ประเด็นสำคัญ
- ผู้ให้บริการรายใหญ่ต่างรายงานต่อนักลงทุนไว้ว่าค่าบริการมือถือต่อหมายเลขเพิ่มมากขึ้น ส่วนค่าบริการอินเทอร์เน็ตบ้านต่อผู้ใช้ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แต่ปัจจุบัน กสทช. กลับพบว่าค่าบริการถูกลง - เท่าเดิม
- แพ็กเกจมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านราคาถูกที่สุดที่เคยมีก่อนควบรวมหายไป บีบให้ผู้บริโภคที่ใช้งานน้อยต้องจ่ายแพงขึ้น นอกจากนั้นผู้ให้บริการรายใหญ่ยังใช้กลยุทธ์ขายพ่วงมือถือ/อินเทอร์เน็ตบ้านมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้เปลี่ยนค่ายยากขึ้นในอนาคต
- แม้ กสทช. จะวางเงื่อนไขควบคุมราคาแก่ผู้ควบรวมไว้แล้ว แต่กระบวนการติดตามการทำตามเงื่อนไขก็เป็นไปอย่างล่าช้า ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน หรือแม้กระทั่งความไม่พร้อมตั้งแต่ต้นของ กสทช. ในการกำกับดูแล
“เมื่อวิเคราะห์แง่ผลกระทบ [จากการควบรวม TRUE+DTAC] ย่อมมีความเป็นไปได้…ซึ่งข้อมูลที่มีสามารถคาดการณ์ไปได้หลายความเป็นไปได้นั้น ผลการศึกษาต่างๆ ไม่สามารถรับรองหรือยืนยันได้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่”
สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ให้ความเห็นกรณีรับทราบควบรวม TRUE+DTAC
ที่มา: กสทช.[1]มติ กสทช. นัดพิเศษครั้งที่ 5/2022 วันที่ 20 ตุลาคม 2022. ย่อโดย 101 PUB
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมของไทย ได้อนุมัติดีลใหญ่ที่ส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม 2 ดีลตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา คือ 1) การรับทราบการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในวันที่ 20/10/2022[2]Thairath+. (20 ตุลาคม 2022). กสทช.อนุมัติควบรวม TRUE-DTAC แบบมีเงื่อนไข หากผูกขาด อาจระงับยกเลิก หรือปรับปรุงเงื่อนไข. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025. … Continue reading ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ และ 2) การอนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เข้าซื้อหุ้นของบริษัท ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ จำกัด หรือ 3BB ในวันที่ 10/11/2023[3]สำนักข่าวอิศรา. (10 พฤศจิกายน 2023). ห้ามขึ้นราคา-ลดคุณภาพ! มติ 4:1 กสทช.อนุญาตรวมธุรกิจเน็ตบ้าน AIS-3BB กำหนด 22 มาตรการเฉพาะ. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025. … Continue reading
ดีลยักษ์ทั้งสองได้สร้างความกังวลให้กับนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชน จนมีการเรียกร้องให้เกิดการคุมเข้มและไม่อนุญาตให้ควบรวม อย่างไรก็ดี กสทช. มองว่าการควบรวมจะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะจากการประหยัดต้นทุน[4]ฉัตร คำแสง. (2022). 5 เรื่องเล่า vs 5 เรื่องจริง ดีลควบรวมทรู+ดีแทค และบทบาทของ กสทช. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2025. https://101pub.org/5-narratives-vs-5-facts-about-dtac-true-merger/ และหาก กสทช. วางเงื่อนไขหลังควบรวมได้ดีพอก็จะช่วยให้ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่าโทษ[5]สำนักข่าวอิศรา. (11 พฤศจิกายน 2023). ไม่ถึงขั้นผูกขาด! กสทช.รับควบรวม AIS-3BB ค่าบริการอาจแพงขึ้น เชื่อมาตรการเฉพาะป้องกันได้. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025. … Continue reading
แต่เหมือน กสทช. กับผู้บริโภคจะอยู่ในโลกคนละใบ โลกของผู้บริโภคนั้น ค่าบริการแพงขึ้นและคุณภาพของการบริการก็มีปัญหามากขึ้นทุกที[6]การสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับตัวแทนผู้บริโภคโดย 101 PUB. แต่ในโลกของ กสทช. ผลที่เกิดกลับตรงกันข้าม นอกจากนี้การติดตามการทำตามเงื่อนไขหลังควบรวมโดย กสทช. เองก็ยังดำเนินการอย่างล่าช้า บางเรื่องกระทั่งยังหาวิธีการติดตามไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำนักงาน กสทช. เข้ามารายงานด้วยตัวเองต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ (ต่อไปนี้จะเรียกว่า กมธ.) ในวันที่ 30/1/2025[7]การสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับตัวแทนผู้บริโภคโดย 101 PUB.
สิ่งที่ผู้บริโภคเจอในโลกจริงต่างกับสิ่งที่ กสทช. เห็นอย่างไรบ้าง? ใครคือผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากการควบรวม? สภาองค์กรของผู้บริโภค (Thailand Consumers Council: TCC) ร่วมกับ 101 PUB สำรวจผลกระทบด้านราคาหลังควบรวม TRUE+DTAC และ AIS+3BB บนโลกของความเป็นจริงกับโลกของ กสทช. ในบทความนี้
ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลังควบรวม แต่ กสทช. มองไม่เห็น

ผลกระทบหลังควบรวม TRUE+DTAC ต่อบริการโทรศัพท์มือถือ
เกือบสองปีหลังจากการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE+DTAC ผู้บริโภคที่ใช้บริการมือถือทั้งสองค่ายมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.9%[8]คือค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการของทั้งสองค่าย เมื่อพิจารณาค่าบริการต่อเลขหมายก่อน–หลังควบรวม ผ่านรายได้เฉลี่ยของบริษัทต่อผู้ใช้บริการ 1 คน หรือ ARPU (Average Revenue Per User) ที่ภาคธุรกิจรายงานเพื่อแสดงถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจแก่ผู้ถือหุ้น
เมื่อย้อนกลับไปดูสภาพการแข่งขันของผู้ให้บริการมือถือในอดีต จะเห็นว่า ARPU เฉลี่ยทั้งตลาด (ซึ่งรวมผู้ให้บริการรายอื่นๆ ด้วย) มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ[9]ฐานข้อมูลอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จัดทำโดย กสทช. (ภาพที่ 2) ตามการแข่งขันของผู้ให้บริการที่เคยมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง[10]ฉัตร คำแสง. (2022). 5 เรื่องเล่า vs 5 เรื่องจริง ดีลควบรวมทรู+ดีแทค และบทบาทของ กสทช. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2025. https://101pub.org/5-narratives-vs-5-facts-about-dtac-true-merger/

ที่มา: กสทช.
หมายเหตุ: ตัวเลขปี 2024 คือไตรมาส 3/2024
แต่หลังจากนั้น ARPU ก็เริ่มนิ่งช่วงที่เกิดการควบรวมและค่อยๆ มีความเป็นไปได้สูงที่ ARPU เฉลี่ยทั้งตลาดจะเพิ่มขึ้นหลังจากนั้น โดย ARPU ของ TRUE เพิ่มขึ้นจาก 205 บาท/เลขหมาย/เดือน เป็น 215 บาท/เลขหมาย/เดือน คิดเป็น 4.9%[11]คำนวณโดย 101 PUB เอกสารนำเสนอการแถลงผลประกอบการ TRUE ไตรมาส 4/2022 กับ 4/2024. ส่วน AIS เพิ่มขึ้นจาก 213 บาท/เลขหมาย/เดือน เป็น 228 บาท/เลขหมาย/เดือน คิดเป็น 7.0%[12]คำนวณโดย 101 PUB เอกสารนำเสนอการแถลงผลประกอบการ AIS ไตรมาส 4/2022 กับ 4/2024. (ภาพที่ 3) ด้านปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะลดลง โดยมีสัญญาณจากปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตมือถือต่อเลขหมายของผู้ใช้ AIS ที่ลดลง 5.4% หลังจากควบรวม แม้ TRUE จะไม่มีการรายงานเลขนี้ แต่ก็มีโอกาสที่ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตจะลดลงเช่นกัน หากพฤติกรรมของผู้ใช้ทั้งสองค่ายไม่แตกต่างกัน[13]คำนวณโดย 101 PUB เอกสารนำเสนอการแถลงผลประกอบการ AIS ไตรมาส 4/2022 กับ 4/2024. ดังนั้นแล้วราคาต่อหน่วยที่ผู้บริโภคใช้ก็ควรจะเพิ่มขึ้น

ที่มา: เอกสารนำเสนอการแถลงผลประกอบการของผู้ให้บริการ รวบรวมโดย 101 PUB
หมายเหตุ: TRUE กับ DTAC รวมธุรกิจเสร็จสิ้นในวันที่ 1 มีนาคม 2023
หากพิจารณาแนวโน้ม ARPU หลังควบรวมตามภาพที่ 2 จะเห็นว่าหลังควบรวมช่วง 3 ไตรมาสแรก (ไตรมาส 1–ไตรมาส 3/2023) ARPU ของ TRUE มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับก่อนควบรวม แต่หลังจากนั้น ARPU ของ TRUE ก็กลับมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่วน ARPU ของ AIS หลังควบรวม TRUE+DTAC ก็กลับตัวเพิ่มขึ้นทันทีและเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่า AIS ก็ได้ประโยชน์จากการควบรวมเช่นเดียวกันเพราะภาพรวมการแข่งขันในตลาดน้อยลง
นอกจากนั้น เมื่อแบ่งผู้ใช้บริการมือถือออกเป็นประเภทเติมเงิน (Pre-Paid) และรายเดือน (Post-Paid) จะพบว่า ARPU ของผู้ให้บริการที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจาก ARPU ของกลุ่มเติมเงินของทั้งสองค่ายเป็นหลัก โดย ARPU ของผู้ใช้บริการเติมเงินของ TRUE เพิ่มขึ้น 12.0% ส่วน AIS เพิ่มขึ้น 16.3% ขณะเดียวกัน ARPU ของกลุ่มรายเดือนในค่าย TRUE กลับเพิ่มขึ้นเพียง 1.7% และกลุ่มรายเดือนของ AIS กลับลดลง 2.6% (ตารางที่ 1) การเปรียบเทียบ ARPU ทั้งสองกลุ่มจึงทำให้เห็นได้ว่าผู้ให้บริการเลือกใช้กลยุทธ์ผ่านการเพิ่มรายได้กับผู้มีรายได้น้อยเป็นซึ่งนิยมใช้บริการในรูปแบบเติมเงินมากกว่ากลุ่มฐานะอื่นๆ

