ส่องงบ Upskill คนไทย ในร่างงานปี 68

ส่องงบ Upskill คนไทยในร่างงบปี 68

นโยบายพัฒนาทักษะเป็นนโยบายสำคัญในการเพิ่มโอกาสได้รับการจ้างงานและยกระดับรายได้ของประชาชน ตลอดจนพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสมัยใหม่-รายได้สูงของประเทศ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วในโลกโลกาภิวัตน์

อย่างไรก็ดี หากพลิกดูร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 (ร่างงบ 2025) วงเงินเกือบ 3.8 ล้านล้านบาทเพื่อสำรวจว่ารัฐบาลใช้งบลงทุนกับพัฒนาทักษะประชาชนอย่างไร จะพบว่ารัฐบาลยังคงลงทุนน้อยมาก ขาดประสิทธิภาพ แถมยังอาจไม่ตอบโจทย์ประเทศ

101 PUB ชวนสำรวจร่างงบ 2025 ว่ารัฐบาลลงทุนพัฒนาทักษะประชาชนอย่างไร มีปัญหาใดขวางกั้นมิให้สามารถยกระดับทักษะและรายได้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

ร่างงบ 2025 จัดงบพัฒนาทักษะ 39 บาท/คน ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ร่างงบ 2025 จัดงบพัฒนาทักษะ 39 บาท/คน ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ร่างงบ 2025 ตั้งงบสำหรับโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะรวม 1,566.1 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 38.7 บาทต่อกำลังแรงงานหนึ่งคน[1]ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2024; สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2024). สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2024 ถือเป็นสัดส่วนเพียง 0.04% ของงบประมาณทั้งหมด โดยถูกจัดสรรเป็นรายจ่ายของโครงการย่อยจำนวน 39 โครงการ[2]101 PUB นิยามโครงการพัฒนาทักษะว่าเป็นโครงการที่มีคำสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น ‘ทักษะ’ ‘พัฒนาศักยภาพ’ หรือ ‘ฝีมือแรงงาน’ … Continue reading

กรอบงบดังกล่าวนับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นโครงการพัฒนาทักษะเรือธงของอินโดนีเซียอย่าง Kartu Parkerja ซึ่งเป็นโครงการอุดหนุนค่าอบรมทักษะผ่านหลักสูตรออนไลน์สำหรับประชากรอายุ 18-64 ปี ระหว่างปี 2020-2022 โครงการนี้ได้รับจัดสรรงบประมาณเฉลี่ย 13,197.8 ล้านบาทต่อปี[3]ข้อมูลจาก Kartu Prakerja สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2024 หรือเฉลี่ย 95.6 บาทต่อกำลังแรงงานหนึ่งคนต่อปี[4]ข้อมูลกำลังแรงงานจาก World Bank สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2024 หมายความว่า โครงการนี้เพียงโครงการเดียวได้รับจัดสรรงบมากกว่างบพัฒนาทักษะของไทยในปี 2025 ทุกโครงการรวมกันถึง 2.5 เท่าตัว สะท้อนการลงทุนพัฒนาทักษะของไทยที่ตามไม่ทันเพื่อนบ้าน

งบถูกกระจายไป 32 หน่วยงาน จ่ายค่าดำเนินการซ้ำซ้อน-ไร้ประสิทธิภาพ

งบถูกกระจายไป 32 หน่วยงาน จ่ายค่าดำเนินการซ้ำซ้อน - ไร้ประสิทธิภาพ

งบมูลค่าแสนน้อยนี้ถูกกระจายออกไปยังหน่วยงานต่างๆ ถึง 32 หน่วยงาน เท่ากับว่าหนึ่งหน่วยงานบริหารงบพัฒนาทักษะเฉลี่ยเพียง 48.9 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้รับงบสูงสุดเป็นวงเงิน 588.0 ล้านบาท หรือ 37.6% ของงบพัฒนาทักษะทั้งหมด โดยเน้นใช้งบพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานนอกระบบและผู้เปราะบาง รวมถึงพัฒนาทักษะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (ซึ่งถูกเรียกอย่างผิดหลักวิชาว่า “ซอฟต์พาวเวอร์”) ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน

การกระจายงบไปยังหลายหน่วยงานเช่นนี้ทำให้การดำเนินโครงการเสี่ยงซ้ำซ้อนกัน เช่น ‘โครงการเพิ่มทักษะแรงงานอิสระและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ’ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (182.5 ล้านบาท) กับ ‘โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ต้องขังเพื่อคืนคนดีสู่สังคม’ ของกรมราชทัณฑ์ (43.6 ล้านบาท) โดยโครงการของกรมพัฒนาฝีมือได้ตีกรอบกลุ่มเป้าหมายทั้งแรงงานนอกระบบและกลุ่มเป้าหมายอื่นซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ต้องหา ซ้ำซ้อนกันโครงการพัฒนาฝีมือของกรมราชทัณฑ์

อีกตัวอย่างคือ ‘โครงการส่งเสริมทักษะโค้ดดิ้งทุกช่วงวัย (Coding Thailand) เรียนจบไม่ตกงาน’ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (53.9 ล้านบาท) กับ ‘โครงการพัฒนากำลังคนด้าน Big Data’ ของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (13.0 ล้านบาท) ซึ่งเลือกทำแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะคอมพิวเตอร์ เช่น การเขียนโปรแกรม เหมือนกัน ต่างที่โครงการแรกเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นประชากรวัยเรียน ส่วนโครงการหลังไม่ได้ระบุกลุ่มเป้าหมายชัดเจน

โครงการแต่ละโครงการยังอาจมีต้นทุน ‘ค่าดำเนินการ’ ก้อนใหญ่ซ้ำซ้อนกันโดยไม่จำเป็น ใน ‘โครงการเตรียมความพร้อมแก่กลุ่มเป้าหมายก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน’ ของกรมการจัดหางาน (47.4 ล้านบาท) งบค่าดำเนินการมีมูลค่าสูงถึง 14.3 ล้านบาท หรือ 30.0% ของงบทั้งโครงการ โดยประกอบด้วยค่าประชุม ค่าครุภัณฑ์ ค่าศึกษาแนวทางเก็บข้อมูล และค่าโฆษณา ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่คาดหมายได้ว่าจะปรากฏในโครงการอื่นอีกหลายโครงการ หากดำเนินการร่วมกัน จึงย่อมลดต้นทุนดังกล่าวลงได้

การดำเนินนโยบายพัฒนาทักษะอย่างบูรณาการ – ไม่แยกเป็นโครงการจิ๋ว-กระจายเป็นเบี้ยหัวแตก – ยังอาจช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ของโครงการ เช่น ถ้าแต่ละโครงการพัฒนาหลักสูตรที่เนื้อหาใกล้เคียงกันร่วมกัน ใช้แพลตฟอร์มเดียวกัน และประชาสัมพันธ์ด้วยกัน ก็ย่อมสามารถเข้าถึงและพัฒนาทักษะแรงงานเป็นจำนวนมากขึ้น ต่อเนื่องกันยิ่งขึ้น ในภาพรวม จึงทำให้การดำเนินนโยบายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

วิธีจัดงบชวนตั้งคำถาม พัฒนาทักษะถูกทางหรือไม่?

วิธีจัดงบชวนตั้งคำถาม พัฒนาทักษะถูกทางหรือไม่?

ร่างงบ 2025 ยังสะท้อนถึงนโยบายการพัฒนาทักษะของรัฐบาลที่ไม่เหมาะสม หลายโครงการลงทุนพัฒนาทักษะที่อาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในอนาคต หนึ่งในโครงการใหญ่ที่สุดอย่าง ‘โครงการเพิ่มทักษะแรงงานอิสระและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ’ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังเน้นสอนทักษะระดับพื้นฐานมาก ไม่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานที่มีทักษะและผลิตภาพสูง ตัวอย่างทักษะเช่นการซ่อมบำรุงรถยนต์น้ำมัน (สันดาปภายใน) ก็อาจ ‘ตกยุค’ ภายในไม่กี่ปีข้างหน้าจากแนวโน้มที่รถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเข้ามาแทนที่รถยนต์น้ำมันมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

การส่งเสริมทักษะของรัฐบาลยังอาจใช้วิธีการไม่เหมาะสม ตัวอย่างได้แก่ ‘โครงการพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับการทำงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ’ งบ 56.3 ล้านบาท หรือ 44.6% ของงบโครงการรวม 126.3 ล้านบาท ถูกจัดสรรเพื่อจัดงานและเข้าร่วมการประกวดต่างๆ ชวนตั้งคำถามว่า การประกวดลักษณะดังกล่าวตอบโจทย์การพัฒนาทักษะแรงงานของประเทศมากแค่ไหน?

