รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว 2022

แนวโน้มที่ 5

ในช่วงที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนสนใจและวิพากษ์ปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพและความไม่เป็นธรรมในสังคมมากขึ้น ทั้งประเด็นใกล้ตัวอย่างการปิดกั้นทางความคิดและการละเมิดสิทธิในสถานศึกษา และประเด็นทางสังคมและการเมืองระดับมหภาค เช่น โครงสร้างและวัฒนธรรมทางสังคมแบบมีลำดับชั้น ความเหลื่อมล้ำ และระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ เด็กและเยาวชนมหาศาลจึงออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง แต่รัฐบาลกลับพยายามสกัดกั้นโดยกดปราบพวกเขาด้วยความรุนแรงและเครื่องมือทางกฎหมายมากยิ่งขึ้น

เด็กและเยาวชนตื่นตัวทางการเมือง

         ในช่วงราว 2 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนตื่นตัวทางการเมืองมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏในรอบหลายทศวรรษ จากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ ในเดือนพฤษภาคม 2022 เยาวชนอายุ 15-25 ปีถึงร้อยละ 68.8 รายงานว่าสนใจติดตามการเมืองค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น เกือบทั้งหมดยังเห็นว่าสิทธิเสรีภาพทางการเมือง อันได้แก่ เสรีภาพในการแสดงออก (ร้อยละ 82.9) เสรีภาพทางความคิด (ร้อยละ 82.7) เสรีภาพในการรวมตัวและการชุมนุม (ร้อยละ 79.2) และสิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง (ร้อยละ 75.8) สำคัญสำหรับตนเองค่อนข้างมากถึงมากที่สุด โดยเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าในจังหวัดอื่น ความตื่นตัวนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ครัวเรือนและระดับการศึกษาที่สูงขึ้นด้วย

“ผมเชื่อมั่นในความเปลี่ยนแปลง […] แต่ประชาชนจะต้องเรียกร้องและต่อสู้กับผู้มีอำนาจถึงได้ความเปลี่ยนแปลงครับ”

– กษิธัฏฐ์ เอี้ยงเอี่ยม อายุ 18 ปี

สัดส่วนของเยาวชนอายุ 15-25 ปีที่สนใจติดตามการเมืองค่อนข้างมากถึงมากที่สุด แยกตามที่อยู่ปัจจุบัน ควินไทล์รายได้ครัวเรือน และระดับการศึกษา

ที่มา: ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ (2022)

เยาวชนเน้นมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบเป็นปัจเจก ไม่ผ่านองค์กรจัดตั้ง และตอบสนองสถานการณ์เฉพาะเรื่อง

กระแสความตื่นตัวทางการเมืองข้างต้นถูกแสดงออกผ่านการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนอย่างกว้างขวาง กระตือรือร้น และทรงพลังทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ จากผลสำรวจของคิด for คิดส์ เยาวชนอายุ 15-25 ปีถึงร้อยละ 71.7 รายงานว่าเคยมีส่วนร่วมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยมักเคยมีส่วนร่วมในรูปแบบที่เป็นปัจเจก ไม่ผ่านองค์กรจัดตั้ง และตอบสนองสถานการณ์เฉพาะเรื่องในยามที่ต้องการ เช่น การแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง (ร้อยละ 44.8) การลงชื่อในข้อเรียกร้องออนไลน์ (ร้อยละ 43.1) การซื้อหรืองดซื้อสินค้าด้วยเหตุผลทางการเมือง (ร้อยละ 42.7) และการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย (ร้อยละ 28.6) มากกว่ามีส่วนร่วมในรูปแบบรวมกลุ่มและผ่านองค์กรจัดตั้ง เช่น การชุมนุมประท้วง (ร้อยละ 19.9) การซื้อสินค้าหรือบริจาคเงินให้พรรคการเมืองหรือองค์กรประชาสังคม (ร้อยละ 18.2) การร่วมกิจกรรมของพรรคการเมือง (ร้อยละ 11.6) และการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง (ร้อยละ 8.2)

ลักษณะการมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบดังกล่าวปรากฏชัดในกลุ่มเยาวชนเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากกว่า ขณะที่เยาวชนจังหวัดอื่นจะเคยร่วมกิจกรรมและเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตลอดจนร่วมกิจกรรมระดับท้องถิ่น เช่น การเข้าประชุมเพื่อจัดการปัญหาและการจัดตั้งกลุ่มเพื่อลงมือแก้ปัญหาในท้องถิ่น เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

สัดส่วนของเยาวชนที่เคยมีส่วนร่วมทางการเมืองในแต่ละรูปแบบ แยกตามที่อยู่ปัจจุบัน

ที่มา: ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ (2022)

          นอกจากนี้ เยาวชนจำนวนมากยังมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยร้อยละ 67.5 เคยแสดงความรู้สึก แสดงความเห็น หรือแชร์โพสต์เกี่ยวกับการเมือง และร้อยละ 35.5 เคยเขียนโพสต์เกี่ยวกับการเมืองด้วยตนเอง ในแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ (Twitter) 4 ใน 10 แฮชแท็ก (hashtag) ที่ถูกทวีต (tweet) มากที่สุดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาก็เป็นหัวข้อเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2021 โดยถูกทวีตรวมกันราว 28.2 ล้านครั้ง[1]

          เยาวชนที่เคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ยังมักมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบอื่นในโลกจริงด้วย โดยเยาวชนที่เคยเขียนโพสต์เกี่ยวกับการเมืองด้วยตนเองร้อยละ 95.8 เคยมีส่วนร่วมในรูปแบบอื่น เป็นสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเขียนโพสต์ (ร้อยละ 58.4) ร้อยละ 37.4 โดยนัยนี้ พลังการมีส่วนร่วมของเยาวชนในโลกออนไลน์จึงสามารถเป็นพลังที่นำไปสู่การปฏิบัติในโลกจริง

เยาวชนประท้วงเรียกร้องทั้งผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มและผลประโยชน์ร่วมของสังคม

          หนึ่งในรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเด็กและเยาวชนที่สำคัญคือการชุมนุมประท้วง จากข้อมูลของม็อบดาต้าไทยแลนด์ (Mob Data Thailand) เกิดการชุมนุมประท้วงในประเทศอย่างน้อย 1,838 ครั้งตั้งแต่เดือนมกราคม 2021-พฤษภาคม 2022 ซึ่งจำนวนมากมีเด็กและเยาวชนเป็นผู้จัดหรือมีส่วนร่วม[2]

          การชุมนุมประท้วงของเด็กและเยาวชนเรียกร้องประเด็นหลากหลายทั้งที่เป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของผู้ชุมนุมเองและผลประโยชน์ร่วมของสังคม ตัวอย่างกลุ่มการชุมนุม เช่น

เด็กและเยาวชนขาดช่องทางการมีส่วนร่วมที่เป็นทางการและมีความหมาย

          การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนว่าเด็กและเยาวชนขาดช่องทางการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองและนโยบายสาธารณะที่เป็นทางการและมีความหมาย โดยเยาวชนไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำหนดนโยบายเอง[8] อีกทั้งเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เข้าชื่อต่อรัฐสภาและสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีส่วนร่วมทางตรงด้วยวิธีอื่น[9] เมื่อประกอบกับการที่เยาวชนมีทรัพยากรทางการเมืองน้อย จึงสามารถมีอิทธิพลต่อกระบวนการนโยบายได้จำกัดมาก

          ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็แทบไม่เปิดช่องทางการมีส่วนร่วมเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชน คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการนโยบายของรัฐบาลเพียงชุดเดียวที่มีผู้แทนเยาวชนร่วมเป็นกรรมการ ถูกเรียกประชุมเพียง 2 ครั้งระหว่างเดือน
มกราคม 2021-มิถุนายน 2022[10]

