7 แนวโน้มเด็กและเยาวชนไทยในวิกฤตเหลื่อมล้ำ โรคระบาดและการเมือง

101 PUB

30 August 2022

ปี 2021-2022 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวไทย วิกฤตสามด้าน – ทั้งวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 (COVID-19) วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา และวิกฤตสังคมและการเมือง – ยังคงทอดเงาทะมึนยาวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ทาบทับและท้าทายชีวิตของเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างน่าวิตก

วิกฤตโรคระบาดทำให้เด็กและเยาวชนไทยหายไปจากห้องเรียน โรงเรียน และสนามเด็กเล่น และถูกผลักให้เข้าสู่โลกออนไลน์อย่างไม่ทันตั้งตัว วิกฤตความเหลื่อมล้ำซ้ำเติมให้ทุกปัญหาที่มีเกี่ยวกับเด็กรุนแรงเพิ่มเป็นทวี ในขณะที่วิกฤตการเมืองก็เป็นเหตุให้เยาวชนจำนวนมากลุกขึ้นมายืนตระหง่านในสนามความคิด พร้อมกับข้อเสนอด้านการเมืองที่ท้าทายแหลมคม

‘เด็กสมัยนี้’ เผชิญอะไร ครอบครัวไทยต้องเจอกับความท้าทายแบบไหน และสังคมไทยควรจะตั้งหลักนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบอย่างไร ถูกสั่นคลอนจากปัจจัยใดบ้างในโลกที่สั่นไหว

ฉัตร คำแสง วรดร เลิศรัตน์ และเจณิตตา จันทวงษา นักวิจัยจากศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) เปิดเผยรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวปี 2022 ที่สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่ครอบครัวไทยต้องเผชิญ  ณ งานเสวนาสาธารณะ ‘เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022

3 วิกฤต 7 แนวโน้มสำคัญของเด็ก เยาวชนและครอบครัวไทย

ระหว่างปี 2021-2022 วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่โลกและไทยต้องเผชิญ ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ราว 4.6 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 0-19 ปีถึง 800,000 คนโดยประมาณ แม้ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่พวกเขาก็ได้รับผลกระทบมาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการสั่งปิดศูนย์เด็กเล็กและสถานศึกษา

สำหรับวิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา ซึ่งเป็นบาดแผลเรื้อรั้งของสังคมไทยยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อเจอโควิด-19 เข้ามาถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างยิ่งขึ้น จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2021 เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 21 ปี จำนวน 2.9 ล้านคน จากทั้งหมด 14.0 ล้านคน หรือคิดเป็น 20.7 % อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 10 % ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนเพียง 2,577 บาท ในขณะที่เด็กและเยาวชนไทย 4.4 แสนคน หรือ 3.2% อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 10%  ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อคนถึง 38,699 บาท หรือกว่า 15 เท่าของครัวเรือนที่ยากจนที่สุด นอกจากนี้ หากพิจารณาตามข้อมูลบัญชีการโอนประชาชาติในปี 2019 พบว่า 61.4% ของเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 21 ปีอาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กโดยเฉลี่ย  ซึ่งอนุมานได้ว่าพวกเขามีเงินสำหรับใช้จ่ายด้านการเรียนรู้ ซื้ออาหารบริโภค ดูแลสุขภาพ และสนับสนุนพัฒนาการด้านอื่น ไม่เพียงพอตามมาตรฐานเฉลี่ยของประเทศ  

ในส่วนวิกฤตสังคมและการเมือง เด็กและเยาวชนตื่นรู้ทางด้านการเมืองและต้องการส่งเสียงเรียกร้องถึงผู้กำหนดนโยบาย พวกเขาจัดชุมนุม 193 ครั้งในปี 2020 มีส่วนร่วมในการชุมนุม 1,838 ครั้งตั้งแต่ปี 2021-พ.ค. 2022 และมีคนถูกดำเนินคดีแล้ว 279 คน

