เปิดสูตรปรับค่าแรงขั้นต่ำ: นี่เราคำนวณผิดกันมาตลอด?

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานและประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง บอกเราเพียงคร่าวๆ ว่าใช้ปัจจัยใดในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำบ้าง โดยคำนึงถึง “ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม” โดยสามารถปรับค่าด้วยตัวแปรเชิงคุณภาพ แต่ไม่ได้บอกไว้ชัดเจนว่านำข้อมูลเหล่านี้มาคำนวณต่ออย่างไร

ผมเพิ่งได้เห็นสูตรคำนวณการปรับค่าแรงขั้นต่ำของไทยเพื่อเป็นฐานสำหรับการเจรจาต่อรองในคณะกรรมการไตรภาคี จากเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2023 นี้เองที่ผมได้รับเชิญจาก รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ ให้ร่วมประชุมกับคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นต่อสูตรการปรับค่าแรงขั้นต่ำของไทย

เนื่องจากสูตรในการคำนวณดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบกับชีวิตของแรงงานไทยทั้งระบบ (เพราะการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้นไม่ได้ส่งผลเฉพาะผู้ได้รับค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น แต่จะขยับทั้งระบบเพื่อให้สะท้อนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่มีเหนือกว่าแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มากขึ้น) จึงคิดว่าควรบันทึกไว้ให้เป็นข้อมูลสาธารณะได้รับรู้และร่วมกันพิจารณา

นิยามค่าแรงขั้นต่ำไทย

ค่าแรงขั้นต่ำของไทยถูกกำหนดให้ “เป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น” [1]1. คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11)

โดยที่แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน หมายถึง แรงงานที่เพิ่งจบการศึกษา หรือจบมาหลายปีแล้วแต่ไม่เคยทำงาน หรือเคยทำงานมาแล้วแต่รวมระยะเวลาการทำงานเก่ากับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่เกิน 1 ปี

101 PUB เคยวิเคราะห์วิจารณ์นิยามดังกล่าวไปแล้วในงานยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต ถึงความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการครองชีพสำหรับการเลี้ยงครอบครัว ซึ่งต้องใช้วิธีคิดแบบอื่นเข้ามาคานแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์คลาสสิก (ซึ่งบอกว่าไม่มีค่าแรงขั้นต่ำจะดีที่สุด) หรือธุรกิจ (ที่เน้นความอยู่รอดของภาคธุรกิจมากกว่าความสามารถดำรงชีพของผู้ใช้แรงงานและครอบครัว) และค่าจ้างขั้นต่ำของไทยควรสูงกว่านี้มากตามแนวคิดค่าจ้างเพื่อชีวิต

บทความนี้จะไม่วิจารณ์เรื่องดังกล่าวซ้ำ ซึ่งรวมถึงฐานการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นมาในอดีตด้วย แต่จะโฟกัสเฉพาะการคำนวณการปรับค่าจ้างเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นส่วนที่สามารถแก้ได้ง่ายภายใต้กรอบเดิม และทำให้เห็นผลลัพธ์ได้เร็ว

เปิดสูตรปรับค่าแรงขั้นต่ำไทย

ในการประชุมได้มีการนำเสนอความเป็นมาของสูตรอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไทย ซึ่งตั้งต้นมาจากปี 2016 คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาและเสนอแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยคณะผู้ศึกษามีทั้งผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย สถาบันคลังสมองเป็นแกนหลัก และมีตัวแทนของนายจ้างและลูกจ้างฝั่งละ 1 คน ซึ่งในท้ายที่สุดมีการตั้งสูตรออกมาและใช้มาจนถึงปัจจุบันโดยมีการเปลี่ยนวิธีการคำนวณเพียงเล็กน้อยในแต่ละรอบ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสารความเป็นมาการกำหนดสูตรอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ)

