‘ไม่ไหวบอกไหว’: ถึงเวลาปรับบทบาทสังคมสงเคราะห์ไทยให้แก้ปัญหาได้จริง

ภาพจำของงานสังคมสงเคราะห์ในสังคมไทยคือ เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แจกของ เยี่ยมบ้านคนยากไร้ หรือทำกิจกรรมในบ้านพักเด็กและคนชรา เหมือนเป็นงานที่มีบทบาทในการช่วยเหลือคนเปราะบางอย่างเฉพาะหน้า ซึ่งทุกวันนี้ทำกันไม่หวาดไม่ไหว

คำถามคือบทบาทของสังคมสงเคราะห์ดังที่เป็นอยู่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้คนเปราะบางได้มากน้อยแค่ไหน? เชื่อว่าหลายคนคงจะเห็นตรงกันว่า “ไม่ไหว” ยังไม่ตอบโจทย์มากนัก

ที่จริง สังคมสงเคราะห์สามารถมีบทบาทได้มากกว่านี้ ครอบคลุมตั้งแต่การทำงานกับกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง การตั้งคำถามถึงสาเหตุของความเปราะบาง ซึ่งรวมถึงสาเหตุเชิงโครงสร้างที่แฝงฝังอยู่ในบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ไปจนถึงการสร้างระบบสนับสนุนที่ทำให้ผู้คนสามารถลุกขึ้นมายืนบนฐานที่มั่นคงได้

แต่งานสังคมสงเคราะห์ไทยในปัจจุบันกลับมุ่งทำหน้าที่เพียง ‘เยียวยาเฉพาะจุด’ วิ่งไล่ตามปัญหาเฉพาะหน้าอย่างต่อเนื่องและกระจัดกระจาย โดยไม่มีระบบสนับสนุนเชิงโครงสร้างที่เพียงพอ การทำงานในลักษณะนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้ผู้คนตกอยู่ในภาวะเปราะบางได้

101 PUB ชวนสำรวจสถานการณ์งานสังคมสงเคราะห์ไทย และวิเคราะห์ความจำเป็นในการขยายรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมและยั่งยืน พร้อมทั้งชวนตั้งคำถามว่า หากรัฐสวัสดิการได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ งานสังคมสงเคราะห์ควรมีบทบาทเชิงสนับสนุนในด้านใด เพื่อให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาชั่วคราว แต่เป็นการสร้างหลักประกันที่มั่นคงสำหรับทุกคนในสังคม

งานสังคมสงเคราะห์เป็นได้มากกว่าการแจกของ

งานสังคมสงเคราะห์แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ สังคมสงเคราะห์จุลภาค และสังคมสงเคราะห์มหภาค 

สังคมสงเคราะห์จุลภาค มุ่งทำงานกับกลุ่มเป้าหมายเป็น ‘รายกรณี’ เน้นป้องกัน แก้ไข บำบัด และฟื้นฟูความผิดปกติด้านสังคม อารมณ์ จิตใจ รวมถึงช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายให้มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต สังคมสงเคราะห์ประเภทนี้จะประเมินปัญหาและความต้องการ ‘เฉพาะ’ ของกลุ่มเป้าหมาย ‘แต่ละคน/กลุ่ม’ แล้ววางแผนช่วยเหลือให้ตอบโจทย์พวกเขาเป็นรายกรณีอย่างทันท่วงที[1]ดูเพิ่มเติม: ระพีพรรณ คำหอม, หลักการและกระบวนการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์จุลภาค, พิมพ์ครั้งที่ 2 (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2011), … Continue reading

ตัวอย่างเช่น เด็กชาย ก. ถูกผู้ใหญ่ในครอบครัวทำร้าย-ใช้ความรุนแรง นักสงคมสงเคราะห์ก็เข้ามาวางแผนและประสานแก้ปัญหาให้แก่เด็กชาย ก. ภายใต้บริบทเฉพาะของเขา – เป็นงานสังคมสงเคราะห์ประเภทที่คนไทยค่อนข้างคุ้นเคย

แต่งานสังคมสงเคราะห์ยังมีอีกประเภทคือสังคมสงเคราะห์มหภาค ที่มุ่งทำงานกับประชากร ‘วงกว้าง’ เน้นดำเนินนโยบายระดับ ‘โครงสร้าง’ เพื่อป้องกันความเสี่ยงและสร้างกลไกแก้ไขปัญหาซึ่ง ‘ทุกคน’ อาจเผชิญได้คล้ายๆ กัน – หมายความว่า มิได้ประเมินความต้องการและออกแบบการช่วยเหลือเป็นรายกรณี[2]ดูเพิ่มเติม: วันทนีย์ วาสิกะสิน, สังคมสงเคราะห์มหภาค (คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2011), https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:186025

รัฐสวัสดิการอาจนับเป็นสังคมสงเคราะห์ลักษณะนี้ เรา (ควร) มีบำนาญจากรัฐก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงขาดรายได้ยามชรา ภายใต้เงื่อนไขที่เรา ‘ทุกคน/ส่วนใหญ่’ ก็ต้องแก่และเกษียณด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะบุคคล[3]ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “บำนาญเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน: เหตุผลเชิงคุณค่าของบำนาญ กับการปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ,” 101 Public Policy Think Tank, 31 … Continue reading

โดยอุดมคติ สังคมสงเคราะห์มหภาคควรเป็นกลไกหลักในการสร้างความมั่นคงพื้นฐานให้ประชากรทุกกลุ่ม ตั้งแต่รายได้ ความมั่นคงทางสุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัย ฯลฯ เพื่อลดปัญหาเชิงโครงสร้างตั้งแต่ต้นทาง

ส่วนสังคมสงเคราะห์จุลภาคควรเน้นออกแบบการเยียวยาเฉพาะจุด/เฉพาะคน/เฉพาะกลุ่ม สำหรับผู้ที่แม้จะได้รับการสนับสนุนจากกลไกระดับมหภาคแล้ว ก็ยังเผชิญข้อจำกัดเฉพาะ จึงต้องการการดูแล-ช่วยเหลือที่ลึกและซับซ้อนเป็นพิเศษ – ไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักในการจัดการปัญหาโครงสร้าง

ไทยใช้สังคมสงเคราะห์จุลภาคแบกทุกปัญหา

สังคมสงเคราะห์ไทยในปัจจุบันดูจะห่างไกลจากภาพอุดมคติดังกล่าว เน้นใช้สังคมสงเคราะห์ ‘จุลภาค’ อย่างล้นเกิน คือพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นรายกรณี แต่ละเลยสังคมสงเคราะห์ ‘มหภาค’ ในการวางโครงสร้างป้องกันความเสี่ยงและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนภาพกว้าง 

ในระดับหลักการ บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการส่วนใหญ่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2017) ก็รับรองเพียงสิทธิของ ‘คนยากไร้-อนาถา’ ในการเข้าถึงการ ‘สงเคราะห์-ช่วยเหลือ’ ของรัฐบาล เช่น รับรองสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเฉพาะผู้ยากไร้ มิได้รับรองเป็นสิทธิถ้วนหน้าของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม[4]iLaw, “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 รับรองสิทธิด้านสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเฉพาะ “ผู้ยากไร้” เช่น ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ … Continue reading

ในระดับปฏิบัติ การทำงานของหน่วยงานหลักด้านสวัสดิการ-สงคมสงเคราะห์อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็สะท้อนการเน้นใช้เครื่องมือสังคมสงเคราะห์จุลภาคที่มุ่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเช่นกัน[5]กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์, “สวัสดิการที่เน้นผลิตภาพและสวัสดิการที่เน้นการคุ้มครองกับการลดความเหลื่อมล้ำ,” … Continue reading ตามแผนปฏิบัติราชการ ปี 2024 พม. มีเป้าหมายจัดมาตรการสังคมสงเคราะห์ให้ ‘กลุ่มเปราะบาง’ ผ่านโครงการสวัสดิการเฉพาะสำหรับแต่ละกลุ่มแยกกัน โดยประเมินความต้องการและกำหนดจำนวนผู้รับความช่วยเหลือในแต่ละโครงการไว้ชัดเจน

งานจุลภาคแทนงานมหภาค-รัฐสวัสดิการไม่ได้

แม้งานสังคมสงเคราะห์จุลภาคจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าได้ แต่ไม่อาจตอบสนองความต้องการของประชาชนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างซ้ำๆ เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการขาดสวัสดิการขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ดีทุกวันนี้งานจุลภาคมักถูกใช้เป็นกลไกชั่วคราวเพื่อกลบช่องโหว่ของระบบรัฐสวัสดิการที่ยังไม่เพียงพอ และไม่สามารถทดแทนการดูแลในระดับโครงสร้างได้อย่างแท้จริง

ตัวอย่างได้แก่การให้ความช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง โดยนิยามตาม พ.ร.บ. คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 (2014) คนไร้ที่พึ่งหมายถึงคนไร้บ้าน ไร้รายได้ ไร้สัญชาติ หรือไร้สถานะ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรวมกว่า 4.9 ล้านคน[6]The Active, “ความจริงของความเหลื่อมล้ำ,” 2022, https://theactive.thaipbs.or.th/data/inequality-index-truth; สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, … Continue reading

การมีจำนวนคนไร้ที่พึ่งหลักหลายล้านคนเช่นนี้สะท้อนว่า ปัญหาของพวกเขามิใช่ปัญหาเฉพาะบุคคล แต่เป็นปัญหาร่วมระดับโครงสร้าง ซึ่งเกิดจากระดับค่าจ้างจากการทำงานที่ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ การขาดโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษาที่มีคุณภาพ ตลาดและนโยบายที่อยู่อาศัยที่ไม่ประกันสิทธิและเอื้อให้คนส่วนใหญ่สามารถมีบ้านดีๆ ตลอดจนการกระจายทรัพยากรในสังคมที่ไม่ยุติธรรม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี พม. กลับพยายามแก้ปัญหาคนไร้ที่พึ่งผ่านงานสังคมสงเคราะห์ ‘จุลภาค’ ซึ่งตามแผนปฏิบัติราชการปี 2024 ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือไว้ที่ 8.7 หมื่นคน หรือคิดเป็นเพียง 1.7% ของจำนวนคนไร้ที่พึ่งทั้งหมดเท่านั้น อีกทั้งเมื่อพยายามใช้วิธีแบบบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าไปแก้ปัญหาโครงสร้าง ยังย่อมไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้หลุดพ้นจากความเปราะบางได้ในระยะยาวอีกด้วย

ที่จริงแล้ว กลไกของสังคมสงเคราะห์มหภาคหรือรัฐสวัสดิการควรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างผ่านสวัสดิการที่ครอบคลุมและทั่วถึง เช่น ระบบประกันรายได้ขั้นต่ำ การเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เท่าเทียม การศึกษาฟรีและมีคุณภาพ หรือการสนับสนุนที่อยู่อาศัยในราคาที่เอื้อมถึง หากกลไกเหล่านี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้ประชาชนจำนวนมากกลายเป็นกลุ่มเปราะบางในระยะยาว ส่งผลให้การสังคมสงเคราะห์ในระดับจุลภาคสามารถมุ่งเน้นการดูแลเฉพาะกรณีที่ซับซ้อน ลึก และเฉพาะตัวได้มากขึ้น แทนที่จะต้องแบกรับการเยียวยาผู้คนจำนวนมากที่ล้วนได้รับผลกระทบจากช่องโหว่ของระบบมหภาค

รัฐสวัสดิการดูแลทุกคน งานจุลภาคดูแลรายบุคคล

แม้รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับสังคมสงเคราะห์มหภาค-ขยาย ‘รัฐสวัสดิการ’ เพื่อคุ้มครอง ‘สิทธิ’ ของประชาชนทุกคนในการกินอิ่ม นอนหลับ มีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดีและสมศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์มากขึ้น แต่ก็มิได้หมายความว่า งานสังคมสงเคราะห์จุลภาคควรหมดบทบาทไป หากแต่ควรปรับบทบาทให้ชัดเจนและลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการทำงานในระดับรายบุคคลผ่านกระบวนการบำบัด ฟื้นฟู และสนับสนุนให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงสิทธิและบริการทางสังคมที่เหมาะสม งานจุลภาคมีความสำคัญอย่างยิ่งในประเด็นที่มีลักษณะเฉพาะตัว หรือในกรณีที่ต้องการการดูแลเชิงลึก เช่น ปัญหาด้านจิตใจ ความสัมพันธ์ หรือสภาพแวดล้อมเฉพาะบุคคล ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจในบริบทชีวิตของแต่ละคน

ตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีได้แก่ในเยอรมนี แม้เยอรมนีจะมีรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมและเพียงพอมากกว่าไทย แต่งานสังคมสงเคราะห์จุลภาคก็ยังคงมีบทบาทในการแก้ปัญหาระดับปัจเจกบุคคล โดยเน้นทำงานร่วมกับกลุ่มเป้าหมายและออกแบบความช่วยเหลือโดยยึดกลุ่มเป้าหมายเป็นศูนย์กลาง การประเมินการทำงานด้านจิตสังคมและความต้องการของผู้ใช้บริการรวมถึงสมาชิกในครอบครัว พร้อมทั้งจัดทำและดำเนินแผนการดูแลรักษา โดยระบุปัญหา จุดแข็ง จุดอ่อน ทักษะการเผชิญปัญหา และความช่วยเหลือที่จำเป็นของผู้ป่วย โดยกระบวนการนี้จะทำงานร่วมกับผู้ป่วย ครอบครัว และทีมรักษาที่ประกอบด้วยหลากหลายสหวิชาชีพ

สมมติว่านาง A เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งต้องเลี้ยงดูลูกเล็กกับพ่อที่สมองเสื่อมและป่วยติดเตียง มีรายได้ไม่พอรายจ่าย รวมถึงรู้สึกเครียด เหนื่อยล้า และโดดเดี่ยวจากสังคม ในระบบรัฐสวัสดิการของเยอรมนี นาง A จะมีสิทธิได้รับเงินค่าเลี้ยงดูบุตร สวัสดิการครอบครัว และเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ดูแล พร้อมทั้งเข้าถึงบริการสุขภาพจิตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ขณะที่ในจุดที่ระบบรัฐสวัสดิการทั่วไปไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงพอ นักสังคมสงเคราะห์ก็จะเข้ามาทำงานแบบ ‘individualized’ เเข้ามาประเมินสภาพจิตสังคมของเธอและครอบครัว, พูดคุยกับเธออย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าใจความเครียด ความเหนื่อยล้า และความคาดหวังในฐานะแม่และลูกสาว, ประสานกับหน่วยงานรัฐ เช่น กองทุนประกันสุขภาพ หน่วยงานผู้สูงอายุ หรือศูนย์เด็กและครอบครัว เพื่อให้การช่วยเหลือเกิดขึ้นในรูปแบบ ‘องค์รวม,’ วางแผนการดูแลลูกและพ่อร่วมกับนาง A เช่น จัดการให้พ่อของเธอได้รับบริการดูแลที่บ้านในช่วงกลางวัน เพื่อให้นาง A ไปทำงานหรือพักผ่อนได้, ตลอดจนให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาแบบรายบุคคลหรือกลุ่ม และส่งต่อเครือข่ายชุมชนให้เธอมีพื้นที่พึ่งพิงทางอารมณ์ เป็นต้น

ส่งท้าย

ในปัจจุบันงานสังคมสงเคราะห์ในไทยยังคงเน้นการเยียวยาแบบจุลภาค โดยมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางรายกรณี ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อปัญหาสังคมได้แค่ชั่วคราว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีรากฐานจากโครงสร้างสังคมที่ไม่เสมอภาคได้

การพัฒนารัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมและยั่งยืนจึงเป็นคำตอบสำคัญในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่ทำให้เกิดความเปราะบางในสังคม โดยสวัสดิการที่เท่าเทียมจะช่วยให้ทุกคนเข้าถึงความมั่นคงในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้ สุขภาพ การศึกษา หรือที่อยู่อาศัย การมีระบบนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างเสถียรภาพให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม

ในกรณีนี้ งานสังคมสงเคราะห์จุลภาคควรปรับบทบาทไปสู่การทำงานที่สนับสนุนและช่วยเหลือในระดับบุคคลหรือครอบครัว ที่ต้องการการดูแลที่ลึกซึ้งและเฉพาะเจาะจงดังเช่นในกรณีของเยอรมนี ในขณะที่สังคมสงเคราะห์มหภาคควรทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้การช่วยเหลือไม่เป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นการสร้างระบบที่มั่นคงสำหรับทุกคนในสังคม

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขาดรัฐสวัสดิการที่เพียงพอ ทำให้กลุ่มคนที่ตกอยู่ในภาวะเปราะบางต้องพึ่งพาการเยียวยาจากงานสังคมสงเคราะห์จุลภาค โดยไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้จากโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เท่าเทียมสร้างความยากจนและปัญหาสังคมที่ไม่สามารถแก้ไขได้จากมาตรการชั่วคราว ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบรัฐสวัสดิการให้รองรับทุกคนได้อย่างแท้จริง

References
1 ดูเพิ่มเติม: ระพีพรรณ คำหอม, หลักการและกระบวนการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์จุลภาค, พิมพ์ครั้งที่ 2 (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2011), https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:62
2 ดูเพิ่มเติม: วันทนีย์ วาสิกะสิน, สังคมสงเคราะห์มหภาค (คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2011), https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:186025
3 ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “บำนาญเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน: เหตุผลเชิงคุณค่าของบำนาญ กับการปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ,” 101 Public Policy Think Tank, 31 สิงหาคม 2023, https://101pub.org/moral-grounds-for-right-to-pension/
4 iLaw, “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 รับรองสิทธิด้านสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเฉพาะ “ผู้ยากไร้” เช่น ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แทนที่จะรับรองเป็นสิทธิถ้วนหน้าของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม’,” 23 สิงหาคม 2020, https://www.ilaw.or.th/articles/4442.
5 กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์, “สวัสดิการที่เน้นผลิตภาพและสวัสดิการที่เน้นการคุ้มครองกับการลดความเหลื่อมล้ำ,” ใน หนังสือรวมบทความเนื่องในวันสถาปนาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ครบรอบ 66 ปี, 17-18, https://socadmin.tu.ac.th/uploads/socadmin/file_document/Proceeding66year.pdf
6 The Active, “ความจริงของความเหลื่อมล้ำ,” 2022, https://theactive.thaipbs.or.th/data/inequality-index-truth; สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย, มูลนิธิกระจกเงา, มูลนิธิอิสรชน, & เครือข่ายคนไร้บ้านทั่วประเทศ, HomelessDashboard2024, 2024, https://lookerstudio.google.com/u/0/reporting/f18b4c5e-8348-48d2-8d4c-67e631fcacb8/page/5xl2D; UNICEF Thailand, “เดินหน้ายุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ไม่ควรมีเด็กคนใดต้องเผชิญกับอนาคตที่ไร้ตัวตน,” 2024, https://www.unicef.org/thailand/th/endstatelessness#:~:text=

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูแลหัวใจไม่ให้ใครร่วงหล่น: เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่ายและทันท่วงที

ดูแลหัวใจไม่ให้ใครร่วงหล่น: เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่ายและทันท่วงที

เมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้า เรื่องที่มักถูกยกขึ้นมาพูดต่อคือปัญหาขาดแคลนจิตแพทย์ แต่เราต้องมีจิตแพทย์เพิ่มอีกกี่คนจึงจะนับว่าพอ? มีอีกหลายคำถามที่ควรสงสัยและหาคำตอบถ้าหากเราปรารถนาจะดูแลสุขภาพใจของคนไทยไม่ให้ร่วงหล่นไปมากกว่านี้

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2025 101pub.org | All rights reserved.