ส่องงบลงทุน 434,400 ล้านบาท ปี 2566: ลงทุนอะไรบ้าง? ตอบโจทย์ความท้าทายของไทยหรือไม่?

‘ถ้าอยากรู้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องใด ให้ดูที่การจัดสรรงบประมาณ’

รัฐบาลโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ดังเช่นประเทศไทย มีปัญหาที่รอการแก้ไขจำนวนมาก พร้อมๆ ไปกับการพยายามขับเคลื่อนประเทศไปตามวิสัยทัศน์ที่ตนได้วางไว้ แน่นอนว่าการทำงานทุกอย่างให้สำเร็จลุล่วงได้นั้น การมีทรัพยากร โดยเฉพาะเงินงบประมาณ ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ 

แต่อย่าลืมว่างบประมาณประเทศมีอยู่อย่างจำกัด ในแต่ละปี งบประมาณที่กรมต่างๆ ส่งคำขอไปยังสำนักงบประมาณมีมากกว่า 5 ล้านล้านบาท แต่ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากร ทำให้รัฐบาลสามารถจัดสรรได้เพียงประมาณ 3 ล้านล้านบาท จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการคัดกรอง จัดลำดับความสำคัญ และเลือกจัดสรรเงินให้กับโครงการที่สำคัญกว่า

หนึ่งในหมวดงบประมาณที่น่าจับตามองคือ ‘งบลงทุน’ โดยเฉพาะในช่วงฟื้นฟูประเทศหลังจากได้รับผลกระทบอันหนักหน่วงของโควิด-19 เพราะการลงทุนภาครัฐคือการใช้จ่ายเพื่อจัดหาสินทรัพย์ถาวรที่มาให้บริการแก่ประชาชนไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งอุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์การศึกษา เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม การขุดคลองส่งน้ำ การตัดถนน การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะ การติดไฟส่องสว่างตามทาง ตลอดจนอาคารสิ่งก่อสร้าง ซึ่งหากลงทุนได้อย่างถูกต้อง ก็จะช่วยสร้างประโยชน์ในการพยุงเศรษฐกิจในระยะสั้น ช่วยยกระดับบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนวางรากฐานเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank จึงพาสำรวจงบลงทุนในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 มูลค่า 492,341 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนที่เขียนเป็นโครงการในยุทธศาสตร์ต่างๆ จำนวน 434,400 ล้านบาท เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลตั้งงบลงทุนตามยุทธศาสตร์ที่รัฐวางไว้อย่างไรบ้าง และแท้จริงแล้ว งบลงทุนเหล่านี้จัดหาสินทรัพย์อะไร จะนำไปสู่การวางรากฐานยกระดับบริการสาธารณะหรือศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวเพิ่มขึ้นได้อย่างไรบ้าง[1]ผู้เขียนประมวลผลจากข้อมูลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่ถูกแปลงเป็นตารางข้อมูลเอ็กเซลโดย WeVis และพรรคก้าวไกล … Continue reading

รัฐเพิ่มงบลงทุนอย่างต่อเนื่องจากราว 2 แสนล้านสู่ 5 แสนล้านใน 1 ทศวรรษ เน้นส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและสิ่งแวดล้อม  

รัฐเพิ่มงบลงทุนอย่างต่อเนื่องจากราว 2 แสนล้านสู่ 5 แสนล้านใน 1 ทศวรรษ เน้นส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและสิ่งแวดล้อม
ภาพที่ 1: ปริมาณงบลงทุน และสัดส่วนงบลงทุนต่องบประมาณรายจ่ายทั้งหมด

งบลงทุนของไทยเพิ่มขึ้นจากราว 2 แสนล้านบาทในปี 2550 สู่ระดับ 5 แสนล้านบาทในช่วง 1 ทศวรรษ (ภาพที่ 1) ซึ่งเพิ่มขึ้นเร็วกว่างบประมาณรายจ่ายของรัฐโดยรวม ทำให้สัดส่วนงบลงทุนต่องบประมาณแผ่นดินเพิ่มจาก 11.5% เป็น 17.1% ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 และอยู่ในระดับ 15.5% ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19

สำหรับปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลตั้งงบลงทุนรวมทั้งหมด 492,341 ล้านบาท เป็นงบที่อยู่ตามแผนงานทั่วไป สามารถอ่านรายละเอียดโครงการ และจำแนกตามยุทธศาสตร์ได้ 434,400 ล้านบาท โดยมีงบลงทุนราว 57,940 ล้านบาทแทรกอยู่ในงบกลางไม่สามารถจำแนกเป็นรายการใช้จ่ายและยุทธศาสตร์ได้ บทความนี้จึงวิเคราะห์เฉพาะส่วนที่จำแนกได้เท่านั้น [2]งบลงทุน 57,940 ล้านบาทในงบกลาง ปรากฎในเอกสารงบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ 2566 แต่ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. … Continue reading

