แนวโน้มที่ 3
การปิดสถานที่เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องมาถึงช่วงปี 2021-2022 ส่งผลให้กิจกรรมหลายอย่างในชีวิตเด็กและเยาวชนต้องย้ายจากโลกกายภาพไปสู่โลกออนไลน์ อย่างไรก็ดี การปิดสถานที่โดยขาดมาตรการรองรับผลกระทบที่เหมาะสมและเพียงพอ ประกอบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงและเรื้อรังมาตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด ทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดทักษะและอุปกรณ์ที่จำเป็นและเท่าเทียม
การปิดสถานที่ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเร่งให้เด็กต้องเข้าสู่โลกออนไลน์เร็วขึ้น โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่เริ่มให้เด็กใช้สื่อดิจิทัลตั้งแต่อายุเพียง 2-3 ปี ตามผลสำรวจของ สสส. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร-ศาสตร์ และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนในเดือนมกราคม 2021[1]
ยิ่งไปกว่านั้น เด็กและเยาวชนยังต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์ จากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ ในเดือนพฤษภาคม 2022 เยาวชนอายุ 15-25 ปีใช้เวลารับสื่อออนไลน์เฉลี่ยมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยกลุ่มที่เรียนเต็มเวลาร้อยละ 97.0 ใช้อินเทอร์เน็ตในการเรียน ส่วนกลุ่มที่ทำงานเต็มเวลาร้อยละ 70.5 ใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงาน เยาวชนเกือบทั้งหมดยังใช้อินเทอร์เน็ตโทรและส่งข้อความ (ร้อยละ 97.6) ค้นคว้าข้อมูล (ร้อยละ 97.1) ใช้โซเชียลมีเดีย (ร้อยละ 94.7) ซื้อสินค้า (ร้อยละ 86.8) และเล่นเกม (ร้อยละ 81.8)
แม้เด็กและเยาวชนจะต้องใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มาก แต่ยังขาดทักษะรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (media, information, and digital literacy, MIDL) ซึ่งจำเป็นยิ่งต่อการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย มีประสิทธิผล และมีประสิทธิภาพ จากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ เยาวชนอายุ 15-25 ปีประเมินตนเองว่ามีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือดิจิทัลอยู่ที่ระดับคะแนนเฉลี่ยเพียง 3.23 เต็ม 5 และมีทักษะการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลอยู่ที่ 3.27 เต็ม 5 เท่านั้น
ปัญหาการขาดทักษะนี้มีแนวโน้มรุนแรงกว่าในเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนรายได้ต่ำ โดยเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 60 (ควินไทล์ที่ 1-3) มีระดับคะแนนเฉลี่ยในทั้งสองทักษะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ หากเปรียบเทียบระหว่างเยาวชนจากครัวเรือนในควินไทล์ที่ 1 (รายได้ต่ำสุด) กับควินไทล์ที่ 5 (รายได้สูงสุด) จะเห็นได้ว่าควินไทล์ที่ 1 มีระดับคะแนนเฉลี่ยในทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ฯ (3.07) และทักษะการประเมินข้อมูลฯ (3.16) น้อยกว่าควินไทล์ที่ 5 (3.50 และ 3.70 ตามลำดับ) กว่าร้อยละ 10
คะแนนประเมินทักษะ MIDL ด้วยตนเองโดยเฉลี่ยของเยาวชนอายุ 15-25 ปี แยกตาม
ควินไทล์รายได้ครัวเรือน
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ (2022)
ปัญหาการขาดทักษะ MIDL ดังกล่าวนับว่าน่ากังวลยิ่ง เมื่อพิจารณาว่าผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กและเยาวชนอย่างผู้ปกครองและครู สามารถแนะนำ ช่วยเหลือ และสนับสนุนเด็กและเยาวชนได้จำกัด เพราะมีทักษะ MIDL ต่ำยิ่งกว่า จากการประเมินของมหาวิทยาลัยมหิดลและกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ผู้ใหญ่อายุ 31 ปีขึ้นไปมีทักษะ MIDL น้อยกว่าเด็กและเยาวชนอายุ 11-30 ปี และระดับทักษะของผู้ใหญ่มีแนวโน้มลดลงตามกลุ่มอายุที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มอายุ 51-70 ปีมีทักษะระดับพื้นฐานเท่านั้น[2] ในแง่นี้ ครัวเรือนข้ามรุ่นจึงประสบปัญหาในการสนับสนุนเด็กและเยาวชนมาก
ในกรณีของครู แม้ว่าจะมีทักษะ MIDL สูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ใหญ่ทั่วไป แต่ก็ยังต่ำกว่าเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้เรียน[3] โดยกลุ่มครูสูงอายุหรืออยู่ในสถานศึกษาที่มีทรัพยากรน้อยมีแนวโน้มจะสนับสนุนผู้เรียนได้จำกัดกว่า
คะแนนทักษะ MIDL แยกตามช่วงอายุและกลุ่มอาชีพ
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล (2021)
นอกจากขาดทักษะแล้ว เด็กและเยาวชนจำนวนมากยังประสบปัญหาในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในไตรมาส 4/2021 เด็กและเยาวชนอายุ 6-24 ปีราว 3.4 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.1 ไม่ได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างสิ้นเชิง โดย 2.4 แสนคน หรือร้อยละ 1.5 อาศัยอยู่ในพื้นที่นอกเขตเทศบาล[4]
ในกลุ่มที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ส่วนใหญ่ก็ขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ต จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2021 ครัวเรือนที่สมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นเยาวชนกว่าร้อยละ 77.8 ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และร้อยละ 86.9 มีคอมพิวเตอร์น้อยกว่าจำนวนเยาวชนในครัวเรือน ขณะที่ร้อยละ 1.9 ไม่มีสมาร์ทโฟน และร้อยละ 8.8 มีสมาร์ทโฟนน้อย
กว่าจำนวนเยาวชน[5]
“ผมไม่มีตังค์ซื้อโน๊ตบุ๊ค ผมไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกขนาดนั้นหรอก ผมมีไอแพดอยู่เครื่องหนึ่ง […] ผมใช้เครื่องนี้แทนคอม และมันยังผ่อนไม่เสร็จจนถึงวันนี้
อาจารย์บอกตั้งแต่แรกก่อนเข้าแล้วล่ะ ว่ามันต้องใช้เงิน มันต้องมีอุปกรณ์ แต่ผมจะต้องเสียโอกาสในการเรียนเพราะตัวเอง ‘มีไม่มากพอ’ หรอครับ ผมก็ต้องก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปทำงานส่งในร้านเน็ตหรือจ้างเพื่อนให้ช่วยทำงานให้ในราคาไม่กี่บาท
พูดตรง ๆ เทอมนั้นผมเรียนไม่รู้เรื่องเลย และก็ยังไม่มีเงินมากพอจะไปซื้อ ผมไม่อยากเป็นตัวสร้างหนี้ให้คนในบ้านอีกแล้ว”
– ณัฐนรี อรัญทิมา อายุ 17 ปี
ยิ่งไปกว่านั้น ครัวเรือนร้อยละ 42.8 ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตประจำที่ความเร็วสูง (อินเทอร์เน็ตบ้าน)[6] และต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือเป็นหลัก ซึ่งอาจมีปริมาณและคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ใช้งานไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตเมืองและทางหลวงสายหลัก[7] อัตราค่าบริการสัญญาณมือถือยังแพงมากสำหรับประชากรในครัวเรือนรายได้ต่ำ โดยในไตรมาส 1/2022 อัตราค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 453 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน[8] คิดเป็นร้อยละ 13.8 ของรายได้ต่อหัวต่อเดือนโดยเฉลี่ยของครัวเรือนในควินไทล์ที่ 1
สัดส่วนของค่าบริการสัญญาณมือถือโดยเฉลี่ยต่อรายได้ต่อหัวประชากรโดยเฉลี่ย แยก
ตามควินไทล์รายได้ครัวเรือน
ที่มา: คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลของ
National Broadcasting and Telecommunications Commission (2022)
การถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์ตั้งแต่ปฐมวัยและใช้เวลาในโลกออนไลน์นานอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางกล้ามเนื้อ สายตา สติปัญญา อารมณ์ และบุคลิกภาพของเด็กในระยะยาว อีกทั้งยังทำให้เด็กขาดปฏิสัมพันธ์และทักษะทางสังคมในโลกจริง
ขณะเดียวกัน ปัญหาการขาดทักษะและอุปกรณ์สำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ตก็ซ้ำเติมผลกระทบข้างต้นและก่อให้เกิดปัญหาอื่นเพิ่มตามมา โดยทำให้เด็กและเยาวชนวัยเรียนไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ การเรียนรู้และทักษะถดถอย และโอกาสในการได้งานที่ดีลดลง ปัญหาการไม่รู้เท่าทันยังเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะถูกหลอก ระราน (bully) และคุกคาม รวมถึงกลายเป็นผู้กระทำการดังกล่าวเองและผลิตซ้ำข้อมูลเท็จในสังคม ปัญหาข้างต้นทั้งหมดยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนอีกด้วย
ผลกระทบจากการที่เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็นนี้ต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน ในเบื้องต้น รัฐบาลควรให้สถานศึกษาเน้นจัดกิจกรรมการเรียนในรูปแบบที่ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กันในห้องเรียนและกับสังคมภายนอก เพื่อส่งเสริมทักษะทางสังคมและชดเชยการเรียนรู้ที่หดหาย พร้อมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาสังคมพัฒนาแหล่งเรียนรู้และนันทนาการที่มีคุณภาพ ใกล้บ้านหรือสถานศึกษา และมีค่าธรรมเนียมใช้งานถูก เพื่อดึงดูดให้เด็กและเยาวชนผละออกจากโลกออนไลน์ไปใช้งานเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลควรวางฐานที่จำเป็นให้เด็กและเยาวชนอย่างเท่าเทียมมากขึ้น ในด้านทักษะ ควรส่งเสริมทักษะ MIDL ให้แก่นักเรียนผ่านหลักสูตรและกิจกรรมในสถานศึกษาภาคบังคับ โดยฝึกอบรมครูให้มีทักษะเพียงพอที่จะสนับสนุนนักเรียนได้ ตลอดจนเปิดให้เยาวชนรวมกลุ่มเสนอโครงการเสริมสร้างทักษะเพื่อขอรับงบประมาณไปดำเนินการกับผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในชุมชนของตน ในด้านการเข้าถึงอุปกรณ์ ควรจัดให้มีคอมพิวเตอร์สำหรับให้ยืมในสถานศึกษาและห้องสมุดสาธารณะอย่างเพียงพอ ควบคู่กับขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมและเข้าถึงได้จริง
[1] Chatchai Nokdee, “หนุนเด็กไทยใช้สื่อดิจิทัล พัฒนาตัวเองยุคโควิด,” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 13 พฤษภาคม 2021, https://www.thaihealth.or.th/Content/54595หนุนเด็กไทยใช้สื่อดิจิทัล%20พัฒนาตัวเองยุคโควิด.html (เข้าถึงเมื่อ 25 กรกฎาคม 2022).
[2] มหาวิทยาลัยมหิดล และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, “ผลการสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของประชาชนไทย: โครงการวิจัยการสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของประชาชนไทย และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ปี พ.ศ.2563-2564,” 23 กุมภาพันธ์ 2021, https://www.songsue.co/wp-content/uploads/2021/02/แถลงข่าว-ผลสำรวจ-23.02.21_Final.pdf (เข้าถึงเมื่อ 25 กรกฎาคม 2022).
[3] เพิ่งอ้าง.
[4] “จำนวนประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป จำแนกตามการใช้อินเทอร์เน็ต/โทรศัพท์มือถือ กลุ่มอายุ และเขตการปกครอง ไตรมาส 4 พ.ศ. 2564,” สำนักงานสถิติแห่งชาติ, http://statbbi.nso.go.th/staticreport/Page/sector/TH/report/sector_16_201040_TH_.xlsx (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฎาคม 2022).
[5] สำนักงานสถิติแห่งชาติ, “ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน,” 2021.
[6] สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, รายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคม ประจำไตรมาส 3/2564 (กรกฎาคม-กันยายน 2564) (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, 2022), น.42.
[7] Mark Giles, “5G in Thailand: AIS Leads the Market,” Ookla, January 30, 2022, https://www.ookla.com/articles/5g-in-thailand (accessed July 25, 2022).
[8] National Broadcasting and Telecommunications Commission, “Mobile ARPU excluded IC,” Thai Telecom Industry Database, July 4, 2022, https://ttid.nbtc.go.th/mobile_arpu (accessed July 25, 2022).
101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง
ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม