เรื่องของนิ่ม เยาวชน และคนที่ถูกทอดทิ้งจากระบบ: เมื่อไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้

นิ่มเป็นหญิงสาววัย 17 ปี ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเธอกับคนรักแจ้งความว่า ‘น้องต่อ’ ลูกชายวัยแปดเดือนของเธอหายตัวไป และหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตามสืบคดีอย่างไม่ลดละ แม้จะยังไม่พบตัวเด็กชาย แต่สังคมก็ได้รู้เรื่องอันชวนหัวใจสลายอีกด้านของนิ่มว่าเธอเป็นหนึ่งในเหยื่อถูกพรากผู้เยาว์ หรือแม้แต่ถูกสามีส่งไปขายบริการให้แก่คนอื่น

เรื่องราวของ ‘น้องต่อ’ และ ‘นิ่ม’ กินพื้นที่ทุกหน้าสื่อ เรื่องระหว่างเธอกับคดีของลูกชายนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้และไม่อาจมองข้ามคือเรื่องที่ว่า เธอเป็นเยาวชน และจากคำให้สัมภาษณ์ของเธอกับมูลนิธิกระจกเงา -การเติบโตมาโดยไร้บ้าน, ครอบครัวมีปัญหา, แม่ป่วยไข้หนัก รวมทั้งการถูกเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง- ไม่เกินเลยนักหากจะบอกว่านิ่มเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ถูกสังคมนี้ทอดทิ้งเช่นกัน 

ในยุคสมัยที่ ‘ปัญหาสุขภาพจิต’ ถูกพูดถึงมากขึ้นเป็นวงกว้าง ทว่า จิตแพทย์ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกและแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวกลับขาดแคลน อ้างอิงจากสถิติปี 2022 พบว่าประเทศไทยมีจิตแพทย์ 845 คนหรือคิดเป็นอัตราส่วน 1.28 คนต่อประชากร 100,000 คน 

ยังไม่ต้องพูดถึงจิตแพทย์เด็กที่มีเพียง 295 คน -มากไปกว่านั้น ยังทำงานอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 111 คนหรือนับเป็นอัตราส่วน 1 ใน 3 ของจิตแพทย์เด็กทั้งหมด เท่ากับว่า หลายจังหวัดในประเทศไทยยังขาดจิตแพทย์เด็กไปประจำการ

ใช่หรือไม่ ว่านี่คือภาพสะท้อนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในไทยด้วยเช่นกัน และนิ่มก็อาจเป็นหนึ่งในคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางจิตเวชเหล่านั้น

1.

เอเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นอยู่ในจังหวัดหนึ่งแถบภาคเหนือที่ดูแลครอบคลุมเยาวชน เท่ากับว่า หากเยาวชนในบริเวณนั้นต้องการเข้ารับบริการและคำปรึกษาจากจิตแพทย์ เอคือหนึ่งในคนที่ใกล้ตัวพวกเขามากที่สุด

ก่อนหน้านี้สักปี เอยังเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในกรุงเทพฯ ก่อนจะย้ายขึ้นมาทำงานบนภาคเหนือ การเคยทำงานสองพื้นที่ทำให้เอเห็นภาพกว้างของปัญหาหลายอย่างในกลุ่มเด็กและเยาวชน “อาจจะมีกลุ่มที่ไม่ต่างกันมากคือกลุ่มเยาวชนที่มาจากบ้านที่มีฐานะ” เธอเล่า “เด็กๆ เหล่านี้มักเผชิญปัญหาคล้ายกัน คือพวกเขาอาจถูกตามใจจากครอบครัวมากไป หรือได้วัตถุสิ่งของมากมาย แต่ขาดประสบการณ์ในการอดทนต่อสถานการณ์ต่างๆ หรือการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง”

ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเธอพบเมื่อมาทำงานในภาคเหนือ คือกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ที่มักเกิดและโตในครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะไม่ค่อยดีนัก และส่วนใหญ่แล้ว ครอบครัวมักมีปัญหาหลายอย่างจนส่งผลกระทบต่อตัวเด็กอย่างเลี่ยงไม่ได้ “เราได้เจอกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ซึ่งมักเป็นเด็กที่เกิดในครอบครัวที่เป็นแรงงาน หรือมาจากครอบครัวที่มีต้นทุนไม่มากนัก แน่นอนว่าเยาวชนเหล่านี้มักมีปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง”

ลักษณะร่วมที่เอพบคือ พ่อแม่ของเยาวชนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักยังไม่พร้อมที่จะมีครอบครัว อายุยังน้อยหรือแต่งงานเร็วเกินไป -ทั้งอาจด้วยวัฒนธรรมและสภาพสังคมที่ผลักให้คนหนุ่มสาวเร่งแต่งงาน- ก่อนจะลงเอยด้วยการเลิกรา ไปมีครอบครัวใหม่และปล่อยให้เด็กที่เกิดมาแล้วนั้นเติบโตภายใต้การดูแลของปู่ย่าตายายที่บ้าน หรือหนักหนาไปกว่านั้นก็อาจไม่มีคนทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองให้ชัดเจน 

“ถ้าเยาวชนเหล่านี้อายุต่ำกว่า 15 ปี ก็ต้องมีผู้ปกครองเป็นคนพามาพบเรา ดังนั้นส่วนใหญ่แล้ว เคสที่เราเจอคือต้องมีผู้ปกครองพามา” เอบอก “ขณะที่อีกกรณีหนึ่งที่เป็นส่วนน้อยคือ ต้องมาพบจิตแพทย์เองโดยไม่ต้องการให้พ่อแม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะรู้สึกว่าพ่อแม่เป็นฝ่ายกระทำพวกเขา

“อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าในพื้นที่ต่างจังหวัด สังคมยังมองปัญหาเรื่องสุขภาพจิตด้วยทัศนคติลบอยู่ เช่น ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นภาวะป่วยไข้จริงจัง ถ้าพ่อแม่หรือผู้ปกครองจะพาเด็กมาหาเราก็เป็นเพราะคุณครูที่โรงเรียนบอกให้พาเด็กมา หรือไม่ก็เด็กร้องขอจะมาพบเราให้ได้ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นค่อนข้างชัดคือผู้ปกครองเองอาจไม่ได้มองว่าปัญหาสุขภาพจิตหรือเรื่องจิตเวชเป็นเรื่องใหญ่หรือเป็นปัญหาด้วยซ้ำ

“ขณะที่สังคมในกรุงเทพฯ ดูจะยอมรับว่าประเด็นนี้เป็นปัญหาอยู่จริงมากกว่า ซึ่งเราคิดว่า สังคมคนวัยทำงานและผู้สูงอายุในต่างจังหวัดยังมีวัฒนธรรมและการรับรู้ต่อเรื่องจิตเวชไม่มากเท่าในกรุงเทพฯ เขาอาจไม่ได้รับรู้ข่าวสารหรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อเรื่องนี้ แต่เยาวชนรับรู้ถึงความสำคัญของเรื่องนี้ผ่านโซเชียล ผ่านอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ เราคิดว่าที่ต่างจังหวัดก็ยังมีลักษณะของการเป็นชุมชนแบบปากต่อปากอยู่มาก สื่อข่าวสารถึงกันได้เร็ว ประกอบกับพวกเขาอาจยังไม่เข้าใจเรื่องจิตเวชมากนัก พอมีข่าวว่าเยาวชนบ้านไหนไปเข้าพบจิตแพทย์ ก็บอกว่าเป็นผีบ้าบ้างอะไรบ้าง ทำให้เยาวชนหลายๆ คนไม่กล้าเข้ามารับบริการเพราะกลัวถูกกล่าวถึงในลักษณะนี้ รวมทั้งไม่อยากถูกสังคมรอบตัวระบุว่าเป็นเด็กมีปัญหาด้วย”

นี่คือภาพใหญ่ที่เอต้องคอยดูแล ทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งข้อสังเกตอื่นที่แทรกมาให้ได้สังเกตนั้นคือ คล้ายว่าปัญหาสุขภาพจิตในต่างจังหวัดดูจะยังไม่เป็นที่ยอมรับ-ไม่เป็นที่เข้าใจของคนในสังคมมากนัก หนักหนาไปกว่านั้น ต่อให้เป็นที่ยอมรับและเข้าใจได้จริง ความยากลำบากในการพาบุตรหลานมาเพื่อพบจิตแพทย์เด็กอย่างเอซึ่งอยู่ในตัวเมือง ก็เรียกร้องต้นทุนมากมาย ทั้งค่าเดินทาง ค่ากินโดยยังไม่รวมค่าปรึกษาที่จะได้พบตัวจิตแพทย์ ก็อาจกินพื้นที่ค่าแรงของผู้ปกครองไปอีกหลายวัน

“สมมติว่าเป็นเด็กอยู่ต่างอำเภอแต่ต้องเข้าไปรับการรักษาในตัวเมือง เท่านี้ก็เป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ ครอบครัวแล้วเพราะมันต้องใช้เวลาทั้งวัน” เอบอก “เท่ากับพ่อแม่ผู้ปกครองต้องสูญเสียรายได้ของวันนั้นไป ดังนั้น ในหลายๆ กรณี หลายครอบครัวจึงต้องตัดปัญหาเรื่องการพาบุตรหลานมาเข้ารับการรักษาไปเลย เพราะการหารายได้ในแต่ละวันสำคัญมากกว่า ผู้ปกครองส่วนหนึ่งจึงเลือกไม่พาเด็กมาพบจิตแพทย์เพราะเขามองว่ามันเสียเวลา เสียรายได้เขา”

2.

หลังจากทำงานในภาคเหนือมาปีกว่า เอระบุว่า สัดส่วนของคนไข้ที่เข้ามาพบเธอนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเด็กที่เข้ารับการดูแลด้วยปัญหาด้านพัฒนาการ ปัญหาเรื่องการเรียน วัยรุ่นที่มีปัญหาเรื่องการใช้สมาธิ ตลอดจนคนที่เผชิญหน้ากับความรุนแรงหรือถูกรังแก และคนที่เป็นซึมเศร้า วิตกกังวล และโรคเครียด กล่าวโดยรวบรัด เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าอัตราเยาวชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตนั้นเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อมูลโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ชี้ว่า การสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนไทยเมื่อปี 2021 ยังพบว่า วัยรุ่นอายุ 13-17 ปี ราว 17.4% มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย และในปัจจุบันการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย ตลอดจนข้อมูลจากยูนิเซฟระบุว่า เยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตมากถึง 1 ใน 7 บวกกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในปี 2020 ยังทำให้เยาวชนไทยเผชิญหน้ากับปัญหาทางสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า 

“ถ้าวัดจากจำนวนเคส เราคิดว่ารอบปีที่ผ่านมา เยาวชนที่มีภาวะซึมเศร้าน่าจะมากกว่าเดิม 2-3 เท่าเลยนะ แต่ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าภาวะซึมเศร้าเป็นผลรวมของหลายๆ ปัญหาด้วย ยกตัวอย่างเช่น มีเด็กที่ถูกรังแก เด็กที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งหรือมีปัญหาในครอบครัว เมื่อความเครียดจากปัญหาเหล่านี้สะสมมากๆ เข้าและกินระยะเวลานาน ก็กลายออกมาเป็นภาวะซึมเศร้าในที่สุด” เอสาธยาย 

“ตอนนี้ภาวะซึมเศร้าที่เราพบก็มีหลายรูปแบบ เช่น ทำร้ายตัวเอง ซึ่งเราคิดว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยากเพราะเราต้องทำให้เด็กๆ กลับมาเห็นคุณค่าในตัวเองให้ได้ หรือกลับมามีทักษะในการจัดการอารมณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้มันไม่จบแค่การอาศัยตัวเด็กอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องขึ้นอยู่กับที่บ้าน กับครอบครัว หรือกับโรงเรียนด้วย” เธอเล่า โดยในฐานะจิตแพทย์เด็ก เธอก็ต้องตามไปดูแลต้นธารของปัญหาทั้งจากที่บ้านหรือโรงเรียนของเยาวชนด้วย “เราเลยต้องทำครอบครัวบำบัดอีกขั้น และนี่แหละที่ยาก เพราะปัญหาเหล่านี้มันซับซ้อน และบ่อยครั้งเลยที่ปัญหาเด็กซึมเศร้าก็เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาจากปัญหาหลายๆ อย่างของครอบครัวหรือระบบการศึกษา” เอเล่าเสียงเศร้าๆ “ผู้ปกครองหลายครอบครัวก็มองว่าเด็กเรียกร้องความสนใจหรือเปล่า โดยไม่ได้มองเลยว่าเด็กในครอบครัวตัวเองป่วยอยู่ 

“และหน้าที่ของเราในฐานะจิตแพทย์คือต้องทำกระบวนการให้ผู้ปกครอง เห็นและเข้าใจปัญหาเหล่านี้ให้ได้ในระดับที่พวกเขาก็ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองเหมือนกัน ในฐานะส่วนหนึ่งของปัญหา ดังนั้น เราจึงไม่ได้บำบัดแค่ตัวเด็ก แต่เราบำบัดครอบครัวของเด็กๆ ด้วย ไปจนถึงเหล่าคุณครูในโรงเรียนที่บางคนก็อาจยังไม่เห็นความสำคัญของภาวะทางจิตเวช”

3.

‘เด็กคืออนาคตของชาติ’ ใครต่อใครก็พูดเช่นนั้น แต่ดูเหมือนสายป่านสำคัญหลายอย่างของสังคมในการโอบอุ้มให้เด็กเติบโตได้อย่างมีคุณภาพกลับดูขาดหาย “เด็กมีปัญหามีทุกจังหวัด และการจะกระจายการเข้าถึงการบริการให้ได้ในทุกจังหวัดนั้นก็เท่ากับว่าเราต้องมีบุคลากรที่ทำงานด้านนี้มากพอด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาต่างๆ” เอบอก 

ปัญหาดังกล่าวของเอนั้นไม่ได้หมายถึงแค่ปัญหาจากสภาพครอบครัวหรือโรงเรียนที่เยาวชนต้องเผชิญ แต่ยังรวมถึงปัญหาการใช้ยาเสพติดที่ผูกโยงเรื้อรังกับประเด็นทางสังคมด้านอื่นๆ ข้อมูลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนปี 2022 ระบุว่ามีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา ที่ต้องความผิดเกี่ยวกับการเสพยาเสพติดและการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดเพื่อเสพจำนวน 2,043 ราย “เราต้องดูแลเรื่องการใช้ยาเสพติดของเยาวชนด้วยเหมือนกัน” เอเล่า “แต่อย่างในบริเวณที่เราประจำการก็มีกรณีแบบนี้ไม่ถึงสิบคนหรอก แต่เราก็พยายามดูแลเยาวชนในจังหวัดอื่นๆ ที่เขาไม่มีบุคลากรด้านนี้ ผ่านการตรวจทางไกล คุยกับเด็กออนไลน์ หรือโค้ชเจ้าหน้าที่ในแต่ละจังหวัดไปด้วยพร้อมๆ กัน”

ประเด็นเรื่องการขาดแคลนบุคลากรจึงเป็นแผลใหญ่ที่เอต้องเผชิญมาเสมอ หากแต่เธอก็มองบาดแผลฉกรรจ์นี้ด้วยสายตาเข้าอกเข้าใจ “ประเด็นเรื่องปัญหาในเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาของอนาคต เช่น การเติบโตสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ถูกรังแกจะส่งผลต่อพวกเขาในอนาคต ซึ่งมันยังไม่เกิดในเวลานี้ แต่ปัญหาจะหมักหมมและเกิดขึ้นในอนาคต และคนส่วนหนึ่งเขาก็ไม่ได้อยากแก้ไขปัญหาในอนาคตเพราะเขาง่วนอยู่กับการตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุหรือวัยทำงาน เรื่องของเด็กซึ่งเวลานี้คนอาจยังไม่เห็นปัญหาต่างๆ ชัดนักจึงยังไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญทั้งในสายตาของสังคมและในเชิงนโยบายทุกระดับ” เธอบอก “แน่นอนล่ะว่าเราพูดกันเสมอว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แต่ในทางปฏิบัติก็ดูจะไม่เป็นเช่นนั้นเลย”

