สูญเสียไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า ‘เกณฑ์ทหาร’

ในทุกๆ วันที่ 1 เมษายนของทุกปีเป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลที่ชายไทยหลายคนต่างพะวักพะวนไม่อยากให้มาถึง เพราะกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้เป็นวันเริ่มต้นการเกณฑ์ทหารทั่วประเทศไทย โดยผู้ที่มีบัตรประจำตัวประชาชนระบุว่าเป็นเพศชายและไม่ได้ผ่านการฝึกวิชาทหาร (เรียน รด.) ทุกคนจะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุถึง 21 ปี

หากจับได้ใบดำหรือคุณลักษณะไม่ตรงตามความต้องการของกองทัพก็จะสามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่หากจับได้ใบแดง พวกเขาเหล่านั้นก็จะต้องรับภารกิจรับใช้ชาติในกองทัพไทยเป็นระยะเวลา 1 ถึง 2 ปี

บรรยากาศของการเกณฑ์ทหารในทุกๆ ปีเป็นเรื่องชินตาสำหรับสังคมไทย ไม่ว่าผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารจะจับได้ใบดำหรือใบแดง ต่างก็มีเสียงโห่ร้อง หากแต่เสียงเหล่านี้อาจมีทั้งความยินดีและความผิดหวังปะปนกันไป ซึ่งดูเหมือนว่าความผิดหวังจากการเกณฑ์ทหารในทุกๆ ปี ส่วนใหญ่มักจะเป็นเพราะพวกเขาจับได้ใบแดง          

101 Public Policy Think Tank (101 PUB) ชวนทบทวนดูว่าการเกณฑ์ทหารเป็นสิ่งที่คุ้มค่าและจำเป็นต่อประเทศหรือไม่? การเกณฑ์ทหารหนึ่งครั้งประเทศไทยจะต้องเสียต้นทุนใดบ้างที่สามารถคิดเป็นตัวเงินได้นอกเหนือจากงบประมาณจากภาษีประชาชนที่จะต้องจ่ายให้แก่ทหารที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพไทย

สูญเสียไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า 'เกณฑ์ทหาร'

การเกณฑ์ทหารมี ‘ค่า’ มากกว่าที่คิด

หากต้องการดูว่าการเกณฑ์ทหารมีต้นทุนใดบ้างนอกเหนือจากต้นทุนด้านงบประมาณของรัฐบาล ก็ควรต้องพิจารณาถึงต้นทุนส่วนตัวของผู้ที่ถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นทหารโดยไม่สมัครใจ และต้นทุนทางเศรษฐกิจที่จะต้องเสียไปจากการเกณฑ์คนเหล่านี้ไปเป็นทหาร

ต้นทุนส่วนตัวของผู้ที่จับได้ใบแดงนั้น สามารถมองได้ว่าเป็นค่าเสียโอกาสที่พวกเขาต้องเสียไปจากการถูกเรียกเกณฑ์ไปเป็นทหารโดยไม่สมัครใจ ซึ่งก็คือโอกาสการทำงานและค่าจ้างที่หายไปในช่วงที่ต้องไปเป็นทหาร โดยระยะเวลาของการถูกเรียกไปเป็นทหารก็ขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษาของผู้ถูกเกณฑ์ หากมีวุฒิการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็จะถูกเรียกเกณฑ์เพียงหนึ่งปี ในทางกลับกัน หากมีวุฒิการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่านั้นก็จะต้อง ‘รับใช้ชาติ’ นานถึงสองปี

101 PUB คำนวณค่าจ้างที่หายไป จากค่าจ้างโดยเฉลี่ยของคนทำงานที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับผู้ถูกเกณฑ์ทหาร กล่าวคือ กลุ่มคนทำงานที่มีอายุระหว่าง 21 ถึง 26 ปีในแต่ละวุฒิการศึกษา ด้วยข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ[1]ค่าเสียโอกาสจึงคำนวณจากค่าจ้างของแรงงานนอกภาคเกษตรที่หายไประหว่างช่วงระยะเวลาที่ต้องประจำการอยู่ในกองทัพ

กลุ่มที่มีค่าเสียโอกาสจากการจับได้ใบแดงมากที่สุดคือกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. ซึ่งเสียไปราว 5.4 แสนบาท ขณะที่กลุ่มที่มีค่าเสียโอกาสน้อยที่สุดคือกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ซึ่งเสียไปราว 2.2 แสนบาท นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าหากกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับมัธยมต้นและกลุ่มวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือ ปวส. จับได้ใบแดงจะมีค่าเสียโอกาสที่ไม่ต่างกัน ซึ่งก็คือประมาณ 2.6 แสนบาท อย่างไรก็ดี ต้นทุนด้านเวลาของสองกลุ่มนี้มีไม่เท่ากัน เพราะกลุ่มที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษาจะต้องรับใช้ชาตินานถึงสองปี เมื่อนำค่าเสียโอกาสที่เกิดจากการจับได้ใบแดงของกลุ่มผู้ถูกเกณฑ์ตามวุฒิการศึกษาต่างๆ มาเฉลี่ยแล้ว พบว่าใบแดง 1 ใบจะมีค่าเสียโอกาสโดยเฉลี่ยราว 3.4 แสนบาท (ตารางที่ 1)

วุฒิการศึกษาระยะเวลาประจำการค่าเสียโอกาส
ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า2 ปี218,690 บาท
มัธยมศึกษาตอนต้น2 ปี266,376 บาท
มัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช.2 ปี542,620 บาท
ปริญญาตรีหรือ ปวส.1 ปี265,367 บาท
เฉลี่ย337,616 บาท
ตารางที่ 1: ประมาณการค่าเสียโอกาสของผู้ที่จับได้ใบแดงจำแนกตามวุฒิการศึกษา
ที่มา: 101 PUB คำนวณจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021)

ในปี 2022 กองทัพไทยมียอดความต้องการทหารทั้งหมด 58,330 คน โดยมีผู้สมัครกว่า 27,147 คน ซึ่งอาจมีทั้งผู้ที่สมัครด้วยความสมัครใจจริงและกลุ่มที่สมัครเพื่อต้องการระยะเวลาประจำการในกองทัพที่สั้นกว่ากรณีที่จับได้ใบแดง เมื่อมีผู้สมัครเข้ามาน้อยกว่ายอดความต้องการ ทำให้มีจำนวนใบแดงทั้งสิ้น 30,646 ใบ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้องมีผู้ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารโดยไม่สมัครใจอย่างน้อย 30,646 คน[2]“ทบ. ตั้งเป้าปี 66 ต่อยอดเลิก “เกณฑ์ทหาร” พบปี 65 ยอดเรียกเกณฑ์ลด 18,749 นาย,” กรุงเทพธุรกิจ, กันยายน 29, 2022, https://www.bangkokbiznews.com/politics/1029595.

เมื่อนำ ‘ค่าจ้างที่สูญไป’ โดยเฉลี่ยมาคูณกับจำนวนผู้ที่ถูกเกณฑ์ทหารโดยไม่สมัครใจขั้นต่ำ จะพบว่าการเกณฑ์ทหารครั้งนี้สร้างค่าเสียโอกาสในการหารายได้ของแรงงานอย่างน้อย 1.04 หมื่นล้านบาท ขณะที่รัฐบาลจะจ่ายค่าแรงของการเป็นทหารเกณฑ์เพียงประมาณ 6 พันล้านบาท[3]ประมาณการค่าจ้างทหารเกณฑ์กลุ่มที่จับได้ใบแดงในปี 2022 โดยคำนวณบนฐานคิดที่ว่าทหารเกณฑ์จะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 1 หมื่นบาท … Continue reading

อย่างไรก็ตาม แรงงานที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ ย่อมหมายถึงการผลิตสินค้าและบริการที่หายไปด้วยเช่นกัน จากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตในปี 2015 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดพบว่า ค่าจ้างแรงงานคิดเป็น 34.5% ของมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจไทย[4]สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนั้น มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญไปจริงจะมีค่ามากกว่าค่าจ้างที่สูญไปราว 3 เท่า หรืออย่างน้อย 3 หมื่นล้านบาท

ต้นทุนแฝงของการเกณฑ์ทหาร

ตัวเลขประมาณการต้นทุนที่เกิดจากการเกณฑ์ทหารที่กล่าวไปข้างต้นอาจยังน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะมีต้นทุนแฝงที่เกิดจากการเกณฑ์ทหาร ซึ่งไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างแน่ชัด อาทิ ต้นทุนที่เกิดจากการที่ผู้ถูกเกณฑ์ต้องไปทำงานใช้ทักษะไม่ตรงกับที่ตนเคยฝึกมาหรือมีอยู่ ทำให้การเกณฑ์ทหารไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าการรับสมัครผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีความพร้อมมากกว่า[5]Poutvaara, Panu, and Wagener, Andreas. “Conscription: economic costs and political allure,” The Economics of Peace and Security Journal 2, no. 1 (2007): 6-15. ต้นทุนที่ต้องเสียโอกาสในการฝึกฝนเก็บเกี่ยวทักษะเพิ่มเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ต้นทุนที่ต้องห่างไกลจากบ้าน ซึ่งไม่สามารถดูแลคนในครอบครัวได้ นอกจากนี้ต้นทุนแฝงอาจรวมไปถึงด้านสุขภาพจิตของผู้ถูกเกณฑ์เองอีกด้วย

แม้ระบบเกณฑ์ทหารแบบบังคับจะทำให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณสำหรับค่าจ้างทหารเกณฑ์น้อยกว่าระบบสมัครใจที่ต้องเพิ่มค่าตอบแทนให้ทัดเทียมกับค่าจ้างในตลาดแรงงานเพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาในกองทัพ แต่ก็เป็นที่เห็นชัดแล้วว่าต้นทุนของการเกณฑ์ทหารแบบบังคับไม่ได้มีแค่ด้านงบประมาณ หากแต่มีทั้งต้นทุนต่อตัวผู้ถูกเกณฑ์ ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม และต่อกองทัพเองอีกด้วย

ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเร่งทบทวนตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารเสียใหม่ เพราะกฎหมายฉบับล่าสุดที่ระบุเกี่ยวกับการรับราชการทหารนี้ออกมาเมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว[6]พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ซึ่งยังคงอยู่ในบริบทที่มีศึกสงครามบ่อยครั้ง การเกณฑ์ทหารจึงดูเหมือนจะมีความชอบธรรมและเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันบริบทได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การเกณฑ์ทหารจึงเป็นเรื่องที่น่าถกเถียงว่ายังควรมีอยู่หรือไม่ มีความคุ้มค่ากว่าการรับสมัครทหารหรือไม่ อีกทั้งกำลังพลที่ถูกเกณฑ์มาจะมีประสิทธิภาพต่อการป้องกันประเทศมากกว่าทหารอาชีพหรือเปล่า

References
1 ค่าเสียโอกาสจึงคำนวณจากค่าจ้างของแรงงานนอกภาคเกษตรที่หายไประหว่างช่วงระยะเวลาที่ต้องประจำการอยู่ในกองทัพ
2 “ทบ. ตั้งเป้าปี 66 ต่อยอดเลิก “เกณฑ์ทหาร” พบปี 65 ยอดเรียกเกณฑ์ลด 18,749 นาย,” กรุงเทพธุรกิจ, กันยายน 29, 2022, https://www.bangkokbiznews.com/politics/1029595.
3 ประมาณการค่าจ้างทหารเกณฑ์กลุ่มที่จับได้ใบแดงในปี 2022 โดยคำนวณบนฐานคิดที่ว่าทหารเกณฑ์จะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 1 หมื่นบาท และจะมีทั้งกลุ่มที่มีระยะเวลาประจำการเพียงปีเดียวและสองปี
4 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
5 Poutvaara, Panu, and Wagener, Andreas. “Conscription: economic costs and political allure,” The Economics of Peace and Security Journal 2, no. 1 (2007): 6-15.
6 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

สรวิศ มา

สร้างสรรค์ภาพ

สรัช สินธุประมา

บทความที่เกี่ยวข้อง

จับตา พ.ร.บ. ทรมานอุ้มหาย: จุดจบระบอบลอยนวลพ้นผิด?

101 PUB ชวนทบทวนปัญหาการซ้อมทรมานและการอุ้มหายในประเทศไทย เส้นทางการผลักดันกฎหมายที่ผ่านมา ชี้ถึงแก่นหลักที่ไม่ควรหายไปในกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงสาระสำคัญในร่างฉบับกรรมาธิการวิสามัญ

All policies are about child and youth: ทุกนโยบายก็เป็นเรื่องของเด็กและเยาวชนเหมือนกันนะ!

All policies are about child and youth: ทุกนโยบายก็เป็นเรื่องของเด็กและเยาวชนเหมือนกันนะ!

ในโอกาสวันเด็ก 101 PUB ชวนอ่านผลงานวิจัยที่ ‘เหมือนจะไม่ใช่เรื่องของเด็ก’ ใหม่ ผ่านแง่มุมเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ด้วยความหวังว่าเสียงของพวกเขาจะถูก ‘รับฟังอย่างมีความหมาย’ ในกระบวนการนโยบายทุกเรื่องมากขึ้น

เช็กสุขภาพประเทศไทย ผ่าน 12 ภาพ ผลงาน 101 PUB

ชวนเช็กสุขภาพประเทศไทยผ่าน 12 ภาพผลงาน 101 PUB ที่ชี้ปัญหาใหญ่ประเทศ ทั้งมิติการบริหารจัดการ คุณค่า และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.