ปี 2021-2022 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวไทย วิกฤตสามด้าน ยังคงทอดเงาทะมึนยาวต่อเนื่อง
จากปีก่อนหน้า ทาบทับและท้าทายชีวิตของเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างน่าวิตกกังวล

วิกฤตโรคระบาด
โควิด-19

การปิดสถานศึกษาโดยปราศจากแนวทางสนับสนุนที่เหมาะสมส่งผลให้เด็กและเยาวชนประสบปัญหาการเรียนรู้ถดถอยและทุพโภชนาการ ในขณะเดียวกันก็เข้าถึงบริการสุขภาพได้ยากขึ้น และมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น

วิกฤตความเหลื่อมล้ำ
และการพัฒนา

เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เกิดและเติบโตในครัวเรือนยากจน ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2021 พบว่าเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 21 ปี ร้อยละ 20.7 อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนเพียง 2,577 บาท

วิกฤตสังคมและการเมือง

ความไม่ลงรอยกันระหว่างคนต่างรุ่นกลายเป็นวิกฤตทางสังคมและการเมือง เมื่อข้อเรียกร้องของเด็กและเยาวชนไม่ถูกรับฟัง และยังถูกตอบโต้ด้วยการกดปราบอย่างรุนแรง

วิกฤตสามด้านในบริบทโลกที่ผันผวนไม่แน่นอนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว
ประกอบกันเป็นบริบทสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวไทยในปี 2021-2022
ซึ่งปรากฏแนวโน้มสำคัญ 7 ประการ ได้แก่

เด็กและเยาวชนเผชิญภาวะการเรียนรู้ถดถอย พัฒนาการหยุดชะงัก

สถานศึกษาเป็นสถานที่ลำดับแรก ๆ ที่ถูกสั่งปิดและกลับมาเปิดเป็นลำดับท้าย ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อควบคุมโรคคือ ภาวะการเรียนรู้ถดถอยครั้งใหญ่ (learning loss) ของเด็กและเยาวชนไทย พัฒนาการที่พวกเขาสูญเสียไปในช่วงเวลานี้ย่อมส่งผลต่อศักยภาพการเรียนรู้ ศักยภาพในการหารายได้ และศักยภาพที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพในระยะยาว

เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด

การทุ่มเททรัพยากรรัฐจำนวนมากเพื่อรับมือวิกฤตโรคระบาดส่งผลให้บริการสาธารณะด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวถูกลดทอนความสำคัญลง และไม่สามารถจัดบริการให้แก่ประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพดังเดิม ผลลัพธ์ที่ตามมาคือเด็ก เยาวชน และครอบครัวต้องเผชิญความเสี่ยงด้านสุขภาพและความเป็นอยู่มากยิ่งขึ้น

เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น

การปิดสถานที่เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมหลายอย่างในชีวิตเด็กและเยาวชนต้องย้ายจากโลกกายภาพไปสู่โลกออนไลน์ อย่างไรก็ดี การปิดสถานที่โดยขาดมาตรการรองรับผลกระทบที่เหมาะสมและเพียงพอ ประกอบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงและเรื้อรังมาตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด ทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดทักษะและอุปกรณ์ที่จำเป็นและเท่าเทียม

เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

การใช้ชีวิตท่ามกลางสามวิกฤตมีส่วนทำให้เด็กและเยาวชนเครียด กังวล ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า และมีความเสี่ยงทางสุขภาพจิตอื่น ๆ รุนแรงมากขึ้น ที่สำคัญ เด็กและเยาวชนที่เผชิญปัญหาจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการดูแลรักษาได้ ปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้ส่งผลเสียต่อสุขภาวะทางกาย จิตใจ การเรียนรู้ และอาจบั่นทอนความฝันและเป้าหมายของพวกเขาในระยะยาว

เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น

เด็กและเยาวชนสนใจและวิพากษ์ปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพและความไม่เป็นธรรมในสังคมมากขึ้น ทั้งประเด็นใกล้ตัวอย่างการปิดกั้นทางความคิดและการละเมิดสิทธิในสถานศึกษา และประเด็นทางสังคม เช่น โครงสร้างและวัฒนธรรมทางสังคมแบบมีลำดับชั้น ความเหลื่อมล้ำ และระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ เด็กและเยาวชนมหาศาลจึงออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง แต่รัฐบาลกลับพยายามสกัดกั้นโดยกดปราบพวกเขาด้วยความรุนแรงและเครื่องมือทางกฎหมายมากยิ่งขึ้น

โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ (aged society) เร็วที่สุดในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ครอบครัวไทยก็มีขนาดเล็กลงและมีรูปแบบหลากหลาย พลวัตของครอบครัวไทยส่งผลครอบครัวไทยมีความสามารถในการสนับสนุนสุขภาวะและพัฒนาการของเด็กและเยาวชนไทยได้น้อยลง และส่งผลให้เด็กไทยมีความเปราะบางมากขึ้น

ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และเทคโนโลยีที่รวดเร็วส่งผลให้คนต่างรุ่นมีคุณค่า ทัศนคติ และความคิดขัดแย้งกันมากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งคนต่างรุ่นในครอบครัวเดียวกัน ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวจำนวนมาก และเป็นเหตุให้ครอบครัวไม่ใช่พื้นที่สบายใจที่สามารถสนับสนุนพัฒนาการและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนได้เท่าที่ควร

เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022 
ประกอบด้วยเอกสาร 3 ชิ้น

7 แนวโน้มสำคัญของสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว

โดย ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา

เล่มผนวกที่ 1 สถิติสำคัญด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว

รวบรวมสถิติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ โดย ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา และคณะผู้ช่วยวิจัย

เล่มผนวกที่ 2 สามความฝันของเด็กและเยาวชนไทย

ร้อยเรียงเรื่องเล่าความฝันจากการประกวดเรื่องเล่าของ “เด็กสมัยนี้” โดย วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.