รื้อระบบคุ้มครองเด็ก ไม่ให้ใครต้องถูกทำร้ายซ้ำสอง

ประเด็นสำคัญ

  • เด็กที่ถูกทำร้ายถูกตำรวจสอบปากคำด้วยน้ำเสียงที่ไม่เป็นมิตร ถูกถามคำถามซ้ำๆ ในสถานที่ที่ไม่เหมาะกับการสอบสวนเด็ก และในกระบวนการสอบสวนยังขาดนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์มาช่วยพูดคุยกับเด็กด้วย
  • กระบวนการคุ้มครองเด็กในไทยขาดทั้งระบบประสานงานและผู้ประสานงานที่เรียกว่า case manager โดยในปี 2021 มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจริง 720 คน ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ 1 คนต้องดูแลเด็กที่เข้าสู่สถานรองรับ 50 คนในปีนั้น 
  • สถานรองรับไม่เหมาะสมกับการเติบโตของเด็ก เนื่องจากอาจทำให้พัฒนาการล่าช้า และมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางจิตเวช ยิ่งไปกว่านั้น เด็กยังเสี่ยงที่จะโดนทำร้ายซ้ำในสถานรองรับด้วย 
  • ครอบครัวอุปถัมภ์ในไทยยังขาดการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ทั้งการรับเข้า และการสนับสนุน โดยการสมัครเข้าไม่สามารถยื่นแบบออนไลน์ได้ และการให้เงินสนับสนุนให้เฉพาะครอบครัวอุปถัมภ์ที่ยากจน และจำนวนเงินสนับสนุนก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของเด็ก 

ในปัจจุบันมีเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกาย ทอดทิ้ง และทารุณกรรมจำนวนมาก รัฐจึงต้องเข้าช่วยเหลือโดยการจัด ‘ระบบคุ้มครองเด็ก’ ทั้งระบบภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และการคุ้มครองเด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

อย่างไรก็ตาม ระบบเหล่านั้นกลับไม่ได้คุ้มครองเด็กได้อย่างเต็มที่ เด็กบางส่วนยังคงถูกทำร้ายซ้ำๆ ด้วยระบบที่เรียกตนเองว่า ‘ระบบคุ้มครองเด็ก’ อยู่ 

คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง 101 PUB กับ สสส. ชวนสำรวจระบบคุ้มครองเด็กในประเทศไทย ว่าอะไรยังมีอะไรที่ขาดหายไปจนทำให้การคุ้มครองเด็กไม่เป็นไปอย่างราบรื่น อะไรที่ตกหล่นจนทำให้ระบบคุ้มครองเด็กไม่ได้คุ้มครองเด็กสมชื่อ และอะไรที่ต้องเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กที่อยู่ในระบบคุ้มครองเด็ก

เด็กถูกทำร้ายจำนวนมาก แต่ยังเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองเด็กและกระบวนการยุติธรรมน้อย 

แต่ละปีมีเด็กจำนวนมากที่ต้องเข้าโรงพยาบาลจากการโดนทำร้ายร่างกาย[1] จากสถิติของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ปี 2017–2021 พบว่ามีเด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพราะถูกทำร้ายร่างกายเฉลี่ยถึงปีละ 18,296 คน[2]

เมื่อมีเด็กถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกกระทำละเมิดรูปแบบอื่นๆ ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนด ก็ควรจะรีบแจงตำรวจเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย อย่างไรก็ดี การแจ้งตำรวจเนื่องจากความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ก็ยังถือว่ามีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยจากสถิติฐานความผิดคดีอาญาคดี 4 กลุ่มตั้งแต่ปี 2018–2022 พบว่ามีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กเฉลี่ยเพียงปีละ 1,533 คดีเท่านั้น นอกจากนี้ จากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (ศปก.สค.) รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2016 จนถึงเดือนสิงหาคม 2021 มีการดำเนินคดีในเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเพียง 1 ใน 4 ของเหตุการณ์ทั้งหมดที่ศูนย์ปฏิบัติการฯ ได้รับรายงาน[3]

ยิ่งไปกว่านั้น เด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายก็ควรที่จะเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองเด็ก ซึ่งในกรณีประเทศไทยคือการเข้าสู่บ้านพักเด็ก แต่ข้อมูลจากกรมกิจการเด็กและเยาวชนพบว่า ในระหว่างปี 2016 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2020 มีเด็กที่เข้าสู่บ้านพักเด็กเนื่องจากถูกทารุณกรรมและทำร้ายร่างกายในครอบครัวเฉลี่ยเพียงปีละ 440 คนเท่านั้น[4] 

เด็กถูกทำร้ายจำนวนมาก แต่ยังเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองเด็กและกระบวนการยุติธรรมน้อย

กระบวนการยุติธรรมทำร้ายเด็กซ้ำ

กระบวนการสืบสวนสอบสวนเด็กที่ถูกทำร้ายย่อมต้องมีความละเอียดอ่อนกว่ากระบวนการสืบสวนสอบสวนทั่วไป โดยหลักการสำคัญของวิธีการสอบสวนและสืบพยานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีได้ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคแรก ดังนี้

“…การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามปากคำเด็กคนใดหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร”

กระบวนการยุติธรรมทำร้ายเด็กซ้ำ

อย่างไรก็ดี การสอบปากคำเด็กที่เป็นผู้เสียหายหรือพยานนั้น ในทางปฏิบัติมักไม่เป็นไปตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ ทั้งรูปแบบวิธีการและสถานที่

