ตรวจก่อนเข้าปาก ย้อนถึงแปลงปลูก: ยกระดับความปลอดภัยอาหารด้วยการตรวจสอบย้อนกลับ

101 PUB

11 November 2024

ราคาองุ่นไชน์มัสแคท หนึ่งในตัวเลือกยอดนิยมบนแผงผลไม้ทั่วไทย ดิ่งลงจากแพ็กละหลายร้อยบาทเหลือแพ็กละ 10 บาทภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์[1]ข่าวสด. 2024. ‘ลดราคาแรง องุ่นไชน์มัสแคท แพ็กละ 10 บาท หลังตรวจเจอสารพิษตกค้าง’. ข่าวสด. 1 November 2024. https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_9486576. หลังจากมีการตรวจพบสารพิษตกค้างเกินเกณฑ์ ในแหล่งจำหน่ายในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเมื่อเดือนตุลาคม 2024 เนื่องจากผู้บริโภคทั่วประเทศต่างไม่มั่นใจ พากันหลีกเลี่ยงองุ่นชนิดนี้จนสินค้าเหลือเต็มแผง

จะดีแค่ไหนหากเราสามารถระบุได้ว่าของล็อตที่มีปัญหา คือลังไหนบ้าง มาจากผู้ส่งรายใด จากตู้คอนเทนเนอร์ไหน ย้อนไปจนถึงแปลงปลูกใดของไร่ต้นทาง จากนั้นเรียกคืนสินค้าส่วนนั้นออกจากตลาดได้อย่างแม่นยำ กลไกดูแลความปลอดภัยอาหารเช่นนี้เรียกว่าการตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) มาตรฐานสากลที่ใช้สร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้บริโภคและผู้ค้าทั่วโลก 

ระบบตรวจตราความปลอดภัยอาหารของไทยเป็นอย่างไรในปัจจุบัน ตรวจสอบย้อนกลับได้แค่ไหน จุดใดที่ต้องอุดช่องโหว่ จุดใดที่ต้องเติมศักยภาพ เพื่อปกป้องท้องไส้คนไทยจากสารพิษตกค้างตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร จากแปลงปลูก จากฟาร์ม มาจนถึงร้านตามสั่งปากซอยบ้านเรา 101 PUB ชวนผู้อ่านแกะรอยไปด้วยกันในบทความจานนี้

การตกค้าง-ปนเปื้อนเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน

วัตถุดิบในอาหารแต่ละอย่างต่างมีที่มาที่ไปหลากหลาย มาจากหลายสวน หลายฟาร์ม หลายท่าเรือ จากทั้งในประเทศและนำเข้า ผักผลไม้และเนื้อสัตว์แต่ละชนิดถูกรับซื้อและผ่านขั้นตอนการคัดแยก แบ่งบรรจุ แปรรูป และขนส่งที่แตกต่างกันออกไปกว่าจะมาถึงมือผู้บริโภค ในทุกขั้นตอนที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่มีโอกาสที่จะเกิดการปนเปื้อนสารเคมีและจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลง ยากำจัดโรคพืชที่ตกค้างมาจากแหล่งผลิต สารเคมีที่ใช้ระหว่างขนส่งเพื่อทำให้สินค้าดูสดใหม่ สารที่เติมลงในกระบวนการแปรรูป เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากเก็บรักษาที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ฯลฯ สินค้าเกษตรที่ผลิตหรือขนส่งได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานในขั้นตอนหนึ่งจึงอาจมีโอกาสปนเปื้อนได้อีกเสมอในขั้นตอนถัดมา การตรวจสอบความปลอดภัยจึงต้องทำตั้งแต่ในแหล่งผลิต มาจนถึงจุดจำหน่ายอาหาร

การคัดแยกและแบ่งบรรจุผลไม้
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยอาหารไม่น้อยกว่า 10 แห่ง หน่วยงานหลักคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจกรองสินค้าเกษตรและอาหารตั้งแต่ในขั้นตอนนำเข้าที่ชายแดน เป็นผู้ออกใบอนุญาตสถานที่นำเข้าและผลิตอาหาร อนุมัติสูตรและขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในการดูแลความปลอดภัยอาหารตั้งแต่ในแหล่งผลิต อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกอช.) ไปจนถึงการสุ่มตรวจตัวอย่างสินค้าร่วมกับสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนการควบคุมมาตรฐานแหล่งจำหน่ายอาหารเป็นหน้าที่ของสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ สังกัดกรมอนามัย และกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ

แม้จะมีหน่วยงานตรวจความปลอดภัยอาหารในทุกขั้นตอน ทว่าเราก็ยังคงเห็นข่าวสารพิษตกค้าง-ปนเปื้อนในอาหารอยู่บ่อยครั้ง หมายความว่าระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจยังมีช่องโหว่หรือยังไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งอาจต้องแกะรอยกันไปทีละขั้น ตั้งแต่การตรวจสอบแหล่งผลิต แหล่งแบ่งบรรจุและแปรรูป และแหล่งจำหน่าย

การสุ่มตรวจอาหารนำเข้ายังทำได้น้อย

อาหารสดและผลิตภัณฑ์อาหารที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยจะต้องผ่านการตรวจสอบโดยกองด่านอาหารและยา ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของอย. มีสำนักงานอยู่ในท่าอากาศยาน ท่าเรือ และด่านชายแดน 52 แห่ง 

สินค้าจำพวกผักผลไม้จะถูกจำแนกเป็น 3 ระดับตามความเสี่ยงที่เคยมีการตรวจพบสารพิษตกค้าง โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก (very high risk) จะถูกตรวจเข้มงวดเป็นพิเศษ รายการตรวจสอบในปี 2024 แสดงให้เห็นว่าสินค้าเสี่ยงสูงมากที่ไม่ผ่านมาตรฐานมาจากประเทศจีนมากถึง 88.1% แต่ก็จะเห็นว่าผักผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างก็อาจเดินทางมาจากประเทศต้นทางที่มีความเข้มงวดอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ได้เช่นกัน การนำเข้าจากจีนที่มีปริมาณมากจึงอาจทำให้มีโอกาสตรวจพบมากตามไปด้วย สิ่งที่ต้องถามต่อมาก็คือ เราสามารถสุ่มตรวจได้เป็นปริมาณมากน้อยเพียงใด?

อย.ระบุว่าในปี 2024 มีการเก็บตัวอย่างผักผลไม้ส่งห้องปฏิบัติการที่ด่านอาหารและยา 506 ตัวอย่าง พบไม่ผ่านมาตรฐาน 177 ตัวอย่าง และยังมีรายการที่รอตรวจสอบอีกกว่า 10,000 ตัวอย่าง[2]Thai PBS. 2024. ‘อย.สุ่มตรวจซ้ำ “องุ่นไชน์มัสแคท” กลุ่มเดียวกับ “ไทยแพน”’. Thai PBS. 2024. https://www.thaipbs.or.th/news/content/345743. แสดงให้เห็นว่าศักยภาพการตรวจในปัจจุบันยังทำได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการเฝ้าระวัง 

โอกาสที่สินค้าซึ่งไม่ได้มาตรฐานจะเล็ดลอดเข้ามาในไทยไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะผักและผลไม้ ในแต่ละปีไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารและยารวมกันมากกว่า 1 ล้านรายการ โดยในปี 2024 มีการนำเข้ารวม 1,060,171 รายการ มีการสุ่มตรวจทั้งสิ้น 9,020 รายการ หรือคิดเป็นเพียง 0.8%[3]กองด่านอาหารและยา. 2024. คำนวนโดย 101 PUB ขณะที่หากเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งมีการนำเข้าอาหารราว 1.2 ล้านรายการในปีเดียวกัน มีการสุ่มตรวจ 100,200 รายการ หรือมากถึง 8.5%[4]สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว. 2024. ‘แผนการเฝ้าระวังและชี้แนะอาหารนำเข้าประจำปีงบประมาณญี่ปุ่น 2567 (เมษายน 2567 – มีนาคม 2568)’.

ไทยสุ่มตรวจแผงผักผลไม้จำนวนมากแต่อาจยังไม่ละเอียดพอ

ในปี 2023 ไทยสุ่มตรวจผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ในแหล่งจำหน่ายจำนวน 142,315 รายการ ในจำนวนนี้เป็นการตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้กว่า 60 ชนิด รวม 61,723 รายการ พบสินค้าไม่ผ่านมาตรฐาน 698 รายการหรือ 1.1%[5]สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย. 2023. ‘รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหาร ปีงบประมาณ พ.ศ 2566’. สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย.  โดยสาเหตุที่ตรวจได้เป็นจำนวนมากมาจากการใช้ชุดตรวจแบบพกพา (test kit) ที่พัฒนาขึ้นโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถใช้ตรวจหาสาร 4 กลุ่มหลักคือ ออร์กาโนฟอสเฟส, คาร์บาเมท, ออร์แกโนคลอรีน และไพเรทรอยด์ ซึ่งช่วยคัดกรองได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ละเอียดเท่าการวิเคราะห์หาสารพิษในห้องปฏิบัติการ

ชุดตรวจสารเคมีกำจัดแมลงที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม

การตรวจหาสารพิษในห้องปฏิบัติการด้วยวิธี Multi Residue Screen ที่สอดคล้องกับมาตรฐานของสหภาพยุโรปจะต้องตรวจหาสารได้มากถึงราว 500 ชนิดรวม 10 กลุ่ม[6]European Commission. 2024. ‘Analytical Quality Control and Method Validation Procedures for Pesticide Residues Analysis in Food and Feed’. 5 September 2024. https://www.eurl-pesticides.eu/docs/public/tmplt_article.asp?CntID=727. ปัจจุบันห้องปฏิบัติการณ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สามารถตรวจด้วยวิธีดังกล่าวมีอยู่ 15 แห่งทั่วประเทศ โดยอาจมีสมรรถนะแตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง รวมกันแล้วสามารถตรวจเฝ้าระวังได้ราวปีละ 3,000 ตัวอย่าง[7]กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 2017. ‘กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในผักสดและผลไม้สด – สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร’. 16 มิถุนายน … Continue reading ซึ่งเป็นปริมาณที่ใกล้เคียงกับการสุ่มตรวจในสหรัฐอเมริกา[8]FDA. 2024. ‘FDA Releases FY 2022 Pesticide Residue Monitoring Report’. FDA, September. https://www.fda.gov/food/hfp-constituent-updates/fda-releases-fy-2022-pesticide-residue-monitoring-report. และสหราชอาณาจักร[9]Food Standards Agency. 2024. ‘Surveillance Sampling Programme’. 14 June 2024. https://doi.org/10.46756/sci.fsa.dgj755. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสินค้าเกษตรไทยมีความหลากหลายของพันธ์ุพืชสูงมาก การเฝ้าระวังในปัจจุบันจึงเป็นการมุ่งเน้นไปยังกลุ่มพืชเป้าหมายคราวละ 200-300 ตัวอย่างเช่น การสุ่มตรวจผลไม้มงคลในช่วงเทศกาล[10]กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 2022. ‘กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังอันตรายจากสารตกค้างที่มากับ “ผลไม้มงคล” แนะล้างทำความสะอาดก่อนบริโภค’. 2022. https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1458.

ตรวจเจอสารพิษ แต่ติดตามหาต้นตอยังไม่ง่าย

สินค้าเกษตรไม่ว่าจากแหล่งผลิตในประเทศหรือนำเข้า ล้วนผ่านขั้นตอนของการรับซื้อจากผู้ปลูก-เลี้ยง นำสินค้ามาคัดแยกแบ่งเกรดหลายต่อหลายทอด กว่าจะมาถึงตลาดค้าส่งและโรงงานแปรรูป สินค้าจากผู้ผลิตหลายรายจึงอาจปะปนกันจนยากที่จะระบุที่มาได้อย่างแน่ชัด

ในระยะหลายปีมานี้ การตระหนักถึงแหล่งที่มาของอาหารเริ่มถูกให้ความสำคัญมากขึ้น เราจะเห็นการแสดงข้อมูลแหล่งผลิตบนสินค้าของห้างโมเดิร์นเทรดซึ่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลการขนส่งของบริษัทได้อย่างครบถ้วนไปจนถึงแหล่งผลิต นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงได้ผ่านระบบการตรวจสอบคุณภาพของอย. ที่มีการขึ้นทะเบียนสถานที่ผลิตอาหารอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม อาหารสดส่วนใหญ่ในท้องตลาดยังคงไม่ได้ถูกเก็บบันทึกข้อมูลเหล่านี้บนบรรจุภัณฑ์ ดังนั้นต่อให้มีการตรวจพบสารพิษตกค้างในอาหาร แต่การติดตามควบคุมสถานการณ์มักทำได้อย่างจำกัด โดยอาจสืบย้อนไปได้เพียงว่าสินค้าดังกล่าวมาจากผู้ค้าคนกลางรายใด แต่ไม่สามารถระบุต่อไปได้ว่าสินค้าล็อตดังกล่าวถูกคัดแยกหรือแบ่งบรรจุอย่างไร ก็เป็นการยากที่จะสืบย้อนขึ้นไปจนถึงต้นทาง

ที่มา: The 101.World

อาหารต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งผลิต (Traceability)

การทำให้อาหารตรวจสอบย้อนกลับได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของการบรรจุสินค้าลงหีบห่อแล้วติดข้อมูลให้ผู้บริโภคสืบค้นได้แบบในห้างสรรพสินค้าเสมอไป ที่จริงแล้วผู้ค้าในตลาดสดมักแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้กับลูกค้าอยู่เสมอ (อาจละเอียดไปจนถึงเรื่องชีวิตส่วนตัวของผู้คนในกระบวนการผลิตด้วย) แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราจะรักษาความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ไปให้ตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร

หลักการพื้นฐานของการตรวจสอบย้อนกลับคือการสร้างระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ผลิตในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผู้ผลิตทุกคนมีระบบบันทึกข้อมูลกระบวนการภายในของตนเองและส่งผ่านวัตถุที่ติดตามได้ (traceable object) ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของกล่อง ลัง ตระกร้า เข่งผลไม้ ฯลฯ วัตถุเหล่านี้จะเป็นตัวกลางที่ส่งต่อข้อมูลจากแหล่งผลิตลงไปเป็นทอดๆ 

ตัวอย่างเช่น เกษตรกรจะต้องระบุข้อมูลสถานที่และเวลาที่ผลิตแก่ผู้รับซื้อ จากนั้นเมื่อมีการคัดแยก แบ่งบรรจุ หรือแปรรูป ผู้ผลิตในขั้นกลางจะต้องบันทึกว่าในล็อตการผลิตนั้นใช้สินค้าจากแหล่งใดบ้าง จากนั้นระบุข้อมูลล็อตการผลิตลงบนกล่อง ลัง เข่ง ฯลฯ ที่ส่งต่อให้ผู้กระจายสินค้า เมื่อไปถึงผู้ค้าปลีก จะต้องมีการเก็บบันทึกข้อมูลการรับสินค้าว่ามาจากรถคันไหน ในช่วงเวลาใด 

กล่าวโดยสรุปคือ ในระบบนี้ ทุกคนจะต้องบอกได้ว่าตนเองรับของมาจากใคร จัดการของอย่างไร และส่งข้อมูลนั้นแก่ผู้ผลิตรายถัดไปในห่วงโซ่แบบ ‘1 ข้อบน 1 ข้อล่าง’ ร้านอาหารไม่จำเป็นต้องทราบว่าผลไม้ลังหนึ่งมาจากสวนไหน เพียงแค่ระบุให้ได้ว่ามาจากการขนส่งล็อตใด โดยรถคันไหน เมื่อตรวจพบปัญหาจึงเริ่มกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับไปหาผู้ส่ง ระบุลังสินค้า ย้อนไปหาผู้บรรจุ ระบุเข่งผลไม้ ย้อนกลับไปถึงผู้ผลิตซึ่งจะระบุได้ถึงแปลงปลูก โดยทุกคนจะต้องรักษาข้อมูลเหล่านี้ไว้จนกว่าจะแน่ใจได้ว่าสินค้านั้นได้ถูกบริโภคจนหมดไป

ตรวจย้อนกลับได้ ปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและผู้ค้า

ภายใต้ระบบที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ ภาระรับผิดชอบต่อความผิดพลาดในการผลิตที่ทำให้วัตถุดิบ/อาหารปนเปื้อนจะถูกกระจายไปสู่ผู้ผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่ ทุกคนจึงต้องยกระดับความปลอดภัยของกระบวนการผลิตอาหารให้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ผู้บริโภคเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากระบบนี้ เพราะในเวลาเดียวกัน เมื่อระบุได้ว่าสาเหตุของการปนเปื้อนเกิดที่ขั้นตอนไหนในล็อตใด ผู้ผลิตในขั้นถัดลงมาก็สามารถระบุและเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหาได้อย่างแม่นยำ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจที่จะเลือกซื้อสินค้าในล็อตที่ปลอดภัยต่อไป ระบบที่ช่วยให้การควบคุมความเสียหายได้ดีจึงเป็นผลดีต่อทั้งคนกินและคนขาย

นอกจากนี้ การบรรลุมาตรฐานสากลของการตรวจสอบย้อนกลับได้ ยังช่วยให้การส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศทำได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันมีไทยมีสำนักงานขององค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่เป็นผู้ออกหมายเลขบาร์โค้ดเพื่อใช้บ่งชี้สินค้าในห่วงโซ่อาหารระดับโลก เช่น สถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) องค์กรไม่แสวงกำไรที่ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีมาตรฐานที่รองรับการใช้งานในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก[11]GS1 Thailand. 2024. ‘สถาบันรหัสสากล GS1 Thailand – The Global Language of Business’. 1 พฤศจิกายน 2024. https://www.gs1th.org/.

