ปากท้องดี-มีประชาธิปไตย: สองโจทย์ที่สังคมไทยไม่ต้องเลือก

ปากท้องดี-มีประชาธิปไตย: สองโจทย์ที่สังคมไทยไม่ต้องเลือก

ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินการพูดถึงการเมืองสองแนวทาง คือ ‘การเมืองเรื่องปากท้อง’ ซึ่งมุ่งเพิ่มรายได้-แก้ปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชน กับ ‘การเมืองอุดมการณ์ประชาธิปไตย’ ที่หวังพัฒนาประชาธิปไตย เสริมสร้างสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในสังคม เป้าหมายของการเมืองสองแบบนี้มักถูกอธิบายราวกับเป็นเรื่องแยกขาดจากกัน-ขัดแย้งกัน ประชาชนจึงต้องเลือกสนับสนุน หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ต้องจัดลำดับความสำคัญว่า อยากเห็นเรื่องใดถูกผลักดันก่อน-หลัง

คำถามคือ ปากท้อง กับ ประชาธิปไตย เป็น ‘ทางแพร่ง’ ที่เราต้องเลือกจริงหรือไม่?

งานวิชาการจำนวนมากมิได้เห็นว่าเราต้องเลือกเช่นนั้น ที่จริง ทั้งสองเรื่องอาจเชื่อมโยงและเป็น ‘เงื่อนไข’ ของกันและกันด้วยซ้ำ หมายความว่า ถ้าประชาชนไม่อิ่มท้อง-มีคุณภาพชีวิตเหมาะสม ก็ยากที่ประชาธิปไตยจะเข้มแข็ง ในทางกลับกัน หากไร้ซึ่งประชาธิปไตย ก็จะไม่สามารถเติมเต็มปากท้องและความฝันของประชาชนได้อย่างถ้วนทั่ว เป็นธรรม และยั่งยืน

ท่ามกลางการถกเถียงระหว่างการเมืองสองกระแส ภายใต้สถานการณ์ที่หลายฝ่ายกำลังพยายามผลักดันการปฏิรูปการเมือง 101 PUB ชวนสำรวจคำอธิบายเงื่อนไขทิศทางหลังว่า ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขในการเติมเต็มปากท้องและความฝันของประชาชนอย่างไร? ทำไมการปฏิรูปการเมืองจะสามารถปลดล็อก ‘กับดักเก่า’ และเปิด ‘ความเป็นไปได้ใหม่’ ในการยกระดับความอยู่ดีมีสุขของเราทุกคน?

ประชาธิปไตยเอื้อต่อการเพิ่มรายได้-พัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต

ประชาธิปไตยเอื้อต่อการเพิ่มรายได้-พัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต

เมื่อพูดถึงปากท้อง เรื่องพื้นฐานที่สุดย่อมหนีไม่พ้น ‘เงินในกระเป๋า’

ปัจจุบัน งานวิจัยไม่มีฉันทมติว่า ประชาธิปไตยส่งผลกระทบ ‘ทางตรง’ ต่อรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร จวบจนราวสิบปีก่อน ผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศส่วนใหญ่ยัง ‘ไม่พบ’ ว่ามีผลกระทบทางตรงต่อกันอยู่เลย[1]Carl Henrik Knutsen, “Democracy and Economic Growth: A Survey of Arguments and Results,” International Area Studies Review 15(4), December 2012, 393-415, https://doi.org/10.1177/2233865912455268; Hristos Doucouliagos and Mehmet Ali Ulubaşoğlu, “Democracy and Economic Growth: A Meta-Analysis,” American Journal of Political Science 52(1), January 2008, 61-83, … Continue reading

อย่างไรก็ดี งานชิ้นใหม่ๆ ซึ่งมีข้อมูลมากขึ้น-เทคนิคการวิเคราะห์ทันสมัยขึ้น-วิธีวิจัยดีขึ้น เห็นตรงกันในวงกว้างว่า ประชาธิปไตยส่งผลกระทบ ‘ทางอ้อม’ ที่มีนัยสำคัญ โดยสร้างระบบหรือสิ่งแวดล้อมให้ ‘เอื้อ’ ต่อการเพิ่มรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าเผด็จการ ตัวอย่างสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้แก่ เสรีภาพทางเศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรมที่ดี เสถียรภาพทางการเมือง และทุนมนุษย์ของประชากร (human capital)[2]Doucouliagos and Ulubaşoğlu, “Democracy and Economic Growth.”