การสอบปากคำเด็กกระทำด้วยวิธีที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย

จากรายงานของ UNICEF พบกรณีที่เด็กเป็นผู้เสียหายถูกแสวงหาประโยชน์หรือล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ถูกสอบปากคำซ้ำหลายครั้ง เด็กบางคนต้องตอบคำถามเดิมถึง 5 ครั้งจากการสอบถามของเจ้าหน้าที่ต่างคนในต่างสถานการณ์กัน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้เสียหายบางคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนด้วยน้ำเสียงที่ไม่เป็นมิตรต่อเด็ก ส่งผลให้เด็กเกิดความกลัวมากยิ่งขึ้น[5]

ไม่เพียงแค่วิธีการสอบสวนของตำรวจเท่านั้นที่ทำร้ายเด็กซ้ำ แต่ยังพบว่านักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างตำรวจและเด็กนั้น มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะเข้าร่วมการสอบสวนเด็กที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และยังมีการร้องขอให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์มาเข้าร่วมการสอบสวนช้าเกินไป ในบางครั้งการร้องขอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เกิดขึ้นในเช้าของวันสอบสวน ส่งผลให้ไม่มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์มาเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ล่าช้า จากระบบการเบิกเงินของราชการ ส่งผลให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ขาดแรงจูงใจในการเข้ามาช่วยเหลือการสอบสวนเด็ก[6]

การสอบปากคำไม่ได้ทำในที่ที่เหมาะสมกับเด็ก

การสอบปากคำเด็กที่เป็นผู้เสียหายหรือพยานนั้น ส่วนมากมักเกิดขึ้นในโรงพักหรือศาลที่จะทำการไต่สวน แน่นอนว่าโรงพักหรือศาลไม่ได้มีพื้นที่สำหรับเด็กโดยเฉพาะ จึงเป็นเหตุให้เด็กมีโอกาสเจอกับผู้ที่ทำร้ายนอกห้องสอบสวน อาทิ ในลานจอดรถ หรือในห้องอาหารที่เป็นสถานที่สาธารณะ

นอกจากนี้ยังพบว่า ห้องสอบสวนเด็กในโรงพักบางแห่งถูกนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น เช่น ห้องประชุม และห้องทำงาน [7]ยิ่งไปกว่านั้น เด็กบางคนยังถูกสอบสวนหรือทำคำให้ที่โต๊ะรับแจ้งความของตำรวจ โดยที่มีผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในบริเวณนั้น และไม่มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์อยู่ด้วย[8]

และเมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบในห้องสอบสวนเด็กแล้วก็พบว่า ห้องสอบสวนเด็กที่พบในประเทศไทยเองก็ยังไม่เหมาะสมกับเด็ก ดังภาพ

ที่มา: สำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ

จากภาพจะเห็นว่า

  • การจัดตำแหน่งที่นั่งของเด็กให้ความรู้สึกว่าเด็กนั่งอยู่ในวงล้อมของเจ้าหน้าที่อื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เด็กกลัว และไม่กล้าเล่าเรื่องที่เผชิญมา แม้ว่าจะมีบุคคลที่เด็กไว้วางใจนั่งอยู่ด้วยก็ตาม
  • เก้าอี้ที่จัดให้เด็กนั่งในห้องสอบสวน หากเป็นเก้าอี้ที่แข็งหรือมีที่พักเท้าด้านล่าง อาจทำให้เด็กหลุดประเด็นที่กำลังคุยกันเร็วกว่าเก้าอี้ที่มีขนาดใหญ่หรือทำให้เด็กรู้สึกสบาย[9]
  • การบันทึกวิดีโอการสอบสวนเด็ก ในสถานีตำรวจบางครั้งยังใช้กล้องมือถือของตำรวจ ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดระหว่างการบันทึกได้ง่าย เช่น ทำให้วิดีโอที่บันทึกคำให้การของเด็กขาดช่วงหรือมีปัญหา และส่งผลถึงการนำไปใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลต่อไปด้วย ดังนั้นการบันทึกวิดีโอควรมีกล้องที่ใช้เฉพาะการนี้ และหากเป็นไปได้ ก็ควรมีมากกว่า 2 ตัว เพื่อบันทึกบรรยากาศการสอบสวนในห้องและพฤติกรรมของเด็กขณะถูกสอบสวนไปพร้อมๆ กัน และเพื่อเป็นกล้องสำรองในกรณีที่มีปัญหาในระหว่างอัดวิดีโอด้วย
  • ห้องสอบสวนเด็กไม่มีของเล่นหรือสิ่งที่ช่วยให้เด็กผ่อนคลายอยู่เลย ซึ่งห้องสอบสวนเด็กนั้นควรจะมีของเล่นหรือสิ่งที่ช่วยให้เด็กผ่อนคลายอยู่ด้วย อาทิ เกม ของเล่น หรือหนังสือภาพ เป็นต้น[10]

เด็กไปไม่ถึงกระบวนการคุ้มครองเด็ก เพราะขาดการประสานงาน

เด็กที่ถูกทำร้ายร่างกาย ทอดทิ้ง หรือทารุณกรรม ควรเข้าสู่ ‘ระบบคุ้มครองเด็ก’ ที่จะทำให้เด็กได้รับความช่วยเหลือจากรัฐและเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่คุ้มครองเด็กได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่เด็กหลายคนยังเข้าไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากไม่กล้ารายงานต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลือ 

