ประเด็นสำคัญ
- การเยียวยา 'ซึมเศร้า' ด้วยยาต้านเศร้าอย่างเดียวอาจไม่หายขาดหากไม่เชื่อมโยงกับมิติเชิงจิตวิทยาและสังคม
- ระบบดูแลสุขภาพใจที่เน้นหนักชีวการแพทย์ ทำให้การตรวจรักษาเป็นคอขวด งานให้การปรึกษาทางจิตใจตกอยู่กับจิตแพทย์ที่มีเวลาตรวจจำกัด ขณะที่นักจิตวิทยาที่ได้รับการฝึกฝนด้านนี้โดยตรงยังไม่มีอัตราอย่างเป็นทางการในสถานพยาบาลของรัฐ
- นักจิตวิทยาการปรึกษาส่วนใหญ่ทำงานในภาคเอกชน แม้ประชาชนมีทางเลือกเพิ่มขึ้นแต่ยังเข้าถึงได้ยาก
“โรคซึมเศร้า เกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ คนที่ไล่ผู้ป่วยซึมเศร้าไปเข้าวัดนั่งสมาธิคือพักก่อน ควรแนะนำให้เค้าไปหาหมอนะ”
ความเห็นลักษณะนี้พบได้ในโซเชียลมีเดียโดยทั่วไปเมื่อสังคมไทยตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นในห้วง 5-6 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีแนวโน้มที่จะยอมรับว่าอาการซึมเศร้าเป็น ‘โรค’ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของผู้ป่วยซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นจากเพียงราวสามแสนคนในปี 2017 เป็นกว่า 1.3 ล้านคนในปัจจุบัน[1]ข้อมูลจากคลังข้อมูลสุขภาพ (HDC) กระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ดี การจัดวางให้การ ‘ดับทุกข์’ ด้วยหลักศาสนา เป็นด้านตรงข้ามกับวิธี ‘รักษา’ ด้วยหลักการแพทย์ก็เสี่ยงต่อการสร้าง ‘ทางเลือกลวง’ (false dilemma) ให้กับผู้ที่กำลังเผชิญความยากลำบากทางจิตใจ เพราะการหันมาหาแนวทางชีวการแพทย์ (biomedicine) อย่างเข้มข้นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ท้ายที่สุดแล้วอาจเป็นการลดทอนความซับซ้อนและละเอียดอ่อนของจิตใจให้กลายเป็นเรื่องของ ‘สารเคมี’ จนละเลยมิติอื่นๆ ไม่ต่างจากที่เคยมุ่งเน้นแต่ในเชิงจิตใจอย่างที่เป็นมาในอดีต
จำนวน ‘ผู้ป่วยซึมเศร้า’ ที่สะสมจนเกินกำลังระบบสาธารณสุข เรียกร้องให้เราต้องย้อนกลับมาตั้งหลักทบทวนกรอบคิดและแนวทางออกแบบนโยบายกันใหม่ โดยอาจเริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ ที่ว่า ปัจจุบันคนมีอาการซึมเศร้ามีทางเลือกแค่ไหนในการเยียวยาตนเอง
เมื่อชีวการแพทย์ครองโลกซึมเศร้า
“พระพุทธเจ้าเป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่าคะ???” คือชื่อกระทู้พันทิปเมื่อปี 2016 ที่มีผู้เข้าไปร่วมถกเถียงจำนวนมาก เจ้าของกระทู้ตั้งคำถามนี้โดยพิจารณาพฤติกรรมของเจ้าชายสิทธัตถะ อาทิ เบื่อหน่ายกิจกรรมที่เคยสนใจ เห็นชีวิตเป็นทุกข์ บำเพ็ญทุกขกิริยา (ทำร้ายตัวเอง) คิดถึงแต่เรื่องความตายตลอดเวลา ฯลฯ เทียบกับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าในปัจจุบัน ความเห็นส่วนใหญ่มองว่าเจ้าชายไม่ได้เป็น หรือหากเป็นก็เอาชนะได้ด้วยการฝึกจิต และจำนวนหนึ่งมองว่าเกณฑ์การแพทย์สมัยใหม่น่าจะใช้กับพระองค์ไม่ได้
อาการโศกเศร้าและเบื่อหน่ายต่อโลกอย่างหาสาเหตุไม่ได้ เป็นอาการเจ็บป่วยทางใจที่ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และเพิ่งจะถูกทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันบนพื้นฐานข้อมูลทางสถิติที่เป็นวิทยาศาสตร์เมื่อราว 50 ปีมานี้เอง
หลักเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าที่ทั่วโลกใช้ในปัจจุบันคือ คู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน คู่มือฉบับที่สามซึ่งตีพิมพ์ในปี 1980 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้แนวทางวินิจฉัยของจิตแพทย์สำนักต่างๆ ทั่วโลกมีมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น DSM-III ถูกนำมาใช้ในห้วงเวลาเดียวกับที่เริ่มมีข้อเสนอว่าโรคซึมเศร้าอาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมองซึ่งนำมาสู่การวิจัยและผลิตยาโดยเฉพาะกลุ่มที่ช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนิน (Serotonin-Specific Reuptake Inhibitors) หรือ SSRIs โดย Fluoxetine ซึ่งเป็นตัวยาที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางมากที่สุด ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ในปี 1987 และออกวางจำหน่ายในปีถัดมา ตัวยาที่ช่วยบรรเทาความเศร้าได้ในเวลาอันรวดเร็วพลิกโฉมการรักษาอาการซึมเศร้าไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาซึ่งผู้ผลิตยากลุ่มนี้สามารถทำการตลาดกับผู้บริโภคได้โดยตรง ผู้ป่วยจึงร้องขอ ‘ยาต้านเศร้า’ มากขึ้น ขณะที่คู่มือการวินิจฉัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ช่วยให้การจ่ายยามีความชอบธรรมมากขึ้นด้วย[2]ชนกพร ชูติกมลธรรม. ‘ประวัติศาสตร์ของความซึมเศร้า จาก Melancholia สู่ Depression’. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 19, no. 1 (28 June 2019): 169–95. https://doi.org/10.14456/lartstu.2019.8.
คู่มือแนวทางการรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าของกรมสุขภาพจิต[3]กรมสุขภาพจิต. ‘แนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์-เวชปฏิบัติทั่วไปในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ’, 2553. https://www.thaidepression.com/2020/web/index.php?r=news%2Fview&id=214.
คำพูดที่ว่า ‘ซึมเศร้าเป็นเพราะสารเคมีในสมอง’ จึงเป็นผลรวมของทั้งการจัดระเบียบวงการจิตแพทย์ ความก้าวหน้าของความรู้ด้านสมอง และสโลแกนขายยาในเวลาเดียวกัน แนววิธีรักษาแบบใหม่นี้แผ่อิทธิพลไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ชักนำให้การรักษา ‘โรคซึมเศร้า’ เข้าสู่ยุคสมัยของชีวการแพทย์ (biomedicine) อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980s มาจนถึงปัจจุบัน
แม้การจ่ายยาต้านเศร้าจะเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็ว แต่ประสิทธิภาพของยาเหล่านี้ยังคงเป็นข้อที่ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดแม้แต่ในแวดวงวิทยาศาสตร์การแพทย์เอง งานวิจัยในระยะหลังมีข้อค้นพบไปในทางเดียวกันว่ายาหลายตัวส่งผลดีกว่า ‘ยาหลอก’ (plecebo) ไม่มากนัก[4]Cipriani, Andrea, Toshi A. Furukawa, Georgia Salanti, Anna Chaimani, Lauren Z. Atkinson, Yusuke Ogawa, Stefan Leucht, et al. ‘Comparative Efficacy and Acceptability of 21 Antidepressant Drugs for the Acute Treatment of Adults with Major Depressive Disorder: A Systematic Review and Network Meta-Analysis’. The Lancet 391, no. 10128 (7 April 2018): 1357–66. … Continue reading งานวิจัยระยะยาวที่ติดตามผู้ป่วยซึมเศร้ากว่าสามพันคนตลอดระยะเวลาเก้าปี พบว่ายาต้านเศร้าส่งผลดีต่อการรักษาในระยะเริ่มต้น ทว่ากลับทำให้อาการย่ำแย่ลงในระยะยาวเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รักษาโดยใช้ยา[5]Vittengl, Jeffrey R. ‘Poorer Long-Term Outcomes among Persons with Major Depressive Disorder Treated with Medication’. Psychotherapy and Psychosomatics 86, no. 5 (14 September 2017): 302–4. https://doi.org/10.1159/000479162.
ในรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์สุขภาพจิตของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur) เมื่อปี 2020 ระบุถึงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนอันเนื่องมาจากการใช้ยาจิตเวชเกินจำเป็นซึ่งเป็นการลดทอนความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพจิตที่มักเกี่ยวโยงกับบริบทสังคมและวัฒนธรรมด้วย การมุ่งรักษาจิตใจโดยอาศัยกรอบชีวการแพทย์เพียงอย่างเดียวเสี่ยงทำให้ความยากลำบากและความไม่เป็นธรรมทางสังคมกลายเป็นแค่ความผิดปกติในสมอง ซึ่งหมายถึงการลดทอนศักดิ์ศรีและอิสรภาพที่จะกำหนดชะตากรรมตนเองของผู้ป่วย[6]UN Human Rights Council Special Rapporteur on the Right of Everyone to the Enjoyment of the Highest Attainable Standard of Physical and Mental Health. ‘Right of Everyone to the Enjoyment of the Highest Attainable Standard of Physical and Mental Health’, 15 April 2020. https://digitallibrary.un.org/record/3862194.
รายงานฉบับดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์ที่การเยียวยาจิตใจถูกทำให้เป็นการแพทย์อย่างล้นเกิน (over-medicalised) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ดีหนทางที่จะทำให้ ‘สุขภาพใจ’ มีความสมดุลมากขึ้นก็เป็นโจทย์ที่แต่ละประเทศต้องแก้ด้วยวิถีทางที่ต่างกันออกไป
ชีวะ-จิต-สังคม 3 เรื่องที่แยกไม่ได้ในปัญหาซึมเศร้า
“วิชาสุขภาพจิตในเมืองไทย แต่เดิมมักจะมุ่งเน้นที่ความไม่ปกติของจิตใจ (abnormality) แต่คำถามก็คือ ‘ความปกติ’ คืออะไร? ในทางตรงข้าม ‘สุขภาพจิตที่ดี’ ก็ไม่ได้เห็นชัด ไม่ได้แสดงออกเป็นพฤติกรรม ระยะหลังเราถึงหันมาให้ความสำคัญกับ wellness มากขึ้น แต่แนวคิดแบบเก่าก็ยังดำรงอยู่ ความเป็นนายแพทย์ยังมีบทบาทต่อสังคมมาก”
โสรีช์ โพธิแก้ว นายกสมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งมุ่งเยียวยาปัญหาจิตใจจากอีกแง่มุมหนึ่ง สะท้อนถึงอุปสรรคในการเชื่อมโยงมิติต่างๆ ของสุขภาพใจเข้าด้วยกัน และชี้ให้เห็นว่าความท้าทายไม่ได้มีเฉพาะแต่ในด้านการเชื่อมมิติการแพทย์หรือชีววิทยา (biological) เข้ากับจิตวิทยา (psychological) เท่านั้น แต่ยังต้องเอื้อมไปให้ถึงมิติสังคม (social) ด้วย
“วิธีจัดการกับภาวะทางจิตที่เป็นด้านลบด้วยหลักจิตวิทยา ความจริงแล้วมีอยู่ในหลักธรรมของทุกศาสนามาแต่โบราณ สำหรับในบ้านเราสิ่งเหล่านี้แทบจะตอบด้วยหลักพุทธศาสนาได้ทั้งหมด แต่น่าเสียดายว่าคนรุ่นใหม่ อาจจะไม่ได้เปิดใจให้กับแนวทางนี้เท่าไรนัก”
นักจิตวิทยาการปรึกษารุ่นบุกเบิกในไทย มองว่าพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือที่มีพลังทั้งในแง่ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเป็นสะพานเชื่อมไปยังแวดวงการแพทย์ เห็นได้ชัดจากการที่กรมสุขภาพจิตรับเอาเครื่องมือจิตบำบัดเชิงพุทธเข้าไปผนวกกับการแพทย์อย่างแข็งขัน เช่น เปิดศูนย์ ‘จิตธรรม’ ซึ่งระบุว่า “ไม่บ้าก็เข้ามาบำบัดและฟื้นฟูสภาพทางจิตใจได้”[7]ผู้จัดการออนไลน์. ‘เปิดแล้ว “อาคาร 76 ปีศรีธัญญา และศูนย์จิตธรรม” “รถเมล์” ปลื้มได้โล่ ช่วยเหลือผู้ป่วยและสังคม’, 2560. https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9600000075837. ในความเป็นจริงแล้วเครื่องมือฝึกฝนจิตใจ (mindfulness) ไม่จำเป็นต้องอิงกับหลักศาสนาใดหนึ่งเสมอไป การเลือกรับเครื่องมือจิตวิทยาเพียงบางด้านแสดงให้เห็นถึงแรงตึงเครียดของพลังที่ยังคัดง้างกันอยู่ ไม่ใช่แค่ระหว่างการแพทย์กับจิตวิทยาแต่ยังรวมถึงบริบททางสังคมด้วย
นักศิลปะบำบัดท่านหนึ่งซึ่งจบการศึกษาจากสหราชอาณาจักรให้สัมภาษณ์กับ 101 PUB ว่า แม้แต่ความเข้าใจเชิงจิตวิทยาในปัจจุบันก็ยังมีช่องว่างกับสังคมจริงๆ อยู่มากกระทั่งภายในวัฒนธรรมเดียวกัน
“ใน UK คนทั่วไปมีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติ นักบำบัดเลยทำงานไม่ยากมาก แต่ถึงอย่างนั้นพอเจอคนทำงานระดับล่าง เขาก็จะมีความเข้าใจเรื่องจิตใจต่างออกไปเลย ยิ่งเป็นในไทย ความรู้ที่เรียนมาในมหาวิทยาลัยแทบจะเอามาใช้ตรงๆ ไม่ได้ ต้องปรับกันเยอะมาก”
หากย้อนกลับไปยังสมัยพุทธกาลในข้อถกเถียงของกระทู้พันทิปเมื่อ 8 ปีก่อน บริบททางสังคมที่ก่อให้เกิดปัญหาทางใจน่าจะยิ่งแตกต่างจากในปัจจุบันมากขึ้นไปอีก การที่สถาบันทางศาสนามีบทบาทดูแลจิตใจคนในสังคมลดน้อยลงตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ข้อต่อระหว่างมิติทางจิตวิทยากับสังคมอ่อนแรงลง คนที่เผชิญอาการซึมเศร้าจึงต้องหันไปหาที่พึ่งทางใจแหล่งใหม่ราวกับว่าเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่
“ซึมเศร้าเป็นเพราะสารเคมีในสมอง” จึงเป็นทั้งเรื่องความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทและความไม่สมดุลระหว่างการดูแลจิตใจในเชิงชีววิทยา-จิตวิทยา-สังคมในเวลาเดียวกัน และความไม่สมดุลอย่างหลังนี้เอง ทำให้ทฤษฎีที่ควรตรวจสอบได้ กลับมีสถานะกลายเป็น ‘คาถา’ แบบใหม่ที่คนจำนวนไม่น้อยเลือกนำมาท่องบ่นแทนบทสวดมนต์ พร้อมทั้งฝากความหวังทั้งหมดไว้กับเม็ดยาในมือแพทย์ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสุขภาพใจไม่อาจแยกขาดจากทั้งสามเรื่องนี้ได้
ปัญหาซึมเศร้าแก้ด้านเดียวไม่ยั่งยืน
“สำหรับเรา เข้าวัด ทำสมาธิ ดำน้ำ ดูปะการัง พวกกิจกรรมทางเลือกไม่ได้ช่วยเราให้อาการดีขึ้นเลย รู้สึกว่ายาจำเป็นและช่วยได้มาก… เราเลยอยู่ได้ด้วยการพึ่งพายาและหาเงินซื้อยาไปเรื่อยๆ …พอทำงานในสภาพที่เราก็รู้อยู่ว่าไม่พร้อม ก็ทำให้เครียด แต่ก็ต้องทำเพื่อหาเงินมารักษา ก็วนเป็นงูกินหาง เป็นวงจรที่ไม่มีวันจบ”
“เราไม่ได้ปฎิเสธเรื่องสารเคมีในสมองนะ แต่เรื่องราวแย่ๆ ที่เข้ามาก็มาจากสังคม ใครจะไปคิดบวกได้ตลอดเวลา เช่นไปทำงาน เจอเจ้านายที่แย่ ค่าแรงน้อย ก็ยิ่งสะสมความเครียด ไหนจะค่าใช้จ่ายรายวัน ค่ายารายเดือนอีก”
ประสบการณ์ของผู้ป่วยซึมเศร้าหลายคนในบทสัมภาษณ์ช่วงต้นปี 2024[8]พิชญ์สินี ชัยทวีธรรม. ‘เปิด “โลกผู้ป่วยจิตเวช-โรคมีราคา” กับสิทธิการรักษาที่มีอยู่โดยที่บางคนยังต้องต่อสู้และบางคนยังไม่รู้’, 2567. … Continue reading สะท้อนว่าค่าใช้จ่ายของยาต้านเศร้ากลายเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาซ้ำเติมอาการให้แย่ลงอีก บางคนยุติการรักษาไปกลางคันเพราะแบกรับภาระทางการเงินต่อไปไม่ไหว พวกเขาจึงมองว่าการขยายบัญชียาหลักให้ครอบคลุมยาจิตเวชที่มีราคาแพงคือทางออกของวงจรซึมเศร้านี้
อย่างไรก็ดี การทำให้ยาต้านเศร้าเข้าถึงได้มากขึ้นก็ยังตกอยู่ภายใต้กรอบคิดแบบชีวการแพทย์ที่อาจแก้ปัญหาได้เพียงส่วนเดียวเท่านั้น ในต่างประเทศ แนวทางการจ่ายยาต้านเศร้าเริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2000s เมื่อผู้ป่วยจำนวนหนึ่งต้องพึ่งพายาในปริมาณและชนิดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าจะหายขาด[9]Hari, Johann. Lost Connections. First Edition. Bloomsbury USA, 2018. ขณะที่แนวทางการใช้เครื่องมือจิตบำบัด อาทิ CBT[10]การบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy เริ่มได้รับการยอมรับในทางการแพทย์ว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าการกินยาในผู้ป่วยที่มีปูมหลังทางสังคมบางแบบ รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยที่ใช้ยาฟื้นตัวเร็วขึ้น[11]Driessen, Ellen, and Steven D. Hollon. ‘Cognitive Behavioral Therapy for Mood Disorders: Efficacy, Moderators and Mediators’. The Psychiatric Clinics of North America 33, no. 3 (September 2010): 537–55. https://doi.org/10.1016/j.psc.2010.04.005. แนวคิดการดูแลจิตใจแบบเป็นองค์รวม หรือที่เรียกว่า ‘ชีวจิตสังคม’ (Biopsychosocial model)[12]Engel, G. L. ‘The Need for a New Medical Model: A Challenge for Biomedicine’. Science (New York, N.Y.) 196, no. 4286 (8 April 1977): 129–36. https://doi.org/10.1126/science.847460. จึงได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจนกล่าวได้ว่าเป็นทิศทางหลักของนโยบายสุขภาพจิตในปัจจุบัน
ในประเทศไทย เริ่มมีความพยายามที่จะขยายการดูแลจิตใจให้พ้นออกไปจากกรอบชีวการแพทย์ให้เห็นมาระยะหนึ่งแล้ว จิตแพทย์เองเริ่มสนใจเครื่องมือจิตบำบัดมากขึ้น[13]ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์. ‘อีกทางเลือกปัญหาสุขภาพจิต : CBT การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม กับ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร’. The 101 World, 2562. https://www.the101.world/cognitive-behavior-therapy/. และข้อเสนอเชิงนโยบายในระยะหลังก็เป็นไปในทิศทางที่มุ่งสร้างระบบนิเวศของสุขภาวะทางใจที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของสังคม[14]Hfocus. ‘มติสมัชชาสุขภาพฯ เห็นชอบ “3 ประเด็น” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน’. Hfocus.org, 2566. http://www.hfocus.org/content/2023/12/29315. อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญที่ตามมาก็คือ ระบบสุขภาพจิตแบบเน้นการแพทย์เข้มข้นที่มีอยู่เดิมจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การดูแลสุขภาพใจกระบวนทัศน์ใหม่ได้อย่างไร
ระบบบริการสุขภาพจิตไทยเป็นพีระมิดกลับหัว
ผู้มีอาการซึมเศร้าโดยส่วนใหญ่มีอาการอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางเท่านั้น หากได้รับการดูแลจิตใจอย่างทันท่วงที จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็น ‘โรค’ ซึ่งจะช่วยลดภาระแก่ระบบสาธารณสุขได้อย่างมาก ระบบดูแลสุขภาพใจที่ดีจึงควรมีรูปร่างเหมือนพีระมิด เน้นหนักไปที่การดูแลขั้นต้นที่ฐานตั้งแต่ในระดับชุมชน มีช่องทางในการรับคำปรึกษาและบำบัดขั้นต้นที่หลากหลายและเข้มข้นเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ แล้วจึงให้การไปพบจิตแพทย์เป็นทางเลือกสุดท้ายบนปลายยอดสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น
ทว่าระบบบริการสุขภาพจิตของไทยในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในรูปแบบของพีระมิดหัวกลับ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรอบคิดแบบชีวการแพทย์ที่ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงทั้งต่อคนในสังคมและต่อระบบการให้บริการสุขภาพที่เป็นอยู่ การเป็นซึมเศร้าถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคที่ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้น จิตแพทย์ซึ่งมีจำนวนน้อยกลับกลายเป็นด่านแรกของการรักษาโรค ทำให้ผู้ป่วยต้องต่อคิวรอพบยาวนานหลายเดือน จนกระทั่งได้รับการวินิจฉัยแล้วจึงจะมีโอกาสบำบัดกับนักจิตวิทยาคลินิกซึ่งก็ยังมีไม่เพียงพอเช่นกัน
ขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคซึมเศร้าของกรมสุขภาพจิต[15]กรมสุขภาพจิต. ‘แนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์-เวชปฏิบัติทั่วไปในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ’, 2553. https://www.thaidepression.com/2020/web/index.php?r=news%2Fview&id=214.
ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ การจ่ายยาต้านเศร้าจึงเป็นตัวเลือกที่ยิ่งสมเหตุสมผล เพราะสามารถใช้รักษาผู้ป่วยปริมาณมากได้รวดเร็วที่สุด ข้อมูลจากระบบรายงานข้อมูลเวลาการให้บริการของโรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิตระบุว่าโดยเฉลี่ยผู้ป่วยนอกที่เป็นผู้ป่วยใหม่ใช้เวลาอยู่ในห้องตรวจเพียง 9:01 นาที ส่วนผู้ป่วยเก่าอยู่ในห้องตรวจเฉลี่ย 17:10 นาที[16]รวมผู้ป่วยจิตเวชทุกประเภท ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับการพูดคุยเพื่อเชื่อมโยงปัญหาไปถึงแง่สาเหตุในเชิงจิตวิทยาหรือสังคมเท่าใดนัก ผู้ป่วยซึมเศร้าหลายรายระบุว่าพวกเขาใช้เวลาในห้องตรวจน้อยกว่านั้นมาก ก่อนจะได้รับใบสั่งยาต้านเศร้าใบแรกโดยแทบไม่ได้พูดคุยอะไรกับแพทย์เลย
นักจิตวิทยาการปรึกษายังไม่มีที่ทางในระบบ
การให้คำปรึกษา (counselling) เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการเยียวยาจิตใจที่จะช่วยให้ผู้มีอาการซึมเศร้าเข้าใจสภาวะจิตใจของตนเอง และหาทางแก้ปมปัญหาในจิตใจได้ด้วยตนเองในที่สุด ปัจจุบันจิตแพทย์ไทยมักจำเป็นต้องทำหน้าที่นี้ด้วยภายใต้เวลาอันจำกัด อย่างไรก็ตามในประเทศไทยก็มีการผลิตนักจิตวิทยาที่ฝึกฝนด้านนี้มาโดยเฉพาะ เรียกว่า ‘นักจิตวิทยาการปรึกษา’ ซึ่งมีแนวทางทำงานต่างไปจาก ‘นักจิตวิทยาคลินิก’ อย่างมาก
นักจิตวิทยาคลินิกทำงานร่วมกับแพทย์เพื่อรักษาโรคภายใต้กรอบชีวการแพทย์ ผู้ที่จะรับการรักษาจึงต้องผ่านการวินิจฉัยว่าเป็น ‘โรคทางจิตเวช’ อย่างใดอย่างหนึ่งภายใต้กรอบคู่มือ DSM เสียก่อน ขณะที่นักจิตวิทยาการปรึกษามุ่งทำงานด้านจิตใจซึ่งไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคก็ปรึกษาได้ นักจิตวิทยาประเภทแรกจึงต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ ขณะที่ประเภทหลังไม่จำเป็นต้องมี และไม่จำเป็นต้องทำงานในโรงพยาบาล ทว่าภายใต้ทิศทางใหม่ของการมองสุขภาวะที่เป็นองค์รวม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่คนเป็นซึมเศร้ามากจนล้นระบบสาธารณสุข นักจิตวิทยาการปรึกษารวมถึงนักจิตบำบัดที่ทำงานนอกกรอบชีวการแพทย์จึงมีความสำคัญและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญก็คือกำแพงของชีวการแพทย์ที่ทำให้นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดซึ่งไม่มีใบประกอบโรคศิลปะยังทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ได้ไม่เต็มที่นัก ในปัจจุบัน ‘นักจิตวิทยาการปรึกษา’ เป็นตำแหน่งที่ไม่มีอัตราอย่างเป็นทางการในระบบสาธารณสุขของไทย แม้ในระยะหลังจะเริ่มมีการจ้างงานนักจิตวิทยาการปรึกษาในโรงพยาบาลรัฐมากขึ้น แต่ยังต้องทำในรูปแบบ ‘จ้างเหมาบริการ’ และอาจต้องรับเงินเดือนวุฒิปริญญาตรีแม้จะจบการศึกษาระดับปริญญาโท[17]ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ อุปนายกสมาคมจิตวิทยาการปรึกษา
แน่นอนว่าถึงที่สุดแล้วนักจิตวิทยาการปรึกษาไม่ใช่และไม่ควรถูกทำให้กลายเป็น ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ในแง่ของหลักวิชา แต่ในขณะเดียวกันระบบระเบียบการบริหารทรัพยากรบุคลากร รวมถึงขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยที่ออกแบบไว้ภายใต้กรอบการแพทย์ก็จำเป็นต้องได้รับการทบทวนให้สอดคล้องกับกระบวนทัศน์ทางสุขภาวะที่เปลี่ยนไปด้วย
คนไทยมีทางเลือกพบนักจิตวิทยาเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ง่ายนัก
