ประเด็นสำคัญ
- การควบรวมระหว่าง AIS และ 3BB จะกระทบต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบ้านแตกต่างกันตามพื้นที่ ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายแพงขึ้นราว 9.5% - 22.9% ในพื้นที่ที่ทั้งสองรายแข่งขันทับซ้อนกันและมีคู่แข่งน้อย แต่ผู้บริโภคในพื้นที่อื่นจะได้รับผลกระทบจำกัดหรืออาจไม่ได้รับผลกระทบ
- ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีแนวโน้มพ่วงบริการอินเทอร์เน็ตบ้านกับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ซึ่งจะเหลือค่ายโทรศัพท์มือถือ 2 ค่ายใหญ่ที่มีศักยภาพ คู่แข่งรายอื่นตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านจะแข่งขันได้น้อยลง ในอนาคต ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านอาจเหลือผู้เล่นหลัก 2 รายตามค่ายโทรศัพท์มือถือ
- กสทช. ต้องกำกับให้ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านและโทรศัพท์มือถือแข่งขันแยกกัน โดยมีบริการแยกเดี่ยวที่เป็นทางเลือกได้จริงสำหรับผู้บริโภค และส่งเสริมให้มีการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านในทุกพื้นที่
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2022 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ก็ได้ประกาศซื้อกิจการของ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB ซึ่งจะทำให้ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านเหลือผู้ให้บริการหลัก 3 ราย โดยมี AIS เป็นผู้เล่นใหญ่ที่สุดตามจำนวนผู้ใช้งาน เดิมทีตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านก็มีการกระจุกตัวที่สูงอยู่แล้ว ก็จะยิ่งกระจุกตัวกับผู้ประกอบการน้อยรายยิ่งขึ้นกว่าเดิม
วัตถุประสงค์หลักของการศึกษานี้ คือ การประเมินผลกระทบของการควบรวมระหว่าง AIS และ 3BB ต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตบ้าน และสวัสดิภาพของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังศึกษาปัจจัยแวดล้อมของตลาดที่อาจส่งเสริมหรือขัดขวางการแข่งขันเพื่อเข้าใจถึงพลวัตของอุตสาหกรรมในอนาคต และให้ข้อเสนอแนะต่อ กสทช. ในการตัดสินการควบรวมครั้งนี้
การศึกษาพบว่าการควบรวมกิจการระหว่าง AIS และ 3BB สร้างความกังวลต่อการแข่งขันและผู้บริโภคในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านจำกัดเป็นรายพื้นที่ ในพื้นที่ที่ AIS และ 3BB ให้บริการทับซ้อนกัน และมีคู่แข่งขันที่มีประสิทธิผลน้อยหรือไม่มีอยู่ อาจทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น 9.5% – 22.9% ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบทั้งค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงิน คุณภาพของสัญญาณ ความเร็ว และการให้บริการหลังการขาย แต่การควบรวมก็จะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อผู้บริโภคในพื้นที่ที่ไม่มีการกระจุกตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงพื้นที่ที่มีคู่แข่งขันที่มีประสิทธิผลอยู่แล้วหลายราย ทำให้ยังมีแรงกดดันทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเพิ่มราคาหรือลดคุณภาพได้
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจะมีความน่ากังวลขึ้นอย่างมากในระยะยาว ที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มต้องการใช้งานทั้งโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านมากยิ่งขึ้น จนเกิดการหลอมรวมผู้ให้บริการแบบประจำที่และเคลื่อนที่ ซึ่งหมายถึงการให้บริการพ่วงทั้งอินเทอร์เน็ตบ้านและโทรศัพท์มือถือเพื่อล็อกให้ผู้บริโภคอยู่ในระบบนิเวศของตนเอง โดยจะมีผู้ให้บริการที่มีศักยภาพจริงๆ เพียง 2 ราย ทำให้ในระยะยาวตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านอาจเกิดการผูกขาดตามตลาดโทรศัพท์มือถือ
ดังนั้น การกำหนดมาตรการของ กสทช. จะต้องแก้ปัญหาการผูกขาดของตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านในรายพื้นที่ และการผูกขาดตลาดโทรคมนาคมโดยรวมในอนาคตจากการควบรวม หาก กสทช. สามารถกำหนดมาตรการที่เพียงพอและได้สัดส่วนต่อข้อกังวลหลัก ตลอดจนมีศักยภาพสามารถติดตามการปฏิบัติใช้ได้จริง ก็อาจให้อนุญาตควบรวมอย่างมีเงื่อนไขได้ แต่หากไม่สามารถจัดการกับข้อกังวลได้ก็อาจจำเป็นที่จะไม่ให้อนุญาตเพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้บริโภค