งบลงทุนภาครัฐสามารถจำแนกออกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ที่รัฐกำหนดไว้ [3]สำนักงบประมาณ. 2565. งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้รับงบลงทุนมากที่สุดคือ 49.1% รองลงมาคือยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม 21.7% ยุทธศาสตร์ความมั่นคง 10.9% ยุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 10.0% ยุทธศาสตร์ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 4.7% และยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 3.7% (ตารางที่ 1) 

การแบ่งตามยุทธศาสตร์เช่นนี้ทำให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเป้าหมายในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นสำคัญโดยใช้งบลงทุนเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

(ร่าง) งบลงทุนปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แบ่งตามยุทธศาสตร์หลัก
ตารางที่ 1: (ร่าง) งบลงทุนปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แบ่งตามยุทธศาสตร์หลัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อจัดเรียงงบลงทุนใหม่ตามประเภทสินทรัพย์ที่จัดหาจะพบว่า การลงทุนมากถึง 158,801 ล้านบาทหรือ 36.6% ของทั้งหมดเป็นการสร้างถนนและสะพาน งบประมาณจำนวน 75,615 ล้านบาทหรือ 17.4% ถูกใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างการจัดการน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำ คลองส่งน้ำ เครื่องสูบน้ำ และทางระบายน้ำ รัฐบาลตั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคาร 49,799 ล้านบาทหรือ 11.5% และยังมีงบประมาณอีกมากถึง 98,933 ล้านบาท คิดเป็น 22.8% ที่ใช้เพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างอื่น เช่น เขื่อนป้องกันตลิ่ง อาคารสาธารณูปโภค และการพัฒนาที่ดิน (ภาพที่ 2)

งบลงทุนเหลือเป็นงบประมาณเพื่อจัดหาครุภัณฑ์ 36,708 ล้านบาท หรือ 8.5% ของงบลงทุนทั้งหมด โดยครุภัณฑ์ที่มีการจัดหาเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ คอมพิวเตอร์และระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การศึกษา อุปกรณ์การแพทย์ 

การจัดสรรงบประมาณนี้สะท้อนการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาล ที่ยังคงมองว่าการลงทุนก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นถนน โครงสร้างจัดการน้ำ ตลอดจนตึกอาคาร ยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยกว่าอุปกรณ์เครื่องมือเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ รายการลงทุนจริงอาจไม่สอดคล้องกับเป้าหมายเท่าใดนัก ตัวอย่างหนึ่งคือ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยนั้นอาจเพิ่มขึ้นได้ยากด้วยการลงทุนสร้างถนนจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโครงข่ายถนนที่ค่อนข้างมีคุณภาพ[4]จากข้อมูลของ World Bank พบว่าประเทศไทยมีโครงข่ายถนนที่มีคุณภาพค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับระดับการพัฒนา … Continue reading แต่ยังขาดการพัฒนาด้านอื่นที่ช่วยให้ต้นทุนทางธุรกิจลดลง เช่น ระบบขนส่งมวลชนและสินค้าที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารงานภาครัฐที่ชัดเจนและสะดวก เป็นต้น 

นอกจากนี้ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถูกตีความอย่างคับแคบเพราะใช้งบลงทุนเพื่อการบริหารจัดการน้ำเป็นหลัก ประเทศไทยยังเผชิญความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายรูปแบบ ส่วนในด้านการเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ของไทยอาจต้องการเทคโนโลยีและเครื่องมือมากกว่าตึกอาคาร ดังเช่นในช่วงของการระบาดโควิด-19 ที่รุนแรง ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์การแพทย์

งบลงทุนแบ่งตามประเภทสินทรัพย์
ภาพที่ 2: งบลงทุนแบ่งตามประเภทสินทรัพย์

ในส่วนต่อไปนี้ 101 PUB จะชวนทุกท่านสำรวจในรายละเอียด โดยแสดงผลไขว้ระหว่างยุทธศาสตร์และรายการสิ่งของที่ลงทุน เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า รายการลงทุนจริงนั้นมักไม่ค่อยสอดคล้องกับชื่อยุทธศาสตร์ที่มีชื่อเรียกสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเหล่านี้

1) ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 213,098 ล้านบาท 

ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขันมีงบลงทุน 213,098 ล้านบาท ประกอบด้วยแผนงานย่อยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพดีขึ้น เช่น แผนงานพัฒนาเกษตรมูลค่าเพิ่ม แผนงานพัฒนาการท่องเที่ยว และแผนงานพัฒนาคมนาคมและโลจิสติกส์ เป็นต้น

ถนนเป็นโครงการหลักในการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยมีสัดส่วนถึงเกือบ 75% ขณะที่การลงทุนด้านรถไฟมีเพียง 11.8% ขนส่งทางอากาศ 2.3% และขนส่งทางน้ำ 1.5% 

งบลงทุนถนนสามารถแบ่งออกเป็นงบสร้างถนนใหม่ 100,873 ล้านบาท คิดเป็น 47.3% ในขณะที่งบประเภทปรับปรุงถนนและสะพานมีทั้งหมด 51,307 ล้านบาท หรือ 24.1% ดังแสดงในภาพที่ 3

การลงทุนด้านรถไฟมีงบประมาณ 25,250 ล้านบาท หรือ 11.8% ของงบลงทุนในยุทธศาสตร์นี้ แบ่งเป็นงบลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า 14,320 ล้านบาท คิดเป็น 6.7% โครงการรถไฟ 10,928 ล้านบาท คิดเป็น 5.1% แต่เมื่อดูรายละเอียดของงบลงทุนทางรางจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นค่าเวนคืนที่ดิน ชดเชยอสังหาริมทรัพย์ รื้อถอนสิ่งก่อสร้าง โดยเป็นของโครงการรถไฟฟ้า 8,077 ล้านบาท และรถไฟธรรมดา 10,386 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน งบลงทุนสำหรับการขนส่งทางน้ำและอากาศมีมูลค่ารวมกันประมาณ 8,118 ล้านบาท คิดเป็น 3.8% โดยงบลงทุนหลักในการพัฒนาขนส่งทางน้ำประกอบด้วย การปรับปรุงท่าเรือ และการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำ ในขณะที่ รายการลงทุนขนส่งทางอากาศประกอบด้วย อาคารที่พักผู้โดยสารตามสนามบิน และเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด เป็นต้น

รายการลงทุนในยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน
ภาพที่ 3: รายการลงทุนในยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากที่งบลงทุนด้านขีดความสามารถในการแข่งขันจะลงกับถนนอย่างมาก การกระจายงบลงทุนถนนยังมีคำถามชวนสงสัย เนื่องจาก 5 อันดับจังหวัดที่มีงบลงทุนถนนลงไปมากที่สุด คือ กาญจนบุรี 8,356 ล้านบาท, นครราชสีมา 6,223 ล้านบาท, บุรีรัมย์ 5,531 ล้านบาท, นครปฐม 4,974 ล้านบาท, นนทบุรี 4,445 ล้านบาท โดยงบก่อสร้างถนนมักจะลงในจังหวัดใหญ่ ซึ่งมักมีโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมอยู่แล้ว ในขณะที่บุรีรัมย์ได้งบประมาณสูงกว่าแนวโน้มปกติอย่างมาก กล่าวคือเป็นจังหวัดที่ไม่ได้มีรายต่อหัวมาก แต่กลับได้งบสร้างถนนสูงเป็นอันดับ 3 ต่างจากจังหวัดอื่นๆ ที่มีระดับรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก ดังแสดงในตารางที่ 2

งบลงทุนด้านถนนในกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกับบุรีรัมย์
ตารางที่ 2: งบลงทุนด้านถนนในกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกับบุรีรัมย์

2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 94,108 ล้านบาท

สำหรับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมประกอบด้วยกลุ่มแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการกับปัญหามลพิษ หรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (climate change) ยุทธศาสตร์นี้มีงบลงทุนทั้งหมด 94,108 ล้านบาท

รายการลงทุนในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ภาพที่ 4: รายการลงทุนในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

งบลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม 86% ทุ่มไปที่การบริหารจัดการน้ำ และไม่ได้ลงทุนกับสิ่งแวดล้อมด้านอื่นมากนัก โดยมีงบก่อสร้างหรือปรับปรุงแหล่งน้ำพร้อมอาคาร 38,222 ล้านบาท หรือ 40.6% ของงบลงทุนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ภายในกลุ่มนี้มีการลงทุนหลากหลายรายการ ตั้งแต่การขุดลอก ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ ประตูหรืออุโมงค์ระบายน้ำ ทำนบดิน คันกั้นน้ำ ระบบส่งน้ำ ตลอดจนสิ่งก่อสร้างอื่นที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำแต่ไม่ระบุรายละเอียด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีงบก่อสร้างหรือปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ 18,962 ล้านบาทหรือ 20.1% ที่ประกอบด้วย การก่อสร้างแหล่งน้ำที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างประกอบ ฝาย การขุดเจาะน้ำบาดาล เป็นต้น งบก่อสร้างหรือปรับปรุงระบบระบายน้ำ 14,287 ล้านบาทหรือ 15.2% ก่อสร้างหรือระบบส่งน้ำอีก 8,697 ล้านบาทหรือ 9.2% และยังมีงบฟื้นฟูแหล่งน้ำอีกเล็กน้อย

ในทางตรงข้าม รัฐบาลให้ความสำคัญในการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมประเภทอื่นน้อยมาก โดยมีการลงทุนกับเครื่องตรวจวัดสภาพอากาศ คุณภาพอากาศ หรือมลพิษรวมกัน 1,854 ล้านบาท หรือ 2.0% มีงบลงทุนสำหรับการบรรเทาสาธารณภัย 1,696 ล้านบาท หรือ 1.8% ที่ประกอบด้วยรถตรวจการณ์ รถดับเพลิง เฮลิคอปเตอร์ เป็นต้น ในยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังมีการสร้างศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของธรรมชาติ 1,063 ล้านบาท เช่น โครงการสร้าง ‘พิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เรื่องไม้มีค่า’ 623 ล้านบาท และ ‘พิพิธภัณฑ์พระบิดาแห่งฝนหลวง’ อีก 22 ล้านบาท เป็นต้น

3) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 47,331 ล้านบาท

งบลงทุนด้านความมั่นคงมีทั้งหมด 47,331 ล้านบาท ครอบคลุมความมั่นคงทั้งภายในและภายนอก รวมถึงแผนงานการส่งเสริมสถาบันกษัตริย์ และการป้องกันสาธารณภัยอีกด้วย

รายการลงทุนในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
ภาพที่ 5: รายการลงทุนในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง

งบลงทุนด้านความมั่นคง 36.9% ลงทุนไปกับการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ประมาณ 26% ใช้ก่อสร้างอาคาร และประมาณ 6% ลงทุนในอาวุธ สนามซ้อม และโรงเก็บอาวุธ โดยเขื่อนกันตลิ่งบางรายการอยู่ในโครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันการเสียดินแดน บางรายการอยู่ในโครงการป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำในประเทศ รองลงมาคืองบประมาณสำหรับอาคารทำการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นการก่อสร้างปรับปรุงอาคารทำการของตำรวจ กรมการปกครอง และสำนักปลัด 4,115 ล้านบาท คิดเป็น 8.9%, อาคารทำการของกองทัพ (ไม่นับสนามฝึกซ้อมรบ) 3,909 ล้านบาท คิดเป็น 8.3%, อาคารพักอาศัยของทหาร ตำรวจ ตลอดจนหน่วยงานอื่นประมาณ 4,500 ล้านบาท คิดเป็น 9.5% (ภาพที่ 5)

อาคารเก็บอาวุธ สนามซ้อม และอาวุธ ใช้งบลงทุนประมาณ 2,897 ล้านบาท คิดเป็น 6.1% อย่างไรก็ตาม งบประมาณด้านอาวุธส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้ถูกจัดเป็นงบลงทุน แม้จะเข้าตามนิยามของการจัดหาครุภัณฑ์ แต่อยู่ใน ‘งบรายจ่ายอื่น’ ที่พ่วงไปกับการฝึกซ้อมทหารและงบที่ไม่สามารถจำแนกได้ชัด เช่น งบฝึกซ้อมทหาร ซื้อ/ซ่อมอาวุธ 27,846 ล้านบาท งบผูกผันตาม ม.41 และงบลับประมาณ 18,000 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งสองรายการอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ 

ความมั่นคงรูปแบบอื่นมีสัดส่วนต่องบลงทุนน้อย แม้ว่าจะมีแผนงานด้านการบรรเทาสาธารณภัยอยู่ด้วย แต่การลงทุนเพื่อจัดหารถกู้ภัยประเภทต่างๆ มีจำนวน 1,051 ล้านบาท หรือ 2.2% ของการลงทุนตามยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง และแม้ว่าจะมีโครงการร่วมมือระหว่างกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยกับกองทัพบก ในการจัดหาเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย แต่ก็มีงบประมาณเพียง 279 ล้านบาท รวมเป็น 1,330 ล้านบาท หรือ 2.8% เท่านั้น[5]โครงการร่วมมือระหว่างกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยกับกองทัพบก ในการจัดหาอากาศยานปีกหมุน (helicopter) เพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย … Continue reading

4) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 43,425 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ตั้งงบลงทุนไว้ทั้งหมด 43,425 ล้านบาท ตามแผนงานพัฒนามนุษย์ในมิติต่างๆ เช่น การส่งเสริมการศึกษา สาธารณสุข กีฬา และค่านิยมและวัฒนธรรม เป็นต้น โดยงบประมาณส่วนใหญ่ลงไปกับการส่งเสริมการศึกษาและสาธารณสุข

รายการลงทุนในยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
ภาพที่ 6: รายการลงทุนในยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

งบลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ 63.6% เป็นงบพัฒนาอาคารสิ่งก่อสร้าง ขณะที่ 25.6% เป็นการจัดหาครุภัณฑ์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ตามภาพที่ 6 งบสิ่งก่อสร้างหลัก คือการก่อสร้างหรือซ่อมอาคารเรียน พิพิธภัณฑ์ หรือศูนย์การเรียนรู้ 15,005 ล้านบาท หรือคิดเป็น 34.6% ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่เป็นของโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ซึ่งก่อสร้างอาคารเรียนในหลายพื้นที่ งบก่อสร้างอีกส่วนคือการก่อสร้างปรับปรุงอาคารสาธารณสุข 8,103 ล้านบาท หรือ 18.7% สุดท้ายยังมีงบลงทุนสิ่งก่อสร้างอื่น 4,572 ล้านบาท หรือ 10.5% ซึ่งประกอบด้วยอาคารที่พักอาศัย 2,713 ล้านบาท (หอพักสำหรับนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการแพทย์), สนามกีฬา 575 ล้านบาท, บูรณะโบราณสถานหรือวัด 219 ล้านบาท

งบลงทุนของกลุ่มครุภัณฑ์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ มีมูลค่า 11,141 ล้านบาท หรือ 25.6% ของงบลงทุนในยุทธศาสตร์นี้ โดยมีการตั้งงบประมาณเพื่อจัดหาครุภัณฑ์การศึกษาและวิทยาศาสตร์ 6,228 ล้านบาท หรือ 14.3% ประกอบด้วยชุดปฏิบัติการตามสถานฝึกสอนอาชีพ ชุดปฏิบัติการสำหรับการทดลองตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานรัฐที่ทำวิจัย เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในขณะที่มีการจัดหาครุภัณฑ์การแพทย์ (อุปกรณ์การแพทย์ หรือเตียงผ่าตัด) 4,912 ล้านบาท หรือ 11.3%

5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 20,528 ล้านบาท

รายการลงทุนในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
ภาพที่ 7: รายการลงทุนในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

งบลงทุนเพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคสังคม กว่าครึ่งคือการสร้างและซ่อมถนน ไม่มีการลงทุนที่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมใหญ่ๆ โดยงบสร้างถนนอยู่ภายใต้โครงการหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวและบริการ โครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน เป็นต้น โดย 5 จังหวัดที่ได้งบสร้าง/ซ่อมถนนมากที่สุด คือชลบุรี (506 ล้านบาท), อุดรธานี (355 ล้านบาท), ขอนแก่น (255 ล้านบาท), สุราษฎร์ธานี (244 ล้านบาท), และสมุทรปราการ (226 ล้านบาท)

ในยุทธศาสตร์นี้ มีงบลงทุนเกี่ยวกับแหล่งน้ำ 3,610 ล้านบาท หรือ 17.6% เพื่อช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงทรัพยากรน้ำได้มากยิ่งขึ้น การลงทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมีมูลค่าราว 1,500 ล้านบาท หรือ 7.2% ของงบลงทุนในยุทธศาสตร์ดังกล่าว และมีโครงการที่น่าจับตามอง คือการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างตามแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งใช้งบประมาณมากถึง 277 ล้านบาท และ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวลานคริสต์มาส จังหวัดเลย ด้วยงบประมาณ 41 ล้านบาท

6) ยุทธศาสตร์การปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 15,877 ล้านบาท

รายการลงทุนในยุทธศาสตร์การปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
ภาพที่ 8: รายการลงทุนในยุทธศาสตร์การปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

รัฐบาลตั้งงบลงทุนพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ด้วยการสร้างหรือซ่อมสิ่งก่อสร้าง ไปเกินครึ่ง ขณะที่อีก 26.5% ใช้ไปกับการสั่งซื้อคอมพิวเตอร์และพัฒนาเว็บไซต์ งบลงทุนกลุ่มอาคารและสิ่งก่อสร้างมีทั้งหมด 10,024 ล้านบาท หรือ 63% ประกอบด้วยกลุ่มอาคารทำการของหน่วยงานรัฐ เช่น ที่ว่าการอำเภอ 4,072 ล้านบาท คิดเป็น 25.6% ที่พักอาศัย 3,398 ล้านบาท คิดเป็น 21.4% อาคารทัณฑสถาน 2,282 ล้านบาท คิดเป็น 14.4% 

ยุทธศาสตร์นี้มีโครงการที่น่าสนใจ คือโครงการปฏิรูประบบงานตำรวจ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเป็นการก่อสร้างที่พักตำรวจ 2,691 ล้านบาทจากงบของโครงการที่รวมงบทุกประเภทแล้ว ทั้งหมด 3,781 ล้านบาทนอกจากนี้ยังมีงบลงทุนเครื่องคอมพิวเตอร์และเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับการให้บริการจากภาครัฐ 4,211 ล้านบาท หรือ 26% (ภาพที่ 8)

รัฐไทยขยายตัวมากแต่สร้างประโยชน์ได้น้อย

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ทำให้รัฐไทยขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วไปด้วย จากเดิมที่มีสินทรัพย์รวมของหน่วยงานรัฐทั้งหมดประมาณ 20 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2554 ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 33 ล้านล้านบาทในปี 2564 เฉลี่ยแล้วสินทรัพย์ของภาครัฐไทยเพิ่มขึ้นปีละ 5.0% ทบต้น โดยการขยายขนาดรัฐช่วงนี้มาจากการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าการเติบโตของสินทรัพย์ โดยสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 62% เป็น 75% ในเวลา 10 ปี (ภาพที่ 9)

สินทรัพย์และหนี้สินของรัฐไทย
ภาพที่ 9: สินทรัพย์และหนี้สินของรัฐไทย

การขยายตัวของภาครัฐรวมถึงการก่อหนี้ไม่ได้เป็นปัญหาในตัวเอง เนื่องจากว่ารัฐในโลกกำลังพัฒนาอย่างไทย มีปัญหาที่ควรต้องดำเนินการแก้ไขจำนวนมาก และยังมีระดับการลงทุนที่ไม่สูงเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว การขยายตัวของรัฐสามารถนำมาซึ่งบริการสาธารณะ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ต้นทุนในการดำเนินชีวิตและธุรกิจลดลง ตลอดจนเป็นการสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่จะเป็นผลตอบแทนกลับมาหารัฐในระยะยาวผ่านการจัดเก็บภาษีในเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้รัฐมีเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว และมีพื้นที่ทางการคลังมากพอที่จะดำเนินนโยบายขนาดใหญ่อื่นที่สำคัญ โดยเฉพาะรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน

ทว่า การลงทุนของไทยเริ่มให้ผลตอบแทนน้อยมาตั้งแต่ปี 2557 ทั้งต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และรายได้โดยรวมของรัฐ จากที่เดิมในช่วงปี 2553–2556 เศรษฐกิจของไทยและรายได้รวมของรัฐมีการเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าสินทรัพย์โดยรวมของประเทศ ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนของรัฐไทยในอดีตสามารถช่วยสร้างผลตอบแทนกลับมาต่อเศรษฐกิจประเทศและรายได้ของรัฐตามภาพที่ 10 แต่หลังจากนั้น ผลตอบแทนลงทุนของไทยเริ่มหยุดนิ่งเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโดยรวม และลดลงเมื่อเทียบกับรายได้ของรัฐโดยรวม โดยเฉพาะรายได้ของรัฐที่สัดส่วนต่อสินทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็วจาก 39% ในปี 2556 เหลือเพียง 22% ในปี 2564 

แน่นอนว่าภารกิจของรัฐควรต้องรับผิดชอบต่อประเด็นอื่น และไม่ได้มีหน้าที่สร้างผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านพัฒนาการทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้มีพัฒนาการที่เด่นชัด หมายความว่าการลงทุนของรัฐยังไม่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายในมิติเหล่านี้ด้วย

สัดส่วนของ Nominal GDP ต่อสินทรัพย์ และรายได้รวมภาครัฐต่อสินทรัพย์
ภาพที่ 10: สัดส่วนของ Nominal GDP ต่อสินทรัพย์ และรายได้รวมภาครัฐต่อสินทรัพย์

ปรับทิศทางการลงทุนสู่การแก้ปัญหาคอขวดของประเทศ

การลงทุนของไทยที่ผ่านมาเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนน โครงสร้างการจัดการน้ำ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง แต่การมีโครงสร้างพื้นฐานมาก ไม่ได้แปลว่ารัฐจะสามารถให้บริการสาธารณะที่ดีได้เสมอไป เพราะในการใช้ชีวิตตลอดจนการดำเนินธุรกิจ ต้องการปัจจัยที่หลากหลายไปกว่าสิ่งที่เน้นลงทุนอยู่ ในมุมเศรษฐศาสตร์นั้น การลงทุนเพิ่มปัจจัยการผลิตเดิมมากๆ จะต้องเผชิญกับผลตอบแทนที่ลดลง และมักจะมีปัจจัยบางอย่างที่ขาดแคลนจนเป็นคอขวด (Binding Constraints) ที่หากแก้ไขได้ก็จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพอย่างมาก[6]Hausmann, Rodrik, Velasco. 2005. Growth Diagnostics.

ตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนคือ ‘การพัฒนาโครงข่ายถนน’ กับ ‘การพัฒนาระบบการขนส่ง’ ซึ่งแม้จะมีความคล้ายคลึงกันอยู่ แต่ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกันเสมอไป เพราะการมีโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมและมีคุณภาพสามารถช่วยให้เกิดการเดินทางและขนส่งทางถนนได้ แต่ไม่อาจลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้มาก เพราะต้นทุนการขนส่งทางถนนยังคงสูงกว่าต้นทุนการขนส่งทางรางเกือบ 2 เท่าตัว และสูงกว่าการขนส่งทางน้ำกว่า 3 เท่าตัว (ภาพที่ 11)

สินค้าที่มีส่วนต่างไม่มากและเน่าเสียได้ง่าย อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์การเกษตร จะมีความอ่อนไหวต่อต้นทุนค่าขนส่งอย่างมาก โดยการขาดระบบรางที่มีประสิทธิภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าเกษตรของไทยไม่อาจเติบโตได้อย่างเต็มที่ ทั้งในประเทศและการส่งออก ในทำนองเดียวกัน การขาดแคลนขนส่งสาธารณะเชื่อมเมืองและภายในเมืองทำให้ต้นทุนการเดินทางและการเคลื่อนย้ายของแรงงานสูงเกินควร

ต้นทุนการขนส่งสินค้า ตามรูปแบบการขนส่ง
ภาพที่ 11: ต้นทุนการขนส่งสินค้า ตามรูปแบบการขนส่ง

ประเทศไทยยังกำลังเผชิญกับความท้าทายใหญ่หลายประการ ที่รัฐไทยยังขาดความพร้อมในการรับมือ เช่น ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางสภาพอากาศรุนแรงเป็นอันดับ 9 ของโลก[7]Climate Risk Index จัดทำโดย German Watchประเทศไทยมีวันที่อากาศดี ค่าฝุ่นไม่เกินมาตรฐาน อยู่ไม่ถึง 100 วันในแต่ละปี[8]ข้อมูลคุณภาพอากาศย้อนหลัง กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ตลอดจนการที่ทุนทางธรรมชาติของประเทศไทยถดถอยลงอย่างรวดเร็ว[9]United Nations Environment Programme. 2018. Inclusive Wealth Reportซึ่งไทยควรต้องลงทุนด้านการตรวจวัดคุณภาพ และเครื่องมือและนวัตกรรมในการดูแลสภาพแวดล้อมที่ครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น

ในโลกใหม่ที่กำลังเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล และการศึกษาแบบเดิมเริ่มไม่ตอบโจทย์ต่อการพัฒนาแรงงานสำหรับอนาคต ประเทศไทยยังคงลงทุนกับการสร้างอาคารเรียนสำหรับโรงเรียนเป็นหลัก แน่นอนว่ามีหลายโรงเรียนที่ยังขาดความพร้อมด้านสถานที่ แต่ทิศทางการลงทุนจะต้องเริ่มปรับเปลี่ยนไปสู่การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะคอมพิวเตอร์และควรเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้น การลงทุนด้านการศึกษาควรต้องเตรียมพร้อมให้นักเรียนมีอุปกรณ์การเรียนการที่เอื้อต่อพัฒนาการมากยิ่งขึ้น และควรลงทุนเพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทำให้เป็นประเทศแห่งการเรียนรู้ที่ประชาชนสามารถหาความรู้เพิ่มเติม ได้ทันกับความก้าวหน้าระดับโลกที่รวดเร็ว 

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่อยู่เป็นจำนวนมาก อย่างเช่น อาคารที่ทำการเก่าของรัฐ หรือครุภัณฑ์ที่ไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้ทำให้รัฐมีภาระในการเก็บรักษา กลายเป็นต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับใคร สินทรัพย์เหล่านี้จึงควรได้รับการประเมินและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์โดยเร็วที่สุด โดยสามารถใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ละแวกใกล้เคียง เพื่อให้การใช้งานตอบโจทย์ต่อความต้องการของประชาชน

References
1 ผู้เขียนประมวลผลจากข้อมูลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่ถูกแปลงเป็นตารางข้อมูลเอ็กเซลโดย WeVis และพรรคก้าวไกล รายการงบลงทุนทั้งหมดในปีงบประมาณ 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 14,760 รายการ จำแนกอยู่ใน 61 แผนงาน ผู้เขียนจัดกลุ่มแผนงานให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 6 ด้านตามที่ปรากฏในงบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการวิเคราะห์เป้าหมายของการลงทุน จากนั้นผู้เขียนกำหนดคำสำคัญที่ใช้ค้นหาในรายละเอียดของงบประมาณ ซึ่งพยายามให้ครอบคลุมด้านความหลากหลายของคำที่ใช้ ตลอดจนการสะกดคำผิดจากการแปลงข้อมูล เพื่อนำมาจัดเป็นหมวดหมู่ของรายการใช้จ่าย เช่น ถนน อาคาร อ่างเก็บน้ำ คอมพิวเตอร์และระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ในกรณีที่คำอธิบายไม่ชัดเจน ผู้เขียนพิจารณางบประมาณเหล่านั้นเทียบกับหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายย่อยตามที่ระบุในรายการงบประมาณ ตลอดจนชื่อโครงการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดที่สุด
2 งบลงทุน 57,940 ล้านบาทในงบกลาง ปรากฎในเอกสารงบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ 2566 แต่ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เล่มที่ 1 ไม่ได้ระบุชัดเจนว่างบก้อนใดเป็นงบลงทุน
3 สำนักงบประมาณ. 2565. งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566.
4 จากข้อมูลของ World Bank พบว่าประเทศไทยมีโครงข่ายถนนที่มีคุณภาพค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับระดับการพัฒนา ในขณะที่คุณภาพการขนส่งทางรางและน้ำยังไม่ดีมาก จนทำให้มีต้นทุนโลจิสติกส์เฉลี่ยที่ยังคงสูงอยู่
5 โครงการร่วมมือระหว่างกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยกับกองทัพบก ในการจัดหาอากาศยานปีกหมุน (helicopter) เพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย เป็นโครงการที่เป็นงบผูกผัน ทั้งโครงการจริงมีงบประมาณรวมทั้งหมด 1,862 ล้านบาท
6 Hausmann, Rodrik, Velasco. 2005. Growth Diagnostics.
7 Climate Risk Index จัดทำโดย German Watch
8 ข้อมูลคุณภาพอากาศย้อนหลัง กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ
9 United Nations Environment Programme. 2018. Inclusive Wealth Report

อินโฟกราฟฟิก

รายงาน/บทวิเคราะห์ฉบับเต็ม

วิจัย/เขียน

กษิดิ์เดช คำพุช

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

1 ปี 101 PUB - 10 อันดับงานยอดนิยม

1 ปี 101 PUB – 10 อันดับงานยอดนิยม

ในโอกาสครบรอบ 1 ปีแห่งการก่อตั้ง 101 PUB ชวนอ่านผลงานยอดนิยม 10 อันดับแรก สำรวจปัญหาและข้อเสนอนโยบายหลากหลายประเด็น ทั้งประชาธิปไตย นิติธรรม การพัฒนาที่ทั่วถึง และการพัฒนาเด็กและระบบนิเวศการเรียนรู้

รัฐบาลใหม่ต้องคิดใหญ่ ยกเครื่องประเทศไทยด้วยการลงทุนสีเขียว

เมื่อวิกฤตโลกรวนรอไม่ได้ การลงทุนสีเขียวหรือการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่ อาจเป็นโจทย์ที่ประเทศไทยต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย 'เงินอุดหนุนเกษตรกร' แบบเดิมๆ

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย ‘เงินอุดหนุนเกษตรกร’ แบบเดิมๆ

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย เข้าใจช่องโหว่ของนโยบายเงินอุดหนุนเกษตรกรในปัจจุบันที่ยิ่งทำก็เหมือนยิ่ง ‘ขุดหลุมฝังประเทศ’ พร้อมทั้งเสนอแนวทางเปลี่ยนสวัสดิการเติมรายได้ให้สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.