นโยบายส่งเสริม ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ หรือที่รัฐบาลมักเรียกขานอย่างผิดหลักวิชาว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) เป็นอีกหนึ่งข้อเสนอนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปีที่แล้ว และถูกบรรจุเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ในการเพิ่มรายได้ประชาชน ทั้งในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน และแพทองธาร ชินวัตร
ในบทความสุดท้ายของซีรีส์รีวิวนโยบายส่งท้ายปี 2024 นี้ 101 PUB ชวนสำรวจว่ารัฐบาลเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ‘แบบใด?’ และ ‘ไปถึงไหน?’ มีประเด็นอะไรที่น่าจับตาต่อไปในปีหน้า
Soft Power without THACCA’s Power …yet
นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย มุ่งหวังจะ ‘อัปเกรด’ และ ‘ขาย’ สินค้า ‘วัฒนธรรม-สร้างสรรค์’ อย่างอาหารไทย มวยไทย การท่องเที่ยวไทย สื่อบันเทิงไทย ไปจนถึงหนังสือไทย ในฐานะ ‘เครื่องจักรทางเศรษฐกิจ’ ตัวใหม่ ให้ช่วยยกระดับรายได้ของประชาชนในวงกว้าง ลดความเหลื่อมล้ำ แล้วนำพาประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
นโยบายข้างต้นประกอบด้วย 2 ขาใหญ่ ขาแรกคือนโยบายหนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power, OFOS) มีเป้าหมายในการลงทุน ‘พัฒนาทักษะ’ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของแรงงาน ครัวเรือนละ 1 คน รวม 20 ล้านคน ยกระดับให้กลายเป็น ‘แรงงานสร้างสรรค์ทักษะสูง’
อีกขาหนึ่งคือการจัดตั้งกลไกรวบอำนาจ-ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เป็นระบบ-เป็นเอกภาพ เรียกว่า ‘THACCA’ (Thailand Creative Culture Agency หรือสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์) ทำหน้าที่ส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ให้เติบโตจนมีตำแหน่งงานสร้างสรรค์ 20 ล้านตำแหน่ง มีรายได้ต่อคนอย่างน้อย 2 แสนบาทต่อปี สร้างเม็ดเงินให้ประเทศสูงถึง 4 ล้านล้านบาทต่อปี
รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน เริ่มดำเนินนโยบายนี้ตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งวันแรกๆ แกนกลางการขับเคลื่อนโดยเฉพาะในขาหลังคือการตรา พ.ร.บ. THACCA ซึ่งจะให้อำนาจรัฐบาลวางยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการสร้างเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดตั้งกองทุนเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุน ส่งเสริมหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรมทักษะ พัฒนาระบบรับรองคุณวุฒิและมาตรฐานอาชีพ คุ้มครองสิทธิและให้คำปรึกษาแรงงาน ตลอดจนให้ทุนและอำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจและโครงการที่เกี่ยวข้อง
ถึงกระนั้น การจัดทำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวกลับมีความคืบหน้าล่าช้ามาก แม้จะถูกพูดถึงตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งและเริ่มยกร่างตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2023 แต่จนปัจจุบัน (27 ธันวาคม 2024) ร่างก็ยังไม่ได้ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องพูดถึงชั้นเสนอให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งอาจกินเวลาอีกหลายเดือนหรือนับปี – เสี่ยงไม่ทันกรอบเวลาที่รัฐบาลประกาศไว้ ‘ครั้งล่าสุด’ คือกลางปี 2025
เมื่อรวมกับระยะเวลาตรากฎหมายลูกและจัดตั้งกลไกต่างๆ ให้พร้อมทำงานจริง การเดินหน้าส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายใต้ระบบ THACCA เต็มรูปแบบก็อาจต้องรั้งรอเวลาอีกนาน ยากจะบรรลุเป้าหมายสร้างแรงงานทักษะสูง-ตำแหน่งงาน-รายได้ตามที่ตั้งไว้ได้สำเร็จก่อนรัฐบาลหมดวาระ
