ให้เด็กได้เบ่งบานนอกสถานรองรับ: แนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัว

ประเด็นสำคัญ

  • การเลี้ยงดูแบบครอบครัวอุปถัมภ์เป็นทางเลือกที่ทั่วโลกกำลังส่งเสริมแทนการปล่อยให้เด็กต้องเติบโตในสถานรองรับ แต่ในไทย ครอบครัวอุปถัมภ์ยังมีน้อย 
  • การจะเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ในไทยต้องเข้าไปหาเด็กที่สถานรองรับ ไม่มีพื้นที่ให้เด็กและผู้ที่พร้อมอุปถัมภ์เด็กได้เจอกันนอกสถานรองรับเลย
  • การสนับสนุนเงินจากรัฐ และค่านิยมคนไทยเรื่องการมีลูกไว้เลี้ยงดูตนเองในวัยชรา ซ้ำเติมในการรับเด็กคนหนึ่งไปอุปถัมภ์ในไทยยิ่งยากขึ้นไปอีก
  • การพัฒนานโยบายที่เหมาะสมกับเด็กเนื่องจากยังขาดข้อมูลที่จำเป็นและการติดตามที่มีประสิทธิภาพ

“ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวทดแทน แม่ให้ทุกอย่าง ทดแทนสิ่งที่ขาดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความอบอุ่น ให้การศึกษา และหลักการใช้ชีวิตค่ะ”
น้องเนย เด็กหญิงที่ถูกทอดทิ้งและได้อยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์[1]THE PEOPLE, “ ‘น้องเนย’ จากเด็กที่ถูกทิ้งกลางทุ่งนา สู่การโอบรับจากครอบครัวอุปถัมภ์”, 19 เมษายน 2023.

พ่อแม่ลูกอยู่อาศัยด้วยกันอย่างมีความสุขในบ้านหนึ่งหลัง รายล้อมด้วยต้นไม้และภูเขา สิ่งเหล่านี้ประกอบกันเป็นภาพวาดครอบครัวในฝันของเด็กหลายๆ คน แต่เมื่อครอบครัวต้องเผชิญปัญหาความรุนแรงภายในบ้านหรือความไม่พร้อมในหลายด้านจนทำให้เด็กต้องถูกทอดทิ้ง ภาพครอบครัวในฝันของเด็กก็ต้องสูญสลายไป เด็กจำนวนไม่น้อยต้องออกจากบ้านไปใช้ชีวิตในสถานรองรับที่ไม่ได้เอื้อต่อการเติบโตและไม่สามารถให้ความรักและการเอาใจใส่ได้ทัดเทียมกับการดูแลแบบครอบครัว แต่เมื่อครอบครัวจริงๆ ของเด็กเองก็ไม่สามารถให้สิ่งเหล่านี้ได้ ครอบครัวทดแทนที่เรียกว่า ‘ครอบครัวอุปถัมภ์’  จึงเป็นทางเลือกหนึ่งช่วยประกอบภาพในฝันของเด็กๆ ให้กลับมาใกล้เคียงกับคำว่าครอบครัว

อย่างไรก็ดี ครอบครัวอุปถัมภ์ในไทยก็ยังถูกท้าทายจากสังคม ทั้งในเรื่องของค่านิยมของคนไทยเอง ไปจนถึงการสนับสนุนของรัฐ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบครอบครัวอุปถัมภ์และส่งเด็กกลับสู่การดูแลแบบครอบครัว

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ‘คิด for คิดส์’ โดยความร่วมมือของ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ชวนสำรวจปัญหาของการเปลี่ยนผ่านเด็กจากการเลี้ยงดูในสถานรองรับไปสู่การเลี้ยงดูในรูปแบบของครอบครัวทดแทนที่ยังไม่ก้าวหน้า และทำให้ภาพวาดครอบครัวในฝันของเด็กๆ ยังไม่กลายเป็นจริง

เด็กจำนวนมากไม่ได้เติบโตกับครอบครัวของตัวเอง

เด็กจำนวนมากไม่ได้เติบโตกับครอบครัวของตัวเอง

เด็กไทยมีแนวโน้มต้องเติบโตนอกครอบครัวของตัวเองมากขึ้น UNICEF สำรวจจำนวนเด็กที่ต้องแยกจากครอบครัวพบว่าในปี 2014 มีเด็กไทยที่ออกไปเติบโตนอกบ้านของตัวเองราว 50,000 คน[2]UNICEF พฤษภาคม 2015, การศึกษาทบทวนด้านการเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทย นโยบายสู่การปฏิบัติโดยมุ่งเน้นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์(CABA). ในขณะที่ปี 2022 มีเด็กไทยที่เติบโตนอกบ้านของตัวเองอย่างน้อย 120,000 คน โดยเด็กอยู่ในสถานรองรับและบ้านพักเด็กของรัฐ 20,800 คน (หรือคิดเป็น 12.8%) อยู่ในสถานรองรับเอกชนอย่างน้อย 39,382 คน (หรือคิดเป็น 27.7%) อยู่ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 43,030 คน (หรือคิดเป็น 26.4%) บวชเป็นสามเณร 33,150 คน (หรือคิดเป็น 20.4%)[3]Ladaphongphatthana, K., Lillicrap, A., & Thanapanyaworakun, W. (2022). Counting every child, identifying over 120,000 children in residential care in Thailand. และสุดท้ายอยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งที่เป็นญาติของเด็กและไม่ใช่ญาติในข้อมูลอย่างเป็นทางการของรัฐ 5,632 คน (หรือคิดเป็น 3.5%)[4]รายงานประจำปี 2564, กรมกิจการเด็กและเยาวชน, 27 เมษายน 2565.

