ต้องพิการแค่ไหนรัฐไทยถึงมองเห็น

101 PUB

4 October 2024

ประเด็นสำคัญ

  • คนพิการกว่า 2.4 ล้านคน (57.2% ของผู้พิการ) ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบภาครัฐ ทำให้ไม่ได้รับสวัสดิการสำคัญ เช่น เบี้ยคนพิการ เงินกู้ไร้ดอกเบี้ย รวมถึงการศึกษาและการช่วยเหลือทางการแพทย์ที่เหมาะสม 
  • โดยคนพิการ 1.05 ล้านคน (25.2% ของผู้พิการ) ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเนื่องจาก เกณฑ์ความพิการของไทยยังเน้นมิติทางการแพทย์ซึ่งยังไม่ได้ครอบคลุมการพิจารณาเรื่อง 'ความสามารถในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคม' และ 'ความพิการที่เกิดจากปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคม' ทั้งที่เป็นมิติความพิการที่หน่วยงานสากลให้ความสำคัญ
  • หากต้องการทำให้การประเมินผู้พิการของไทยใกล้เคียงกับมาตรฐานสากลมากขึ้น ประเทศไทยต้องปรับกระบวนการประเมินโดย เพิ่มผู้ประเมินที่มาจากอาชีพอื่นนอกจากบุคลากรทางการแพทย์ ใช้ชุดมาตรฐานการประเมินที่สอดคล้องกับหลักสากล และมอบอำนาจให้ท้องถิ่นรับรองคนพิการ

เราทุกคนที่เกิดมาควรมีสิทธิได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการอย่างมีศักดิ์ศรี สามารถเดินทางไปในที่ที่อยากไป สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่อยากร่วม สามารถพัฒนาทักษะทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ สามารถมีอิสระเติมเต็มความต้องการตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งโดยที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร อย่างไรก็ตาม คนจำนวนไม่น้อยอาจโชคร้ายไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างคนทั่วไป เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านร่างกายที่อาจเป็นมาตั้งแต่เกิดหรือเป็นผลมาจากเหตุการณ์อันเลวร้ายที่ทำให้เกิด ‘ความพิการ’

รัฐ ในฐานะผู้ประกันสิทธิพื้นฐานให้แก่สังคม จึงควรสนับสนุนให้ผู้มีความพิการทุกคนได้รับสวัสดิการเพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับคนปกติให้ได้มากที่สุด ซึ่งรัฐไทยก็มีกลไกส่งเสริมสวัสดิการคนพิการ ด้วยการให้ผู้พิการสามารถลงทะเบียนและได้รับบัตรผู้พิการจากภาครัฐ โดยผู้พิการที่มีบัตรจะมีสิทธิได้รับสวัสดิการและการช่วยเหลือจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีผู้พิการจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการในระบบของภาครัฐ ส่งผลให้ผู้พิการเหล่านั้นไม่ได้รับสิทธิที่ควรจะได้รับ ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากเกณฑ์และการคัดกรองผู้พิการของรัฐ ที่ไม่ครอบคลุม ‘ความพิการ’ ได้ทุกรูปแบบ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ‘คิด for คิดส์’ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank, 101 PUB)  ขอเชิญชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจสาเหตุที่ผู้พิการจำนวนมากตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการ และหาแนวทางที่จะทำให้ผู้พิการได้รับการช่วยเหลืออย่างที่สมควรได้รับ