          นอกจากนี้ สภาเด็กและเยาวชน 8,781 แห่ง ซึ่งเป็นองค์กรผู้แทนเด็กและเยาวชนที่กฎหมายรับรอง ยังขาดความเป็นตัวแทนที่ดี อิสระ อำนาจหน้าที่ และงบประมาณที่เพียงพอ โดยสภาได้รับงบอุดหนุนเฉลี่ยเพียง 18,353 บาทต่อแห่งในปีงบประมาณ 2564 (2021) และลดลงเหลือ 14,302 บาทต่อแห่งในปีงบประมาณ 2565 (2022)[11] ส่งผลให้สภาไม่สามารถเป็นช่องทางการมีส่วนร่วมที่มีความหมายสำหรับเยาวชนได้จริง

รัฐบาลกดปราบการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนอย่างละเมิดสิทธิมนุษยชน

          แม้จะมีสาเหตุพื้นฐานดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่รัฐบาลกลับจัดการกับการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนโดยใช้อาวุธและเครื่องมือทางกฎหมายกดปราบอย่างละเมิดสิทธิมนุษยชน ในปี 2021 รัฐบาลใช้กำลังสลายการชุมนุมประท้วงมากถึง 60 ครั้ง เป็นเหตุให้มีเยาวชนเสียชีวิต 1 คน คือ วาฤทธิ์ สมน้อย อายุ 15 ปี และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 88 คน[12]

          รัฐบาลยังดำเนินคดีเกี่ยวกับการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองกับเยาวชนอายุต่ำกว่า
18 ปีแล้วอย่างน้อย 279 คนระหว่างเดือนมกราคม 2021-พฤษภาคม 2022 โดย 210 คนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สบริเวณทางแยกดินแดง กรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2021 และ 16 คนถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112[13]

การกดปราบไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่เพิ่มความขัดแย้ง

          การกดปราบและไม่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีความหมาย ส่งผลให้ปัญหาและความต้องการของเด็กและเยาวชนไม่ถูกตอบสนอง อันเป็นเหตุให้พวกเขาไม่สามารถพัฒนาตนเองและสังคมตามความฝันได้อย่างเต็มที่ จำนวนไม่น้อยยังต้องบาดเจ็บ ถูกจำคุก หรือสิ้นหวังกับประเทศ โดยจากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ เยาวชนอายุ 15-25 ปีถึงร้อยละ 65.0 เห็นว่าการย้ายไปอยู่ต่างประเทศเป็นเป้าหมายชีวิตที่สำคัญค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในแง่นี้ อาจส่งผลให้ประเทศสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ

          ยิ่งไปกว่านั้น การตอบโต้การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนเช่นนี้ยังจะซ้ำเติมความไม่
ลงรอยระหว่างรุ่น เร่งความขัดแย้ง และทำลายความกลมเกลียวในสังคม ขณะเดียวกันก็กระตุ้นการแบ่งขั้วทางการเมืองให้รุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความชอบธรรมของระบอบการเมืองในระยะยาว

“เพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์นั้น มันก็ต้องแลกมาด้วยชีวิตของเพื่อนเรานับร้อยที่ต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นผักปลา พวกเราต้องถูกกล่าวหาว่าชังชาติ เพียงเพราะเราอยากเห็นประเทศนี้ดีขึ้น เพื่อนร่วมอุดมการณ์หลายคนที่รอดชีวิตมาได้ก็เริ่มถอดใจและเริ่มหาลู่ทางในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังต่างแดน เนื่องจากคิดว่าขืนอยู่ที่นี่ต่อไปก็คงต้องทนใช้ชีวิตจมอยู่กับปัญหาเรื้อรังที่ไม่อาจแก้ไขอะไรได้ […] สู้ไปตายเอาดาบหน้า เสี่ยงชะตาชีวิตกับประเทศอื่นยังจะดีเสียกว่า และฉันคิดว่าอีกไม่นานตัวฉันก็คงจะตามพวกเขาไปเหมือนกัน”