สถานรองรับไม่ใช่พื้นที่สำหรับการเติบโต

จะเห็นได้ว่า เด็กไทยกว่าครึ่งที่ไม่ได้เติบโตในบ้านของตัวเอง ต้องเติบโตในสถานรองรับ[5]สถานรองรับในความหมายนี้ได้แก่สถานสงเคราะห์ ศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็ก … Continue reading ซึ่งมักจะต้องดูแลเด็กจำนวนมากที่อยู่ร่วมกัน จนสุ่มเสี่ยงที่เด็กแต่ละคนจะไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ในต่างประเทศมีการศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบทั้งระยะสั้นและยาวของการเติบโตในสถานรองรับอย่างเป็นระบบ และพบว่าทำให้เกิดผลกระทบต่อเด็กทั้งทางด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต รวมถึงพัฒนาการของเด็ก

สถานรองรับไม่ใช่พื้นที่สำหรับการเติบโต

การอยู่ในสถานรองรับเป็นเวลานานส่งผลกระทบกับเด็ก

งานศึกษาในสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นถึงผลการเรียนของเด็กในสถานรองรับที่แย่กว่าเด็กที่อยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์[6]Judy Sebba, David Berridge, Nikki Luke, John Fletcher, Karen Bell, Steve Strand, Sally Thomas, Ian Sinclair, Aoife O’Higgins, (2015), The Educational Progress of Looked After Children in England: Linking Care and Educational Data, https://www.education.ox.ac.uk/wp-content/uploads/2019/05/Linking-Care-and-Educational-Data-Overview-Report-Nov-2015.pdf.และยังส่งผลระยะยาวไปจนถึงเวลาที่เด็กต้องออกจากสถานรองรับด้วย โดยพบว่าเด็กอายุ 19-21 ปี ที่ออกจากสถานรองรับไปแล้วกว่า 38% เป็น NEET (Not in Education, Employment or Training) กล่าวคือเด็กที่ออกจากสถานรองรับเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกฝนทักษะใดๆ เลย[7]Department for Education, United Kingdom. (16 November 2023). Department for Education, https://explore-education-statistics.service.gov.uk/find-statistics/children-looked-after-in-england-including-adoptions.

เด็กเล็กที่อยู่ในสถานรองรับอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดพัฒนาการทางสมองล่าช้าและสมองฝ่อ เนื่องจากเด็กเล็กในสถานรองรับมีโอกาสได้รับการตอบสนองจากผู้ดูแลได้น้อยกว่าด้วยข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากร ทำให้ไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างที่ควรจะได้รับเมื่อเด็กอยู่ในการเลี้ยงดูแบบครอบครัว[8]Isranews, (28 พฤษภาคม 2566), เด็กโตนอกบ้าน’ กระทบศักยภาพความเป็นมนุษย์ แก้ได้ด้วย ‘ครอบครัวเข้มแข็ง’, สำนักข่าวอิศรา.

เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่วัยที่เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เด็กที่อยู่ในสถานรองรับยังพบความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต อาทิ ความผิดปกติด้านความสัมพันธ์ (attachment disorder)  ซึ่งพัฒนาจากการที่เด็กในสถานรองรับมีจำนวนไม่สัมพันธ์กับผู้ดูแล รวมถึงการเข้า-ออกของผู้ดูแลเด็ก ส่งผลให้เด็กไม่สามารถพัฒนาความมั่นคงทางด้านความสัมพันธ์กับผู้ดูแลได้เต็มที่[9]Marian J. Bakermans-Kranenburg, Howard Steele, Charles H. Zeanah, Rifkat J. Muhamedrahimov, Panayiota Vorria, Natasha A. Dobrova-Krol, Miriam Steele, Marinus H. van IJzendoorn, Femmie Juffer, and Megan R. Gunnar, (December 2011), Attachment and Emotional Development in Institutional Care: Characteristics and Catch-Up, https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4166527/.

นอกจากนี้ ในประเทศไทยความผิดปกติด้านความสัมพันธ์ส่วนหนึ่งเกิดจากกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวในสถานรองรับ เช่น การบริจาคสิ่งของหรือขนม หรือการเลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกว่าได้รับความรักจากคนแปลกหน้าเพียงชั่วครั้งชั่วคราว และเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นซ้ำๆ เด็กจึงไม่สามารถสร้างความผูกพันระยะยาวกับผู้อื่นได้[10]Isranews, (28 พฤษภาคม 2566), เด็กโตนอกบ้าน’ กระทบศักยภาพความเป็นมนุษย์ แก้ได้ด้วย ‘ครอบครัวเข้มแข็ง’, สำนักข่าวอิศรา.

ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กในสถานรองรับยังถูกแสดงออกผ่านทางพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว โดยงานศึกษาจากเนเธอร์แลนด์พบว่าเด็กที่อยู่ในสถานรองรับนั้นมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงมากกว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์[11]E.L.L. Strijbosch, J.A.M. Huijs, G.J.J.M. Stams, I.B. Wissink, G.H.P. van der Helm, J.J.W. de Swart, Z. van der Veen, (2015), The outcome of institutional youth care compared to non-institutional youth care for children of primary school age and early adolescence: A multi-level meta-analysis, https://doi.org/10.1016/j.childyouth.2015.09.018.

“น้องมาอยู่กับเราในช่วงที่เขาเริ่มโตแล้ว ตอนแรก ๆ เขาจะมีนิสัย 3 อย่าง คือ ขี้โกหก ขี้โกง และขี้ขโมย เราก็ต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ สอนว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควรทำ โดยใช้ความเข้าใจ การพูดคุยสื่อสารกัน ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ ก็ทำให้พฤติกรรมพวกนี้หายไป จากตอนแรกอาจจะยังไม่สนิทกันมาก แต่ตอนนี้เขาเรียกเราว่าแม่ได้เต็มปาก” คุณสมร คุณแม่อุปถัมภ์[12]THE PEOPLE, “‘น้องเซ็น’ ชีวิตใหม่ในครอบครัวอุปถัมภ์ที่เต็มเติมความรัก“, 19 เมษายน 2023.

การที่เด็กต้องเติบโตมาในสถานรองรับ อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่ดีติดตัวมาเนื่องจากขาดการดูแลและอบรมอย่างใกล้ชิดจากผู้ใหญ่ พฤติกรรมของเด็กที่ออกจากสถานรองรับบางส่วนในประเทศไทยถูกสะท้อนผ่านบทสัมภาษณ์ของคุณสมร คุณแม่อุปถัมภ์ซึ่งรับเด็กคนหนึ่งจากสถานสงเคราะห์มาเลี้ยงดู โดยปรากฏว่าเด็กที่คุณแม่สมรอุปถัมภ์มา ในช่วงแรกมีพฤติกรรม “ขี้โกหก ขี้โกง และขี้ขโมย” อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของเด็กเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ หากเด็กได้รับความเอาใจใส่จากผู้ใหญ่มากเพียงพอ ครอบครัวอุปถัมภ์เช่นในกรณีของคุณแม่สมร จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยขัดเกลาพฤติกรรมของเด็กก่อนที่เด็กจะก้าวออกไปใช้ชีวิตในสังคม


ทั่วโลกมุ่งสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัว แต่ในไทยมีครอบครัวอุปถัมภ์น้อย

การเลี้ยงดูแบบครอบครัวอุปถัมภ์หรือเรียกอีกอย่างว่าการเลี้ยงดูแบบครอบครัวทดแทน เป็นการรับเด็กที่อยู่ในสถานรองรับหรือบ้านพักเด็กมาอุปถัมภ์เป็นการชั่วคราว ซึ่งแตกต่างจากการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ทั้งในเรื่องระยะเวลาที่กำหนดไว้แน่นอนว่าการรับอุปถัมภ์จะสิ้นสุดลงเมื่อเด็กอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ แต่การรับเป็นบุตรบุญธรรมไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้เว้นแต่จะยกเลิกการเป็นบุตรบุญธรรมด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องสิทธิในทางกฎหมายอื่นๆ อาทิ สิทธิในการที่จะได้รับมรดก โดยเด็กที่ถูกรับเป็นบุตรบุญธรรมจะมีสิทธิในการรับมรดกของพ่อแม่บุญธรรม แต่เด็กที่ถูกรับไปอุปถัมภ์จะไม่มีสิทธิได้รับมรดกของพ่อแม่อุปถัมภ์เว้นแต่จะได้มาโดยพินัยกรรม

การเลี้ยงดูแบบครอบครัวเป็นสิ่งที่ทั่วโลกมุ่งหวังให้เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลอย่างใส่ใจและใกล้ชิด งานศึกษาจากเนเธอร์แลนด์[13]E.L.L. Strijbosch, J.A.M. Huijs, G.J.J.M. Stams, I.B. Wissink, G.H.P. van der Helm, J.J.W. de Swart, Z. van der Veen, (2015), The outcome of institutional youth care compared to non-institutional youth care for children of primary school age and early adolescence: A multi-level meta-analysis, https://doi.org/10.1016/j.childyouth.2015.09.018.และอังกฤษ[14]Judy Sebba, David Berridge, Nikki Luke, John Fletcher, Karen Bell, Steve Strand, Sally Thomas, Ian Sinclair, Aoife O’Higgins, (2015), The Educational Progress of Looked After Children in England: Linking Care and Educational Data, https://www.education.ox.ac.uk/wp-content/uploads/2019/05/Linking-Care-and-Educational-Data-Overview-Report-Nov-2015.pdf.แสดงให้เห็นแล้วว่าเด็กที่โตมาในครอบครัวอุปถัมภ์ถึงพร้อมมากกว่าในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพจิต ผลการเรียน ไปจนถึงพัฒนาการในการเข้าสังคม

อย่างไรก็ดี 3 ปีที่ผ่านมา ไทยมีจำนวนครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งแบบเครือญาติและไม่ใช่เครือญาติเฉลี่ยอยู่ที่ 5,583 ครอบครัวหรือคิดเป็น 4% จากเด็กที่ต้องเติบโตนอกครอบครัวของตัวเองทั้งหมด และจากการรายงานของ UNICEF พบว่าครอบครัวอุปถัมภ์เพียง 300 ครอบครัวหรือ 5.4% ของครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งหมดเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ที่ไม่ใช่เครือญาติ และอีกกว่า 94.6% ในประเทศไทยเป็นครอบครัวอุปถัมภ์แบบเครือญาติ

เมื่อเทียบกับต่างประเทศ อัตราส่วนของครอบครัวอุปถัมภ์ที่ไม่ใช่เครือญาติของไทยยังมีน้อยมาก แสดงให้เห็นถึงระบบการจัดสรรและช่วยเหลือครอบครัวอุปถัมภ์แบบที่ไม่ใช่เครือญาติของไทยยังมีปัญหาต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

โดยในอังกฤษ ระหว่างเดือนเมษายน 2021 – เดือนมีนาคม 2022 มีเด็กที่อาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่ไม่ใช่เครือญาติ 57,540 คน คิดเป็น 29% ของเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งสองประเภทหรือ 70% ของเด็กที่ต้องเติบโตนอกบ้าน และอยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์แบบเครือญาติราว 121,000 คน คิดเป็น 71% ของเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งสองประเภท[15]The Fostering Network, Fostering statistics, https://www.thefosteringnetwork.org.uk/advice-information/all-about-fostering/fostering-statistics. และ Office of National Statistics, (26 September 2023), Kinship care in England and Wales: Census 2021, … Continue reading

ในออสเตรเลียก็พบว่า ในช่วงปี 2020 – 30 มิถุนายน 2021 มีเด็กอยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ที่ไม่ใช่เครือญาติราว 16,600 คน คิดเป็น 40% ของเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งสองประเภทหรือ 35.9% ของเด็กที่ต้องเติบโตนอกบ้าน และอยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์แบบเครือญาติราว 25,000 คน คิดเป็น 60% ของเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งสองประเภทหรือ 54.1% ของเด็กที่ต้องเติบโตนอกบ้าน นอกจากนี้ เด็กที่อยู่ในการดูแลแบบครอบครัวทั้งหมดก็สูงถึง 91% ของเด็กที่ต้องเติบโตนอกบ้าน[16]Australian Government, Australian Institute of Health and Welfare, (15 June 2022), Child protection Australia 2020–21, https://www.aihw.gov.au/reports/child-protection/child-protection-australia-2020-21/contents/out-of-home-care/what-type-of-placements-were-children-in.

ที่มา: 101 PUB คำนวณจากรายงานประจำปีกรมกิจการเด็กและเยาวชน 2021 และ UNICEF 2022,
the Fostering Network, Office of National Statistics UK Parliament, Australian Government, Australian Institute of Health and Welfare

ขั้นตอนการรับอุปถัมภ์ต้องพึ่งพาโชคชะตา

การที่ครอบครัวอุปถัมภ์ในไทยมีจำนวนน้อย โดยเฉพาะครอบครัวอุปถัมภ์ที่ไม่ใช่เครือญาติ ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการรับครอบครัวอุปถัมภ์ในประเทศไทยที่ไม่มีจุดเชื่อมต่อกันระหว่างเด็กในสถานรองรับและผู้ที่ต้องการรับอุปถัมภ์เด็ก

ขั้นตอนการรับอุปถัมภ์ต้องพึ่งพาโชคชะตา

การจะเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ต้องรอให้ผู้ต้องการรับอุปถัมภ์เจอเด็กที่ถูกชะตาในสถานรองรับก่อน ซึ่งทำให้การค้นหาและจับคู่เกิดขึ้นได้ยาก จำนวนครอบครัวอุปถัมภ์โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ใช่ญาติจึงมีน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ นอกจากนี้ การที่เด็กต้องรอให้มีคนมาอุปถัมภ์ในสถานรองรับก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบกับตัวเด็ก ทั้งในด้านพฤติกรรมและพัฒนาการ

“ตอนนั้นเราไปจัดของว่างให้สถานสงเคราะห์ค่ะ ทีนี้พอใกล้จะเลิกงาน เราก็เห็นน้องเซ็นเข้ามาช่วยเก็บสายไฟ รู้สึกถูกชะตาเด็กคนนี้จัง อยากรับเขามาเป็นลูก เพราะเราก็ไม่มีลูกด้วย เลยถามทางสถานสงเคราะห์และเขาก็แนะนำให้เราเป็นครอบครัวอุปถัมภ์” คุณสมร คุณแม่อุปถัมภ์[17]THE PEOPLE, “‘น้องเซ็น’ ชีวิตใหม่ในครอบครัวอุปถัมภ์ที่เต็มเติมความรัก“, 19 เมษายน 2023.

จากนั้นผู้ที่ต้องการอุปถัมภ์เด็กต้องแสดงความจำนงขอรับเด็กคนนั้นไปอุปถัมภ์ หนังสือแสดงความจำนงขอรับอุปการะเด็กแบบครอบครัวอุปถัมภ์แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ต้องการรับเด็กไปอุปถัมภ์ต้องรู้ว่าเด็กคนนั้นเป็นใคร ชื่ออะไร มีเพศสภาพแบบใด ดังภาพ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตรวจสอบ เยี่ยมบ้านและขออนุมัติการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งแบบรับเงินสนับสนุนและไม่รับเงินสนับสนุนต่อไป[18]“ครอบครัวอุปถัมภ์” ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม”, กรมกิจการเด็กและเยาวชน.

แบบฟอร์มหนังสือแสดงความจำนงรับอุปการะเด็กแบบครอบครัวอุปถัมภ์

วิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการช่วยให้เด็กได้เติบโตในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวคือการมีทะเบียนครอบครัวที่พร้อมรับอุปถัมภ์ไว้กับภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยส่งเด็กไปอยู่กับครอบครัวตามความเหมาะสมและความต้องการได้มากที่สุด

อย่างในอังกฤษ รัฐทำหน้าที่เก็บข้อมูลของครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์ที่ผ่านทั้งการอบรม การตรวจเยี่ยมบ้าน ไปจนถึงการสอบประวัติอาชญากรโดยรัฐ บรรจุเป็นข้อมูลรายชื่อหรือ waiting list รวมถึงการจับคู่เด็กและครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์โดยผ่านการคัดกรองของรัฐ[19]GOV.UK, Becoming a foster parent in England, https://www.gov.uk/becoming-foster-parent/after-youve-applied. ซึ่งทำให้ครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์มีโอกาสได้เจอเด็กที่เหมาะสมกับครอบครัวของตน และเด็กเองก็ไม่ต้องรอให้มีคนมาค้นพบที่สถานรองรับด้วย

นั่นหมายความว่าวิธีการที่ไทยทำจึงกลับหัวกลับหาง ขาดฐานข้อมูลครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์เด็กจากรัฐ เมื่อเกิดกรณีที่เด็กต้องออกจากครอบครัวแล้วไม่มีญาติที่พร้อมช่วยเหลือเลี้ยงดู จึงมักจะถูกส่งไปยังสถานรองรับ ซึ่งหากโชคดี ก็จะมีผู้ที่พร้อมอุปถัมภ์และถูกชะตากับเด็กมาอุปถัมภ์เด็กต่อไป จนทำให้ไทยมีครอบครัวอุปถัมภ์โดยเฉพาะแบบที่ไม่ใช่เครือญาติจำนวนน้อย

รัฐสนับสนุนเงินน้อย ไม่จูงใจให้อุปถัมภ์เด็ก

การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนให้เติบโตมาอย่างดี แน่นอนว่าใช้เงินจำนวนมหาศาล เม็ดเงินเหล่านั้นคือต้นทุนที่ครอบครัวต้องใช้และหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนกลับมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การอุปถัมภ์เด็กแบบชั่วคราวจึงไม่สามารถตอบโจทย์ค่านิยมเหล่านั้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น การสนับสนุนจากรัฐก็ยังทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจให้อุปถัมภ์เด็กด้วย

รัฐสนับสนุนเงินน้อย ไม่จูงใจให้อุปถัมภ์เด็ก

คนไทยมองการเลี้ยงเด็ก=การลงทุนระยะยาว

สิ่งที่ฝังอยู่ในความเชื่อของคนไทยก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ครอบครัวอุปถัมภ์โดยเฉพาะแบบที่ไม่ใช่เครือญาติยังพัฒนาไปไม่ไกล

“อยากมี เพราะว่าเป็นการ invest เราในอนาคต”

“คิดว่าแก่มา แล้วไม่มีใครเลี้ยง ไม่อยากไปอยู่บ้านคนชรา ถ้าแก่มามีคนเลี้ยงก็ยังดี ดีกว่าไม่มีเลย”

ตัวอย่างทัศนคติเชิงบวกของการมีลูกจากผู้ให้สัมภาษณ์ในงานวิจัยเรื่อง ‘การตัดสินใจด้านการเจริญพันธุ์ของคนเจนวาย (Gen Y and Fertility Decisions)’[20] มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ, การตัดสินใจด้านการเจริญพันธุ์ของคนเจนวาย Gen Y and Fertility Decisions, https://ipsr.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2022/03/07_Manasigan-Gen-Y.pdf โดย รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่แสดงให้เห็นถึงการหวังผลตอบแทนในระยะยาวเมื่อลงทุนกับเด็ก

