ฤดูไหนที่คนไทยซึมเศร้า? เช็กสุขภาพใจคนไทยประจำปี 2024

ประเด็นสำคัญ

  • คนไทยเสี่ยงซึมเศร้าน้อยที่สุดในช่วงต้นปีราวเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และเสี่ยงเพิ่มสูงที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมของทุกปี โดยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.4 เท่า
     
  • วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี เสี่ยงซึมเศร้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า 2 เท่า และสูงได้ถึงราว 65% ในบางช่วงของปี
     
  • นโยบายในปัจจุบันยังมุ่งเพิ่มศักยภาพการให้บริการมากกว่าการดูแลคนเสี่ยงซึมเศร้าก่อนกลายเป็น 'โรค' และยังต้องการแนวทางรับมือกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล

ชีวิตต้องสู้กันต่อไปในปี 2024 ท่ามกลางสภาพอากาศที่เริ่มกลับมาร้อนอบอ้าว ฝุ่น PM2.5 ที่ยังไม่จางหายไป และเดือนแรกของปีที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน แต่เมื่อพลิกสถิติดูแล้วจะพบว่า ช่วงเวลานี้ของทุกปีคือช่วงที่คนไทยเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้าน้อยที่สุด และเรื่องสุขภาพจิตอาจสัมพันธ์กับฤดูกาลมากกว่าที่คาดคิด

101 PUB ชวนคนไทยมา ‘เช็กสุขภาพใจ’ ประจำปีนี้ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแบบประเมินสุขภาพจิตออนไลน์ของกรมสุขภาพจิต อัปเดตสถานการณ์สุขภาพใจคนไทย และติดตามว่านโยบายในปัจจุบันพร้อมรับมือกับ ‘ฤดูซึมเศร้า’ ปีนี้แล้วหรือยัง?

‘ซึม’ เพิ่มขึ้น ‘เศร้า’ ตั้งแต่ต้นปี

ฐานข้อมูล Mental Health Check-In ได้รับการพัฒนาและเริ่มต้นเก็บข้อมูลสุขภาพจิตคนไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2020 ข้อมูลย้อนหลัง 3 ปีเผยให้เห็นว่าความเสี่ยง ‘ซึมเศร้า’ มีแบบแผนที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกปี โดยสัดส่วนคนเสี่ยงซึมเศร้ามักจะลดลงต่ำสุดในราวเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เริ่มไต่ระดับขึ้นในเดือนกรกฎาคม กระทั่งขึ้นสูงสุดในราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคม จากนั้นลดระดับลงอย่างรวดเร็วในช่วงสิ้นปี[1]101 PUB ใช้ข้อมูลจากระบบ Mental Health Check-In เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2024 ตลอดการวิเคราะห์ในบทความนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในห้วง 3 ปีหลังสุด จะพบว่าตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ค่าเฉลี่ย 3 เดือนในช่วงกุมภาพันธ์-เมษายนของปี 2021-2023 เพิ่มขึ้นจาก 3.6% เป็น 4.6% และ 6.6% ตามลำดับ ส่วนเดือนแรกของปี 2024 มีผู้เข้ามาทำแบบทดสอบได้ผลเสี่ยงซึมเศร้าสูงถึง 17.6% แล้ว หมายความว่าแม้แต่ในช่วงที่ดีที่สุดของปี สถานการณ์ซึมเศร้าของคนไทยก็มีทิศทางย่ำแย่ลงทุกที

ฤดูกาลของอาการซึมเศร้า

ขณะที่วิกฤตโรคระบาดคลี่คลายลง แต่วิกฤตสุขภาพจิตยังคงดำเนินต่อมา หากย้อนกลับไปดูตัวเลขสัดส่วนผู้มีความเสี่ยงซึมเศร้าในปี 2021 จะเห็นว่ามีช่วงที่ตัวเลขนี้พุ่งขึ้นไปเกิน 30% ในเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องภายหลังการคลายล็อกมาตรการควบคุมโควิด-19 และคงตัวอยู่ในระดับต่ำตลอดครึ่งแรกของปี 2022 ทว่าหลังจากนั้นก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 2023 ที่ผ่านมา โดยในเดือนตุลาคมมียอดแหลมพุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงล็อกดาวน์ แบบแผนที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ตลอด 3 ปีแสดงให้เห็นว่าสภาพจิตใจของคนไทยเปราะบางเป็นพิเศษในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม โดยมีความเสี่ยงซึมเศร้าสูงกว่าในช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน เฉลี่ย 3.4 เท่า

ปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันนี้พบได้บ่อยในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น เรียกว่า ‘ภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล’ (Seasonal Affective Disorder) หรือ SAD ซึ่งเชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ร่างกายไม่ค่อยได้รับแสงแดดในช่วงฤดูหนาว[2]Lambert, G. W., C. Reid, D. M. Kaye, G. L. Jennings, and M. D. Esler. ‘Effect of Sunlight and Season on Serotonin Turnover in the Brain’. The Lancet 360, no. 9348 (7 December 2002): 1840–42. https://doi.org/10.1016/S0140-6736(02)11737-5. เราอาจมองได้ว่าในไทยมีแบบแผนของอาการซึมเศร้าพ้องกับช่วงฤดูฝน แต่ต้องไม่ลืมปัจจัยที่ว่า ประเทศของเราตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตรซึ่งต่อให้มีฝนติดต่อกันบ้างก็ยังมีแดดจ้าตลอดทั้งปี นอกจากนี้อาการซึมเศร้ายังมีองค์ประกอบที่ซับซ้อน อาจเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ส่วนตัว สังคม เศรษฐกิจ ไปจนถึงการเดินทางท่ามกลางการจราจรในวันฝนตกหนัก หรือกระทั่งการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดสงกรานต์[3]Remes, Olivia, João Francisco Mendes, and Peter Templeton. ‘Biological, Psychological, and Social Determinants of Depression: A Review of Recent Literature’. Brain Sciences 11, no. 12 (10 December 2021): 1633. https://doi.org/10.3390/brainsci11121633. ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับแบบแผนในเชิงฤดูกาลของอาการซึมเศร้าในไทย จึงยากที่จะสรุปว่าปัจจัยใดบ้างคือสาเหตุเบื้องหลังข้อมูลข้างต้นนี้

ยิ่งเด็ก ยิ่งเศร้า

ตัวเลขทางสถิติในภาพรวมอาจไม่ได้สะท้อนความรุนแรงของปัญหาได้ดีเท่าที่ควร ตัวเลขสัดส่วนผู้เสี่ยงซึมเศร้าข้างต้นเป็นเพียง ‘ค่าเฉลี่ย’ ของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ที่ราว 12.6% ในปี 2023 แต่หากจำแนกออกตามช่วงอายุ จะพบว่าวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี เสี่ยงซึมเศร้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า 2 เท่า และในช่วงที่เลวร้ายที่สุดของปี สัดส่วนเยาวชนที่เสี่ยงซึมเศร้าเคยพุ่งสูงขึ้นไปถึงราว 65%

ตัวเลขที่น่าตกใจนี้ถูกอำพรางด้วยผลการประเมินของผู้ใช้งานวัย 50-59 และ 60 ปีขึ้นไปซึ่งมีจำนวนมากที่สุด คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่เข้ามาใช้งาน ทว่าผู้ใช้งานกลุ่มนี้มีคนที่ได้ผลเสี่ยงซึมเศร้าอยู่ที่ราว 0.9-1.7% เท่านั้น ขณะที่เมื่อพิจารณาจากกราฟ จะเห็นแนวโน้มชัดเจนว่ากลุ่มที่อายุน้อยลงมีความเสี่ยงซึมเศร้าเพิ่มขึ้นตามลำดับ และเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในกลุ่มเด็กและเยาวชน

ประชากรอายุน้อยมีความเปราะบางมากกว่ากลุ่มอื่น เห็นได้จากสัดส่วนความเสี่ยงที่มักจะเพิ่มขึ้นก่อน และลดลงทีหลังกลุ่มอื่นๆ ซึ่งยังอาจสัมพันธ์กับวงจรชีวิตในสถานศึกษาที่ต่างออกไปจากวัยทำงานด้วย อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าทุกช่วงวัยมีแบบแผนความเสี่ยงที่ผกผันขึ้น-ลง คล้ายคลึงกัน ซึ่งแปลว่าปัจจัยที่ส่งผลต่ออาการซึมเศร้าตามฤดูกาล น่าจะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกช่วงวัยในระดับที่แตกต่างกันออกไปเท่านั้นเอง

คนที่ไม่ถูกนับ

สถิติผู้มีความเสี่ยงซึมเศร้าจากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิตเป็นชุดข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่มีในปัจจุบันสำหรับการตรวจเช็กสุขภาพใจเบื้องต้นของคนไทย แต่แน่นอนว่ายังไม่ใช่ข้อมูลที่สะท้อนความเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์ เพราะจิตใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจทอนลงเป็นตัวเลขได้ยาก และอาจยังมีผู้ที่เผชิญช่วงเวลายากลำบากอีกมากที่ไม่ได้หันมาพึ่งพาเครื่องมือชิ้นนี้ ช่องว่างของคนที่ไม่ได้ถูกนับในชุดข้อมูลนี้ปรากฏในสถิติอีกชุดหนึ่ง คืออัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 5 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี[4]ศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิต, 2024 ใกล้เคียงกับในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ 

โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งของการพยายามฆ่าตัวตาย เห็นได้จากการที่วัยรุ่นไทยอายุ 15-19 ปีเป็นวัยที่มีอัตราพยายามฆ่าตัวตายสูงที่สุดถึง 116.8 ต่อประชากรแสนคนในปี 2023[5]กรมสุขภาพจิต, 2023 สอดคล้องกับข้อมูลความเสี่ยงซึมเศร้าก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีอัตรา ‘ฆ่าตัวตายสำเร็จ’ มากที่สุดกลับกลายเป็นคนสูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป[6]The Coverage. ‘ปี 66 คนไทยพยายามฆ่าตัวตาย 2.5 หมื่นคน “วัยรุ่น” มากสุด – สธ. ดัน “หมอพร้อม-แพทย์ AI” ช่วย’, 2024. https://www.thecoverage.info/news/content/6082. ซึ่งอาจไม่ได้เข้ามาทำแบบทดสอบนี้ หรือกระทั่งไม่เคยขอความช่วยเหลือทางจิตใจจากใครเลยก่อนตัดสินใจลงมือ

การเติบโตของเครื่องมือคัดกรองและช่องทางให้คำปรึกษาออนไลน์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นสัญญาณที่ดีของการที่สังคมตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ทว่าการให้การดูแลในพื้นที่ก็ยังคงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

นโยบายคืบหน้าแต่ยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาซึมเศร้า

การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตเป็นวาระที่ได้รับความสำคัญมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีมาตรการใหม่ๆ ออกมารับมือกับปัญหาที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาทิ การให้บริการจิตเวชออนไลน์ (Telepsychiatry) ซึ่งเริ่มให้บริการแก่ผู้ป่วยไปแล้วกว่า 1.3 หมื่นคนในปีงบประมาณปัจจุบัน[7]DMH Data Center กรมสุขภาพจิต, ข้อมูลเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2024. https://dtc.dmh.go.th/SysReport201Dashborad และ ‘มินิธัญญารักษ์’ ซึ่งมุ่งขยายหอผู้ป่วยจิตเวชให้ครบทุกจังหวัด รวมถึงเพิ่มกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดให้ครบทุกอำเภอ[8]The Coverage. ‘ดีเดย์ 1 ธ.ค. 2566 สธ. เปิด ‘มินิธัญญารักษ์ 146 แห่ง พร้อมกันทั่วประเทศ, 2023. https://www.thecoverage.info/news/content/5651.

ข้อจำกัดในการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขคือบทบาทของการเป็น ‘ผู้ให้บริการ’ ซึ่งมีเครื่องมือและบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นโยบายที่เรียกว่า ‘quickwin’ จึงมักอยู่ในรูปแบบของการเพิ่มศักยภาพของบริการที่มีอยู่แล้วดังที่เห็นในกรณีมินิธัญญารักษ์ ทว่าปัญหา ‘ซึมเศร้า’ จำนวนมากไม่ควรต้องรอให้กลายเป็น ‘โรค’ จึงจะเข้าสู่ระบบการรักษาได้ 

สถิติการให้บริการจิตเวชย้อนหลัง 5 ปีแสดงให้เห็นว่าโรควิตกกังวลและซึมเศร้า เป็นกลุ่มโรคที่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการสูงเป็นลำดับต้นๆ ตามมาด้วยการติดยาเสพติดและแอลกอฮอลล์[9]DMH Data Center กรมสุขภาพจิต, ข้อมูลเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2024. https://dtc.dmh.go.th/SysReport201Dashborad กลุ่มหลังมักมีอาการที่แสดงออกอย่างชัดเจนและมีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) การเพิ่มศักยภาพการให้บริการของกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่การที่เรื่อง ‘จิตเวช’ ทั้งหมดถูกรวมเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งยังมุ่งรับมือกับปัญหายาเสพติดเป็นหลัก ก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงในการ ‘ตีตรา’ เหมารวมผู้ที่มีอาการซึมเศร้าเข้ากับผู้ป่วยประเภทอื่นไปด้วยเช่นกัน