อาหารปลอดภัย ต้องตรวจให้เหมือนกินเอง
แต่ศักยภาพรัฐไทยอาจยังไม่พอ

เงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งจะทำให้กลไกการตรวจสอบย้อนกลับทำงานได้ คือการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารที่จุดจำหน่ายปลายน้ำที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุด ตรวจประหนึ่งเป็นผู้บริโภคเสียเอง โดยสุ่มตรวจอาหารที่ประชาชนทั่วไปบริโภคในชีวิตประจำวัน เพราะหากไม่มีการตรวจพบ การแกะรอยย้อนกลับก็ย่อมไม่เกิด การเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในจุดนี้เอง จะเป็นกลไกที่ผลักดันให้ผู้ผลิตแต่ละรายเรียกร้องซัพพลายเออร์ของตนให้ส่งมอบข้อมูลอาหารลงมา ย้อนกลับขึ้นไปเป็นทอดๆ 

ทว่าเมื่อย้อนกลับมาพิจารณากลไกลการทำงานของหน่วยงานรัฐไทย จะเห็นว่าแม้จะมีหลายจุดที่ตอบสนองต่อแนวคิดความปลอดภัยอาหารได้ดี ทว่ายังต้องได้รับการเติมศักยภาพทั้งในเชิงบุคลากร งบประมาณ และอำนาจในการกำกับดูแลผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่ให้เกิดกลไกตรวจสอบย้อนกลับขึ้นได้

ในปัจจุบัน หน่วยงานหลักด้านความปลอดภัยอาหารของไทยอย่างอย. มีบุคลากรเพียง 1,704 คน คิดเป็นสัดส่วน 2.6 คนต่อประชากรแสนคน โดยหากเทียบกับ Food and Drug Administration (FDA) ของสหรัฐอเมริกา จะพบว่ามีกำลังคนถึง 19,224 คน คิดเป็น 5.6 คนต่อประชากรแสนคน เป็นอัตราที่สูงกว่าไทยกว่า 2 เท่า FDA สหรัฐทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกอาหารโดยตรงกว่า 3,000 หน่วยงาน ตรวจสอบและกำกับสถานที่จำหน่ายอาหารรวมกว่า 1 ล้านแห่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านขายของชำ ตู้กดอัตโนมัติ ไปจนถึงโรงอาหารในโรงเรียนและเรือนจำ[12]FDA. 2024. ‘Inspections to Protect the Food Supply’. FDA. 29 August 2024. https://www.fda.gov/food/compliance-enforcement-food/inspections-protect-food-supply.

หลักเกณฑ์การสุ่มตรวจสถานที่จำหน่ายอาหารในสหรัฐอเมริกาถูกกำกับโดยระดับความเสี่ยงของสถานที่นั้นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ชนิดของอาหารที่ขาย ประวัติการถูกร้องเรียน[13]Food and Drug Administration. 2014. ‘FDA’s Draft Approach for Designating High-Risk Foods  as Required by Section 204 of FSMA’. โดยกลุ่มเสี่ยงสูงถูกกำหนดให้มีการสุ่มตรวจขั้นต่ำ 1 ครั้งภายในระยะเวลา 3 ปี ส่วนกลุ่มที่ไม่เสี่ยงสูงกำหนดให้เกณฑ์ขั้นต่ำอยู่ที่ 1 ครั้งภายในระยะเวลา 5 ปี แต่ในความเป็นจริง ร้านอาหารมักถูกสุ่มตรวจมากถึงราว 1-4 ครั้งต่อปีขึ้นอยู่กับศักยภาพของหน่วยงานในพื้นที่

ทรัพยากรบุคคลของไทยซึ่งมีไม่มากนักทำให้การทำงานของอย. ในปัจจุบันยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการกำกับดูแลในท้องที่มากที่ควร การสุ่มตรวจร้านอาหารเป็นหน้าที่ของสำนักสาธารณสุขจังหวัด และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งพบว่าในปี 2023 มีการสุ่มตรวจสถานที่จำหน่ายอาหาร ตลาดนัด ตลาดสด ร้านอาหารริมบาทวิถี รวม 30,126 แห่งเท่านั้น ซึ่งอาจคิดเป็นเพียงราว 4.4% ของร้านอาหารทั้งประเทศ[14]จำนวนร้านอาหารทั่วประเทศ 6.8 แสนแห่ง คาดการณ์โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คำนวนโดย 101 PUB จำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมสุขาภิบาลอาหารของรัฐ อาทิ Clean Food Good Taste, Street Food Good Health ฯลฯ จึงอาจพูดไม่ได้เต็มปากนักว่าเป็นการสุ่มตรวจอย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากข้อจำกัดด้านทรัพยากรในการดำเนินการเฝ้าระวัง ข้อจำกัดสำคัญอีกประการของอย.ไทย คืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งในปัจจุบันแม้จะมีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 แต่ยังทำได้เพียงแค่ยึดหรืออายัดอาหารที่ได้ตรวจพิสูจน์แล้วว่าไม่ปลอดภัย ทว่ายังไม่สามารถบังคับเรียกคืนสินค้า (mandatory recall) ได้ รวมถึงยังขาดอำนาจในการกำกับทิศทางการสร้างความปลอดภัยอาหารของหน่วยงานอื่นๆ 

ตัวอย่างของการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกระดับความปลอดภัยอาหารที่น่าสนใจคือกรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการตรากฎหมาย Food Safety Modernization Act ในปี 2011 ที่เพิ่มอำนาจให้แก่ FDA อย่างกว้างขวาง อาทิ อำนาจในการบังคับเรียกคืนสินค้า กักสินค้า ขยายขอบเขตในการกำกับดูแลให้ครอบคลุมตั้งแต่แหล่งผลิตมาจนถึงแหล่งจำหน่าย ให้อำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ในการสุ่มตรวจที่แน่ชัด รวมถึงตั้งเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการณ์ และหน่วยงานท้องถิ่นให้บรรลุเป้าหมายนั้น ให้อำนาจเข้าถึงบันทึกข้อมูลและแผนความปลอดภัยอาหารของผู้ผลิต ฯลฯ หลักการสำคัญของกฎหมายนี้คือการทำให้ FDA กลายเป็นเจ้าภาพที่รวมศูนย์การทำงานด้านความปลอดภัยอาหารเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ภายหลังที่กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ FDA ทยอยออกระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยอาหารออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือน กันยายน 2024 เพิ่งมีการออกข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ (Requirements for Additional Traceability Records for Certain Foods) ให้ผู้ผลิตต้องส่งมอบข้อมูลแก่ FDA ภายใน 24 ชม. เพื่อให้การเรียกคืนสินค้าสามารถทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งกำหนดเส้นตายให้ผู้ผลิตต้องประสานงานกับคู่ค้าให้ลุล่วงภายในเดือนมกราคม 2026[15]Food and Drug Administration. 2024. ‘FSMA Final Rule on Requirements for Additional Traceability Records for Certain Foods’. FDA, October. https://www.fda.gov/food/food-safety-modernization-act-fsma/fsma-final-rule-requirements-additional-traceability-records-certain-foods.

การสร้างระบบอาหารปลอดภัยที่เข้มแข็งเป็นเรื่องใหญ่ไปกว่าการติดตามตรวจสอบผักผลไม้รายกลุ่มไปเป็นครั้งคราว กรณีสารตกค้างขององุ่นที่เกิดขึ้นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของปัญหาความปลอดภัยอาหารทั้งระบบซึ่งควรต้องตั้งหลักทบทวนกันให้ดีว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักอย่างอย.ควรต้องปรับรูปแบบการทำงาน ได้รับการเสริมศักยภาพทางด้านงบประมาณ บุคลากรและขยายขอบเขตอำนาจอย่างไรบ้างจึงจะบรรลุเป้าหมายในการสร้างระบบคุ้มครองที่ปกป้องผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที ตรวจพบสารพิษตั้งแต่ก่อนเข้าปาก และติดตามย้อนกลับได้ถึงแปลงปลูก

