ประเด็นสำคัญ
- เยาวชนไทยขาดช่องทางการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายอย่างมีความหมายตามสิทธิที่พวกเขาพึงมี ส่งผลให้นโยบายไม่ตอบสนองความต้องการของพวกเขาอย่างตรงจุด และเร่งความขัดแย้งในสังคม
- เยาวชนมีอิทธิพลต่อผู้กำหนดนโยบายในระบอบการเมืองจำกัด โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะไม่ใช่ฐานเสียงของฝ่ายการเมือง ฉะนั้น ควรลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี เพื่อขยายฐานเสียงเยาวชน พร้อมทั้งลดอายุผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจาก 25 เหลือ 18 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเป็นผู้กำหนดนโยบายได้เอง
- ไทยมีสภาเยาวชนเป็นกระบอกเสียงของเยาวชน แต่ในปัจจุบัน สภาขาดความเป็นตัวแทนที่ดีและบทบาทเชิงนโยบาย จึงควรปฏิรูปสภาให้มาจากการเลือกตั้ง เป็นอิสระจากการควบคุมของหน่วยงานราชการ รวมถึงมีอำนาจในการร่วมให้ความเห็นและตัดสินใจนโยบายมากขึ้น
- นักเรียน-นักศึกษาควรมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายของระบบการศึกษา โดยควรได้เลือกผู้แทนของตนอย่างอิสระ และผู้แทนควรได้ร่วมหารือและตัดสินใจนโยบายทั้งในระดับสถานศึกษา พื้นที่ และประเทศ
ไม่มีฝันใดของเยาวชนไทยยิ่งใหญ่ไปกว่าฝันที่จะถูกรับฟัง เป็นอิสระ และได้รับการสนับสนุน[1]ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา, เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022: เล่มผนวกที่ 2 … Continue reading แต่ฝันนั้นยังดูไกลเกินเอื้อมนัก โดยเฉพาะในโลกของ ‘กระบวนการนโยบายสาธารณะ’
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนพยายาม ‘ส่งเสียง’ ถึงผู้กำหนดนโยบายทุกระดับอย่างกระตือรือร้นและทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยปรากฏในรอบหลายทศวรรษ เรียกร้องอิสระจากการบังคับควบคุมและปัญหานานัปการซึ่งเหนี่ยวรั้งมิให้พวกเขาเติบโตและเติมเต็มความฝันได้อย่างเต็มที่ เช่น ปัญหาการศึกษาที่ย่ำแย่และการเมืองที่สิ้นหวัง พร้อมทั้งเรียกร้องการสนับสนุนที่พวกเขาสมควรได้รับ
เราทุกคนต่าง ‘ได้ยิน’ เสียงนั้นชัดเจน แต่การส่งเสียงดังต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนของเยาวชนก็สะท้อนว่าเสียงของพวกเขา ‘ได้ยินแต่ไม่ถูกรับฟัง ดังแต่ไร้ความหมาย’
การขาดช่องทางส่งเสียง-มีส่วนร่วมเชิงนโยบายอย่างมีความหมายนี้ถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการของเยาวชนได้ตรงจุด กลายเป็นอุปสรรคเรื้อรังที่ขวางกั้นอนาคตของพวกเขาและสังคม อีกทั้งยังจะผลักให้เยาวชนต้องส่งเสียงผ่านการชุมนุมประท้วงมากขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับความพยายามของรัฐบาลในการกดปราบการชุมนุมอย่างรุนแรงแล้ว จะเร่งความขัดแย้งแบ่งขั้วในสังคมและบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมือง
คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง 101 PUB กับ สสส. ชวนสำรวจปัญหาการขาดช่องทางการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของเด็กและเยาวชนในกระบวนการนโยบาย และเสนอแนวทางเพื่อขยายช่องทางดังกล่าวผ่านนโยบาย ‘สามเสาหลัก’ ได้แก่ ลดอายุขั้นต่ำและขยายช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมือง ปฏิรูปสภาเยาวชนให้เป็นกระบอกเสียงเชิงนโยบายที่อิสระ และให้นักเรียน-นักศึกษามีส่วนร่วมในนโยบายของระบบการศึกษา
ทั้งนี้ ในการเข้าใจและขบคิดถึงวิธีแก้ปัญหาข้างต้น ต้องเริ่มจากตั้งหลักคิดว่าเด็กและเยาวชนมี ‘สิทธิ’ ที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบาย โดยเฉพาะเมื่อนโยบายนั้นอาจส่งผลกระทบต่อพวกเขาในวันนี้หรือวันข้างหน้า[2]Convention on the Rights of the Child (1989), Art.23. ผู้ใหญ่จะตัดสินใจแทนโดยมิรับฟังเสียงของพวกเขาไม่ได้ ที่สำคัญ ผู้ใหญ่ต้องไม่ด้อยค่าความเห็น รวมถึงเชื่อมั่นในความสามารถและศักยภาพที่จะเรียนรู้ของพวกเขาในกระบวนการมีส่วนร่วมด้วย
เสาหลักที่ 1: ลดอายุขั้นต่ำและขยายช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมือง[3]บางส่วนดัดแปลงจาก: วรดร เลิศรัตน์, “ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี?: ขยายสิทธิให้เสียงเยาวชนมีความหมาย,” 101 Public Policy Think Tank, 13 มิถุนายน 2022, … Continue reading
ระบอบการเมืองของคนแก่ โดยคนแก่ เพื่อคนแก่… ยากจะเหลียวแลเยาวชน
เสาหลักที่หนึ่งคือการเปิดช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองสำหรับประชาชนทั่วไปให้เยาวชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมยิ่งขึ้น – ให้เสียงของเยาวชนมีความหมายเท่าเทียมกับเสียงของผู้ใหญ่มากขึ้น
ทุกวันนี้เยาวชนขาดช่องทางการมีส่วนร่วมในระบอบการเมือง ซึ่งเป็นเหมือนระบอบ ‘ชราธิปไตย – ของคนแก่ โดยคนแก่ เพื่อคนแก่’ ภายใต้ระบอบนี้ เยาวชนไม่มีสิทธิเป็นผู้กำหนดนโยบายเอง เพราะกฎหมายกำหนดอายุขั้นต่ำในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกสภาท้องถิ่นไว้ที่ 25 ปี[4]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 [2017], ม.97; พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 [2019], ม.49. ส่วนอายุขั้นต่ำในการเป็นรัฐมนตรีและผู้บริหารท้องถิ่นก็สูงถึง 35 ปี[5]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 [2017], ม.160.
ผู้กำหนดนโยบายที่เป็นผู้แทนคนรุ่นใกล้เคียงกับเยาวชนยังมีจำนวนน้อยมาก จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2021 ไทยมีประชากรอายุไม่เกิน 30 ปีถึง 24.5 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรทั้งหมด[6]“จำนวนประชากรจากการทะเบียน จำแนกตามอายุ เพศ ภาคและจังหวัด พ.ศ. 2564,” สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2021, http://statbbi.nso.go.th/staticreport/Page/sector/TH/report/sector_01_11101_TH_.xlsx (เข้าถึงเมื่อ 27 … Continue reading แต่กลับมี ส.ส. ที่มีอายุในช่วงดังกล่าวเพียง 12 คนจากทั้งหมด 500 คน หรือคิดเป็น 2% เท่านั้น[7]Inter Parliamentary Union, “Thailand: House of Representatives,” IPU Parline: Global Data on National Parliaments, https://data.ipu.org/content/thailand?chamber_id=13541 (เข้าถึงเมื่อ 27 กันยายน 2022). และไม่มีรัฐมนตรีในวัยนี้แม้แต่คนเดียว[8]ข้อมูลรวบรวมโดย คิด for คิดส์
ซ้ำร้าย เยาวชนยังมีอิทธิพลต่อผู้กำหนดนโยบายสูงอายุเหล่านั้นได้จำกัดมาก เพราะมีทรัพยากรทางการเมืองที่พวกเขาต้องการน้อยกว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเงิน อำนาจหน้าที่การงาน หรือเครือข่ายอุปถัมภ์ กลุ่มที่อายุต่ำกว่า 18 ปีไม่มีแม้กระทั่งสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งแทบจะเป็นทรัพยากรอย่างเดียวที่เยาวชนสามารถมีเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ได้ เมื่อปราศจากสิทธินี้ จึงมีโอกาสสูงที่เสียงเยาวชนจะไร้ค่าสำหรับผู้กำหนดนโยบาย
ลองสังเกตว่าประเด็นนโยบายที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเป็นผู้เรียกร้องหลัก เช่น ชีวิตในโรงเรียน การสอบเข้ามหาวิทยาลัย การขาดแหล่งเล่น-แหล่งเรียนรู้ และความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน แทบไม่เคยถูกรัฐบาลใดหยิบยกขึ้นมาพูดคุยและพัฒนานโยบายตอบสนองอย่างจริงจัง เพราะพวกเขาไม่ใช่ฐานเสียงในการเลือกตั้ง
หนึ่งในวิธีพื้นฐานและตรงไปตรงมาที่สุดในการเปิดช่องทางให้เยาวชนส่งเสียงในระบอบการเมืองได้อย่างมีความหมายจึงควรเริ่มจากจุดนี้ คือให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีมีสิทธิเลือกตั้ง
เปลี่ยนระบอบชราธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยของทุกคน เปลี่ยนเสียงเยาวชนให้ถูกรับฟังและมีความหมายต่อนโยบายสาธารณะ
ลดอายุขั้นต่ำ ทำระบอบผู้แทนให้เด็กลง ให้เสียงเยาวชนมีความหมาย
คิด for คิดส์ เสนอให้ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 ปี เหลือ ‘15 ปี’ ครอบคลุมสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น สิทธิออกเสียงประชามติ ตลอดจนสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรง เช่น การเข้าชื่อต่อรัฐสภาและสภาท้องถิ่น เป็นต้น
การลดอายุเช่นนี้จะส่งผลให้ฝ่ายการเมืองรับฟังเยาวชนอายุ 15-17 ปีอย่าง ‘เสมอภาค’ กับพลเมืองกลุ่มอื่นมากขึ้น เพราะกลายเป็นฐานเสียงเลือกตั้งเช่นกัน ทำให้เกิดนโยบายที่ตอบสนองปัญหาและความต้องการของพวกเขาเพิ่มขึ้น
การลดอายุยังนับว่าได้สัดส่วนกับหน้าที่และความรับผิดชอบตามช่วงวัย เพราะเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปถูกศาลสั่งลงโทษอาญาได้แล้ว[9]ประมวลกฎหมายอาญา, ม.73-76. จึงควรต้องมีสิทธิร่วมกำหนดกฎหมายที่อาจถูกนำมาใช้ตัดสินความผิดและลงโทษตนเอง อีกทั้งยังรับจ้างงานได้แล้วและมีโอกาสเสียภาษีมากขึ้น[10]พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 [1998], ม.44. จึงควรต้องมีสิทธิร่วมกำหนดการจัดเก็บภาษีและการใช้งบประมาณ ซึ่งตนอาจต้องร่วมจ่ายด้วยรายได้จากน้ำพักน้ำแรง
ที่สำคัญ เยาวชนยิ่งอายุน้อย ยิ่งต้องรับผลกระทบจากการตัดสินใจประเด็นนโยบายระยะยาว เช่น สิ่งแวดล้อม ผังเมือง และการศึกษา มากกว่าและยาวนานกว่า จึงควรต้องมีสิทธิร่วมตัดสินใจ เพื่อให้พวกเขาได้กำหนดอนาคตของตนเอง ลดการตัดสินใจแทนกันข้ามรุ่น
ตัวอย่างประเทศที่ลดอายุให้เยาวชนอายุ 16 ปีขึ้นไปเลือกตั้งได้ทุกระดับ ได้แก่ ออสเตรีย อาร์เจนตินา และมอลตา ขณะที่บางประเทศก็ให้เยาวชนช่วงอายุดังกล่าวเลือกตั้งได้เฉพาะในระดับท้องถิ่น เช่น เอสโตเนีย เยอรมนี (บางรัฐ) และสกอตแลนด์[11]เยาวชนอายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถเลือกตั้งสมาชิกสภาสกอตแลนด์ได้ แต่ยังเลือกตั้ง ส.ส. ของสหราชอาณาจักรไม่ได้
นอกจากนี้ คิด for คิดส์ ยังเสนอให้ลดอายุผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองจาก 25 ปี เหลือ ‘18 ปี’ ควบคู่กับลดอายุนิติภาวะจาก 20 ปี เหลือ 18 ปีตามบรรทัดฐานสากล (175 จาก 195 ประเทศทั่วโลกกำหนดอายุนิติภาวะไว้ไม่เกิน 18 ปี)[12]นับรวมสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งกำหนดอายุนิติภาวะแตกต่างกันในแต่ละมลรัฐ โดยมีทั้งที่ไม่เกินและเกิน 18 ปี
การลดอายุข้างต้นจะเปิดโอกาสให้เยาวชนเป็นผู้กำหนดนโยบายได้โดยตรง ซึ่งย่อมจะเข้าใจและตอบสนองปัญหาและความต้องการของคนรุ่นเดียวกันหลายเรื่องได้ดีกว่า อีกทั้งยังสมเหตุสมผลบนหลักการที่ว่า บุคคลที่บรรลุนิติภาวะหรือมีความสามารถสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วควร ‘มีสิทธิ’ สมัครรับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสมอหน้ากันทุกคน ส่วนจะ ‘เหมาะสม’ ต่อการดำรงตำแหน่งหรือไม่ ก็ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเองผ่านคูหาเลือกตั้ง
ตัวอย่างประเทศที่ให้ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปสมัครรับเลือกตั้งได้ทุกตำแหน่ง รวมถึงตำแหน่งบริหารสูงสุดอย่างประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์[13]หัวหน้าฝ่ายบริหารของออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์คือนายกรัฐมนตรี ส่วนของฟินแลนด์คือประธานาธิบดี
Mhairi Black ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สหราชอาณาจักรครั้งแรกเมื่ออายุ 20 ปี / Sanna Marin ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ท. ครั้งแรกเมื่ออายุ 27 ปี และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์เมื่ออายุ 34 ปี
(ที่มาภาพ: UK Parliament; Finnish Government)
ขยาย-ปรับช่องทางการมีส่วนร่วมทางตรงให้เข้าถึงได้ง่าย-สอดคล้องกับพฤติกรรม
การเปิดช่องทางการมีส่วนร่วมผ่านระบอบ ‘ผู้แทน’ เพียงด้านเดียวไม่เพียงพอที่จะให้เยาวชนส่งเสียงได้อย่างมีความหมาย จำเป็นต้องเปิดช่องทางการมีส่วนร่วม ‘ทางตรง’ ไปพร้อมกันด้วย
ฉะนั้น คิด for คิดส์ จึงเสนอให้ขยายและปรับช่องทางการมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชน ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและสอดคล้องกับพฤติกรรมของเยาวชน ซึ่งมักมีส่วนร่วมแบบเป็นปัจเจก ไม่ผ่านองค์กรจัดตั้ง (เช่น พรรคการเมือง) ตอบสนองประเด็นเฉพาะ และผ่านช่องทางออนไลน์[14]ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, และ เจณิตตา จันทวงษา, เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022 (กรุงเทพฯ: … Continue reading ด้วยมาตรการต่อไปนี้
1. จัดตั้งระบบเรียกร้องออนไลน์ (E-petition) ของสภาผู้แทนราษฎร: ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อกันเพื่อเรียกร้องหรือซักถามต่อรัฐบาล ผ่านเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร หากมีผู้เข้าชื่อครบ 1 หมื่นคน ให้รัฐบาลต้องตอบกลับข้อเรียกร้องนั้นภายใน 30 วัน ดังเช่นในสหราชอาณาจักร
(ที่มาภาพ: UK Government and Parliament)
2. ปรับรูปแบบการสอบถามความเห็นประชาชน: กำหนดคำถามและเลือกรูปแบบการสอบถามให้เหมาะกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยอาจใช้แบบสอบถามออนไลน์ที่เข้าใจและตอบง่าย รวมถึงใช้การประชุมออนไลน์ในช่วงเวลาที่กลุ่มเป้าหมายสะดวกและผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นได้ง่าย
3. พัฒนาระบบเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายออนไลน์: พัฒนาแพลตฟอร์มในเว็บไซต์รัฐสภา ให้สามารถใช้รวมกลุ่มริเริ่ม สื่อสาร พัฒนาร่างกฎหมายร่วมกัน และลงชื่อได้โดยตรงและสะดวกยิ่งขึ้น
4. ฟื้นฟูสิทธิการเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง: ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 5 หมื่นคนสามารถเข้าชื่อกันเพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภาพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงได้
การปรับ ‘กติกากฎหมาย’ – เปิดช่องทางการมีส่วนร่วมทั้งแบบตัวแทนและแบบทางตรงให้เยาวชนเข้าถึงได้ตามข้อเสนอเหล่านี้ จะช่วยให้เสียงเยาวชนมีความหมายต่อนโยบายยิ่งขึ้น แต่ก็ยัง ‘ไม่เพียงพอ’
อย่าลืมว่าโลกจริงเต็มไปด้วย ‘กติกา’ ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอื่นมากมายที่ทำให้เยาวชนมีส่วนร่วมและถูกรับฟังได้น้อยกว่า เช่น ถ้าเยาวชนสมัครรับเลือกตั้งได้จริง ลองนึกดูว่าในระยะสั้น พรรคการเมืองจะส่งพวกเขาลงสมัคร ‘ข้ามหัวผู้หลักผู้ใหญ่’ ในพื้นที่ที่น่าจะชนะมากน้อยแค่ไหน?
