เด็กและเยาวชนเติบโตในครัวเรือนเปราะบางทับซ้อน และยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤต


         จากผลสำรวจสถานการณ์หลังโควิดของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund, UNICEF) ในเดือนกันยายน 2022 ครัวเรือนร้อยละ 62 รายงานว่ามีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำสุดประสบปัญหามากกว่ากลุ่มครัวเรือนสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 69 และ 50 ตามลำดับ)[1]

         เมื่อประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ครัวเรือนส่วนใหญ่จึงต้องลดบริโภคอาหาร (ร้อยละ 53) และลดอุปโภคสินค้าอื่นที่มิใช่อาหาร (ร้อยละ 54) ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาวะและพัฒนาการของเด็กและเยาวชน กลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำสุดถึงร้อยละ 40 รายงานว่าไม่สามารถบริโภคอาหารที่ต้องการหรือมีสารอาหารเหมาะสม และร้อยละ 12 เคยอดอาหารทั้งวัน เพราะไม่มีเงินเพียงพอ[2]

         ครัวเรือนจำนวนมากยังต้องพึ่งพาเงินออมและสินเชื่อมาหมุนเวียนใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่มีเด็ก ครัวเรือนกลุ่มนี้ร้อยละ 30 รายงานว่าเคยกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ร้อยละ 19 นำทรัพย์สินไปจำนำหรือจำนอง และร้อยละ 35 ผิดนัดชำระหนี้ ถือเป็นสัดส่วนมากกว่าครัวเรือนที่ไม่มีเด็กราวหนึ่งเท่าตัว (ร้อยละ 15, ร้อยละ 8, และร้อยละ 18 ตามลำดับ)

แผนภูมิที่ 1.1:  สัดส่วนครัวเรือนตามวิธีรับมือปัญหาการเงินหลังโควิด แยกตามการมีเด็กในครัวเรือน

ที่มา: UNICEF (2022)

         ภาวะรายได้น้อย เงินออมต่ำ และหนี้สินท่วมจะบั่นทอนขีดความสามารถของเด็กและเยาวชนในการเติบโตและเติมเต็มความฝันท่ามกลางโลกท้าทาย โดยเยาวชนอายุ 15-25 ปีถึงร้อยละ 52.2 เห็นว่าการมีเงินไม่เพียงพอเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการประสบความสำเร็จด้านการศึกษา สัดส่วนข้างต้นสูงถึงร้อยละ 67.1 ในกลุ่มเยาวชนในครัวเรือนรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ตามผลสำรวจของ คิด for คิดส์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022[3]

         ครัวเรือนจำนวนมากยังเผชิญความเปราะบางมิติอื่นนอกเหนือจากความยากจน เช่น ไม่มีสัญชาติไทย มีสมาชิกพิการ ป่วย หรือติดเตียง และเป็นครัวเรือนแหว่งกลางหรือข้ามรุ่น ในปี 2021 เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีใน 1.8 ล้านครัวเรือนมิได้อาศัยอยู่กับบิดามารดา คิดเป็นร้อยละ 26.5 ของครัวเรือนที่มีเด็กช่วงอายุดังกล่าวทั้งหมด[4]

         ผลการศึกษาภาคสนามใน 5 จังหวัดของ คิด for คิดส์ พบว่าครัวเรือนแหว่งกลางมิได้เกิดจากบิดามารดาย้ายถิ่นไปทำงาน แล้วฝากบุตรไว้กับปู่ย่าตายายหรือญาติเท่านั้น แต่หลายกรณีเกิดจากบิดามารดาต้องโทษจำคุก ติดยาเสพติด ติดการพนัน หรือหย่าร้างและไปสร้างครอบครัวใหม่ เป็นต้น ความแหว่งกลางยังมีพลวัต เช่น บิดามารดาอาจไม่มีงานและกลับมาอาศัยอยู่กับบุตรในช่วงโควิด แต่หลังจากนั้นก็ย้ายออกไปทำงานอีก บิดามารดาที่ต้องคดีหรือติดยาเสพติดก็อาจกลับบ้านเป็นครั้งคราวแต่ไม่พร้อมจะดูแลบุตร[5]