ในเชิงประวัติศาสตร์ความเป็นมา ต้นแบบสูตรคำนวณที่ไทยใช้นั้นมาจากประเทศคอสตาริกา (ข้อมูลจากการประชุม) ซึ่งคำนวณตามเงินเฟ้อและส่วนแบ่งจากอัตราการเพิ่มของ GDP ในรายจังหวัด (ที่เรียกว่า GPP) ต่อหัว แต่ในปี 2018 ได้มีการทบทวนสูตรอีกครั้งหนึ่ง โดยคณะทำงานหยิบยกสูตรของประเทศมาเลเซียมาเป็นคู่เทียบ แต่ได้มีการสรุปว่า “ผลการคำนวณตามสูตรของมาเลเซียทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้นมาก … มีข้อจำกัดในการปรับใช้กับประเทศไทย” สุดท้ายจึงใช้สูตรคำนวณตามแนวทางเดิม แต่ให้เพิ่มการพิจารณาตัวแปรเชิงคุณภาพเพื่อการเจรจาต่อรองซึ่งปรับเพิ่ม/ลดจากสูตรได้อีกไม่เกิน 3% ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่

สำหรับตัวสูตรการคำนวณการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำใหม่จะมีค่าเท่ากับ ค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันคูณด้วยอัตราการปรับค่าจ้าง ซึ่งเป็นผลรวมของอัตราเงินเฟ้อ กับอัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงานที่ถูกถ่วงด้วยอัตราสบทบของแรงงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ซึ่งใช้ตัวแปรและคำนวณเป็นค่ารายจังหวัด

เมื่อเขียนเป็นสูตรทางคณิตศาสตร์จะได้ว่า:

ค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ = ค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน x [1 + อัตราสมทบของแรงงานxอัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงาน + อัตราเงินเฟ้อ]

โดยที่:
– อัตราสมทบของแรงงาน[2]อัตราสมทบของแรงงาน (Labor’s contribution to production) มาจากแนวคิดว่าผลผลิตหรือรายได้นั้นมีที่มีส่วนผสมมาจากการใช้ทุน แรงงาน และเทคโนโลยี … Continue reading มีค่าเท่ากับสัดส่วนผลตอบแทนของแรงงานใน GDP ระดับประเทศ คูณกับสัดส่วนของ GPP ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนั้นๆ
– ผลิตภาพแรงงาน คำนวณด้วยการนำ GPP ของจังหวัดตามมูลค่าที่แท้จริง (หักผลของเงินเฟ้อ) หารด้วยจำนวนแรงงานในจังหวัดนั้น
– อัตราเงินเฟ้อ อิงจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ระดับจังหวัด

ในการเจรจาที่ปรับเพิ่ม/ลดจากสูตรได้ไม่เกิน 3% นั้น ให้ดูจากปัจจัยเชิงคุณภาพ 4 ตัว คือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด, ผลการสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (แต่โดยปกติจะไม่ให้ต่ำลงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเดิม)

ในการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปีล่าสุดก็ใช้สูตรลักษณะนี้เป็นฐาน โดยวิธีการคำนวณการเติบโตของผลิตภาพแรงงานและอัตราเงินเฟ้อจะเป็นการใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (arithmetic mean) ของอัตราการเติบโตรายปีใน 5 ปีหลังสุดที่มีข้อมูล[3]การเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพของผลิตภาพแรงงานในสูตรใช้ตัวเลขเฉลี่ย 5 ปีมาโดยตลอดตามสูตรของคอสตาริกา … Continue reading ซึ่งจะเห็นได้จากตัวอย่างของกรุงเทพมหานครในปีล่าสุด

เมื่อดูจากข้อมูล ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมมีค่า 353 บาท/วัน, อัตราการสมทบของแรงงานกรุงเทพมีค่า 0.32, การเปลี่ยนแปลงผลิตภาพแรงงานเฉลี่ย 5 ปีมีค่า 0.0106, อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 0.0190 เมื่อนำมาคำนวณจะได้ว่า

ค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ของกรุงเทพ
= 353 x [1 + (0.32 x 0.0106) + (0.0190)]
= 353 x [1 + 0.0034 + 0.0190]
= 353 x 1.0224
= 360.91 บาท/วัน

ตามกรอบการปรับเพิ่ม/ลดไม่เกิน 3% (โดยไม่น้อยลงกว่าเดิม) จึงทำให้ช่วงค่าจ้างที่เป็นไปได้คือ 353 – 372 บาท/วัน เมื่อผ่านการเจรจาแล้วจึงได้ค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ของกรุงเทพที่ 363 บาท/วันออกมา

ความผิดปกติในสูตรการปรับค่าจ้าง

บทความนี้จะไม่พูดถึงกรอบแนวคิดใหญ่ รวมถึงว่าควรมีสูตรคำนวณกลางเพื่อเป็นฐานการเจรจา หรือควรใช้การเจรจาเป็นฐานหลักเลยหรือไม่ แต่จะเน้นไปที่การวิพากษ์สูตรการคำนวณในเชิงคณิตศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งเป็นข้อตกลงของคณะกรรมการค่าจ้างที่ปรับได้โดยง่ายและสมควรปรับโดยเร็วหากพบความผิดปกติ

ภาพรวมปัญหาในสูตรดังกล่าว คือ การผสมปนเปกันระหว่างปัจจัยเชิงระดับ (level) และปัจจัยเชิงการเปลี่ยนแปลง (change) รวมถึงการลดทอนความซับซ้อนของการคำนวณจนเกินไป (oversimplify) ซึ่งทำให้เลขคลาดเคลื่อน โดยมีแนวโน้มได้ค่าที่ต่ำลงมากกว่าจะสูงขึ้น ทั้งที่สูตรคำนวณมีศักยภาพในการช่วยตีเส้นขอบล่างสำหรับการเจรจาให้กับลูกจ้างได้ภายใต้อำนาจต่อรองที่มีไม่มากเท่า เมื่อคำนวณได้ค่าน้อยลงก็ทำให้ตัวเลือก ‘การไม่ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ’ ยังอยู่บนโต๊ะเจรจา ถึงแม้ว่าความคลาดเคลื่อนนี้จะไม่มาก แต่หากสะสมนานเข้าก็ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของไทยไล่ตามไม่ทันสภาพเศรษฐกิจจริง

ความผิดปกติเหล่านี้มีอะไรบ้าง เราค่อยๆ มาไล่เรียงกัน

1. เอาอัตราสมทบของแรงงานมาคูณเพื่อลดผลตอบแทนที่แรงงานควรได้เพิ่มขึ้นตามผลิตภาพแรงงาน

การปรับค่าจ้างให้สะท้อนผลิตภาพแรงงานนั้นดูจะเป็นเรื่องพื้นฐานมากที่สุด อาทิ หากแรงงานมีความสามารถในการผลิตได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว ก็ควรได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หรือหากเก่งขึ้น 5% พวกเขาก็ควรได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 5% เมื่อปัจจัยอื่นๆ คงที่ (ผมอยากชวนดูเอกสารนำเสนอของ รศ.ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ ที่ไปชี้แจงในวาระเดียวกัน ซึ่งทำให้เข้าใจตรรกะความคิดได้อย่างชัดเจน)

อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างขั้นต่ำของไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะถูกถ่วงค่าด้วยอัตราการสมทบของแรงงานอยู่ ด้วยอัตราสมทบจะมีค่าน้อยกว่า 1 เสมอ ก็ทำให้อัตราการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของไทยจึงน้อยกว่าผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นเสมอ

ลองนึกดูสิครับ ถ้าหากคุณเป็นแรงงานในกรุงเทพที่ผลิตสินค้าได้เก่งขึ้นเป็นเท่าตัว (+100%) ซึ่งควรได้ผลตอบแทนมากขึ้นเท่าตัว (+100%) แต่คุณกลับได้เพิ่มเพียง 32% อีก 68% โดนนายจ้างเก็บไป เป็นผลิตภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้น ก็คงรู้สึกว่านายจ้างไม่ค่อยเป็นธรรมกับคุณนัก

ทั้งที่จริง แม้ว่านายจ้างจะเพิ่มค่าตอบแทนให้คุณเท่าตัวตามผลิตภาพ นายจ้างก็จะยังมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวอยู่ดีเพราะเขาก็ได้รับส่วนแบ่งตามอัตราสมทบของทุนในสินค้าที่คุณผลิต การเพิ่มค่าแรงให้เท่าตัวจึงเป็นเรื่องที่เป็นธรรมและให้ผลตอบแทนเป็นสัดส่วนคงที่ตามอัตราสมทบของแรงงานและทุน

การหักเอาส่วนเพิ่มของผลิตภาพแรงงานไปให้นายจ้างเพิ่มจึงเทียบเท่าการลดสัดส่วนอัตราสมทบของแรงงานลงเรื่อยๆ เพื่อไปเพิ่มส่วนตอบแทนของทุน

อันที่จริงแล้ว อัตราการสมทบของแรงงานนั้นเป็นปัจจัยเชิงระดับ ซึ่งถูกกำหนดเข้าไปในโครงสร้างของค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่แรกแล้วว่าแรงงานควรได้ผลตอบแทนเท่าใดจากผลผลิตโดยรวม การนำปัจจัยดังกล่าวเข้ามาคูณโดยตรงจึงเป็นการสร้างสูตรแบบผิดฝาผิดตัว เกิดการนับซ้ำที่ทำให้แรงงานเสียประโยชน์โดยไม่จำเป็น

ดังนั้น คณะกรรมการจึงควรเอาอัตราการสมทบของแรงงานออกไปจากสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้เสีย ซึ่งหากหยิบยกตัวอย่างของกรุงเทพขึ้นมาคำนวณใหม่ จะพบว่าค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ควรจะมีค่า 363.45 บาท/วัน เพิ่มขึ้นจากการคำนวณเดิม 2.5 บาท/วัน ซึ่งแม้จะดูเป็นเงินเล็กน้อยแต่ก็มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการเพิ่มค่าแรงที่เกิดขึ้น และถ้าหากสะสมนานหลายปีเข้าก็มีขนาดใหญ่ได้

นี่ยังไม่ได้นับว่าวิธีการคำนวณอัตราการสมทบของแรงงานก็มีปัญหาอยู่ เพราะนำสัดส่วน GPP ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดไปคูณกับสัดส่วนของผลตอบแทนแรงงานต่อ GDP อีกชั้นหนึ่ง หากแปลภาษาคณิตศาสตร์เป็นภาษาคนก็คือ ‘เราจะคำนวณว่าแรงงานมีส่วนในการผลิตและได้รับค่าจ้างเท่าไหร่ แต่ไม่ได้ให้สำหรับผลผลิตทั้งหมดที่แรงงานสร้างให้กับเศรษฐกิจ แต่จะให้เฉพาะผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น’

วิธีคำนวณดังกล่าวจึงเป็นการลดทอนผลตอบแทนของแรงงานด้วยสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรม (ซึ่งย่อมมีค่าน้อยกว่า 1 เพราะเศรษฐกิจยังประกอบด้วยสาขาอื่นๆ) แม้อาจไม่กระทบกับเมืองอุตสาหกรรมมากนัก แต่หากเป็นจังหวัดเกษตรกรรมนำ จังหวัดท่องเที่ยว หรือจังหวัดที่ขับเคลื่อนด้วยภาคบริการอื่นๆ เช่นโลจิสติกส์ ก็ทำให้ผลตอบแทนของแรงงานน้อยลงโดยอัตโนมัติด้วยตรรกะนี้

(1.5) แรงงานไร้ฝีมือจบใหม่ไม่ได้มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น จึงไม่ควรเอาเรื่องผลิตภาพทั้งก้อนออกไปเลย?!?

ในการประชุมวันนั้นได้มีการถกเถียงด้วยว่า นิยามของค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นไปสำหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน ซึ่งมีอายุงานไม่เกิน 1 ปี ดังนั้นแรงงานที่จะมารับค่าแรงขั้นต่ำนี้จะเป็นเด็กจบใหม่ในแต่ละปีซึ่งไม่ได้มีผลิตภาพ (เพิ่มขึ้น) เป็นนัยว่าไม่ควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามผลิตภาพของแรงงานไปเลย

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าผู้ให้ความเห็นยังไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องผลิตภาพดีนัก เพราะถึงแม้เด็กจบใหม่รุ่นไหนๆ ก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำงาน แต่ก็มีทักษะมากกว่าเด็กจบใหม่ในอดีตได้ อาทิ ผลิตภาพที่ได้จากการศึกษา (เช่น การใช้ซอฟแวร์หรือเทคโนโลยี ซึ่งในอดีตอาจไม่เคยมีมาก่อนด้วยซ้ำ) นอกจากนี้ นายจ้างซึ่งใช้แรงงานทักษะน้อยเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจนั้นก็สามารถลงทุนเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน (labor-augmented technology) ดังนั้น แม้จะเป็นเด็กจบมาใหม่และไร้ทักษะ (ในแง่ว่าไม่เคยทำงานมาก่อน) ก็ไม่ได้แปลว่าผลิตภาพแรงงานจะเพิ่มขึ้นไม่ได้เลย

ทั้งนี้ เราอาจหารือกันได้ว่าวิธีคำนวณผลิตภาพแรงงานในสูตรค่าจ้างขั้นต่ำนี้เหมาะสมแล้วหรือยัง ปัจจุบันคำนวณโดยการนำ GPP ตามมูลค่าที่แท้จริงหารด้วยจำนวนแรงงานในจังหวัดนั้น ซึ่งในเบื้องต้นผมมองว่าวิธีคำนวณผลิตภาพนี้ยังไม่ได้ถูกต้องตามหลักวิชาการเต็มที่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของ GPP ต่อหัวแรงงานอาจมาได้จากหลายช่องทางนอกเหนือจากผลิตภาพแรงงาน อีกทั้งยังเป็นเลขเฉลี่ยโดยไม่ได้ดูเฉพาะผลิตภาพของแรงงานแรกเข้าทำงาน

อย่างไรก็ตาม การจะคำนวณให้ได้ตัวเลขที่ถูกต้องในทุกสาขาการผลิตและจังหวัดนั้นก็ไม่ง่ายนัก การใช้เครื่องมือดังกล่าวเพื่อดูเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพ ก็เป็นตัวแทน (proxy) แบบกลางๆ ที่ล้อไปกับเศรษฐกิจโดยเฉลี่ย ซึ่งพอใช้ได้สำหรับการตั้งต้นเจรจา ดังนั้น จนกว่าเราจะหาวิธีการคำนวณผลิตภาพแรงงานแรกเข้าทำงานได้โดยละเอียด ก็อาจใช้ค่าดังกล่าวเป็นตัวแทนไปพลางในการคำนวณ

2. ใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิตสำหรับการเฉลี่ยอัตราการเปลี่ยนแปลง

การคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำของเรานี้ยังเป็นการเฉลี่ยอัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงานและเงินเฟ้อในช่วง 5 ปีหลังสุดที่มีข้อมูล ซึ่งก็นำมาซึ่งอีกข้อสังสัยว่าทำไมไม่ใช้เลขปีล่าสุด เพราะมีการพิจารณาทุกปี แล้วทำไมต้องเฉลี่ย 5 ปี ทำไมไม่เป็น 3 ปี หรือ 7 ปี เป็นต้น

แม้ว่าจะยังไม่สิ้นสงสัยนัก แต่ผมเองยังมองว่าการใช้ค่าเฉลี่ยระยะ 5 ปีเป็นเรื่องที่พอรับได้ เนื่องจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำซึ่งเป็นขอบล่างของค่าแรงไม่ควรถูกกระชากโดยปัจจัยเฉพาะหน้าตลอดเวลา บางปีที่เงินเฟ้อสูงหรือเศรษฐกิจโตแรงนั้นอาจเกิดจากปัจจัยภายนอกอย่างเช่นการค้าโลกก็ได้ ซึ่งหากเราปรับขึ้นมากในปีที่ดี เราอาจจะไม่สามารถรับมือกับปีที่แย่ได้ เพราะเราไม่สามารถปรับค่าจ้างขั้นต่ำลงได้ การใช้ค่าเฉลี่ยให้ค่อยๆ ปรับ แต่ยังล้อไปกับภาพระยะยาวทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ถึงกับเสียหาย

อย่างไรก็ตาม วิธีการคำนวณก็ควรต้องทำให้ถูกต้องอยู่ดี ในการคำนวณดอกเบี้ยหรืออัตราการเปลี่ยนแปลงโดยเฉลี่ยนั้นหากเป็นนักธุรกิจก็จะไม่ใช้การเฉลี่ยเลขคณิต เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้มีลักษณะทบต้น จึงต้องใช้การคำนวณอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยทบต้นต่อปี (compound annual growth rate: CAGR) การคำนวณแบบเฉลี่ยเลขคณิตแม้จะให้ตัวเลขที่ใกล้เคียง แต่จะไม่ตรงกันเสียทีเดียวและอาจกระทบกับตัวเลขสุดท้ายหรือการปัดเศษได้

ทั้งนี้ สำหรับเลขที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างผลิตภาพและเงินเฟ้อค่าเฉลี่ยเลขคณิตของอัตราการเติบโตมักจะมีค่าสูงกว่าอัตราการเติบโตแบบทบต้น ซึ่งก็อาจมองได้ว่าไม่เป็นธรรมในการคำนวณแก่นายจ้างได้เช่นกัน

ตามเอกสารตัวอย่างของกรุงเทพมหานคร การคำนวณอัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ย 5 ปี โดยการเฉลี่ยเลขคณิตจะได้ค่า 0.0106 แต่หากนำมาคำนวณอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยจะได้ค่า 0.0097 แทน หมายความว่าเราคำนวณการเติบโตของผลิตภาพแรงงานสูงเกินจริงไปเล็กน้อย

ในอีกทางหนึ่ง การเฉลี่ยค่าเงินเฟ้อทำให้ได้ค่า 0.0190 ตามที่ใช้ในเอกสาร และเช่นเดียวกันถ้าคำนวณอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยแล้วอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจริงจะมีค่า 0.0187

3. นำอัตราการเปลี่ยนแปลงมาบวกกัน

เมื่อผู้อ่านไปร้านอาหารแล้วถูกคิด VAT 7% และเซอร์วิสชาร์จอีก 10% ท่านผู้อ่านคิดว่าจะต้องจ่ายค่าอาหารเพิ่มขึ้นเท่าไรครับ?

หากคิดว่าค่าอาหารของท่านจะเพิ่มขึ้น 17% ก็เสียใจด้วย เพราะอันที่จริงร้านค้าจะคำนวณ 1.07×1.10 = 1.177 หรือว่าท่านต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 17.7% ต่างหาก

ตัวเลขดังกล่าวดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะเป็นส่วน 0.07 x 0.10 เท่านั้น อย่างไรก็ตามหากเราคิดว่ามีคนต้องจ่ายส่วนเล็กจิ๋วนี่ทุกคนทุกวันก็เห็นว่ามันยังมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม วิธีคิดแบบเอาอัตราการเปลี่ยนแปลงมาบวกกันยังคงถูกใช้ในสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ ซึ่งแม้ส่วนที่ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นคูณกับอัตราเงินเฟ้อจะมีค่าไม่สูงแต่ก็มีนัยสำคัญพอจะเปลี่ยนการเจรจา

เมื่อตอนต้นผมคำนวณว่าหากเอาอัตราการสมทบของแรงงานออกจากสูตรจะได้ว่าตัวคูณสำหรับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพคือ 1.0296 แต่หากเรานำผลจากการคำนวณอัตราการเติบโตแบบทบต้นและการนำค่าการเปลี่ยนแปลงมาคูณกันแล้วจะได้ว่า (1+0.0097)(1+0.0187)=1.0286 ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่ควรจะเป็นคือ 363.11 บาท/วัน

ทั้งนี้ ส่วนสำคัญอีกตัวคือค่าอัตราการสมทบของแรงงาน ที่ตอนต้นผมพูดว่าเป็นตัวแปรเชิงระดับที่อยู่ในโครงสร้างการผลิตและการแบ่งรายได้แต่ต้น ซึ่งโดยมากนักเศรษฐศาสตร์มักจะกำหนดให้มีค่าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงจึงทำให้ตัดออกจากสมการไป อย่างไรก็ตาม ในโลกความเป็นจริงค่าดังกล่าวก็สามารถค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีการผลิตได้ ดังนั้นก็อาจนำกลับเข้าไปในสูตรด้วย โดยการบวกอัตราการเปลี่ยนแปลงของอัตราสมทบของแรงงาน (percentage change of labor’s contribution) เข้าไปต่อท้ายอัตราการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน ไม่ใช่การนำอัตราการสมทบเข้าไปคูณการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานอย่างที่ทำมา [4]เนื่องจากปกติอัตราการสมทบจะเป็นค่ายกกำลังของจำนวนแรงงานตามสมการ growth accounting ที่เป็นฐานคิดทางเศรษฐศาสตร์สำหรับเรื่องนี้ … Continue reading

เมื่อนำทั้ง 3 ข้อข้างต้นมาประกอบกันจึงได้ว่าการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ (ตามกรอบนิยามและวิธีคิดแบบเดิม) ควรเท่ากับ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิม x [(1+อัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงาน+อัตราการเปลี่ยนแปลงของอัตราสมทบของแรงงาน)(1+อัตราเงินเฟ้อ)] โดยเป็นการหาค่าเฉลี่ยแบบทบต้นและคำนวณรายจังหวัด