ในประเด็นแรก ประเทศประชาธิปไตยมักคุ้มครอง ‘สิทธิเสรีภาพ’ ของประชาชนอย่างเหมาะสม และเปิดโอกาสให้ปฏิรูปเศรษฐกิจมากกว่า เศรษฐกิจจึงมีแนวโน้ม ‘เสรีกว่า’ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจที่เสรีกว่า ก็มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว และสร้างรายได้ให้แก่ประชากรได้ ‘สูงกว่า’[3]Daron Acemoglu, Suresh Naidu, Pascual Restrepo, and James A. Robinson, “Democracy Does Cause Growth,” Journal of Political Economy 127 (1), January 2019, 47-100, https://economics.mit.edu/sites/default/files/publications/Democracy%20Does%20Cause%20Growth.pdf. จากรายงานดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจปี 2024 กลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘เสรี’ มีรายได้ต่อหัวประชากรเฉลี่ย 103,869 เหรียญสหรัฐต่อปี สูงกว่ากลุ่ม ‘ไม่เสรี’ ซึ่งมีรายได้ที่ 10,389 เหรียญต่อปี เกือบ 9 เท่าตัว[4]Anthony B. Kim, 2024 Index of Economic Freedom (Washington: The Heritage Foundation, 2024).

ไทยถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี รายงานข้างต้นจัดประเทศเราอยู่ในกลุ่ม ‘ค่อนข้างไม่เสรี’ และระบุว่าอุปสรรคต่อเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดคือ ‘การขาดนิติธรรม’ เนื่องจากระบบตุลาการไม่สามารถพิทักษ์สิทธิในทรัพย์สิน บังคับใช้สัญญา ขจัดการเลือกปฏิบัติ และคุ้มครองการแข่งขันในตลาดได้อย่างอิสระ-เป็นธรรม อีกทั้งระบบรัฐบาลยังเต็มไปด้วยการทุจริตและไร้ประสิทธิภาพ จึงไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ[5]Anthony B. Kim, 2024 Index of Economic Freedom (Washington: The Heritage Foundation, 2024). ปัญหาเช่นนี้จะแก้ไขได้ ก็ต่อเมื่อเกิดการปฏิรูปโครงสร้างภายใต้แนวทางประชาธิปไตยเท่านั้น

ในทำนองเดียวกัน ระบอบประชาธิปไตยมักมีกระบวนการยุติธรรมและระบบการเมืองที่จัดการความขัดแย้งในสังคมได้มีประสิทธิผลกว่า จึงเสี่ยงบานปลายเป็นปัญหาความไม่สงบน้อยกว่า แถมยังวางกลไกเปลี่ยนรัฐบาลโดยสงบ – ถ้าใครไม่พอใจ ก็สามารถเลือกคนกลุ่มใหม่เข้าไปแทน – เมื่อประกอบกัน ย่อมส่งผลให้ประเทศมี ‘เสถียรภาพทางการเมือง’ สูงกว่า เหมาะแก่การทำมาหากินของประชาชน ตลอดจนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาระยะยาวของรัฐบาล[6]Acemoglu et. al., “Income and Democracy;” Yi Feng, “Democracy, Political Stability and Economic Growth,” British Journal of Political Science 27(3), 1997, 391-418, https://doi.org/10.1017/S0007123497000197; Ari Aisen and Francisco Jose Veiga, How Does Political Instability Affect Economic Growth? [IMF Working Paper WP/11/12] (International Monetary Fund, 2011); Ranmali … Continue reading

ท้ายที่สุด รัฐบาลประชาธิปไตยมีแนวโน้มจะสนับสนุนการพัฒนา ‘ทุนมนุษย์’ ของประชาชน ผ่านการลงทุนจัด ‘บริการสาธารณะ’ อย่างสาธารณสุขและการศึกษามากกว่า เนื่องจากรัฐบาลมักพยายามตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชน เพื่อดึงดูดคะแนนเสียงเลือกตั้ง บริการเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานและประเทศ เท่ากับว่าประชาธิปไตยส่งผลทางอ้อมผ่านการพัฒนาลักษณะข้างต้น ไปยกระดับรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ[7]Acemoglu et. al., “Income and Democracy.”