คนพิการกว่า 2.4 ล้านคนไม่ได้รับสวัสดิการ

คนพิการกว่าครึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียน

ในปัจจุบัน มีคนไทยที่ขึ้นทะเบียนผู้พิการทั้งหมด 2,215,079 คน[1]กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคน. (2567). สถานการณ์ด้านคนพิการ. https://dep.go.th/th/law-academic/knowledge-base/disabled-person-situation/สถานการณ์คนพิการ-31-สิงหาคม-2567. พวกเขาเหล่านี้ถือเป็น ‘ผู้พิการอย่างเป็นทางการ’ ที่รัฐไทยมองเห็น ให้การรองรับ และช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม การสำรวจความพิการที่จัดทำโดยองค์การยูนิเซฟและสำนักงานสถิติแห่งชาติคาดว่ามีคนไทยมากถึง 4,192,291 คน ที่มี ‘ความพิการ’ [2]กองสถิติสังคมสำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2566). การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2565. กรุงเทพ: กองสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สะท้อนให้เห็นว่า มีคนพิการจำนวนมหาศาลที่ไม่ได้ถูกนับอยู่ในระบบทางการของไทย

การสำรวจความพิการชี้ว่ามีผู้พิการที่ได้ขึ้นทะเบียนเพียง 42.8% ของผู้พิการทั้งหมดเท่านั้น ในขณะที่มีผู้พิการอีกกว่า ครึ่ง (57.2%) หรือราว 2.4 ล้านคนทั่วประเทศ ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ส่งผลให้ผู้พิการกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่ตนพึงได้จากภาครัฐ ได้แก่

  • เบี้ยผู้พิการ 800 บาทต่อเดือนสำหรับผู้ที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี หรือ 1,000 บาทต่อเดือนสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี [3]https://www.thaipbs.or.th/news/content/341817
  • สิทธิคุ้มครองด้านการประกอบอาชีพผู้พิการ การมีบัตรผู้พิการจึงมีโอกาสที่จะได้งานมากขึ้นจากสถานประกอบการที่ต้องรับคนพิการ[4]ปณิศา เอมโอชา. (2565). คนพิการ กับ โอกาสในการมีงานทำกับคนปกติในไทย ในปี 2565. BBC News ไทย. https://www.bbc.com/thai/thailand-62311330. เนื่องจากตามมาตรา 33 และ 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มีการกำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวน 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน คิดเป็นอัตราส่วน 100:1 โดยได้ลดภาษีเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างคนพิการหนึ่งเท่า[5]มาตราที่ 33 และ 35 พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550
  • สิทธิทางการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 มาตราที่ 5 ได้ระบุให้ผู้พิการมีสิทธิทางการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทบุคคล
  • บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ โดยได้รับตามสิทธิหลักประกันสุขภาพสำหรับคนพิการ (ท.74)
  • สิทธิกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพโดยไม่มีดอกเบี้ย กู้ได้ไม่เกินรายละ 60,000 หากต้องการกู้เกินจะพิจารณาเป็นรายๆ แต่ไม่เกิน 120,000 ต่อราย ผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี[6]https://info.go.th/procedure/95fac8dd-f4a1-456d-bc16-6f3b78fc78d8/view?lat=13.7588311&lng=100.5405449

ในกลุ่มผู้มี ‘ความพิการ’ แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น ‘ผู้พิการ’ จำนวน 2.4 ล้านคนนี้ มีประมาณ 1.35 ล้านคนที่หลุดไปด้วยการไม่ได้ไปขึ้นทะเบียน ทั้งไม่ต้องการขึ้นทะเบียน ไม่มีคนพาไปขึ้นทะเบียน และไม่ทราบข้อมูล

แต่ปัญหาไม่ได้หยุดอยู่แค่การตกหล่นจากการขึ้นทะเบียนเท่านั้น เพราะมีคนอีก 1.05 ล้านคน ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเนื่องจากระดับความพิการไม่ถึงเกณฑ์ที่จะขึ้นทะเบียนได้ หรือเรียกได้ว่าเป็นผู้มี ‘ระดับความพิการไม่พอขึ้นทะเบียน’ ชี้ให้เห็นว่าเกณฑ์การประเมินและขึ้นทะเบียนผู้พิการของไทยนั้นยังมองไม่ครอบคลุมความพิการที่ได้มาตรฐาน จนทำให้รัฐไทยมองไม่เห็นผู้พิการอย่างครบถ้วน

เกณฑ์ความพิการของไทยแตกต่างจากเกณฑ์ความพิการสากล

พิการไม่พอขึ้นทะเบียน

การที่มีคนพิการกว่า 1.05 ล้านคนมีระดับความพิการไม่พอขึ้นทะเบียน เป็นผลมาจากการที่ UNICEF (ผู้จัดทำรายงานสำรวจคนพิการในไทย) และภาครัฐไทยใช้คนละเกณฑ์ในการระบุความพิการ ส่งผลให้มีผู้พิการบางส่วนที่เข้าเกณฑ์ของ UNICEF แต่ไม่ถือเป็นผู้พิการในไทย

เกณฑ์ความพิการสากลที่ UNICEF ใช้

ตามสามัญสำนึกแล้ว สังคมมักจะพิจารณาความพิการ ที่เน้นความบกพร่องของร่างกายที่ส่งผลให้มนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ อย่างไรก็ตามในโลกสากลพยายามขยายขอบเขตการพิจารณาความพิการโดยนำเรื่อง ‘บริบทแวดล้อม’ เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย กล่าวคือพิจารณาว่าความบกพร่องทางร่างกายส่งผลให้มนุษย์คนนั้นไม่สามารถใช้ชีวิตได้เต็มศักยภาพในบริบททางสังคมนั้นหรือไม่ เช่น มีอุปสรรคในการเรียนรู้เมื่อเทียบกับวัย ถูกกีดกันในการเข้าถึงและมีส่วนร่วม ถูกเลือกปฏิบัติจากคนในสังคม เป็นต้น[7]UNICEF. (2014). Definition and Classification of Disability, Webinar 2- companion technical booklet, https://www.unicef.org/eca/sites/unicef.org.eca/files/IE_Webinar_Booklet_2.pdf

ในปัจจุบันตามหลักสากล ความพิการจึงไม่ได้พิจารณาเพียงแค่เรื่องทางร่างกายอย่างเดียว แต่ใช้แนวคิดการมีส่วนร่วมทางสังคม (Social Model) และแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน (Human Right Model) มากขึ้น โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) นิยามว่าความพิการนั้นไม่ได้อยู่ที่ความบกพร่องของร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ความพิการเป็นผลจากการปฏิสัมพันธ์ที่มีข้อกำจัดเมื่อพบกับอุปสรรคจากสิ่งแวดล้อมและสังคม[8]UNESCWA. (n. d.). The CRPD and ICF Definitions of Disability. UNESCWA. https://e-inclusion.unescwa.org/node/1348.

“ผู้พิการคือผู้ที่มีข้อบกพร่องระยะยาวทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา หรือทางประสาทสัมผัส ที่เมื่อเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ แล้ว จะไม่สามารถดำเนินชีวิตหรือเข้าร่วมในกิจกรรมทางสังคมได้อย่างเต็มที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น”[9]United Nations Convention on the Rights of Persons with Disabilities: Article 1

ความพิการจึงไม่ใช่เพียงสิ่งที่สามารถวัดได้จากการมองเห็นเป็นประจักษ์ทางสายตาหรือจากสมรรถภาพของร่างกาย แต่ควรต้องคำนึงถึงบริบทข้อจำกัดเชิงสังคม เศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ด้วย

องค์การอนามัยโลกได้ใช้แนวคิดดังกล่าวสร้างกรอบบัญชีสากลเพื่อการจำแนกการทำงาน ความพิการ และสุขภาพ (International Classification of Functioning, Disability and Health – ICF) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการระบุความพิการและความบกพร่อง โดย ICF มีการประเมินข้อจำกัดแบ่งออกเป็นสามประเภทหลักๆ ได้แก่