รัฐต้องดำเนินนโยบายพัฒนาทักษะโดยมองผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

ร่างงบ 2025 ชี้ให้เห็นปัญหาในการดำเนินนโยบายพัฒนาทักษะแรงงานของไทย นอกจากจะลงทุนน้อยจนน่าตกใจ ยังกระจายงบและโครงการเป็นเบี้ยหัวแตก เกิดความซ้ำซ้อน ไม่ก่อผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร และขาดประสิทธิภาพ แนวทางดำเนินงานยังอาจไม่ตอบโจทย์การพัฒนาทักษะแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต

รัฐควรดำเนินนโยบายนี้โดยลดการรวมศูนย์อำนาจและยึดผู้พัฒนาทักษะเป็นศูนย์กลางยิ่งขึ้น จากแต่เดิมที่ทำตัวเป็นคุณแม่รู้ดีจัดหลักสูตรอบรมให้ประชาชนเอง รัฐพึงลดบทบาทเป็นตัวกลางเชื่อมแรงงานกับผู้อบรมเอกชน ซึ่งมีแนวโน้มจะพัฒนาและจัดการทัฒนาทักษะได้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ดีและทันท่วงทีกว่า ขณะเดียวกัน ก็ควรเติมทรัพยากรสนับสนุนให้แรงงานทุกคนมีโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะอย่างเสมอภาค อย่างน้อยต้องช่วยอุดหนุนค่าเล่าเรียน และค่าเสียโอกาสจากการหยุดงานมาฝึกทักษะแก่ประชาชน[5]อ่านเพิ่มเติม; ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์. (2023). นโยบาย Upskill เติมทักษะใหม่ อุดหนุนแค่ค่าเรียนได้ผลหรือไม่. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2024

References
1 ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2024; สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2024). สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2024
2 101 PUB นิยามโครงการพัฒนาทักษะว่าเป็นโครงการที่มีคำสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น ‘ทักษะ’ ‘พัฒนาศักยภาพ’ หรือ ‘ฝีมือแรงงาน’ รวมถึงเพิ่มค่าใช้จ่ายในการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อีก 50 ล้านบาทเข้าไปด้วย
3 ข้อมูลจาก Kartu Prakerja สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2024
4 ข้อมูลกำลังแรงงานจาก World Bank สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2024
5 อ่านเพิ่มเติม; ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์. (2023). นโยบาย Upskill เติมทักษะใหม่ อุดหนุนแค่ค่าเรียนได้ผลหรือไม่. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2024

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

กษิดิ์เดช คำพุช

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

กยศ. จะถังแตกใน 3 เดือน!?: ปัญหาเงินสดหมดกองทุน และหนทางเอาตัวรอด

101 PUB ชวนสำรวจวิกฤตสภาพคล่องของ กยศ. ที่อาจถังแตกในเดือนธันวาคม 2024 นี้ พร้อมทั้งพิจารณาทางเลือกว่าจะช่วยให้ กยศ. พ้นจากวิกฤตได้อย่างไร

ดึงดูดแรงงานต่างชาติทักษะสูง: ทางรอดเศรษฐกิจไทยที่ยังเปี่ยมขวากหนาม

แรงงานทักษะสูงกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก แต่นโยบายดึงดูดแรงงานให้เข้ามาทำงานยังเป็นขวากหนามใหญ่ที่ยังแก้ไขได้ไม่รอบด้าน

Policy What! EP.16: นโยบาย Upskill ไทย สู้เพื่อนบ้านไหวไหม?

นโยบาย OFOS อัปสกิลแรงงาน 20 ล้านครัวเรือน เมื่อเทียบกับนโยบาย ‘เรือธง’ ด้านการพัฒนาทักษะแรงงานของเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและสิงค์โปร์ ไทยจะ upskill – reskill แรงงานสู้เขาได้ไหม?

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.