จากการสำรวจความรุนแรงในครอบครัวช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยมูลนิธิชายหญิงก้าวไกล ในช่วงวันที่ 17–23 ต.ค. 2021 ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างอายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 1,692 คน ในกรุงเทพและปริมณฑล พบว่า 87.4% ของผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ไม่กล้าร้องเรียน เนื่องจากต้องการเก็บเป็นความลับ[11] ซ้ำร้ายเมื่อเด็กเข้าสู่โรงพยาบาลหรือกระบวนการยุติธรรมก่อน จากการไปรักษาตัวหรือแจ้งความ หลายกรณีไม่ถูกส่งต่อเรื่องให้ พม. ดำเนินการตามอำนาจและมาตรการใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่สามารถกระทำได้ทันที ทำให้เด็กเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะมีตัวตนในสายตาหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองเด็ก จึงไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างทันท่วงทีไปโดยปริยาย

เด็กไปไม่ถึงกระบวนการคุ้มครองเด็ก เพราะขาดการประสานงาน

การดำเนินการของ พม. ในประเทศไทยถือว่ายังบกพร่องอย่างมากในเรื่องการเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะกับตำรวจ โดยไม่พบว่าในทางปฏิบัติ เมื่อมีการแจ้งความว่าเด็กถูกทำร้ายร่างกาย ทารุณกรรม หรือทอดทิ้งแล้ว ตำรวจได้มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ พม. ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้เข้ามาคุ้มครองเด็กมากน้อยเพียงใด ที่เห็นเด่นชัดมีเพียงการติดต่อนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ที่ต้องประสานงานผ่านเจ้าหน้าที่ พม. ประจำจังหวัด เพื่อให้มาร่วมสอบสวนเด็กที่เป็นผู้เสียหายหรือพยานไปจนถึงการสืบพยานในชั้นศาล แต่ไม่พบว่ามีการมอบอำนาจหน้าที่ให้คุ้มครองเด็กที่เป็นผู้เสียหายอย่างไรหลังจากสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรมแล้ว

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่จะมาช่วยดำเนินการประสานรอยต่อระหว่างหน่วยงานเพื่อคุ้มครองเด็กยังมีไม่เพียงพอ โดยพบว่าในปี 2021 มีพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ทั้งสิ้น 1,113 คน แต่ปฏิบัติงานจริง 720 คน[12] เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเด็กที่ต้องเข้าสู่บ้านพักเด็กในปี 2021[13] ทั้งหมด 35,955 คน[14] พบว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานจริง 1 คนต้องดูแลเด็กมากถึง 50 คน การคุ้มครองเด็กรวมถึงการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานเพื่อให้การคุ้มครองเด็กเกิดประสิทธิผลสูงสุดก็ย่อมเป็นไปได้ยาก

เด็กถูกส่งกลับบ้านแม้จะประเมินแล้วว่าเสี่ยงโดนทำร้ายซ้ำ

เด็กที่เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองเด็กย่อมหมายความว่าเด็กต้องการการดูแลและความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่แนวทางหนึ่งในการคุ้มครองเด็กคือการส่งเด็กกลับบ้านทั้งที่เด็กมีความเสี่ยงที่จะโดนทำร้ายซ้ำ และกำหนดวิธีการเฉพาะหน้าเพื่อให้เด็กยังได้อยู่กับครอบครัวที่เด็กอาจคุ้นเคยมากกว่า

เด็กถูกส่งกลับบ้านแม้จะประเมินแล้วว่าเสี่ยงโดนทำร้ายซ้ำ

การประเมินส่งคืนยังมีปัญหา

แนวทางการประเมินของกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่ทำร่วมกับ UNICEF ได้กำหนดวิธีการประเมินเด็ก ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม อาทิ อาการบาดเจ็บทางร่างกาย พฤติกรรมของเด็ก รวมไปถึงสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกบ้าน หากเด็กมีความเสี่ยงว่าจะไม่ปลอดภัยแล้ว ก็จะมีการกำหนดวิธีการเฉพาะหน้า เพื่อเป็นข้อกำหนดให้ผู้ปกครองที่รับเด็กกลับไปต้องปฏิบัติตาม เช่น การห้ามบุคคลที่ทำร้ายเด็กเข้าใกล้เด็กในระยะที่เจ้าหน้าที่กำหนด และการไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง เป็นต้น[15]

การส่งเด็กกลับสู่ครอบครัวอาจทำให้เด็กไม่ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ อย่างไรก็ดี ในปี 2021 จากการสำรวจความรุนแรงในครอบครัวช่วงโควิด-19 โดยมูลนิธิชายหญิงก้าวไกล ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นซ้ำมากถึง 75%[16] จากอัตราการทำร้ายร่างกายซ้ำที่สูง ดังนั้นการส่งเด็กกลับคืนครอบครัวและกำหนดวิธีการเฉพาะหน้าก็อาจกลายเป็นการส่งเด็กกลับสู่ความรุนแรง

เพื่อลดการถูกกระทำรุนแรงซ้ำของเด็ก การจะกำหนดมาตรการใดๆ ให้เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในระบบคุ้มครองเด็ก ลักษณะพื้นเพของครอบครัว สภาพแวดล้อม และตัวเด็กที่ถูกกระทำ ซึ่งหน้าที่นั้นเป็นของผู้จัดการรายกรณี หรือ case manager ที่ศึกษารายละเอียดมากที่สุด อย่างไรก็ดี case manager ในประเทศไทยยังมีปัญหาโดยเฉพาะในเรื่องจำนวนที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ไม่สามารถดูแลเด็กได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้การกำหนดวิธีการเฉพาะหน้าที่จะใช้กับเด็กเพื่อส่งเด็กคืนครอบครัวไม่ได้เหมาะสมกับเด็กเท่าที่ควร 

การแยกเด็กจากครอบครัวเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ พม. เลือกจะทำ เพื่อลดความเครียดของเด็กจากการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมกะทันหัน โดยเด็กที่ถูกทำร้ายหรือทารุณกรรมจะถูกแยกจากครอบครัวก็ต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ปกครองไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้เพื่อให้เด็กปลอดภัย หรือเด็กถูกกระทำรุนแรงซ้ำอีก และวิถีทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดในการแยกเด็กจากครอบครัวคือการส่งเด็กไปยัง ‘สถานรองรับ’

สถานรองรับระยะยาวไม่ใช่คำตอบ

การส่งเด็กไปยังสถานรองรับไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในการคุ้มครองและเยียวยาเด็ก จากรายงานของ UNICEF พบว่า เด็กที่ต้องอยู่ในสถานรองรับนานๆ อาจส่งผลให้พัฒนาการล่าช้าบกพร่อง โดยเฉพาะเด็กที่ต้องอยู่ในสถานรองรับตั้งแต่เด็ก ทั้งยังส่งผลถึงพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็ก เนื่องจากในสถานรองรับมีจำนวนผู้ดูแลที่ไม่เพียงพอ และสุดท้ายคือส่งผลถึงสุขภาพจิตของเด็ก โดยพบว่าเด็กที่อยู่ในสถานรองรับมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพจิต และการมีความผิดปกติด้านความผูกพัน (Attachment Disorder)[17]

นอกจากนี้ เด็กยังมีความเสี่ยงที่จะโดนทำร้ายซ้ำในสถานรองรับ อาทิ ในคดีมูลนิธิเด็ก อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมูลนิธิเส้นด้ายยืนยันว่าเด็กในมูลนิธิถูกทำร้ายร่างกาย มีการใช้ถ้อยคำรุนแรงกับเด็ก และถูกนำไปแรงงาน รวมถึงสถานที่ในมูลนิธิเด็กยังไม่ถูกสุขอนามัย[18] หรือในกรณีสถานสงเคราะห์เด็กหญิงจังหวัดสระบุรี ที่มีการรายงานว่าพี่เลี้ยงในสถานสงเคราะห์ทารุณกรรมเด็กที่อาศัยอยู่ โดยการมัดมือเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ 2 คนไว้ด้วยกัน ซึ่งพี่เลี้ยงอ้างว่าเกิดจากการที่เด็กทะเลาะกันจึงต้องการลงโทษ หรือการลงโทษโดยให้เด็กนอนในห้องน้ำเนื่องจากปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น [19] 

‘ครอบครัวอุปถัมภ์’ กลไกคุ้มครองเด็กสำคัญที่ไทยยังไม่ได้พัฒนาให้เป็นระบบ

เห็นได้ว่าการส่งเด็กไปยังสถานรองรับอาจทำให้เกิดผลเสียทั้งต่อร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการต่างๆ การมีครอบครัวอุปถัมภ์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ โดยครอบครัวอุปถัมภ์เป็นเสมือนครอบครัวชั่วคราวจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการคุ้มครองเด็ก ซึ่งทำให้เด็กได้อยู่กับบุคคลต่างวัยและได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ต่างกับการเข้าไปอยู่ในสถานรองรับที่เด็กจะได้อยู่กับกลุ่มวัยเดียวกันหรือไล่เลี่ยกันเป็นส่วนมาก และอาจได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่อย่างไม่ทั่วถึง

ครอบครัวอุปถัมภ์ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับเด็กที่ต้องเติบโตในสถานรองรับ จากรายงานของ UNICEF พบว่าเด็กไทยกว่า 1.2 แสนคนต้องเติบโตในสถานรองรับ ไม่ว่าจะเป็นสถานสงเคราะห์ มูลนิธิ ไปจนถึงโรงเรียนประจำ และโรงเรียนสอนศาสนา[20] แต่จากรายงานของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ปี 2022 เด็กที่ได้รับการดูแลโดยครอบครัวอุปถัมภ์มีเพียง 5,632 คน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 25 เท่านั้น

ปัญหาหนึ่งที่ทำให้จำนวนครอบครัวอุปถัมภ์น้อยคือระบบการจัดการครอบครัวอุปถัมภ์ในไทย ซึ่งยังขาดตั้งแต่ต้นทาง โดยพบว่าระบบการรับครอบครัวอุปถัมภ์ในปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ แต่ต้องไปยื่นเรื่องที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด สถานรองรับที่ พม. กำหนด หรือกลุ่มงานครอบครัวอุปถัมภ์ส่วนกลาง[21] ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้ลงทะเบียนเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ด้วย  

นอกจากปัญหาในเรื่องระบบการจัดการแล้ว ปัญหาในเรื่องเงินช่วยเหลือก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เนื่องจากเงินช่วยเหลือครอบครัวอุปถัมภ์ไม่ใช่สวัสดิการ แต่ต้องมีการร้องขอจาก พม. และต้องเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ยากจน นอกจากนี้ยังพบว่าเงินช่วยเหลือที่ได้รับนั้นไม่มีการปรับขึ้นตามค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กดังที่ปรากฎในตารางที่ 1

ตารางที่ 1: ตารางเปรียบเทียบการให้เงินช่วยเหลือครอบครัวอุปถัมภ์ในประเทศไทย
ที่มา: ประกาศกรมประชาสงเคราะห์[22] ประกาศกรมกิจการเด็กและเยาวชน[23]

จากตารางจะเห็นได้ว่า เงินช่วยเหลือครอบครัวอุปถัมภ์ในประเทศไทยปรับขึ้นเพียง 2 เท่าในระยะเวลา 14 ปี และเงินช่วยเหลือที่ได้รับยังไม่ถึงครึ่งของค่าครองชีพในประเทศไทย โดยจากการคำนวณจากค่าจ้างเพื่อชีวิต[24] ในการเลี้ยงดูครอบครัวที่มีบุตร 1 คน พบว่าเด็ก 1 คนต้องใช้เงิน 3,304.6 บาท/เดือน[25] ซึ่งจะเห็นว่าเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูเด็กที่ครอบครัวอุปถัมภ์ได้รับนั้นน้อยกว่าจำนวนเงินที่ต้องใช้ในการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนถึง 3 เท่า นอกจากนี้การให้เงินช่วยเหลือยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์อื่นๆ อาทิ อายุของเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ หรือพื้นที่ที่ครอบครัวอุปถัมภ์อาศัยอยู่ เพื่อให้การกำหนดเงินช่วยเหลือนั้นมีความเหมาะสมทั้งต่อเด็กและครอบครัวอุปถัมภ์

'ครอบครัวอุปถัมภ์' กลไกคุ้มครองเด็กสำคัญที่ไทยยังไม่ได้พัฒนาให้เป็นระบบ

เมื่อเปรียบเทียบกับการให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ​ หรือออสเตรเลีย พบว่าทั้งสองประเทศมีการกำหนดหลักเกณฑ์การให้เงินช่วยเหลือที่ละเอียดและยึดโยงกับเด็กมากกว่า

หลักเกณฑ์การให้เงินช่วยเหลือในประเทศอังกฤษ มีการให้เป็นรายอาทิตย์ โดยต่ำสุดอยู่ที่ 154 ปอนด์/อาทิตย์ และสูงสุดอยู่ที่ 270 ปอนด์/อาทิตย์ โดยมีการกำหนดเงินที่จะช่วยเหลือตามอายุของเด็ก ที่สะท้อนค่าครองชีพในการเลี้ยงดูเด็กที่แตกต่างไปในแต่ละช่วงวัย ความต้องการพิเศษของเด็ก ลักษณะและทักษะประสบการณ์ของครอบครัวอุปถัมภ์ที่เด็กอยู่ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเงินช่วยเหลือตามพื้นที่ที่เด็กอยู่อาศัย เพื่อปรับเงินช่วยเหลือให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในพื้นที่นั้นๆ ด้วย[26]ดังภาพ

ที่มา:  gov.uk

และเมื่อเทียบกับค่าครองชีพของสหราชอาณาจักรพบว่า มูลค่าสูงสุดของเงินช่วยเหลือครอบครัวอุปถัมภ์นั้นใกล้เคียงกับค่าครองชีพเฉลี่ยต่อเดือน โดยเงินช่วยเหลือครอบครัวอุปถัมภ์สูงสุดอยู่ที่ 270 ปอนด์/สัปดาห์ หรือเท่ากับ 1,080 ปอนด์/เดือน ในขณะที่ค่าครองชีพเฉลี่ยจากรายงานของ Siam Real Estate อยู่ที่ 1,661 ปอนด์/เดือน[27]

ในรัฐ Western Australia ประเทศออสเตรเลีย ก็มีการจ่ายเงินสนับสนุนผู้อุปถัมภ์เด็กโดยแบ่งตามอายุ

  • อายุ 0-6 ปี ได้รับเงิน 409.20 ดอลลาร์ออสเตรเลีย/ 2 สัปดาห์
  • อายุ 7-12 ได้รับเงิน 481.83 ดอลลาร์ออสเตรเลีย/ 2 สัปดาห์
  • อายุ 13–18 ปี ได้รับเงิน 554.45 ดอลลาร์ออสเตรเลีย/ 2 สัปดาห์

จำนวนเงินที่ให้นี้ครอบคลุมทั้งค่าอาหาร ค่าที่พักอาศัย ค่าอุปโภคต่างๆ รวมถึงค่าของใช้ส่วนตัวและค่าเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ ซึ่งเงินสนับสนุนในส่วนนี้ก็อาจเพิ่มขึ้น 10-20% ก็ได้ ตามพื้นที่ที่เด็กอยู่อาศัย

นอกจากนี้ หากเด็กไม่ได้อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ถึงกำหนดที่จะจ่ายเงินได้ ก็มีการให้เงินช่วยเหลือเป็นรายวัน (short-break support) ด้วย โดยเด็กอายุ 0-6 ปี ได้รับ 35.61 ดอลลาร์ออสเตรเลีย/วัน เด็กอายุ 7-12 ปีได้รับ 42.45 ดอลลาร์ออสเตรเลีย/วัน และสุดท้าย เด็กอายุ 13 – 17 ปี ได้รับ 42.29 ดอลลาร์ออสเตรเลีย/วัน โดยเงินจำนวนนี้อาจเพิ่มขึ้นได้ 10-20% ตามพื้นที่ที่เด็กอาศัยอยู่[28]

อย่างไรก็ดี การจะจัดสรรเงินช่วยเหลือครอบครัวอุปถัมภ์ให้เหมาะสมกับเด็ก ก็ต้องยังคงต้องอาศัย case manager ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และอยู่กับเด็กที่เสียหายมาตั้งแต่กระบวนการแรกๆ ในการคุ้มครองเด็ก แต่เนื่องจาก case manager ในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ ทำให้เงินช่วยเหลือครอบครัวอุปถัมภ์ไทยยังไม่กลายเป็นสวัสดิการ และยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขาดแรงจูงใจในการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ สุดท้ายจึงส่งผลให้ครอบครัวอุปถัมภ์ในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อย

3 ข้อเสนอพัฒนากระบวนการคุ้มครองเด็กไทย

กระบวนการคุ้มครองเด็กไทยยังมีปัญหาในหลายเรื่อง ทั้งกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ละเอียดอ่อนต่อเด็กที่เป็นผู้เสียหาย การประสานงานที่ยังขาดทั้งระบบและผู้ประสานงาน ไปจนถึงการพึ่งพิงสถานรองรับที่มากเกินไปซึ่งอาจทำให้เด็กมีปัญหาทางด้านพัฒนาการ สุขภาพจิต และมีความเสี่ยงที่จะโดนทำร้ายซ้ำ และการที่มีครอบครัวอุปถัมภ์น้อยซึ่งก็ทำให้ต้องกลับไปพึ่งพิงสถานรองรับมากขึ้น การพัฒนากระบวนการคุ้มครองเด็กจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยควรพัฒนาใน 3 ด้านหลักดังต่อไปนี้

1. ปรับกระบวนการยุติธรรมให้ละเอียดอ่อนต่อเด็ก

  • การสอบปากคำและสืบพยานหลักฐานจากเด็กไม่ควรมีเกิน 2 ครั้ง

การสอบปากคำหรือสืบพยานไม่ควรทำหลายครั้งจนเกินกว่าความจำเป็น กฎหมายได้วางหลักการไว้เช่นนั้นก็เพื่อลดขั้นตอนกระบวนการและเพื่อไม่ให้เด็กต้องตอบคำถามซึ่งเป็นการทำร้ายเด็กซ้ำอีก แต่ในทางปฏิบัติ เด็กก็ยังคงต้องตอบคำถามซ้ำเดิมหลายครั้ง เป็นการตอกย้ำบาดแผลในจิตใจเด็ก จึงควรกำหนดจำนวนครั้งที่แน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่เด็กต้องตอบคำถามซ้ำเดิมหลายรอบอีก

  • ปรับปรุงห้องสอบสวนเด็กให้เหมาะสม หรือจัดหาสถานที่โดยร่วมมือกับเอกชนและภาคประชาสังคม

ห้องสอบสวนเด็กในต่างประเทศไม่จำเป็นต้องอยู่ที่โรงพักหรือศาล และยังมีอุปกรณ์ที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดให้เด็ก อาทิ ของเล่น หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ให้ความรู้สึกสบาย หรืออย่างน้อยที่สุดคือการมีห้องอัดวิดีโอที่แยกต่างหากจากห้องสอบสวนเด็ก เพื่อให้เด็กได้คุยกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างสบายใจ ดังภาพด้านล่าง

ตัวอย่างห้องสอบสวนเด็กที่ดีในต่างประเทศ 

ที่มา: Clare Regional Child Advocacy Center, Northern Michigan Alliance for Children, USA
ที่มา: Chicago Children’s Advocacy center

ตัวอย่างห้องสอบสวนเด็กที่ดีของเอกชนในประเทศไทย

ศูนย์ช่วยเหลือเด็ก จ.เชียงใหม่
ที่มา: มีชัย สีเจริญ และคณะ 2020
  • เพิ่มจำนวนและค่าตอบแทนนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์

การเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เพื่อเป็นการจูงใจให้มาช่วยเหลือในการสอบสวนเด็กให้มากขึ้น และค่าตอบแทนนั้นไม่ควรใช้ระบบเบิกจ่ายของราชการ เนื่องจากมีความล่าช้า ไม่เหมาะสมต่อการทำงานของนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำเป็นรายกรณี ทั้งนี้จำนวนนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ก็ต้องเพียงพอต่อปริมาณงานด้วย  

2. เพิ่มการประสานงานระหว่างหน่วยงาน

  • เพิ่ม case manager เชื่อมโยงระบบคุ้มครองเด็กทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่น

case manager ที่เข้าใจทั้งเด็กและระบบคุ้มครองเด็กจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดขั้นตอนวิธีการในกระบวนการคุ้มครองเด็กทั้งในเรื่องของการประเมินความเสี่ยงในการส่งเด็กกลับสู่ครอบครัวในขั้นตอนแรกๆ ไปจนถึงการคัดเลือกและให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ครอบครัวอุปถัมภ์ของเด็ก นอกจากนี้ยังเป็นตัวละครสำคัญในการเชื่อมโยงกระบวนการคุ้มครองเด็กของหน่วยงานต่างๆ ไว้ด้วยกัน ทั้งระบบโรงพยาบาลและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เด็กที่ถูกทำร้ายร่างกาย ทารุณกรรม หรือทอดทิ้งได้เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองเด็ก และรับความช่วยเหลือจากรัฐต่อไป

  • บูรณาการระบบการคุ้มครองเด็กทั้งจากตำรวจ โรงพยาบาล และ พม. ให้เชื่อมโยงกัน

นอกจาก case manager ที่เป็นตัวละครที่เชื่อมโยงระบบต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว ทั้งตำรวจ โรงพยาบาล และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) และ พม. เองก็ควรที่จะมีระบบรับส่งข้อมูลที่เชื่อมโยงกันในการคุ้มครองเด็ก อาทิ การให้โรงพยาบาลหรือตำรวจติดต่อไปยัง พม. หรือ พมจ. เมื่อได้รับแจ้งว่ามีเด็กถูกทำร้ายร่างกาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่พม. สามารถดำเนินกระบวนการคุ้มครองเด็กได้อย่างรวดเร็ว

  • เพิ่มความรู้ความเข้าใจให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

ระบบที่เชื่อมโยงกันและตัวละครที่เชื่อมโยงระบบเข้าด้วยกันจะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ หากเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม โรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เองยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องกระบวนการคุ้มครองเด็ก ดังนั้นจึงควรเพิ่มความรู้ความเข้าใจในเรื่องกระบวนการคุ้มครองเด็กให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เพื่อให้ระบบการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานเป็นไปได้จริง

3 ข้อเสนอพัฒนากระบวนการคุ้มครองเด็กไทย ปรับกระบวนการยุติธรรมให้ละเอียดอ่อนต่อเด็ก เพิ่มการประสานงานระหว่างหน่วยงาน

3. ลดการพึ่งพิงสถานรองรับและเพิ่มความสำคัญของครอบครัวอุปถัมภ์

การพึ่งพิงสถานรองรับที่มากเกินไปและจำนวนครอบครัวอุปถัมภ์ที่ไม่เพียงพอเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมีแหล่งพักพิงชั่วคราวจนกว่ากระบวนการคุ้มครองเด็กจะสิ้นสุดลง

  • ลดการพึ่งพิงสถานรองรับ

– สร้างความเข้าใจต่อข้อจำกัดของสถานรองรับ

การรับเด็กที่จำกัดและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อเด็กที่ถูกส่งต่อไปยังสถานรองรับ เป็นอย่างแรกที่ควรให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการคุ้มครองเด็กตระหนักถึง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันว่าสถานรองรับไม่ควรเป็นพื้นที่ในการคุ้มครองเด็กในระยะยาว และยังเป็นการเพิ่มความเข้าใจในในเรื่องของความจำเป็นของครอบครัวอุปถัมภ์ด้วย

– คงสถานรองรับเฉพาะพื้นที่ที่จำเป็น

การปิดสถานรองรับทั้งหมดคงไม่ใช่สิ่งที่ดีในการคุ้มครองเด็ก เนื่องจากเด็กส่วนหนึ่งที่ไม่มีครอบครัวอุปถัมภ์ก็ยังต้องการสถานที่พักพิง แต่สถานรองรับก็ควรจะมีเท่าที่จำเป็น หรือเฉพาะในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดความรุนแรงต่อเด็กสูง เพื่อลดโอกาสที่เด็กจะเข้าไปอยู่ในสถานรองรับเป็นเวลานาน

– ส่งต่อเด็กไปยังครอบครัวอุปถัมภ์ให้เร็วที่สุด

การส่งเด็กไปยังครอบครัวอุปถัมภ์อย่างรวดเร็วเป็นการลดระยะเวลาในการอยู่ในสถานรองรับ และยังเป็นการลดความเสี่ยงด้านพัฒนาการและด้านสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นในเด็กที่อยู่ในสถานรองรับอีกด้วย

  • เพิ่มความสำคัญของครอบครัวอุปถัมภ์

– จัดทำระบบข้อมูลครอบครัวอุปถัมภ์ให้เข้าถึงง่าย

การรับสมัครครอบครัวอุปถัมภ์ยังต้องไปดำเนินการในสถานที่ที่กรมกิจการเด็กและเยาวชนกำหนดไว้ เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนครอบครัวอุปถัมภ์ จึงควรที่จะจัดทำระบบให้เข้าถึงง่ายขึ้น อาทิ การเพิ่มการรับสมัครแบบออนไลน์

– ประชาสัมพันธ์การเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก

นอกจากการรับสมัครแบบออนไลน์แล้ว การประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อเด็ก และสิทธิประโยชน์ที่ครอบครัวอุปถัมภ์จะได้รับก็เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสร้างแรงจูงใจในการสมัครเป็นครอบครัวอุปถัมภ์มากขึ้น

– ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวอุปถัมภ์แบบสวัสดิการ

หากเงินช่วยเหลือครอบครัวอุปถัมภ์ยังจำกัดเฉพาะครอบครัวอุปถัมภ์ที่มีฐานะยากจน ความต้องการในการรับอุปถัมภ์เด็กก็อาจจะไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่เห็นความช่วยเหลือจากรัฐที่เข้ามาสนับสนุนครอบครัวที่รับอุปถัมภ์เด็ก การให้เงินช่วยเหลือจึงควรเป็นสวัสดิการที่ได้ทุกครอบครัวแต่จะมากน้อยอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของครอบครัวอุปถัมภ์นั้นๆ

3 ข้อเสนอพัฒนากระบวนการคุ้มครองเด็กไทย พัฒนากระบวนการคุ้มครองเด็กไทย

[1] ทำร้ายร่างกายในที่นี้นับรวมการทำร้ายกันเองของเด็กด้วย

[2] สถิติฐานความผิดคดีอาญา(คดี 4 กลุ่ม) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ.