ที่มา: เอกสารนำเสนอการแถลงผลประกอบการของผู้ให้บริการ คำนวณโดย 101 PUB
แม้ตัวเลขที่กล่าวมาจะชี้ให้เห็นว่าหลังควบรวมค่าบริการมือถือเพิ่มมากขึ้น แต่การชี้แจงผลกระทบการควบรวมของ กสทช. ต่อ กมธ. กลับให้ข้อสรุปที่แตกต่างอย่างมาก เนื่องจาก กสทช. ได้รายงานว่าค่าบริการต่อเลขหมายก่อน–หลังควบรวมไม่เปลี่ยนแปลง คือ 215 บาท/เลขหมาย/เดือน แต่เมื่อ กสทช. คำนวณราคาโทรศัพท์/นาทีจะพบว่าลดลงจาก 0.48 บาท/นาที เหลือ 0.41 บาท/นาที หรือราคาลดลง 14.6% จากก่อนควบรวม ส่วนราคาอินเทอร์เน็ตมือถือก็ลดลงจาก 0.10 บาท/MB เหลือ 0.08 บาท/MB หรือราคาลดลง 20.0% จากก่อนควบรวม ซึ่งถือว่าผ่านเกณฑ์ควบคุมราคาของ กสทช. ที่กำหนดไว้ว่าราคา/นาทีและราคา/MB ต้องไม่เกิน 0.6 บาท/นาที และ 0.16 บาท/MB ตามลำดับ จากเกณฑ์ที่ กสทช. ตั้งจะเห็นว่า กสทช. มุ่งเน้นกำกับราคาผ่านราคา/นาทีและราคา/MB เป็นหลัก
ตัวเลขที่ กสทช. ชี้แจง นำไปสู่ข้อสรุปว่าผู้ให้บริการล้วนปฏิบัติตามเพดานราคาที่ กสทช. ตั้งไว้ แถมผู้บริโภคก็จ่ายค่ามือถือเท่าเดิมแต่ได้นาทีโทรและปริมาณอินเทอร์เน็ตเพิ่ม แพ็กเกจมือถือคุ้มค่ามากขึ้น ตรงข้ามกับสิ่งที่ผู้บริโภคเจอจริงโดยเฉพาะผลกระทบการควบรวมต่อผู้ใช้บริการมือถือแบบเติมเงิน
ผลกระทบหลังควบรวม AIS+3BB ต่อค่าบริการอินเทอร์เน็ตบ้าน
เมื่อพิจารณาแนวโน้มค่าบริการอินเทอร์เน็ตบ้าน (ขอเรียกสั้นๆ ว่าเน็ตบ้าน) ก็มีแนวโน้มคล้ายกับบริการมือถือ คือในอดีตค่าบริการมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสอดคล้องกับการแข่งขันของผู้ให้บริการเน็ตบ้านที่เพิ่มขึ้น (ภาพที่ 4) แต่ต่างตรงที่ ARPU ของเน็ตบ้านของ TRUE และ AIS เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนควบรวม AIS+3BB แล้ว ดังนั้นหลังควบรวมค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมายจึงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.4%[14]101 PUB ให้ไตรมาส 3/2023 คือไตรมาสสุดท้ายก่อนควบรวม AIS+3BB ส่วนหลังควบรวม 101 PUB จะอ้างอิงจากตัวเลขล่าสุด คือ ไตรมาส 4/2024; … Continue reading และหากแยกพิจารณารายผู้ให้บริการ จะพบว่าค่าบริการของ TRUE เพิ่มขึ้นจาก 477 บาท/เลขหมาย/เดือน เป็น 522 บาท/เลขหมาย/เดือน คิดเป็น 9.4%[15]เอกสารนำเสนอการแถลงผลประกอบการ TRUE ไตรมาส 3/2023 กับ 4/2024. ส่วน AIS เพิ่มขึ้นจาก 489 บาท/เลขหมาย/เดือน เป็น 509 บาท/เลขหมาย/เดือน คิดเป็น 4.1%[16]เอกสารนำเสนอการแถลงผลประกอบการ AIS ไตรมาส 3/2024 กับ 4/2024. (ภาพที่ 5)

ที่มา: รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม และเอกสารนำเสนอการแถลงผลประกอบการของผู้ให้บริการ รวบรวมโดย 101 PUB
หมายเหตุ: ARPU ของ AIS คือ ARPU เฉลี่ยระหว่าง AIS กับ 3BB แบบถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการเน็ตบ้าน

ที่มา: เอกสารนำเสนอการแถลงผลประกอบการของผู้ให้บริการ รวบรวมโดย 101 PUB
หมายเหตุ: ไตรมาส 4/2023 คือไตรมาสที่ AIS เริ่มรับรู้รายได้จาก 3BB หลังซื้อกิจการสำเร็จ
หมายเหตุ 2: ARPU ของ AIS คือ ARPU เฉลี่ยระหว่าง AIS กับ 3BB แบบถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการเน็ตบ้าน
นอกจากนั้นหากดูภาพรวมของตลาดเน็ตบ้านจะเห็นว่าผู้ใช้มีแนวโน้มจะลดลง สะท้อนจากอัตราการเข้าถึงของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อจำนวนประชากรทั้งหมด หรือ Penetration per Population ที่ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 19.0% ในปี 2022 เหลือ 16.0% ในปี 2024 (ภาพที่ 6)[17]ฐานข้อมูลอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จัดทำโดย กสทช. หากแนวโน้มที่ยังคงอยู่ เมื่อผู้ให้บริการเลือกจะขึ้นราคาแพ็กเกจเน็ตบ้านก็จะส่งผลปัญหาด้านราคาเน็ตบ้านชัดเจนขึ้น และสะท้อนผ่าน ARPU เน็ตบ้านที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ที่มา: กสทช.
หมายเหตุ: ตัวเลขปี 2024 คือไตรมาสที่ 3
ด้าน กสทช. ได้รายงานกับ กมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจ ว่าหลังจากควบรวม AIS+3BB แล้ว ARPU ในตลาดเน็ตบ้านเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 470 บาท/เลขหมาย/เดือน เป็น 480 บาท/เลขหมาย/เดือน หรือเพิ่ม 2.1%[18]คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ. (2025). บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 49. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025. แม้ กสทช. จะประเมินทิศทางของผลกระทบการควบรวมสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้บริโภคเจอจริง แต่ด้วยขนาดผลกระทบหลังการควบรวมที่ กสทช. เจอยังคงแตกต่างกับตัวเลขจริงมาก
ทำไม กสทช. เห็นผลกระทบแตกต่างด้านราคาจากผู้บริโภค?
เมื่อเปรียบเทียบแนวโน้ม ARPU ก่อน–หลังควบรวม ระหว่างที่ TRUE กับ AIS รายงานในเอกสารแถลงผลประกอบการกับสิ่งที่ กสทช. ตรวจสอบ จะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งนี้เป็นเพราะวิธีการติดตามของ กสทช. ตามที่ชี้แจงกับ กมธ. มีปัญหาสองส่วน คือ
- ข้อมูลแพ็กเกจที่นำมาหาค่าเฉลี่ยอาจรวม ‘โปรลับ’ ซึ่งเป็นแพ็กเกจราคาถูกแต่ผู้บริโภคเข้าถึงยากเข้ามาด้วย
- การคำนวณค่าเฉลี่ยยังเป็นค่าเฉลี่ยแบบง่ายซึ่งให้น้ำหนักการพิจารณาแต่ละแพ็กเกจเท่าๆ กัน โดยไม่คำนึงถึงบริบทของจำนวนผู้ใช้แต่ละแพ็กเกจ
ความผิดพลาดทั้งสองส่วนนี้ทำให้โปรลับซึ่งมีผู้ใช้น้อยถูกให้น้ำหนักในการคำนวณมากเกินไป ในขณะเดียวกันแพ็กเกจที่คนใช้เยอะและหาซื้อได้ทั่วไปซึ่งมีราคาแพงกว่าโปรลับก็กลับถูกให้น้ำหนักในการคำนวณค่าเฉลี่ยน้อยเกินไป สุดท้ายตัวเลขค่าโทร/นาทีและค่าเน็ต/MB แต่ละแพ็กเกจเฉลี่ยที่ กสทช. ชี้แจงต่อ กมธ. จึงต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่สะท้อนผลกระทบของการควบรวมมากพอ
แพ็กเกจราคาถูกหายไป ถูกบีบให้ใช้ของแพง
หรือซื้อแพ็กเกจพ่วงมือถือ+เน็ตบ้าน
การเปลี่ยนแปลงของแพ็กเกจมือถือก่อน–หลังควบรวม TRUE+DTAC

เมื่อสำรวจแพ็กเกจมือถือที่ถูกวางขายในตลาดจะเห็นว่าแพ็กเกจราคา 299 บาท/เดือน ซึ่งเป็นแพ็กเกจราคาถูกที่สุดที่วางขายในปี 2022 ซึ่งเป็นช่วงก่อนรวมธุรกิจ TRUE+DTAC หายไป ทำให้แพ็กเกจราคาถูกที่สุดในปัจจุบันคือแพ็กเกจราคา 399 บาท/เดือนแทน แม้จะได้นาทีโทรเพิ่มขึ้นจาก 50 เป็น 100 นาที และปริมาณอินเทอร์เน็ต 5G เพิ่มจาก 10 GB ต่อเดือนเป็น 20 GB ต่อเดือน[20]Droidsans. (3 มีนาคม 2023). อัปเดตราคาแพ็กเกจมือถือ AIS, True และ dtac แบบรายเดือน ปี 2023 พบมีการปรับราคาขึ้นหลัง 2 บริษัทควบรวมกับเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ. … Continue reading (ตารางที่ 2) แต่ก็เป็นการตัดทางเลือกของผู้บริโภคที่ใช้งานมือถือน้อยออกไป

ที่มา: Droidsans (2023) และเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ รวบรวมโดย 101 PUB
หมายเหตุ: ไม่นับโปรลับ หรือแพ็กเกจที่กำหนดเงื่อนไขเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และแพ็กเกจของ DTAC สมัครได้ถึงแค่ปลายปี 2024 เท่านั้น ส่วนแพ็กเกจที่สมัครได้ในปัจจุบันยังไม่มีระบุหน้าเว็บไซต์
นอกจากแพ็กเกจรายเดือน ซิมอินเทอร์เน็ตแบบไม่จำกัด (เรามักรู้จักกันในชื่อ ‘ซิมเทพ’) ก็มีราคาแพงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับก่อนรวมธุรกิจ โดยปี 2022 ซิมเติมเงินอินเทอร์เน็ตไม่จำกัดความเร็ว 15 Mbps มีค่าบริการเฉลี่ย 100 บาท/เดือน แต่ในปัจจุบันซิมประเภทนี้มีค่าบริการเฉลี่ยเพิ่มเป็น 222 บาท/เดือน[21]แก้ไขเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2025 ค่าบริการของซิมประเภทนี้เพิ่มขึ้น 2.2 เท่า[22]แก้ไขเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2025 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนรวมธุรกิจ[23]Droidsans. (21 เมษายน 2022). โปรบ้าเลือด V10 ปี 2022 เน็ต 15-20 Mbps ไม่อั้น พร้อมโทรฟรีทุกเครือข่าย เริ่มต้นเดือนละ 100 บาท มีทั้ง AIS, dtac และ TrueMove H. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2025. … Continue reading