References
1 ข่าวสด. 2024. ‘ลดราคาแรง องุ่นไชน์มัสแคท แพ็กละ 10 บาท หลังตรวจเจอสารพิษตกค้าง’. ข่าวสด. 1 November 2024. https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_9486576.
2 Thai PBS. 2024. ‘อย.สุ่มตรวจซ้ำ “องุ่นไชน์มัสแคท” กลุ่มเดียวกับ “ไทยแพน”’. Thai PBS. 2024. https://www.thaipbs.or.th/news/content/345743.
3 กองด่านอาหารและยา. 2024. คำนวนโดย 101 PUB
4 สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว. 2024. ‘แผนการเฝ้าระวังและชี้แนะอาหารนำเข้าประจำปีงบประมาณญี่ปุ่น 2567 (เมษายน 2567 – มีนาคม 2568)’.
5 สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย. 2023. ‘รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหาร ปีงบประมาณ พ.ศ 2566’. สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย.
6 European Commission. 2024. ‘Analytical Quality Control and Method Validation Procedures for Pesticide Residues Analysis in Food and Feed’. 5 September 2024. https://www.eurl-pesticides.eu/docs/public/tmplt_article.asp?CntID=727.
7 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 2017. ‘กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในผักสดและผลไม้สด – สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร’. 16 มิถุนายน 2017. http://bqsf.dmsc.moph.go.th/bqsfWeb/index.php/2017/06/16/pesticide/.
8 FDA. 2024. ‘FDA Releases FY 2022 Pesticide Residue Monitoring Report’. FDA, September. https://www.fda.gov/food/hfp-constituent-updates/fda-releases-fy-2022-pesticide-residue-monitoring-report.
9 Food Standards Agency. 2024. ‘Surveillance Sampling Programme’. 14 June 2024. https://doi.org/10.46756/sci.fsa.dgj755.
10 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 2022. ‘กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังอันตรายจากสารตกค้างที่มากับ “ผลไม้มงคล” แนะล้างทำความสะอาดก่อนบริโภค’. 2022. https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1458.
11 GS1 Thailand. 2024. ‘สถาบันรหัสสากล GS1 Thailand – The Global Language of Business’. 1 พฤศจิกายน 2024. https://www.gs1th.org/.
12 FDA. 2024. ‘Inspections to Protect the Food Supply’. FDA. 29 August 2024. https://www.fda.gov/food/compliance-enforcement-food/inspections-protect-food-supply.
13 Food and Drug Administration. 2014. ‘FDA’s Draft Approach for Designating High-Risk Foods  as Required by Section 204 of FSMA’.
14 จำนวนร้านอาหารทั่วประเทศ 6.8 แสนแห่ง คาดการณ์โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คำนวนโดย 101 PUB
15 Food and Drug Administration. 2024. ‘FSMA Final Rule on Requirements for Additional Traceability Records for Certain Foods’. FDA, October. https://www.fda.gov/food/food-safety-modernization-act-fsma/fsma-final-rule-requirements-additional-traceability-records-certain-foods.

วิจัย/เขียน

สรัช สินธุประมา

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

สว. ในรัฐประชาธิปไตย มีอำนาจยับยั้งกฎหมายแค่ไหน?

สว. ในรัฐประชาธิปไตย มีอำนาจยับยั้งกฎหมายแค่ไหน?

101 PUB ชวนสำรวจอำนาจกลั่นกรอง-ยับยั้งร่างกฎหมายของ สว. ในรัฐประชาธิปไตยคุณภาพดี เป็นบทเรียนสำหรับไทยในการคิดปฏิรูป สว. ให้มีบทบาทในกระบวนการนิติบัญญัติและระบบการเมืองอย่างเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น

Quick win แล้วสิ้นใจ?: ประคับประคองศูนย์ชีวาภิบาลอย่างไรให้อยู่รอด?

นโยบายชีวาภิบาลกำลังเผชิญปัญหารอบด้านเพราะการเร่งทำให้ถึงเป้าหมาย Quick win 100 วันแรก คิด for คิดส์ ชวนอ่านความท้าทายของนโยบายตายดีที่กำลังจะตายเสียเอง

ปราบมิจฯ ให้อยู่หมัด ต้องมอบหน้าที่ให้ธุรกิจร่วมรับผิดชอบ

ทำไมมิจฉาชีพยังลอยนวลหลอกหลอนคนไทยไม่เว้นวัน? แล้วต่างประเทศทำอย่างไรถึงปราบมิจฉาชีพได้อยู่หมัด?

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.