เยาวชนมีงานที่ดีและสอดคล้องกับความฝันได้ยากขึ้น


เยาวชนอยากประสบความสำเร็จด้านการทำงาน แต่ไทยไม่มีงานให้ทำเพียงพอ-ทั่วถึง

         เยาวชนอายุ 15-25 ปีถึงร้อยละ 85.0 รายงานว่าการประสบความสำเร็จด้านการทำงานเป็นเป้าหมายชีวิตที่สำคัญมากถึงมากที่สุด ถือเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับหนึ่ง ตามผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022[1]

         อย่างไรก็ดี ประเทศไทยกลับมีตำแหน่งงานไม่มีเพียงพอสำหรับเยาวชนยิ่งขึ้นตั้งแต่วิกฤตโควิดเป็นต้นมา โดยอัตราการว่างงานของเยาวชนพุ่งขึ้นจากร้อยละ 4.6 ในช่วงก่อนการระบาดปี 2019 เป็นร้อยละ 6.6-6.8 ในช่วงการระบาดปี 2020-2021 แม้วิกฤตสิ้นสุดลงแล้ว แต่อัตราการว่างงานก็มิได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ยังคงอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.1 ในปี 2022 สูงสุดในรอบสองทศวรรษ หากพิจารณาการว่างงานแฝงร่วมด้วย (combined rate of unemployment and time-related underemployment) จะพบว่าอัตราเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.4 ในปี 2019 เป็นร้อยละ 8.3-8.4 ในปี 2020-2021 มากกว่าอัตราในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25 ปีขึ้นไปถึงสามเท่าตัว[2]

แผนภูมิที่ 2.1:  อัตราการว่างงานและว่างงานแฝง แยกตามช่วงอายุและระดับการศึกษา ปี 2019-2021

ที่มา: คิด for คิดส์ คำนวณจากผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2019-2021)

         ปัญหาดังกล่าวรุนแรงที่สุดในกลุ่มเยาวชนผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในปี 2021 อัตราการว่างงานและว่างงานแฝงของเยาวชนกลุ่มนี้สูงถึงร้อยละ 16.1 ซึ่งมากกว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับอื่น ทั้งระดับต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น (ร้อยละ 6.8) มัธยมศึกษาตอนต้น (ร้อยละ 6.9) และมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ร้อยละ 6.5)[3]

         ยิ่งไปกว่านั้น งานที่ไม่เพียงพอข้างต้นยังมิได้กระจายตัวทั่วถึงทุกพื้นที่ ตำแหน่งงานนอก
ภาคเกษตรสำหรับเยาวชนร้อยละ 38.4 และมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรร้อยละ 51.0 กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของเยาวชนเพียงร้อยละ 15.5 ของทั้งประเทศ ตามข้อมูลทะเบียนกรมการปกครอง ขณะที่ต่างจังหวัดกลับมีตำแหน่งงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจร้อยละ 61.6 และ 49.0 ตามลำดับ แม้จะเป็นภูมิลำเนาของเยาวชนมากถึงร้อยละ 84.5[4] สะท้อนว่าเยาวชนในต่างจังหวัดยิ่งประสบปัญหาหางานได้ยาก จำนวนมากจำเป็นต้องอพยพสู่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ที่อาจห่างไกลบ้านเกิดและครอบครัว เพื่อแสวงหาโอกาสและเติมเต็มความฝันด้านการทำงาน

เยาวชนร้อยละ 14.8-15.1 ไม่ได้รับจ้างงาน เรียน หรือฝึกทักษะ (NEET) ในปี 2019-2021

         เยาวชนอีกจำนวนหนึ่งเผชิญข้อจำกัดทางสังคม ส่งผลให้ไม่ต้องการหรือไม่สามารถทำงานได้ เยาวชนประเภทนี้และเยาวชนว่างงานซึ่งกล่าวถึงในส่วนที่ผ่านมาเรียกรวมกันว่า “เยาวชนที่ไม่ได้รับจ้างงาน เรียน หรือฝึกทักษะ” (not in education, employment, or training, NEET – เยาวชน NEET) จากสถิติองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization, ILO) สัดส่วนเยาวชนอายุ 15-24 ปีที่เป็น NEET สูงถึงร้อยละ 14.8-15.1 ในช่วงก่อนและระหว่างวิกฤตโควิดตั้งแต่ปี 2019-2021 โดยในปี 2021 มีจำนวนรวมกว่า 1.3 ล้านคน[5]

