– 4 –
ปัญหาสุขภาพจิตยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่คุกคามคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยต่อเนื่อง
มาจากช่วงวิกฤตโควิด เด็กและเยาวชนจำนวนมากต้องเผชิญภาวะเครียดและซึมเศร้า โดยมีความเครียดจากการศึกษาและสภาพความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญ ถึงกระนั้น พวกเขากลับเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ยากและไม่เท่าเทียมกัน เพราะบริการ สถานพยาบาล และบุคลากรด้านจิตเวชส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ข้อเสนอนโยบายในการเลือกตั้งสะท้อนว่า พรรคการเมืองให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้น แต่หลายพรรคยังขาดมาตรการจัดการปัญหาที่ครอบคลุมทั้งระบบ
เด็กและเยาวชนวัยเรียนเป็นวัยที่เผชิญความท้าทายด้านสุขภาพจิตรุนแรงที่สุด ในปี 2022 อัตราการพยายามฆ่าตัวตายของเยาวชนอายุ 15-19 ปีสูงถึง 224 คนต่อหนึ่งแสนคน สูงสุดในทุกช่วงวัย และมากกว่าวัยทำงานราว 5 เท่าตัว[1]
จากข้อมูลผู้ทำแบบประเมินในเว็บไซต์ Mental Health Check ของกรมสุขภาพจิตตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ถึงเมษายน 2023 จำนวนเด็กและเยาวชนเสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตายอยู่ในระดับสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2022 ซึ่งเป็นช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1/2022 และสถานศึกษาส่วนใหญ่ยังต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ จากนั้น เมื่อรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดสถานศึกษา จำนวนดังกล่าวก็มีแนวโน้มลดลงจนถึงระดับต่ำสุดในช่วงปิดภาคเรียนเดือนตุลาคม 2022 ก่อนจะเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2/2022 แม้สถานศึกษาส่วนใหญ่จะกลับมาจัดการเรียนการสอนในสถานที่แล้ว[2] แนวโน้มเช่นนี้สะท้อนว่า ความเสี่ยงข้างต้นสัมพันธ์กับการเรียน โดยจะเพิ่มขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียนและเรียนออนไลน์
หากแยกพิจารณาเด็กและเยาวชนวัยเรียนสองช่วงอายุ คือ 10-15 ปี และ 16-18 ปี จะเห็นได้ว่าในช่วงเรียนออนไลน์ เด็กอายุ 10-15 ปีมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากกว่าเยาวชนอายุ 16-18 ปีอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในช่วงเรียนในสถานที่ ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนทั้งสองกลุ่มจะไม่แตกต่างกันมากนัก[3]
แผนภูมิที่ 4.1: จำนวนเด็กและเยาวชนที่ทำแบบประเมินสุขภาพจิตออนไลน์ได้ผลเสี่ยงซึมเศร้า ในช่วงเดือนมีนาคม 2022-เมษายน 2023
ที่มา: กรมสุขภาพจิต (2023)
แนวโน้มที่ความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตสัมพันธ์กับเรื่องการเรียน สอดคล้องกับข้อมูลสาเหตุความเครียดของเยาวชนอายุ 15-25 ปี ตามผลสำรวจของ คิด for คิดส์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ซึ่งพบว่า สาเหตุที่สำคัญที่สุดสามอันดับแรกได้แก่ การศึกษาและการทำงาน (ร้อยละ 45.9) การเงิน (ร้อยละ 43.5) และความสัมพันธ์กับครอบครัว (ร้อยละ 24.5)[4]
ทั้งนี้ ความเครียดจากการเรียนมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการเรียนในสถานศึกษาในระบบเท่านั้น เพราะเยาวชนไทยกว่า 1 ใน 3 ยังเรียนพิเศษเพิ่มเฉลี่ย 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเยาวชนเขตชนบทในต่างจังหวัดราวร้อยละ 35.6 เรียนพิเศษ ถือเป็นสัดส่วนสูงกว่าเยาวชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เรียนเพียงร้อยละ 19.5 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณภาพการศึกษาที่เหลื่อมล้ำกันระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด[5]
