ประเด็นสำคัญ
- เยาวชนไทยเชื่อถือสถาบันทางการเมืองต่ำมาก โดยเฉพาะสถาบันที่มาจากการเลือกตั้ง กองทัพ และชนชั้นนำ ระดับความเชื่อถือดังกล่าวแตกต่างกันตามคุณค่าและทัศนคติ เพศสภาพ ถิ่นที่อยู่ และรายได้ครัวเรือนของเยาวชนแต่ละกลุ่ม
- ความเชื่อถือต่ำสะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปสถาบันทางการเมือง ประเด็นปฏิรูปซึ่งเยาวชนเห็นว่าสำคัญและน่ากังวลมากที่สุด ได้แก่ กลไกตรวจสอบถ่วงดุลและป้องกันการทุจริต ศาลและกระบวนการยุติธรรม และระบบสภาและระบบเลือกตั้ง
- เยาวชนต่างกลุ่มคุณค่าและทัศนคติมีฉันทมติร่วมกันในหลักการปฏิรูปอย่างน้อยสามประการคือ (1) การปฏิรูปต้องนำไปสู่การคุ้มครองเสรีภาพทางความคิดและเปิดพื้นที่เพื่อคนหลากหลาย (2) ทลายระบบอุปถัมภ์และลดการทุจริต พร้อมทั้ง (3) รื้อสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองให้ทุกคนมีโอกาสเสมอภาคกันยิ่งขึ้น
“อิหยังวะ” “มืดมน” “ท้อใจ” “ไม่ตอบโจทย์” “ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย” “ประชาชนไม่มีส่วนร่วม”
ถ้อยคำเหล่านี้เป็นถ้อยคำที่เยาวชนใช้อธิบายระบอบการเมืองไทย ในวงเสวนาสาธารณะ Youth’s Constitution Dialogue: ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ สร้างประชาธิปไตยยั่งยืน เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ฉายให้เห็นว่าระบอบการเมืองถูกจัดวางและฟังก์ชันได้ไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของพวกเขา และหลายคนคงใฝ่ฝันให้เกิดการปฏิรูป-แก้ปัญหาของสถาบันการเมืองภายใต้ระบอบนี้โดยเร็ว
ความฝันข้างต้นอาจเรียกว่าเป็น ‘ความฝันร่วม’ ของเยาวชนไทยจำนวนมาก ความสนใจและการเรียกร้องการปฏิรูปของเยาวชนอย่างกระตือรือร้นและทรงพลังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนภาพฝันนี้ได้เป็นอย่างดี
คำถามที่น่าสนใจคือ เยาวชนโดยรวมอยากเห็นการปฏิรูปสถาบันการเมือง ‘ใด?’ และ ‘อย่างไร?’
101 PUB โดยความร่วมมือกับ National Democratic Institute (NDI) ชวนสำรวจปรากฏการณ์ที่สถาบันการเมืองแทบไม่หลงเหลือความน่าเชื่อถือในสายตาเยาวชน พร้อมทั้งเข้าใจว่าเยาวชนใฝ่ฝันถึงการปฏิรูปในแนวทางอย่างไร ผ่านข้อมูลผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์
เยาวชนเชื่อถือสถาบันทางการเมืองต่ำ สะท้อนความจำเป็นในการปฏิรูป
สถาบันการเมืองไทยกำลังเผชิญ ‘วิกฤตศรัทธา’ ในหมู่เยาวชนอย่างน่ากังวล ผลสำรวจเยาวชนอายุ 15-25 ปี 19,237 คนทั่วประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ของ คิด for คิดส์[1]ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา, และ สรวิศ มา, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022, 22 สิงหาคม 2022, https://101pub.org/youth-survey-2022/ (เข้าถึงเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2023). พบว่า สถาบันทางสังคมที่เยาวชนเชื่อถือน้อยที่สุด 10 อันดับแรกล้วนมีบทบาทเกี่ยวกับการเมือง โดย ‘รัฐบาล’ ได้รับความไว้วางใจต่ำสุด (คะแนนความเชื่อถือเฉลี่ย 0.9 จากคะแนนเต็ม 5) ตามมาด้วยกองทัพ (1.1), ชนชั้นสูง (1.1), รัฐสภา (1.2), ตำรวจ (1.2), นักการเมือง (1.3), ธุรกิจใหญ่ (1.3), ข้าราชการ (1.4), ศาล (1.5), และ NGO (1.5)
