ถ้าได้เงินล้าน เยาวชนอายุ 16-20 ปีอยากใช้ทำอะไร?: ข้อมูลจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

ถ้าได้เงินล้าน เยาวชนอายุ 16-20 ปีอยากใช้ทำอะไร?: ข้อมูลจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

ประเด็นสำคัญ

  • หลังจากรัฐบาลประกาศว่า ดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 3 จะแจกให้เยาวชนอายุ 16-20 ปี ทำให้สังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์ว่า เยาวชนจะนำเงินดิจิทัลวอลเล็ตไปใช้กับเรื่อง 'อบายมุข-ไร้สาระ' และมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองและไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • แต่จากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ พบว่า หากได้เงินหนึ่งล้านบาท เยาวชนกลุ่มดังกล่าวจะนำไปใช้หนี้ให้ครอบครัว ลงทุนด้านการศึกษา และซื้ออาหารดีๆ ให้ครอบครัว ซึ่งสะท้อนว่าเยาวชนให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นฐานมากกว่าเรื่องอบายมุข
  • นอกจากนี้ ปัญหาที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่คือปัญหาความเหลื่อมล้ำของเยาวชน และโครงสร้างสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้เยาวชนอย่างเสมอภาค ซึ่งเป็นไปได้ว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร

“แจกเงินหมื่นให้เด็กไป ก็เอาไปเติมเกม ซื้อสกินหมด”

“ให้วัยเรียนแดกเหล้าเมายา”

“โรงเรียนสีเขียวเยี่ยวสีม่วงแน่นอน”

นี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งของข้อวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงพฤติกรรมการใช้เงินของเยาวชน หลังจากสองสัปดาห์ที่แล้ว (10 มี.ค. 2568) คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร อนุมัติหลักการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท ระยะที่ 3 ให้ประชาชน ‘อายุ 16-20 ปี’ จำนวน 2.7 ล้านคน โดยจะเป็นประชาชนกลุ่มแรกที่ประเดิมรับเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต และจะเริ่มได้เงินในช่วงก่อนสงกรานต์-ต้นเดือนกรกฎาคมปีนี้[1]“บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 3 วัยรุ่น 16-20 ปี ปลาย มิ.ย.-ต้น ก.ค. ประเดิมใช้เงินดิจิทัล เผยสาเหตุแจกเด็ก … Continue reading

หลายคนเชื่อว่า “เด็กสมัยนี้” จะนำเงินภาษีไปผลาญกับเรื่อง ‘อบายมุข-ไร้สาระ’ บ้างก็ว่าพวกเขาจะไปซื้อบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และยาเสพติด บ้างก็ว่าจะวางเดิมพันพนัน บ้างก็ว่าเติมเกม-ซื้อของเล่น ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แถมสนับสนุนให้พวกเขาฟุ่มเฟือย-มัวเมามากยิ่งขึ้น

คำถามที่น่าสนใจคือ เยาวชนช่วงอายุนี้มีแนวโน้มผลาญเงินกับอบายมุขจริงหรือไม่? ฤๅคำวิจารณ์เหล่านั้นเป็นเพียง ‘มายาคติ’ ของผู้ใหญ่ที่ ‘ดูแคลน’ ว่าพวกเขาไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญและวางแผนการใช้จ่ายเงินหนึ่งหมื่นบาท – ไม่สามารถคิดฝันและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม

นโยบายแจกเงินหมื่นอาจไร้ประสิทธิผล-ประสิทธิภาพ และสะท้อนว่ารัฐบาลไทย ‘ใช้เงินไม่เป็น’[2]ฉัตร คำแสง, “ไม่ดิจิทัล ไม่วอลเล็ต ไม่เร่งด่วน ไม่พายุหมุน ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ,” 101 Public Policy Think Tank, 12 ธันวาคม 2024, https://101pub.org/not-so-digital-wallet/ (เข้าถึงเมื่อ 24 มีนาคม 2025). แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเด็กไทยจะใช้เงินไม่เป็นด้วย

คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง สสส. กับ 101 PUB ชวนสำรวจว่าเยาวชนอายุ 16-20 ปีฝันอยากทำอะไร ถ้าเกิดพวกเขาได้เงินมาสักหนึ่งล้านบาท! ผ่านผลเบื้องต้นจากการสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ ซึ่งเก็บข้อมูลจากเยาวชนช่วงอายุดังกล่าว 5,075 คนทั่วประเทศ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2025[3]ผลเบื้องต้น ณ วันที่ 13 มีนาคม 2025 คิด for คิดส์ จะเผยแพร่ผลฉบับสมบูรณ์ผ่านทางเว็บไซต์ต่อไป แม้ผลสำรวจนี้ชี้ชัดไม่ได้ว่า พวกเขาจะนำเงินหมื่นที่ได้รับแจกตามนโยบายของรัฐบาลไปทำอะไร แต่อาจช่วยให้เราเข้าใจความคิดความฝัน การให้คุณค่า และการจัดลำดับความสำคัญเรื่องต่างๆ ในชีวิตของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น

ได้เงินล้าน ไม่คิดผลาญ แต่อยาก ‘ใช้หนี้ให้ที่บ้าน’

หากได้เงินหนึ่งล้านบาท เยาวชนอายุ 16-20 ปีผู้ตอบแบบสำรวจอยากใช้ทำอะไร 3 อันดับแรก?

ถ้าได้เงินล้าน เยาวชนอายุ 16-20 ปีอยากใช้ทำอะไร?: ข้อมูลจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

29.0% รายงานว่าอยากนำไป ‘ใช้หนี้ให้ครอบครัว’ เป็นอันดับแรก ถือเป็นเป้าหมายอันดับแรกที่เยาวชนเลือกตอบมากที่สุด รองลงมาคือใช้เรียน ฝึกฝนทักษะ และซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (16.8%), ซื้ออาหารดีๆ ให้ตนเองและครอบครัว (12.0%), ลงทุนทางการเงิน เช่น ฝากธนาคารและลงทุนในสินทรัพย์ (11.3%), ลงทุนทำธุรกิจ-ซื้อเครื่องมือประกอบอาชีพ (11.1%), และซ่อมหรือซื้อบ้าน (5.3%) ตามลำดับ

เยาวชนเพียง 4.2% เลือกนำเงินไปซื้อของต่างๆ ที่ตนเองอยากได้เป็นอันดับแรก ตัวอย่างเป้าหมายอันดับแรกของกลุ่มที่เหลือ ได้แก่ เดินทางไปศึกษาต่อหรือแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ (3.1%), จ่ายค่ารักษาพยาบาลคนในครอบครัว (3.1%), และใช้หนี้ของตนเอง (1.3%) หลายคนยังเลือกรักษาพยาบาลตนเอง บริจาคเพื่อสังคม มีแม้กระทั่งจัดงานแต่งงาน

หากแยกตามระดับรายได้ครัวเรือน เยาวชนอายุ 16-20 ปีในครัวเรือนรายได้ต่ำสุด 20% (ควินไทล์ที่ 1) อยากนำเงินล้านไปใช้หนี้ให้ครอบครัว (31.5%), เรียน-ฝึกฝนทักษะ (17.5%), และซื้ออาหารดีๆ (11.3%) เป็นอันดับแรก ขณะที่เยาวชนในครัวเรือนรายได้สูงสุด 20% (ควินไทล์ที่ 5) ต้องการลงทุนทางการเงิน (20.2%), ใช้หนี้ให้ครอบครัว (18.9%), และลงทุนทำธุรกิจ (12.5%) มากที่สุด

เป้าหมายอันดับสองที่ถูกเลือกตอบสูงสุดคือ เรียน-ฝึกฝนทักษะ (16.7%), ลงทุนทางการเงิน (14.9%), และลงทุนทำธุรกิจ (13.7%) ส่วนเป้าหมายอันดับสาม ได้แก่ ลงทุนทางการเงิน (16.4%), ซื้อของที่อยากได้ (14.0%), และลงทุนทำธุรกิจ (11.6%) ตามลำดับ

เยาวชนไทยใช้เงินไม่เป็น ฤๅผู้ใหญ่มีอคติ?

จากผลสำรวจข้างต้น เยาวชนส่วนใหญ่มิได้หวังผลาญเงินก้อนใหญ่ไปกับเรื่องอบายมุข-ไร้สาระ แต่ตั้งใจจะใช้จ่ายในเรื่องแสน ‘พื้นฐาน’ ให้ตนเองและครอบครัวเข้าถึงปัจจัยการดำรงชีวิต ลงทุนกับการศึกษา ทักษะ อาชีพ และรายได้ ตลอดจนช่วยรับผิดชอบแก้ปัญหา-แบ่งเบาภาระหนี้สินของครอบครัว – เรื่องที่ผู้ใหญ่หลายคนน่าจะเห็นพ้องกันว่า ‘จำเป็นและมีประโยชน์’

จริงอยู่ ผลสำรวจอาจไม่สามารถยืนยันได้ว่า ถ้าพวกเขาได้เงินล้าน – หรือเงินหมื่น – ขึ้นมาจริงๆ พวกเขาจะเอาไปใช้จ่ายเช่นนั้นอย่างแน่นอน แต่ก็พอสะท้อนได้ว่า พวกเขาให้คุณค่า-ความสำคัญกับเรื่องอะไร ดังนั้น การใช้จ่ายเงินของพวกเขาจึงมีแนวโน้มให้น้ำหนักกับประเด็นเหล่านั้นไม่มากก็น้อย – เป็นการใช้จ่ายในแบบที่ผู้ใหญ่ในสังคมไทยน่าจะยอมรับว่า ‘ใช้เงินเป็น’

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเยาวชนใช้เงินไม่เป็น แจกพวกเขาไปก็ผลาญใช้กับเรื่องอบายมุข-ไร้สาระ จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ ‘เลื่อนลอย’ ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือ และอาจเป็นอาการของ ‘อคติเหยียดอายุ’ (วยาคติ (ageism)) ซึ่งแพร่ระบาดสร้างความขัดแย้งข้ามรุ่นในสังคมไทยเสียมากกว่า เป็นสัญญาณว่า ถึงเวลาที่คนไทยทุกวัยต้องรับฟัง-แลกเปลี่ยนกันอย่างเปิดกว้าง โอบรับความแตกต่างหลากหลาย มีเหตุผล และเคารพกันและกัน พยายามเข้าอกเข้าใจโดยไม่ใช้ภาพจำ-เหมารวมมากยิ่งขึ้น

สังคมยากจน-เหลื่อมล้ำ ฉุดรั้งเยาวชนไม่ให้กล้าฝันไกลและท้าทาย

ที่จริง ผลสำรวจที่เยาวชนเลือกใช้เงินล้านในเรื่องพื้นฐานถึงขนาดนั้นนับว่า ‘น่าเศร้า’ เพราะเท่ากับว่าเยาวชนไทยยังไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยการดำรงชีวิตและสวัสดิการพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง เพียงพอ และเหมาะสม ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เยาวชนอายุ 16-20 ปีมากถึง 59.4% อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/คน/ปี[4]ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023) ความยากจน-เหลื่อมล้ำรุนแรงฉุดรั้งไม่ให้เยาวชนกล้าฝันไกลและท้าทาย ต่อให้ได้เงินมาเป็นล้าน ก็ฝันได้เพียงนำไปช่วยให้ทุกคนในบ้านกินอิ่ม นอนหลับ ได้เรียนหนังสือ

การที่ ‘การใช้หนี้ให้ครอบครัว’ เป็นเป้าหมายอันดับแรกของเยาวชนกลุ่มใหญ่ที่สุด ยังตอกย้ำว่า การวิ่งเอื้อมคว้าความฝันของเยาวชนไทยจำนวนมากไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่เริ่มจาก ‘ติดลบ’ พวกเขาต้องแบกรับความยากจนและเหลื่อมล้ำจากรุ่นก่อนหน้ามาสู่รุ่นของตนเอง ถ้าพวกเขาจะคิดฝันและตัดสินใจเรื่องต่างๆ อย่างเสรีไม่ได้ ก็ไม่ใช่เพราะพวกเขายังไม่มี ‘วัยวุฒิ’ พอ-ไม่โตพอ-ไม่มีความสามารถพอ แต่เพราะโครงสร้างของสังคมต่างหากที่ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาอย่างเสมอภาค

ข้อสังเกตเช่นนี้ย้อนกลับมาเป็นข้อวิพากษ์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแจกเงินหมื่น เมื่อปัญหาของสังคม-เศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาโครงสร้าง การแจกเงินโดยไม่ปฏิรูปโครงสร้างย่อมไม่สามารถหนุนส่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีประสิทธิผล เป็นธรรม และยั่งยืน การเดินหน้าแจกเงินระยะที่ 3 จึงตอกย้ำว่า…

‘เด็กไทยอาจใช้เงินเป็น แต่รัฐบาลไทยต่างหากที่ใช้เงินไม่เป็น’

References
1 “บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 3 วัยรุ่น 16-20 ปี ปลาย มิ.ย.-ต้น ก.ค. ประเดิมใช้เงินดิจิทัล เผยสาเหตุแจกเด็ก ไม่ใช่เพราะข้อจำกัดงบประมาณ แต่มีความพร้อมรู้ทางเทคโนโลยี,” รัฐบาลไทย, 10 มีนาคม 2025, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/94221 (เข้าถึงเมื่อ 24 มีนาคม 2025); “เงินดิจิทัล 10,000 บาทเฟส 3 กลุ่ม 16-20 ปี แจกก่อนสงกรานต์,” PPTVHD36, 19 มีนาคม 2025, https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/245041 (เข้าถึงเมื่อ 24 มีนาคม 2025).
2 ฉัตร คำแสง, “ไม่ดิจิทัล ไม่วอลเล็ต ไม่เร่งด่วน ไม่พายุหมุน ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ,” 101 Public Policy Think Tank, 12 ธันวาคม 2024, https://101pub.org/not-so-digital-wallet/ (เข้าถึงเมื่อ 24 มีนาคม 2025).
3 ผลเบื้องต้น ณ วันที่ 13 มีนาคม 2025 คิด for คิดส์ จะเผยแพร่ผลฉบับสมบูรณ์ผ่านทางเว็บไซต์ต่อไป
4 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023)

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชวนเยาวชนตอบ Youth Survey 2025

ชวนเยาวชนร่วมตอบ Youth Survey 2025

101 PUB ชวนเยาวชนอายุ 15-25 ปี ร่วมตอบแบบสำรวจชีวิต ความฝัน และทัศนคติ เพื่อใช้เป็นฐานทำงานออกแบบ-ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อเยาวชน พร้อมลุ้นรับเงินรางวัลรวม 50,000 บาท!

18 February 2025

ไม่ดิจิทัล ไม่วอลเล็ต ไม่เร่งด่วน ไม่พายุหมุน ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ

หลังจากขับเคลื่อนอยู่นาน โครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้แปลงโฉมจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม และข้อมูลชี้ว่าไม่สามารถช่วยเศรษฐกิจได้อย่างที่โฆษณาไว้

ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์

ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022

101 PUB เผยแพร่ชุดข้อมูลผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ ซึ่งสำรวจความรับรู้ คุณค่า และทัศนคติของเยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี จากกลุ่มตัวอย่าง 19,237 คนทั่วประเทศ

22 August 2022

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2025 101pub.org | All rights reserved.