ไม่เพียง 3 วิกฤตที่โหมกระหน่ำชีวิตเด็กและเยาวชน โลกแห่งอนาคตยังอยู่ในสภาวะ VUCA ที่ผันผวน-ซับซ้อน-ไม่แน่นอน-คลุมเครือ ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม – ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มิติเศรษฐกิจ – วิกฤตหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ มิติสังคม – ความเป็นปึกแผ่นของสังคมพังทลายลง มิติการเมืองระหว่างประเทศ – ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และมิติเทคโนโลยี – การเข้ามาแทนที่การทำงานของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ส่งผลให้ชีวิตของเยาวชนแขวนอยู่บนอนาคตที่สั่นไหว

“วิกฤตและความท้าทายที่พูดถึงเป็นทั้งแผลสด และอาจจะเป็นแผลเป็นได้ในอนาคต ถ้าหากไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ถูกต้อง” ฉัตรกล่าวและเสริมว่าจากความท้าทายที่เกิดขึ้นนำมาสู่แนวโน้มสำคัญของสถานการณ์เด็ก เยาวชนและครอบครัวในปีที่ผ่านมา 7 ประการ ดังต่อไปนี้

1. เด็กและเยาวชนเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย พัฒนาการหยุดชะงัก

2. เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด

3. เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น

4. เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

5. เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น

6. โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น

7. ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

สถานการณ์ที่ 1 เด็กในวัยเรียนเผชิญภาวะการเรียนรู้ถดถอยหลังนโยบายการปิดสถานศึกษาในช่วงโควิด                 

ที่ผ่านมารัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานศึกษาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ตั้งแต่ปี 2020-2022 โดยเป็นการปิดสถานศึกษาทุกพื้นที่รวม 16 สัปดาห์และปิดบางพื้นที่รวม 53 สัปดาห์ มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบด้านลบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กและเยาวชน ทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ – ทักษะอ่าน เขียนและคำนวณ ด้านพัฒนาการ – ทักษะทางร่างกายและความสามารถในการจดจำ รวมถึงด้านอารมณ์และสังคม เด็กมีความเครียดและขาดทักษะการสื่อสาร

เด็กทุกช่วงวัยมีแนวโน้มเรียนช้าลง เด็กปฐมวัย 2-7 ปีพลาดช่วงโอกาสทองในการพัฒนาสมองส่วนหน้า (EF) ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ในระยะยาว สูญเสียความสามารถในการหารายได้ทั้งชีวิต คิดเป็นมูลค่าทั้งชีวิตราว 850,000 บาท รวมไปถึงนักเรียนจำนวนหนึ่งหลุดออกจากระบบและอาจจะกลับมาได้ยาก โดยเฉพาะในครอบครัวเปราะบาง ในปีที่ผ่านมามีเด็กที่หลุดออกจากระบบ 2.3 แสนคน มีเด็กนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น และในจำนวนเด็กนักเรียนยากจนพิเศษดังกล่าว 14.6% ตัดสินใจไม่กลับมาเรียนต่อ

“การปิดโรงเรียนแม้เป็นเพียงเวลาสั้นๆ ก็สร้างความสูญเสียทางการเรียนรู้มหาศาลให้กับเด็กและเยาวชนไทย หากเกิดโรคระบาดอีกครั้งในอนาคต รัฐบาลควรดำเนินมาตรการนี้อย่างจำกัดที่สุด เฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างและรุนแรงเท่านั้น หรืออาจให้อำนาจท้องถิ่นประเมินและพิจารณาปิดโรงเรียนในพื้นที่ด้วยตนเอง แทนการออกคำสั่งปิดทุกพื้นที่โดยรัฐบาล” เจณิตตา กล่าว

สถานการณ์ที่ 2 เด็กและครอบครัวเข้าถึงบริการของรัฐได้ยากขึ้น

โรคระบาดโควิด-19 เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องระดมสรรพกำลังในการแก้ปัญหา ดำเนินนโยบายที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อชะลอความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน นั่นส่งผลให้บริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวถูกลดทอนความสำคัญ จำกัดการเข้าถึง และมีประสิทธิภาพในการบริการที่ต่ำลง