หนึ่งในเงื่อนไขด้านราคาที่ กสทช. ได้ให้ไว้หลังควบรวม TRUE+DTAC คือจะต้องลดราคาค่าบริการเฉลี่ยตามจำนวนผู้ใช้งาน 12% ภายใน 90 วันหลังรวมธุรกิจ[24]Thairath+. (20 ตุลาคม 2022). กสทช.อนุมัติควบรวม TRUE-DTAC แบบมีเงื่อนไข หากผูกขาด อาจระงับยกเลิก หรือปรับปรุงเงื่อนไข. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025. … Continue reading การกำหนดเงื่อนไขแบบนี้ กสทช. คาดหวังว่าประสิทธิภาพการให้บริการที่เพิ่มขึ้นหลังควบรวมจะส่งผ่านมายังผู้บริโภคจากราคาที่ลดลง
แต่ผ่านมาเกือบสองปี นับตั้งแต่ TRUE กับ DTAC รวมธุรกิจและจดทะเบียนบริษัทใหม่ในนาม TRUE กสทช. ก็ยังไม่รู้ว่าจะคำนวณราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักอย่างไร ซึ่งล่าช้าจากกำหนดการเดิมที่ต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2023[25]คำชี้แจงของ กสทช. ต่อ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ วันที่ 30 มกราคม 2025. ทำให้ ณ ปัจจุบัน กสทช. ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าสรุปแล้วราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้ของ TRUE ก่อน–หลังควบรวมคือเท่าไหร่? ปฏิบัติตามเงื่อนไขของ กสทช. หรือที่ต้องลด 12% หรือไม่?
หรือในกรณีที่ กสทช. มีข้อมูลผู้ใช้บริการแต่ละแพ็กเกจอยู่ในมือก็จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนจะนำมาใช้ เพราะเคยมีกรณีที่ผู้ควบรวมส่งข้อมูลค่าบริการเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักให้แก่ กสทช. โดยอ้างว่าค่าโทรศัพท์ลดลง 15% และค่าอินเทอร์เน็ตลดลงถึง 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนควบรวม แต่ตัวเลขดังกล่าวอาจยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เนื่องจากข้อมูลที่นำมาใช้สำหรับคำนวณมีความคลุมเครือ บางส่วนไม่เชื่อมโยงกับข้อมูลที่ กสทช. มีในมือ นอกจากนั้นวิธีการคำนวณค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้ก็ยังมีช่องโหว่อื่นที่ทำให้ตัวเลขมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น การแจกแพ็กเกจขนาดเล็กที่มีนาทีโทรหรือปริมาณอินเทอร์เน็ตน้อยแก่ผู้ใช้งานในวงกว้างเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการคำนวณค่าเฉลี่ย[26]สรวิช มา และฉัตร คำแสง. (2023). กสทช. กับการ (ไม่?) บังคับใช้ตามมาตรการควบรวม TRUE-DTAC. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2025. https://101pub.org/true-dtac-merger-monitoring/ ปัญหาหรือช่องโหว่เหล่านี้เกิดมาจากการกำหนดเงื่อนไขของ กสทช. ที่ไม่ได้นิยามอย่างชัดเจนว่าแพ็กเกจที่จะนำมาพิจารณาคือแพ็กเกจใดบ้าง แพ็กเกจแบบใดที่จะไม่นำมาคำนวณ เพื่ออุดรอยโหว่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงของแพ็กเกจเน็ตบ้านก่อน-หลังควบรวม AIS+3BB

ด้านแพ็กเกจเน็ตบ้านก็มีปัญหาคล้ายกับแพ็กเกจมือถือ เพราะแพ็กเกจราคาถูกที่สุดในปี 2022 คือ 299 บาท/เดือน ความเร็ว 300/300 (ความเร็วดาวน์โหลด 300 Mbps และความเร็วอัปโหลด 300 Mbps) ราคาแพงขึ้น 100 บาทเมื่อเทียบระหว่างปี 2022 กับปัจจุบัน (ตารางที่ 3) ส่งผลโดยตรงต่อกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ได้ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงจนเกินความจำเป็น ถูกบีบให้ซื้อแพ็กเกจเน็ตบ้านที่มีความเร็วมากกว่าเดิม แม้จะไม่จำเป็นก็ตาม

โดยตัวเลขที่ถูกขีดฆ่าคือราคาแพ็กเกจที่เคยวางขายในปี 2022 แต่ปัจจุบันไม่มีราคานี้แล้ว
ที่มา: Droidsans (2022) และเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ รวบรวมโดย 101 PUB
หมายเหตุ: นับเฉพาะแพ็กเกจที่ขายหน้าเว็บไซต์ ไม่รวมแพ็กเกจที่มีเงื่อนไขพิเศษ หรือส่วนลดจากการซื้อพ่วงบริการมือถือ หรือการทำสัญญา 24 เดือน