นอกจากนี้ ระบบการฝึกสอนหรือเทรนบุคลากรทางจิตเวชก็ใช้เวลานาน หญิงสาวบอกว่าประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยฝึกสอนบุคลากรทางการแพทย์ได้ตกปีละ 20 คนเท่านั้น -หรือบางปีก็อาจน้อยกว่านั้น “จิตแพทย์ไม่เหมือนหมอเด็กหรือหมอตรวจทางการที่ฝึกสอนและจบออกไปได้ปีละ 100 คนหรืออาจจะมากกว่า ประเทศเรามีสถาบันฝึกสอนอยู่เพียงห้าแห่งเท่านั้น ทั้งจิตแพทย์ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วย” โดยด้านหนึ่งเอมองว่านี่เป็นสภาพตามธรรมชาติ เมื่อในตัวเมืองกรุงเทพฯ นั้นมีตำแหน่งให้บุคลากรด้านจิตเวชมากกว่าในต่างจังหวัดมาก อันสะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงการแพทย์ของสังคมด้วยเช่นกัน 

“เราคิดว่าประเด็นปัญหาจิตเวชหรือสุขภาพจิตเด็กก็เป็นภาพสะท้อนใหญ่ของสังคมน่ะ ดังนั้น การแก้ปัญหาในระยะยาวนั้นอาจต้องไปถึงระบบหรือฐานรากในสังคม เพราะหากสถาบันครอบครัว โรงเรียนยังไม่แข็งแรง ก็มีแต่จะผลิตคนไข้ในอนาคตเพิ่มขึ้นไปทุกวันๆ และถึงเวลานั้น มีจิตแพทย์เด็กกี่คนก็ไม่พอค่ะ” เธอกล่าวปิดท้าย

ในอนาคต หากสังคมยังไม่เห็นความสำคัญของจิตแพทย์เด็กและเยาวชนมากพอ หรือยังไม่อาจแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดีได้ สังคมไทยก็อาจยังต้องพบเจอกับเรื่องน่าเศร้าของกลุ่มคนอายุยังน้อยกับโศกนาฏกรรมไปเรื่อยๆ แน่นอนว่านี่อาจเป็น ‘ปัญหาในอนาคต’ ดังที่เอกล่าวไว้ แต่ใช่หรือไม่ ว่าไม่มีใครควรถูกทอดทิ้งหรือเผชิญหน้ากับความโศกสลดเหล่านี้อีก ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรือในกาลต่อไปเองก็ตาม


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

วิจัย/เขียน

พิมพ์ชนก พุกสุข

สร้างสรรค์ภาพ

ณัฐพล อุปฮาด

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูแลหัวใจไม่ให้ใครร่วงหล่น: เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่ายและทันท่วงที

ดูแลหัวใจไม่ให้ใครร่วงหล่น: เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่ายและทันท่วงที

เมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้า เรื่องที่มักถูกยกขึ้นมาพูดต่อคือปัญหาขาดแคลนจิตแพทย์ แต่เราต้องมีจิตแพทย์เพิ่มอีกกี่คนจึงจะนับว่าพอ? มีอีกหลายคำถามที่ควรสงสัยและหาคำตอบถ้าหากเราปรารถนาจะดูแลสุขภาพใจของคนไทยไม่ให้ร่วงหล่นไปมากกว่านี้

เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022

101 PUB ชวนอ่าน “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022” พร้อม “สถิติสำคัญด้านเด็กและครอบครัว” และ “สามความฝันของเยาวชนไทย”

22 August 2022

101 In Focus Ep.166: ทำอย่างไรเมื่อคนป่วยซึมเศร้าเพิ่ม แต่จิตแพทย์ขาดแคลน

101 In Focus คุยกันเรื่องระบบบริการสุขภาพจิตของไทย ชวนตั้งคำถามและหาคำตอบว่า ปัญหาโรคซึมเศร้าไทยรุนแรงแค่ไหน กระทบต่อเยาวชนอย่างไร เราขาดแคลนบุคลากรแค่ไหน และระบบบริการสุขภาพจิตที่ดีควรเป็นอย่างไร

1

101 Public Policy Think Tank
ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะไทยในบริบทโลกใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มพลังให้ประชาชนสามารถตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

Copyright © 2024 101pub.org | All rights reserved.