รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว 2022

แนวโน้มที่ 3

เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์
โดยขาดฐานที่จำเป็น


การปิดสถานที่เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องมาถึงช่วงปี 2021-2022 ส่งผลให้กิจกรรมหลายอย่างในชีวิตเด็กและเยาวชนต้องย้ายจากโลกกายภาพไปสู่โลกออนไลน์ อย่างไรก็ดี การปิดสถานที่โดยขาดมาตรการรองรับผลกระทบที่เหมาะสมและเพียงพอ ประกอบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงและเรื้อรังมาตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด ทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดทักษะและอุปกรณ์ที่จำเป็นและเท่าเทียม

มาตรการโควิดผลักเด็กและเยาวชนเข้าสู่โลกออนไลน์

         การปิดสถานที่ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเร่งให้เด็กต้องเข้าสู่โลกออนไลน์เร็วขึ้น โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่เริ่มให้เด็กใช้สื่อดิจิทัลตั้งแต่อายุเพียง 2-3 ปี ตามผลสำรวจของ สสส. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร-ศาสตร์ และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนในเดือนมกราคม 2021[1]

          ยิ่งไปกว่านั้น เด็กและเยาวชนยังต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์ จากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ ในเดือนพฤษภาคม 2022 เยาวชนอายุ 15-25 ปีใช้เวลารับสื่อออนไลน์เฉลี่ยมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยกลุ่มที่เรียนเต็มเวลาร้อยละ 97.0 ใช้อินเทอร์เน็ตในการเรียน ส่วนกลุ่มที่ทำงานเต็มเวลาร้อยละ 70.5 ใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงาน เยาวชนเกือบทั้งหมดยังใช้อินเทอร์เน็ตโทรและส่งข้อความ (ร้อยละ 97.6) ค้นคว้าข้อมูล (ร้อยละ 97.1) ใช้โซเชียลมีเดีย (ร้อยละ 94.7) ซื้อสินค้า (ร้อยละ 86.8) และเล่นเกม (ร้อยละ 81.8)

เด็กและเยาวชนต้องเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดทักษะที่จำเป็นและเท่าเทียม

          แม้เด็กและเยาวชนจะต้องใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มาก แต่ยังขาดทักษะรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (media, information, and digital literacy, MIDL) ซึ่งจำเป็นยิ่งต่อการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย มีประสิทธิผล และมีประสิทธิภาพ จากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ เยาวชนอายุ 15-25 ปีประเมินตนเองว่ามีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือดิจิทัลอยู่ที่ระดับคะแนนเฉลี่ยเพียง 3.23 เต็ม 5 และมีทักษะการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลอยู่ที่ 3.27 เต็ม 5 เท่านั้น

          ปัญหาการขาดทักษะนี้มีแนวโน้มรุนแรงกว่าในเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนรายได้ต่ำ โดยเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 60 (ควินไทล์ที่ 1-3) มีระดับคะแนนเฉลี่ยในทั้งสองทักษะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ หากเปรียบเทียบระหว่างเยาวชนจากครัวเรือนในควินไทล์ที่ 1 (รายได้ต่ำสุด) กับควินไทล์ที่ 5 (รายได้สูงสุด) จะเห็นได้ว่าควินไทล์ที่ 1 มีระดับคะแนนเฉลี่ยในทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ฯ (3.07) และทักษะการประเมินข้อมูลฯ (3.16) น้อยกว่าควินไทล์ที่ 5 (3.50 และ 3.70 ตามลำดับ) กว่าร้อยละ 10

คะแนนประเมินทักษะ MIDL ด้วยตนเองโดยเฉลี่ยของเยาวชนอายุ 15-25 ปี แยกตาม
ควินไทล์รายได้ครัวเรือน

ที่มา: ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ (2022)

ผู้ปกครองและครูมีทักษะ MIDL ต่ำ จึงสนับสนุนเด็กและเยาวชนได้จำกัด

         ปัญหาการขาดทักษะ MIDL ดังกล่าวนับว่าน่ากังวลยิ่ง เมื่อพิจารณาว่าผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กและเยาวชนอย่างผู้ปกครองและครู สามารถแนะนำ ช่วยเหลือ และสนับสนุนเด็กและเยาวชนได้จำกัด เพราะมีทักษะ MIDL ต่ำยิ่งกว่า จากการประเมินของมหาวิทยาลัยมหิดลและกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ผู้ใหญ่อายุ 31 ปีขึ้นไปมีทักษะ MIDL น้อยกว่าเด็กและเยาวชนอายุ 11-30 ปี และระดับทักษะของผู้ใหญ่มีแนวโน้มลดลงตามกลุ่มอายุที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มอายุ 51-70 ปีมีทักษะระดับพื้นฐานเท่านั้น[2] ในแง่นี้ ครัวเรือนข้ามรุ่นจึงประสบปัญหาในการสนับสนุนเด็กและเยาวชนมาก

          ในกรณีของครู แม้ว่าจะมีทักษะ MIDL สูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ใหญ่ทั่วไป แต่ก็ยังต่ำกว่าเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้เรียน[3] โดยกลุ่มครูสูงอายุหรืออยู่ในสถานศึกษาที่มีทรัพยากรน้อยมีแนวโน้มจะสนับสนุนผู้เรียนได้จำกัดกว่า

คะแนนทักษะ MIDL แยกตามช่วงอายุและกลุ่มอาชีพ

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล (2021)

เด็กและเยาวชนจำนวนมากประสบปัญหาในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

         นอกจากขาดทักษะแล้ว เด็กและเยาวชนจำนวนมากยังประสบปัญหาในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในไตรมาส 4/2021 เด็กและเยาวชนอายุ 6-24 ปีราว 3.4 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.1 ไม่ได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างสิ้นเชิง โดย 2.4 แสนคน หรือร้อยละ 1.5 อาศัยอยู่ในพื้นที่นอกเขตเทศบาล[4]

          ในกลุ่มที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ส่วนใหญ่ก็ขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ต จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2021 ครัวเรือนที่สมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นเยาวชนกว่าร้อยละ 77.8 ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และร้อยละ 86.9 มีคอมพิวเตอร์น้อยกว่าจำนวนเยาวชนในครัวเรือน ขณะที่ร้อยละ 1.9 ไม่มีสมาร์ทโฟน และร้อยละ 8.8 มีสมาร์ทโฟนน้อย
กว่าจำนวนเยาวชน[5]

“ผมไม่มีตังค์ซื้อโน๊ตบุ๊ค ผมไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกขนาดนั้นหรอก ผมมีไอแพดอยู่เครื่องหนึ่ง […] ผมใช้เครื่องนี้แทนคอม และมันยังผ่อนไม่เสร็จจนถึงวันนี้

อาจารย์บอกตั้งแต่แรกก่อนเข้าแล้วล่ะ ว่ามันต้องใช้เงิน มันต้องมีอุปกรณ์ แต่ผมจะต้องเสียโอกาสในการเรียนเพราะตัวเอง ‘มีไม่มากพอ’ หรอครับ ผมก็ต้องก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปทำงานส่งในร้านเน็ตหรือจ้างเพื่อนให้ช่วยทำงานให้ในราคาไม่กี่บาท

พูดตรง ๆ เทอมนั้นผมเรียนไม่รู้เรื่องเลย และก็ยังไม่มีเงินมากพอจะไปซื้อ ผมไม่อยากเป็นตัวสร้างหนี้ให้คนในบ้านอีกแล้ว”

– ณัฐนรี อรัญทิมา อายุ 17 ปี

         ยิ่งไปกว่านั้น ครัวเรือนร้อยละ 42.8 ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตประจำที่ความเร็วสูง (อินเทอร์เน็ตบ้าน)[6] และต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือเป็นหลัก ซึ่งอาจมีปริมาณและคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ใช้งานไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตเมืองและทางหลวงสายหลัก[7] อัตราค่าบริการสัญญาณมือถือยังแพงมากสำหรับประชากรในครัวเรือนรายได้ต่ำ โดยในไตรมาส 1/2022 อัตราค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 453 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน[8] คิดเป็นร้อยละ 13.8 ของรายได้ต่อหัวต่อเดือนโดยเฉลี่ยของครัวเรือนในควินไทล์ที่ 1

สัดส่วนของค่าบริการสัญญาณมือถือโดยเฉลี่ยต่อรายได้ต่อหัวประชากรโดยเฉลี่ย แยก
ตามควินไทล์รายได้ครัวเรือน

ที่มา: คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลของ
National Broadcasting and Telecommunications Commission (2022)

การถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์ส่งผลระยะยาวต่อพัฒนาการ สวัสดิภาพ และจิตใจ

         การถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์ตั้งแต่ปฐมวัยและใช้เวลาในโลกออนไลน์นานอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางกล้ามเนื้อ สายตา สติปัญญา อารมณ์ และบุคลิกภาพของเด็กในระยะยาว อีกทั้งยังทำให้เด็กขาดปฏิสัมพันธ์และทักษะทางสังคมในโลกจริง

         ขณะเดียวกัน ปัญหาการขาดทักษะและอุปกรณ์สำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ตก็ซ้ำเติมผลกระทบข้างต้นและก่อให้เกิดปัญหาอื่นเพิ่มตามมา โดยทำให้เด็กและเยาวชนวัยเรียนไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ การเรียนรู้และทักษะถดถอย และโอกาสในการได้งานที่ดีลดลง ปัญหาการไม่รู้เท่าทันยังเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะถูกหลอก ระราน (bully) และคุกคาม รวมถึงกลายเป็นผู้กระทำการดังกล่าวเองและผลิตซ้ำข้อมูลเท็จในสังคม ปัญหาข้างต้นทั้งหมดยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนอีกด้วย