– กฤษกร สุขสมโฉม อายุ 21 ปี

รัฐบาลต้องหยุดกดปราบและขยายช่องทางการมีส่วนร่วมที่มีความหมาย

          การกดปราบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเด็กและเยาวชนอย่างรุนแรงดังที่ปรากฏตลอดปี 2021-2022 ไม่ใช่ทางออกจากวิกฤตทั้งสาม และอาจนำไปสู่วิกฤตสังคมและการเมืองที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต รัฐบาลควรหยุดใช้อาวุธและเครื่องมือทางกฎหมายคุกคามเด็กและเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในทันที พร้อมทั้งขยายช่องทางการมีส่วนร่วมที่มีความหมายสำหรับเด็กและเยาวชนในทุกระดับ

          ในการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น รัฐควรลดอายุผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง เลือกตั้ง และมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงวิธีอื่น[14] พร้อมทั้งขยายช่องทางการมีส่วนร่วมใหม่ให้สอดคล้องกับความสนใจและพฤติกรรมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนแต่ละกลุ่ม เช่น การเข้าชื่อต่อรัฐสภา สภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐแบบออนไลน์ การจัดกิจกรรมปรึกษาหารือแบบสร้างสรรค์ การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม และการให้เสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณไปดำเนินการเอง

          ในระดับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ ควรกำหนดให้สภาเด็กและเยาวชนมาจากการเลือกตั้งและมีงบประมาณจากภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (earmarked tax) ให้มีผู้แทนของสภาและผู้แทนเยาวชนอื่นในคณะกรรมการนโยบายที่เกี่ยวข้อง และให้รัฐบาลต้องส่งร่างนโยบายที่เกี่ยวข้องให้สภาพิจารณาให้ความเห็นเสมอ นอกจากนี้ ยังควรให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมตัดสินใจนโยบายในชุมชุนและสถานศึกษา โดยให้คณะกรรมการนักเรียนในสถานศึกษามาจากการเลือกตั้ง ให้มีผู้แทนนักเรียนในคณะกรรมการหรือสภาสถานศึกษา และจัดสรรงบประมาณให้กลุ่มกิจกรรมนักเรียนอย่างเพียงพอ

รายการอ้างอิง


[1] “Top Hashtags in Thailand,” GetDayTrends, https://getdaytrends.com/thailand/top/tweeted/year/ (เข้าถึงเมื่อ 18 กรกฎาคม 2022).

[2] “หน้าหลัก,” Mob Data Thailand, https://www.mobdatathailand.org/ (เข้าถึงเมื่อ 21 กรกฎาคม 2022); “ประมวลสถานการณ์การชุมนุมและการคุกคาม ประจำเดือนมกราคม 2565,” Mob Data Thailand, https://blog.mobdatathailand.org/posts/2022_01.html (เข้าถึงเมื่อ 21 กรกฎาคม 2022); “ประมวลสถานการณ์การชุมนุมและการคุกคาม ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565,” Mob Data Thailand, https://blog.mobdatathailand.org/posts/2022_02.html (เข้าถึงเมื่อ 21 กรกฎาคม 2022); “ประมวลสถานการณ์การชุมนุมและการคุกคาม ประจำเดือนมีนาคม 2565,” Mob Data Thailand, https://blog.mobdatathailand.org/posts/2022_03.html (เข้าถึงเมื่อ 21 กรกฎาคม 2022); “ประมวลสถานการณ์การชุมนุมและการคุกคาม ประจำเดือนเมษายน 2565,” Mob Data Thailand, https://blog.mobdatathailand.org/posts/2022_04.html (เข้าถึงเมื่อ 21 กรกฎาคม 2022); “ประมวลสถานการณ์การชุมนุมและการคุกคาม ประจำเดือนพฤษภาคม 2565,” Mob Data Thailand, https://blog.mobdatathailand.org/posts/2022_05.html (เข้าถึงเมื่อ 21 กรกฎาคม 2022).

