ในการเลือกตั้งระดับชาติ 2566 พรรคการเมืองต่างหาเสียงด้วยนโยบายหลากหลาย ทุกพรรคต่างจูงใจและให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
แต่ละพรรคก็มีนโยบายเด่นที่เป็นจุดขายเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน ซึ่งมาจากอุดมการณ์ ฐานคิด และวิถีการดำเนินงานที่แตกต่างกัน บ้างก็แยกประเด็นเศรษฐกิจออกจากการเมือง บ้างก็มองว่าเป็นเนื้อเดียวกัน บ้างก็พยายามจัดการปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ในวันนี้ และบ้างก็พยายามวางฐานสู่การปรับปรุงในภาพใหญ่
ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ 101 PUB ขอร่วมหยิบนโยบายเด่นของแต่ละพรรคการเมืองใหญ่มาประเมิน ดูว่านโยบายเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาหรือไม่ เหมาะสมบริบทประเทศไทยมากเพียงใด และวิธีการที่ใช้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพแล้วหรือยัง เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง โดยพิจารณาจากนโยบาย บนฐานคิดทางวิชาการ
พวกเราหยิบยก 2 นโยบายเด่นจากแต่ละพรรคมาวิเคราะห์ (ซึ่งอาจมีส่วนที่ทับซ้อนกับพรรคอื่นด้วย) และแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ตอน ตอนละ 2 พรรค:
- EP.1 พรรคพลังประชารัฐ + พรรครวมไทยสร้างชาติ
- EP.2 พรรคประชาธิปัตย์ + พรรคภูมิใจไทย
- EP.3 พรรคเพื่อไทย + พรรคก้าวไกล
โดยในวันนี้เป็นการนำเสนอการวิเคราะห์ตอนที่ 3 คือพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล
พรรคเพื่อไทย
‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ นโยบายกระตุ้นใหญ่ ที่จะไม่ได้ผลมากอย่างที่หวัง
พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบาย ‘ปั๊มหัวใจ’ กระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เฉพาะหน้า ด้วยการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้แก่ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ผูกกับบัตรประชาชนของแต่ละคน ผู้ได้รับเงินสามารถนำไปใช้จ่ายได้ในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามบัตรประชาชน ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยทั้งหมดนี้ทำบนระบบบล็อกเชน ซึ่งตั้งใจจะเขียนเงื่อนไขการใช้งานลงในตัวเงิน เช่น ระบุว่าสามารถซื้ออะไรได้บ้าง กำหนดแต้มต่อสำหรับการซื้อสินค้าจากรายย่อย และยังใช้ติดตามเส้นทางการเงินได้ด้วย
พรรคเพื่อไทยประเมินว่านโยบายดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท แต่ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ 2-3 เท่าของเงินที่ใช้ไป (เอกสารไม่เป็นทางการระบุว่ามากถึง 6 เท่า) เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นนี้ก็จะทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ซึ่งงบประมาณที่ใช้จริงต่ำกว่างบประมาณก้อนแรกที่อัดฉีดลงไป นอกจากนี้ จะยังได้ประโยชน์ในฐานะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมประชาชนสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต และนำประเทศเป็นศูนย์กลาง FinTech ด้วย
นโยบายดังกล่าวเป็นการประเมินผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในแง่ดีมากเกินไป งานศึกษาในอดีตพบว่ามาตรการเงินโอนของไทยมักจะมีตัวคูณทางการคลังเพียง 0.4 – 0.9 เท่า[1]ธิติ เกตุพิทยา, ชิดชนก อันโนนจารย์ และทศพล ต้องหุ้ย. 2015. แรงกระตุ้นของนโยบายการคลังปี 2558-2559. FAQ Issue … Continue reading หมายความว่าเศรษฐกิจไม่ได้โตขึ้นเท่ากับรายจ่ายทางการคลัง การให้ใช้เงินเป็นระยะเวลาสั้นเพียง 6 เดือนก็ยังทำให้การหมุนรอบของเงินยังไม่เต็มที่ ซึ่งปกติจะเห็นผลในระยะเวลา 1-2 ปี งานศึกษาระหว่างประเทศยังพบว่าปัจจัยแวดล้อมมีส่วนสำคัญต่อตัวคูณทางการคลังอย่างมาก การเป็นเศรษฐกิจเปิดที่มีอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวดังเช่นประเทศไทยทำให้เกิดการรั่วไหลของเงินออกไปต่างประเทศแทนที่จะหมุนในระบบเศรษฐกิจ และตัวคูณทางการคลังจะมีค่ามากเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจถดถอย[2]Nicoletta Batini, Luc Eyraud, Lorenzo Forni, Anke Weber. Fiscal Multipliers: Size, Determinants, and Use in Macroeconomic Projections. International Monetary Fund. นอกจากนี้ การกระตุ้นขนาดใหญ่ยังมักจะมีตัวคูณขนาดเล็กกว่าการให้เงินก้อนเล็ก[3]Paolo Surico, Michele Andreolli. Smaller economic stimulus payments could boost consumer spending more. 2021. VOXEU Column. และการกำหนดให้ผู้ได้รับเงินสามารถนำเงินไปใช้จ่ายคืนเงินกู้ก็จะลดรอบการหมุนในเศรษฐกิจลงด้วยเช่นกัน
101 PUB มองว่านโยบายเงินดิจิทัลจะสมบูรณ์ขึ้นได้อีก ถ้าพรรคเพื่อไทยอธิบายเงื่อนไขของการใช้เงินให้ครบถ้วน อาทิ การใช้จ่ายต้องอยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตรสำหรับกรณีทั่วไป แต่จะมีพื้นที่ห่างไกลที่อาจมีการปรับเปลี่ยน ที่ไม่ทราบว่าเป็นที่ใดบ้างและเปลี่ยนเป็นเท่าไหร่, การใช้จ่ายของผู้บริโภค (มือ 1) นั้นจะต้องทำในขอบเขตรัศมีที่กำหนด แต่เมื่อต้องการให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ ผู้ขายสินค้าหรือบริการ (มือ 2-3-4-…) จะต้องทำธุรกรรมในรัศมีดังกล่าวด้วยหรือไม่, เงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ขาย และการนำเงินดิจิทัลไปแลกเป็นเงินจริงเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังต้องการใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนในการทำเหรียญดิจิทัล ซึ่งยังก่อให้เกิดคำถามในทางเทคนิก เนื่องจากสามารถใช้ระบบการเงินดิจิทัลบนฐานเทคโนโลยีอื่นในการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ ด้วยประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และความคุ้นชินของประชาชนที่มากกว่า การพัฒนาบล็อกเชนเพื่อทำธุรกรรมยังอาจติดข้อกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ทำธุรกรรม จนอาจทำให้การดำเนินการล่าช้า จนยิ่งหมดความจำเป็นและประสิทธิภาพของการกระตุ้นเศรษฐกิจไป
‘ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท’ สอดคล้องค่าจ้างเพื่อชีวิต แต่ต้องไม่ปรับแบบก้าวกระโดดเกินไป
‘นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ภายในปี 2570’ เป็นนโยบายที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมากตั้งแต่ตอนที่ประกาศเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เว็บไซต์และเอกสารนโยบายของพรรคเพื่อไทยระบุว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น แล้วจึงแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน ตามกลไกเจรจา 3 ฝ่าย คือ รัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง โดยมีหลักการพิจารณาเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 3 ปัจจัย คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อ
แนวทางของพรรคเพื่อไทยแตกต่างจากพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลต้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทันทีเป็น 450 บาท/วัน แล้วหลังจากนั้นจะปรับอัตโนมัติทุกปีโดยใช้สูตรคำนวณจากค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะลดบทบาทของการเจรจาลง[4]พรรคก้าวไกล. ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท.
101 PUB เห็นว่าการปรับฐานค่าแรงขั้นต่ำถือเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากฐานค่าแรงขั้นต่ำเดิมมีปัญหาตั้งแต่นิยามที่ให้แรงงานดูแลตนเองได้เพียงคนเดียวตามมาตรฐานการครองชีพ ซึ่งในโลกความเป็นจริง แรงงานจะต้องดูแลครอบครัวด้วย นอกจากนี้การปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมาโดยทั่วไปไม่สามารถไล่ทันสภาพเศรษฐกิจจริง ค่าแรงขั้นต่ำจึงไม่อาจรักษามาตรฐานคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว (คลิกเพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม)
101 PUB เห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำจะต้องใช้ฐานคิดอื่นมาร่วมพิจารณา เช่น ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ ที่ทำให้แรงงานเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีตามมาตรฐานสังคม เมื่อคำนวณด้วยข้อมูลการใช้จ่ายรายครัวเรือนของไทย พบว่าค่าจ้างเพื่อชีวิตเพื่อเลี้ยงดูตนเอง คู่สมรสและลูก 1 คนมีค่า 563 บาท/วัน ในกรณีที่เลี้ยงดูตนเอง คู่สมรสและลูก 2 คนมีค่า 686 บาท/วัน ดังนั้น ตัวเลขข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยจึงค่อนข้างสอดคล้องกับมาตรฐานการครองชีพที่ควรจะเป็นจริง
แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากเดิมค่อนข้างมาก แต่เศรษฐกิจโดยเฉลี่ยของไทยยังสามารถรับอัตราดังกล่าวได้ เนื่องจากยังมีค่าน้อยกว่าผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร (774 บาท/วัน) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นหลัก (ผลิตภาพแรงงานนี้คำนวณเฉพาะอัตราการสบทบของแรงงานต่อ GDP เท่านั้น ไม่ได้รวมผลจากทุน)
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยยังมีปัญหาในการดำเนินการจริง เพราะแนวทางการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามปัจจัยทางเศรษฐกิจก็เหมือนกับแนวทางการคำนวณที่ใช้อยู่เดิม หากดำเนินการตามที่ชี้แจงก็ไม่อาจยกระดับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นจากฐานค่าแรงเดิมที่ไล่ไม่ทันสภาพเศรษฐกิจมาก่อน และยังไม่ได้คำนึงถึงครอบครัวของแรงงาน
การใช้เสียงของรัฐเป็นตัวตัดสินในการเจรจาค่าแรงขั้นต่ำ ตามตัวเลขที่ตนประกาศ จึงเป็นแนวทางบรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมที่สุด อย่างไรก็ดี การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรทำอย่างก้าวกระโดด การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบันที่วันละ 328-354 บาทสู่ระดับ 600 บาท ในเวลา 5 ปี หมายความว่าจะต้องมีการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 50-55 บาท หรือราว 15% จากฐานเดิม ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพเติบโตได้ 3% (และอาจเพิ่มขึ้นได้เป็น 5% ตามที่หาเสียง) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 1-3% ความเร็วในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนี้สามารถสร้างปัญหาต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ จนอาจกลับมากระทบต่อผู้ใช้แรงงานเสียเองในท้ายที่สุด (ซึ่งสามารถใช้ตรรกะเดียวกันสำหรับแนวทางของพรรคก้าวไกลได้เช่นกัน)
พรรคก้าวไกล
‘หวยใบเสร็จ’ ประโยชน์ 3 เด้ง แต่อาจคิดเล็กไป
นโยบายหวยใบเสร็จของพรรคก้าวไกลเป็นการให้สิทธิ์แก่ผู้บริโภคนำใบเสร็จที่ซื้อสินค้าจาก SME สะสมรวมกันตั้งแต่ 500 บาทไปแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ จำกัดไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือนและไม่เกินจำนวน 10 ล้านคน/เดือน และให้สิทธิ์ผู้ประกอบการในโครงการได้สลากกินแบ่งรัฐบาล 1 ใบเมื่อมียอดขายสะสมรวมกัน 5 พันบาท[5]พรรคก้าวไกล. เพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี[6]ศิริกัญญา ตันสกุล. The Special คุยกับทีมเศรษฐกิจ ‘ก้าวไกล’ รายการฟังหูไว้หู (25 เม.ย. 66). (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566)
นโยบายนี้น่าจะให้ประโยชน์ 3 เด้งที่ตอบโจทย์ปัญหาของเศรษฐกิจไทย
- เพิ่มแต้มต่อให้ SME โดยจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อของจาก SME แทนธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นการพยุงชีวิต SME หลายแห่งที่ฟื้นตัวได้ช้าจากวิกฤตโควิดและมีปัญหาการชำระหนี้[7]“สสว.เผยผลสำรวจ SME ไตรมาสแรก เอสเอ็มอีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ความสามารถชำระหนี้ลดลง,” ผู้จัดการออนไลน์, 2 พฤษภาคม 2566. (เข้าถึงเมื่อ 4 พฤษภาคม 2566)
- ดึง SME เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจูงใจให้ผู้บริโภคขอใบเสร็จจากร้านค้าซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง SME ที่อยู่ในและนอกระบบภาษี VAT
- สร้างฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริม SME เช่น การปล่อยเงินกู้แก่ SME ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยพิจารณาจากข้อมูลยอดขาย ซึ่งปัจจุบันทำไม่ได้เพราะขาดข้อมูล
เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมชอบลุ้นโชคของคนไทย นโยบายหวยใบเสร็จมีโอกาสประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะมีคนไทยราว 24.6 ล้านคนที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่เดิม[8]ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน. รายงานศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ประจำปี 2565. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566) สูงกว่าตัวเลขเป้าหมายของนโยบาย อีกทั้ง การเปลี่ยนมาซื้อสินค้าจากร้านค้า SME ก็ไม่น่าจะเพิ่มภาระต้นทุนให้แก่ผู้บริโภคมากนัก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปยี่ห้อเดียวกัน ซึ่งร้านโชห่วยและร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ขายในราคาแทบไม่ต่างกัน
แม้ว่าการขอใบเสร็จจากร้านที่ปัจจุบันอยู่นอกระบบภาษี VAT จะก่อให้เกิดต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้น แต่การขอใบเสร็จแลกสลากก็ยังคุ้มค่าสำหรับผู้บริโภคที่ชอบลุ้นโชค ซึ่งน่าจะเป็นกรณีทั่วไปสำหรับการซื้อสินค้ากับร้านค้าขนาดเล็ก เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่ซื้อสินค้ากับร้านโชห่วยไม่เกิน 900 บาทต่อสัปดาห์[9]สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์. ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในช่วงเดือน ต.ค.64. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566) ถึงผู้ประกอบการจะโอนภาระภาษี VAT ทั้งหมดให้ผู้ซื้อ ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น 63 บาท ยังต่ำกว่าราคาสลาก
อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ก็มีข้อจำกัดบางประการที่อาจทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวัง เช่น หากผู้บริโภคที่ชอบเล่นหวยส่วนใหญ่มียอดซื้อสินค้ารายเดือน 1 พันบาทกับร้านค้ารายเล็กอยู่แล้ว นโยบายก็จะไม่ได้เพิ่มกำลังซื้อให้ร้านเหล่านี้ตามที่คาดหวัง ผู้ซื้ออาจจะไม่ขอใบเสร็จเพิ่มหลังซื้อครบ 500 บาทและได้รับหวยใบเสร็จแล้ว ทำให้การเก็บภาษีและข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือร้านค้าหลายแห่งอาจไม่เข้าร่วมโครงการหากต้องรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นมาก แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะตระหนักถึงเรื่องนี้และออกนโยบายลดภาษีเงินได้แก่ SME ควบคู่กัน แต่ก็ต้องติดตามดูว่าเพียงพอจะจูงใจร้านค้าให้เข้าสู่ระบบภาษีได้หรือไม่
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ลดประสิทธิภาพของนโยบายนั้นมาจากข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเอง ที่จำกัดสิทธิ์การแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลไว้ที่ไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือน ทั้งที่การขยายสิทธิ์แลกสลากไม่น่าจะใช้งบประมาณเพิ่มมากนัก และที่จริงแล้วจะมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าหากรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นมากพอ ก็จะไม่จำเป็นต้องพึ่งงบประมาณก้อนเดิมแถมยังเป็นการสร้างรายได้เข้ารัฐด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือประเทศไต้หวันที่เปลี่ยนให้ใบเสร็จทุกใบเป็นหวยและนำเงินรายได้จากการเก็บภาษีได้มากขึ้นมาจ่ายเป็นเงินรางวัล[10]Hemels, Sigrid, and Marco Fabbri. “‘Do You Want a Receipt?’ Combating VAT and RST Evasion with Lottery Tickets”. Intertax: International Tax Review 41, no. 8 (January 2013): 430–443.
‘นโยบายสวัสดิการ’ รองรับอดีต แต่ไม่มุ่งเป้าสู่ ‘อนาคต’
นโยบายสวัสดิการเป็นจุดขายหนึ่งของพรรคก้าวไกลที่นำเสนอการสร้างระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครอบคลุมคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิด แรงงาน และผู้สูงอายุ ส่งผลให้งบประมาณที่ถูกตั้งไว้สำหรับนโยบายสวัสดิการทั้งหมดสูงถึง 6.5 แสนล้านบาทต่อปี
ในบรรดานโยบายสวัสดิการตลอดช่วงอายุ พรรคก้าวไกลจัดสรรงบประมาณให้กับบำนาญผู้สูงวัยมากที่สุด โดยเสนอให้ปรับเงินผู้สูงวัยจาก 600-1,000 บาท ขึ้นเป็น 3,000 บาท/คน/เดือน ในขณะที่เสนอเพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี จาก 600 บาท เป็น 1,200 บาท/คน/เดือน แต่ก็มีคูปองให้พ่อแม่เด็กเกิดใหม่ 3,000 บาท เพื่อนำไปแลกซื้อสิ่งของสำหรับพัฒนาการเด็ก
แนวสวัสดิการของพรรคก้าวไกลนี้ตั้งคำถามถึง ‘การจัดสรรทรัพยากรข้ามรุ่น’ เพราะจัดงบประมาณสำหรับสวัสดิการช่วงเกิด 50,000 ล้านบาท/ปี ในขณะที่จัดสวัสดิการสูงอายุ 500,000 ล้านบาท/ปี ต่างกันถึง 10 เท่า
เงินจำนวน 3,000 บาท/เดือนมักจะเป็นจุดตั้งต้นในการถกเถียงต่อรองเรื่องสวัสดิการ เพราะสอดคล้องกับเส้นความยากจน ที่ไม่อยากให้ใครต้องใช้ชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุนั้นมีโอกาสได้ทำงานมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเกือบครึ่งมีเงินออมหรือสินทรัพย์พอสำรับการเกษียณ และที่เหลือก็น่าจะพอมีเงินออม/สินทรัพย์ที่ร่วมใช้จ่ายในการดูแลตนเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องให้เงินเต็มจำนวนดังกล่าวก็ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่พ้นเส้นความยากจน
นอกจากนี้ เงินบำนาญผู้สูงวัยจะกลายเป็นภาระผูกพันก้อนใหญ่ในอนาคต เนื่องจากมีผู้เกษียณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปัจจุบันที่มีราว 11-12 ล้านคน อาจกลายเป็น 28 ล้านคนในเวลา 10 ปี[11]United Nations. World Population Prospect 2022. การเพิ่มเงินบำนาญผู้สูงวัยเป็น 3,000 บาท/เดือนที่จะใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาทในปี 2570 ก็สามารถทะลุ 1 ล้านล้านบาทต่อปีได้ในอนาคตอันใกล้ งบประมาณสำหรับเงินบำนาญผู้สูงวัยที่พรรคก้าวไกลตั้งไว้จะเป็นงบประมาณผูกพันจำนวนมหาศาลที่อาจสร้างภาระทางการคลังได้
ขณะที่การเลี้ยงดูเด็กเล็กมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,373 บาท/เดือน โดยที่เด็กเล็กนั้นยังไม่มีสินทรัพย์ และคนในวัยพ่อแม่ก็มีเวลาเก็บออมไม่มากเท่าผู้สูงอายุ การจัดสรรสวัสดิการถ้วนหน้า 1,200 บาท/เดือน จึงอาจยังไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ มีงานวิจัยชี้ชัดว่าการลงทุนในมนุษย์นั้นยิ่งเร็วยิ่งคุ้มค่า ซึ่งเด็กเล็กเหล่านี้จะต้องเติบโตขึ้นในสังคมสูงวัย และจะต้องเป็นกำลังหลักในการดูแลครอบครัวตลอดจนจ่ายภาษีหล่อเลี้ยงสวัสดิการ ยิ่งเรียกร้องให้เด็กเหล่านี้มีศักยภาพสูงจึงจะทำให้ประเทศไทยโดยรวมอยู่รอดได้ในอนาคต
การจัดสรรเช่นนี้จึงเหมือนเป็นการทำสวัสดิการเพื่อรองรับอดีต มากกว่าสวัสดิการเพื่อพาประเทศมุ่งสู่อนาคต
โจทย์ของการออกแบบสวัสดิการผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอาจต้องขยับไปให้ไกลกว่าการให้เงินบำนาญแก่ผู้สูงวัย เช่น การยกระดับระบบประกันสังคมให้สามารถจ่ายเงินบำนาญเมื่อถึงวัยเกษียณได้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน โดยต้องพิจารณาปรับขึ้นจำนวนเงินสมทบทั้งจากฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งจะเป็นภาระทางการคลังน้อยกว่าสวัสดิการแบบเงินบำนาญ นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงการปรับปรุงสวัสดิการในรูปแบบบริการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากการให้เงินก็ไม่อาจแก้ปัญหาสินค้า/บริการที่ขาดหายไปในตลาด โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานที่สุดอย่างที่อยู่อาศัย ปัจจุบันพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอนโยบายพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียงอยู่แล้ว แต่นโยบายนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้สูงวัยกลุ่ม ‘กึ่งพึ่งพิง’ ที่ยังดูแลตัวเองได้บ้างแต่ยังขาดทางเลือกเข้าถึงที่พักอาศัยราคาถูก โดยควรเพิ่มบริการที่พักสำหรับผู้สูงวัยให้หลากหลายและคำนึงถึงความเปราะบางในหลายระดับของผู้สูงวัย โดยอาจพิจารณาการพัฒนาที่พักสำหรับผู้สูงอายุในรูปแบบของบ้านโอบอุ้ม (assisted living housing)[12]สรัช สินธุประมา, “‘บ้านโอบอุ้ม’ ทางเลือกใหม่ที่พักอาศัยให้คนไทยสูงวัยในชุมชน,” ที่มีราคาถูกกว่าสถานดูแลขนาดใหญ่
↑1 | ธิติ เกตุพิทยา, ชิดชนก อันโนนจารย์ และทศพล ต้องหุ้ย. 2015. แรงกระตุ้นของนโยบายการคลังปี 2558-2559. FAQ Issue 106. สำนักงานประมาณของรัฐสภา. คู่มือการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP โดยตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers). 2564. |
---|---|
↑2 | Nicoletta Batini, Luc Eyraud, Lorenzo Forni, Anke Weber. Fiscal Multipliers: Size, Determinants, and Use in Macroeconomic Projections. International Monetary Fund. |
↑3 | Paolo Surico, Michele Andreolli. Smaller economic stimulus payments could boost consumer spending more. 2021. VOXEU Column. |
↑4 | พรรคก้าวไกล. ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท. |
↑5 | พรรคก้าวไกล. เพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) |
↑6 | ศิริกัญญา ตันสกุล. The Special คุยกับทีมเศรษฐกิจ ‘ก้าวไกล’ รายการฟังหูไว้หู (25 เม.ย. 66). (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) |
↑7 | “สสว.เผยผลสำรวจ SME ไตรมาสแรก เอสเอ็มอีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ความสามารถชำระหนี้ลดลง,” ผู้จัดการออนไลน์, 2 พฤษภาคม 2566. (เข้าถึงเมื่อ 4 พฤษภาคม 2566) |
↑8 | ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน. รายงานศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ประจำปี 2565. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566) |
↑9 | สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์. ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในช่วงเดือน ต.ค.64. (เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566) |
↑10 | Hemels, Sigrid, and Marco Fabbri. “‘Do You Want a Receipt?’ Combating VAT and RST Evasion with Lottery Tickets”. Intertax: International Tax Review 41, no. 8 (January 2013): 430–443. |
↑11 | United Nations. World Population Prospect 2022. |
↑12 | สรัช สินธุประมา, “‘บ้านโอบอุ้ม’ ทางเลือกใหม่ที่พักอาศัยให้คนไทยสูงวัยในชุมชน,” |