ถึงเวลาฟังเสียงคนรุ่นใหม่ ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญไทยที่มีประชาธิปไตยเต็มใบอย่างแท้จริง

ถึงเวลาฟังเสียงคนรุ่นใหม่ ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญไทยที่มีประชาธิปไตยเต็มใบอย่างแท้จริง

‘ไม่เป็นประชาธิปไตย’ ‘มรดกรัฐประหาร’ ‘ยากที่จะแก้ไข’ ‘อำนาจเก่า’ ‘ยาวเกินจำเป็น’ ‘การเมืองพวกพ้อง’  ‘ควรแก้ไข’ ‘ไม่สมบูรณ์สักที’ ฯลฯ

เหล่านี้คือถ้อยคำที่ปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอเมื่อเราเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่มอบคำนิยามแก่ ‘รัฐธรรมนูญ-ระบบการเมือง’ ในปัจจุบัน

โดยไม่ต้องขอคำอธิบายเพิ่มเติม เพียงคำหรือวลีสั้นๆ ที่หยิบยกขึ้นมานี้ ต่างขมวดรวมทุกปมปัญหาที่เกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 อันเป็นมรดกตกทอดหลังจากรัฐประหารเมื่อเก้าปีที่แล้วได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสะท้อนภาพความอัดอั้นที่เยาวชนและคนรุ่นใหม่ไทยมีต่อระบอบการปกครองของไทยและภาพจำของสถาบันทางการเมืองที่ฝังลึกมานานหลายปี

เมื่ออนาคตของเยาวชนผูกติดอยู่กับความเป็นไปของชาติ เช่นเดียวกันกับที่อนาคตของชาติขึ้นอยู่กับทัศนคติและชีวิตของเยาวชนในประเทศ เช่นนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองการเลือกตั้ง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปจนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ล้วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ทุกคนในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และถึงที่สุด เสียงของเยาวชนเหล่านี้ล้วนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำประเทศก้าวไปข้างหน้าหลังจากถูกแช่แข็งมานานหลายปีได้อีกครั้ง

National Democratic Institute (NDI), ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, และ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) จึงชวนเยาวชน คนรุ่นใหม่ และประชาชนร่วมสะท้อนมุมมองและความฝันเรื่อง ‘รัฐธรรมนูญเพื่ออนาคต’ ต่อผู้กำหนดนโยบาย ที่งานเสวนาสาธารณะ “Youth’s Constitution Dialogue: ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ สร้างประชาธิปไตยยั่งยืน”

ร่วมฟังเสียงและแลกเปลี่ยนโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล, จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย, สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชวนสนทนาโดย วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยและหัวหน้าทีมเครือข่ายวิจัยและนโยบาย 101 PUB

เมื่อเยาวชนของชาติไร้ความเชื่อใจต่อสถาบันการเมือง

เมื่อปีที่ผ่านมา 101 PUB ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำการสำรวจทัศนคติต่ออนาคตของเยาวชนและคนรุ่นใหม่ไทยในช่วงอายุ 15-25 ปี จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 20,000 คนทั่วประเทศ ผลสำรวจพบว่า ความฝัน ความหวังและทัศนคติของเยาวชนมีความหลากหลายแตกต่างกันไป ทว่ามีฉันทมติวงกว้างร่วมกันในสามหลักการใหญ่ ซึ่งนับเป็นความฝันร่วมของเยาวชนไทย และสะท้อนในภาพใหญ่ว่าคนรุ่นใหม่ของไทยต่างคาดหวังจะได้เห็นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเมืองใหม่ รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดโครงสร้างของประเทศในทุกๆ ด้าน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกกลุ่ม

หลักการแรก คือการคุ้มครองเสรีภาพทางความคิดและเปิดพื้นที่เพื่อคนหลากหลาย โดย 91.9% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าประชาชนมีสิทธิวิจารณ์บุคคลหรือองค์กรที่ใช้เงินภาษีได้ และ 90.8% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสังคมไทยกดทับความแตกต่างหลากหลายมากเกินไป

หลักการที่สอง คือการทลายระบบอุปถัมภ์-เส้นสาย และแก้ปัญหาการทุจริต โดย 97.7% ของกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยกับการใช้เส้นสายเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง และ 86% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการลดการทุจริตเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทย

หลักการที่สาม คือการปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทุกคนกินดี-อยู่ดี และมีโอกาสเสมอกัน โดย 88.8% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าระบบเศรษฐกิจปัจจุบันเอื้อประโยชน์ให้คนรวยมากกว่าคนฐานะรองลงมา และ 85.3% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการจัดสวัสดิการให้เพียงพอและมีคุณภาพถือเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจจาก 101 PUB ร่วมกับ สสส. ที่ระบุว่า เยาวชนไทยมีความเชื่อถือต่อสถาบันการเมืองต่ำเป็นอย่างมาก ความน่าสนใจคืออัตราความเชื่อถือที่เยาวชนไทยมีต่อคนแปลกหน้าในสังคมกลับมีคะแนนมากกว่าความเชื่อถือต่อสถาบันการเมืองเสียด้วยซ้ำ โดยพบว่าอันดับที่ต่ำที่สุดสามอันดับคือ รัฐบาล กองทัพ และชนชั้นสูง ทั้งนี้ ความเชื่อถือที่ต่ำมากนี้ไม่ได้เกาะกลุ่มอยู่เฉพาะในกลุ่มเยาวชนเท่านั้น แต่ในกลุ่มช่วงวัยอื่นๆ ก็ต่ำมากเช่นกัน 

มากไปกว่านั้น จากผลสำรวจยังพบว่า ประเด็นปฏิรูปที่เยาวชนไทยให้ความสนใจที่สุดในช่วงที่ผ่านมาคือ กลไกลดการทุจริต กระบวนการยุติธรรม และระบบรัฐสภาและระบบเลือกตั้ง เหล่านี้ล้วนเป็นดั่งภาพสะท้อนสภาพการเมืองการปกครอง ความเป็นอยู่ของประชาชน สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพของผู้คน ไปจนถึงทัศนคติที่เยาวชนของชาติมีต่อสถาบันการเมืองไทยได้ทั้งสิ้น

ถึงเวลาฟังเสียงคนรุ่นใหม่ ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญไทยที่มีประชาธิปไตยเต็มใบอย่างแท้จริง

มองสถานการณ์การเมืองไทยผ่าน ‘ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตย’

ในบรรดาสิทธิที่ถูกบั่นทอนด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงและความผันผวนปรวนแปรของการเมืองในประเทศ พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล เริ่มต้นฉายความกว้างให้เห็นถึงปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพในไทยในปัจจุบัน โดยอ้างอิงข้อมูลจากดัชนีประชาธิปไตย (Economist Intelligence Unit Democracy Index) ที่คะแนนของประเทศไทยในปี 2022 อยู่ที่ 6.67 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งอยู่ว่าอยู่ในระดับของประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ยังบกพร่อง (flawed democracies)

เพราะการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง พริษฐ์จึงชี้ให้เห็นว่าจากคะแนน 6.67 ที่ไทยได้รับในดัชนีประชาธิปไตยดังกล่าวนี้ หากลงลึกไปยังแต่ละองค์ประกอบของคะแนนที่ได้มา กล่าวคือ ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยของ Economist Intelligence Unit จะวิเคราะห์และประเมินจากปัจจัยห้าประเด็น ประกอบด้วยกระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม (Electoral process and pluralism) การทำหน้าที่ของรัฐบาล (Functioning of government) การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political participation) วัฒนธรรมทางการเมือง (Political culture) และเสรีภาพพลเมือง (Civil liberties) 

ซึ่งในบรรดาห้ามิตินี้ พริษฐ์ระบุว่า คะแนนแต่ละส่วนที่ประเทศไทยได้มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยมิติที่ประเทศไทยได้คะแนนสูงที่สุด คือการมีส่วนร่วมทางการเมือง อยู่ที่ 8.33 คะแนน และสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของประชาชนคนไทยในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในขณะที่มิติด้านสิทธิเสรีภาพกลับเป็นมิติที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยได้เพียง 5.88 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10

อีกหนึ่งเกณฑ์ที่ประเทศไทยได้คะแนนต่ำมากคือ การทำหน้าที่ของรัฐบาล โดยเกณฑ์นี้จะใช้การประเมินคะแนนจากการทำหน้าที่ของสถาบันทางการเมืองว่าตอบสนองความต้องการของประชาชนได้หรือไม่ ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงโจทย์ในการเขียนรัฐธรรมนูญ นอกจากเรื่องการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว อีกภารกิจที่สำคัญมากคือการออกแบบสถาบันทางการเมือง เพราะไม่ว่าอย่างไร เป้าหมายสำคัญที่สถาบันทางการเมืองขาดไม่ได้มีด้วยกันทั้งหมดสามข้อ ได้แก่

ข้อที่หนึ่ง คือ สถาบันทางการเมืองต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและยึดโยงกับประชาชน

ข้อที่สอง คือประสิทธิภาพในการทำงานและตอบสนองประชาชน

ข้อที่สาม คือความโปร่งใส ต้องมีกลไกตรวจสอบการทำงานและถ่วงดุลอำนาจสถาบันทางการเมือง 

“อย่างเรื่องของวุฒิสภา โจทย์ใหญ่ของสถาบันนี้คือเรื่องประชาธิปไตยประชาชน ท้ายที่สุดแล้วประเทศใดก็ตามที่จะมีประชาธิปไตย ถ้าจะจะมีวุฒิสภา อำนาจที่มาต้องสอดคล้องกัน แต่ของประเทศไทยวุฒิสภาอำนาจสูงมาก ทำได้หลายอย่าง ทั้งโหวตนายกฯ ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ที่มามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด”

“การแก้ไขมีสามวิธี หนึ่งคือลดอำนาจ สองคืออำนาจเท่าเดิม แต่วุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และสามคือใช้ระบบสภาเดี่ยว คือตัดวุฒิสภาไปเลย ซึ่งความจริงประเทศที่มีประชาธิปไตยส่วนใหญ่ใช้ระบบสภาเดี่ยว” พริษฐ์กล่าว

คะแนนเหล่านี้จึงนำมาสู่คำถามสำคัญว่า ประเทศไทยจะยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรัดกุมขึ้นได้อย่างไร โดยพริษฐ์เสนอว่า วิธีการที่จะทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครองมากขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยแนวทางที่ผสมผสานกันระหว่างการแก้รัฐธรรมนูญ การแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ หรือแม้กระทั่งกระบวนการบังคับใช้กฎหมายควบคู่ไปด้วยกัน เพื่อสร้างหลักประกันการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

พริษฐ์ วัชรสินธุ
พริษฐ์ วัชรสินธุ

นอกจากนี้ พริษฐ์ยังให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมในเชิงของเนื้อหาสาระ เนื่องจากความหมายของ ‘สิทธิเสรีภาพ’ ครอบคลุมในประเด็นที่กว้างขวาง ซึ่งพริษฐ์เน้นย้ำความสำคัญของสิทธิเสรีภาพในเจ็ดกลุ่มหลัก ได้แก่

กลุ่มแรก คือสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง อันหมายรวมถึงการยกระดับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นที่จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายหลายมาตราซึ่งหลายครั้งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง

“ประเทศไทยจำเป็นต้องแก้หรือปรับปรุงกฎหมายหลายอย่างที่ลิดรอนสิทธิในการแสดงออกในทุกมิติของประชาชน ทั้งมาตรา 116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.การชุมนุม ไปจนถึง พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ หรือกระทั่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ตั้งคำถามต่อการทำงานของรัฐบาล หรือกฎหมายปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาสามารถมีเสรีภาพในการตั้งหัวข้องานวิจัยหรือดำเนินกิจกรรมทางวิชาการได้อย่างมีอิสรภาพ” พริษฐ์ให้ความเห็น

กลุ่มที่สอง คือสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยต้องเน้นย้ำการทบทวนสิทธิตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมไทยมอบความเป็นธรรมอย่างแท้จริงให้กับประชาชน

กลุ่มที่สาม คือการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์พิเศษ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกรณีที่มีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงพิเศษ เช่น ช่วงเวลาวิกฤตที่อาจจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น

กลุ่มที่สี่ คือสิทธิในความเสมอภาคทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมทางเพศในมิติต่างๆ ไปจนถึงความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์ และความเท่าเทียมของผู้พิการ

กลุ่มที่ห้า คือสวัสดิการพื้นฐาน เช่น ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานที่เป็นต่ำ ชั่วโมงการทำงานที่เป็นธรรม สิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพ และครอบคลุมไปถึงสวัสดิการด้านอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน 

กลุ่มที่หก สิทธิในสิ่งแวดล้อม เพราะการมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากการศึกษาและสวัสดิการที่มีคุณภาพแล้ว ยังหมายรวมถึงการมีชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย จึงจำเป็นต้องมีการดูแลอากาศสะอาดและระดับมลพิษในประเทศ โดยเฉพาะฝุ่น pm 2.5 ที่เกิดขึ้นมาหลายปี

กลุ่มที่เจ็ด สิทธิในการเชื่อมโยงกับระบบของรัฐและสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลทั้งด้านงบประมาณและการทำงานของรัฐโปร่งใสและตรวจสอบได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

แน่นอนว่าหลักการเหล่านี้หากแก้ไขในรัฐธรรมนูญได้จะเป็นหลักประกันสำคัญที่สุด แต่พริษฐ์เน้นย้ำว่ามีบางกลุ่มประเด็นที่สามารถแก้ไขในระดับพระราชบัญญัติหรือในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายได้ก่อน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขที่ใช้เวลารวดเร็วกว่า 

มากไปกว่านั้น พริษฐ์ชี้ให้เห็นในส่วนของการแก้ไขระดับรัฐธรรมนูญว่า ท้ายที่สุดแล้ว วัตถุประสงค์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญคือการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทว่าปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 เกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นมีสองส่วนสำคัญ ได้แก่

ส่วนแรก ในรัฐธรรมนูญหมวดที่ 3 ซึ่งระบุเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการใช้ข้อความบางอย่างในบางประการที่อาจไม่รัดกุมนัก ซึ่งกระทบต่อทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ไปจนถึงสิทธิในการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยหากสามารถแก้ไขข้อความในบางมาตราของรัฐธรรมนูญให้รัดกุมขึ้นได้ ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขในระดับรัฐธรรมนูญทันที ดังนั้น หากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มาทบทวนว่าจะเขียนให้รัดกุมและครอบคลุมขึ้นได้มากกว่าปัจจุบัน

ส่วนที่สอง ในมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบุว่า “… สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น…” 

ปัญหาสำคัญที่พริษฐ์ชี้ให้เห็นคือ การที่ความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของรัฐสามารถนำมาตีความได้อย่างกว้างขวาง จึงอาจกลายเป็นข้ออ้างให้รัฐสามารถใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขตในการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และพยายามดึงประเด็นปัญหาต่างๆ เข้ามาอยู่ในหมวดหมู่ความมั่นคงของรัฐได้ทั้งหมด เหล่านี้จึงล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมถกถามและยกขึ้นมาอภิปรายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

เมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นศูนย์รวมอำนาจชนชั้นนำ

จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ด้วยระบบของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้อย่างไม่รัดกุมจนเป็นการเปิดช่องให้มีปัญหา ดังจะเห็นได้จากประเทศไทยมีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่การเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยจึงกลายเป็นปัญหาคาราคาซังที่จำเป็นต้องแก้ไขให้สมบูรณ์อย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพอันเป็นปัจจัยพื้นฐานอย่างมากในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

“เราจะเห็นว่า เสรีภาพในการแสดงออกในแง่มุมต่างๆ ถูกทำลายอย่างรุนแรงตั้งแต่อดีต ในช่วงสิบปีมานี้ยังมีการนำหน่วยงานต่างๆ เข้าไปผนวกรวมกับระบบที่มาจากการยึดอำนาจ กลายเป็นการทำลายเสรีภาพไปอย่างร้ายแรง จนทุกวันนี้ก็ไม่ฟื้นอย่างเต็มตัว หลังเราผ่านยุคเผด็จการมาจึงตระหนักได้ว่าเรื่องสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมากด้านสิทธิมนุษยชน เพราะการเมืองและเรื่องรัฐธรรมนูญไม่เคยเป็นเรื่องไกลตัวในฐานะประชาชนคนหนึ่ง” 

“หลายครั้งการเรียกร้องเกิดจากความไม่พอใจต่อรัฐบาล การทุจริตคอร์รัปชัน การผูกขาดอำนาจ และการที่รัฐธรรมนูญถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการทำให้อำนาจไม่เป็นของประชาชน คือประชาชนกำหนดอะไรไม่ได้เลย รัฐบาลก็ถูกกำหนดโดยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร มี ส.ว. เป็นผู้ชี้ขาด องค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ต่อมากลายเป็นองค์กรที่เป็นกันชนให้คณะรัฐประหาร เหล่านี้คือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและต้องแก้ไขในหลายระดับ” จาตุรนต์กล่าว

เมื่อชี้เฉพาะเจาะจงไปถึงสิทธิในทางการเมืองของประชาชน จาตุรยต์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนถึงกรณีการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ไปจนถึงการการยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของอดีตนักการเมืองอีกหลายต่อหลายคน โดยมักใช้เหตุผลตัดสิทธิในเรื่องการผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งผลพวงที่ตามมาคือบุคคลเหล่านี้จะถูกตัดสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งไปด้วย

“ในทางสากลมันตัดสิทธิการเลือกตั้งประชาชนไม่ได้ แต่ในระบบของประเทศไทยกลับสามารถตัดสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งได้ ร่วมถึงสิทธิทางการเมืองทั้งหมด ซึ่งจริงๆ แล้วการตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเรื่องเดียวกับการตัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก ในการรวมกลุ่ม ในการชุมนุม ในการตรวจสอบภาครัฐ ในจัดตั้งพรรคการเมือง และในเรื่องต่างๆ ทั้งหมดที่สำคัญต่อการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง ซึ่งร้ายแรงมาก”

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขคือ ระบบกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายมีปัญหามาโดยตลอด จาตุรนต์ให้ความเห็นว่า ระบบยุติธรรมของประเทศไทยไม่เชื่อมโยงกับประชาชน เพราะประชาชนไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการได้ ทั้งที่ระบบยุติธรรมคือต้นตอของปัญหามากมายในสังคม ทั้งสิทธิในการประกันตัว การบังคับใช้กฎหมาย ไปจนถึงหลักการในการพิจารณา ทว่าปัจจุบันประชาชนกลับไม่มีสิทธิในการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาล ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความเห็นของประชาชน ดังนั้น การจะแก้ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพในด้านนี้ได้ ต้องมีการเชื่อมโยงการแก้กฎหมาย และต้องเน้นไปที่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ รวมถึงการมอบอำนาจให้ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบและถ่วงดุลองค์กรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล

“เมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน เราจึงควรจะกำกับไว้เลยว่ารัฐบาลไม่อาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ควรไปอยู่ในนโยบายรัฐหรือเขียนกฎหมายมาประกอบกัน มากกว่าจะนำทุกอย่างไปยัดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะการเขียนทุกอย่างไว้ในรัฐธรรมนูญ จะไปเข้าทางกลุ่มที่ไม่ต้องการให้ระบบรัฐสภาและระบบการเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญในการตัดสินใจของประชาชนในประเทศ” จาตุรนต์ให้ความเห็น

จาตุรนต์ ฉายแสง
จาตุรนต์ ฉายแสง

ต่อประเด็นนี้ จาตุรนต์ระบุว่า ประเด็นสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญคือต้องกระชับและใช้ได้จริง เพราะการร่างรัฐธรรมนูญให้ยาวหรือสั้นเกินไปจะข้องเกี่ยวกับวิธีคิดที่วางพื้นฐานมาจากปี 2540 ซึ่งแม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จะมีข้อดีหลายอย่าง ทว่าจุดหนึ่งที่จาตุรนต์เห็นว่าเป็นปัญหาคือ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา หากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญต้องการสร้างสิทธิประโยชน์อย่างไร ก็มักจะนำเอาเรื่องนั้นไปใส่ในรัฐธรรมนูญ จึงกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในการเขียนรัฐธรรมนูญว่า หากผู้มีอำนาจอยากได้อะไรก็ต้องพยายามเข้าไปเขียนในรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นปัญหาอย่างมาก ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญยากกว่าการแก้กฎหมายทั่วไปเสมอ เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านผลประโยชน์ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมักจะหาวิธีขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกทาง

“ที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่กับสภาวะที่ผู้มีอำนาจทั้งกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ กองทัพ ร่วมกันสร้างภาวะที่การเลือกตั้งและการบริหารปกครองที่ล้มเหลว ทั้งยังมีคนกระทำผิดทางกฎหมายได้อย่างไม่จำกัดและไม่ต้องรับการลงโทษ และบ้านเมืองอยู่จะอยู่ภายใต้การปกครองแบบอนาธิปไตย เพื่อที่จะพยายามยัดเยียดภาพจำว่ารัฐบาลที่มาจากพลเรือนไม่อาจบริหารประเทศได้”

“มันเกิดการร่วมมือกันหมดระหว่างฝ่ายยุติธรรม องค์กรอิสระ กองทัพ และกลไกของภาครัฐ ที่เมื่อรู้ว่าอำนาจแท้จริงอยู่ที่ไหน ก็จะร่วมมือกันหมดเพื่อให้รัฐบาลจากพลเรือนบริหารงานไม่ได้ และสร้างความชอบธรรมให้การยึดอำนาจของตนเอง และสร้างกติกาใหม่ทั้งหมด และกันประชาชนออกจากใช้มีอำนาจทางการเมือง”

ท้ายที่สุด ในฐานะของสมาชิกผู้แทนราษฎรจากฝากฝั่งรัฐบาล ซึ่งแม้ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยจะออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่าหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล จะเร่งดำเนินการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้มีการทำประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของพี่น้องประชาชนก่อน โดยจะยกเว้นการแก้ไขในหมวด 1 และ 2 ในขณะที่กระแสจากประชาชนบางส่วนต้องการให้แก้ไขในหมวด 1 และ 2 ทั้งหมดเพื่อป้องกันการสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร

ต่อประเด็นนี้ จาตุรนต์ระบุว่าทางออกที่ดีที่สุดคือการหาจุดร่วมเดียวกันหรือหาตรงกลางที่ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีความเห็นบรรจบในจุดเดียวกันได้ ซึ่งอาจไม่ตรงใจกับทั้งสองฝั่งเสียทั้งหมด แต่เพราะโจทย์สำคัญที่สุดของรัฐบาลคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้อย่างที่รับปากประชาชนไว้ เมื่อเป็นเช่นนั้น รายละเอียดการแก้ไขจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องหารือระหว่างพรรคการเมืองทั้งสองฝั่งต่อไป