[3] ณัฐพล ทองประดู่, “‘กฎระเบียบ เกลียดระบบ’ คุยกับ 4 แกนนำนักเรียนเลวผู้เรียกร้องสิทธิเหนือร่างกายนักเรียน,” a day, https://adaymagazine.com/bad-student (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฎาคม 2022); “ “องค์กรนักเรียนเลว”: นักเรียนบุกกระทรวงศึกษาฯ เป่านกหวีดไล่ รมว. ณัฏฐพล อดีต กปปส.,” BBC News ไทย, 19 สิงหาคม 2020, https://www.bbc.com/thai/thailand-53837728 (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฎาคม 2022).

[4] กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และ ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์, รายงานเบื้องต้นโครงการวิจัย การก่อตัว พัฒนาการ และพลวัตการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 (2021), น.6-8.

[5] Karoonp Chetpayark, “ทำไมต้อง ‘เดินทะลุฟ้า’ ? คุยกับคนร่วมขบวน ถึงการเรียกร้องที่ขับเคลื่อนด้วยการเดิน,” The MATTER, 2 มีนาคม 2021, https://thematter.co/social/walk-talu-fah/136897 (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฎาคม 2022).

[6] “แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ประกาศ 5 ข้อเรียกร้อง,” Thai PBS, 10 สิงหาคม 2021, https://news.thaipbs.or.th/content/306830 (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฎาคม 2022); “เยาวชนปลดแอก: ใครเป็นใครในแกนนำ-ผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดี,” BBC News ไทย, 20 สิงหาคม 2020, https://www.bbc.com/thai/thailand-53846800 (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฎาคม 2022).

[7] “เปิดจักรวาลทะลุวังและผองเพื่อน,” iLaw Freedom, 27 เมษายน 2022, https://freedom.ilaw.or.th/node/1051 (เข้าถึงเมื่อ 18 กรกฎาคม 2022).

[8] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 (6 เมษายน 2017), ม.97, 108, และ 160.

[9] เพิ่งอ้าง, ม.95, 133, 236, และ 256; พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 (12 กันยายน 2021), ม.20.

[10] “‘จุรินทร์’ สั่งผ่าน คกก.พัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติให้ทุกหน่วยรับฟังข้อเสนอสมัชชาเยาวชน ต้องรายงานความคืบหน้าการช่วยแก้ปัญหาทุก 3 เดือน,” รัฐบาลไทย, 31 กรกฎาคม 2021, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/44295 (เข้าถึงเมื่อ 18 กรกฎาคม 2022); “ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565,” กรมกิจการเด็กและเยาวชน, https://www.dcy.go.th/dcy/webnew/network/?p=gallery_view&id=3301 (เข้าถึงเมื่อ 18 กรกฎาคม 2022).

[11] สำนักงบประมาณ, เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ฉบับปรับปรุง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เล่มที่ 2 (สำนักงบประมาณ, 2020), น.384; สำนักงบประมาณ, เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ฉบับปรับปรุง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เล่มที่ 2 (สำนักงบประมาณ, 2021), น.389.

[12] “รวมข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการชุมนุม ในปี 2564,” Mob Data Thailand, https://blog.mobdatathailand.org/posts/2021_injuries.html (เข้าถึงเมื่อ 18 กรกฎาคม 2022).

[13] “สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-65,” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 1 มิถุนายน 2022, https://tlhr2014.com/archives/24941 (เข้าถึงเมื่อ 18 กรกฎาคม 2022).

[14] ดูเพิ่ม: วรดร เลิศรัตน์, ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี?: ขยายสิทธิให้เสียงเยาวชนมีความหมาย [Policy Insights No.7] (ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง, 2022). 

 

แนวโน้มที่ 4

หน้าแรก: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว 2022

แนวโน้มที่ 6 →

7 แนวโน้มสำคัญของสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว

โดย ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา

เล่มผนวกที่ 1 สถิติสำคัญด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว

รวบรวมสถิติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ โดย ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา และคณะผู้ช่วยวิจัย

เล่มผนวกที่ 2 สามความฝันของเด็กและเยาวชนไทย

ร้อยเรียงเรื่องเล่าความฝันจากการประกวดเรื่องเล่าของ “เด็กสมัยนี้” โดย วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.