วิกฤตซึมเศร้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากในช่วงโควิด-19 อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมหันมาตั้งคำถามกับสองทางเลือก ‘หลักศาสนา’ หรือ ‘ยาต้านเศร้า’ มากขึ้น และทำให้เกิดช่องทางในการให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการทางเลือกอื่นในการเยียวยาจิตใจเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งในรูปแบบการให้บริการพบหน้าและผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์ นักจิตวิทยาการปรึกษาเริ่มมีที่ทางมากขึ้นทั้งในสถานศึกษา[18]พิชญา เตระจิตร, ณัฐพล เมฆโสภณ, and อันนา หล่อวัฒนตระกูล. ‘สำรวจ 3 มหาวิทยาลัย : หลังโควิดฯ สุขภาพจิต สบายดีอยู่หรือ’, 2566. https://prachatai.com/journal/2023/03/103406. และบริษัทเอกชน[19]ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ อุปนายกสมาคมจิตวิทยาการปรึกษา อย่างไรก็ดี เมื่อนักจิตวิทยาการปรึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในระบบดูแลสุขภาพใจของรัฐ การเข้าถึงในช่องทางข้างต้นนี้จึงยังมีราคาแพงและมีเงื่อนไขอยู่มาก
จากการสำรวจของ 101 PUB การให้บริการโดยนักจิตวิทยาการปรึกษาเอกชนแบบพบหน้ามีราคาอยู่ในช่วง 1,500-4,000 บาทต่อชั่วโมง ส่วนการปรึกษาผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์โดยใช้วิดีโอคอลมักมีราคาถูกลงมาอยู่ในช่วง 900-2,500 บาทต่อชั่วโมง ส่วนการให้บริการในบริษัทเอกชนแม้จะเป็นสวัสดิการที่ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือกระทั่งในกรณีมหาวิทยาลัยที่ให้บริการบุคคลทั่วไปในราคาถูกกว่าค่าเฉลี่ย แต่ก็ไม่ใช่บริการที่สามารถเข้าถึงได้โดยทั่วไปในทุกพื้นที่
อย่างไรก็ดี อีกทางเลือกในการเข้าถึงนักจิตวิทยาที่ง่ายที่สุดในปัจจุบันคือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งมีนักจิตวิทยาการปรึกษา 50 คนหมุนเวียนให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 15 คู่สาย โดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลารอสายราว 30 นาที[20]Hfocus. ‘สายด่วนสุขภาพจิต ร่วมเป็นหน่วยบริการ สปสช. ขยายการเข้าถึงบริการ เพิ่มนักจิตวิทยาให้ประชาชน’. Hfocus.org, 2566. http://www.hfocus.org/content/2023/03/27200. บริการนี้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. และให้บริการฟรีตั้งแต่ต้นปี 2023 เป็นต้นมา ทว่าจากความต้องการราว 5 แสนสายต่อปี ยังคงให้บริการได้เพียงราว 1 แสนสายเท่านั้น[21]Hfocus. ‘สายด่วนสุขภาพจิต 1323 พัฒนาระบบจองคิวรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต’. Hfocus.org, 2566. http://www.hfocus.org/content/2023/05/27615. แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของการดูแลสุขภาพใจที่ไม่ติดหล่มสองทางเลือกแบบเดิมในประเทศไทย และควรได้รับการผลักดันให้การบริการเยียวยาจิตใจลักษณะนี้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นในแบบพบหน้า รวมถึงเชื่อมประสานกับหน่วยบริการให้พื้นที่อย่างเป็นระบบได้ต่อไปในอนาคต
↑1 | ข้อมูลจากคลังข้อมูลสุขภาพ (HDC) กระทรวงสาธารณสุข |
---|---|
↑2 | ชนกพร ชูติกมลธรรม. ‘ประวัติศาสตร์ของความซึมเศร้า จาก Melancholia สู่ Depression’. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 19, no. 1 (28 June 2019): 169–95. https://doi.org/10.14456/lartstu.2019.8. |
↑3, ↑15 | กรมสุขภาพจิต. ‘แนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์-เวชปฏิบัติทั่วไปในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ’, 2553. https://www.thaidepression.com/2020/web/index.php?r=news%2Fview&id=214. |
