากจน และ 46% ของผู้ยากจนยังไม่ได้รับบัตร ซึ่งผู้ที่ยากจนที่สุดมักจะเป็นผู้ไม่สามารถเข้าถึงได้จริง เนื่องจากต้องจัดทำเอกสาร เดินทางไปยื่นใบสมัคร และเข้ารับการคัดกรอง

ภายใต้โครงสร้างการให้บัตรสวัสดิการแบบเดิมที่ยังมีการรั่วไหลและไม่เข้าเป้าเช่นนี้ จะทำให้การใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือคนกลุ่มเฉพาะดังที่เคยวาดหวังไว้ การเพิ่มวงเงินค่าใช้จ่ายเป็น 700-1,000 บาท/เดือน ทำให้งบประมาณภาครัฐจากระดับ 40,000-50,000 ล้านบาท/ปี เป็น 130,000-180,000 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ ข้อสังเกตหนึ่งคือเอกสารนโยบายที่รายงานต่อ กกต. พรรครวมไทยสร้างชาติรายงานตัวเลขเพียง 71,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งผิดไปมากกว่า 2 เท่า (ขณะที่เอกสารของพรรคพลังประชารัฐคำนวณภาระงบประมาณไว้ถูกต้อง)

หากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีตำแหน่งแห่งที่ในระบบสวัสดิการของไทย จะต้องมีการคัดกรองมุ่งเป้าสู่กลุ่มผู้ยากจนให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังควรใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการทำงานของราชการ ในการเชื่อมต่อฐานข้อมูลที่กระจัดกระจาย เพื่อค้นหา คัดกรอง และติดตามให้ความช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการคัดผู้ที่มีรายได้เกินเกณฑ์ออกให้ได้อย่างแม่นยำที่สุด (คลิกเพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มของ 101 PUB)

‘คนละครึ่ง ภาค 2’ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มาผิดจังหวะ

พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอจะทำนโยบาย ‘คนละครึ่งภาค 2’ ต่อเพื่อกระตุ้นการบริโภคและเสริมกำลังซื้อให้กับร้านค้าขนาดเล็ก โดยภาครัฐร่วมจ่ายครึ่งหนึ่งสำหรับการบริโภคสินค้าและบริการทั่วไปวันละไม่เกิน 150 บาทแก่ประชาชนทั่วไปยกเว้นผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งโครงการภาค 2 นี้จะให้เงินอุดหนุนทั้งหมด 26 ล้านสิทธิ์ เฉลี่ยประมาณสิทธิ์ละ 1,500 บาท เป็นวงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท[7]พรรครวมไทยสร้างชาติ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. (เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566)

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของนโยบายเช่นนี้จะแปรผกผันกับสภาวะเศรษฐกิจในขณะที่ดำเนินการ ในช่วงที่ประชาชนขาดรายได้และต้องจำกัดการใช้จ่าย ดังเช่นตอนที่ใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น มาตรการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายมีศักยภาพในกระตุ้นการจับจ่ายและเศรษฐกิจได้จริง (เมื่อเทียบกับการไม่มีมาตรการ ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ไม่ตกต่ำจนเกินไป) ทว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวหรืออยู่ในภาวะปกติ แม้ว่าผู้บริโภคจะยังใช้จ่ายผ่านโครงการเหล่านี้อยู่ แต่ก็จะไปลดการใช้จ่ายในส่วนอื่นลง ในแง่หนึ่งก็ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภค แต่ถือว่าไม่ได้ผลในการกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจ

ตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) เป็นเครื่องมือมาตรฐานในการวัดประสิทธิภาพการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยวัดว่าการใช้งบประมาณกระตุ้นทุกๆ 1 บาทจะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจริงกี่บาท หากตัวคูณทางการคลังมีค่ามากกว่า 1 ถือว่าการใช้จ่ายมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่หากมีค่าน้อยกว่า 1 หมายความว่ามาตรการดังกล่าวไม่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้[8]ทั้งนี้ เนื่องจากมูลค่าเศรษฐกิจเป็นผลรวมของการบริโภค การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุน และการส่งออกสุทธิ … Continue reading

ตัวคูณทางการคลังของมาตรการคนละครึ่งเป็นเครื่องยืนยันชั้นดีว่านโยบายนี้จะไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจได้จริง ค่าตัวคูณทางการคลังของมาตรการคนละครึ่งรอบที่ 1-2 (ต.ค. 2563 – มี.ค. 2564) มีค่า 1.0 หมายความว่ามาตรการไม่ได้มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจแม้ว่าจะเป็นช่วงเศรษฐกิจซบเซาอย่างมากก็ตาม และในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเบื้องต้น แนวโน้มตัวคูณทางการคลังมีค่าลดลงต่อเนื่อง จนเหลือเพียง 0.8 ในรอบที่ 5 (ก.ย.-ต.ค. 2565)[9]แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศ ที่พบว่าตัวคูณทางการคลังในภาวะเศรษฐกิจปกติมีค่าน้อยกว่าในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ อาทิ Ramey, V. A. and … Continue reading

ยิ่งไปกว่านั้น โครงการคนละครึ่งในรอบที่ 5 ได้ลดวงเงินอุดหนุนต่อคนเหลือแค่ 800 บาทจากที่เคยสูงถึง 3,500-4,500 บาท แต่ผู้รับสิทธิ์ก็ยังใช้เงินอุดหนุนไม่เต็มวงเงิน (เฉลี่ยคนละ 757 บาท) และมีสิทธิ์ที่ไม่ถูกใช้อีกราว 2.48 ล้านสิทธิ์หรือร้อยละ 9.4 ของสิทธิ์ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากรอบก่อนๆ

ดังนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติ[10]ธนาคารแห่งประเทศไทย. การบรรยายภาวะเศรษฐกิจในงานพบปะสื่อมวลชน 24 เดือนเมษายน 2023. (เข้าถึงเมื่อ 30 เมษายน 2566) ความจำเป็นและประสิทธิภาพของมาตรการย่อมลดลงไปอีก ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่ามาตรการเหล่านี้มีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่จะไม่ได้ใช้งบทำโครงการอื่นและต้นทุนทางการเงินที่สังคมต้องจ่ายคืนในอนาคต งานศึกษาของสำนักงานประมาณของรัฐสภา พบว่ามาตรการเงินโอนแก่ประชาชนทั่วไปมีตัวคูณ 0.94 เท่า น้อยกว่านโยบายเงินโอนสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าอยู่ที่ 1.35 เท่า ซึ่งทำให้เห็นค่าเสียโอกาสที่ค่อนข้างชัดเจน[11]สำนักงานประมาณของรัฐสภา. คู่มือการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP โดยตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers). 2564. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566)

References
1 ดูเพิ่ม ฉัตร คำแสง, “5 คำถาม-คำตอบเรื่องวุ่นๆ ของการอุ้มดีเซล,” 16 มีนาคม 2022.
2 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. 2564. สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าของปี 2564.
3 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. 2566. สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าของปี 2565.
4 https://greennews.agency/?p=24238
5 พรรครวมไทยสร้างชาติ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. และ พรรครวมไทยสร้างชาติ. นโยบายพรรค. (เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566)
6 พรรคพลังประชารัฐ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. และ พรรคพลังประชารัฐ. “อุตตม” ชูนโยบาย พปชร.เพิ่มประกันชีวิตบัตรประชารัฐ วงเงิน 200,000 บาทต่อราย เดินหน้าตั้งกองทุนประชารัฐ ปลดภาระ สร้างรายได้ แก้หนี้ ให้ทุกคน. (เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566)
7 พรรครวมไทยสร้างชาติ. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. (เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566)
8 ทั้งนี้ เนื่องจากมูลค่าเศรษฐกิจเป็นผลรวมของการบริโภค การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุน และการส่งออกสุทธิ การใช้จ่ายภาครัฐควรทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นแบบ 1:1 หากไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่นๆ
9 แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศ ที่พบว่าตัวคูณทางการคลังในภาวะเศรษฐกิจปกติมีค่าน้อยกว่าในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ อาทิ Ramey, V. A. and Sarah Zubairy. “Government Spending Multipliers in Good Times and in Bad: Evidence from US Historical Data,” Journal of Political Economy, vol. 126(2): 850-901. 2018
10 ธนาคารแห่งประเทศไทย. การบรรยายภาวะเศรษฐกิจในงานพบปะสื่อมวลชน 24 เดือนเมษายน 2023. (เข้าถึงเมื่อ 30 เมษายน 2566)
11 สำนักงานประมาณของรัฐสภา. คู่มือการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP โดยตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers). 2564. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566)

บทความที่เกี่ยวข้อง

การอุ้มดีเซล

5 คำถาม-คำตอบเรื่องวุ่นๆ ของการอุ้มดีเซล

ในวันที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแพง ประเทศไทยก็เข้าสู่วังวนของการอุ้มดีเซลอีกครั้ง เพื่อพยุงต้นทุนภาคการขนส่ง 101 PUB ชวนสำรวจ 5 คำถามและคำตอบเกี่ยวกับการอุ้มราคาพลังงานดีเซล

‘บัตรคนจน’ ที่คนจนจริงครึ่งหนึ่งเข้าไม่ถึง: 5 ปี นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

คนจนราวครึ่งหนึ่งยังเข้าไม่ถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่มีรั่วไหลไปอยู่ในมือผู้ไม่เข้าเกณฑ์ งบประมาณที่ใช้ไป 2.8 แสนล้านบาทจึงยังไม่เข้าเป้า

รัฐสวัสดิการ: ของข้าราชการ vs ของประชาชน

งบประมาณรัฐสวัสดิการของประชาชนยังคงไม่สามารถตามทันรัฐสวัสดิการของราชการ รัฐบาลไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อเพิ่มสวัสดิการตามที่เคยหาเสียงไว้เมื่อปี 2562 แม้จะเป็นการจัดงบครั้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.