         ความเปราะบางหลากมิติอาจเกิดขึ้นทับซ้อนกัน ส่งผลให้ครัวเรือนต้องการการสนับสนุนเป็นพิเศษ ซึ่งมักเกินความสามารถของญาติและชุมชนที่จะช่วยเหลือ แต่ในปัจจุบัน รัฐบาลจัดสวัสดิการในรูปแบบตัวเงินให้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย อีกทั้งยังขาดสวัสดิการในรูปแบบบริการที่ทั่วถึง เช่น บริการสำหรับคนพิการ คนออทิสติก และผู้ป่วยจิตเวช จึงไม่สามารถส่งเสริมให้ครัวเรือนเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมได้[6]

         ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคม อันเป็นที่ยึดเหนี่ยวและพึ่งพิงที่สำคัญสำหรับเยาวชนส่วนใหญ่ จากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ เยาวชนอายุ 15-25 ปีเชื่อถือไว้ใจครอบครัวมากกว่ากลุ่มและสถาบันทางสังคมอื่นทั้งหมด โดยร้อยละ 44.4 เลือกปรึกษาครอบครัวเป็นลำดับแรกเมื่อประสบปัญหาในชีวิต เยาวชนถึงร้อยละ 79.8 ยังเห็นว่าความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวเป็นเป้าหมายชีวิตที่สำคัญมากถึงมากที่สุด ถือเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับสาม รองจากความสำเร็จในหน้าที่การงาน (ร้อยละ 85.0) และความร่ำรวยและอิสรภาพทางการเงิน (ร้อยละ 80.4)[7]

  อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่ปลอดภัย อบอุ่น และเป็นรากฐานอันมั่นคงในการเติบโตและเติมเต็มความฝันสำหรับเยาวชน หากจำแนกเยาวชนด้วยคุณค่าและทัศนคติตามผลวิจัยของ คิด for คิดส์ เยาวชนแต่ละกลุ่มทัศนคติมีแนวโน้มประสบปัญหาความสัมพันธ์เปราะบางภายในครอบครัวต่างรูปแบบกัน[8]

         กลุ่มทัศนคติ 1 เสี่ยงห่างเหิน ขัดแย้ง และตึงเครียด โดยพวกเขาใช้เวลาและสนิทสนมกับครอบครัวน้อยที่สุด ขัดแย้งทางความคิดกับครอบครัวสูงสุด และรู้สึกเครียดจากเรื่องความสัมพันธ์กับครอบครัวมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทัศนคติอื่น กลุ่มทัศนคติ 2 และ กลุ่มทัศนคติ 4 อาจเผชิญความสัมพันธ์ที่ต้องปิดปากเงียบ เพราะพวกเขากลัวที่จะแสดงความเห็นแย้งกับผู้อาวุโสมากที่สุด ส่วนกลุ่มทัศนคติ 5 ก็เชื่อถือไว้ใจ ให้ความสำคัญ และคำนึงถึงครอบครัวน้อยที่สุด[9]

… ฉันผูกพันกับพ่อแม่ กระทั่งคำต่อว่าเบาๆ ของพวกเขาก็ทำให้ฉันรู้สึกแย่ได้ แม้เป็นเช่นนี้แต่แม่กับฉันยังคงพูดจาไม่ดีใส่กัน ฉันร้องไห้เพราะแม่มานับครั้งไม่ถ้วน จนเรียนรู้วิธีลดความเสียใจ รู้วิธีที่จะไม่รู้สึกอะไรกับคำพูดของแม่ แต่ฉันจดจำถ้อยคำเหล่านั้นไว้ มันไม่ได้อยู่ในรูปของคำพูด แต่เปลี่ยนเป็นความรู้สึกในใจ […]

ฉันคาดหวังให้ชีวิตของตัวเองมีความสุขกว่านี้ มีบ้านที่พักผ่อนได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าออกมาจากห้องแล้วจะต้องทะเลาะกับแม่ ไม่ต้องระแวงว่าจะได้เงินไปกินข้าวไหมหากขัดแย้งกับคนในบ้าน ต่อให้ผูกพัน แต่ฉันไม่อยากอยู่กับพ่อแม่อีกแล้ว ฉันรอวันที่จะทำงานหาเงินเอง ได้ออกไปจากบ้านที่น่าอึดอัด โลดแล่นออกไปตามความต้องการ

– ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ อายุ 16 ปี

“มีครูพูดกับฉันว่า “ให้แต่แม่คอยบอกคิดเองไม่ได้” […] เราก็ได้แต่ต้องเงียบแล้วปล่อยไป เพราะสิ่งที่ครูพูดก็เป็นแบบนั้นจริงๆ แต่ถ้าเราไม่ทำตามก็คงจะต้องทะเลาะกับแม่ ซึ่งผลที่ตามมาไม่ใช่เรื่องที่ดีและเราก็ไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ฉันไม่ชอบการทะเลาะ หรือการจะต้องมาเสียเวลาไปกับการพูดที่มันไม่เป็นผลดีต่อฉันเองและคนรอบข้าง ถ้าเพียงอยู่ในกรอบ และทำตามกฎเกณฑ์ เรื่องวุ่นวายต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่จริงๆ แล้วกลายเป็นเราที่ต้องทนเก็บกลั้นไว้เพียงคนเดียว พูดอะไรก็ไม่กล้า”

– ศุภดา อายุ 21 ปี

แผนภูมิที่ 1.2:  สัดส่วนเยาวชนที่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับครอบครัว แยกตามกลุ่มทัศนคติ

ที่มา: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช (2023); ผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ (2022)

ดูคุณค่า-ทัศนคติเด่นของแต่ละกลุ่ม

กลุ่มทัศนคติ 1 กลุ่มทัศนคติ 2 กลุ่มทัศนคติ 3 กลุ่มทัศนคติ 4 กลุ่มทัศนคติ 5

         กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำหนดนิยามครัวเรือนเปราะบาง หมายถึง ครัวเรือนที่สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคนต่อปี และมีสมาชิกอยู่ในภาวะพึ่งพิง เช่น เด็กเล็ก คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2021 พบว่าครัวเรือนลักษณะดังกล่าวมีจำนวน 3.4 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 14.4 ของครัวเรือนทั้งหมด โดยกระจุกตัวมากที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา (2.1 แสนครัวเรือน) จังหวัดนครศรีธรรมราช (1.3 แสนครัวเรือน) และกรุงเทพมหานคร (1.2 แสนครัวเรือน)[10]

         อย่างไรก็ดี ฐานข้อมูลครัวเรือนเปราะบางของกระทรวง (สมุดพกครัวเรือนอิเล็กทรอนิกส์) กลับครอบคลุมครัวเรือนกลุ่มข้างต้นเพียง 4.5 แสนครัวเรือน หรือราวร้อยละ 13.2 ของทั้งหมด และไม่มีข้อมูลครัวเรือนเปราะบางในกรุงเทพมหานครเลย[11] สะท้อนว่ารัฐบาลจะไม่รับทราบสภาพปัญหา และไม่สามารถดำเนินมาตรการแก้ปัญหาให้เข้าถึงครัวเรือนเปราะบางส่วนใหญ่ได้

         ตามฐานข้อมูลนี้ มาตรการต่อครัวเรือนเปราะบางร้อยละ 59.0 ยังเป็นการให้คำแนะนำเท่านั้น มีเพียงร้อยละ 36.2 ที่ได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวง และร้อยละ 4.8 ที่ได้รับการประสานส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่น[12]

แผนภูมิที่ 1.3:  สัดส่วนความครอบคลุมของข้อมูลครัวเรือนเปราะบางในฐานข้อมูลสมุดพกครัวเรือนอิเล็กทรอนิกส์ เปรียบเทียบกับผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2021

ที่มา: คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (2023) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021)

         ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2023 ข้อเสนอนโยบายครอบครัวของพรรคการเมืองหลักส่วนใหญ่มุ่งเน้นการขยายสวัสดิการตัวเงิน โดยยกระดับเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ด้วยการเพิ่มวงเงิน ขยายช่วงอายุที่มีสิทธิรับเงิน หรือปรับเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า พรรครวมไทยสร้างชาติยังเสนอให้จัดตั้งกองทุนเงินกู้สำหรับพ่อและแม่เลี้ยงเดี่ยว

         สำหรับสวัสดิการที่มิใช่ตัวเงิน มีเพียงพรรคก้าวไกลและพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอให้ขยายสิทธิลาคลอดเป็น 180 วัน เพื่อให้พ่อแม่มีเวลาเลี้ยงดูเด็กเล็กมากขึ้น และให้เพิ่มศูนย์เด็กเล็กในสถานที่ทำงาน พรรคก้าวไกลยังเสนอให้ลดอายุขั้นต่ำของเด็กเล็กที่ศูนย์เด็กเล็กให้บริการ เพื่อปิดช่องว่างระหว่างระยะเวลาที่พ่อแม่มีสิทธิลาคลอด กับอายุขั้นต่ำดังกล่าวด้วย

         ในด้านการช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบาง มี 3 พรรคการเมืองที่เสนอจะพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยพรรคก้าวไกลเสนอให้ทำผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนเพื่อไทยเสนอให้มีศูนย์ชีวาภิบาล (hospice) แต่ไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดในการดำเนินงาน

         พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่กล่าวถึงครัวเรือนเปราะบางในรูปแบบที่หลากหลายอย่างครบถ้วนมากที่สุด โดยเสนอให้ความช่วยเหลือทั้งครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว พ่อแม่วัยรุ่น ครอบครัวแหว่งกลาง และครอบครัวเร่ร่อน แต่ไม่ได้ระบุถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายแต่อย่างใด จึงกล่าวได้ว่านโยบายของทุกพรรคยังไม่เพียงพอสำหรับการช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบางทับซ้อน

แผนภูมิที่ 1.4:  นโยบายด้านครอบครัวของพรรคการเมืองหลักในการเลือกตั้งปี 2023

ที่มา: เว็บไซต์พรรคการเมือง (2023); สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (2023)


[1] United Nations Children’s Fund [UNICEF], Is Thailand on The Path to An Inclusive Recovery?: Findings from The First Round of A High-Frequency Survey 2022 (UNICEF, 2022).

[2] เพิ่งอ้าง.

[3] ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา, และ สรวิศ มา, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์: รอบการสำรวจ พฤษภาคม 2022 (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว, 2022).

[4] คิด for คิดส์ คำนวณจากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (2021)

[5] สร้อยมาศ รุ่งมณี, วาสนา ละอองปลิว และ บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล, พลวัตครอบครัวในสังคมไทยในสถานการณ์โควิด–19: การปรับตัวของครัวเรือนเปราะบางและข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเด็กและครอบครัว (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว, 2022).

[6] เพิ่งอ้าง.

[7] ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์.

[8] วิเคราะห์โดยอาศัยการจัดกลุ่มทัศนคติจาก: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช, เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: ผลการศึกษาคุณค่า-ทัศนคติเยาวชน จากผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว, 2023); ดูในอารัมภบทของรายงานนี้.

[9] เพิ่งอ้าง.

[10] คิด for คิดส์ คำนวณจากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (2021)

[11] กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์, 2023, https://mso-logbook.m-society.go.th/ (เข้าถึงเมื่อ 11 พฤษภาคม 2023).

[12] เพิ่งอ้าง.


1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.