นอกจากนี้ ทัศนคติในเรื่องการหวังผลตอบแทนระยะยาวยังปรากฏในรายงานการสำรวจและการศึกษาเพื่อการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมประจำปี 2561 เรื่องที่ 1 ทัศนคติและปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อการมีบุตร ในกลุ่มประชากรเจเนอเรชันวาย ซึ่งหมายถึงผู้ที่เกิดในระหว่าง พ.ศ. 2523-2543 (อายุ 18-38 ปีในขณะนั้น) จำนวน 3,474 คน พบว่า ทั้งกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-25 ปี และ 26-38 ปียังเห็นด้วยกับคำถามที่ว่า “การมีลูกช่วยให้มีคนดูแลยามบั้นปลายชีวิต”[21]รายงานการสำรวจและการศึกษาเพื่อการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมประจำปี 2561 เรื่องที่ 1 … Continue reading

แต่การเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ซึ่งเป็นครอบครัวชั่วคราวให้เด็กคนหนึ่งอาจไม่สามารถมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อให้ดูแลตนเองเมื่อถึงวัยชราภาพ เมื่อคาดหวังกับการลงทุนระยะยาวเช่นนี้ไม่ได้ ประกอบกับค่านิยมของคนไทยที่ไม่นิยมเอาลูกคนอื่นมาเลี้ยง ส่งผลให้การเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ในไทยยังพัฒนาต่อได้ยาก

พ่อแม่อุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายสูง ไม่ได้ผลตอบแทน

“ตอนนั้นอยากได้เงินค่าเลี้ยงดูเท่านั้นแหละ เลยรับน้องฝ้ายมาตั้งแต่เขาสองขวบ ตอนนี้ก็อายุสิบแปดปีแล้ว เดือนหนึ่งๆ ใช้มากกว่าที่เขาให้มาเยอะเลย” ทิดชัย – ปราโมทย์ ภูวิลัย[22] THE PEOPLE, “ครอบครัวอุปถัมภ์เต็มเติมชีวิตด้วยสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันผ่านความรัก”, 19 เมษายน 2023.

การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ตามมามากมาย แต่จากประกาศกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่ 298/2558 เรื่องกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์อัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยค่าเลี้ยงดูเด็กแก่ครอบครัวอุปถัมภ์ และ/หรือช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กตามความจำเป็น พบว่ารัฐให้เงินสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์เดือนละ 2,000 บาท/คน/เดือน และ/หรือสนับสนุนเครื่องอุปโภคมูลค่าไม่เกิน 500 บาท/คน/เดือน[23]ประกาศกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่ 298/2558 เรื่องกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์อัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยค่าเลี้ยงดูเด็กแก่ครอบครัวอุปถัมภ์ … Continue reading แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติงานจริงได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะเลือกให้ความช่วยเหลือเพียงทางใดทางหนึ่งเท่านั้น และเงินจำนวนนี้คงที่มาตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปัจจุบัน

การเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ก็เปรียบเสมือนการช่วยรัฐเลี้ยงเด็ก แต่รัฐกลับไม่ให้เงินสนับสนุนอย่างถ้วนหน้าเป็นสวัสดิการ กลับเลือกให้เฉพาะครอบครัวที่ผ่านการพิสูจน์ความจนแทน

นอกจากนี้ เงินที่รัฐสนับสนุนให้ครอบครัวอุปถัมภ์นั้น ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งได้ จากการคำนวณจากค่าจ้างเพื่อชีวิต ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสำหรับสินค้าและบริการที่จำเป็นในการใช้ชีวิตให้ได้ตามมาตรฐานกลางของสังคม พบว่าการเลี้ยงเด็ก 1 คนต้องใช้เงินราว 3,304.6 บาท/เดือน[24]กษิดิ์เดช คำพุช, “ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต,” 101 Public Policy Think Tank, 29 กันยายน 2022, 101pub.org/minimum-wage-to-living-wage/.ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กจากบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ พ.ศ. 2564 ก็พบว่าใน 1 เดือน ต้องใช้เงินราว 5,538.2 บาท เพื่อเลี้ยงเด็ก 1 คน[25]สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,รายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ ปี 2564. ผู้เขียนคำนวณเฉพาะเงินโอนครัวเรือนและทรัพย์สินเงินออมเท่านั้น

นอกจากนี้ การสนับสนุนของของรัฐยังทำแบบ ‘เสื้อโหล’ กล่าวคือ สนับสนุนเท่ากันทุกช่วงวัย ในขณะที่บัญชีกระแสการโอนประชาชาติรายงานว่ารายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชนนั้นเพิ่มขึ้นตามช่วงวัย[26]สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,รายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ ปี 2564. ซึ่งทำให้พ่อแม่อุปถัมภ์ต้องควักเนื้อตัวเองเพื่อลงทุนกับเด็กที่รับมาอุปถัมภ์ และยิ่งตอกย้ำความหวังผลไม่ได้ของการอุปถัมภ์เด็กมากขึ้นไปอีก

ในต่างประเทศ อาทิ รัฐ Western Australia ประเทศออสเตรเลีย การสนับสนุนเงินให้ครอบครัวอุปถัมภ์แบ่งตามช่วงอายุของเด็ก โดยเด็ก 0-6 ปี ได้เงินสนับสนุน 435.17$ ต่อสองสัปดาห์ เด็ก 7-12 ปี ได้เงินสนับสนุน 512.41$ ต่อสองสัปดาห์ และเด็ก 13-18 ปี ได้เงินสนับสนุน 589.64$ ต่อสองสัปดาห์ และเพิ่มขึ้น 10-20% ตามพื้นที่ที่เด็กอยู่อาศัย[27]Government of Western Australia Department of communities, Financial Support Information Family or Foster Carer Subsidy, https://www.wa.gov.au/system/files/2023-07/fostering_financial_support_info.pdf. แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของการสนับสนุนเด็กเพื่อให้ตรงกับความต้องการของเด็กจริงๆ ทั้งในด้านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามอายุ หรือแม้กระทั่งตามพื้นที่ที่เด็กอาศัยอยู่

ขาดข้อมูลและการติดตามเด็กที่มีประสิทธิภาพ การประเมินนโยบายจึงเป็นเรื่องยาก

การจะพัฒนานโยบายเพื่อเปลี่ยนผ่านเด็กสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัวได้ ไม่ใช่เพียงการศึกษาจากงานวิจัยในต่างประเทศ แต่ยังต้องอาศัยข้อมูลที่จำเป็นจากผู้ที่ทำงานกับเด็กอย่าง นักจัดการรายกรณี เพื่อให้การพัฒนานโยบายเป็นไปอย่างเหมาะสมกับเด็กอีกด้วย

ขาดข้อมูลและการติดตามเด็กที่มีประสิทธิภาพ การประเมินนโยบายจึงเป็นเรื่องยาก

ข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนายังขาดหาย

แม้ว่าจะมีการตรวจสอบเยี่ยมบ้านปีละ 2 ครั้ง และทำรายงานเกี่ยวกับครอบครัวอุปถัมภ์ปีละ 1 ครั้ง แต่ข้อมูลที่ได้มาจากการตรวจสอบเยี่ยมบ้านและการทำรายงานกลับไม่มีการรายงาน ข้อมูลในลักษณะที่สามารถนำไปศึกษาต่อได้ การพัฒนานโยบายรวมไปถึงการติดตามและประเมินเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ของไทยจึงยังทำได้ยากในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การศึกษาเด็กที่ออกจากครอบครัวอุปถัมภ์ไปแล้วก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของเด็กในระยะยาว และนำมาศึกษาต่อเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กทั้งขณะที่อยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์หรือออกจากครอบครัวอุปถัมภ์ไปแล้วด้วย

จากการที่ขาดข้อมูลทั้งคุณภาพชีวิตของเด็กที่ยังอยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ หรือออกจากครอบครัวอุปถัมภ์ไปแล้ว รวมถึงขาดการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์แบบเครือญาติและไม่ใช่เครือญาติ เด็กที่ยังอยู่ในสถานรองรับ หรือเด็กที่อยู่ในครอบครัวปกติ ทำให้การประเมินผลทางนโยบายเป็นไปได้ยาก ซ้ำยังไม่สามารถพัฒนานโยบายที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กได้

การติดตามเด็กอย่างมีประสิทธิภาพทำได้ยากเพราะนักจัดการรายกรณีงานล้นมือ

นอกจากจะขาดข้อมูลที่จำเป็นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยยังขาดอยู่มากคือนักจัดการรายกรณี หรือ case manager ซึ่งนักจัดการรายกรณีจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเก็บข้อมูลที่ขาดหายไป เนื่องจากนักจัดการรายกรณีเป็นผู้ที่อยู่กับเด็กมาตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองเด็ก

ในปี 2021 ประเทศไทยมีนักจัดการรายกรณีปฏิบัติงานอยู่ 720 คน[28]กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, “พม. รวมพลังพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 … Continue reading ต้องดูแลเด็กที่เติบโตนอกบ้านทุกรูปแบบ เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ 1 คนต้องดูแลเด็กที่ต้องเข้าสู่บ้านพักเด็กและสถานรองรับของรัฐมากกว่า 56 คน และหากนักจัดการรายกรณีต้องดูแลเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์เพิ่มขึ้นอีก เจ้าหน้าที่ 1 คนก็ต้องดูแลเด็กเพิ่มขึ้นอีก 8.7 คน หรือคิดเป็นเด็กทั้งสิ้น 64.7 คน หากเป็นเช่นนี้ต่อไป เมื่อเด็กที่ต้องการเข้าสู่สถานรองรับหรือการดูแลของครอบครัวอุปถัมภ์เพิ่มขึ้น ภาระงานของนักจัดการรายกรณีก็จะเพิ่มขึ้น ยิ่งเป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างจำนวนเจ้าหน้าที่และเด็ก ทำให้การติดตามเด็กอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเพื่อการพัฒนาและศึกษาต่อยิ่งยากเข้าไปอีก

จะเปลี่ยนผ่านสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัวต้องแก้ไขหลายด้าน

เพื่อส่งเด็กไปสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัว รัฐต้องพัฒนาระบบบริหารจัดการในหลายด้าน ทั้งในเรื่องระบบที่พร้อมส่งเด็กออกจากสถานรองรับ เงินสนับสนุนที่เพียงพอและถ้วนหน้า ไปจนถึงการศึกษา ติดตาม และประเมินเด็กที่เข้าสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัวเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อในอนาคต

จะเปลี่ยนผ่านสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัวต้องแก้ไขหลายด้าน

พัฒนาระบบจับคู่ เพิ่มโอกาสให้เด็กได้บ้านใหม่

การจะเปลี่ยนผ่านสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัวต้องอาศัยทั้งข้อมูลและการพัฒนาระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ ในประเทศที่มีครอบครัวอุปถัมภ์จำนวนมาก เช่น อังกฤษ การจะเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ได้ต้องผ่านขั้นตอนต่อไปนี้

  1. มีการสมัครเป็นครอบครัวอุปถัมภ์และแจ้งคุณสมบัติของเด็กที่ต้องการรับอุปถัมภ์ เช่น อายุหรือเพศ
  2. เข้ารับการอบรม การตรวจเยี่ยมบ้าน การตรวจสอบประวัติรวมถึงสภาพความเป็นอยู่ เพื่ออนุมัติหรือปรับปรุงให้พร้อมต่อการอุปถัมภ์เด็ก
  3. เมื่อผ่านการอบรมและตรวจสอบจากรัฐ รายชื่อของครอบครัวก็จะถูกบรรจุอยู่ในรายชื่อครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์เด็ก เมื่อมีเด็กที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะให้อุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่จะส่งข้อมูลของเด็กมายังครอบครัว เพื่อให้เลือกว่าจะรับอุปถัมภ์หรือไม่ หากเลือกที่จะรับ ต้องรอให้เจ้าหน้าที่แจ้งกลับมาก่อนว่าได้รับเลือกหรือไม่ ถ้าถูกเลือกจึงจะสามารถอุปถัมภ์เด็กได้[29]GOV.UK, Becoming a foster parent in England, https://www.gov.uk/becoming-foster-parent/after-youve-applied.

ดังนั้น หากต้องการจะเพิ่มครอบครัวอุปถัมภ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน สิ่งแรกที่รัฐต้องเริ่มแก้ไขคือการเพิ่มพื้นที่ให้เด็กและผู้ที่พร้อมอุปถัมภ์เด็กเจอกันง่ายขึ้นผ่านข้อมูลที่เป็นระบบ เพื่อให้เด็กไม่ต้องรอให้ถูกค้นพบในสถานรองรับ ส่วนผู้ที่พร้อมอุปถัมภ์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปหาเด็กถึงที่เช่นในปัจจุบัน

  • เพิ่มระบบรายชื่อ (waiting list) สำหรับครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์เด็ก

รัฐควรจัดทำระบบรายชื่อผู้ที่พร้อมอุปถัมภ์เด็กไว้ก่อนล่วงหน้า โดยต้องมีข้อมูลของผู้ที่ต้องการรับอุปถัมภ์อย่างครบถ้วนก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการรับอุปถัมภ์เด็ก

การที่มีข้อมูลของครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์รอไว้ก่อนแล้ว จะเป็นการลดขั้นตอนที่ต้องรอให้เด็กและผู้ที่ต้องการรับอุปถัมภ์เด็กมาเจอกันที่สถานรองรับ เปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยมีประสบการณ์อุปถัมภ์เด็กได้ทำหน้าที่ในการดูแลเด็กได้ โดยเฉพาะกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเช่นเด็กในสถานรองรับที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ที่พิเศษมากกว่าเด็กทั่วไป และยังทำให้เกิดการจับคู่ระหว่างเด็กและครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์ได้ง่ายมากขึ้น

  • เพิ่มระบบจับคู่เด็กกับความต้องการของครอบครัว โดยที่ไม่ต้องรอให้ไปเจอกันในสถานรองรับ

เมื่อมีข้อมูลพร้อมทั้งครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์และเด็กที่จะเข้าไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ รัฐควรสร้างพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายผ่านการประเมินความเหมาะสมของเจ้าหน้าที่ โดยให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้คัดกรองว่าเด็กควรได้ไปอยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ครอบครัวใด และเด็กมีความสมัครใจจะไปหรือไม่ แทนที่จะเป็นการเลือกเด็กตั้งแต่ในสถานรองรับดังเช่นในปัจจุบัน

สนับสนุนเงินให้พอต่อการเลี้ยงดูเด็ก

เงินสนับสนุนเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่จะสามารถเพิ่มจำนวนครอบครัวอุปถัมภ์ได้หากรัฐสนับสนุนให้ครอบครัวอุปถัมภ์มากพอ อย่างไรก็ดี การเพิ่มเงินสนับสนุนก็ต้องมาพร้อมกับการตรวจสอบครอบครัวที่จะอุปถัมภ์เด็กอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้การรับอุปถัมภ์กลายเป็นช่องทางทำกินของผู้ไม่ประสงค์ดี

  • เพิ่มเงินสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ตามพื้นที่และค่าเงินเฟ้อ

เงินสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ควรเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ที่เด็กอยู่อาศัยและค่าเงินเฟ้อ เพื่อให้เพียงพอต่อการยังชีพของเด็กและไม่เป็นภาระให้กับครอบครัวอุปถัมภ์มากจนเกินไป และควรสนับสนุนเด็กตามช่วงวัยมากกว่าการให้เงินอัตราคงที่และไม่เพียงพออย่างในปัจจุบัน

  • ทำให้การสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์เป็น ‘สวัสดิการ’

การสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์อย่างถ้วนหน้าจะเป็นการจูงใจให้รับเด็กไปอุปถัมภ์มากขึ้น เนื่องจากมีรัฐเข้ามาช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็ก และลดแนวคิดเรื่องต้นทุนในการเลี้ยงเด็กเพื่อหวังผลตอบแทนในภายหลังลง

พัฒนาระบบติดตามและประเมินนโยบาย

การติดตามและประเมินนโยบายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การดำเนินนโยบายกับเด็กมีประสิทธิภาพโดยมีประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ แต่การจะติดตามและประเมินผลนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีทั้งข้อมูลและบุคลากรที่เพียงพอ

  • เพิ่มการศึกษาผลลัพธ์ของเด็กทั้งในสถานรองรับและครอบครัวอุปถัมภ์แบบระยะยาว

เพื่อให้การประเมินนโยบายสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาผลลัพธ์ของเด็กทั้งในด้านสุขภาพกายและจิต ผลการเรียน และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อาทิ สภาพความเป็นอยู่ จึงเป็นส่วนสำคัญที่รัฐต้องเร่งพัฒนา

การศึกษาเกี่ยวกับตัวเด็กย่อมทำให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีการดำเนินตามแผนนโยบายที่ได้วางไว้ และทำให้รัฐสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที และมีข้อมูลที่จะคาดการณ์อนาคตได้อีกด้วย

  • เพิ่มนักจัดการรายกรณีสำหรับดูแลครอบครัวอุปถัมภ์โดยเฉพาะ

การติดตามและประเมินนโยบายจะทำไม่ได้เลยหากขาดเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญและอยู่กับเด็กมาตั้งแต่เริ่มกระบวนการ นักจัดการรายกรณีจึงเป็นบุคคลสำคัญที่รัฐควรเร่งเพิ่มจำนวน โดยเฉพาะนักจัดการรายกรณีที่ต้องดูแลครอบครัวอุปถัมภ์ ซึ่งต้องเดินทางไปเยี่ยมเด็กที่อยู่ในครอบครัวเหล่านั้น เพื่อให้การติดตามดูแลเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