เด็กและครอบครัวเข้ารับบริการสุขภาพได้ยากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยปัจจัยด้านบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่ขาดแคลน ข้อจำกัดในการเดินทางมาเข้ารับบริการ รวมถึงความกังวลว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ของประชาชน จากข้อมูลพบว่าเด็กอายุ 1 ปีในช่วงไตรมาส 4/2019 มีอัตราการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ลดลงจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ราว 10.8% ขณะที่เด็กอายุ 7 ปีที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ในอัตราที่ช้าลงในช่วงระลอกที่ 3 ของการแพร่ระบาดในปี 2021 นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์และเด็กในครรภ์ยังเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการฝากครรภ์ครั้งแรกลดลงในไตรมาส 3/2021 และอัตราหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแลสุขภาพก่อนกำหนดคลอดครบตามเกณฑ์จาก 79.5% ในไตรมาส 4/2020 ลดลงเป็น 56.1% ในไตรมาส 3/2021

ไม่เพียงเท่านั้น การปิดบริการสาธารณะอย่างโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเป็นทั้งสถานศึกษาและแหล่งอาหารกลางวันให้กับเด็กในครัวเรือนเปราะบางในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เด็กเหล่านี้เผชิญภาวะทุพโภชนาการ โดยในปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณเด็กสูงดีสมส่วนในช่วงอายุ 6-14 ปีลดลงราว 5%

“บริการสาธารณะที่ถูกลดทอนประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ยากขึ้นนั้นส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวไทยย่ำแย่ลง มาตรการเร่งด่วนที่สุดที่รัฐควรดำเนินการคือ เร่งเยียวยาและให้ความช่วยเหลือกับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการสร้างฐานข้อมูลระดับพื้นที่ของประชาชนอย่างเป็นระบบ เพื่อวิเคราะห์ความต้องการและจัดสรรบริการได้อย่างตรงจุด” เจณิตตา กล่าวเสริม


สถานการณ์ที่ 3 เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดทักษะและเครื่องมือ

ผลจากการวิกฤตโรคระบาด ทำให้ห้องเรียนในโลกจริงถูกโยกย้ายไปยังโลกออนไลน์ เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์ ไม่ว่าจะใช้ในการเรียน ทำงาน และสื่อสาร เร็วและนานมากขึ้น  โดยผู้ปกครองเริ่มให้เด็กอายุเพียง 2-3 ปีใช้สื่อดิจิทัล และเยาวชนอายุ 15-25 ปีใช้เวลาผ่านหน้าจอเฉลี่ยสูงถึง 12 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพบว่าเด็กและเยาวชนไทยกระโจนเข้าสู่สังคมดิจิทัลโดยขาด 2 ฐานสำคัญ ได้แก่ (1) ฐานทักษะ เยาวชนไทยอายุ 15-25 ปีขาดทักษะรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล หรือที่เรียกว่า (MIDL) โดยให้คะแนนประเมินตนเองว่ามีทักษะการใช้งานคอมพิวเตอร์ เครื่องมือดิจิทัลเฉลี่ยทั้งประเทศ 3.23 (คะแนนเต็ม 5) และทักษะการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล 3.27 (คะแนนเต็ม 5) ทั้งนี้ คะแนนมีแนวโน้มลดต่ำลงตามระดับรายได้ครอบครัว และปัญหาน่ากังวลคือครู และผู้ปกครอง โดยเฉพาะในครอบครัวข้ามรุ่นมีทักษะจำกัดในการเข้าไปช่วยสนับสนุนเด็กและเยาวชน (2) ฐานอุปกรณ์ เด็กและเยาวชนอายุ 6-24 ปีมี 2.1% เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และครัวเรือนถึง 42.8% ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงใช้ ส่วนใหญ่พึ่งพาอินเทอร์เน็ตในมือถือเฉลี่ย 453 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นรายจ่ายที่ค่อนข้างสูงคิดเป็น 13.8% ของรายได้ต่อหัวประชากร อีกทั้งครัวเรือนจำนวนมากเผชิญเรื่องจำนวนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนเยาวชนในบ้าน

“การถูกผลักเด็กและเยาวชนเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดทักษะและเครื่องมือที่เพียงพออาจส่งผลร้ายในระยะยาวต่อตัวเด็กและเยาวชน ตัดขาดพวกเขาออกจากปฏิสัมพันธ์ในโลกจริง เพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมและผลิตซ้ำข้อมูลเท็จ รวมไปถึงส่งผลให้พวกเขาต้องเผชิญปัญหาเรื่องการพัฒนากล้ามเนื้อ สายตา สติปัญญา อารมณ์และบุคลิกภาพ” วรดร กล่าวถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนที่เป็นเหตุมาจาการถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยไม่พร้อม


สถานการณ์ที่ 4 เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

การจดจ่อผ่านหน้าจอเป็นประจำและการอยู่ในโลกที่ผันผวนส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนอย่างยิ่งยวด ในปีที่ผ่านมาเด็กและเยาวชนมีความเครียด วิตกกังวล เสี่ยงซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น โดยสาเหตุความเครียดส่วนใหญ่มาจากประเด็นด้านการศึกษา การทำงานและสถานะทางการเงินของครอบครัว

ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงแสดงอาการช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตเด็กและเยาวชน แต่ยังมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องตลอดชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพทางกายที่ย่ำแย่อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า มีปัญหาในการพักผ่อนนอนหลับ ทั้งยังมีโอกาสที่จะเผชิญอุปสรรคในการเรียนรู้มากกว่าเด็กและเยาวชนที่ไม่เผชิญปัญหาทางสุขภาพจิต พวกเขามีประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลง เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น ท้ายที่สุดแล้วอาจบั่นทอนความฝันและเป้าหมายของพวกเขาในระยะยาวอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทั่วถึง ปัจจุบันเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตรายงานว่ามีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นกระจายตัวใน 55 จังหวัด ครอบคลุม 3,444 โรงเรียนหรือคิดเป็น 10.9% ของโรงเรียนทั่วประเทศ และถึงแม้ว่ากรมสุขภาพจิตจะมีแพทย์เพิ่มการกระจายตัวเป็น 63 จังหวัดภายในปี 2025 แต่แผนการนี้อาจจะล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการของเด็กและเยาวชนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา

“รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอต่อความต้องการเข้ารับบริการของเด็กและเยาวชนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งเพิ่มกำลังจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น พยาบาลจิตเวช รวมถึงวิชาชีพอื่นๆ ที่สามารถทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและบำบัดเบื้องต้นได้ เช่น นักจิตวิทยา ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต และนักบำบัด เป็นต้น” เจณิตตา กล่าวถึงข้อเสนอเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน


สถานการณ์ที่ 5 เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น

เด็กและเยาวชนตื่นตัวและมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเด่นชัดในรอบหลายทศวรรษ จากผลสำรวจอายุ 15-25 ปี เยาวชน 68.8% สนใจติดตามข่าวสารการเมือง นอกจากนี้เยาวชน 3 ใน 4 ยังรายงานว่าตนให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพทางการเมืองทั้งหมาย ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการรวมตัวและชุมนุม และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง สอดคล้องกับสถิติชุมนุมประท้วงของเยาวชนในปี 2021- พ.ค. 2022 ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย1,838 ครั้ง

เยาวชนจำนวนไม่น้อยรวมกลุ่มกันออกมาเคลื่อนไหว เช่น นักเรียนเลว ทะลุฟ้า ทะลุวัง ทะลุแก๊ส เยาวชนปลดแอก เพื่อร้องเรียนและเรียกร้องในประเด็นสิทธิเด็กและเยาวชน ปัญหาในระบบการศึกษาไปจนถึงผลประโยชน์ภาพกว้างของสังคม อย่างเรื่องประชาธิปไตย ปัญหาการพัฒนาประเทศ

ยิ่งเมื่อรัฐบาลใช้มาตรการในการกดปราบเสียงอนาคตของชาติอย่างละเมิดมนุษยชน โดยใช้กำลังสลายการชุมนุมอย่างน้อย 60 ครั้ง ส่งผลให้เยาวชนอายุ 15 ปีเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บอย่างน้อย 88 คนในช่วง 2021- พ.ค. 2022 และดำเนินคดีเยาวชน 279 รายก็ทำให้ซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรง รอยร้าวระหว่างรุ่นแพร่ขยายและทำลายความกลัวเกลียวในสังคม กระตุ้นให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรง ตลอดจนส่งผลให้เยาวชน ทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าสิ้นหวังกับประเทศ และมีความฝันในการย้ายไปอยู่ต่างประเทศ

“การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนปัญหาที่ซ่อนเร้นอย่างเด็กและเยาวชนขาดช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็นทางการและมีความหมาย โดยมีเพียงคณะกรรมการส่งเสริมกิจการเด็กและเยาวชนแห่งชาติชุดเดียว ซึ่งมีเด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และในปี 2021 มีการประชุมเพียงครั้งเดียว ขณะที่กลไกสภาเด็กและเยาวชนที่ไม่สามารถเป็นผู้แทนที่สะท้อนเสียงของเยาวชนได้อย่างแท้จริง” วรดร กล่าวย้ำ


สถานการณ์ที่ 6 โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น

ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญความท้าทายทางด้านโครงสร้างประชากร ปรากฎการณ์ ‘เกิดน้อย อายุยืน’ ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดมากขึ้น ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าผู้เสียชีวิตเป็นครั้งแรก และเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ (aged society) เร็วที่สุดในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก เมื่อสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด

ครอบครัวไทยตัดสินใจมีลูกน้อยลงจากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจและค่านิยมที่เปลี่ยนไปนำไปสู่ขนาดครอบครัวไทยเล็กลงจากต่อเนื่องจากสมาชิกในครอบครัวราว 5-6 คนในช่วงปี 1990 เหลือเพียง 2.4 คนในปี 2020 นอกจากนี้ เดิมทีสังคมไทยมีเด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง และต้องอยู่คนเดียวตามลำพังอายุต่ำกว่า 18 ปีมากถึง 5,594 คน และมีเด็กที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่อีก 4,978 คน แต่จากวิกฤตโรคระบาดได้พรากชีวิตของผู้ปกครองหลายครัวเรือน ทำให้เกิดเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลัน 448 คนซึ่งในจำนวนนี้ 157 คนอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

เมื่อโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนไป เด็กย่อมได้รับผลกระทบหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเด็กกำพร้า ถูกทอดทิ้งขาดการดูแลทั้งร่างกายและพัฒนาการอย่างเหมาะสม  ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากการสูญเสีย ขณะที่เด็กไทยในครอบครัวข้ามรุ่นก็เผชิญความเปราะบางยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ไม่เท่ากับครัวเรือนแบบอื่น และมีความขัดแย้งทางความคิดกับผู้ปกครองในครัวเรือนมากกว่า

“สุดท้ายปัญหาสังคมสูงวัยและเด็กเกิดน้อยยังเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ทิ้งภาระให้กับเด็กรุ่นใหม่ขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง แบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุและเด็ก ซึ่งเป็นประชากรวัยพึ่งพิงมากกว่าเดิม” เจณิตตา กล่าวสรุปสถานการณ์ในประเด็นนี้


สถานการณ์ที่ 7 ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และเทคโนโลยีที่รวดเร็วส่งผลให้คนต่างรุ่นมีคุณค่า ทัศนคติ และความคิดขัดแย้งกันมากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งคนต่างรุ่นในครอบครัวเดียวกัน ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวจำนวนมาก และเป็นเหตุให้ครอบครัวไม่ใช่พื้นที่สบายใจที่สามารถสนับสนุนพัฒนาการและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนได้เท่าที่ควร

ผลสำรวจเยาวชนอายุ 15-25 ปีพบว่า เยาวชนจำนวนมากมีความขัดแย้งทางความคิดกับผู้ใหญ่ในครอบครัวของตนเอง โดยการศึกษา/การทำงานเป็นประเด็นที่มีความขัดแย้งมากที่สุดคิดเป็น 30.8% โดยเฉลี่ย นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งรูปแบบความขัดแย้งทางความคิดเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) ประเด็นที่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น เช่น การศึกษา/การทำงาน สังคม/การเมือง ศาสนา/ศีลธรรมจริยธรรม และ (2) ประเด็นที่มีความขัดแย้งมากที่สุดในช่วงราว 19-22 ปีหลังจากนั้นเมื่ออายุมากขึ้นจะมีความขัดแย้งน้อยลง เช่น ชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อน/คนรัก

เยาวชนที่ตอบแบบสำรวจทุกกลุ่มอายุ ทุกกลุ่มรายได้และระดับการศึกษา 23.2% เห็นด้วยว่าความขัดแย้งทางความคิดระหว่างรุ่นถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ยกเว้นเพียงกลุ่มเยาวชนที่มาจากครัวเรือนที่ยากจนที่สุดและเด็กและกลุ่มประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่จะรายงานว่าความยากจนเป็นรอยร้าวที่สำคัญของครอบครัว รองลงมาคือขัดแย้งทางความคิด

“ผลกระทบของความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นส่งผลให้ครอบครัวไม่ใช่พื้นที่สบายใจสำหรับเด็กและเยาวชน พวกเขาสนิทสนมและเชื่อใจผู้ปกครองในครอบครัวน้อยกว่าครัวเรือนที่ไม่มีความขัดแย้ง ไม่กล้าที่จะปรึกษา และมีแนวโน้มที่จะเผชิญความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าครอบครัวที่มีความสัมพันธ์แนบแน่น” วรดร กล่าวทิ้งท้าย

3 เสาหลักนโยบายจากคิด for คิดส์: ตั้งหลักคิดใหม่นโยบายสำหรับเด็กและครอบครัวไทย

“ประเทศไทยควรจะเปลี่ยนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จับต้องได้เป็นการลงทุนในคน เงินเหล่านี้สามารถเปลี่ยนได้ เราไม่จำเป็นต้องพัฒนาชาติด้วยถนน พัฒนาคนด้วยตึก” ฉัตร กล่าวพร้อมเพิ่มเติมว่าคิด for คิดส์ได้เสนอให้รัฐบาลตั้งหลักคิดใหม่ ปรับแนวคิดและวิธีดำเนินนโยบายครั้งใหญ่ เพื่อเป้าหมายในการเติมเต็มความฝันให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตเป็นพลเมืองในโลกใหม่อย่างเต็มศักยภาพ ผ่าน 3 เสาหลักนโยบาย ได้แก่

1.จัดหาทรัพยากรให้เพียงพอและทั่วถึงสำหรับการดูแลพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว

นโยบายเด็กและครอบครัวต้องมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของครอบครัวไทยด้วยการขยายตาข่ายทางสังคม (social safety net) ครอบคลุมคนทุกวัย โอบอุ้มเด็กไทยทุกคนผ่านการผลักดันเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้ถ้วนหน้า ปรับเพิ่มเงินอุดหนุนจาก 600 บาทต่อเดือนเป็น 1,200-1,500 บาทต่อเดือน ซึ่งจะช่วยครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวรายได้ต่ำได้ราวครึ่งหนึ่ง อีกทั้งยังเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมความมั่นคงทางการเงินสู่เด็กและเยาวชนอายุมากกว่า 6 ปี อาจเป็นในรูปแบบของเงินโอน หรือการส่งเสริมให้หารายได้เสริมหรือฝึกงาน เพื่อให้เยาวชนจากครอบครัวเศรษฐฐานะล่างได้มีทุนในการศึกษาเล่าเรียนและลดค่าเสียโอกาสในการหารายได้มาจุนเจือครอบครัว

นอกจากนี้การเพิ่มสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุให้ถ้วนหน้า ขยายสวัสดิการแรงงานและการว่างงาน เพื่อให้พวกเขาได้มีทรัพยากรในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคง และเพิ่มทรัพยากรที่ไม่ใช่ตัวเงิน ไม่ว่าจะเป็นการขยายสิทธิลาคลอดของพ่อแม่ กลไกการช่วยเหลือด้านอาหารและโภชนาการเชิงรุกในช่วงวิกฤต ตลอดจนชุดความรู้สำหรับพ่อแม่เพื่อเลี้ยงลูกยุคใหม่ช่วยยังส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว

2.เพิ่มทางเลือกและคุณภาพของบริการสาธารณะให้เป็นทางเลือกคุณภาพที่เข้าถึงได้จริง

บริการสาธารณะของรัฐสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นบริการสาธารณสุข การศึกษาและสุขภาพจิตจะต้องเข้าถึงได้ง่าย ใกล้บ้าน มีคุณภาพเสมอหน้าและตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากการลงทุนในเด็กเล็กเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่ยิ่งลงทุนเร็ว ยิ่งได้รับตอบแทนสูง หากพัฒนาการของเด็กและเยาวชนไปในทิศทางที่ดีมีแนวโน้มจะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น และสร้างสังคมเท่าเทียมได้ดียิ่งขึ้น

ข้อเสนอในการพัฒนาคุณภาพของบริการสาธารณะ มี 2 แนวทาง ได้แก่ (1) รัฐบาลกลางควรจะกระจายอำนาจการตัดสินใจและทรัพยากรสำหรับจัดบริการสาธารณะไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่นมีศักยภาพในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน (2) รัฐบาลกลางควรเชื่อมโยงและพัฒนาฐานข้อมูลด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวในเชิงลึกเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ

3.ส่งเสริมสิทธิเด็กและการมีส่วนร่วมของเด็กตลอดกระบวนการนโยบาย

เด็กและเยาวชนควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศมากยิ่งขึ้น รัฐบาลต้องเคารพสิทธิเด็กในฐานะพลเมืองที่เท่าเทียม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรง รัฐบาลควรลดอายุขั้นต่ำในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ลงสมัครตำแหน่งการเมือง และเพิ่มความสะดวกในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การเข้าชื่อเรียกร้องออนไลน์ การงบประมาณแบบมีส่วนร่วม การเสนอโครงการทางสังคม เพื่อขอรับงบประมาณไปดำเนินการเองโดยตรง ฯลฯ

อีกทั้งรัฐบาลควรปรับปรุงกลไกสภาเด็กและเยาวชนให้ทำงานได้อิสระ จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและมีความแน่นอน เปลี่ยนที่มาของสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนให้มาจากการเลือกตั้ง เพื่อสะท้อนเสียงของเยาวชนที่แท้จริงและขับเคลื่อนสังคมที่เยาวชนต้องการเห็น

………………………………………………………………………..

เอกสารและฐานข้อมูล

ดาวน์โหลด ‘รายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว ประจำปี 2022’ ได้ ที่นี่

ดาวน์โหลด ‘ชุดข้อมูลจากผลสำรวจเยาวชนไทย (Youth Survey 2022)’ ได้ ที่นี่

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการเสวนาทั้งหมดได้ ที่นี่

วิจัย/เขียน

ฉัตร คำแสง

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

เรียบเรียง/นำเสนอ

101 PUB

บทความที่เกี่ยวข้อง

Quick win แล้วสิ้นใจ?: ประคับประคองศูนย์ชีวาภิบาลอย่างไรให้อยู่รอด?

นโยบายชีวาภิบาลกำลังเผชิญปัญหารอบด้านเพราะการเร่งทำให้ถึงเป้าหมาย Quick win 100 วันแรก คิด for คิดส์ ชวนอ่านความท้าทายของนโยบายตายดีที่กำลังจะตายเสียเอง

ตรวจก่อนเข้าปาก ย้อนถึงแปลงปลูก: ยกระดับความปลอดภัยอาหารด้วยการตรวจสอบย้อนกลับ

ภายหลังจากที่ตรวจพบสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท คนไทยต่างกังวลต่อความปลอดภัยของอาหารที่บริโภคกันทุกวัน สิ่งนี้นำมาสู่คำถามว่าระบบการตรวจคุณภาพอาหารตามท้องตลาดของไทยมีข้อบกพร่องอย่างไร? และจะทำอย่างไรที่จะยกระดับอาหารในประเทศไทยให้ปลอดภัยขึ้น?

ปรึกษาหัวใจกับใครก็เหมือนกัน? แนวทางกำกับมาตรฐานนักจิตวิทยาการปรึกษา-จิตบำบัดอย่างสมดุล

ปัญหาการอวดอ้างชื่อและล่วงละเมิดผู้รับบริการ เรียกร้องให้ต้องมีการกำกับนักจิตวิทยาการปรึกษา/จิตบำบัด แต่การสร้างมาตรฐานให้การดูแลหัวใจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.