         สัดส่วนเยาวชน NEET สูงสุดในกลุ่มเยาวชนผู้สำเร็จการศึกษาระดับต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้นและระดับอุดมศึกษา ในกลุ่มแรก สัดส่วนเยาวชน NEET ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญที่ร้อยละ 50.8 และ 27.2 ตามลำดับ ขณะที่ในกลุ่มหลัง สัดส่วนในทั้งสองเพศร่างกายใกล้เคียงกันที่ราวร้อยละ 32.9 อย่างไรก็ดี เยาวชนที่สำเร็จการศึกษาสองระดับนี้มีค่อนข้างน้อย หากพิจารณาเป็นจำนวน กลุ่มที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะมีจำนวนเยาวชน NEET มากที่สุด คือ 6.4 แสนคน[6]

แผนภูมิที่ 2.2:  สัดส่วนเยาวชน NEET แยกตามระดับการศึกษาและเพศ ปี 2021

 ที่มา: องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (2023)

         งานศึกษาของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า เยาวชน NEET กว่าสองในสามหรือประมาณร้อยละ 68.2 ไม่พร้อมทำงานและไม่ต้องการฝึกทักษะ สาเหตุสำคัญที่สุดสองอันดับแรกได้แก่ ต้องการพักผ่อน (ร้อยละ 24.4) และไม่มีเวลา (ร้อยละ 21.7)[7]

         ความต้องการพักผ่อนส่วนหนึ่งสะท้อนว่า งานในประเทศไทยไม่มีคุณภาพและคุณค่าเพียงพอที่เยาวชนจะอยากสละเวลาไปทำ ขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาและฝึกทักษะก็ล้มเหลวในการพัฒนาเยาวชนให้ได้งานที่ดี ส่วนการไม่มีเวลามักเกิดจากภาระงานบ้านและดูแลสมาชิกครอบครัวในภาวะพึ่งพิง เช่น ผู้สูงวัย ผู้พิการ และบุตร ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการและบริการการดูแลอย่างทั่วถึง อีกทั้งงานเหล่านี้ก็ไม่ถูกนิยามเป็นงานอันพึงได้รับค่าตอบแทน ทั้งหมดกลายเป็นเงื่อนไขกีดกันมิให้เยาวชนมหาศาลได้ออกไปทำงาน ซึ่งจะบั่นทอนขีดความสามารถในการเติมเต็มความฝันของพวกเขาในระยะยาว

เยาวชนหางานยาก แต่หา ‘งานที่ดี’ ยากกว่า: งานค่าจ้างต่ำ-ไม่ตรงตามฝัน-หนักเกินควร

         ปัญหาที่น่ากังวลยิ่งกว่าประเทศไทยไม่มีงานเพียงพอ คือไม่มี “งานที่ดี” (decent job) เพียงพอสำหรับเยาวชน หากนิยามความหมายของงานที่ดีตามปัจจัยสำคัญที่เยาวชนใช้เลือกงาน ผลสำรวจเยาวชนอายุ 15-25 ปี ของ คิด for คิดส์ พบว่าปัจจัยสำคัญที่สุดสามอันดับแรกคือ ได้ค่าจ้างสูง (ร้อยละ 36.5) สอดคล้องกับความฝัน (ร้อยละ 22.9) และเลือกเวลาทำงานได้อิสระ (ร้อยละ 11.5)[8]

แผนภูมิที่ 2.3:  ค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานเยาวชน แยกตามกลุ่มระดับค่าจ้าง 5 กลุ่ม (Q1 ค่าจ้างต่ำสุด Q5 ค่าจ้างสูงสุด) ปี 2021

ที่มา: คิด for คิดส์ คำนวณจากผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021)

         เยาวชนคาดหวังค่าจ้างต่ำสุดในการทำงานเต็มเวลาเฉลี่ย 23,268 บาทต่อเดือน[9] แต่ค่าจ้างที่แรงงานเยาวชนได้จริงน้อยกว่าความคาดหวังมาก ในปี 2021 มีมูลค่าเฉลี่ยเพียง 16,680 บาทต่อเดือน[10] ซึ่งสูงกว่าระดับค่าใช้จ่ายขั้นต่ำในการยังชีพอย่างเหมาะสมที่ 15,201 บาทต่อเดือนเล็กน้อยเท่านั้น[11] ค่าจ้างแรงงานเยาวชนยังเหลื่อมล้ำรุนแรง โดยแรงงานเยาวชนถึงร้อยละ 80 ได้ค่าจ้างน้อยกว่าค่าเฉลี่ยและระดับค่าใช้จ่ายข้างต้น กลุ่มที่ค่าจ้างต่ำสุด 20% ได้ค่าจ้างเฉลี่ยเพียง 6,295 บาทต่อเดือน น้อยกว่าระดับค่าใช้จ่ายขั้นต่ำเกือบร้อยละ 58.6[12]

         ตำแหน่งงานในประเทศส่วนใหญ่ยังไม่สอดคล้องกับความฝันของเยาวชน จากผลสำรวจของกระทรวงวัฒนธรรมและมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในปี 2023 เด็กและเยาวชนล้วนอยากทำอาชีพทักษะสูง อาชีพในฝัน 5 อันดับแรกได้แก่ ครูและอาจารย์ (ร้อยละ 14.9) แพทย์และพยาบาล (ร้อยละ 12.3) นักธุรกิจ (ร้อยละ 11.5) ทหารและตำรวจ (ร้อยละ 11.2) และยูทูบเบอร์ (ร้อยละ 9.6)[13] แต่ในปี 2021 มีแรงงานเยาวชนเพียงร้อยละ 6.9 เท่านั้นที่ได้ทำอาชีพในระดับทักษะดังกล่าว กว่าสามในสี่หรือร้อยละ 76.1 กลับต้องทำอาชีพทักษะปานกลาง และร้อยละ 16.8 ทำอาชีพทักษะต่ำ[14]

         ท้ายที่สุด เยาวชนต้องการอิสระในการเลือกเวลาทำงาน เฉลี่ยไม่เกิน 34.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์[15] แต่ในความเป็นจริง แรงงานเยาวชนต้องทำงานหนักกว่านั้นมาก ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของพวกเขาสูงถึง 41.0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และร้อยละ 68.4 ก็ทำงานนานกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์[16] ควรกล่าวด้วยว่าเยาวชนไม่ต้องการให้เวลาทำงานมากเกินไป สาเหตุหนึ่งก็เพราะงานส่วนใหญ่เป็นงานคุณภาพต่ำ ไม่สามารถสนองคุณค่าและความฝันอื่นที่เหนือกว่าการได้รับค่าจ้างตอบแทนเพียงน้อยนิด

“… ฉันเคยคิดเอาไว้ว่าเมื่อเรียนจบมา ทำงานจนมีเงินเดือนเป็นของตัวเอง ชีวิตความเป็นอยู่ก็คงจะดีขึ้น แต่ไม่เลย มรสุมที่เข้ามาทำให้มีเงินกินเงินใช้แค่เพียงเดือนชนเดือน เอาไปต่อยอดอะไรไม่ได้ เอาไปซื้อชีวิตที่ดีกว่านี้ไม่ได้ เพราะแค่บริหารเงินให้อิ่มท้องจนพ้นไปอีกเดือนก็ยากพอแล้ว ตอกย้ำฉันจนขึ้นใจอีกครั้งว่าหากลาออกไปทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ ในเมืองนี้ฉันคงไส้แห้งตาย

ความ ‘อยาก’ ถูกบดจนป่นปี้ ได้แต่อิจฉาริษยาทุกคนที่ได้ทุกอย่างในสิ่งที่ต้องการ ได้แต่น้อยเนื้อต่ำใจที่ต้องดิ้นรนอย่างไร้ความหมาย ไม่ว่าจะทำงานหนักอย่างไรก็แทบไม่เห็นหนทางที่ดีขึ้น ภาระบนบ่าช่างเป็นโซ่ล่ามอันแข็งแกร่งที่กักขังฉันไว้บนโลกอันฟอนเฟะ ‘ความไม่มี’ ได้รุมทึ้งกัดแทะจนแทบไม่เหลืออะไรให้ฉันยินดี กัดกินไปแม้กระทั่งความ ‘อยาก’ ของตัวฉันในอดีต ฉันเกลียดชังสังคมเน่าๆ ที่ฉันอยู่เพราะมันไม่เคยรองรับความฝันของใครเลยนอกจากคนรวย ฉันจะไปทำงานที่อยากทำได้อย่างไร ฉันจะไปเป็นพนักงานร้านหนังสือได้อย่างไรในเมื่อเงินเดือนช่างน้อยนิดสวนทางกับเรี่ยวแรงที่ทุ่มลงไปขนาดนั้น ฉันจะไปทำงานมูลนิธิหรือสังคมสงเคราะห์ยังไงถ้ารายได้ยังเป็นแค่เงินเดือนขั้นต่ำในเมืองที่ค่าครองชีพสูงลิ่วแบบนี้ ฉันจะไปกล้าทำตามความฝันในเมืองที่ยังด้อยค่าแรงงาน ดูถูกสายศิลปะ และยกยอแค่ไม่กี่อาชีพแบบนี้ได้ยังไง …”

– magnitude99 อายุ 23 ปี

เยาวชนให้ความสำคัญกับจริยธรรมนายจ้าง-ประชาธิปไตยในที่ทำงาน

แผนภูมิที่ 2.4:  ปัจจัยที่สำคัญที่สุด 4 อันดับแรกในการเลือกนายจ้างของเยาวชน แยกตามกลุ่มทัศนคติ

ที่มา: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช (2023); ผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ (2022)

ดูคุณค่า-ทัศนคติเด่นของแต่ละกลุ่ม

กลุ่มทัศนคติ 1 กลุ่มทัศนคติ 2 กลุ่มทัศนคติ 3 กลุ่มทัศนคติ 4 กลุ่มทัศนคติ 5

         ปัญหาคุณภาพงานย่อมเกี่ยวข้องกับลักษณะของนายจ้างและความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างด้วย หากนิยามความหมายของนายจ้างที่ดีตามปัจจัยสำคัญที่เยาวชนใช้เลือกนายจ้าง ผลสำรวจเยาวชนอายุ 15-25 ปี ของ คิด for คิดส์ พบว่าปัจจัยสำคัญที่สุดสามอันดับแรกได้แก่ มั่นคงและเหมาะสมที่จะร่วมงานไปจนเกษียณ (ร้อยละ 35.6) ดำเนินงานอย่างมีจรรยาบรรณ (ร้อยละ 18.8) และรับฟังความเห็นของลูกจ้าง (ร้อยละ 16.5)[17]

         เมื่อแยกพิจารณาตามกลุ่มทัศนคติเยาวชน การดำเนินงานอย่างมีจรรยาบรรณและการรับฟังความเห็นของลูกจ้างถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอันดับ 2-4 ในทุกกลุ่ม โดยประเด็นจรรยาบรรณสำคัญมากที่สุดสำหรับกลุ่มทัศนคติ 2 (ร้อยละ 22.1) และน้อยที่สุดสำหรับกลุ่มทัศนคติ 5 (ร้อยละ 11.6) ซึ่งเน้นเอาตัวรอดมากกว่ายึดถือคุณค่านามธรรม ส่วนประเด็นการรับฟังลูกจ้างสำคัญมากที่สุดสำหรับกลุ่มทัศนคติ 1 (ร้อยละ 19.8) ซึ่งมองคนเท่ากัน กล้าแสดงความเห็น และกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม และน้อยที่สุดสำหรับกลุ่มทัศนคติ 4 (ร้อยละ 10.9) ซึ่งเคารพลำดับชั้นทางสังคมเคร่งครัดกว่ากลุ่มอื่น[18]

         ผลสำรวจนี้สะท้อนว่า งานที่ดีในทรรศนะของเยาวชนมิได้หมายถึงเพียงงานค่าจ้างสูงและไม่หนักเกินควร แต่ยังต้องสอดคล้องกับคุณค่าและทัศนคติที่พวกเขายึดถืออีกด้วย

พรรคเน้นเสนอนโยบายสร้างงาน-เพิ่มรายได้ แต่ขาดนโยบายเฉพาะกลุ่ม NEET-สร้างงานที่ดี

         การประสบความสำเร็จด้านการทำงานถือเป็นเป้าหมายชีวิตที่สำคัญที่สุดของเยาวชน ถึงกระนั้น ตั้งแต่วิกฤตโควิดเป็นต้นมา ประเทศไทยกลับมีตำแหน่งงานสำหรับเยาวชนไม่เพียงพอและทั่วถึง
ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “งานที่ดี” ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการด้านค่าจ้าง ความฝัน เวลาทำงาน และคุณค่าของเยาวชนอย่างเหมาะสม

         ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2023 พรรคการเมืองหลักทุกพรรคล้วนมีข้อเสนอนโยบายแก้ปัญหาเยาวชนไม่มีงานทำ ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างตำแหน่งงานใหม่ ตลอดจนกระจายตำแหน่งงานไปยังต่างจังหวัด หลายพรรคยังมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจบางสาขาเป็นพิเศษ เช่น พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ และรวมไทยสร้างชาติสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะเดียวกัน ทุกพรรคการเมืองก็มุ่งเพิ่มโอกาสในการได้งานและยกระดับค่าจ้างของแรงงานเยาวชน ด้วยการพัฒนาทักษะผ่านระบบการศึกษา รวมถึงการเรียนรู้และฝึกอบรมตลอดชีวิต

         อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของพรรคการเมืองหลักทั้งหมดยังขาดนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะของเยาวชน NEET อย่างเป็นระบบ ที่สำคัญ แม้จะพยายามสร้างงานสำหรับเยาวชน แต่ส่วนใหญ่ละเลยการพัฒนาคุณภาพงานให้กลายเป็นงานที่ดีในทุกมิติ ในมิติรายได้ พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และก้าวไกลเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่ในมิติเวลาและมาตรฐานการทำงาน พรรคก้าวไกลเป็นเพียงพรรคเดียวที่เสนอให้กำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีวันหยุดอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ ในมิติอำนาจต่อรองแรงงานก็เช่นกัน พรรคก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่ประกาศรับรองเสรีภาพในการรวมตัวของแรงงาน และจะพัฒนากลไกต่อรองและยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างที่ชัดเจนและได้รับการคุ้มครอง

แผนภูมิที่ 2.5:  นโยบายด้านการทำงานของเยาวชนของพรรคการเมืองหลักในการเลือกตั้งปี 2023

                  ที่มา: เว็บไซต์พรรคการเมือง (2023); สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (2023)


[1] ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์.

[2] คิด for คิดส์ คำนวณจากผล​สำรวจ​ภา​​วะการทำ​งานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2019-2022)

[3] เพิ่งอ้าง.

[4] เพิ่งอ้าง; สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, GPP – Dashboard, 2022, https://lookerstudio.
google.com/u/0/reporting/704fe6c7-aecb-4362-9062-3dc971c75982/page/p_woqsppkotc
(เข้าถึงเมื่อ 14 พฤษภาคม 2023); “จำนวนประชากรจากการทะเบียน จำแนกตามอายุ เพศ ภาคและจังหวัด พ.ศ. 2564,” สำนักงานสถิติแห่งชาติ, http://statbbi.nso.go.th/staticreport/Page/sector/TH/report/sector_01_11101_TH_.xlsx (เข้าถึงเมื่อ 14 พฤษภาคม 2023).

[5] “Share of youth not in employment, education or training (NEET) by sex and education (%) | Annual,” ILOSTAT, April 16, 2023, https://www.ilo.org/ilostat-files/Documents/Excel/INDICATOR/EIP_NEET_SEX_EDU_
RT_A_EN.xlsx
(accessed May 14, 2023); “Youth not in employment, education or training (NEET) by sex and education (thousands),” ILOSTAT, May 6, 2023, https://www.ilo.org/ilostat-files/Documents/Excel/INDICATOR/
EIP_NEET_SEX_EDU_NB_A_EN.xlsx
(accessed May 14, 2023).

[6] เพิ่งอ้าง.

[7] UNICEF & College of Population Studies, Social Research Institute, Chula Unisearch, In-depth Research on Youth Not in Employment, Education or Training (NEET) in Thailand (Bangkok: UNICEF, 2023), 41.

[8] ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์.

[9] เพิ่งอ้าง.

[10] คิด for คิดส์ คำนวณจากผล​สำรวจ​ภา​​วะการทำ​งานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021)

[11] กษิดิ์เดช คำพุช, “ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต,” 101 Public Policy Think Tank, 29 กันยายน 2022, https://101pub.org/minimum-wage-to-living-wage/ (เข้าถึงเมื่อ 14 พฤษภาคม 2023).

[12] คิด for คิดส์ คำนวณจากผล​สำรวจ​ภา​​วะการทำ​งานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021)

[13] “ผลโพลอาชีพในฝันเด็กไทย อยากเป็น “ครู” มากที่สุด,” คมชัดลึกออนไลน์, 14 มกราคม 2023, https://www.
komchadluek.net/news/education/540900 (เข้าถึงเมื่อ 14 พฤษภาคม 2023).

[14] “Employment by sex, age and occupation (thousands),” ILOSTAT, April 16, 2023, https://www.ilo.org/ilostat-files/Documents/Excel/EMP_TEMP_SEX_AGE_OCU_NB_A_EN.xlsx (accessed May 14, 2023).

[15] ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์.

[16] คิด for คิดส์ คำนวณจากผล​สำรวจ​ภา​​วะการทำ​งานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021)

[17] ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์.

[18] วิเคราะห์โดยอาศัยการจัดกลุ่มทัศนคติจาก: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช, เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’; ดูในอารัมภบทของรายงานนี้.


1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.