อุทาหรณ์สอน (ให้ตั้งใจเรียน) เลข

ผมเข้าใจดีว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยขยาดกับสูตรคำนวณและตัวเลข และให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจคณิตศาสตร์น้อยมาก หลายคนอาจจะบ่นว่า ‘จะเรียนเลขไปทำไม โตมาก็ไม่ได้ใช้’ แต่สำหรับนักเทคนิคซึ่งเป็นผู้คำนวณอยู่เบื้องหลังเรื่องต่างๆ ก็จะคิดอีกแบบว่า ควรคุยกันด้วยสูตรด้วยตัวเลข เพราะมันแน่นอน ไม่มีอะไรให้เถียง ทำให้ทุกอย่างจบ

แต่เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่าตัวเลขนั้นสามารถให้คุณให้โทษ ตีเส้นแบ่งผลประโยชน์ระหว่างกันอย่างไรภายใต้ข้อมูลเชิงเทคนิค การรู้เท่าทันตัวเลขก็จะช่วยรักษาผลประโยชน์ที่เราพึงได้ และไม่ตกเป็นเหยื่อของการเอาเรื่องที่ดูเหมือนจะแน่นอนเถียงไม่ได้มาบังหน้า

References
1 1. คำชี้แจง ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11)
2 อัตราสมทบของแรงงาน (Labor’s contribution to production) มาจากแนวคิดว่าผลผลิตหรือรายได้นั้นมีที่มีส่วนผสมมาจากการใช้ทุน แรงงาน และเทคโนโลยี ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์จะใช้ฟังก์ชัน Y=AKaL1-a ซึ่ง Y คือผลผลิตหรือรายได้รวมที่สร้างขึ้นมา, A คือเทคโนโลยี, K คือทุนที่ใช้ในการผลิต, L คือแรงงานที่ใช้ไปในการผลิต ซึ่งผู้ที่ลงทุนก็ควรจะได้รับส่วนแบ่งเป็นสัดส่วน a ของรายได้ ขณะที่แรงงานก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นสัดส่วน 1-a ของรายได้รวม โดยที่สัดส่วนผลตอบแทนของผู้ลงทุนและแรงงานรวมกันได้ 1 หรือก็คือ 100%
3 การเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพของผลิตภาพแรงงานในสูตรใช้ตัวเลขเฉลี่ย 5 ปีมาโดยตลอดตามสูตรของคอสตาริกา แต่อัตราเงินเฟ้อจะมีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ อาทิ ในปี 2016 มีการใช้เงินเฟ้อปีปัจจุบันและปีก่อนหน้า ขณะที่ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาจะใช้ตัวเลขเงินเฟ้อในปีปัจจุบันเพียงอย่างเดียว จนในปีปัจจุบันนั้นเลือกใช้ตัวเลขเฉลี่ย 5 ปีหลังสุด
4 เนื่องจากปกติอัตราการสมทบจะเป็นค่ายกกำลังของจำนวนแรงงานตามสมการ growth accounting ที่เป็นฐานคิดทางเศรษฐศาสตร์สำหรับเรื่องนี้ เมื่อคำนวณหาอัตราการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนแรงงานที่เป็นไปตามผลิตภาพแล้ว จะได้ค่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของ 1-a บวกมาต่อท้าย

วิจัย/เขียน

ฉัตร คำแสง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต

ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยไม่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน 101 PUB เสนอให้ใช้แนวคิด ค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage) แทนแนวคิดเดิมในปัจจุบัน

ชุดข้อมูลการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต

101 PUB เผยแพร่ชุดข้อมูลที่ใช้ใน Infographic ของบทความ ‘ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต’

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย 'เงินอุดหนุนเกษตรกร' แบบเดิมๆ

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย ‘เงินอุดหนุนเกษตรกร’ แบบเดิมๆ

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย เข้าใจช่องโหว่ของนโยบายเงินอุดหนุนเกษตรกรในปัจจุบันที่ยิ่งทำก็เหมือนยิ่ง ‘ขุดหลุมฝังประเทศ’ พร้อมทั้งเสนอแนวทางเปลี่ยนสวัสดิการเติมรายได้ให้สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.