101 PUB 2022 – ย้อนมองบทวิเคราะห์นโยบายเด่นแห่งปี

ปี 2022 ที่ผ่านมาถือเป็นปีแรกที่ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank เริ่มเดินหน้าสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะ ผ่านรายงานวิเคราะห์นโยบายหลากหลายประเด็น ซึ่งผ่านกระบวนการค้นคว้าเจาะลึกด้วยหลักฐานข้อมูลอย่างเข้มข้น จนตีแผ่ให้เห็นถึงประเด็นปัญหา และนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ให้ทั้งประชาชนและผู้ทำงานด้านนโยบายนำไปขบคิดต่อ

รายงานวิเคราะห์เหล่านี้ยังล้วนสะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างในทุกจุดของกระบวนการนโยบายไทย ทั้งการบริหารภาครัฐ การกำหนดวาระนโยบาย การจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลของรัฐไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยยังไม่ได้มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่รับฟังเสียงคนแต่ละกลุ่มอย่างได้สัดส่วน และยังไม่มีการปฏิรูปเชิงสถาบัน การพัฒนาประเทศจึงเชื่องช้าลง ผลประโยชน์กระจุกตัว และขาดขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายใหญ่ของประเทศ

101 PUB คัดเลือกรายงานวิเคราะห์นโยบายเด่นๆ ของปี 2022 มาให้อ่านกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อชวนให้ทุกคนนำไปขบคิด ถกเถียง ทำความเข้าใจ เพื่อเดินหน้าเรียกร้องนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเราทุกคนโดยรวม และที่สำคัญ ประเด็นเหล่านี้อาจกำลังเป็นโจทย์ใหญ่ของบรรดาพรรคการเมืองไทย ในวาระที่การเลือกตั้งใหญ่กำลังขยับใกล้เข้ามา


ประเมินสถานะการกระจายอำนาจ: 2 ทศวรรษที่ยังไปไม่ถึงเป้า

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหน่วยการปกครองที่ใกล้ชิดกับประชาชน มีหน้าที่ให้บริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ อย่างถนน ทางเท้า ความสะอาด การจัดหาน้ำประปา การระบายน้ำ การศึกษาขั้นต้น การตลาดและการพาณิชย์ อปท. ในต่างประเทศยังสามารถบริหารจัดการเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ และผังเมืองในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่

การกระจายอำนาจให้ อปท. ของไทยมีอำนาจและศักยภาพในการดำเนินงานจะช่วยตอบสนองกับปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชานในท้องถิ่นนั้นๆ ได้อย่างทันท่วงทีและตรงตามความต้องการได้มากกว่ารัฐบาลส่วนกลาง เพราะสถานการณ์และปัญหาในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันไปและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งรัฐบาลส่วนกลางมิอาจหยั่งรู้ได้ทั้งหมด การแก้ปัญหาทุกเรื่องโดยรัฐบาลส่วนกลางเพียงอย่างเดียวจึงไม่อาจแก้ไขสถานการณ์และปัญหาของทุกพื้นที่ได้อย่างละเอียดและครอบคลุม ดังนั้น การเพิ่มอำนาจให้กับรัฐบาลท้องถิ่นในการบริหารจัดการเรื่องรายละเอียดในท้องที่ตนเอง ควบคู่กับระบบการรับผิดรับชอบต่อประชาชนในท้องถิ่นของตนเองจะช่วยให้อำนาจการตัดสินใจและทรัพยากรอยู่ในมือของผู้ที่เผชิญและเข้าใจถึงปัญหามากที่สุด

ประเทศไทยพยายามกระจายอำนาจการบริหารสู่ท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน แม้ประเทศไทยจะมีการตั้งหน่วยงานท้องถิ่นอย่างสุขาภิบาลและเทศบาลมายาวนาน แต่หมุดหมายหลักในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น คือ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ที่ได้ระบุให้ อปท. มีอิสระในการกำหนดนโยบาย การปกครอง การบริหารงาน เงิน และบุคลากรของตน อีกทั้งมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ ถือเป็นการเพิ่มอำนาจบริหารในท้องถิ่นมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นจุดตั้งต้นในการกำหนดกฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ อปท. ซึ่งให้สิทธิให้เสียงแก่ประชาชนในการเลือกคณะผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นของตน หนึ่งในนั้นคือพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 (ต่อไปนี้จะเรียกโดยย่อว่า พ.ร.บ.กำหนดแผนฯ 2542) ซึ่งกำหนดอำนาจหน้าที่ของ อปท. และเป้าหมายของการกระจายอำนาจที่ชัดเจน