จัด ‘งบ’ เหมือนเดิม ก็อาจได้ผลแบบเดิม-อนาคตแบบเดิม[1]ยกและดัดแปลงมาจาก: วรดร เลิศรัตน์, “8 ประเด็นสำคัญจาก ‘ร่างงบปี 68’: คิดใหญ่ ใช้เงินเป็น เห็นอนาคต?,” 101 Public Policy Think Tank, 21 มิถุนายน 2024, https://101pub.org/2025-government-budget-draft/ … Continue reading
ในระหว่างนี้ รัฐบาลได้เริ่มใช้งบประมาณลงทุนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ยังเป็นสัดส่วนต่ำ และอาจมีเนื้อหาสาระไม่ต่างจากในอดีตมากนัก งบรายจ่ายรัฐบาลปี 2025 (ตุลาคม 2024 – กันยายน 2025) ตั้งโครงการและรายการใช้จ่ายที่ปรากฏคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ อยู่ในชื่อเป็นวงเงินเพียง 2.1 พันล้านบาท หากนับรวมโครงการอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่รัฐบาลส่งเสริมทุกสาขา จะมีกรอบใช้จ่าย 25.9 พันล้านบาท คิดเป็น 0.7% ของงบทั้งหมดเท่านั้น
งบก้อนนี้กว่า 2 ใน 3 หรือ 69.8% เป็นงบส่งเสริมอุตสาหกรรมการ ‘ท่องเที่ยว’ สาขาที่ได้งบรองลงมาคือ สาขาภาพยนตร์ ละคร การแสดง สารคดี และอนิเมชัน (3.1%) และสาขาอาหาร (2.7%) บางสาขาได้งบน้อยมาก เช่น สาขาหนังสือ (0.2%) สะท้อนการ ‘ไม่เปิดกว้าง-สร้างสรรค์’ ของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ‘สร้างสรรค์’ ซึ่งยังคงทุ่มงบในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก
งบเพียง 2.3% ใช้สำหรับ ‘พัฒนาทักษะแรงงานสร้างสรรค์’ ทั้งที่ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการส่งเสริมเศรษฐกิจสาขานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวางเป้าหมายครอบคลุมประชากรวงกว้างถึง 20 ล้านคน ให้หนึ่งครอบครัว มีหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์
ที่สำคัญ งบส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังมีลักษณะ ‘ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง’ เม็ดเงินส่วนใหญ่หมดไปกับการก่อสร้าง จัดอีเวนต์ และประชาสัมพันธ์คล้ายกับในอดีต ตัวอย่างเช่น งบส่งเสริมการท่องเที่ยว 1 ใน 3 ใช้สร้างถนนเชื่อมโยงไปยังพื้นที่-สถานที่ท่องเที่ยว และอีก 1 ใน 3 ใช้กับงานก่อสร้างอื่น – น่าตั้งคำถามว่า ถนนเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในปัจจุบันหรือไม่?
ชุดข้อเสนอนโยบายของพรรคเพื่อไทยสะท้อนมุมมองของพรรคว่าไทยต้องเปลี่ยนวิธีส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงจะสามารถอาศัยเศรษฐกิจสาขานี้เป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจแห่งอนาคตได้ แต่การจัดงบของรัฐบาลเพื่อไทยกลับมิได้สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก เมื่อทำเหมือนเดิม ก็อาจได้ผลเหมือนเดิม ได้อนาคตเหมือนเดิม
ลงทุนพัฒนาทักษะน้อย แถมอาจไร้ประสิทธิผล?
ขอขยายความถึงปัญหาการลงทุนพัฒนาทักษะแรงงานสร้างสรรค์น้อยอีกสักหน่อย
หนึ่งในข้อเสนอสำคัญของพรรคเพื่อไทย คือการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะทักษะ/ธุรกิจสร้างสรรค์ในทุกจังหวัด และขยายไปจัดตั้งถึงระดับหมู่บ้าน แต่งบปี 2025 วางกรอบการใช้จ่ายจัดตั้งศูนย์ระดับจังหวัดข้างต้นไว้เพียง 10 แห่ง หากลงทุนจำกัดเช่นนี้ ก็ยากที่จะจัดตั้งได้ครบทุกจังหวัดก่อนคณะรัฐมนตรีหมดวาระ[2]ยกและดัดแปลงมาจาก: วรดร เลิศรัตน์, “8 ประเด็นสำคัญจาก ‘ร่างงบปี 68’: คิดใหญ่ ใช้เงินเป็น เห็นอนาคต?,” 101 Public Policy Think Tank, 21 มิถุนายน 2024, https://101pub.org/2025-government-budget-draft/ … Continue reading
อนึ่ง แหล่งเรียนรู้ทักษะสร้างสรรค์บางประเภทกลับถูกตัดงบในปีนี้ด้วยซ้ำ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ซึ่งรับผิดชอบดูแล TK Park ถูกหั่นงบลงมากกว่าครึ่ง จาก 1.4 พันล้านบาทในปีที่แล้ว เหลือเพียง 0.6 พันล้านบาท[3]ยกและดัดแปลงมาจาก: วรดร เลิศรัตน์, “8 ประเด็นสำคัญจาก ‘ร่างงบปี 68’: คิดใหญ่ ใช้เงินเป็น เห็นอนาคต?,” 101 Public Policy Think Tank, 21 มิถุนายน 2024, https://101pub.org/2025-government-budget-draft/ … Continue reading
ขณะที่แพลตฟอร์มพัฒนาทักษะออนไลน์เริ่มเปิดใช้งานแล้ว มีลักษณะเป็นการรวบรวมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องจากแหล่งต่างๆ มาไว้บนแพลตฟอร์มเดียว (ลองเข้าไปเรียนกันได้ในแอป ‘ทางรัฐ’) แต่ก็ปรากฏปัญหาหลายอย่าง เช่น หลักสูตรมีจำนวนน้อยและไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรระยะสั้นมากที่เรียนจบได้ใน 1 ชั่วโมง บางหลักสูตรจบใน 15 นาทีด้วยซ้ำ! แถมหลายทักษะยังไม่มีหลักสูตรระดับสูงขึ้นให้เรียนได้ต่อเนื่อง – ทั้งที่เราไม่น่าเชี่ยวชาญทักษะสร้างสรรค์ขั้นสูงใดๆ ก็ตามได้ภายใน 15 นาที
บางหลักสูตรยังอาจไม่ตอบโจทย์แรงงาน ทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนได้ ยกตัวอย่างหลักสูตรระยะยาวที่กำลังจะเริ่มเรียนเร็วๆ นี้ อย่างหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพ ‘หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย’ ซึ่งประกอบด้วยการฝึกอบรมภาคปฏิบัติเข้าครัวรวม 150 ชั่วโมง เรียนวันละ 8-10 ชั่วโมง เป็นเวลา 10-20 วัน ภายในระยะเวลา 30 วัน หากออกแบบหลักสูตรเช่นนี้ แรงงานที่มีงานทำอยู่ส่วนใหญ่คงไม่มีเวลามากพอจะปลีกตัวไปเรียนได้ และผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2021 พบว่า สาเหตุสำคัญที่สุดที่แรงงานไทยไม่เข้าฝึกอบรม-เพิ่มทักษะ ก็เพราะพวกเขา ‘ไม่มีเวลา[4]ดูเพิ่มเติม: ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์, “นโยบาย Upskill เติมทักษะใหม่ อุดหนุนแค่ค่าเรียนได้ผลหรือไม่,” 101 Public Policy Think Tank, 13 มีนาคม 2023, https://101pub.org/incomprehensive-upskill-policies/ … Continue reading
Soft Power ไทย จะไปทางไหนต่อ?
การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ถือเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลในการยกระดับรายได้ประชาชน แต่การตรากฎหมายใหม่เพื่อขับเคลื่อนนโยบายกลับล่าช้ามาก แม้รัฐบาลพยายามจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการส่งเสริมต่างๆ ภายใต้กรอบกฎหมายปัจจุบัน แต่มูลค่างบก็ต่ำ โดยเฉพาะงบสำหรับลงทุนพัฒนาทักษะแรงงานสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของนโยบาย ที่สำคัญ การจัดสรรงบและการลงทุนพัฒนาทักษะยังมีปัญหาในเชิงคุณภาพ อาจไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยไปสู่ภาพอนาคตที่มุ่งหวัง
คงต้องจับตากันต่อไปว่า รัฐบาลจะเดินหน้านโยบายนี้ในปีหน้าอย่างไร? พ.ร.บ. THACCA จะจัดทำเสร็จสิ้นไหม? ออกมาหน้าตาแบบไหน? การจัดสรรงบปี 2026 ที่ตอนนี้เริ่มลงมือทำกันแล้ว จะสร้างความหวังต่อความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่? แล้วก้าวต่อไปของการลงทุนพัฒนาทักษะแรงงานสร้างสรรค์จะเป็นอย่างไร?
↑1, ↑2, ↑3 | ยกและดัดแปลงมาจาก: วรดร เลิศรัตน์, “8 ประเด็นสำคัญจาก ‘ร่างงบปี 68’: คิดใหญ่ ใช้เงินเป็น เห็นอนาคต?,” 101 Public Policy Think Tank, 21 มิถุนายน 2024, https://101pub.org/2025-government-budget-draft/ (เข้าถึงเมื่อ 27 ธันวาคม 2024). |
---|---|
↑4 | ดูเพิ่มเติม: ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์, “นโยบาย Upskill เติมทักษะใหม่ อุดหนุนแค่ค่าเรียนได้ผลหรือไม่,” 101 Public Policy Think Tank, 13 มีนาคม 2023, https://101pub.org/incomprehensive-upskill-policies/ (เข้าถึงเมื่อ 27 ธันวาคม 2024). |