รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว 2022

แนวโน้มที่ 2

เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้น
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด


การทุ่มเททรัพยากรรัฐจำนวนมากเพื่อรับมือวิกฤตโรคระบาดส่งผลให้บริการสาธารณะด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวถูกลดทอนความสำคัญลง และไม่สามารถจัดบริการให้แก่ประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพดังเดิม ผลลัพธ์ที่ตามมาคือเด็ก เยาวชน และครอบครัวต้องเผชิญความเสี่ยงด้านสุขภาพและความเป็นอยู่มากยิ่งขึ้น

การทุ่มทรัพยากรรัฐเพื่อแก้โควิดทำให้เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการสาธารณสุขลดลง

         การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เด็กและครอบครัวสามารถเข้ารับบริการสุขภาพได้ยากขึ้น ทั้งด้วยปัจจัยด้านบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่ขาดแคลน ข้อจำกัดในการเดินทางมาเข้ารับบริการที่มากขึ้น รวมถึงความกังวลว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ของประชาชน[1]

         กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ หญิงตั้งครรภ์และเด็กในครรภ์ ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2021 อัตราหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการฝากครรภ์ครั้งแรก (เมื่ออายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์) ลดลงจากปีก่อนหน้าอย่างต่อเนื่อง และลดลงมากที่สุดในไตรมาส 3/2021 (ช่วงการแพร่ระบาดระลอก
ที่ 3 ในประเทศไทย) อยู่ที่ร้อยละ 68.9[2] ยิ่งไปกว่านั้น อัตราหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแลก่อนคลอด
5 ครั้งตามเกณฑ์ที่กำหนดก็ลดต่ำลงอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกัน จากร้อยละ 79.5 ในไตรมาส 4/2020 เหลือร้อยละ 56.1 ในไตรมาส 3/2021[3]

         การไม่ได้เข้ารับบริการฝากครรภ์ในช่วงเวลาที่เหมาะสมและดูแลสุขภาพก่อนคลอดตามเกณฑ์ที่กำหนด อาจส่งผลให้แม่และเด็กจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการคัดกรองและประเมินความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพอย่างครบถ้วน และอาจไม่ได้รับคำแนะนำในการเลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานโรงเรียนพ่อแม่ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของแม่และเด็ก ตลอดจนและพัฒนาการของเด็กในช่วงแรกเกิด ซึ่งจะส่งผลอย่างสำคัญต่อพัฒนาการและคุณภาพชีวิตในระยะยาว

อัตราหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการฝากครรภ์ครั้งแรก

ที่มา: ฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (2022)

อัตราหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแลก่อนคลอด 5 ครั้งตามเกณฑ์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2020-
ไตรมาสที่ 1/2022

ที่มา: ฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (2022)

         นอกจากนี้ จำนวนเด็กอายุ 1 ปีที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ก็ลดลงจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดราวร้อยละ 10.8 ในช่วงไตรมาส 4/2019 อัตราความครอบคลุมของเด็กอายุ 1 ปีที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์อยู่ที่ร้อยละ 83.8 และหลังจากปี 2020 เป็นต้นมาก็ลดลงต่อเนื่องในทุกระลอกของการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในไตรมาส 3/2021 ลดลงเหลือร้อยละ 67.6[4]

         สำหรับจำนวนเด็กอายุ 7 ปีที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ แม้จะไม่ลดลงจากเดิม แต่ความครอบคลุมก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด[5] ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดโรงเรียนซึ่งเดิมเป็นสถานที่หลักที่เด็กวัยเรียนจะได้รับวัคซีน

อัตราความครอบคลุมของเด็กอายุ 1 ปี และ 7 ปีที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์

ที่มา: ฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (2022)