↑4 | Cipriani, Andrea, Toshi A. Furukawa, Georgia Salanti, Anna Chaimani, Lauren Z. Atkinson, Yusuke Ogawa, Stefan Leucht, et al. ‘Comparative Efficacy and Acceptability of 21 Antidepressant Drugs for the Acute Treatment of Adults with Major Depressive Disorder: A Systematic Review and Network Meta-Analysis’. The Lancet 391, no. 10128 (7 April 2018): 1357–66. https://doi.org/10.1016/S0140-6736(17)32802-7. |
↑5 | Vittengl, Jeffrey R. ‘Poorer Long-Term Outcomes among Persons with Major Depressive Disorder Treated with Medication’. Psychotherapy and Psychosomatics 86, no. 5 (14 September 2017): 302–4. https://doi.org/10.1159/000479162. |
↑6 | UN Human Rights Council Special Rapporteur on the Right of Everyone to the Enjoyment of the Highest Attainable Standard of Physical and Mental Health. ‘Right of Everyone to the Enjoyment of the Highest Attainable Standard of Physical and Mental Health’, 15 April 2020. https://digitallibrary.un.org/record/3862194. |
↑7 | ผู้จัดการออนไลน์. ‘เปิดแล้ว “อาคาร 76 ปีศรีธัญญา และศูนย์จิตธรรม” “รถเมล์” ปลื้มได้โล่ ช่วยเหลือผู้ป่วยและสังคม’, 2560. https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9600000075837. |
↑8 | พิชญ์สินี ชัยทวีธรรม. ‘เปิด “โลกผู้ป่วยจิตเวช-โรคมีราคา” กับสิทธิการรักษาที่มีอยู่โดยที่บางคนยังต้องต่อสู้และบางคนยังไม่รู้’, 2567. https://prachatai.com/journal/2024/02/108189. |
↑9 | Hari, Johann. Lost Connections. First Edition. Bloomsbury USA, 2018. |
↑10 | การบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy |
↑11 | Driessen, Ellen, and Steven D. Hollon. ‘Cognitive Behavioral Therapy for Mood Disorders: Efficacy, Moderators and Mediators’. The Psychiatric Clinics of North America 33, no. 3 (September 2010): 537–55. https://doi.org/10.1016/j.psc.2010.04.005. |
↑12 | Engel, G. L. ‘The Need for a New Medical Model: A Challenge for Biomedicine’. Science (New York, N.Y.) 196, no. 4286 (8 April 1977): 129–36. https://doi.org/10.1126/science.847460. |
↑13 | ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์. ‘อีกทางเลือกปัญหาสุขภาพจิต : CBT การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม กับ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร’. The 101 World, 2562. https://www.the101.world/cognitive-behavior-therapy/. |
↑14 | Hfocus. ‘มติสมัชชาสุขภาพฯ เห็นชอบ “3 ประเด็น” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน’. Hfocus.org, 2566. http://www.hfocus.org/content/2023/12/29315. |
↑16 | รวมผู้ป่วยจิตเวชทุกประเภท |
↑17, ↑19 | ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ อุปนายกสมาคมจิตวิทยาการปรึกษา |
↑18 | พิชญา เตระจิตร, ณัฐพล เมฆโสภณ, and อันนา หล่อวัฒนตระกูล. ‘สำรวจ 3 มหาวิทยาลัย : หลังโควิดฯ สุขภาพจิต สบายดีอยู่หรือ’, 2566. https://prachatai.com/journal/2023/03/103406. |
↑20 | Hfocus. ‘สายด่วนสุขภาพจิต ร่วมเป็นหน่วยบริการ สปสช. ขยายการเข้าถึงบริการ เพิ่มนักจิตวิทยาให้ประชาชน’. Hfocus.org, 2566. http://www.hfocus.org/content/2023/03/27200. |
↑21 | Hfocus. ‘สายด่วนสุขภาพจิต 1323 พัฒนาระบบจองคิวรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต’. Hfocus.org, 2566. http://www.hfocus.org/content/2023/05/27615. |