“… มัธยมศึกษาปีที่หกที่ควรจะสนุกสนานกลับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ช่วงเตรียมสอบอันแสนทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่มีวันไหนที่หนังสือเตรียมสอบจะไม่เลอะน้ำตา การเตรียมตัวสอบแข่งขันกับคนทั้งประเทศเพื่อเป็นหนึ่งในตัวเลือกของมหาลัยนั้นกัดกินทั้งความสุข และกลืนกินวัยเยาว์ที่ควรงดงามจนหลงเหลือเพียงเสียงสะอึกสะอื้น ท้ายที่สุดในวันที่ฉันร้องไห้เป็นบ้าเป็นหลังพร้อมกับรอบกายที่เต็มไปด้วยแผ่นกระดาษมากมายจากสถาบันกวดวิชา จิตใจที่ฉันคาดว่าในช่วงเวลานั้นมันคงไม่ปกติไปแล้วกำลังเรียกร้องให้ฉันละเลิกทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ใช่ตัวตนของตัวเอง …”
– ณนท อายุ 19 ปี
ครอบครัวถือเป็นสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลและมีศักยภาพในการดูแลสภาพสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่ดีจะส่งผลให้เยาวชนเผชิญความเครียดน้อยกว่า
หากแยกพิจารณาตามกลุ่มทัศนคติ เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 4 และ 5 ซึ่งสนิทสนมกับครอบครัวมากที่สุด และราวสองในสามเลือกปรึกษาครอบครัวเป็นลำดับแรกยามเผชิญปัญหาในชีวิต จะเป็นกลุ่มที่เครียดน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทัศนคติอื่น โดยสัดส่วนเยาวชนสองกลุ่มนี้ที่รายงานว่าเครียดมากถึงมากที่สุดมีเพียงร้อยละ 22.4 และร้อยละ 18.1 ตามลำดับ
ในทางกลับกัน เยาวชนกลุ่มทัศนคติ 1 และ 2 ซึ่งมีความคิดขัดแย้งกับครอบครัวมากที่สุด และส่วนใหญ่ไม่เลือกปรึกษาครอบครัวเมื่อเผชิญปัญหา จะเป็นกลุ่มที่เครียดมากที่สุด โดยสัดส่วนเยาวชนสองกลุ่มนี้ที่รายงานว่าเครียดสูงถึงร้อยละ 47.1 และร้อยละ 40.4 ตามลำดับ[6]
แผนภูมิที่ 4.2: สัดส่วนเยาวชนที่เลือกปรึกษาบุคคลกลุ่มต่างๆ เมื่อเผชิญปัญหาในชีวิต แยกตามกลุ่มทัศนคติ
ที่มา: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช (2023); ผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ (2022)
“… มีเด็กส่วนหนึ่ง ที่ไม่สามารถออกมาทำอาชีพที่ตนเองต้องการได้ เนื่องจากถูกครอบครัวตีกรอบ ทำให้เด็กเกิดความกดดันจากคนในครอบครัวและการเรียน เราจึงจะเห็นข่าวเด็กที่จบชีวิตตนเองอยู่บ่อยครั้ง ครอบครัวดิฉันเองเป็นครอบครัวที่พร้อมยอมรับในการตัดสินใจของลูก ว่าจะเรียนอะไร โดยไม่มีการบังคับแต่ต้องอยู่ในเส้นทางพอดี ตามหลักทางสายกลาง ครอบครัวของดิฉันคอยให้ความช่วยเหลือดิฉันตลอด ทำให้ดิฉันไม่เกิดความเครียด ทำให้ฉันสามารถเรียนได้โดยไร้ความกังวล ว่าครอบครัวจะเห็นด้วยกับสิ่งที่ดิฉันทำหรือไม่เพราะครอบครัวคือพื้นที่ที่ควรปลอดภัยที่ดีที่สุด ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าความฝันของเด็กสามารถเกิดขึ้นจริงได้หากผู้ปกครองสนับสนุน ให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ”
– อภิญญา อายุ 17 ปี
ท่ามกลางสถานการณ์สุขภาพจิตเด็กและเยาวชนที่น่ากังวล พวกเขากลับสามารถเข้าถึงบริการจิตเวชได้ยากยิ่งกว่าประชากรช่วงอายุอื่น ทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง จากการที่บริการเหล่านั้นมักไม่เพียงพอและกระจุกตัวอยู่เฉพาะพื้นที่เมืองใหญ่
ปัญหาดังกล่าวปรากฏตั้งแต่บริการติดตามอาการหลังคัดกรองขั้นปฐมภูมิด้วยตนเอง เด็กและเยาวชนที่ได้รับการประเมินว่าเสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงผ่านเว็บไซต์ Mental Health Check ในช่วงเดือนมีนาคม 2022-เมษายน 2023 เพียงร้อยละ 64.9 ได้รับการติดตามและส่งต่อให้บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ดูแลต่อ แม้บางพื้นที่จะมีอัตราการติดตามสูง เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ 100.0) และกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 76.0) แต่บางพื้นที่ก็มีอัตราดังกล่าวต่ำมาก โดยกลุ่มเสี่ยงสูงในจังหวัดกระบี่ เพชรบุรี และมุกดาหาร ไม่ได้รับการติดตามเลยแม้แต่คนเดียว (ร้อยละ 0.0)[7]
