การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงตั้งแต่การเลือกตั้ง และเมื่อเป็นรัฐบาลก็ได้ตั้งเป้าว่าจะมีการปรับขึ้นเป็น 400 บาท/วันทั่วประเทศภายในปีแรกที่เป็นรัฐบาล และจะเพิ่มขึ้นเป็น 600 บาท/วันทั่วประเทศภายใน 4 ปี
ที่ผ่านมา รัฐบาลก็มีความพยายามในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2023-ต้นปี 2024 ก็ได้มีการปรับไปแล้วรอบหนึ่ง จาก 328-354 บาท/วัน กลายเป็น 330-370 บาท/วัน โดยขึ้นกับศักยภาพและค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ แต่ว่าก็ยังไม่ได้ตามเป้าที่ 400 บาท/วันทั่วประเทศภายในปีแรก ซึ่งได้เห็นความพยายามต่อมาอีกหลายครั้ง
ขึ้นค่าแรงโรงแรมหรู: สัญญะภายใต้ความ(ไม่)เปลี่ยนแปลง
เมื่อเดือนมีนาคม 2024 คณะกรรมการค่าจ้างก็ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 40 บาท/วัน แต่เพิ่มขึ้นเฉพาะโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป และอยู่ในบางจังหวัด คือ กรุงเทพ กระบี่ ชลบุรี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา ภูเก็ต ระยอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี[1]https://www.mol.go.th/wp-content/uploads/sites/2/2024/04/11.3-67.pdf
การปรับขึ้นค่าจ้างสำหรับกิจการ ‘โรงแรมหรู’ นี้ถูกประเมินไว้ว่ามีผลกระทบไม่มาก เพราะลูกจ้างของโรงแรมเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับค่าตอบแทนเกิน 400 บาท/วันอยู่แล้ว จากข้อมูลการจ้างงานตามประกันสังคม โรงแรมที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไปนั้น มีลูกจ้างเพียง 0.2% เท่านั้นที่ได้รับเงินไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ ดังนั้น ยิ่งเป็นโรงแรมหรูในจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวใหญ่อยู่แล้วด้วย น่าจะยิ่งมีผู้ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำน้อยลงไปอีก[2]ธนิสา ทวิชศรี, ณัฐพร อุดมเกียรติกูล, นฎา วะสี, ศุภนิจ ปิยะพรมดี. 2024. หากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน: กระทบใคร และกระทบอย่างไร: … Continue reading
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเช่นนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า “จะขึ้นทำไม?” เพราะเป็นการขึ้นเฉพาะในกิจการที่ไหวและให้ค่าแรงเกินอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การปรับได้เฉพาะกิจการดังกล่าวก็เป็นสัญญาณว่าฝ่ายนายจ้างมีอำนาจต่อรองค่อนข้างสูงในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ จนแทบไม่สามารถขยับเส้นเพื่อดึงส่วนแบ่งจากนายจ้างมาเพิ่มให้ลูกจ้างได้
400 บาททั่วประเทศไม่ง่าย
ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2024 รัฐบาลได้เปิดเผยถึงแผนการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้าง ว่าจะเริ่มเดินหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ได้เริ่มลดเป้าหมายจาก 400 บาท/วันทั่วประเทศ มาประเมินศักยภาพและความเหมาะสมเป็นกลุ่มไป ทั้งด้านอาชีพและจังหวัด ในการประชุมวันที่ 14 พฤษภาคม 2024[3]https://www.gcc.go.th/2024/04/25/%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87-%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2/ ซึ่งการประชุมได้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการรายจังหวัดไปพิจารณาว่าแต่ละจังหวัดจะมีการขึ้นค่าจ้างในอัตราเท่าใด[4] … Continue reading
การประชุมครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำออกมา โดยหลังจากนั้นการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการพูดถึงการแต่งตั้งอนุกรรมการในเดือนมิถุนายน ค่าจ้างขั้นต่ำตามมาตรฐานฝีมือในเดือนกรกฎาคม และภายหลังจากนั้นไม่ได้ปรากฏรายละเอียดใดๆ ของการประชุม
ประชุมเลื่อน-ล่มเป็นว่าเล่น
การประชุมที่ควรจะได้พูดคุยกันเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ต้องประสบปัญหาอย่างมาก ในการประชุมวันที่ 16 กันยายน ขณะที่ฝ่ายลูกจ้างและรัฐฝ่ายละ 5 คนนั้นเข้าประชุมกันครบถ้วน ฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 คนไม่เข้าร่วมการประชุม กลายเป็นเหตุให้ไม่สามารถพิจารณาเรื่องการปรับค่าจ้างได้[5]https://www.thairath.co.th/news/local/2814847 จนต้องเลื่อนไปประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 กันยายน แต่เมื่อถึงวันกลับมีปัญหา เนื่องจากชื่อของนาย เมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนฝ่ายรัฐจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้เกษียณอายุราชการจนรายชื่อไม่ครบ[6]https://thestandard.co/minimum-wage-committee-postpones-discussion/ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันนั้น ฝ่ายนายจ้างมาครบทั้ง 5 คนขณะที่ฝ่ายลูกจ้างมา 3 คน และฝ่ายรัฐบาลมาเพียง 1 คนคือปลัดกระทรวงแรงงาน[7]https://www.matichon.co.th/local/news_4802266 การประชุมครั้งดังกล่าวจึงเป็นอันต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 24 กันยายน ซึ่งเมื่อถึงวันที่ 23 ก็ออกมารายงานว่าจะต้องเลื่อนออกไปอีกเนื่องจากยังไม่สามารถจัดการเรื่องตำแหน่งของนายเมธีได้ทัน[8]https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4806998 จากเดิมที่วางไว้ว่าจะทำให้แล้วเสร็จและได้ขึ้นค่าแรงให้กับลูกจ้างได้ทัน 1 ตุลาคม จึงมีอันต้องเลื่อนออกไปก่อน
เมื่อสามารถจัดการปัญหาตำแหน่งของกรรมการค่าจ้างได้ในเดือนพฤศจิกายนแล้ว การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างก็กลับมาเดินหน้าต่อในเดือนธันวาคม ซึ่งได้มีการพิจารณากันในวันที่ 12 ธันวาคม การประชุมในวันดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกรรมการมาไม่ครบองค์ประชุม เนื่องจากฝ่ายรัฐ 2 คนติดภารกิจด่วน[9]https://www.kaohoon.com/news/720017 ทั้งนี้ ในการประชุมยังมีการพูดคุยและจะยึดตามตัวเลขที่แต่ละจังหวัดเสนอเข้าไปโดย “ไม่ยึดเป้าที่ 400 บาท” และอาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ในวันที่ 23 ธันวาคมนี้เพื่อให้เป็น ‘ของขวัญปีใหม่’ ให้กับผู้ใช้แรงงาน[10]https://theactive.thaipbs.or.th/news/economy-20241212
อย่างไรก็ตาม การเคาะค่าแรงขั้นต่ำสุดท้ายอาจผิดเพี้ยนไปจากแนวคิดเดิมอย่างมาก เนื่องจากฝ่ายนายจ้างมีอำนาจต่อรองเหนือกว่า นอกจากจะปรับไม่ครบทุกจังหวัดแล้ว ในช่วงหลังมีกระแสว่าจะมีการปรับค่าแรงเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ และให้เวลา SME ในการปรับตัวอีก 1 ปี นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดให้ใช้ค่าจ้างขั้นต่ำให้น้อยลง และให้ไปใช้ค่าจ้างขั้นต่ำตามมาตรฐานฝีมือแทน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จะกลายเป็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้ก็อาจไม่ได้มีผลกระทบต่อการจ่ายเงินจริงมากเท่าใดนักเหมือนกรณีค่าแรงโรงแรมหรู
เป้าหมายเล็กไป แต่อาจขึ้นก้าวกระโดดเกินไป
การปรับค่าแรงขั้นต่ำของไทยนั้นมีฐานคิดที่ผสมปนเปกันระหว่างการเป็นหลักประกันให้กับผู้ใช้แรงงานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี กับความสามารถของธุรกิจ[11]คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ข้อ 1 พ.ศ.2562 ทำให้เวลาปรับออกมาแล้วนั้นอาจไม่ได้ทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายหลังจากการทำงาน ที่ผ่านมา จะเห็นว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำของไทยมักจะยังไล่ไม่ทันสภาพเศรษฐกิจจริง[12]https://101pub.org/minimum-wage-to-living-wage/