จริงอยู่ว่าการปรับกติกากฎหมายจะส่งผลให้ ‘กติกาอื่น’ ค่อยๆ เปลี่ยนตามในระยะยาว ซึ่งอาจกินเวลาหลายปีหรือหลายสิบปี ในระหว่างนั้น เยาวชนควรต้องมี ‘ช่องทางเฉพาะพิเศษ’ ให้ส่งเสียงได้อย่างมีความหมายยิ่งขึ้น ข้อเสนอเสาหลักที่สองและสามมุ่งเสริมสร้างช่องทางดังกล่าวในกระบวนการนโยบายระดับภาพกว้างและระดับระบบการศึกษาตามลำดับ
เสาหลักที่ 2: ปฏิรูปสภาเยาวชนให้เป็นกระบอกเสียงเชิงนโยบายที่อิสระ
4 ปัญหาสภาเยาวชน: ขาดอิสระ-บทบาทเชิงนโยบาย-ทรัพยากรสนับสนุน
เสาหลักที่สองคือการปฏิรูป ‘สภาเยาวชน’ ให้เป็นกระบอกเสียงเชิงนโยบายของเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ
สภาเยาวชนถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่หลายประเทศและหน่วยงานทั่วโลกนิยมใช้ขยายการมีส่วนร่วมของเยาวชน โดยเปิดโอกาสให้ที่ประชุมผู้แทนเยาวชนแสดงความเห็น ตัดสินใจ และติดตามประเมินผลนโยบายร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย หลายครั้ง สภายังอาจทำหน้าที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อนำนโยบายไปปฏิบัติด้วย
ประเทศไทยได้จัดตั้งสภาเด็กและเยาวชน (‘สภาเยาวชน’) ในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศรวม 8,781 แห่งมาตั้งแต่ปี 2008[15]พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ค.ศ. 2007 จัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร … Continue reading แต่ตราบจนปัจจุบัน สภากลับเป็นกระบอก ‘เสีย’ มากกว่ากระบอก ‘เสียง’[16]“สภาเด็กและเยาวชน สภานักเรียน กระบอกเสีย(ง)ที่ถูกเมิน,” Amnesty International Thailand, 22 มกราคม 2022, https://www.amnesty.or.th/latest/blog/985/ (เข้าถึงเมื่อ 22 กันยายน 2022). ที่มีความหมาย เนื่องจากปัญหาใหญ่ 4 เรื่องดังต่อไปนี้
1. ขาดความเป็นตัวแทนที่ดี: กฎหมายจัดตั้งสภาเยาวชนกำหนดให้คณะบริหารสภาระดับตำบล เทศบาล และเขตมาจากการคัดเลือกกันเองของเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปีทุกคนในพื้นที่ จากนั้น คณะบริหารเหล่านี้ก็คัดเลือกกันเองเป็นคณะบริหารระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศขึ้นไปตามลำดับ[17]พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ, ม.22, 24, 26, 28, 30.
อย่างไรก็ดี กฎหมายมิได้กำหนดว่าการคัดเลือกกันเองดังกล่าวมีกระบวนการอย่างไร ในทางปฏิบัติ คณะบริหารสภาหลายแห่งถูกภาครัฐเลือกมาจากผู้นำนักเรียน-นักเรียนดีเด่นที่โรงเรียนเสนอ หรือลูกหลานของผู้นำท้องถิ่น[18]สมพงษ์ จิตระดับ, คู่มือสร้างความเป็นพลเมืองดีในสภาเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่น (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2012); … Continue reading ส่วนในพื้นที่ที่มีการเลือกตั้ง ก็มักมาจากการเลือกโดยเยาวชนวงจำกัดมาก จากการสัมภาษณ์ตัวแทนสภา พบว่าบางแห่งมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงหลักสิบคนเท่านั้น เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบมิได้จัดการเลือกตั้งให้เข้าถึงได้ง่ายและประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนรับรู้อย่างทั่วถึง
เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งแล้ว คณะบริหารสภายังขาดการรับฟังและร่วมมือกับเด็กและเยาวชนนอกสภาอย่างเพียงพอ เนื่องจากมีภาระงานที่ภาครัฐสั่งการลงมามากและมีทรัพยากรจำกัด ในแง่นี้ คณะบริหารจึงไม่ยึดโยงกับเด็กและเยาวชนวงกว้าง และอาจไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นของพวกเขาได้อย่างเหมาะสม
2. ขาดอิสระในการดำเนินงาน: สภาเยาวชนถูกพัฒนาขึ้นบนหลักการ ‘เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน’ แต่ในความเป็นจริง กรมกิจการเด็กและเยาวชนกลับใช้อำนาจควบคุมนโยบาย โครงการ และงบประมาณของสภาอย่างเข้มงวด เข้าทำนอง ‘ผู้ใหญ่สั่ง เด็กต้องทำตาม’ เสียมากกว่า
ตัวแทนสภาที่ คิด for คิดส์ พูดคุยด้วยเล่าว่า กรมหรือบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดมักกดดันไม่ให้สภาแสดงจุดยืนที่แตกต่าง และกำหนดมาแล้วว่างบประมาณส่วนใหญ่ที่สภาได้รับจะต้องนำไปใช้ทำโครงการอะไร เพื่อเป้าหมายอะไร โดยอาจเปิดโอกาสให้สภาตัดสินใจรายละเอียดเองบางส่วน หรือให้คณะบริหารสภาแค่จัดและเข้าร่วมโครงการตามคำสั่ง – บางครั้งได้เพียงร่วมถ่ายภาพเท่านั้น
นอกจากนี้ แม้สภาอาจเสนอโครงการได้เองภายใต้กรอบงบประมาณที่เหลืออยู่ แต่หากกรมหรือบ้านพักไม่เห็นด้วย ก็จะไม่อนุมัติโครงการให้
3. ขาดบทบาทเชิงนโยบาย: กฎหมายจัดตั้งกำหนดให้สภาเยาวชนทำหน้าที่ให้ข้อมูลและความเห็นในประเด็นนโยบายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนต่อหน่วยงานรัฐ[19]พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ, ม.23, 25, 29, 31. แต่ในทางปฏิบัติ สภามีบทบาทเชิงนโยบายได้น้อย เพราะขาดอำนาจและเครื่องมือที่จะเอื้อให้ผู้กำหนดนโยบายรับฟังสภาอย่างจริงจัง อย่าลืมว่าเยาวชนกับ ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ ในภาครัฐมีความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจสูงมากภายใต้โครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมไทย ฉะนั้น หากไม่ ‘ติดอาวุธ’ ให้สภา ก็ยากนักที่สภาจะมีส่วนร่วมได้อย่างมีความหมาย
ตัวอย่างอาวุธข้างต้นได้แก่ การกำหนดให้มีผู้แทนสภาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการของรัฐบาล เพื่อให้มีอำนาจร่วมปรึกษาหารือและตัดสินใจนโยบายโดยตรง แต่ปัจจุบัน มีคณะกรรมการลักษณะดังกล่าวเพียงชุดเดียว คือ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งมีผู้แทนสภาเพียง 3 คนจากจำนวนกรรมการทั้งหมด 28 คน และถูกเรียกประชุมแค่ 2 ครั้งระหว่างเดือนมกราคม 2021-สิงหาคม 2022[20]“‘จุรินทร์’ สั่งผ่าน คกก.พัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติให้ทุกหน่วยรับฟังข้อเสนอสมัชชาเยาวชน ต้องรายงานความคืบหน้าการช่วยแก้ปัญหาทุก 3 เดือน,” … Continue reading
4. ขาดงบประมาณและการสนับสนุนที่จำเป็น: สภาเยาวชนได้รับงบอุดหนุนจากรัฐบาลเฉลี่ยเพียง 18,353 บาทต่อแห่งในปีงบประมาณ 2564 (2021) และลดลงเหลือ 14,302 บาทต่อแห่งในปีงบประมาณ 2565 (2022)[21]สำนักงบประมาณ, เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ฉบับปรับปรุง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เล่มที่ 2 … Continue reading
ยิ่งไปกว่านั้น คณะบริหารสภายังไม่ได้รับการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ทักษะการเจรจาต่อรอง การรับฟังความเห็นของเด็ก และการจัดการโครงการ ขาดที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังขาดเจ้าหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงาน ซึ่งมีเวลาเพียงพอจะรับภาระงานของสภา และคณะบริหารสามารถบังคับบัญชาได้อย่างเต็มที่
หากแก้ปัญหา 4 เรื่องดังกล่าวได้ สภาเยาวชนก็มีศักยภาพที่จะเป็นกระบอกเสียงเชิงนโยบายของเด็กและเยาวชนที่มีความหมาย คิด for คิดส์ เสนอให้ปฏิรูปสภาเยาวชนโดยให้สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง เป็นอิสระจากรัฐบาล มีเครื่องมือในการมีส่วนร่วมเชิงนโยบายที่ชัดเจน และต้องร่วมมือกับเยาวชนนอกสภามากขึ้น
ให้สภาเยาวชนมาจากการเลือกตั้ง
คิด for คิดส์ เสนอให้มีสภาเยาวชนแห่งชาติ สภาเยาวชนจังหวัด และสภาเยาวชนท้องถิ่น ซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งและการสุ่ม เพื่อให้สมาชิกเป็นตัวแทนของเด็กและเยาวชนในวงกว้างที่หลากหลายและชอบธรรม
สภาเยาวชนแห่งชาติควรประกอบด้วยสมาชิกอายุ 15-25 ปี จำนวน 135 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี โดยสมาชิกสองในสามหรือ 90 คนมาจากการเลือกตั้งทางตรงโดยเด็กและเยาวชนอายุ 12-25 ปี ผ่านช่องทางออนไลน์และสถานศึกษา ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายและต้นทุนการจัดการต่ำ พร้อมทั้งมีการให้ความรู้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาและประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างทั่วถึง การเลือกตั้งควรใช้ระบบแบ่งเขตตามเขตจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดมีจำนวนสมาชิกสภามากน้อยตามจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตัวอย่างประเทศที่เลือกสภาเยาวชนตามแนวทางข้างต้น ได้แก่ มาเลเซีย ศรีลังกา และสหราชอาณาจักร
(ที่มาภาพ: Youth Parliament of Malaysia)
ส่วนสมาชิกอีกหนึ่งในสามหรือ 45 คน ให้มาจากการสุ่มประชากรอายุ 15-25 ปีทั่วประเทศขึ้นมา การสุ่มเช่นนี้นับว่าสำคัญยิ่งในการสร้างสภาให้เป็นศูนย์รวมของผู้แทนเยาวชนหลากหลายกลุ่มอย่างสมดุล เพราะโดยธรรมชาติแล้ว การเลือกตั้งจะกีดกันเยาวชนที่สถานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำกว่า ภูมิหลังการศึกษาด้อยกว่า หรือเป็นกลุ่มชายขอบออกไป งานศึกษาในโลกตะวันตกพบว่าสภาผู้แทนนักเรียนมักถูกครอบงำด้วยโลกทัศน์ของชนชั้นกลางผิวขาว[22]Alison Cook-Sather, “Resisting the Impositional Potential of Student Voice Work: Lessons for Liberatory Educational Research from Poststructuralist Feminist Critiques of Critical Pedagogy,” Discourse: Studies in the Cultural Politics of Education 28 (3), 2007, pp.389-403; Michael Fielding, “Transformative Approaches to Student Voice: Theoretical Underpinnings, Recalcitrant … Continue reading หลายประเทศจึงพยายามใช้วิธีเลือกสมาชิกสภาที่ประกันความหลากหลายได้ เช่น สภาเยาวชนเมืองออกแลนด์ (Auckland) ในนิวซีแลนด์ ที่มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการ ซึ่งทำงานเชิงรุกเพื่อส่งเสริมให้มีผู้แทนชาวเมารี (Māori) ในสภาด้วย[23]Sarah Finlay, “Carving out Meaningful Spaces for Youth Participation and Engagement in Decision-making,” Youth Studies Australia 29 (4), 2010, pp.56-57.
ในปัจจุบัน การสุ่มเป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้เลือกผู้แทนประชาชนมากขึ้นตามลำดับ เพราะทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง อีกทั้งกลุ่มคนที่สุ่มได้ก็จะมีความหลากหลายใกล้เคียงกับประชากร วิธีนี้มักใช้เลือกสมัชชาพลเมืองเพื่อให้ความเห็นต่อฝ่ายการเมืองหรือประชาชนวงกว้าง เช่น ในเบลเยียมและไอร์แลนด์ รวมถึงเลือกคณะลูกขุนเพื่อร่วมพิจารณาคดีในศาล เช่น ในอาร์เจนตินาและญี่ปุ่น
นอกจากสภาเยาวชนแห่งชาติแล้ว ควรมีสภาเยาวชนจังหวัดในกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 15-45 คน มากน้อยตามจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด และควรมีสภาเยาวชนท้องถิ่นในเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในรอบการเลือกตั้งนั้นถึงเกณฑ์ที่กำหนด โดยประกอบด้วยสมาชิก 9-15 คน สภาทั้งสองระดับนี้ควรมีโครงสร้างและที่มาแบบเดียวกับสภาระดับชาติ ซึ่งก็จะยึดโยงกับเยาวชนวงกว้างในพื้นที่
ให้สภาเยาวชนเป็นอิสระจาก ‘บังคับบัญชา’ ของรัฐบาล-มีงบประมาณเพียงพอ
การกำหนดให้สมาชิกสภาเยาวชนมาจากการเลือกตั้งและการสุ่มจะช่วยให้สภาเป็นอิสระจากภาครัฐได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของสภาที่แต่เดิมหน่วยงานรัฐเป็นผู้คัดเลือกคณะบริหาร อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาความเป็นอิสระของสภา คิด for คิดส์ จึงเสนอให้ปรับรูปแบบการกำกับดูแลสภาตามทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งดังต่อไปนี้
ทางเลือกที่ 1 ให้สภาเยาวชนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมกิจการเด็กและเยาวชนดังเดิม แต่แก้ไขกฎหมายห้ามกรมแทรกแซงจุดยืนและปิดกั้นการแสดงออกของสภา ห้ามใช้งบของสภาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาก่อน พร้อมทั้งจำกัดอำนาจในการพิจารณาเนื้อหาโครงการที่สภาเสนอ ให้พิจารณาได้เพียงความชอบด้วยกฎหมายของโครงการเท่านั้น
ทางเลือกที่ 2 ย้ายสภาเยาวชนไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานสภาผู้แทนราษฎรแทน โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นหน่วยงานสนับสนุน ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่ผู้ตัดสินใจนโยบาย ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล และถูกบัญญัติให้วางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่มีเหตุให้แทรกแซงเนื้อหานโยบายและโครงการของสภาเยาวชน ตัวอย่างประเทศที่กำกับดูแลสภาเยาวชนในรูปแบบนี้ ได้แก่ เกาหลีใต้
อีกหนึ่งข้อเสนอในการเพิ่มอิสระให้สภาคือการผสมผสานแหล่งงบประมาณที่หลากหลาย เพราะงบอุดหนุนจากรัฐบาลที่สภารับอยู่ ต้องผ่านความเห็นชอบของสำนักงบประมาณและคณะรัฐมนตรี ส่งผลให้เสี่ยงถูกรัฐบาลควบคุมเนื้อหานโยบายมากเกินไป จึงควรพิจารณาเพิ่มแหล่งงบประมาณใหม่ เช่น งบที่กันไว้เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (earmarked budget) ดังตัวอย่างของเดนมาร์กซึ่งมีกฎหมายกันรายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาลไว้ให้สภาเยาวชน หรือเงินทุนและเงินบริจาคจากหน่วยงานนอกภาครัฐไทย
แม้จะผลักดันให้รับงบประมาณจากหลายแหล่งมากขึ้น แต่รัฐบาลก็ยังควรเพิ่มงบประมาณให้สภาควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สภาสามารถดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ได้อย่างเต็มที่และสร้างผลกระทบในวงกว้างได้มากขึ้น – มีความหมายยิ่งขึ้น
เพิ่มบทบาท-อำนาจสภาเยาวชนในกระบวนการนโยบาย
กระบอกเสียงที่เป็นอิสระอาจไม่ใช่กระบอกเสียงที่มีความหมาย หากไม่มีใครรับฟัง คิด for คิดส์ จึงเสนอให้ติดเครื่องขยายให้กระบอกเสียง – ติดอาวุธให้สภาเยาวชน โดยให้มีอำนาจและเครื่องมือในการร่วมให้ความเห็น ติดตามประเมินผล และตัดสินใจนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น
ด้านการร่วมให้ความเห็นและติดตามประเมินผล ควรกำหนดให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานรัฐต้องส่งร่างกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องหรืออาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ให้สภาเยาวชนแห่งชาติให้ความเห็นก่อนตัดสินใจแบบในออสเตรีย ยิ่งไปกว่านั้น ควรกำหนดให้สภามีอำนาจเสนอความเห็น เรียกร้อง และซักถามต่อรัฐมนตรีได้โดยตรง โดยรัฐมนตรีต้องตอบกลับภายใน 15 วันคล้ายกับในเดนมาร์ก[24]หมายถึง Danish Youth Climate Council ซึ่งเป็นสภาเยาวชนเฉพาะด้านภูมิอากาศ รวมถึงให้สภาประชุมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือเชิญรัฐมนตรีมาตอบคำถามในสภาได้ดังเช่นในมาเลเซีย
นอกจากนี้ ยังควรให้สภาเยาวชนแห่งชาติมีอำนาจเสนอร่างกฎหมายไปยังสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีได้โดยตรงเช่นเดียวกับในเกาหลีใต้ พร้อมทั้งสนับสนุนข้อมูล การวิจัย และการเขียนร่างในกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายเหล่านั้นด้วย
ด้านการร่วมตัดสินใจ ควรกำหนดให้มีผู้แทนสภาเยาวชนแห่งชาติในคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการของฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องในสัดส่วนที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น คณะกรรมาธิการกิจการเด็กฯ คณะกรรมาธิการการศึกษา คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำหรับสภาเยาวชนจังหวัดและสภาเยาวชนท้องถิ่น ก็ควรกำหนดให้มีอำนาจลักษณะเดียวกันในกระบวนการนโยบายระดับจังหวัดและท้องถิ่นตามลำดับ
ส่งเสริมสภาเยาวชนให้เป็น ‘สะพาน’ เชื่อมรัฐกับเยาวชนนอกสภา
ไม่ว่าจะปฏิรูปสภาเยาวชนอย่างไร แต่กลไกแบบสภาก็มิได้เหมาะกับเด็กและเยาวชนทุกคน หลายคนก็คงไม่ชอบลงสมัครรับเลือกตั้งหรือเปิดไมค์พูดต่อหน้าที่ประชุมของคนนับสิบนับร้อย กลไกสภายังเป็นกลไกประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการรับฟังและการมีส่วนร่วมทางตรงของเด็กและเยาวชนนอกสภา จึงจะสามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของพวกเขาได้อย่างแท้จริง
ดังนั้น คิด for คิดส์ จึงเสนอให้สภาเยาวชนเปิดพื้นที่ให้เยาวชนซึ่งไม่ใช่สมาชิกมีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่เป็น ‘กำแพง’ ที่กีดกัน แต่เป็น ‘สะพาน’ ที่ช่วยเชื่อมรัฐบาลกับเยาวชนนอกสภา โดยสภาควรจัดกิจกรรมปรึกษาหารือกับเด็กและเยาวชนในรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเป็นประจำ ยิ่งไปกว่านั้น สภายังควรมีอำนาจในการเสนอและสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมสำหรับเด็กและเยาวชนด้วย
ตัวอย่างกิจกรรมในต่างประเทศได้แก่ โครงการ Civic Imagination ในสหรัฐอเมริกาที่ขอความเห็นเด็กและเยาวชน โดยให้พวกเขา ‘จินตนาการ’ ผ่านกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมร่วมสมัยแทนการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา[25]ดูเพิ่มเติม: The Civic Imagination Project, https://www.civicimaginationproject.org/ (เข้าถึงเมื่อ 11 ตุลาคม 2022); คิด for คิดส์ ได้นำกระบวนการนี้มาทดลองใช้กับเยาวชนในประเทศไทย … Continue reading โครงการ MH:2K Oldham ในสหราชอาณาจักรที่ให้เยาวชนมีส่วนร่วมผ่าน ‘การทำวิจัย’ โดยฝึกอบรมและให้เยาวชนทำวิจัยเรื่องปัญหาสุขภาพจิตของเยาวชนในเมืองของตนแล้วจัดทำข้อเสนอนโยบาย และโครงการ Ichmache>Politik ในเยอรมนีที่เปิดให้เยาวชนใช้ ‘แพลตฟอร์มออนไลน์’ ในการร่วมกำหนดประเด็นวาระและยกร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านนโยบายประชากร[26]Sylwia Borkowska-Waszak, Stavros Errikos Diamantopoulos, Patrick Lavelle, and Ornella Martinello, Good Practices of Youth Participation: Mid-term Deliverable Report of the Project ‘Youth for a Just Transition’ (2020).
นอกจากนี้ สภาเยาวชนยังควรสรรหาเยาวชนนอกสภามาร่วมเป็นคณะกรรมาธิการและผู้แทนของสภาในสัดส่วนที่เหมาะสม รวมถึงใช้กลไกงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (participatory budgeting) โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถรวมกลุ่มเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณไปดำเนินการเอง และให้เยาวชนทุกคนในพื้นที่ลงคะแนนเสียงตัดสินใจเลือกโครงการร่วมกัน
เสาหลักที่ 3: ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายของระบบการศึกษา
เสาหลักที่สามคือการให้นักเรียน-นักศึกษามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายของระบบการศึกษามากขึ้น เป็นอีกหนึ่งมาตรการขยายช่องทางการมีส่วนร่วมสำหรับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ
สถานศึกษาและระบบการศึกษาเป็นสถาบันที่ใกล้ชิดและมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่และพัฒนาการของเด็กและเยาวชนวัยเรียนอย่างมีนัยสำคัญ พวกเขาจึงพึงมีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายของสถานศึกษาและระบบการศึกษามากเป็นพิเศษ
แต่ในความเป็นจริง นักเรียน-นักศึกษากลับมีส่วนร่วมได้จำกัดมาก โดยจากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ เยาวชนอายุ 15-25 ปีถึง 47.8% รายงานว่าเคยประสบปัญหาที่ผู้บริหารสถานศึกษาไม่ตอบสนองความต้องการของพวกเขา ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกที่เยาวชนจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาหลายเรื่องในสถานศึกษาอย่างเรื้อรัง เหนี่ยวรั้งมิให้เติบโตและเติมเต็มความฝันได้อย่างเต็มที่[27]ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, และ เจณิตตา จันทวงษา, เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022: เล่มผนวกที่ 1 … Continue reading
คิด for คิดส์ เสนอให้ปฏิรูปกลไกการมีส่วนร่วมในสถานศึกษา โดยเริ่มจากเรื่องพื้นฐานที่สุดซึ่งสถานศึกษาจำนวนมากยังทำไม่ได้ คือ ให้นักเรียน-นักศึกษาเลือกตั้งคณะกรรมการหรือผู้แทนของตนได้อย่างอิสระ ห้ามผู้บริหารสถานศึกษาและครูคัดเลือกกรรมการเอง แทรกแซงการเลือกตั้ง และปลดกรรมการโดยพลการ ขณะเดียวกันก็ควรให้คณะกรรมการนักเรียนมีอิสระและงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมตามนโยบายของตนอย่างเพียงพอ ไม่ใช่เพียง ‘แขน-ขา’ ที่มีไว้ช่วยงานตามคำสั่งครูเท่านั้น
ในระดับนโยบายสถานศึกษา ควรกำหนดให้คณะกรรมการหรือสภาสถานศึกษาประกอบด้วยผู้แทนนักเรียน-นักศึกษาเป็นสัดส่วนหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด เพื่อร่วมตัดสินใจนโยบายโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น ยังควรกำหนดให้ผู้บริหารสถานศึกษาต้องปรึกษาหารือกับนักเรียนก่อนตัดสินใจนโยบาย และให้นักเรียนมีส่วนร่วมประเมินผลนโยบายและการปฏิบัติงานของบุคลากร
ในระดับระบบการศึกษาภาพรวม ควรกำหนดให้มีผู้แทนนักเรียน-นักศึกษาและผู้แทนสภาเยาวชนในคณะกรรมการสภาการศึกษา คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการการอาชีวศึกษา คณะกรรมการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมถึงคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและคณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด ในสัดส่วนที่เหมาะสม
สามเสาหลัก x สองฐานนโยบาย ขยายช่องทางให้เสียงเยาวชนมีความหมาย
ชุดข้อเสนอนโยบายสามเสาหลักนี้ – ลดอายุขั้นต่ำและขยายช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมือง ปฏิรูปสภาเยาวชนให้เป็นกระบอกเสียงเชิงนโยบายที่อิสระ และให้นักเรียน-นักศึกษามีส่วนร่วมในนโยบายของระบบการศึกษา – จะเอื้อให้เสียงของเยาวชน ‘ถูกรับฟังและมีความหมาย’ ในกระบวนการนโยบายมากขึ้น ส่งผลให้นโยบายสามารถตอบสนองความต้องการและสนับสนุนให้พวกเขาเติบโตและเติมเต็มความฝันได้เต็มที่ยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดโอกาสที่ความขัดแย้งจะปะทุรุนแรงในสังคม
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีฐานสำคัญ 2 ฐาน ฐานแรกคือการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลเมืองศึกษาและ soft skills ให้เยาวชนมีความรู้และทักษะในการใช้ช่องทางการมีส่วนร่วมใหม่ได้เต็มศักยภาพ ผ่านหลักสูตรและกิจกรรมในสถานศึกษา รวมถึงผ่านโครงการการมีส่วนร่วมต่างๆ
อีกฐานหนึ่งคือการคุ้มครองเยาวชนที่มีส่วนร่วม โดยรัฐบาลต้องหยุดกดปราบการมีส่วนร่วมของเยาวชนด้วยความรุนแรงหรือเครื่องมือทางกฎหมาย ปรับปรุงช่องทางร้องเรียนครูที่ใช้อำนาจละเมิดสิทธิของนักเรียนให้เข้าถึงง่ายและตอบสนองข้อร้องเรียนได้รวดเร็ว ตลอดจนพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กให้สามารถช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครัวเรือนได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกัน องค์กรที่จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมก็จะต้องออกแบบกิจกรรมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเยาวชนที่เข้าร่วมด้วย
↑1 | ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา, เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022: เล่มผนวกที่ 2 สามความฝันของเยาวชนไทย (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว, 2022). |
---|---|
↑2 | Convention on the Rights of the Child (1989), Art.23. |
↑3 | บางส่วนดัดแปลงจาก: วรดร เลิศรัตน์, “ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี?: ขยายสิทธิให้เสียงเยาวชนมีความหมาย,” 101 Public Policy Think Tank, 13 มิถุนายน 2022, https://101pub.org/lowering-voting-age-to-15/ (เข้าถึงเมื่อ 27 กันยายน 2022). |
↑4 | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 [2017], ม.97; พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 [2019], ม.49. |
↑5 | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 [2017], ม.160. |
↑6 | “จำนวนประชากรจากการทะเบียน จำแนกตามอายุ เพศ ภาคและจังหวัด พ.ศ. 2564,” สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2021, http://statbbi.nso.go.th/staticreport/Page/sector/TH/report/sector_01_11101_TH_.xlsx (เข้าถึงเมื่อ 27 กันยายน 2022). |
↑7 | Inter Parliamentary Union, “Thailand: House of Representatives,” IPU Parline: Global Data on National Parliaments, https://data.ipu.org/content/thailand?chamber_id=13541 (เข้าถึงเมื่อ 27 กันยายน 2022). |
↑8 | ข้อมูลรวบรวมโดย คิด for คิดส์ |
↑9 | ประมวลกฎหมายอาญา, ม.73-76. |
↑10 | พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 [1998], ม.44. |
↑11 | เยาวชนอายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถเลือกตั้งสมาชิกสภาสกอตแลนด์ได้ แต่ยังเลือกตั้ง ส.ส. ของสหราชอาณาจักรไม่ได้ |
↑12 | นับรวมสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งกำหนดอายุนิติภาวะแตกต่างกันในแต่ละมลรัฐ โดยมีทั้งที่ไม่เกินและเกิน 18 ปี |
↑13 | หัวหน้าฝ่ายบริหารของออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์คือนายกรัฐมนตรี ส่วนของฟินแลนด์คือประธานาธิบดี |
↑14 | ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, และ เจณิตตา จันทวงษา, เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022 (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว, 2022), น.39. |
↑15 | พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ค.ศ. 2007 จัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนอำเภอ สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยเมื่อ ค.ศ. 2008 ต่อมา พ.ร.บ. ฉบับที่ 2 ค.ศ. 2017 ได้กำหนดให้จัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนตำบลหรือเทศบาลเพิ่มเติม |
↑16 | “สภาเด็กและเยาวชน สภานักเรียน กระบอกเสีย(ง)ที่ถูกเมิน,” Amnesty International Thailand, 22 มกราคม 2022, https://www.amnesty.or.th/latest/blog/985/ (เข้าถึงเมื่อ 22 กันยายน 2022). |
↑17 | พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ, ม.22, 24, 26, 28, 30. |
↑18 | สมพงษ์ จิตระดับ, คู่มือสร้างความเป็นพลเมืองดีในสภาเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่น (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2012); อ้างถึงใน: ชานนท์ โกมลมาลย์, พีธากร ศรีบุตรวงศ์, โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง, และพรนิภา เดชแพ, รายงานการศึกษาขั้นสมบูรณ์ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพสภาเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2560-2569, น.124-125. |
↑19 | พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ, ม.23, 25, 29, 31. |
↑20 | “‘จุรินทร์’ สั่งผ่าน คกก.พัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติให้ทุกหน่วยรับฟังข้อเสนอสมัชชาเยาวชน ต้องรายงานความคืบหน้าการช่วยแก้ปัญหาทุก 3 เดือน,” รัฐบาลไทย, 31 กรกฎาคม 2021, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/44295 (เข้าถึงเมื่อ 18 กรกฎาคม 2022); “ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565,” กรมกิจการเด็กและเยาวชน, https://www.dcy.go.th/dcy/webnew/network/?p=gallery_view&id=3301 (เข้าถึงเมื่อ 18 กรกฎาคม 2022). |
↑21 | สำนักงบประมาณ, เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ฉบับปรับปรุง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เล่มที่ 2 (สำนักงบประมาณ, 2020), น.384; สำนักงบประมาณ, เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ฉบับปรับปรุง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เล่มที่ 2 (สำนักงบประมาณ, 2021), น.389. |
↑22 | Alison Cook-Sather, “Resisting the Impositional Potential of Student Voice Work: Lessons for Liberatory Educational Research from Poststructuralist Feminist Critiques of Critical Pedagogy,” Discourse: Studies in the Cultural Politics of Education 28 (3), 2007, pp.389-403; Michael Fielding, “Transformative Approaches to Student Voice: Theoretical Underpinnings, Recalcitrant Realities,” British Educational Research Journal 30 (2), 2004, 295-311; cited in Helen Cahill and Babak Dadvand, “Re-conceptualising Youth Participation: A Framework to Inform Action,” Children and Youth Services Review 95, 2018, p.250. |
↑23 | Sarah Finlay, “Carving out Meaningful Spaces for Youth Participation and Engagement in Decision-making,” Youth Studies Australia 29 (4), 2010, pp.56-57. |
↑24 | หมายถึง Danish Youth Climate Council ซึ่งเป็นสภาเยาวชนเฉพาะด้านภูมิอากาศ |
↑25 | ดูเพิ่มเติม: The Civic Imagination Project, https://www.civicimaginationproject.org/ (เข้าถึงเมื่อ 11 ตุลาคม 2022); คิด for คิดส์ ได้นำกระบวนการนี้มาทดลองใช้กับเยาวชนในประเทศไทย อ่านรายงานวิจัยได้ที่: https://101pub.org/youth-civic-imagination/ |
↑26 | Sylwia Borkowska-Waszak, Stavros Errikos Diamantopoulos, Patrick Lavelle, and Ornella Martinello, Good Practices of Youth Participation: Mid-term Deliverable Report of the Project ‘Youth for a Just Transition’ (2020). |
↑27 | ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, และ เจณิตตา จันทวงษา, เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022: เล่มผนวกที่ 1 สถิติสำคัญด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว, 2022), น.52. |