ในการเลือกตั้งระดับชาติ 2566 พรรคการเมืองต่างหาเสียงด้วยนโยบายหลากหลาย ทุกพรรคต่างจูงใจและให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
แต่ละพรรคก็มีนโยบายเด่นที่เป็นจุดขายเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน ซึ่งมาจากอุดมการณ์ ฐานคิด และวิถีการดำเนินงานที่แตกต่างกัน บ้างก็แยกประเด็นเศรษฐกิจออกจากการเมือง บ้างก็มองว่าเป็นเนื้อเดียวกัน บ้างก็พยายามจัดการปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ในวันนี้ และบ้างก็พยายามวางฐานสู่การปรับปรุงในภาพใหญ่
ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ 101 PUB ขอร่วมหยิบนโยบายเด่นของแต่ละพรรคการเมืองใหญ่มาประเมิน ดูว่านโยบายเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาหรือไม่ เหมาะสมบริบทประเทศไทยมากเพียงใด และวิธีการที่ใช้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพแล้วหรือยัง เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง โดยพิจารณาจากนโยบาย บนฐานคิดทางวิชาการ
พวกเราหยิบยก 2 นโยบายเด่นจากแต่ละพรรคมาวิเคราะห์ (ซึ่งอาจมีส่วนที่ทับซ้อนกับพรรคอื่นด้วย) และแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ตอน ตอนละ 2 พรรค:
- EP.1 พรรคพลังประชารัฐ + พรรครวมไทยสร้างชาติ
- EP.2 พรรคประชาธิปัตย์ + พรรคภูมิใจไทย
- EP.3 พรรคเพื่อไทย + พรรคก้าวไกล
โดยในวันนี้เป็นการนำเสนอการวิเคราะห์ตอนที่ 2 ของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย
พรรคประชาธิปัตย์
‘ประกันรายได้เกษตรกร’ มีส่วนฉุดรั้งเกษตรกรให้ติดในวงจรความยากจน
นโยบายประกันรายได้เกษตรกรถือว่า DNA ของพรรคประชาธิปัตย์[1]กรุงเทพธุรกิจ. “ปชป.ลั่นเดินหน้าประกันรายได้ ชาวนารับ 30,000 บาท”. 9 เมษายน 2566. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) ซึ่งดำเนินโครงการนี้ตลอด 4 ปีที่ร่วมรัฐบาล และประกาศจะทำต่อเพื่อช่วยเติมรายได้ให้เกษตรกร ด้วยการจะจ่ายเงินอุดหนุนเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาเป้าหมายให้เกษตรกรตามปริมาณผลผลิตเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพด ครอบคลุมเกษตรกรทั่วประเทศ กว่า 8.16 ล้านครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะใช้งบราว 7 หมื่นล้านบาทต่อปี[2]พรรคประชาธิปัตย์. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) และนโยบาย 01 ประกันรายได้ “จ่ายเงินส่วนต่าง” ข้าว มัน ยาง ปาล์ม … Continue reading
ทว่า นโยบายการประกันรายได้มีส่วนฉุดรั้งเกษตรกรในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า เช่น บางรายขาดทุนจากการปลูกข้าวคุณภาพต่ำ แต่ยังทำต่อเพราะได้รับเงินส่วนต่าง และไม่เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นนอกการเกษตรกรทั้งที่มีกำไรเฉลี่ยจากการเกษตรแค่ 202.7 บาท/วัน น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรติดอยู่กับการผลิตรายได้ต่ำและจำต้องพึ่งพิงเงินอุดหนุนของรัฐในระยะยาว โดยธนาคารโลกรายงานว่าในปี 2017-2019 การทำเกษตรเป็นปัจจัยเร่งให้สัดส่วนคนจนในชนบทไทยเพิ่มขึ้น 0.3%[3]World Bank Group, Thailand Rural Income Diagnostic, 2022.
ยิ่งไปกว่านั้น เงินอุดหนุนส่วนใหญ่ของนโยบายนี้กลับตกถึงมือเกษตรรายใหญ่ที่มีผลผลิตและที่ดินมากกว่ารายย่อย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุนตามปริมาณผลผลิต ผลการคำนวณของ 101 PUB พบว่าโครงการประกันรายได้ข้าว ไม่เกินรายละ 30 ตันในรัฐบาลที่ผ่านมา กลุ่มครัวเรือนชาวนาที่มีผลผลิตมากที่สุด 20% แรก (กลุ่ม 5) ได้รับเงินอุดหนุน 57.4% ของงบทั้งหมด ในขณะที่ชาวนาที่มีผลผลิตต่ำสุด 20 % ท้าย (กลุ่ม 1) ได้รับอุดหนุนแค่ 2.5% เท่านั้น
ประสิทธิภาพการช่วยเหลือของโครงการนี้ยังมีแนวโน้มลดลงด้วย เพราะการประกันรายได้จะใช้เงินอุดหนุนเพิ่มขึ้น แต่จะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้น้อยลง ในช่วงปี 2555-2564 สินค้าเกษตรในโครงการยกเว้นปาล์มน้ำมันมีราคาลดลง เช่น ราคายางพาราและข้าวเปลือกลดลง 41.5% และ 24.9% ตามลำดับ หากมีการกำหนดราคาเป้าหมายไว้เท่าเดิม ก็จะต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มขึ้นซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ตามเป้าหมายเดิม แต่เกษตรกรจะมีความเป็นอยู่แย่ลงจากค่าครองชีพในประเทศที่สูงขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 6.4%
หากจะเพิ่มราคาเป้าหมายให้ทันกับค่าครองชีพ ก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณและก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติม โดยในช่วงปี 2562-2565 รัฐบาลที่ผ่านมามีการกู้เงินสำหรับโครงการอุดหนุนเกษตรเฉลี่ยปีละ 1.5 แสนล้านบาท แต่จ่ายคืนหนี้แค่ปีละ 7.1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มีหนี้เพิ่มขึ้นปีละ 8.1 หมื่นล้านบาท
นโยบายที่จะช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน ควรจูงใจให้เกษตรกรปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า หรือแม้แต่เอื้อให้เปลี่ยนไปสู่อาชีพใหม่ พร้อมกับการช่วยเหลือระยะสั้น ที่มุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มคนจนผ่านสวัสดิการพื้นฐานตามความจำเป็น โดยไม่ต้องอ้างอิงกับอาชีพเกษตร
‘เรียนฟรีถึงป. ตรีสาขาที่ตลาดต้องการ’ นโยบายหลงทิศ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด
อีกหนึ่งนโยบายน่าสนใจที่ถูกนำเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ คือ การให้เรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรีในสาขาที่ตลาดต้องการ ต่อยอดจากนโยบายเดิมที่ให้เรียนฟรี 15 ปี โดยมุ่งเน้นผลิตแรงงานทักษะสูงราว 1.5 แสนคน เข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมกับแก้ไขปัญหาการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์รายงานว่านโยบายนี้จะใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท[4]พรรคประชาธิปัตย์. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. และนโยบาย 05 เรียนฟรี ถึงปริญญาตรี สาขาที่ตลาดต้องการ. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566)
อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้น่าจะหลงทิศและแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ประการแรก ภาครัฐไม่มีความจำเป็นต้องนำทรัพยากรของสังคมไปอุดหนุนค่าเรียนเต็มจำนวนในสาขาที่ตลาดต้องการ เพราะโดยปกติแล้ว หากบริษัทเอกชนขาดแคลนแรงงานในสาขาใด ก็จะเพิ่มค่าตอบแทนในสาขาเหล่านั้น ทำให้การเรียนในสาขาขาดแคลนมีผลตอบแทนส่วนตัวสูงสำหรับทั้งผู้เรียนและบริษัทเอกชน หากภาครัฐจะมีการอุดหนุน ก็ควรเป็นแค่บางส่วนตามแต่สัดส่วนประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับสังคมโดยรวม
ในความเป็นจริงแล้ว การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะสาขาที่มักพูดถึงกัน ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปริมาณผู้จบการศึกษาน้อย แต่เป็นผลมาจากปัญหาเชิงคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาทำให้ผู้เรียนได้ใบปริญญา แต่ไม่มีทักษะตามที่ตลาดต้องการ จึงทำให้ไม่ได้งานที่คาดหวัง
ตัวอย่างเช่น ในปี 2564 มีกำลังแรงงานอายุต่ำกว่า 26 ปีเกือบ 5 หมื่นคน ที่จบปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นสาขาที่ตลาดต้องการสูง อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่ทำงานตรงสาย ส่วนที่เหลือทำงานไม่ตรงสาย ตกงาน หรืออยู่นอกตลาดแรงงาน ในขณะที่การสำรวจโดยบริษัทจัดหาคนและงานพบว่าบริษัทเอกชนก็ยังขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีอย่างหนักเพราะไม่สามารถหาคนที่มีทักษะที่ต้องการได้[5]ประชาชาติธุรกิจ. “มนุษย์ไอที “ไทย” ขาดแคลนหนัก รุมจีบอินเดีย-มาเลย์-ฟิลิปปินส์ทดแทน”. 29 มีนาคม 2566. (เข้าถึงเมื่อ 28 เมษายน 2566)
ปัญหาถัดมาของนโยบายนี้คือ การวางแผนกำลังคนโดยใช้ข้อมูลความต้องการแรงงานในปี พ.ศ. 2563-2567[6]การสำรวจนี้ทำโดยสํานักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งถือว่าล้าสมัยสำหรับการวางแผนสร้างคน ที่ใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปีเพื่อให้เรียนจบระดับปริญญาตรี หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วมรัฐบาล โครงการนี้น่าจะเริ่มได้ในปีหน้าซึ่งเป็นปีสุดท้ายของข้อมูลความต้องการและมีผู้จบการศึกษารุ่นแรกในปี 2571 ซึ่งความต้องการแรงงานในตลาดอาจเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว
สุดท้าย แม้ว่านโยบายนี้มีชื่อว่าเรียนฟรีถึงป.ตรีสาขาที่ตลาดต้องการ แต่กลับไม่ได้แตะโจทย์พื้นฐานอย่าง ‘เรียนฟรี 15 ปีไม่มีจริง’ อันเป็นสาเหตุหนึ่งให้นักเรียนยากจนจำนวนมากหลุดออกจากระบบศึกษาก่อนถึงระดับป.ตรี
ในปี 2564 นักเรียนยากจนระดับชั้นประถมและมัธยมต้นมีค่าใช้การศึกษาเฉลี่ยต่อปีราว 2-4 พันบาท และเด็กในครัวเรือนยากจนมีเพียงอัตราการเรียนต่อมัธยมปลายแค่ร้อยละ 18 ต่ำกว่าอัตราโดยรวมทั้งประเทศที่ร้อยละ 64.1[7]สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2564. 2565. หากปัญหานี้ยังคงมีอยู่ การให้เรียนป.ตรีฟรีในสาขาที่ตลาดต้องการก็จะเป็นการอุดหนุนให้ประโยชน์กับเด็กจากครอบครัวฐานะปานกลางและดีเป็นหลัก ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น
พรรคภูมิใจไทย
‘พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก’ ยาชาราคาแพง ที่ทุกคนต้องร่วมจ่าย
นโยบายพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท ของพรรคภูมิใจไทยเป็นนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนที่ถูกพูดถึงมากที่สุด นโยบายดังกล่าวเป็นการพักหนี้รายคน โดยจ่ายดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินแทนผู้กู้เงินเป็นระยะเวลา 3 ปี กำหนดเพดานวงเงินเข้าโครงการไม่เกินคนละ 1 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน สหกรณ์ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองทุนหมู่บ้าน บัตรเครดิต ไฟแนนซ์ และลีซซิ่ง ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องออกพันธบัตรกู้ยืมเงิน (ซึ่งก็มีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนภาคการเงิน) เพื่อนำมาใช้จ่าย
ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือเป็นปัญหาใหญ่ที่นักเศรษฐศาสตร์พูดถึงกันมาต่อเนื่องยาวนาน เพราะปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีค่ามากถึง 15.4 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน[8]101 PUB รวมข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไตรมาส 4/2022 แต่เนื่องจากข้อมูลของ ธปท. ยังไม่ได้รวมหนี้ในระบบอื่น เช่น … Continue reading คิดเป็นร้อยละ 87 ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน ทำให้ครัวเรือนต้องนำรายได้ไปใช้คืนหนี้มากขึ้น จำกัดกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้เศรษฐกิจไม่อาจเติบโตจากภายในได้อย่างแข็งแกร่ง หนี้ภาคครัวเรือนขนาดใหญ่เกินไปยังสามารถทำลายเสถียรภาพของระบบการเงินหรือการคลังได้จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้
แม้ว่าจะเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข แต่แนวทางนโยบายพักหนี้เช่นนี้เป็นเพียงยาชาราคาแพง ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในระยะสั้นด้วยงบประมาณภาครัฐค่อนข้างสูง และเมื่อหมดฤทธิ์ ครัวเรือนก็ต้องกลับมาจ่ายคืนดอกเบี้ยและเงินต้นที่ไม่ได้ลดลงไปในช่วง 3 ปีนี้ดังเดิม
101 PUB จำลองภาระงบประมาณที่ใช้ จากจำนวนผู้มีหนี้ทั้งหมด 25 ล้านคนในปัจจุบัน โดยใช้สมมติฐานที่ใกล้เคียงยอดหนี้คงค้างรายบุคคลตามค่ามัธยฐาน (128,000 บาท เมื่อปี 2563) และค่าเฉลี่ย (527,000 บาท ในปี 2565) ร่วมกับอัตราดอกเบี้ยครัวเรือนเฉลี่ย (9.5%) ตลอดจนดอกเบี้ยขั้นสูง (15%) ให้สะท้อนความเป็นไปได้ที่ผู้กู้อาจนำหนี้ดอกเบี้ยสูงเข้าสู่การพักหนี้ก่อน
ในกรณีที่มีหนี้เข้าโครงการน้อย (เฉลี่ย 150,000 บาท/คน) และดอกเบี้ยเป็นไปตามค่าเฉลี่ยของดอกเบี้ยสินเชื่อปัจจุบัน (ร้อยละ 9) รัฐจะต้องชดเชยดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ปีละ 345,938 ล้านบาท คิดเป็น 13.9% ของรายรับของรัฐบาล ในกรณีที่มีหนี้เข้าโครงการปานกลาง (เฉลี่ย 350,000 บาท/คน) และมีเฉพาะคนบางส่วนที่เลือกพักหนี้ดอกเบี้ยสูงแทนหนี้ดอกเบี้ยต่ำ (ร้อยละ 12) รัฐจะต้องชดเชยดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้รวมกับจ่ายผลตอบแทนพันธบัตรเพื่อกู้เงินมาดำเนินนโยบายปีละ 1,076,250 ล้านบาท คิดเป็น 43.2% ของรายรับของรัฐบาล ส่วนกรณีที่มีหนี้เข้าโครงการมาก (เฉลี่ย 550,000 บาท/คน) และมีคนจำนวนมากเลือกพักหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงเพื่อที่จะได้ใช้สิทธิ์การพักหนี้ให้มากที่สุด รัฐอาจต้องต้องจัดสรรงบประมาณมากถึง 2,114,063 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 84.9% ของรายรับรัฐบาล
แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่นโยบายดังกล่าว ไม่ ถูกกล่าวถึงในเอกสารนโยบายที่รายงานต่อ กกต. เลย
นอกจากภาระงบประมาณที่สูงมากแล้ว นโยบายดังกล่าวยังอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบการเงินอีกด้วย เนื่องจากการพักหนี้อาจทำให้เกิดปัญหาวินัยทางการเงิน หรือ Moral hazard ที่ผู้มีความสามารถชำระคืน ไม่ยอมจ่ายคืนหนี้ โดยหวังรอเข้าโครงการพักหนี้ ซึ่งผลักภาระค่าใช้จ่ายพวกเขาออกไปในอนาคตโดยไม่มีความจำเป็น
‘กัญชาเสรี’ เพื่อการแพทย์? การปลดล็อคผิดพลาดที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้
นโยบายกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์เป็นนโยบายที่พรรคภูมิใจไทยชูธงตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2562 และถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ในสนามการเลือกตั้ง 2566 พรรคภูมิใจไทยยังคงรายงานนโยบายดังกล่าวต่อ กกต. เช่นเดิม[9]พรรคภูมิใจไทย. เอกสารนโยบายพรรคการเมือง. แต่ไม่ค่อยนำมาหาเสียงเรียกคะแนนเท่าใดนัก และได้กลายเป็นเป้าโจมตีของพรรคการเมืองอื่นจำนวนมาก
สิ่งหนึ่งที่ต้องยืนยันคือ ‘กัญชาไม่ใช่ผู้ร้าย’ เพราะมีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันประโยชน์ทางการแพทย์ของสารสกัดกัญชา ทั้งช่วยผ่อนคลายจากอาการวิตกกังวล บรรเทาอาการอักเสบ และแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจปลดล็อคที่ไม่ถูกจังหวะและไม่รอบคอบมากพอ ทำให้กัญชากลายเป็นภาระของแพทย์และสร้างต้นทุนทางด้านสาธารณสุขในระยะยาว
ความผิดพลาดสำคัญของนโยบายกัญชาเสรีโดยพรรคภูมิใจไทยคือ การเทน้ำหนักไปที่หลักเสรีภาพ โดยเร่งรัดนำกัญชาออกจากบัญชีรายชื่อยาเสพติด ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยยังไม่มีมาตรการควบคุมเพื่อการันตีหลักความปลอดภัย ส่งผลให้การผลิต จำหน่าย และใช้งานกัญชาทั้งเพื่อรักษาโรคและนันทนาการเป็นไปอย่างเสรี จนเรียกได้ว่าเสรีที่สุดในโลก ยิ่งกว่าประเทศที่เปิดให้ใช้กัญชาเสรีเพื่อนันทนาการ ในขณะที่บทลงโทษยาเสพติดชนิดอื่นในประเทศไทยยังสูงถึงประหารชีวิต
แม้ในอนาคตอาจมีการผ่าน พ.ร.บ. กัญชาฯ ก็ไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงทั้งหมด และไม่อาจจำกัดการใช้เพื่อการแพทย์ดังที่หาเสียงได้อีกต่อไป
สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันคือการปลูก ผลิต จำหน่าย และใช้งานกัญชาได้เกินจากการวัตถุประสงค์เพื่อการแพทย์ไปมาก และทุกขั้นตอนยังทำได้สะดวกยิ่งกว่าสินค้าประเภทใกล้เคียงกันที่ถูกควบคุมเข้มงวดกว่าอย่างเหล้าและบุหรี่ (คลิกลิงก์เพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม)
ทุกครัวเรือนสามารถปลูกต้นกัญชาได้ไม่จำกัด โดยไม่ต้องขออนุญาตปลูกและยังไม่มีระบบตรวจสอบความเหมาะสมของสถานที่ปลูก (เช่น ครัวเรือนที่มีเด็กควรปลูกห่างจากตัวบ้านเท่าไร ปลูกได้มากแค่ไหน) การจำหน่ายสินค้ากัญชาก็เป็นไปอย่างไร้กฎเกณฑ์ คือสามารถวางขายปะปนกับสินค้าบริโภคอื่นๆ ได้ในร้านสะดวกซื้อ โดยไม่มีป้ายคำเตือนที่ชัดเจน ส่วนร้านที่จำหน่ายกัญชาโดยเฉพาะก็ตั้งอยู่กระจัดกระจายในละแวกชุมชนหรือใกล้สถานศึกษาจนเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะเข้าถึงได้ง่าย เนื่องจากไม่มีมาตรการโซนนิ่ง อีกทั้งมีร้านอาหารหลายแห่งที่ผสมกัญชาในสินค้าโดยไม่ได้แจ้งลูกค้าอย่างละเอียด
แม้พรรคภูมิใจไทยจะอ้างว่ามีประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขที่ควบคุมการใช้งานแล้ว แต่เมื่อไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนมากพอ ก็เกิดปัญหาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบว่าควรดำเนินการอย่างไร
หากจะฝันไกลให้เกิดอุตสาหกรรมธุรกิจกัญชาที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ ต้องอาศัยการวางแผนนโยบายอย่างรอบด้าน ส่วนหนึ่งก็เพื่อปิดความกังวลของสังคมและสร้างแรงสนับสนุนในวงกว้าง ซึ่งจะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ชัดเจนด้วยว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์การปริมาณการผลิตที่เหมาะกับความต้องการของตลาดได้ ไม่เช่นนั้นร้านจำหน่ายสินค้ากัญชาอย่างน้อย 4,496 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงผู้ที่กำลังตัดสินใจเข้าสู่ตลาดดังกล่าว ก็เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบในอนาคต
↑1 | กรุงเทพธุรกิจ. “ปชป.ลั่นเดินหน้าประกันรายได้ ชาวนารับ 30,000 บาท”. 9 เมษายน 2566. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) |
---|---|
↑2 | พรรคประชาธิปัตย์. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) และนโยบาย 01 ประกันรายได้ “จ่ายเงินส่วนต่าง” ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) |
↑3 | World Bank Group, Thailand Rural Income Diagnostic, 2022. |
↑4 | พรรคประชาธิปัตย์. เอกสารนโยบายในการเลือกตั้งปี 2566. และนโยบาย 05 เรียนฟรี ถึงปริญญาตรี สาขาที่ตลาดต้องการ. (เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2566) |
↑5 | ประชาชาติธุรกิจ. “มนุษย์ไอที “ไทย” ขาดแคลนหนัก รุมจีบอินเดีย-มาเลย์-ฟิลิปปินส์ทดแทน”. 29 มีนาคม 2566. (เข้าถึงเมื่อ 28 เมษายน 2566) |
↑6 | การสำรวจนี้ทำโดยสํานักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) |
↑7 | สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2564. 2565. |
↑8 | 101 PUB รวมข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไตรมาส 4/2022 แต่เนื่องจากข้อมูลของ ธปท. ยังไม่ได้รวมหนี้ในระบบอื่น เช่น สินเชื่อเพื่อการศึกษาของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สินเชื่อจากกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น 101 PUB จึงนำปริมาณสินเชื่อของ กยศ. มารวมด้วย |
↑9 | พรรคภูมิใจไทย. เอกสารนโยบายพรรคการเมือง. |