ปิดโรงเรียน-ศูนย์เด็กเล็ก ภาวะโภชนาการเด็กเริ่มน่าเป็นห่วง

         ในช่วงเวลาปกติ โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยไม่เพียงเป็นสถานที่ให้ความรู้และให้บริการวัคซีนแก่เด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่จัดสรรสวัสดิการที่จำเป็นอย่างอาหารกลางวันและนมโรงเรียนให้แก่นักเรียนจำนวนมาก สวัสดิการพื้นฐานเหล่านี้ช่วยให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กในครัวเรือนรายได้น้อย ได้รับสารอาหารครบถ้วนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การปิดสถานศึกษาเพื่อมุ่งแก้ปัญหาโรคระบาดจึงไม่ได้สร้างความเสียหายในด้านการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังกระทบต่อภาวะโภชนาการของเด็กและเยาวชนอีกด้วย

         จากผลสำรวจของธนาคารโลก (World Bank) ในเดือนเมษายน-มิถุนายน 2021 ครัวเรือนที่มีความเปราะบางทางโภชนาการมากที่สุดในช่วงวิกฤตโควิด คือ ครัวเรือนรายได้ต่ำและครัวเรือนที่มีแม่และเด็ก โดยร้อยละ 61 ของครัวเรือนรายได้ต่ำรายงานว่าอาหารในบ้านเริ่มหมด และร้อยละ 42 กำลังอยู่ในภาวะหิวโหย ครัวเรือนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอมากกว่าครัวเรือนรายได้สูงถึงร้อยละ 30[6] ส่วนครัวเรือนที่มีแม่และเด็กกว่าร้อยละ 73 ก็มีความกังวลว่าอาหารจะไม่เพียงพอ และอีกร้อยละ 56 อาหารในบ้านเริ่มหมด ในขณะที่ครัวเรือนที่มีพ่อและเด็กค่อนข้างใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั่วประเทศ

         การต้องหยุดเรียนเป็นระยะเวลานานจึงส่งผลให้เด็กในครัวเรือนยากจนซึ่งต้องพึ่งพาอาหารโรงเรียนเป็นหลักและประสบปัญหาภาวะทุพโภชนาการมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นเป็นทุนเดิมนั้น เสี่ยงตกอยู่ในภาวะทุพโภชนาการมากขึ้น อีกทั้งการไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอตามช่วงวัยยังมีแนวโน้มบั่นทอนพัฒนาการและศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในระยะยาว

ผลสำรวจภาวะความไม่มั่นคงทางโภชนาการในครัวเรือนประเภทต่าง ๆ

ที่มา: World Bank (2021)

         เด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปีเป็นกลุ่มที่เสี่ยงไม่ได้รับโภชนาการที่เหมาะสมมากที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กอายุ 0-5 ปี ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในเดือนพฤษภาคม 2021 พบว่า เด็กอายุ 6-14 ปี เริ่มมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเตี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4[7] รวมถึงอัตราส่วนของเด็กที่สูงดีสมส่วนในช่วงอายุนี้ในปี 2021 ยังลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 58.7[8] เป็นสัญญาณว่าสถานการณ์ภาวะโภชนาการของเด็กและเยาวชนเริ่มน่าเป็นห่วงมากขึ้น

อัตราส่วนเด็กอายุ 0-14 ปีที่เจริญเติบโตสมวัย ปี 2019-2021

ที่มา: กรมอนามัย (2021)

บริการรัฐต้องต่อเนื่อง ทั่วถึง ยืดหยุ่น และพร้อมรับมือวิกฤต

         บริการสาธารณะที่ถูกลดทอนประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ยากขึ้นนั้นส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวไทยย่ำแย่ลง มาตรการเร่งด่วนที่สุดที่รัฐควรดำเนินการคือ เร่งเยียวยาและให้ความช่วยเหลือกับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการสร้างฐานข้อมูลระดับพื้นที่ของประชาชนอย่างเป็นระบบ เพื่อวิเคราะห์ความต้องการและจัดสรรบริการได้อย่างตรงจุด รวมถึงจัดบริการเชิงรุกให้ประชาชนที่เข้าถึงบริการได้ยากหรืออาศัยในพื้นที่ห่างไกล ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น อาทิ จัดบริการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กเล็ก จัดสรรนมและอาหารกลางวันให้ถึงมือเด็กในครัวเรือนยากจน โดยอาจดำเนินการทั้งในรูปแบบแจกจ่ายอาหารโดยตรง จัดสรรเงินอุดหนุนให้เพียงพอมากขึ้น หรือใช้ระบบคูปองแลกอาหาร ตลอดจนให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ครัวเรือน

         มากไปกว่านั้น ควรปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการของรัฐ ผ่านการวางแผนจัดกำลังบุคลากรและทรัพยากรให้สามารถดูแลสุขภาพขึ้นพื้นฐานให้กับประชาชนได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพแม้ในยามวิกฤต ตลอดจนเตรียมแผนรับมือหากต้องเพิ่มกำลังบุคลากรและทรัพยากรในสถานการณ์เฉพาะหน้า เช่น การอบรมทักษะการให้บริการที่จำเป็นแก่บุคลากรทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน ท้ายที่สุด ควรเพิ่มทางเลือกการใช้บริการสาธารณะให้ประชาชนอย่างครอบคลุมและเข้าถึงได้จริง เช่น บริการสาธารณสุขใกล้บ้านและชุมชน และระบบการให้บริการทางไกล

รายการอ้างอิง


[1] กรมอนามัยและยูนิเซฟ, รายงานการสำรวจการประเมินผลกระทบเบื้องต้นของสถานการณ์โควิด-19 ต่อการให้บริการในคลินิกฝากครรภ์และคลินิกเด็กสุขภาพดี, สิงหาคม 2021.

[2] “ร้อยละหญิงตั้งครรภ์ได้รับการฝากครรภ์ครั้งแรกก่อนหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์,” คลังข้อมูลสุขภาพ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข, 2022.

[3] “ร้อยละหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแลก่อนคลอด 5 ครั้ง ตามเกณฑ์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2020-ไตรมาสที่ 1 ปี 2022,” คลังข้อมูลสุขภาพ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข, 2022.

[4] “ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนแต่ละชนิดครบตามเกณฑ์ในเด็กอายุครบ 1 ปี (fully immunized),” คลังข้อมูลสุขภาพ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข, 2022.

[5] “ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนแต่ละชนิดครบตามเกณฑ์ในเด็กอายุครบ 7 ปี (fully immunized),” คลังข้อมูลสุขภาพ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข, 2022.

[6] World Bank, Impact of COVID-19 on Thailand’s households – Insights from a rapid phone survey, 2021, https://blogs.worldbank.org/eastasiapacific/impact-covid-19-thailands-households-insights-rapid-phone-survey.

[7] “กรมอนามัยเปิดผลสำรวจพบวัยเรียน “อ้วน-เตี้ย” เพิ่ม 12.4%,” ไทยพีบีเอส, 24 มิถุนายน 2021, https://news.thaipbs.or.th/content/305500 (เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2022).

[8] กรมอนามัย, รายงานผลการประเมิน แผนปฏิบัติการด้านโภชนาการระดับชาติ 5 ปี พ.ศ. 2562-2566 ระยะครึ่งแผน, สิงหาคม 2564.

แนวโน้มที่ 1

หน้าแรก: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว 2022

แนวโน้มที่ 3 →

7 แนวโน้มสำคัญของสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว

โดย ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา

เล่มผนวกที่ 1 สถิติสำคัญด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว

รวบรวมสถิติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ โดย ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา และคณะผู้ช่วยวิจัย

เล่มผนวกที่ 2 สามความฝันของเด็กและเยาวชนไทย

ร้อยเรียงเรื่องเล่าความฝันจากการประกวดเรื่องเล่าของ “เด็กสมัยนี้” โดย วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.