แผนภูมิที่ 4.3: จำนวนเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปีที่เสี่ยงซึมเศร้าและ/หรือฆ่าตัวตายสูงเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ได้รับการติดตามโดยบุคลากรสาธารณสุข ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022-เมษายน 2023
ที่มา: กรมสุขภาพจิต (2023)
ประเทศไทยยังมีสถานพยาบาลที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่เพียง 177 แห่ง จากจำนวนสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านจิตเวชทั้งหมด 452 แห่ง (รวมโรงพยาบาลและคลินิกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน) และมีจิตแพทย์เด็กรวม 295 คน ในจำนวนนี้ สถานพยาบาล 40 แห่ง (ร้อยละ 22.6) และจิตแพทย์ 111 คน (ร้อยละ 37.6) กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร ขณะที่มีถึง 17 จังหวัดซึ่งไม่มีสถานพยาบาลเช่นนั้นเลย และ 15 จังหวัดที่มีจิตแพทย์เด็กแค่คนเดียว[8]
แผนภูมิที่ 4.4: จำนวนสถานพยาบาลที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รายจังหวัด
ที่มา: กรมสุขภาพจิต; สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย; ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย (2022)
แผนภูมิที่ 4.5: จำนวนจิตแพทย์และพยาบาลจิตเวชที่เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น รายเขตสุขภาพ
ที่มา: กรมสุขภาพจิต (2022) คำนวณโดย 101 PUB
ในทำนองเดียวกัน พยาบาลจิตเวชเด็กที่เป็นกำลังหลักในการคัดกรองและการบำบัดขั้นเบื้องต้น ก็ประสบปัญหาขาดแคลนและกระจายตัวไม่ทั่วถึง พื้นที่วิกฤตที่สุดคือเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งมีพยาบาลจิตเวชเด็กเพียง 6 คน เมื่อรวมกับจิตแพทย์เด็ก 9 คนแล้ว คิดเป็นสัดส่วนต่อประชากรหนึ่งแสนคนต่ำสุดในประเทศ[9] นอกจากจะมีจำนวนไม่เพียงพอแล้ว พยาบาลจิตเวชเด็กส่วนใหญ่ยังต้องปฏิบัติงานพยาบาลทั่วไปควบคู่ไปด้วย ส่งผลให้ไม่สามารถให้บริการด้านจิตเวชได้เต็มเวลา ตอกย้ำปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น[10]
ปัญหาสุขภาพจิตถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการเติมเต็มความฝันของเด็กและเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงปีที่ผ่านมา วัยเรียนถือเป็นวัยที่เสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงสุด โดยมีสาเหตุใหญ่มาจากความเครียดเรื่องการศึกษา และได้รับผลกระทบจากสภาพความสัมพันธ์ภายในครอบครัว อย่างไรก็ดี บริการสุขภาพจิตเฉพาะทางสำหรับพวกเขายังมีไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึง และกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองใหญ่ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากไม่สามารถได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2023 พรรคการเมืองหลักหลายพรรคแสดงจุดยืนว่าให้ความสำคัญกับปัญหาข้างต้นมากขึ้น ทว่ามีเพียงพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศข้อเสนอนโยบายสุขภาพจิตอย่างเป็นทางการ
การรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตจำเป็นต้องมีมาตรการที่ครอบคลุมทั้งเชิงรุกและเชิงรับในระบบบริการสาธารณสุขไปจนถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่จะช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตตั้งแต่ต้นธาร
มีเพียงพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลที่ให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงต้นธาร โดยทั้งสองพรรคเสนอให้เตรียมความพร้อมให้แก่พ่อแม่มือใหม่ รวมถึงแก้ไขปัญหาความเครียดในโรงเรียนอันเนื่องมาจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม
อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดจะเห็นว่ามีเพียงพรรคก้าวไกลที่ถือเอาโรคจิตเวชเป็นโรคทางสังคมที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับทุกมิติ อาทิ สภาพการทำงาน สวัสดิการสังคม ไปจนถึงการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นพรรคเดียวที่เสนอนโยบายครอบคลุมประเด็นตั้งแต่การคัดกรอง
เพิ่มบุคลากร เพิ่มการเข้าถึง ไปจนถึงการเพิ่มความครอบคลุมของบริการ
แม้จะไม่มีพรรคใดกล่าวถึงปัญหาความไม่กระจายตัวของบุคลากร แต่จะเห็นว่าทั้งพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลเลือกนำเสนอให้ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (telemedicine) มาแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการจิตเวช เทคโนโลยีนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการบำบัดแบบพบหน้า[xi] และเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19[xii]
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการกระจุกตัวของบุคลากรในเมืองใหญ่ยังควรได้รับการทบทวนและประเมินว่าควรบริหารจัดการอย่างไรจึงจะสอดรับกับนโยบายใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และควรคำนึงถึงการดูแลสภาพแวดล้อมการทำงานของบุคลากรจิตเวชภายใต้เทคโนโลยีใหม่นี้ไม่น้อยไปกว่าการดูแลผู้ป่วย
แผนภูมิที่ 4.6: นโยบายด้านสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนของพรรคการเมืองหลักในการเลือกตั้งปี 2023
ที่มา: เว็บไซต์พรรคการเมือง (2023); สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (2023)
[1] ศูนย์เฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย, ปัญหาการฆ่าตัวตายในคนไทย ปี 2565, กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2022
[2] คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลกรมสุขภาพจิต (ข้อมูลวันที่ 30 เมษายน 2023)
[3] เพิ่งอ้าง.
[4] ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์.
[5]สรวิศ มา, “เปิดสถิติเรียนพิเศษนักเรียนไทย: เมื่อโรงเรียนไม่อาจพาเด็กไปถึงฝั่ง”, 101 Public Policy Think Tank, 19 มกราคม 2023, https://101pub.org/shadow-education-in-thailand/, (เข้าถึงเมื่อ 11 พฤษภาคม 2023).
[6] วิเคราะห์โดยอาศัยการจัดกลุ่มทัศนคติจาก: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช, เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’; ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์.
[7] คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลกรมสุขภาพจิต (ข้อมูลวันที่ 30 เมษายน 2023)
[8] คิด for คิดส์ รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลกรมสุขภาพจิต; สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย; และชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย (2022)
[9] คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลกรมสุขภาพจิต (2022)
[10] สรัช สินธุประมา, ดูแลหัวใจไม่ให้ใครร่วงหล่น: เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่ายและทันท่วงที (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว, 2023).
[11] Jones, Michael, and Girmay Berhie, “Efficacy of Telemedicine in Psychiatry and Mental Health Nursing,” International Journal of Extreme Automation and Connectivity in Healthcare 1, January 2019, 29–39.
[12] Bulkes, Nyssa Z., Kaley Davis, Brian Kay, and Bradley C. Riemann, “Comparing Efficacy of Telehealth to In-Person Mental Health Care in Intensive-Treatment-Seeking Adults,” Journal of Psychiatric Research 145, January 2022, 347–52.
101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง
ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม