ประเด็นสำคัญ
-
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) วินิจฉัยข้อร้องเรียนหลายกรณี โดยมิได้พิจารณาเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ครบถ้วน อีกทั้งยังวิเคราะห์และใช้ดุลพินิจตีความปัญหาอย่างไม่เหมาะสมและไม่คงเส้นคงวากับกรณีในอดีต ทั้งในประเด็นนิยามตลาด ผลกระทบของการควบรวมธุรกิจ และเงื่อนไขการควบรวมธุรกิจที่ กขค. ควรกำหนด
-
กระบวนการวินิจฉัยของ กขค. ในหลายกรณีใช้ดุลพินิจโดยขาดหลักฐานเชิงประจักษ์มาสนับสนุน รวมถึงเน้นวินิจฉัยความผิดเท่าที่มีการร้องเรียน แม้พฤติกรรมหนึ่งๆ จะส่งผลกระทบและมีความผิดกว้างกว่าที่ถูกร้องเรียน
-
กขค. ควรวิเคราะห์ปัญหาบนหลักวิชาการตามมาตรฐานสากล นำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับ รวมถึงเผยแพร่คำอธิบายการวิเคราะห์และหลักฐานเหล่านั้นโดยละเอียดในคำวินิจฉัย นอกจากนี้ ยังควรทุ่มทรัพยากรอันมีอยู่จำกัด ในการพิจารณาข้อร้องเรียนที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างมีนัยสำคัญมากกว่า
งานศึกษาชิ้นนี้เป็นการศึกษาและติดตามการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ผ่านการศึกษาเอกสารคำวินิจฉัยที่คัดเลือกมาบางส่วน โดยวิเคราะห์ประเด็นทางวิชาการของคำตัดสิน 2 ประเด็น และประเด็นกระบวนการทำงาน 2 ประเด็น วัตถุประสงค์ของงานศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการถกเถียงถึงความถูกต้องหรือผิดพลาดของคำวินิจฉัย แต่เป็นการชี้ประเด็นปัญหา ทั้งเชิงวิชาการและเชิงกระบวนการทำงาน ที่อาจส่งผลต่อการวิเคราะห์ผลกระทบ การใช้ดุลยพินิจ และคำวินิจฉัย
การวิเคราะห์ประเด็นทางวิชาการจะศึกษาการใช้ดุลยพินิจ การใช้ (หรือการไม่ใช้) หลักฐานเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ในการพิจารณาที่ครบถ้วน รวมถึงปัญหาการกำหนดนิยามตลาดผ่านกรณีศึกษา กรณีสมาคมการค้าทองคำร่วมกำหนดราคาซื้อขาย และกรณีการขอรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งเปรียบเทียบกรณีศึกษาจากคำวินิจฉัยของหน่วยงานกำกับดูแลต่างประเทศ และหลักฐานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง
ในการวิเคราะห์ประเด็นด้านกระบวนการทำงาน งานศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าในหลายกรณี คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามิได้นำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนเพียงพอในการวิเคราะห์ ซึ่งเมื่ออ่านตามเอกสารคำวินิจฉัยจะพบการใช้ดุลยพินิจที่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่ขาดหลักฐานสนับสนุน (arbitrary) จำนวนมาก ตัวอย่างของเอกสารคำวินิจฉัยในกรณีนี้ ได้แก่ กรณีการขอรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และกรณี ผลการพิจารณาคําขออนุญาตรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัท ซ. และบริษัท อ.
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพิจารณาความผิดตามคำร้องเรียน แต่ในความเป็นจริงพฤติกรรมการกระทำผิดอาจมีผลเสียหายในวงที่กว้างกว่ากรณีที่มีการร้องเรียน และกระทบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียน ในกรณีนี้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าอาจจะต้องประเมินขอบเขตความเสียหาย กำหนดมูลค่าความเสียหาย และอัตราค่าปรับที่ได้สัดส่วน สอดคล้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เนื้อหาส่วนท้ายของรายงานชิ้นนี้เป็นข้อเสนอทั้งเชิงวิชาการและเชิงกระบวนการทำงานที่ได้จากการศึกษาเอกสารคำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า