  • ด้านสมรรถภาพและโครงสร้างของร่างกาย (Body Functions & Structures) เป็นการประเมินสมรรถภาพและความปกติของอวัยวะภายในร่างกายเชิงกายภาพ โดยครอบคลุมอาการที่กว้างกว่าการประเมินทางการแพทย์ทั่วไป เช่น อาการที่มองไม่เห็น ความบกพร่องทางจิต ระบบไหลเวียนของเลือด ระบบหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน ที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างอวัยวะ
  • ด้านกิจกรรม (Activities) เป็นการประเมินข้อจำกัดของผู้มีความบกพร่องในด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน การสื่อสาร การเคลื่อนไว ความสัมพันธ์ การดูแลตนเอง การเรียนรู้และนำความรู้ไปปรับใช้
  • ด้านการมีส่วนร่วมในสังคม (Participation) เป็นการประเมินความสามารถในการร่วมกิจกรรมทางสังคม โดยดูว่าสามารถมีบทบาททางสังคม ชุมชน และมีบทบาทในฐานะพลเรือนได้แค่ไหน
  • ด้านปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Factors) เป็นการประเมินทั้งปัจจัยทางกายภาพ[10]สิ่งแวดล้อมที่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยมนุษย์ ไม่นับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ที่เป็นอุปสรรคต่อผู้พิการ (เช่น ทางเท้าต่างระดับที่สร้างความยากลำบากให้แก่ผู้มีร่างกายที่ไม่สมบูรณ์) และปัจจัยทางสังคม ทัศนคติที่ส่งผลต่อผู้พิการ การออกแบบนโยบาย และบริการช่วยเหลือผู้พิการ

การนำกรอบ ICF มาใช้ในการประเมินความพิการ จะช่วยทำให้รัฐสามารถส่งมอบสวัสดิการความช่วยเหลือให้กับผู้พิการที่ต้องการได้ครอบคลุมขึ้น

ระบบเกณฑ์ความพิการในไทย

หลักเกณฑ์การประเมินความพิการในไทยนั้นยังคงยึดกับแนวคิดทางการแพทย์ (Medical Model) ที่เน้นประเมินเพียงด้านสมรรถภาพทางร่างกายของปัจเจกและความบกพร่องทางอวัยวะที่เห็นเป็นประจักษ์ โดยผู้ประเมิน (ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐ) มักเน้นไปที่ความพิการทั้ง 7 ตามกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเป็นความพิการที่เห็นเป็นประจักษ์[11]กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคน. (2567). สถานการณ์ด้านคนพิการ. https://dep.go.th/th/law-academic/knowledge-base/disabled-person-situation/สถานการณ์คนพิการ-31-สิงหาคม-2567. ประกอบด้วย[12]กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ. (2555). คู่มือการวินิจฉัยและตรวจประเมินความพิการ. กรุงเทพ: กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, 2555 .

  • ความพิการทางการมองเห็น
  • ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย
  • ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย
  • ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม
  • ความพิการทางสติปัญญา
  • ความพิการทางการเรียนรู้
  • ความพิการออทิสติก

การประเมินความพิการด้วยมาตรฐานนี้ทำให้ความพิการประเภทที่ไม่เห็นเด่นชัด (Non-apparent disability)[13]Dakessian. (n. d.). Non-Apparent Disabilities: When Your Disability is Not Visible. WID., n. d., https://wid.org/non-apparent-disabilities-when-your-disability-is-not-visible/.. ถูกมองข้าม และไม่รวมอยู่ในเกณฑ์ความพิการ เช่น อาการทางจิตขั้นรุนแรง ได้แก่ PTSD, โรควิตกกังวล (Anxiety) ขั้นรุนแรง และโรคซึมเศร้า (Depression) ขั้นรุนแรง ทั้งที่อาการเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต และทำให้เข้าไปทำกิจกรรมมีส่วนร่วมกับสังคมได้ยากกว่าบุคคลทั่วไป

นอกจากนี้ ระบบการประเมินของไทยที่เน้นเกณฑ์ทางการแพทย์ (โดยใช้การประเมินแบบ Barema-type Method[14]พิชญา เตระจิตร. (2021).ถามตอบกับหมอฟื้นฟู ทำไมคนหูหนวกตาบอดข้างเดียวถึงไม่ได้สิทธิคนพิการและต้องพิการขนาดไหนถึงได้รับสิทธิ. ThisAbleMe. … Continue reading ) ยังทำให้ความพิการทางร่างกายบางประเภทไม่ถือว่าอยู่ในระดับที่พิการ โดยระบบนี้จะให้คะแนนระดับความพิการว่า ‘มีคะแนนถึง’ เกณฑ์ความพิการที่ต้องได้รับความช่วยเหลือหรือไม่ ผู้มีความพิการทางร่างกายบางแบบจึงได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ เช่น ผู้ที่มีตาบอดหนึ่งข้าง ได้รับคะแนนความพิการที่ ‘น้อย’ กว่าผู้ที่ตาบอดทั้งสองข้าง จึงไม่สามารถผ่านเกณฑ์ความพิการได้[15]กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ. (2555). คู่มือการวินิจฉัยและตรวจประเมินความพิการ. กรุงเทพ: กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, 2555 ทั้งที่อาการตาบอดหนึ่งข้างนั้นทำให้เกิดปัญหาในการประกอบกิจกรรมต่างๆ จากข้อจำกัดในการรับรู้ความใกล้ไกลของสิ่งของ รวมถึงการรับรู้ความลึก (Depth Perception) จนอาจส่งผลให้ได้รับอคติในการว่าจ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่สากลให้การยอมรับว่าเป็นผู้พิการ

กระบวนการประเมินความพิการที่ยึดกับแนวคิดทางการแพทย์ทำให้ตกหล่นผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือไปจำนวนมาก กล่าวคือถึงแม้เกณฑ์การประเมินจะมีความเป็นรูปธรรมและง่ายต่อการใช้งานโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์[16]พิชญา เตระจิตร. (2021).ถามตอบกับหมอฟื้นฟู ทำไมคนหูหนวกตาบอดข้างเดียวถึงไม่ได้สิทธิคนพิการและต้องพิการขนาดไหนถึงได้รับสิทธิ. ThisAbleMe. … Continue reading แต่เป็นการมองข้ามปัญหาข้อจำกัดในบริบทเชิงสังคม เศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีความบกพร่อง ไม่ว่าจะทางร่างกายที่เห็นเป็นประจักษ์ (ตามกรณีของผู้ที่มีตาบอดข้างเดียว) หรือทางความพิการล่องหนในด้านสติปัญญา จิตใจ หรือประสาทการรับรู้ 

แนวทางการขยายเกณฑ์ประเมินความพิการเพื่อขยายการรองรับสิทธิสำหรับผู้ด้อยโอกาส : บทเรียนจากไต้หวัน

วิธีการปรับการประเมินความพิการ

ประเทศไทยเองก็มีความพยายามที่จะขยายกรอบการประเมินความพิการไปสู่ระดับสากล โดยที่ผ่านมา คู่มือวินิจฉัยและตรวจประเมินความพิการ พ.ศ. 2555 ได้อ้างอิงเกณฑ์ประเมินความพิการตามกรอบ ICF ทว่าในคู่มือก็ระบุถึงข้อจำกัดในการประเมินว่า “การระบุข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม (Participation) ยังทำได้ยาก เพราะต้องผันแปรไปตามสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา”[xiv] ส่งผลให้สามารถประเมินได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

ปัญหาเรื่องบุคลากรเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การนำแนวคิดสากล (ICF) มาใช้ในการประเมินเป็นไปได้ยาก เนื่องจากระบบการประเมินในปัจจุบันใช้บุคลากรทางการแพทย์ประเมินเป็นหลัก ซึ่งมักไม่มีเวลาให้กับการประเมินตามแนวคิดสากลที่พิจารณาปัจจัยแวดล้อมประกอบด้วย การประเมินของบุคลากรทางการแพทย์จึงเน้นการวินิจฉัยความบกพร่องทางร่างกายของผู้พิการ (ซึ่งสามารถประเมินได้รวดเร็ว) มากกว่าการประเมินข้อจำกัดด้านต่างๆ ที่ผู้พิการต้องประสบ (ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาประเมินนานกว่า) นอกจากนี้ระบบของไทยยังไม่ได้ให้นักสังคมสงเคราะห์หรือผู้ที่เชี่ยวชาญในการประเมินความพิการตามกรอบสากล (ICF) อยู่ในกระบวนการการประเมินด้วย[17]กลไกการประเมินของไทยให้ความสำคัญกับความง่ายในการประเมิน เพื่อทำให้หมอทั่วไปสามารถประเมินความพิการได้ อ่านเพิ่มเติมได้ใน พิชญา เตระจิตร. … Continue reading

อย่างไรก็ตาม หากไทยต้องการขยายการประเมินความพิการไปสู่มาตรฐานสากล (ICF) สามารถถอดบทเรียนการปรับเกณฑ์การประเมินของไต้หวันตามกฎหมายคุ้มครองผู้พิการฉบับใหม่ในปี 2007 (People with Disabilities Rights Protection Act 2007) ได้

ก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้พิการปี 2007 ไต้หวันมีกระบวนการประเมินผู้พิการคล้ายของไทยในปัจจุบัน คือให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยความพิการเป็นหลัก[18]Hua-Fang Liao et al. (2022). Factor Structure of an ICF-Based Measure of Activity and Participations for Adults in Taiwan’s Disability Eligibility Determination System. (Frontiers in Rehabilitation Sciences, 2022). แต่ภายหลังการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการประเมินความพิการในไต้หวันถูกปรับมาใช้คณะผู้เชี่ยวชาญประเมินอุปสรรคและความต้องการของผู้พิการแทน (เรียกว่า ICF Team) ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ให้คำแนะนำด้านการประกอบอาชีพ และบุคลากรในระบบการศึกษาพิเศษ ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักการมาตรฐานของ ICF[19]Hua-Fang Liao et al. (2022). Factor Structure of an ICF-Based Measure of Activity and Participations for Adults in Taiwan’s Disability Eligibility Determination System. (Frontiers in Rehabilitation Sciences, 2022).

ยิ่งไปกว่านั้น ในการประเมินยังใช้ชุดคำถามที่ออกแบบมาเพื่อระบุข้อจำกัดต่างๆ ของผู้พิการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล (FUNDES) ซึ่งออกแบบครอบคลุมการประเมินทั้ง

1. ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจ (Cognition) เช่น สมาธิ ความจำ การแก้ปัญหา การเรียนรู้ และการสื่อสาร

2. ความสามารถในการเคลื่อนที่ (Mobility) เช่น การยืน การเดินระยะไกล การเดินทางออกจากบ้าน และการเคลื่อนที่ภายในบ้าน

3. ความสามารถในการดูแลตัวเอง (Self-care) เช่น การดูแลความสะอาด การแต่งตัว การกิน และการอยู่คนเดียว

4. ความสามารถในเข้ากับผู้อื่น (Getting along with people) โดยดูว่าเงื่อนไขทางร่างกายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เข้ากับผู้อื่นได้ยากแค่ไหน

5. ความสามารถในการทำกิจกรรมชีวิตประจำวัน (Life activity) เช่น ความรับผิดชอบในครัวเรือน ความสามารถในการทำกิจกรรมนันทนาการ และความสามารถรับผิดชอบการงานและการเรียน

6. ความสามารถในการเข้าไปมีบทบาททางสังคม (Participation) โดยดูว่าสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ภายใต้สภาพแวดล้อมนั้นๆ

นอกจากนี้ กฎหมายของไต้หวันฉบับนี้ยังมอบบทบาทให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักที่คอยดูแลคนพิการ ตั้งแต่การประเมินออกบัตรผู้พิการ จนถึงการให้ความช่วยเหลือและสวัสดิการตามความต้องการของผู้พิการนั้น[20]Hua-Fang Liao et al. (2022). Factor Structure of an ICF-Based Measure of Activity and Participations for Adults in Taiwan’s Disability Eligibility Determination System. (Frontiers in Rehabilitation Sciences, 2022). ซึ่งการให้อำนาจหน่วยงานท้องถิ่นในการดูแลคนพิการ ทำให้ภาครัฐสามารถรับรองผู้พิการได้ครอบคลุม และให้การช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อความพิการของแต่ละคน เนื่องจากหน่วยงานท้องถิ่นรู้จักคนในพื้นที่เป็นอย่างดี

จากการที่ไต้หวันหันไปใช้ผู้ประเมินที่หลากหลาย มีชุดคำถามประเมินความพิการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และมอบอำนาจให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ดูแลผู้พิการ ระบบการประเมินความพิการในไต้หวันจึงสามารถขยายครอบคลุมข้อจำกัดด้านกิจกรรม (Activity) การมีส่วนร่วม (Participation) และปัจจัยสิ่งแวดล้อม (Environment Factor) ได้

มุมมอง ‘ความพิการ’ ที่แตกต่างนำมาสู่กลไกคุ้มครองที่ต่างกัน

ทั้งนี้ การจะขยายกลไกการดูแลผู้พิการให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อทำให้คนพิการในไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั้น นอกจากจะต้องปรับกระบวนการประเมินความพิการแล้วอาจจำเป็นต้องปรับฐานคิดเกี่ยวกับ ‘ความพิการ’ ควบคู่กันไป

เนื่องจากในปัจจุบันรัฐไทยยังมองว่า ‘ความพิการ’ คือความโชคร้ายที่ภาครัฐควรให้การสงเคราะห์เยียวยา กลไกการช่วยเหลือผู้พิการจึงเริ่มต้นจากการคัดแยกเพื่อหาว่าใครพิการเพียงพอที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบ้าง การประเมินความพิการจึงมีเป้าหมายเพื่อแปะป้ายความพิการให้ผู้พิการมีโอกาสได้รับสวัสดิการในรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน

แต่ในระดับสากลมองว่า ‘ความพิการ’ เป็นเรื่องทางสังคมที่ภาครัฐควรช่วยเหลือเพื่อให้คนเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด การประเมินความพิการจึงเป็นการค้นหาว่าแต่ละคนเผชิญกับอุปสรรคใดที่จำกัดไม่ให้คนเหล่านี้ใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป และแสวงหาทางให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความพิการแต่ละแบบเพื่อเติมเต็มให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติสุข การประเมินความพิการจึงต้องประเมินอย่างละเอียดใช้ระยะเวลาในการประเมินนาน (3-6 เดือน) และต้องใช้งบประมาณในการสร้างสวัสดิการช่วยเหลือผู้พิการสูง

การจะสร้างระบบที่ส่งเสริมคุณภาพคนพิการให้ครอบคลุมและผลักดันให้คนเหล่านี้สามารถมีชีวิตที่มีความหมายได้อาจต้องปรับฐานคิดมองความพิการใหม่ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบการประเมินคนพิการและกลไกสวัสดิการคนพิการควบคู่กัน[21]พิชญา เตระจิตร. (2021).ถามตอบกับหมอฟื้นฟู ทำไมคนหูหนวกตาบอดข้างเดียวถึงไม่ได้สิทธิคนพิการและต้องพิการขนาดไหนถึงได้รับสิทธิ. ThisAbleMe. … Continue reading

References
1, 11 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคน. (2567). สถานการณ์ด้านคนพิการ. https://dep.go.th/th/law-academic/knowledge-base/disabled-person-situation/สถานการณ์คนพิการ-31-สิงหาคม-2567.
2 กองสถิติสังคมสำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2566). การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2565. กรุงเทพ: กองสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ.
3 https://www.thaipbs.or.th/news/content/341817
4 ปณิศา เอมโอชา. (2565). คนพิการ กับ โอกาสในการมีงานทำกับคนปกติในไทย ในปี 2565. BBC News ไทย. https://www.bbc.com/thai/thailand-62311330.
5 มาตราที่ 33 และ 35 พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550
6 https://info.go.th/procedure/95fac8dd-f4a1-456d-bc16-6f3b78fc78d8/view?lat=13.7588311&lng=100.5405449
7 UNICEF. (2014). Definition and Classification of Disability, Webinar 2- companion technical booklet, https://www.unicef.org/eca/sites/unicef.org.eca/files/IE_Webinar_Booklet_2.pdf
8 UNESCWA. (n. d.). The CRPD and ICF Definitions of Disability. UNESCWA. https://e-inclusion.unescwa.org/node/1348.
9 United Nations Convention on the Rights of Persons with Disabilities: Article 1
10 สิ่งแวดล้อมที่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยมนุษย์ ไม่นับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ
12 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ. (2555). คู่มือการวินิจฉัยและตรวจประเมินความพิการ. กรุงเทพ: กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, 2555 .
13 Dakessian. (n. d.). Non-Apparent Disabilities: When Your Disability is Not Visible. WID., n. d., https://wid.org/non-apparent-disabilities-when-your-disability-is-not-visible/..
14, 16, 21 พิชญา เตระจิตร. (2021).ถามตอบกับหมอฟื้นฟู ทำไมคนหูหนวกตาบอดข้างเดียวถึงไม่ได้สิทธิคนพิการและต้องพิการขนาดไหนถึงได้รับสิทธิ. ThisAbleMe. https://thisable.me/category/การประเมินความพิการด้วยแนวคิด ICF.
15 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ. (2555). คู่มือการวินิจฉัยและตรวจประเมินความพิการ. กรุงเทพ: กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, 2555
17 กลไกการประเมินของไทยให้ความสำคัญกับความง่ายในการประเมิน เพื่อทำให้หมอทั่วไปสามารถประเมินความพิการได้ อ่านเพิ่มเติมได้ใน พิชญา เตระจิตร. (2021).ถามตอบกับหมอฟื้นฟู ทำไมคนหูหนวกตาบอดข้างเดียวถึงไม่ได้สิทธิคนพิการและต้องพิการขนาดไหนถึงได้รับสิทธิ. ThisAbleMe. https://thisable.me/category/การประเมินความพิการด้วยแนวคิด ICF.
18, 19, 20 Hua-Fang Liao et al. (2022). Factor Structure of an ICF-Based Measure of Activity and Participations for Adults in Taiwan’s Disability Eligibility Determination System. (Frontiers in Rehabilitation Sciences, 2022).

อินโฟกราฟฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเข้มแข็ง-อ่อนแอในจิตใจคนเราเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เราฝึกฝนกำหนดใจเราเองได้แค่ไหน? นโยบายของรัฐควรมีบทบาทอย่างไรกับปัจจัยที่เกินการควบคุมของปัจเจกบุคคล?

คนไทยรวยมิจ : การหลอกลวงออนไลน์ในไทยเทียบกับต่างประเทศ

มิจฉาชีพออนไลน์กำลังเป็นภัยคุกคามในระดับชาติ แต่หลายคนอาจยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าปัญหานี้ใหญ่ขนาดไหน ในบทความนี้จะชี้ว่าการระบาดในไทยอาจจะรุนแรงมากกว่าที่หลายคนจินตนาการไว้

Policy What! EP.14: ทำพรรคการเมือง ไม่ง้อนายทุนได้ไหม?

Policy What! EP.14: ทำพรรคการเมือง ไม่ง้อนายทุนได้ไหม?

รายได้พรรคการเมืองไทยพึ่งพาเงินบริจาค ‘รายใหญ่’ เกินครึ่ง! เสี่ยงถูกครอบงำ ส่วนพรรคไม่มีทุนหนุนหลังก็แข่งขันได้ยาก จะทำยังไงให้พรรคเป็นของนายทุนน้อยลง เป็นของประชาชนมากขึ้น? ชวนฟังในรายการ Policy What!

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2025 101pub.org | All rights reserved.