References
1 THE PEOPLE, “ ‘น้องเนย’ จากเด็กที่ถูกทิ้งกลางทุ่งนา สู่การโอบรับจากครอบครัวอุปถัมภ์”, 19 เมษายน 2023.
2 UNICEF พฤษภาคม 2015, การศึกษาทบทวนด้านการเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทย นโยบายสู่การปฏิบัติโดยมุ่งเน้นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์(CABA).
3 Ladaphongphatthana, K., Lillicrap, A., & Thanapanyaworakun, W. (2022). Counting every child, identifying over 120,000 children in residential care in Thailand.
4 รายงานประจำปี 2564, กรมกิจการเด็กและเยาวชน, 27 เมษายน 2565.
5 สถานรองรับในความหมายนี้ได้แก่สถานสงเคราะห์ ศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็ก และสถาบันเพาะกล้าคุณธรรม
6, 14 Judy Sebba, David Berridge, Nikki Luke, John Fletcher, Karen Bell, Steve Strand, Sally Thomas, Ian Sinclair, Aoife O’Higgins, (2015), The Educational Progress of Looked After Children in England: Linking Care and Educational Data, https://www.education.ox.ac.uk/wp-content/uploads/2019/05/Linking-Care-and-Educational-Data-Overview-Report-Nov-2015.pdf.
7 Department for Education, United Kingdom. (16 November 2023). Department for Education, https://explore-education-statistics.service.gov.uk/find-statistics/children-looked-after-in-england-including-adoptions.
8, 10 Isranews, (28 พฤษภาคม 2566), เด็กโตนอกบ้าน’ กระทบศักยภาพความเป็นมนุษย์ แก้ได้ด้วย ‘ครอบครัวเข้มแข็ง’, สำนักข่าวอิศรา.
9 Marian J. Bakermans-Kranenburg, Howard Steele, Charles H. Zeanah, Rifkat J. Muhamedrahimov, Panayiota Vorria, Natasha A. Dobrova-Krol, Miriam Steele, Marinus H. van IJzendoorn, Femmie Juffer, and Megan R. Gunnar, (December 2011), Attachment and Emotional Development in Institutional Care: Characteristics and Catch-Up, https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4166527/.
11, 13 E.L.L. Strijbosch, J.A.M. Huijs, G.J.J.M. Stams, I.B. Wissink, G.H.P. van der Helm, J.J.W. de Swart, Z. van der Veen, (2015), The outcome of institutional youth care compared to non-institutional youth care for children of primary school age and early adolescence: A multi-level meta-analysis, https://doi.org/10.1016/j.childyouth.2015.09.018.
12, 17 THE PEOPLE, “‘น้องเซ็น’ ชีวิตใหม่ในครอบครัวอุปถัมภ์ที่เต็มเติมความรัก“, 19 เมษายน 2023.
15 The Fostering Network, Fostering statistics, https://www.thefosteringnetwork.org.uk/advice-information/all-about-fostering/fostering-statistics. และ Office of National Statistics, (26 September 2023), Kinship care in England and Wales: Census 2021, https://www.ons.gov.uk/peoplepopulationandcommunity/birthsdeathsandmarriages/families/articles/kinshipcareinenglandandwales/census2021#kinship-care-in-england-and-wales-data.
16 Australian Government, Australian Institute of Health and Welfare, (15 June 2022), Child protection Australia 2020–21, https://www.aihw.gov.au/reports/child-protection/child-protection-australia-2020-21/contents/out-of-home-care/what-type-of-placements-were-children-in.
18 “ครอบครัวอุปถัมภ์” ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม”, กรมกิจการเด็กและเยาวชน.
19, 29 GOV.UK, Becoming a foster parent in England, https://www.gov.uk/becoming-foster-parent/after-youve-applied.
20  มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ, การตัดสินใจด้านการเจริญพันธุ์ของคนเจนวาย Gen Y and Fertility Decisions, https://ipsr.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2022/03/07_Manasigan-Gen-Y.pdf
21 รายงานการสำรวจและการศึกษาเพื่อการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมประจำปี 2561 เรื่องที่ 1 ทัศนคติและปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อการมีบุตร
22  THE PEOPLE, “ครอบครัวอุปถัมภ์เต็มเติมชีวิตด้วยสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันผ่านความรัก”, 19 เมษายน 2023.
23 ประกาศกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่ 298/2558 เรื่องกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์อัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยค่าเลี้ยงดูเด็กแก่ครอบครัวอุปถัมภ์ และ/หรือช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กตามความจำเป็น.
24 กษิดิ์เดช คำพุช, “ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต,” 101 Public Policy Think Tank, 29 กันยายน 2022, 101pub.org/minimum-wage-to-living-wage/.
25 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,รายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ ปี 2564. ผู้เขียนคำนวณเฉพาะเงินโอนครัวเรือนและทรัพย์สินเงินออมเท่านั้น
26 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,รายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ ปี 2564.
27 Government of Western Australia Department of communities, Financial Support Information Family or Foster Carer Subsidy, https://www.wa.gov.au/system/files/2023-07/fostering_financial_support_info.pdf.
28 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, “พม. รวมพลังพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บูรณาการกับภาคีเครือข่ายคุ้มครองเด็กอย่างทันท่วงที”, 29 สิงหาคม 2021

อินโฟกราฟฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

‘เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม’: ความเชื่อแบบไทยๆ อุปสรรคใหญ่ของนโยบายครอบครัวอุปถัมภ์

นโยบายการเพิ่มครอบครัวอุปถัมภ์เผชิญกับความเชื่อแบบไทยๆซึ่งเป็นกำแพงใหญ่ที่รัฐต้องก้าวข้าม หากจะผลักดันให้ดี ไม่ใช่แค่ปรับปรุงนโยบายแต่ต้องลงลึกถึงมายาคติที่มีมาแต่เดิม

งบ “สงเคราะห์” เด็กไทย ไม่ไหว ไม่พอ ไปต่อไม่ได้

คิด for คิดส์ ชวนสำรวจปัญหางบประมาณที่ใช้เลี้ยงดูเด็กๆ ที่ต้องเติบโตในสถานรองรับระยะยาวในประเทศไทย และงบประมาณเพื่อสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ที่ยังขาดแคลน

รื้อระบบคุ้มครองเด็ก ไม่ให้ใครต้องถูกทำร้ายซ้ำสอง

คิด for คิดส์ ชวนสำรวจสิ่งที่ขาดหายในระบบคุ้มครองเด็กจนเป็นการทำร้ายเด็กซ้ำ และสิ่งที่ต้องเติมในระบบคุ้มครองเด็กเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.