เพื่อให้ยึดหลักเรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงานได้จริง การปรับค่าแรงขั้นต่ำจึงควรต้องใช้หลักคิดแบบค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) ซึ่งมีเป้าหมายให้แรงงาน “เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การศึกษา การรักษาพยาบาล การเดินทาง เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ในการใช้ชีวิตตามมาตรฐานของสังคม ตลอดจนการเตรียมตัวรับมือกรณีฉุกเฉิน” ขณะที่ธุรกิจที่ไม่สามารถรองรับให้แรงงานมีชีวิตที่ดีได้นั้นอาจะต้องกลับมาทบทวนและปรับตัว เพื่อให้ทั้งสังคมพัฒนาไปด้วยกันได้มากยิ่งขึ้น
ตามหลักคิดดังกล่าว ค่าแรงขั้นต่ำจึงควรคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งเมื่อคำนวณจากมาตรฐานการครองชีพของครัวเรือนกลางๆ แล้ว แรงงานคนหนึ่งอาจควรต้องได้รับค่าแรงถึง 563-686 บาท/วัน[13]https://101pub.org/minimum-wage-to-living-wage/ การวางเป้าตัวเลข 400 บาท/วัน ก็อาจเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และเป้าหมายระยะยาวที่ 600 บาท/วัน ก็อาจเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างเหมาะสม (แม้ว่าจนจะถึงวันนั้น อาจจะต้องปรับขึ้นตามเงินเฟ้ออีกเล็กน้อย)
อย่างไรก็ตาม ความหนักหนาของค่าแรงต่อธุรกิจนั้นก็มีจริง โดยเฉพาะสาขาที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ การค้า การก่อสร้าง และการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก (SME) ก็จะมีแนวโน้มปรับตัวได้ยากกว่า[14]ธนิสา ทวิชศรี, ณัฐพร อุดมเกียรติกูล, นฎา วะสี, ศุภนิจ ปิยะพรมดี. 2024. หากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน: กระทบใคร และกระทบอย่างไร: … Continue reading การขึ้นค่าแรงจึงต้องทำให้เร็วกว่าการ “ปรับไปตามสภาพเศรษฐกิจและความสามารถของธุรกิจ” แต่ไม่ใช่การเพิ่มขึ้นอย่างกระชากจนไม่สามารถปรับตัวได้ ในบางพื้นที่ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำยังอยู่เพียง 330 บาท/วัน การเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาท/วัน ก็เท่ากับเพิ่มขึ้นครั้งเดียว 21.2% ซึ่งอาจมากเกินไป
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่รุนแรงยังอาจส่งผลเสียต่อกลุ่มแรงงานเปราะบางที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของนโยบาย เนื่องจากแรงงานมีความหลากหลายและทักษะก็แตกต่างกัน เมื่อเพิ่มค่าแรงอย่างเป็นหน้ากระดาน นายจ้างอาจปรับตัวด้วยการเลือกจ้างผู้มีทักษะสูงขึ้นมากกว่าจะจ้างแรงงานทักษะต่ำ รวมถึงอาจปรับสวัสดิการการทำงานลงเพื่อชดเชยต้นทุน[15]ธนิสา ทวิชศรี, ศุภนิจ ปิยะพรมดี, นฎา วะสี. 2024. ค่าจ้างขั้นต่ำ การจ้างงาน อำนาจตลาด และการเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่: … Continue reading กล่าวคือ แม้ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการจ้างงานในภาพรวม แต่อาจเกิดผลต่อการจ้างงานระหว่างกลุ่มแรงงาน และอาจทำให้แรงงานกลุ่มทักษะต่ำซึ่งมีทางเลือกน้อยอยู่แล้วนั้น อาจได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า
การปรับขั้นค่าแรงรอบนี้ที่พยายามขึ้นเป็น 400 บาท/วัน พร้อมกันทั่วประเทศจึงควรต้องทำอย่างระมัดระวัง อันที่จริง อาจเป็นความโชคดีในความโชคร้ายที่ยังดำเนินการไม่ได้ง่ายนักและเกิดการเจรจาถกเถียงเพื่อหาตัวเลขที่เหมาะสมในช่วงการปรับตัว แม้จะมาจากฐานคิดคนละแบบ การยอมลดสเป็คนี้จึงอาจยังเป็นผลบวกต่อภาพรวมอยู่บ้าง
ทั้งนี้ รัฐบาลยังต้องยืนกรานให้ชัดถึงหลักคิดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำว่าจะต้องเป็นเครื่องมือในการรับประกันคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน ไม่เช่นนั้นแล้วนโยบายดังกล่าวก็แทบจะไม่มีประโยชน์อะไร เป็นเหมือนการกำหนดค่าจ้างไปตามกลไกตลาด (ที่อาจไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์) และทำให้แรงงานแทบหมดโอกาสลืมตาอ้าปาก
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ รีวิวนโยบายรัฐบาลส่งท้ายปี 2024 ของ 101 PUB