หมายความว่า เยาวชนเชื่อถือข้าราชการที่มีอำนาจใช้กำลังอย่างทหาร-ตำรวจ และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ-สังคม ในระดับต่ำยิ่งกว่านักการเมือง ซึ่งมักถูกพูดถึงกันในสังคมไทยว่า “ไว้ใจไม่ได้” น่าตกใจด้วยว่า เยาวชนเชื่อถือสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนเองเหล่านี้ ได้น้อยกว่าคนแปลกหน้าในสังคม (1.9) เสียอีก
ความเชื่อถือจะสูงหรือต่ำ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับ ‘คุณค่าและทัศนคติ’ ของเยาวชนแต่ละคน หากจัดกลุ่มเยาวชนด้วยทัศนคติทางสังคม-เศรษฐกิจ-การเมืองเป็น 5 กลุ่มตามงานศึกษาของ คิด for คิดส์[2]ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช, “เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: ผลการศึกษาคุณค่า-ทัศนคติเยาวชน จากผลสำรวจเยาวชน คิด for … Continue reading เยาวชน ‘กลุ่มทัศนคติ 1’ ซึ่งมองคนเท่าเทียม ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ยึดถือประชาธิปไตยเสรีแบบมีส่วนร่วม และมีจุดยืนทางสังคมก้าวหน้ามากที่สุด จะเชื่อถือสถาบันการเมืองน้อยที่สุด โดยเฉพาะกับรัฐบาล (0.4), กองทัพ (0.4), ตำรวจ (0.6), และชนชั้นสูง (0.6)
ในทางตรงข้าม เยาวชน ‘กลุ่มทัศนคติ 4’ ซึ่งเคารพลำดับชั้นทางสังคม-ความเหลื่อมล้ำ ยินยอมให้รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพ รวมถึงยึดมั่นในชาติ ศาสนา และขนบธรรมเนียมมากที่สุด จะเชื่อถือสถาบันการเมืองสูงกว่ากลุ่มอื่น ทั้งนี้ สถาบันที่กลุ่มทัศนคติ 4 ไม่ไว้ใจที่สุดได้แก่ รัฐบาล (1.4), นักการเมือง (1.5), รัฐสภา (1.5), และชนชั้นสูง (1.6)
ระดับความเชื่อถือข้างต้นยังแตกต่างกันตามเพศสภาพ ถิ่นที่อยู่ และรายได้ครัวเรือน โดยเยาวชน LGBTQ+ มักเชื่อถือสถาบันการเมืองต่ำกว่าเยาวชนหญิงและชาย เช่นในกรณีรัฐบาล คะแนนความเชื่อถือเท่ากับ 0.7, 0.9, และ 1.1 ตามลำดับ เยาวชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (0.4) ก็เชื่อถือน้อยกว่าเยาวชนเมืองต่างจังหวัด (0.9) และชนบทต่างจังหวัด (1.1) ขณะเดียวกัน ความเชื่อถือนี้ยังมีแนวโน้มลดลงในกลุ่มเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนสูงขึ้นด้วย
ความเชื่อถือต่อสถาบันการเมืองที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินดังกล่าวมิได้ปรากฏเฉพาะในหมู่เยาวชนเท่านั้น งานวิจัยของ NDI และสถาบันพระปกเกล้าพบว่า ประชากรช่วงอายุอื่นก็ไว้วางใจสมาชิกรัฐสภา ระบบพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในระดับต่ำ (ระดับ 4 จาก 13 ระดับ) โดยความไว้ใจสองสถาบันแรกจะต่ำเป็นพิเศษในกลุ่มประชากรหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปและชายอายุ 18-39 ปี (ระดับ 2 และ 3 ตามลำดับ)[3]National Demcoratic Institute and King Prajadhipok’s Institute, Citizen Attitudes and Priorities for Strengthening Democracy: Findings from focus group discussions with citizens conducted across the Kingdom of Thailand in November and December 2022 (National Demcoratic Institute, 2023).