“ขณะนี้รัฐบาลพูดไปชัดเจนว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยจะไม่แก้ไขหมวด 1 และ 2 ซึ่งมันเป็นมติพรรค ไม่ใช่มติส่วนตัวของผม”

“แต่ถ้าถามความเห็นผม ผมมองว่าการแก้รัฐธรรมนูญถูกกำหนดให้มีความยากเป็นพิเศษ คือต้องได้เสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 84 คน หรือ 1 ใน 3 นี่อาจจะเป็นเงื่อนไขของพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าออกมาในลักษณะที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ก็แก้ไม่ได้อีก เพราะฉะนั้น รายละเอียดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ยังต้องหารือกันอีกมาก โดยมีโจทย์สำคัญหลักคือ ทำอย่างไรเราจึงจะแก้รัฐธรรมนูญได้ภายใต้จุดร่วมเดียวกัน”

รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดไม่ใช่การแก้ไขฉบับเก่า แต่คือการร่างฉบับใหม่

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมฉายภาพกว้างสถานการณ์ของสิทธิเสรีภาพในสังคมไทยโดยอ้างอิงข้อมูลจาก ‘Freedom House องค์กรวิจัยและสนับสนุนประชาธิปไตย เสรีภาพทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน กับคะแนนความเป็นเสรีภาพทั่วโลก โดยในปีที่ผ่านมาปรากฏว่าประเทศไทยได้ 30 คะแนนจาก 100 คะแนนเต็ม ซึ่งเกณฑ์ในการประเมินแบ่งออกเป็นสองด้าน คือ สิทธิทางการเมือง ประเทศไทยได้ 6 จาก 40 คะแนนเต็ม และเสรีภาพพลเมืองได้ 24 จาก 60 คะแนนเต็ม ซึ่งถือเป็นคะแนนที่ค่อนข้างต่ำ ในปี 2022 ประเทศไทยจึงถูกจัดอยู่ในหมวด ‘ไม่เสรี’ สะท้อนสภาพการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพที่ย่ำแย่ในไทย

สิริพรรณยังตั้งคำถามชวนให้เราร่วมขบคิดว่า “ประเด็นคืออะไรทำให้ประเทศไทยถูกประเมินโดยนานาชาติต่ำขนาดนี้ คือในส่วนของดัชนีประชาธิปไตยเราอาจวิเคราะห์ได้ว่าประเทศไทยมีคะแนนสูงขึ้น เนื่องจากปีนี้เรามีการเลือกตั้ง คะแนนส่วนการส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจึงพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย แต่พอมาดูคะแนนสิทธิเสรีภาพจาก Freedom House ไทยกลับได้คะแนนกลับต่ำมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกันอย่างชัดเจน”

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

ข้อมูลนี้ยังนำมาสู่ประเด็นที่สอง คือเรื่องรัฐธรรมนูญไทย โดยหากพิจารณาจากกรอบโครงสร้างรัฐธรรมนูญ สิริพรรณชี้ให้เห็นว่าหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวดที่ 3 ในรัฐธรรมนูญซึ่งมีตั้งแต่มาตราตั้งแต่ 25-49 หากลงลึกไปยังคุณสมบัติหลักของหมวดเหล่านี้ จะพบว่าเป็นหมวดที่มีเงื่อนไขข้อแม้เยอะมาก เช่น มาตรา 25 เป็นการรับรองสิทธิที่มีข้อแม้เรื่องความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของรัฐ ไปจนถึงข้อยกเว้นอีกมากในรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งหมายความว่าแม้จะกำหนดสิทธิให้ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่หากมีกฎหมายเขียนมายกเว้นก็จะส่งผลให้สิทธินั้นไม่ได้รับการรับรอง นี่คือลักษณะการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งต่างไปจากปี 2540 และ 2550 ค่อนข้างมาก 

ในส่วนของประเด็น จากข้อสะท้อนของผู้เข้าร่วม มีข้อคิดเห็นหนึ่งระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีลักษณะ “ยาวไป” ต่อประเด็นนี้ สิริพรรณขยายความให้เราเห็นว่า ในขณะที่รัฐธรรมนูญของไทยฉบับปี 2560 มีทั้งหมดกว่า 279 มาตรา เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง (bill of rights) เพียง 10 ข้อเท่านั้น แต่สามารถรับรองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในประเทศได้อย่างกว้างขวาง ไปจนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ครั้งที่ 14 (Fourteenth amendment) ซึ่งมีคำหลักคำเดียว คือ ‘equal protection’ 

และต่อมาคำนี้ถูกศาลรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ นำมาตีความเพื่อรับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน การเคารพสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ไปจนถึงความเท่าเทียมของคนผิวดำ ในขณะที่ประเทศไทยเขียนรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพกว่า 25 มาตราจาก 279 มาตรา แต่กลับมีเงื่อนไขและข้อแม้เต็มไปหมด ซ้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนไทยกลับถูกลิดรอนอยู่เสมอ แม้จะมีบทบัญญัติเกี่ยกับการรับรองสิทธิเสรีภาพมากขนาดไหนก็ตาม นี่จึงเป็นอีกกรณีศึกษาที่ประเทศไทยควรนำมาปรับใช้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ดังนั้น เวลาเราพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญที่เข้มแข็งก็สำคัญ แต่เราอาจไม่จำเป็นต้องรับรองทุกอย่างไว้ในรายละเอียด เพราะหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยได้รับการรับรองจริงๆ อยู่ที่สังคมนี่แหละ เพราะสุดท้ายสังคมที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าจะช่วยกดดันให้ผู้ใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริง”

“ในขณะที่องคาพยพของการเมืองไทยหลายอย่างยังทำให้รัฐธรรมนูญมีปัญหามากมาย เมื่อพูดถึงการแก้ไข อยากให้ไปดูคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ของศาลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า รัฐสภามีอำนาจให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน เราอาจนำคำวินิจฉัยนี้เป็นพำนักพิงหรือความชอบธรรมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และต้องเน้นย้ำให้นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ไม่ใช่เพียงแก้ไขฉบับเก่า” สิริพรรณทิ้งท้าย

งานเสวนาสาธารณะ "Youth's Constitution Dialogue: ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ สร้างประชาธิปไตยยั่งยืน"

เรียบเรียง/นำเสนอ

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

ดำเนินรายการ

วรดร เลิศรัตน์

สร้างสรรค์ภาพ

เมธิชัย เตียวนะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Youth's Constitution Dialogue: ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ สร้างประชาธิปไตยยั่งยืน

งานเสวนาสาธารณะ “Youth’s Constitution Dialogue: ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ สร้างประชาธิปไตยยั่งยืน”

101 PUB ชวนเยาวชน-ประชาชนสะท้อนมุมมองและความฝันเรื่อง ‘รัฐธรรมนูญ’ ต่อผู้กำหนดนโยบาย ที่งานเสวนาในวันพุธที่ 1 พ.ย. เวลา 9.30 น. ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

21 October 2023
ปฏิรูปสถาบันทางการเมืองอย่างไรให้ตรงใจเยาวชน?

ปฏิรูปสถาบันทางการเมืองอย่างไรให้ตรงใจเยาวชน?

101 PUB ชวนสำรวจปรากฏการณ์ที่สถาบันการเมืองแทบไม่หลงเหลือความน่าเชื่อถือในสายตาเยาวชน พร้อมทั้งเข้าใจว่าเยาวชนใฝ่ฝันถึงการปฏิรูปในแนวทางอย่างไร ผ่านข้อมูลผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์

เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

101 PUB ชวนทำความเข้าใจ ‘คุณค่า-ทัศนคติ’ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของ ‘เยาวชนไทย’ จากผลสำรวจเยาวชนสองหมื่นคนทั่วประเทศ หาคำตอบว่าพวกเขาคิดฝันอะไร เป็นใคร และมีพฤติกรรมอย่างไร

22 June 2023
1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.