สำหรับเงื่อนไขที่ กสทช. ให้ไว้ต่อการควบรวม AIS+3BB คือ AIS จะต้องคงแพ็กเกจค่าบริการถูกที่สุดก่อนควบรวมเอาไว้ แต่ ณ วันนี้ กสทช. ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าแพ็กเกจราคาถูกที่สุดคือแพ็กเกจใด
หรือแม้ว่า กสทช. จะระบุแพ็กเกจที่ค่าบริการถูกที่สุดได้จริง แต่ก็ไม่สามารถติดตามผลการควบรวม AIS+3BB ได้ดีพอ เพราะ กสทช. ไม่มีข้อมูลแพ็กเกจเน็ตบ้านก่อนปี 2023 ในมือทำให้เทียบผลกระทบก่อน-หลังควบรวมได้ยาก เมื่อดูรายละเอียดแพ็กเกจเน็ตบ้านที่วางขายในปี 2022 จะเห็นว่าแพ็กเกจราคาถูกที่สุดราคา 299 บาท/เดือน ได้ความเร็ว 300/300 ในปีถัดมาแพ็กเกจนี้ถูกตัดออก เมื่อ กสทช. ไม่มีข้อมูลปี 2022 ก็หมายความว่าแพ็กเกจราคา 299 บาท/เดือน ไม่ได้ถูกบันทึกอยู่ในฐานข้อมูลของ กสทช. แม้ว่าในปัจจุบัน แพ็กเกจความเร็ว 300/300 จะกลับมาในราคาที่แพงขึ้นกว่าเดิม 100 บาท/เดือน แต่ กสทช. อาจไม่สามารถติดตามราคาของแพ็กเกจความเร็ว 300/300 ได้อยู่ดีว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตอย่างไร
กลยุทธ์ขายพ่วงมือถือ+เน็ตบ้าน จะส่งผลเสียต่อการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมในระยะยาว
ขณะเดียวกันผู้ให้บริการรายใหญ่ในปัจจุบันยังเน้นกลยุทธ์การขายพ่วงกับบริการมือถือด้วยการเสนอราคาพิเศษ เช่น แพ็กเกจเน็ตบ้านราคา 799 บาท/เดือน ความเร็ว 700/700 ถ้าหากผู้บริโภคใช้บริการมือถือค่ายเดียวกับเน็ตบ้านด้วย ก็จะได้ราคาพิเศษคือ 599 บาท/เดือน แม้กลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการมือถือ-เน็ตบ้านในราคาที่ถูกลง แต่อีกด้านนึงก็ทำให้การย้ายค่ายยากมากขึ้น ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่นที่ไม่สามารถให้บริการพ่วงเน็ตบ้าน–มือถือ เช่น NT หรือผู้ให้บริการรายย่อยอื่นๆ จะมีความสามารถในการแข่งขันกับรายใหญ่ลดลง[27]อ่านเพิ่มเติม; ฉัตร คำแสง และกษิดิ์เดช คำพุช. (2023). ประเมินการควบรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB: ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านอาจผูกขาด … Continue reading
ตั้งที่ปรึกษาล่าช้า กสทช. ประเมินไม่ได้ว่ามีพฤติกรรมโก่งราคาหรือไม่
หนึ่งในวิธีการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบ คือการตรวจสอบโครงสร้างต้นทุนของการให้บริการของผู้ให้บริการแต่ละราย ทั้งต้นทุนเฉลี่ยของการให้บริการ (Average Cost: AC) และต้นทุนส่วนเพิ่มของการให้บริการ ‘หน่วยสุดท้าย’ (Marginal Cost: MC) ตัวเลขเหล่านี้มีความสำคัญต่อการประเมินการใช้อำนาจเหนือตลาดเพื่อโก่งราคาเป็นอย่างมากโดยเฉพาะต้นทุนส่วนเพิ่มของการให้บริการ ยิ่งส่วนต่างระหว่างราคากับต้นทุนส่วนเพิ่มมีค่ามากเท่าไหร่ ก็แปลว่าผู้ให้บริการใช้อำนาจเหนือตลาดมากำหนดราคามากขึ้นเท่านั้น
ในเงื่อนไขการควบรวมทั้ง TRUE+DTAC กับ AIS+3BB กสทช. จึงได้มีมติให้จ้างที่ปรึกษาอิสระ เพื่อตรวจสอบโครงสร้างต้นทุนของผู้ให้บริการภายในตลาด โดย กสทช. จะเป็นผู้เลือกบริษัทที่ปรึกษาที่เหมาะสมกับการศึกษาโครงสร้างต้นทุน เช่น มีประสบการณ์การวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนในตลาดโทรคมนาคมไม่ต่ำกว่า 5 ปี ต้องไม่มีผลประโยชน์กับซ้อนกับผู้ควบรวม โดยผู้ควบรวมจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
แต่ปัจจุบันกระบวนการคัดเลือกที่ปรึกษายังไม่เสร็จสิ้นแม้จะผ่านช่วงเวลาการควบรวมมานานแล้ว โดยในฝั่งของตลาดมือถือ กสทช. ได้เห็นชอบบริษัทที่ปรึกษาไว้แล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2024[28]มติ กสทช. ครั้งที่ 13/2024 วันที่ 14 มิถุนายน 2024 วาระที่ 4.5 และกำลังอยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาจ้างระหว่างทรู–บริษัทที่ปรึกษา[29]คำชี้แจงของ กสทช. ต่อ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ วันที่ 30 มกราคม 2025. ส่วนฝั่งของตลาดเน็ตบ้าน กสทช. ได้มีเห็นชอบแต่แนวทางการจัดให้มีที่ปรึกษาแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference: TOR) เพื่อจ้างที่ปรึกษาต่อไป[30]คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ. (2025). บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 49. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025. การดำเนินการตั้งที่ปรึกษาที่ล่าช้าส่งผลให้ กสทช. ไม่สามารถประเมินสภาพตลาดและพฤติกรรมการโก่งราคาและอาจส่งผลต่อผู้บริโภคได้ในระยะยาว
ปัญหาของการกำกับดูแลไม่ได้มีแค่เรื่องราคา
ปัญหาการกำกับดูแลหลังการควบรวมของ กสทช. ไม่ได้มีปัญหาแค่เรื่องของค่าบริการเท่านั้น แต่การประเมินการทำตามเงื่อนไขอื่นๆ เช่น เงื่อนไขห้ามลดคุณภาพการให้บริการสัญญาณ ที่การตรวจสอบของ กสทช. ยังมีช่องโหว่ เพราะไม่สามารถประเมินย้อนกลับไปยังอดีตได้ว่าคุณภาพสัญญาณก่อน-หลังควบรวมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีเพียงการรายงานคุณภาพสัญญาณของผู้ควบรวม (TRUE กรณีมือถือ AIS กรณีเน็ตบ้าน) ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ กสทช. เท่านั้น[31]คำชี้แจงของ กสทช. ต่อ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ วันที่ 30 มกราคม 2025. ซึ่งขัดแย้งกับข้อค้นพบของ 101 PUB ที่ได้จากการสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับกลุ่มผู้บริโภคบางส่วนที่ให้ความเห็นว่าคุณภาพสัญญาณหลังควบรวมแย่ลง[32]การสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับตัวแทนผู้บริโภคโดย 101 PUB.
ในภาพใหญ่ ต้นทุนการกำกับดูแลการแข่งขันและคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ดังเช่นตัวอย่างของ พิรงรอง รามสูต หนึ่งในคณะกรรมการของ กสทช. ซึ่งถูกบริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เนื่องจากพิรงรองได้ดำเนินการให้ กสทช. ออกหนังสือเตือนไม่ให้มีโฆษณาแทรกในแพลตฟอร์ม TrueID แก่ผู้ประกอบการโทรทัศน์ ทีวิดิจิทัล ตามกฎ Must Curry โดยทาง TrueID เห็นว่าเป็นการทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และสุดท้ายศาลก็มีคำตัดสินให้พิรงรองถูกจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา (ได้รับการประกันตัวแล้ว)[33]ThaiPBS. (6 กุมภาพันธ์ 2025). ด่วน! ศาลฯ สั่งจำคุก 2 ปี “พิรงรอง” ผิด ม.157 คดี True ID ฟ้อง. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2025. https://www.thaipbs.or.th/news/content/349004
ไม่ว่าการกระทำของพิรงรองจะผิดหรือไม่? อย่างไร? แต่ผลกระทบของการฟ้องร้องและคำตัดสินของศาลจะส่งผลให้ต้นทุนของ กสทช. ในการทำหน้าที่กำกับดูแลตามหน้าที่มีสูงขึ้น จน กสทช. อาจเลือกกำกับดูแลแบบ ‘อะลุ่มอล่วย’ ไม่ได้สัดส่วนกับปัญหาจริงเพื่อเลี่ยงแรงปะทะกับเอกชน ส่งผลเสียต่อการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมในระยะยาว และกระทบไปยังภาพรวมของระบบเศรษฐกิจในที่สุด
ภารกิจของทีมวิจัย 101 PUB และ TCC ไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ เพราะการจะเข้าใจผลกระทบการควบรวมต่อผู้บริโภคให้ได้นั้น ก็จำเป็นต้องศึกษาผลกระทบ ‘จากตัวผู้บริโภค’ เองด้วย ผ่านการสนทนาแบบ Focus Group หรือการเก็บข้อมูลแบบสอบถาม เพื่อเข้าใจผลกระทบของการควบรวมโดยเฉพาะต่อผู้บริโภคให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
↑1 | มติ กสทช. นัดพิเศษครั้งที่ 5/2022 วันที่ 20 ตุลาคม 2022. |
---|---|
↑2, ↑24 | Thairath+. (20 ตุลาคม 2022). กสทช.อนุมัติควบรวม TRUE-DTAC แบบมีเงื่อนไข หากผูกขาด อาจระงับยกเลิก หรือปรับปรุงเงื่อนไข. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025. https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/102274 |
↑3 | สำนักข่าวอิศรา. (10 พฤศจิกายน 2023). ห้ามขึ้นราคา-ลดคุณภาพ! มติ 4:1 กสทช.อนุญาตรวมธุรกิจเน็ตบ้าน AIS-3BB กำหนด 22 มาตรการเฉพาะ. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025. https://www.isranews.org/article/isranews-news/123675-NBTC-meeting-permit-merger-AIS-3BB-news.html |
↑4, ↑10 | ฉัตร คำแสง. (2022). 5 เรื่องเล่า vs 5 เรื่องจริง ดีลควบรวมทรู+ดีแทค และบทบาทของ กสทช. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2025. https://101pub.org/5-narratives-vs-5-facts-about-dtac-true-merger/ |
↑5 | สำนักข่าวอิศรา. (11 พฤศจิกายน 2023). ไม่ถึงขั้นผูกขาด! กสทช.รับควบรวม AIS-3BB ค่าบริการอาจแพงขึ้น เชื่อมาตรการเฉพาะป้องกันได้. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025. https://www.isranews.org/article/isranews-news/123675-NBTC-meeting-permit-merger-AIS-3BB-news.html |
↑6, ↑7, ↑32 | การสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับตัวแทนผู้บริโภคโดย 101 PUB. |
↑8 | คือค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการของทั้งสองค่าย |
↑9, ↑17 | ฐานข้อมูลอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จัดทำโดย กสทช. |
↑11 | คำนวณโดย 101 PUB เอกสารนำเสนอการแถลงผลประกอบการ TRUE ไตรมาส 4/2022 กับ 4/2024. |
↑12, ↑13 | คำนวณโดย 101 PUB เอกสารนำเสนอการแถลงผลประกอบการ AIS ไตรมาส 4/2022 กับ 4/2024. |
↑14 | 101 PUB ให้ไตรมาส 3/2023 คือไตรมาสสุดท้ายก่อนควบรวม AIS+3BB ส่วนหลังควบรวม 101 PUB จะอ้างอิงจากตัวเลขล่าสุด คือ ไตรมาส 4/2024; ตัวเลขนี้คือค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามผู้ใช้ |
↑15 | เอกสารนำเสนอการแถลงผลประกอบการ TRUE ไตรมาส 3/2023 กับ 4/2024. |
↑16 | เอกสารนำเสนอการแถลงผลประกอบการ AIS ไตรมาส 3/2024 กับ 4/2024. |
↑18, ↑30 | คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ. (2025). บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 49. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025. |
↑19, ↑21, ↑22 | แก้ไขเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2025 |
↑20 | Droidsans. (3 มีนาคม 2023). อัปเดตราคาแพ็กเกจมือถือ AIS, True และ dtac แบบรายเดือน ปี 2023 พบมีการปรับราคาขึ้นหลัง 2 บริษัทควบรวมกับเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2025. https://droidsans.com/mobile-internet-promotion-2023/; เว็ปไซต์ของผู้ควบรวม. |
↑23 | Droidsans. (21 เมษายน 2022). โปรบ้าเลือด V10 ปี 2022 เน็ต 15-20 Mbps ไม่อั้น พร้อมโทรฟรีทุกเครือข่าย เริ่มต้นเดือนละ 100 บาท มีทั้ง AIS, dtac และ TrueMove H. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2025. https://droidsans.com/unlimited-internet-promotion-2022-v10/ ; เว็ปไซต์ A Lot Techhttps://www.alottechs.com/product-category/internet-sim |
↑25 | คำชี้แจงของ กสทช. ต่อ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ วันที่ 30 มกราคม 2025. |
↑26 | สรวิช มา และฉัตร คำแสง. (2023). กสทช. กับการ (ไม่?) บังคับใช้ตามมาตรการควบรวม TRUE-DTAC. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2025. https://101pub.org/true-dtac-merger-monitoring/ |
↑27 | อ่านเพิ่มเติม; ฉัตร คำแสง และกษิดิ์เดช คำพุช. (2023). ประเมินการควบรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB: ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านอาจผูกขาด เพราะการควบรวมในตลาดมือถือ. ; ฉัตร คำแสง และกษิดิ์เดช คำพุช. (2023). ควบรวม AIS + 3BB ระยะสั้นมาตรการยังรับมือได้แต่ระยะยาวจะไหวหรือไม่?. |
↑28 | มติ กสทช. ครั้งที่ 13/2024 วันที่ 14 มิถุนายน 2024 วาระที่ 4.5 |
↑29, ↑31 | คำชี้แจงของ กสทช. ต่อ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ วันที่ 30 มกราคม 2025. |
↑33 | ThaiPBS. (6 กุมภาพันธ์ 2025). ด่วน! ศาลฯ สั่งจำคุก 2 ปี “พิรงรอง” ผิด ม.157 คดี True ID ฟ้อง. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2025. https://www.thaipbs.or.th/news/content/349004 |