วิกฤตศรัทธาเช่นนี้สะท้อนความไม่พอใจของเยาวชนและประชาชนต่อรูปแบบและบทบาทการทำหน้าที่ของสถาบันการเมืองอย่างกว้างขวาง สถาบันจึงควรถูกปฏิรูปให้สามารถตอบสนองความคาดหวัง และได้รับความชอบธรรม-การสนับสนุนจากประชาชนดียิ่งขึ้น – เป็นกลไกรองรับให้เราทุกคนในสังคมไทยใช้ชีวิตอยู่และเติมเต็มความฝัน ‘ร่วมกัน’ ได้อย่างยั่งยืน
เยาวชนหวังปฏิรูปกลไกลดทุจริต-ศาล-สภา โดยมีฉันทมติวงกว้างใน ‘3 หลักการใหญ่’
เยาวชนและประชาชนช่วงอายุอื่นเห็นตรงกันถึงประเด็นปฏิรูปสถาบันทางการเมืองที่สำคัญที่สุด 3 อันดับแรก คือ (1) กลไกตรวจสอบถ่วงดุลลดการทุจริต, (2) ศาลและกระบวนการยุติธรรม, และ (3) ระบบสภาและระบบเลือกตั้ง[4]เพิ่งอ้าง; ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์. โดยสัดส่วนเยาวชนที่เห็นว่าประเด็นดังกล่าวสำคัญและน่าห่วงกังวลมากถึงมากที่สุดมีอยู่ราว 65.6%, 58.6%, และ 58.0% ตามลำดับ ประเด็นอื่นที่มักถูกพูดถึงก็เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ กองทัพ การกระจายอำนาจ และระบบจัดสรรทรัพยากรในสังคม ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในงาน Youth’s Constitution Dialogue เช่นกัน
เยาวชนมีภาพฝันว่า ‘สถาบันเหล่านั้นควรถูกปฏิรูปแบบไหน?’ แตกต่างหลากหลาย อย่างไรก็ดี การศึกษาผลสำรวจของ คิด for คิดส์ พบว่า พวกเขามี ‘ฉันทมติของรุ่น’ เป็นความฝันที่เยาวชนทุกกลุ่มทัศนคติเห็นพ้องกัน 3 เรื่อง คือ (1) หวังให้เสรีภาพทางความคิดได้รับการคุ้มครอง-สังคมเปิดพื้นที่เพื่อคนหลากหลาย; (2) ฝันถึงการทลายระบบอุปถัมภ์-เส้นสาย พร้อมทั้งแก้ปัญหาการทุจริต; และ (3) ต้องการระบอบเศรษฐกิจ-การเมืองที่ทุกคนมีโอกาสเสมอภาคกัน[5]วรดร เลิศรัตน์ และ สรัช สินธุประมา, เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023 (กรุงเทพฯ: … Continue reading ความฝันร่วมเหล่านี้จึงนับเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการวางแนวทางปฏิรูปสถาบันการเมืองให้ตอบสนองความฝันเยาวชนทุกคน
ศาลต้องพิทักษ์สิทธิประชาชน ก้าวทันสังคม อำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาค
ศาลและกระบวนการยุติธรรมเป็นสถาบันที่เยาวชนอยากเห็นการปฏิรูปมากที่สุดอันดับสอง[6]บทความนี้มิได้อภิปรายถึงกลไกตรวจสอบถ่วงดุลลดการทุจริต ซึ่งเป็นสถาบันที่เยาวชนอยากเห็นการปฏิรูปมากที่สุดอันดับหนึ่ง … Continue reading
เราอาจอนุมานปัญหาและแนวทางปฏิรูปศาลในสายตาเยาวชนผ่าน ‘คุณค่าและทัศนคติของเยาวชนที่ไว้ใจศาลต่ำ’ การอนุมานเช่นนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดว่า ถ้าเยาวชนที่มีทัศนคติแบบใดเชื่อถือศาลต่ำ ทัศนคตินั้นก็น่าจะสัมพันธ์กับความไม่ไว้ใจศาล และพออธิบายปัญหา-แนวทางปฏิรูปศาลในมุมมองเยาวชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อควบคุมปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลต่อความเชื่อถือศาลให้คงที่ ซึ่งในที่นี้จะควบคุมกลุ่มทัศนคติ เพศสภาพ ถิ่นที่อยู่ และรายได้ครัวเรือนของเยาวชน
ตัวอย่างคือ ระดับความเชื่อถือต่อศาลในหมู่เยาวชนที่เห็นว่ารัฐ ‘ไม่ชอบธรรม’ ที่จะใช้ความรุนแรงจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย จะต่ำกว่าระดับความเชื่อถือในกลุ่มที่เห็นเห็นว่ารัฐ ‘ชอบธรรม’ อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงพออุนมานปัญหาของศาลในมุมมองเยาวชนได้ว่า ศาลกำลังเป็นกลไกสร้างความชอบธรรมให้รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน
ในทำนองเดียวกัน ระดับความเชื่อถือศาลจะต่ำในกลุ่มเยาวชนที่มองว่าสังคมไทยไม่โอบรับความเปลี่ยนแปลง; กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เส้นสายเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง; และกลุ่มที่เชื่อว่าคนรวยกับคนจนในไทยมีสิทธิขั้นพื้นฐานไม่เท่าเทียมกัน สะท้อนปัญหาความอนุรักษนิยม ระบบอุปถัมภ์ และการอำนวยความยุติธรรมให้คนรวย-คนจนไม่เท่าเทียมกัน อย่างที่มักพูดกันติดปากว่า “คุกมีไว้ขังคนจน”
โดยนัยนี้ เยาวชนคาดหวังการปฏิรูปให้ศาลเป็นกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ – แทนที่จะเป็นเครื่องมือของรัฐในการละเมิดประชาชน – ก้าวทันความก้าวหน้าของสังคม ไม่พิจารณาและตัดสินอรรถคดีด้วยมุมมองจากอดีต กดทับความเปลี่ยนแปลง-ความหลากหลาย เหนี่ยวรั้งประเทศให้หยุดยั้งอยู่ในหล่มกาลเวลา ที่สำคัญ เยาวชนอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนเสมอกันต่อหน้ากฎหมาย ไม่เอนเอียงเพื่อเอื้อประโยชน์คนมีเส้นสาย-ในเครือข่ายอุปถัมภ์ และไม่เลือกปฏิบัติตามฐานะรวย-จน
รัฐสภาต้องสะท้อนผลประโยชน์คนหลากกลุ่ม ขยายการมีส่วนร่วมที่มีความหมาย
รัฐสภาเป็นอีกหนึ่งสถาบันการเมืองที่เยาวชนมุ่งหมายให้ปฏิรูปเป็นลำดับแรกๆ หากควบคุมปัจจัยเรื่องกลุ่มทัศนคติ เพศสภาพ ถิ่นที่อยู่ และรายได้ครัวเรือนให้คงที่ ระดับความเชื่อถือของเยาวชนต่อสภาจะต่ำ ในหมู่เยาวชนที่เห็นว่าระบบการเมืองควรเน้นเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผลประโยชน์หลากหลายมากกว่าสร้างรัฐบาลเข้มแข็ง; และกลุ่มที่เชื่อว่าตนเองสามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐได้น้อย ฉะนั้น อาจอนุมานปัญหาของสภาในมุมมองเยาวชนได้ว่า สภายังขาดตัวแทนของประชาชนหลายกลุ่ม อีกทั้งขาดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจอย่างเพียงพอ
เช่นเดียวกับกรณีศาล ระดับความเชื่อถือรัฐสภาจะต่ำ ในกลุ่มเยาวชนที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เส้นสายเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพ้อง และกลุ่มที่เชื่อว่าคนรวยกับคนจนในไทยมีสิทธิขั้นพื้นฐานไม่เท่าเทียมกัน แสดงให้เห็นทัศนะของเยาวชนที่มองว่า กลไกรัฐสภารับฟังเสียงและเอื้อประโยชน์ให้คนบางจำพวก – อย่างคนในเครือข่ายอุปถัมภ์ของสมาชิกสภาและคนรวย – มากกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคมอย่างไม่เท่าเทียม
ในแง่นี้ เยาวชนน่าจะใฝ่ฝันถึงการปฏิรูปให้รัฐสภาประกอบด้วยผู้แทนประชาชนที่มีผลประโยชน์แตกต่างหลากหลายทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและสมดุล เป็นศูนย์รวมเจตนารมณ์ของปวงชน และพื้นที่ต่อรองนโยบาย-จัดการความขัดแย้งที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เยาวชนยังอยากให้รัฐสภาขยายช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความหมาย ท้ายที่สุด พวกเขาก็คาดหวังให้พัฒนากลไกป้องกันการทุจริตและการเอื้อประโยชน์แก่เครือข่ายอุปถัมภ์ของสมาชิกให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
↑1 | ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา, และ สรวิศ มา, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022, 22 สิงหาคม 2022, https://101pub.org/youth-survey-2022/ (เข้าถึงเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2023). |
---|---|
↑2 | ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์ และ กษิดิ์เดช คำพุช, “เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: ผลการศึกษาคุณค่า-ทัศนคติเยาวชน จากผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์,” 101 Public Policy Think Tank, 22 มิถุนายน 2023, https://101pub.org/thai-youth-values-and-attitudes/ (เข้าถึงเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2023). |
↑3 | National Demcoratic Institute and King Prajadhipok’s Institute, Citizen Attitudes and Priorities for Strengthening Democracy: Findings from focus group discussions with citizens conducted across the Kingdom of Thailand in November and December 2022 (National Demcoratic Institute, 2023). |
↑4 | เพิ่งอ้าง; ฉัตร คำแสง และคณะ, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์. |
↑5 | วรดร เลิศรัตน์ และ สรัช สินธุประมา, เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023 (กรุงเทพฯ: ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว, 2023). |
↑6 | บทความนี้มิได้อภิปรายถึงกลไกตรวจสอบถ่วงดุลลดการทุจริต ซึ่งเป็นสถาบันที่เยาวชนอยากเห็นการปฏิรูปมากที่สุดอันดับหนึ่ง เนื่องจากไม่มีข้อมูลผลสำรวจที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้เพียงพอ |