ข้อเสนอเชิงนโยบายในปัจจุบัน เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือมุ่งสร้างระบบนิเวศการดูแลจิตใจที่ครอบคลุมไปจนถึงพื้นที่ชีวิตประจำวันและในชุมชน[10]สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ, 2023. https://www.nationalhealth.or.th/sites/default/files/upload_files/1-2NHA16.pdf ตั้งแต่ก่อนที่จะกลายเป็น ‘โรค’ ที่ต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเท่านั้น ‘ผู้ป่วย’ ซึมเศร้าที่ลดลงหมายถึงการที่ระบบสาธารณสุขจะสามารถดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มอื่นๆ ได้อย่างเต็มกำลังมากยิ่งขึ้น และย่อมหมายถึงสุขภาพใจของคนไทยที่ดีขึ้นโดยรวมด้วย 

ภายใต้ทิศทางนี้ ภาครัฐจะต้องทบทวนยุทธศาสตร์และแนวนโยบายในปัจจุบัน เพิ่มการบูรณาการกับส่วนราชการอื่น ท้องถิ่นและเอกชน ทำให้วาระของการดูแลสุขภาพใจเป็นวาระสำคัญไม่น้อยไปกว่าการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดในขอบเขตงานของกระทรวงสาธารณสุข และต้องทำอย่างเร่งด่วนด้วย เพื่อเตรียมรับมือ ‘ฤดูกาลซึมเศร้า’ ที่จะเวียนกลับมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

References
1 101 PUB ใช้ข้อมูลจากระบบ Mental Health Check-In เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2024 ตลอดการวิเคราะห์ในบทความนี้
2 Lambert, G. W., C. Reid, D. M. Kaye, G. L. Jennings, and M. D. Esler. ‘Effect of Sunlight and Season on Serotonin Turnover in the Brain’. The Lancet 360, no. 9348 (7 December 2002): 1840–42. https://doi.org/10.1016/S0140-6736(02)11737-5.
3 Remes, Olivia, João Francisco Mendes, and Peter Templeton. ‘Biological, Psychological, and Social Determinants of Depression: A Review of Recent Literature’. Brain Sciences 11, no. 12 (10 December 2021): 1633. https://doi.org/10.3390/brainsci11121633.
4 ศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิต, 2024
5 กรมสุขภาพจิต, 2023
6 The Coverage. ‘ปี 66 คนไทยพยายามฆ่าตัวตาย 2.5 หมื่นคน “วัยรุ่น” มากสุด – สธ. ดัน “หมอพร้อม-แพทย์ AI” ช่วย’, 2024. https://www.thecoverage.info/news/content/6082.
7, 9 DMH Data Center กรมสุขภาพจิต, ข้อมูลเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2024. https://dtc.dmh.go.th/SysReport201Dashborad
8 The Coverage. ‘ดีเดย์ 1 ธ.ค. 2566 สธ. เปิด ‘มินิธัญญารักษ์ 146 แห่ง พร้อมกันทั่วประเทศ, 2023. https://www.thecoverage.info/news/content/5651.
10 สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ, 2023. https://www.nationalhealth.or.th/sites/default/files/upload_files/1-2NHA16.pdf

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

สรัช สินธุประมา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูแลหัวใจไม่ให้ใครร่วงหล่น: เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่ายและทันท่วงที

ดูแลหัวใจไม่ให้ใครร่วงหล่น: เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่ายและทันท่วงที

เมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้า เรื่องที่มักถูกยกขึ้นมาพูดต่อคือปัญหาขาดแคลนจิตแพทย์ แต่เราต้องมีจิตแพทย์เพิ่มอีกกี่คนจึงจะนับว่าพอ? มีอีกหลายคำถามที่ควรสงสัยและหาคำตอบถ้าหากเราปรารถนาจะดูแลสุขภาพใจของคนไทยไม่ให้ร่วงหล่นไปมากกว่านี้

ทำไมพยาบาลจิตเวชถึงไม่มีเวลาทำงานจิตเวช?

พยาบาลจิตเวชกว่า 4 พันคนทั่วประเทศ คือกำลังหลักของการดูแลสุขภาพจิตคนไทย แต่ส่วนใหญ่กลับไม่ได้ทำงานจิตเวชเต็มที่ เพราะมีภาระงานอื่นรอบด้าน

สุขภาพใจที่อยู่ไกลเกินเอื้อมของเด็กและวัยรุ่นไทย

สำรวจแผนที่ความเหลื่อมล้ำด้านการดูแลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น – ใน 17 จังหวัด ยังไม่มีจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเด็กและวัยรุ่นประจำอยู่เลย!

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.