[3] Supakarn Phadungjai, ““ความในอย่านำออก” : เมื่อกระบวนการยุติธรรมเข้าไม่ถึงความรุนแรงในครอบครัว“, นิสิตนักศึกษา, 25 พฤศจิกายน 2020, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2023). 

[4] กองพัฒนานโยบายและนวัตกรรมทางสังคม, “ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก“, ฐานข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อสนับสนุนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ, 30 ตุลาคม 2020, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2023). 

[5] “Disrupting Harm in Thailand – Evidence on online child sexual exploitation and abuse”, UNICEF, February 21, 2022. 

[6] มีชัย สีเจริญ และคณะ, การวิจัยและพัฒนารูปแบบห้องสอบสวนเด็กและเยาวชนที่เหมาะสมในประเทศไทย (2020)

[7] อ้างแล้ว เชิงอรรถ 6. 

[8] อ้างแล้ว เชิงอรรถ 4. 

[9] Amy Russell, “Forensic Interview Room Set-up”, 2004, (accessed May 28, 2023). 

[10] อ้างแล้ว เชิงอรรถ 6. 

[11] “เด็ก-ผู้หญิงถูกทำร้ายในครอบครัวมากกว่า 1 ครั้ง สูงถึง 75%“, Thai PBS, 25 พฤศจิกายน 2021, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2023). 

[12] “พม. รวมพลังพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บูรณาการกับภาคีเครือข่ายคุ้มครองเด็กอย่างทันท่วงที“, สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 29 สิงหาคม 2564, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2023). 

[13] ปีงบประมาณ

[14] รายงานประจำปี 2564กรมกิจการเด็กและเยาวชน, 27 เมษายน 2565, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2023). 

[15] “คู่มือปฏิบัติและข้อตกลงร่วมกัน เรื่อง การคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กในภาวะเสี่ยง และเป็นผู้เสียหายจากการละเมิด ละเลยทอดทิ้ง แสวงประโยชน์ และความรุนแรง”, กรมกิจการเด็กและเยาวชน

[16] อ้างแล้ว เชิงอรรถ 11. 

[17] Ladaphongphatthana, K., Lillicrap, A., & Thanapanyaworakun, W. (2022). Counting every child, identifying over 120,000 children in residential care in Thailand.

[18] “เด็กทยอยออกจากมูลนิธิฯ สมุทรสงคราม หลังปมทำร้าย-ใช้แรงงาน“, Thai PBS, 2 พฤศจิกายน 2023, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2023). 

[19] “ส่งดำเนินคดี “ครูพี่เลี้ยง” ทำร้ายร่างกายเด็กใน “สถานสงเคราะห์” จ.สระบุรี“, ไทยรัฐ, 30 พฤษภาคม 2023, (เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2023).

[20] อ้างแล้ว เชิงอรรถ 17. 

[21] ““ครอบครัวอุปถัมภ์” ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม“, กรมกิจการเด็กและเยาวชน

[22] ประกาศกรมประชาสงเคราะห์ เรื่อง อัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยค่าเลี้ยงดูเด็กแก่ครอบครัวอุปถัมภ์ และ/หรือ ช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กตามความจำเป็น

[23] ประกาศกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่ 298/2558 เรื่องกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์อัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยค่าเลี้ยงดูเด็กแก่ครอบครัวอุปถัมภ์ และหรือ ช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กตามความจำเป็น

[24] กษิดิ์เดช คำพุช, “ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต,” 101 Public Policy Think Tank, 29 กันยายน 2022,(เข้าถึงเมื่อ 4 กรกฎาคม 2022)

[25] คำนวณโดยนำค่าเพื่อชีวิตในครอบครัวที่มีบุตร 1 คน 1 วัน คูณกับตัวคูณสมาชิกในครัวเรือนทั้งหมด (2.3) /ตัวคูณสมาชิกที่เป็นเด็ก 1 คน(0.5)

[26] “Cost Of Living In Thailand – a Guide by Siam Real Estate” , Bangkok Post, November 3, 2022,(accessed July 5, 2023)

[27] อ้างแล้ว เชิงอรรถ 23. 

[28] “Fostering.It’s not just the child life that changed“. Government of western Australia, Department of Communities, September 2021, (accessed June 25, 2023)   


อินโฟกราฟฟิก

รายงาน/บทวิเคราะห์ฉบับเต็ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

บ้านไม่ใช่เซฟโซนสำหรับทุกคน: เข้าใจปัญหาพื้นที่ปลอดภัยผ่านแบบสำรวจเยาวชน 2022

คิด for คิดส์ ชวนสำรวจปัญหาพื้นที่ปลอดภัยภายในบ้านชองเยาวชน โดยวิเคราะห์จากผลสำรวจเยาวชน 2022

ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต

ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยไม่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน 101 PUB เสนอให้ใช้แนวคิด ค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage) แทนแนวคิดเดิมในปัจจุบัน

เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

101 PUB ชวนทำความเข้าใจ ‘คุณค่า-ทัศนคติ’ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของ ‘เยาวชนไทย’ จากผลสำรวจเยาวชนสองหมื่นคนทั่วประเทศ หาคำตอบว่าพวกเขาคิดฝันอะไร เป็นใคร และมีพฤติกรรมอย่างไร

22 June 2023

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.