ฟื้นฟูผลจากวิกฤตเก่า สร้างฐานที่จำเป็น-เท่าเทียม เตรียมรับวิกฤตใหม่

         ผลกระทบจากการที่เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็นนี้ต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน ในเบื้องต้น รัฐบาลควรให้สถานศึกษาเน้นจัดกิจกรรมการเรียนในรูปแบบที่ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กันในห้องเรียนและกับสังคมภายนอก เพื่อส่งเสริมทักษะทางสังคมและชดเชยการเรียนรู้ที่หดหาย พร้อมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาสังคมพัฒนาแหล่งเรียนรู้และนันทนาการที่มีคุณภาพ ใกล้บ้านหรือสถานศึกษา และมีค่าธรรมเนียมใช้งานถูก เพื่อดึงดูดให้เด็กและเยาวชนผละออกจากโลกออนไลน์ไปใช้งานเพิ่มขึ้น          ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลควรวางฐานที่จำเป็นให้เด็กและเยาวชนอย่างเท่าเทียมมากขึ้น ในด้านทักษะ ควรส่งเสริมทักษะ MIDL ให้แก่นักเรียนผ่านหลักสูตรและกิจกรรมในสถานศึกษาภาคบังคับ โดยฝึกอบรมครูให้มีทักษะเพียงพอที่จะสนับสนุนนักเรียนได้ ตลอดจนเปิดให้เยาวชนรวมกลุ่มเสนอโครงการเสริมสร้างทักษะเพื่อขอรับงบประมาณไปดำเนินการกับผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในชุมชนของตน ในด้านการเข้าถึงอุปกรณ์ ควรจัดให้มีคอมพิวเตอร์สำหรับให้ยืมในสถานศึกษาและห้องสมุดสาธารณะอย่างเพียงพอ ควบคู่กับขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมและเข้าถึงได้จริง

รายการอ้างอิง


[1] Chatchai Nokdee, “หนุนเด็กไทยใช้สื่อดิจิทัล พัฒนาตัวเองยุคโควิด,” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 13 พฤษภาคม 2021, https://www.thaihealth.or.th/Content/54595หนุนเด็กไทยใช้สื่อดิจิทัล%20พัฒนาตัวเองยุคโควิด.html (เข้าถึงเมื่อ 25 กรกฎาคม 2022).

[2] มหาวิทยาลัยมหิดล และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, “ผลการสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของประชาชนไทย: โครงการวิจัยการสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลของประชาชนไทย และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ปี พ.ศ.2563-2564,” 23 กุมภาพันธ์ 2021, https://www.songsue.co/wp-content/uploads/2021/02/แถลงข่าว-ผลสำรวจ-23.02.21_Final.pdf (เข้าถึงเมื่อ 25 กรกฎาคม 2022).

[3] เพิ่งอ้าง.

[4] “จำนวนประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป จำแนกตามการใช้อินเทอร์เน็ต/โทรศัพท์มือถือ กลุ่มอายุ และเขตการปกครอง ไตรมาส 4 พ.ศ. 2564,” สำนักงานสถิติแห่งชาติ, http://statbbi.nso.go.th/staticreport/Page/sector/TH/report/sector_16_201040_TH_.xlsx (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฎาคม 2022).

[5] สำนักงานสถิติแห่งชาติ, “ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน,” 2021.

[6] สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, รายงานอัตราค่าบริการโทรคมนาคม ประจำไตรมาส 3/2564 (กรกฎาคม-กันยายน 2564) (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, 2022), น.42.

[7] Mark Giles, “5G in Thailand: AIS Leads the Market,” Ookla, January 30, 2022, https://www.ookla.com/articles/5g-in-thailand (accessed July 25, 2022).

[8] National Broadcasting and Telecommunications Commission, “Mobile ARPU excluded IC,” Thai Telecom Industry Database, July 4, 2022, https://ttid.nbtc.go.th/mobile_arpu (accessed July 25, 2022).

แนวโน้มที่ 2

หน้าแรก: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว 2022

แนวโน้มที่ 4 →

7 แนวโน้มสำคัญของสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัว

โดย ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา

เล่มผนวกที่ 1 สถิติสำคัญด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว

รวบรวมสถิติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผลสำรวจเยาวชน คิด for คิดส์ โดย ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา และคณะผู้ช่วยวิจัย

เล่มผนวกที่ 2 สามความฝันของเด็กและเยาวชนไทย

ร้อยเรียงเรื่องเล่าความฝันจากการประกวดเรื่องเล่าของ “เด็กสมัยนี้” โดย วรดร เลิศรัตน์ และ เจณิตตา จันทวงษา

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2025 101pub.org | All rights reserved.