ทว่าจวบจนถึงทุกวันนี้ บทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีอย่างจำกัดอยู่มาก ทำให้เกิดปัญหาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในการให้บริการสาธารณะ การไม่กระจายอำนาจคืนสู่ท้องถิ่นอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นผลจากทัศนคติที่ระแวงว่าประชาชนจะไม่สามารถบริหารจัดการรัฐบาลท้องถิ่นได้ จึงยังควบคุม อปท. ด้วยกฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมาก การตรวจสอบควบคุมดูแลที่เข้มข้นโดยราชการส่วนกลางอย่างกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนองค์กรอิสระอย่างสำนักตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

101 PUB จึงชวนสำรวจสถานะของการกระจายอำนาจท้องถิ่นในประเทศไทยในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาว่ามีพลวัตเป็นอย่างไรและมีปัญหาใดบ้างที่รอการแก้ไขเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

อ่านได้ที่นี่

คุมกัญชาเสรีอย่างไรให้ปลอดภัยกับเด็กและเยาวชนที่สุด

การทำให้กัญชาถูกกฎหมายหรือการเปิดเสรีกัญชาเป็นประเด็นนโยบายที่ถูกถกเถียงในสังคมไทยอย่างมาก มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งในแต่ละฝ่ายยังมองระดับการเปิดเสรีที่เหมาะสมไว้ต่างกัน

ที่ผ่านมา การใช้กัญชาในประเทศไทยก็มีทิศทางเปิดเสรีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยในปี 2019 จนมาถึงการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีโดยกลุ่มประชาชนผู้ใช้งานและพรรคการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

จุดเปลี่ยนสำคัญคือ การปลดล็อกกัญชาทุกส่วนออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษ (หากมีสาร THC ไม่เกิน 0.2%) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกนี้เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีกฎหมายหรือมาตรการใดมาควบคุมการใช้งานอย่างเพียงพอ เกิดเป็นสภาวะ ‘สุญญากาศ’ ที่ส่งผลให้การปลูก จำหน่าย บริโภคและใช้กัญชาในสังคมไทยเป็นไปอย่างไร้กฎเกณฑ์ ขาดการควบคุมความปลอดภัย

ที่สำคัญคือ กระทบต่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการคุ้มครองจากการดำเนินนโยบายนี้มากที่สุด

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB และ สสส. ชวนผู้อ่านสำรวจผลกระทบของกัญชาต่อเด็กและเยาวชนในด้านต่างๆ ชี้ช่องโหว่และจุดเสี่ยงของการเปิดเสรีกัญชา ทั้งในสภาวะสุญญากาศในปัจจุบัน และจากร่าง พ.ร.บ. กัญชาฯ ฉบับล่าสุด รวมถึงข้อเสนอแนะในการออกแบบนโยบายกัญชาเสรีที่ลดผลกระทบต่อกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กและเยาวชน

อ่านได้ที่นี่

บ้าน(เช่า)มั่นคงสำหรับทุกคน: ทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเมือง

พื้นที่เมืองเป็นศูนย์รวมของโอกาส โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่ความเจริญกระจุกตัวมากอย่างไทย คนจำนวนมากจำต้องเดินทางเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองเพื่อเรียนรู้สิ่งที่ชอบ ทำงานที่ใช่ สร้างเนื้อสร้างตัว หรือสร้างครอบครัวแล้วให้ลูกมีโอกาสดีๆ แต่คนไทยในเขตเมืองส่วนใหญ่กลับพบว่าการมีบ้านที่ดีกลายเป็นเพียงความฝันซึ่งเอื้อมคว้าไม่ถึงมากขึ้นทุกที เมื่อการมีบ้านที่ดีในเมืองเป็นได้แค่ความฝันอันเลื่อนลอยแล้ว ความฝันเรื่องอื่นในชีวิตของคนจำนวนมากก็จะกลายเป็นจริงยากตามไปด้วย

นโยบายเรื่องบ้านและการบริหารจัดการที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ว่าการมีบ้านในพื้นที่แห่งโอกาสนี้จะเป็นสิทธิพิเศษสำหรับคนบางกลุ่มหรือจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน อย่างไรก็ดี ข้อมูลเชิงประจักษ์ชี้ว่าการจัดการของรัฐบาลยังไม่ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนสิทธิดังกล่าวของคนเมืองเท่าที่ควร

101 PUB ชวนผู้อ่านสำรวจปัญหาคนเมืองไม่สามารถมีบ้านที่ดี ชี้ถึงช่องโหว่ของหนึ่งในนโยบายสำคัญอย่างการสร้างบ้านขายให้ครัวเรือน พร้อมทั้งเสนอแนวทางเปลี่ยนนโยบายไปสู่การสร้างบ้านเช่าที่มั่นคง ให้การมีบ้านที่ดีไม่เป็นเพียงความฝันแต่เป็นสิทธิที่จับต้องได้จริง และช่วยให้คนเมืองทุกคนมีโอกาสไล่ตามความฝันอื่นในชีวิตตนได้เต็มที่มากขึ้น

อ่านได้ที่นี่

ส่องงบลงทุน 434,400 ล้านบาท ปี 2566: ลงทุนอะไรบ้าง? ตอบโจทย์ความท้าทายของไทยหรือไม่?

‘ถ้าอยากรู้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องใด ให้ดูที่การจัดสรรงบประมาณ’

รัฐบาลโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ดังเช่นประเทศไทย มีปัญหาที่รอการแก้ไขจำนวนมาก พร้อมๆ ไปกับการพยายามขับเคลื่อนประเทศไปตามวิสัยทัศน์ที่ตนได้วางไว้ แน่นอนว่าการทำงานทุกอย่างให้สำเร็จลุล่วงได้นั้น การมีทรัพยากร โดยเฉพาะเงินงบประมาณ ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ

แต่อย่าลืมว่างบประมาณประเทศมีอยู่อย่างจำกัด ในแต่ละปี งบประมาณที่กรมต่างๆ ส่งคำขอไปยังสำนักงบประมาณมีมากกว่า 5 ล้านล้านบาท แต่ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากร ทำให้รัฐบาลสามารถจัดสรรได้เพียงประมาณ 3 ล้านล้านบาท จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการคัดกรอง จัดลำดับความสำคัญ และเลือกจัดสรรเงินให้กับโครงการที่สำคัญกว่า

หนึ่งในหมวดงบประมาณที่น่าจับตามองคือ ‘งบลงทุน’ โดยเฉพาะในช่วงฟื้นฟูประเทศหลังจากได้รับผลกระทบอันหนักหน่วงของโควิด-19 เพราะการลงทุนภาครัฐคือการใช้จ่ายเพื่อจัดหาสินทรัพย์ถาวรที่มาให้บริการแก่ประชาชนไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งอุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์การศึกษา เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม การขุดคลองส่งน้ำ การตัดถนน การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะ การติดไฟส่องสว่างตามทาง ตลอดจนอาคารสิ่งก่อสร้าง ซึ่งหากลงทุนได้อย่างถูกต้อง ก็จะช่วยสร้างประโยชน์ในการพยุงเศรษฐกิจในระยะสั้น ช่วยยกระดับบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนวางรากฐานเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว

101 PUB จึงพาสำรวจงบลงทุนในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 มูลค่า 492,341 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนที่เขียนเป็นโครงการในยุทธศาสตร์ต่างๆ จำนวน 434,400 ล้านบาท เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลตั้งงบลงทุนตามยุทธศาสตร์ที่รัฐวางไว้อย่างไรบ้าง และแท้จริงแล้ว งบลงทุนเหล่านี้จัดหาสินทรัพย์อะไร จะนำไปสู่การวางรากฐานยกระดับบริการสาธารณะหรือศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวเพิ่มขึ้นได้อย่างไรบ้าง

อ่านได้ที่นี่

5 เรื่องเล่า vs 5 เรื่องจริง ดีลควบรวมทรู+ดีแทค และบทบาทของ กสทช.

การควบรวมระหว่างทรูและดีแทค ถือเป็น ‘ดีลใหญ่’ ที่สุดดีลหนึ่งของไทย การควบรวมธุรกิจครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือเกือบ 120 ล้านเลขหมาย และกระเทือนถึงอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในภาพรวม

แม้จะเป็น ‘เรื่องใหญ่’ ขนาดนี้ แต่ผู้เกี่ยวข้องต่อการกำกับดูแลมักจะออกมาให้ ‘เรื่องเล่า’ ในทำนองว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดผลเสีย และอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ตั้งแต่การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ตลอดจนการบอกปัดอำนาจหน้าที่ของตนเองว่าไม่มีอำนาจกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจนี้

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ขอตรวจสอบ ‘เรื่องเล่า’ เหล่านั้น และเสนอ ‘เรื่องจริง’ ของการวิเคราะห์การรวมธุรกิจครั้งนี้ผ่านข้อมูลและกฎหมายที่จับต้องได้

อ่านได้ที่นี่

สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก?

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ‘ตัวเลขเด็กเกิดใหม่’ สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคมไทยและจุดประเด็นให้เกิดการถกเถียงขึ้นอีกครั้ง เพราะจำนวนเด็กเกิดใหม่มีแนวโน้มน้อยลงต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2564 ที่ผ่านมามีเด็กเกิดใหม่เพียง 544,570 คน เป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ลดลงจาก 10 ปีที่แล้วมากถึง 3 แสนคน และยังเป็นปีแรกที่จำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ (รูปที่ 1) พร้อมกับที่ประเทศไทยได้เคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เป็นประเทศแรกในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา หรือที่นักวิชาการเรียกว่า ‘แก่ก่อนรวย’

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามสนับสนุนให้คนมีลูกมากขึ้นอยู่ตลอด ผ่านนโยบายกระตุ้นให้คนมีลูกเพื่อชาติ แต่ปรากฏชัดแล้วว่าการพูดเพียงอย่างเดียวนี้ไม่ได้ผล การดำเนินนโยบายส่งเสริมให้คนมีลูกที่เป็นไปอย่างถูกที่ถูกทาง อาจต้องย้อนกลับไปตั้งต้นกันตั้งแต่คำถามพื้นฐานว่า ‘อะไรทำให้คนไทยในปัจจุบันมีลูกน้อยลง ช้าลง จนถึงไม่อยากมีลูกเลย’ เพราะการมีลูกในยุคสมัยนี้มีราคาแพง? เพราะผู้หญิงเลือกที่จะเป็นโสดมากขึ้น? หรือเพราะทัศนคติเรื่องการมีครอบครัวที่เปลี่ยนไป? หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ‘สังคมแบบไหนที่จะทำให้คนเหล่านี้อยากมีลูกมากขึ้น’

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB และ สสส. ชวนผู้อ่านสำรวจเหตุผลจากงานวิจัยว่าเพราะอะไรคนสมัยนี้จึงไม่อยากหรือไม่พร้อมมีลูก รวมถึงนำเสนอทางออกและความเป็นไปได้ทางนโยบายเพื่อออกแบบสังคมที่มีระบบนิเวศการเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ

อ่านได้ที่นี่

ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม

ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม

ไม่มีฝันใดของเยาวชนไทยยิ่งใหญ่ไปกว่าฝันที่จะถูกรับฟัง เป็นอิสระ และได้รับการสนับสนุน แต่ฝันนั้นยังดูไกลเกินเอื้อมนัก โดยเฉพาะในโลกของ ‘กระบวนการนโยบายสาธารณะ’

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนพยายาม ‘ส่งเสียง’ ถึงผู้กำหนดนโยบายทุกระดับอย่างกระตือรือร้นและทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยปรากฏในรอบหลายทศวรรษ เรียกร้องอิสระจากการบังคับควบคุมและปัญหานานัปการซึ่งเหนี่ยวรั้งมิให้พวกเขาเติบโตและเติมเต็มความฝันได้อย่างเต็มที่ เช่น ปัญหาการศึกษาที่ย่ำแย่และการเมืองที่สิ้นหวัง พร้อมทั้งเรียกร้องการสนับสนุนที่พวกเขาสมควรได้รับ

เราทุกคนต่าง ‘ได้ยิน’ เสียงนั้นชัดเจน แต่การส่งเสียงดังต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนของเยาวชนก็สะท้อนว่าเสียงของพวกเขา ‘ได้ยินแต่ไม่ถูกรับฟัง ดังแต่ไร้ความหมาย’

การขาดช่องทางส่งเสียง-มีส่วนร่วมเชิงนโยบายอย่างมีความหมายนี้ถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการของเยาวชนได้ตรงจุด กลายเป็นอุปสรรคเรื้อรังที่ขวางกั้นอนาคตของพวกเขาและสังคม อีกทั้งยังจะผลักให้เยาวชนต้องส่งเสียงผ่านการชุมนุมประท้วงมากขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับความพยายามของรัฐบาลในการกดปราบการชุมนุมอย่างรุนแรงแล้ว จะเร่งความขัดแย้งแบ่งขั้วในสังคมและบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมือง

คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง 101 PUB กับ สสส. ชวนสำรวจปัญหาการขาดช่องทางการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของเด็กและเยาวชนในกระบวนการนโยบาย และเสนอแนวทางเพื่อขยายช่องทางดังกล่าวผ่านนโยบาย ‘สามเสาหลัก’ ได้แก่ ลดอายุขั้นต่ำและขยายช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมือง ปฏิรูปสภาเยาวชนให้เป็นกระบอกเสียงเชิงนโยบายที่อิสระ และให้นักเรียน-นักศึกษามีส่วนร่วมในนโยบายของระบบการศึกษา

ทั้งนี้ ในการเข้าใจและขบคิดถึงวิธีแก้ปัญหาข้างต้น ต้องเริ่มจากตั้งหลักคิดว่าเด็กและเยาวชนมี ‘สิทธิ’ ที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบาย โดยเฉพาะเมื่อนโยบายนั้นอาจส่งผลกระทบต่อพวกเขาในวันนี้หรือวันข้างหน้า ผู้ใหญ่จะตัดสินใจแทนโดยมิรับฟังเสียงของพวกเขาไม่ได้ ที่สำคัญ ผู้ใหญ่ต้องไม่ด้อยค่าความเห็น รวมถึงเชื่อมั่นในความสามารถและศักยภาพที่จะเรียนรู้ของพวกเขาในกระบวนการมีส่วนร่วมด้วย

อ่านได้ที่นี่

เรียบเรียง/นำเสนอ

ฉัตร คำแสง

บทความที่เกี่ยวข้อง

1 ปี 101 PUB - 10 อันดับงานยอดนิยม

1 ปี 101 PUB – 10 อันดับงานยอดนิยม

ในโอกาสครบรอบ 1 ปีแห่งการก่อตั้ง 101 PUB ชวนอ่านผลงานยอดนิยม 10 อันดับแรก สำรวจปัญหาและข้อเสนอนโยบายหลากหลายประเด็น ทั้งประชาธิปไตย นิติธรรม การพัฒนาที่ทั่วถึง และการพัฒนาเด็กและระบบนิเวศการเรียนรู้

เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022

101 PUB ชวนอ่าน “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022” พร้อม “สถิติสำคัญด้านเด็กและครอบครัว” และ “สามความฝันของเยาวชนไทย”

22 August 2022
ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์

ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022

101 PUB เผยแพร่ชุดข้อมูลผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ ซึ่งสำรวจความรับรู้ คุณค่า และทัศนคติของเยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี จากกลุ่มตัวอย่าง 19,237 คนทั่วประเทศ

22 August 2022

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.