การพัฒนาประชาธิปไตยสัมพันธ์กับการพัฒนา ‘ความเป็นอยู่’ ประชากร

การพัฒนาประชาธิปไตยสัมพันธ์กับการพัฒนา ‘ความเป็นอยู่’ ประชากร

เมื่อรัฐบาลถูกกดดันให้รับผิดชอบ-ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากกว่าในระบอบอื่น ประชาธิปไตยจึงมีแนวโน้มนำไปสู่การแก้ปัญหาและส่งเสริม ‘ความเป็นอยู่’ มิติอื่นนอกเหนือจากรายได้ได้ดีกว่าด้วย

หากยกความเป็นอยู่ด้านสุขภาพเป็นตัวอย่าง ประชากรในประเทศที่เปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย จะมีพัฒนาการด้านสุขภาพ ‘เร็วกว่า’ ในประเทศที่มิได้เปลี่ยนผ่าน งานศึกษาเปรียบเทียบ 170 ประเทศระหว่างปี 1980-2016 พบว่า หากประเทศเกิดการเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลจะมีแนวโน้มเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุข เป็นเหตุให้อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อลดลง อายุขัยเฉลี่ยประชากรจึงเพิ่มขึ้นมากกว่าในประเทศที่ยังคงเป็นเผด็จการราว 3% ภายหลังล่วงเลยจุดเปลี่ยนผ่านไปแล้ว 10 ปี[8]Thomas J. Bollyky, Tara Templin, Matthew Cohen, Diana Schoder, Joseph L. Dieleman, and Simon Wigley, “The Relationships between Democratic Experience, Adult Health, and Cause-specific Mortality in 170 Countries between 1980 and 2016: An Observational Analysis,” The Lancet 393(10181), April 2019, 1628-1640, https://doi.org/10.1016/S0140-6736(19)30235-1.

ควรกล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนผ่านเป็นปัจจัยอธิบายความเปลี่ยนแปลงของอัตราการเสียชีวิต ซึ่งมีน้ำหนักเสียยิ่งกว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจและรายได้ในหลายกรณี เช่น กรณีการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ การบาดเจ็บจากจราจร มะเร็ง และตับแข็ง[9]Thomas J. Bollyky, Tara Templin, Matthew Cohen, Diana Schoder, Joseph L. Dieleman, and Simon Wigley, “The Relationships between Democratic Experience, Adult Health, and Cause-specific Mortality in 170 Countries between 1980 and 2016: An Observational Analysis,” The Lancet 393(10181), April 2019, 1628-1640, https://doi.org/10.1016/S0140-6736(19)30235-1.

ข้อค้นพบประการหลังนี้สะท้อนว่า ลำพังการเติมเงินในกระเป๋าประชาชนอาจไม่สามารถสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้เต็มที่ หากปราศจากรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งลงทุนจัดบริการจำเป็นควบคู่กัน สมมติถ้าคุณมีรายได้เยอะกว่าทุกวันนี้ แต่ประเทศไม่มีโรงพยาบาล เครื่องมือ และบุคลากรการแพทย์ดีๆ เมื่อคุณเกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา ก็คงไม่ง่ายนักที่จะได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม – เราแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยตัวเองหรือเงินส่วนตัวไม่ได้

ปัจจัยอธิบายความเปลี่ยนแปลงของอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ (ดัดแปลงจาก: Bollyky et. al. (2019))
ปัจจัยอธิบายความเปลี่ยนแปลงของอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ (ดัดแปลงจาก: Bollyky et. al. (2019))

สิทธิเสรีภาพเป็นปัจจัยสร้างสุข-คนในประเทศประชาธิปไตยมีสุขมากกว่า

สิทธิเสรีภาพเป็นปัจจัยสร้างสุข-คนในประเทศประชาธิปไตยมีสุขมากกว่า

ถึงที่สุดแล้ว ระบอบการเมือง สังคม และวัฒนธรรมประชาธิปไตยยังอาจนับได้ว่าเป็นบ่อเกิดแห่ง ‘ความสุข’

จากผลวิเคราะห์ของ World Happiness Report ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลในการอธิบายว่า ทำไมคนในแต่ละประเทศจึงสุข-ทุกข์ไม่เท่ากัน ได้แก่ รายได้ การสนับสนุนทางสังคม ช่วงอายุที่แข็งแรง เสรีภาพในการเลือก ความเกื้อกูลในสังคม และการปราศจากปัญหาทุจริตในทุกภาคส่วน[10]John F. Helliwell, Richard Layard, Jeffrey D. Sachs, Jan-Emmanuel De Neve, Lara B. Aknin, and Shun Wang (eds.), World Hapiness Report 2023 (New York: Sustainable Development Solutions Network, 2023); รายงานฉบับปี 2024 เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ขณะเขียนบทความนี้ เข้าถึงได้ที่นี่

ประชาธิปไตยส่งผลทางอ้อมในการเสริมสร้างปัจจัยสามประการแรกดังที่กล่าวมาแล้ว พร้อมกันนั้นยังช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน – รวมถึงเสรีภาพในการเลือก – ได้ดีกว่าระบอบอื่น นอกจากนี้ ประเทศประชาธิปไตยยังมีแนวโน้มประสบปัญหาการทุจริตในภาครัฐน้อยกว่า[11]Evie Papada, Marina Pavlova, and Staffan I. Lindberg, Can Democracy Limit Corruption? [Policy Brief No.36] (Gothenburg: V-Dem Institute, 2022). โดยประเทศที่ประชาชนรู้สึกถึงปัญหาต่ำสุด 9 ใน 10 อันดับแรก ล้วนได้รับการประเมินระบอบการปกครองเป็น ‘ประชาธิปไตยสมบูรณ์’ จาก The Economist Intelligence Unit[12]Transparency International, Corruption Perceptions Index 2023 (Transparency International, 2024); The Economist Intelligence Unit [EIU], Democracy Index 2023: Age of Conflict (EIU, 2024).

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ประเทศยิ่งประชาธิปไตยคุณภาพสูง ประชาชนก็ยิ่งมีความสุข[13]101 PUB วิเคราะห์จาก Helliwell et. al. (2023) และ EIU (2024). การปฏิรูปการเมืองในรัฐ ‘ประชาธิปไตยบกพร่อง’ อย่างไทย จึงน่าจะเป็นหนึ่งในหนทางเติมเต็มความสุขให้เราทุกคนได้ในระยะยาว

ปากท้องดี-มีประชาธิปไตย: สองโจทย์ที่สังคมไทยต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ในช่วงที่ผ่านมา ปากท้องกับประชาธิปไตยมักถูกแยกนำไปอธิบายในฐานะเป้าหมายของแนวคิดและขบวนการทางการเมืองต่างฟากฝั่ง ซึ่งหลายครั้งปะทะขัดแย้งกัน แต่แท้จริงแล้ว เป้าหมายสองเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขของกันและกัน ประสบการณ์จากทั่วโลกก็ชี้ว่า การพัฒนาประชาธิปไตยมีแนวโน้มส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้ ความเป็นอยู่ และความสุขของประชากร

ที่จริง คนไทยก็มิได้มุ่งหวังเป้าหมายเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่มีความฝันต่อทั้งปากท้องของตนเองและสังคม ผลสำรวจของศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) พบว่า เยาวชนอายุ 15-25 ปี อยากประสบความสำเร็จด้านการงาน ร่ำรวย และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวมากที่สุด[14]วรดร เลิศรัตน์, พิชชากร เรืองเดชาวิวัฒน์, และ กษิดิ์เดช คำพุช, เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวประจำปี 2023, … Continue reading ขณะเดียวกัน ก็อยากให้สังคมเปิดพื้นที่เพื่อความหลากหลาย ทลายระบบอุปถัมภ์-การทุจริต ตลอดจนปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทุกคนอยู่ดีกินดี-มีโอกาสเสมอภาคกันด้วย[15]วรดร เลิศรัตน์ และ สรัช สินธุประมา, เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวประจำปี 2023 (กรุงเทพฯ: … Continue reading พวกเขายังตระหนักดีว่า ความฝันต่อตนเองเหล่านั้นจะไม่มีวันสำเร็จ หากไม่ขับเคลื่อนให้ความฝันต่อสังคมกลายเป็นจริงไปพร้อมกัน[16]ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช, “เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: ผลการศึกษาคุณค่า-ทัศนคติเยาวชน จากผลสำรวจเยาวชน คิด for … Continue reading

ภายใต้ความเข้าใจและตั้งใจดังกล่าว การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังเริ่มขึ้น จะเป็นโอกาสอันดีในการปลดล็อกกับดักของระบอบการเมืองปัจจุบัน แล้วเปิดความเป็นไปได้ใหม่จากการพัฒนาประชาธิปไตย เพื่อเติมเต็มปากท้องและความฝันของเราทุกคนให้ได้ดีกว่าเดิม

References
1 Carl Henrik Knutsen, “Democracy and Economic Growth: A Survey of Arguments and Results,” International Area Studies Review 15(4), December 2012, 393-415, https://doi.org/10.1177/2233865912455268; Hristos Doucouliagos and Mehmet Ali Ulubaşoğlu, “Democracy and Economic Growth: A Meta-Analysis,” American Journal of Political Science 52(1), January 2008, 61-83, https://www.jstor.org/stable/25193797; Daron Acemoglu, Simon Johnson, James A. Robinson, and Pierre Yared, “Income and Democracy,” American Economic Review 98(3), June 2008, 808-842, https://www.aeaweb.org/articles?id=10.1257/aer.98.3.808.
2 Doucouliagos and Ulubaşoğlu, “Democracy and Economic Growth.”
3 Daron Acemoglu, Suresh Naidu, Pascual Restrepo, and James A. Robinson, “Democracy Does Cause Growth,” Journal of Political Economy 127 (1), January 2019, 47-100, https://economics.mit.edu/sites/default/files/publications/Democracy%20Does%20Cause%20Growth.pdf.
4, 5 Anthony B. Kim, 2024 Index of Economic Freedom (Washington: The Heritage Foundation, 2024).
6 Acemoglu et. al., “Income and Democracy;” Yi Feng, “Democracy, Political Stability and Economic Growth,” British Journal of Political Science 27(3), 1997, 391-418, https://doi.org/10.1017/S0007123497000197; Ari Aisen and Francisco Jose Veiga, How Does Political Instability Affect Economic Growth? [IMF Working Paper WP/11/12] (International Monetary Fund, 2011); Ranmali Abeyasinghe, “Democracy, Political Stability, and Developing Country Growth: Theory and Evidence,” Honors Projects 17, Spring 2004, https://digitalcommons.iwu.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1000&context=econ_honproj.
7 Acemoglu et. al., “Income and Democracy.”
8, 9 Thomas J. Bollyky, Tara Templin, Matthew Cohen, Diana Schoder, Joseph L. Dieleman, and Simon Wigley, “The Relationships between Democratic Experience, Adult Health, and Cause-specific Mortality in 170 Countries between 1980 and 2016: An Observational Analysis,” The Lancet 393(10181), April 2019, 1628-1640, https://doi.org/10.1016/S0140-6736(19)30235-1.
10 John F. Helliwell, Richard Layard, Jeffrey D. Sachs, Jan-Emmanuel De Neve, Lara B. Aknin, and Shun Wang (eds.), World Hapiness Report 2023 (New York: Sustainable Development Solutions Network, 2023); รายงานฉบับปี 2024 เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ขณะเขียนบทความนี้ เข้าถึงได้ที่นี่
11 Evie Papada, Marina Pavlova, and Staffan I. Lindberg, Can Democracy Limit Corruption? [Policy Brief No.36] (Gothenburg: V-Dem Institute, 2022).
12 Transparency International, Corruption Perceptions Index 2023 (Transparency International, 2024); The Economist Intelligence Unit [EIU], Democracy Index 2023: Age of Conflict (EIU, 2024).
13 101 PUB วิเคราะห์จาก Helliwell et. al. (2023) และ EIU (2024).
14 วรดร เลิศรัตน์, พิชชากร เรืองเดชาวิวัฒน์, และ กษิดิ์เดช คำพุช, เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวประจำปี 2023, เล่มผนวก 1: สถิติสำคัญด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์), 2023), 37.
15 วรดร เลิศรัตน์ และ สรัช สินธุประมา, เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวประจำปี 2023 (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์), 2023), 103-105.
16 ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช, “เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: ผลการศึกษาคุณค่า-ทัศนคติเยาวชน จากผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์,” 101 Public Policy Think Tank, 22 มิถุนายน 2023, https://101pub.org/thai-youth-values-and-attitudes/ (เข้าถึงเมื่อ 22 มีนาคม 2024); วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา, เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวประจำปี 2022, เล่มผนวก 2: สามความฝันของเด็กและเยาวชนไทย (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์), 2022).

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

กับดักเก่า VS ความเป็นไปได้ใหม่ ออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไรให้ประชาธิปไตยกินได้

Center for International Private Enterprise และ 101 PUB ชวนสำรวจปัญหา-แนวทางปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต-เติมเต็มความฝันของเรา ใน LIVE เสวนา ‘กับดักเก่า VS ความเป็นไปได้ใหม่ – ออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไรให้ประชาธิปไตยกินได้?’

27 February 2024
ปฏิรูปสถาบันทางการเมืองอย่างไรให้ตรงใจเยาวชน?

ปฏิรูปสถาบันทางการเมืองอย่างไรให้ตรงใจเยาวชน?

101 PUB ชวนสำรวจปรากฏการณ์ที่สถาบันการเมืองแทบไม่หลงเหลือความน่าเชื่อถือในสายตาเยาวชน พร้อมทั้งเข้าใจว่าเยาวชนใฝ่ฝันถึงการปฏิรูปในแนวทางอย่างไร ผ่านข้อมูลผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์

ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม

ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม

101 PUB ชวนสำรวจปัญหาการขาดช่องทางการมีส่วนร่วมอย่าง ‘มีความหมาย’ ของเยาวชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ และเสนอแนวทางขยายช่องทางดังกล่าว เพื่อให้นโยบายตอบสนองปัญหาและความต้องการของเยาวชนได้ดีขึ้น

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.