ประเด็นสำคัญ
เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022 ประกอบด้วยเอกสาร 3 ชิ้น:
- 7 แนวโน้มสำคัญของสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว
โดย ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา
- เล่มผนวกที่ 1 สถิติสำคัญด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว:
รวบรวมสถิติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์
โดย ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา และคณะผู้ช่วยวิจัย
- เล่มผนวกที่ 2 สามความฝันของเด็กและเยาวชนไทย:
ร้อยเรียงเรื่องเล่าความฝันจากการประกวดเรื่องเล่าของ "เด็กสมัยนี้"
โดย วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา
ปี 2021-2022 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวไทย วิกฤตสามด้าน – ทั้งวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 (COVID-19) วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา และวิกฤตสังคมและการเมือง – ยังคงทอดเงาทะมึนยาวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ทาบทับและท้าทายชีวิตของเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างน่าวิตกกังวล
วิกฤตสามด้านในบริบทโลกที่ผันผวนไม่แน่นอนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ประกอบกันเป็นบริบทสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวไทยในปี 2021-2022 ซึ่งปรากฏแนวโน้มสำคัญ 7 ประการ ได้แก่
- เด็กและเยาวชนเผชิญภาวะการเรียนรู้ถดถอย พัฒนาการหยุดชะงัก
- เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด
- เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น
- เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้น
- เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น
- โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น
- ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
ทั้ง 7 แนวโน้มของสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวไทยคือ ปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญ เป็นทั้ง ‘แผลสด’ ที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน และมีความรุนแรงมากพอที่จะกลายเป็น ‘แผลเป็น’ ที่ส่งผลกระทบระยะยาวไปตลอดชีวิต หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง